การไต่สวนมูลฟ้อง

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          มาตรา 162  "ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้
          (1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)
          (2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้
          ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดั่งกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา"

          มาตรา 165   "ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป
          จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ
          ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น" 

          มาตรา 166  "ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
          คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
          ในคดีที่ศาลยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว"



          มาตรา 167  "ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง" 

          มาตรา 168  "เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ให้ส่งสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยรายตัวไป เว้นแต่จำเลยจะได้รับสำเนาฟ้องไว้ก่อนแล้ว" 

          มาตรา 169  "เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับมาแล้วแต่ควรอย่างใดเพื่อพิจารณาต่อไป"

          มาตรา 170  "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา
          ถ้าโจทก์ร้องขอศาลจะขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกาก็ได้"

          คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองนั้น กฎหมายบังคับไว้ชัดแจ้งในมาตรา 162 (1) ว่าศาลต้องไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจะประทับรับฟ้องเลยไม่ได้ ยกเว้นแต่คดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันไว้ต่อศาลแล้ว กรณีเช่นนี้ ให้จัดการตาม (2) คือศาลจะไต่สวนหรือไม่ไต่สวนมูลฟ้องก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2508    กระบวนการไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (12), 162, 165, 167 นั้น เป็นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
          คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นส่งรับประทับฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนนั้น ไม่ใช่การกระทำของโจทก์ จึงปราศจากข้ออ้างที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ และการที่จำเลยไม่ให้การรับสารภาพ ไม่ค้าน จะเท่ากับรับว่าคดีโจทก์มีมูลก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้อง และพิจารณาพิพากษาต่อไป
          แต่ในส่วนคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดี ตามมาตรา 162 (2) กฎหมายไม่บังคับว่าต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาล แต่ทางปฏิบัติคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ศาลจะไม่สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง
          อย่างไรก็ตาม แม้คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องโจทก์แล้ว เห็นว่าคดีขาดอายุความก็พิพากษายกฟ้องได้ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2530   หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าจำเลยให้สัมภาษณ์โดยมีข้อความซึ่งอ่านแล้วรู้ได้ทันทีว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ถือได้แล้วว่า โจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่โจทก์ได้อ่านข่าวตามหนังสือพิมพ์นั้น ไม่จำต้องรอแสวงหาหลักฐานเพื่อฟ้องคดีหรือสืบสวนจนเป็นที่แน่ใจโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดก่อนจึงจะร้องทุกข์ดำเนินคดี เมื่อโจทก์ไม่ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96  เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าคดีขาดอายุความก็พิพากษายกฟ้องได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน
          ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ให้ศาลรับฟ้องไว้พิจารณา ตามมาตรา 162 วรรคสอง หมายความว่า ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยมาศาลและแถลงต่อศาลขอรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีนี้ศาลชอบที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา แต่ศาลจะพิพากษาเลยไม่ได้ เพราะชั้นไต่สวนมูลฟ้องกฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา ศาลต้องนัดพิจารณาต่อไป

          การไต่สวนมูลฟ้องมีคำนิยามอยู่ในมาตรา 2 (12) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า "การไต่สวนมูลฟ้อง" หมายความถึงกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา 
          การไต่สวนมูลฟ้องจึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ ไม่เกี่ยวกับผู้ที่ถูกฟ้องหรือจำเลย เป็นกระบวนการที่ศาลทำการไต่สวนว่า ฟ้องของโจทก์ที่นำมาฟ้องจำเลยนั้นมีมูลพอที่สมควรจะรับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ถ้าฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย กรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีก ศาลสามารถพิพากษายกฟ้องไปได้เลย
          การไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกพยานมาพิจารณาได้เอง ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ
          การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ตามมาตรา 165 วรรคแรก กับการไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ตามมาตรา 165 วรรคสาม มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ
          (1) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จะต้องนำตัวจำเลยมาศาล เนื่องจากเมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีจะต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาลด้วย เว้นแต่จำเลยถูกควบคุมอยู่โดยอำนาจศาล การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จึงต้องทำต่อหน้าจำเลย แต่ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ที่ศาลจะรับฟังว่าคดีโจทก์มีมูลหรือไม่ จำเลยจึงไม่ต้องมาศาลหรือจะมาก็ได้เป็นสิทธิของจำเลย แต่อย่างไรก็ดี แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยจะไม่ต้องมาศาล แต่ก็มีสิทธิตั้งทนายความให้มาถามค้านพยานโจทก์ได้
          (2) คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ให้ศาลส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลย แล้วอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง แต่ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ตามมาตรา 165 วรรคสาม ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย คือ แม้จำเลยจะมาศาล ศาลก็จะถามคำให้การจำเลยไม่ได้
          (3) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ถือว่าผู้ถูกฟ้องหรือจำเลยตกเป็นจำเลยแล้ว แต่ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์นั้นถือว่าผู้ถูกฟ้องยังไม่อยู่ในฐานะจำเลยจนกว่าศาลจะประทับรับฟ้อง ดังนั้น ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์นั้นก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้องคดี ศาลจะออกหมายขังจำเลยไม่ได้เพราะจำเลยยังไม่ได้ตกอยู่ในฐานะจำเลยตามกฎหมาย แต่ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เมื่อมีผลให้ผู้ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยแล้วศาลจึงสามารถออกหมายขังจำเลยได้ นอกจากนี้ คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2494    ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์  ศาลสั่งไม่รับฟ้อง  โดยอ้างว่าสิทธิการฟ้องคดีระงับแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ดำเนินการไต่สวนต่อไปนั้น  จำเลยจะฎีกายังไม่ได้เพราะจำเลยยังไม่มีฐานะเป็นจำเลย หากเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น (อ้างฎีกาที่ 296/2480 และ ที่ 199/2483)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3276/2527   ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์นั้น ก่อนที่ศาลจะประทับฟ้องจำเลยยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความ การที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้วทำคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น กรณีเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2548  คดีราษฎรฟ้องความอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม ตอนท้าย บัญญัติว่า ก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น ในชั้นนี้จำเลยจึงไม่มีฐานะเป็นคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้
          แม้มีการไต่สวนมูลฟ้องภายในอายุความ แต่โจทก์ต้องได้ตัวจำเลยมาศาลภายในอายุความด้วย หากคดีขาดอายุความระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7455/2554   คดีโจทก์ขาดอายุความวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนดอายุความแล้วก็ตาม แต่โจทก์จะต้องได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาลภายในวันสุดท้ายของกำหนดอายุความคือ ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ด้วย การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้าซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย และจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย จึงมิใช่เป็นการได้ตัวจำเลยมาศาล
          จำเลยที่ 1 มาศาลโดยการนำมาของทนายโจทก์ มิใช่มาศาลเพราะทราบว่าถูกฟ้องและมาตามหมายเรียกโดยมีเจตนาที่จะมาให้การรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาล และการที่ศาลออกหมายจับจำเลยที่ 2 ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 2 มาศาลแล้วเช่นกันเพราะมิฉะนั้นจะมีผลทำให้อายุความในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ขยายออกไปยาวนานกว่าคดีที่ราษฎรร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวย่อมต้องถือหลักอย่างเดียวกันทั้งในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์หรือในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ จึงฟังได้ว่าคดีโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) และ 268 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความฟ้องร้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) แล้วเช่นกัน พิพากษายกฟ้องโจทก์

          แต่ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลสั่งให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับฐานะจำเลยหรือไม่ แต่เป็นไปตามมาตรา 170 ที่บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด..."
          แม้เป็นชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อโจทก์มีหน้าที่นำพยานมาให้ศาลไต่สวน โจทก์จึงต้องยื่นบัญชีระบุพยานและแม้โจทก์จะยื่นบัญชีระบุพยานไว้เฉพาะในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ก็นำมาใช้ในชั้นพิจารณาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2528   ในการยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ  โดยต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 87(2), 88 และ 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  เมื่อโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล  ไม่ว่าก่อนศาลไต่สวนหรือหลังจากศาลไต่สวนพยานโจทก์  จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2505 (ป)   การระบุพยานของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แม้บัญชีพยาน ของโจทก์จะมีคำว่า บัญชีระบุพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ก็ดี จะถือว่าเป็นการระบุเฉพาะแต่ในตอนไต่สวนมูลฟ้องไม่ได้ ต้องถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานในคดีนั้นตามบัญชีพยานของตนตลอดทั้งเรื่อง (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2505 วาระพิเศษ)

          กรณีโจทก์ขาดนัดตามมาตรา 166 วรรคแรก คือ ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ 
          กำหนดนัดตามมาตรา 166 สำหรับในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คือ วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าเป็นชั้นพิจารณา กำหนดนัดคือวันนัดสืบพยานโจทก์ ดังนั้น ถ้าวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือวันนัดสืบพยานโจทก์นั้นโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ถ้าเป็นวันนัดอื่น เช่น นัดพร้อม นัดให้จำเลยให้การแก้คดี กรณีเช่นนี้ไม่ถือเป็นกำหนดนัดที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 166
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 327/2483   โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อฟังกำหนดวันพิจารณานั้น ไม่เรียกว่า โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดตามความหมายในมาตรา 166  ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา  ฉะนั้นศาลจะยกฟ้องโจทก์ไม่ได้  (อ้างฎีกา  93/2483)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2500   โจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความ ศาลนัดไต่สวนแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง และให้หมายเรียกจำเลยมาแก้คดีในวันที่ 22 มีนาคม 2499 และให้โจทก์เซ็นทราบไว้ด้วย ครั้นถึงวันที่ 22 มีนาคม 2499 จำเลยยื่นคำให้การ ศาลเรียกคู่ความเพื่อสอบถามคำให้การจำเลย แต่โจทก์ไม่มาศาลในวันนี้ ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียโดยหาว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไม่ได้ เพราะไม่มีการนัดเป็นกิจลักษณะว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณา และกรณีไม่เข้าตามมาตรา 174 แห่งวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่เป็นการทิ้งฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2516   วันนัดฟังประเด็นกลับหาใช่วันนัดสืบพยานไม่  ศาลส่งสำนวนไปให้ศาลอื่นสืบพยานโจทก์ให้  เมื่อสืบไม่ได้  โจทก์จำเลยขอให้ส่งประเด็นกลับและขอให้นัดฟังประเด็นกลับตามวันเวลาที่ตกลงกันครั้นถึงวันนัดโจทก์ไม่มาศาล ศาลจะสั่งงดสืบพยานโจทก์ต่อไปหาได้ไม่และพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ยังไม่พอให้ถือว่าโจทก์ประวิงคดี  ศาลควรกำหนดวันนัดสืบพยานที่เหลืออยู่ของโจทก์  แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 127/2524   โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ประทับฟ้อง จ่ายสำเนาวันนี้นัดพิจารณาเวลา 11.30 นาฬิกา เป็นการสั่งลอย ๆ ไม่เป็นกิจจะลักษณะว่านัดพิจารณาอะไร และนัดพิจารณาหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องเพียง 1 ชั่วโมงเศษ อันเป็นเวลากะทันหัน แม้จะถือว่าโจทก์ทราบกำหนดนัดแล้วไม่มาศาลก็ยากที่โจทก์จะปฏิบัติได้ทันท่วงที ยังไม่เป็นเหตุให้พิพากษายกฟ้องทันที
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2527   การที่โจทก์ไม่มาศาลหลังจากสืบพยานโจทก์บ้างแล้วนั้น ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา166 ได้ เพราะโจทก์ยังมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อศาล คือนำพยานเข้าสืบอีก หากไม่ติดใจสืบก็ต้องแถลงให้ศาลทราบ และเรื่องการไม่มาศาลตามกำหนดนัดนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการพิจารณาโดยขาดนัดมาอนุโลมบังคับหาได้ไม่
          กำหนดนัดตามมาตรา 166 ต้องถือทุกนัด เป็นหน้าที่โจทก์ต้องมาศาลทุกนัด หากโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดในนัดใดนัดหนึ่ง ศาลพิพากษายกฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2547    โจทก์ที่ 1 ทราบกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องโดยชอบแล้ว มีหน้าที่จะต้องมาศาลตามกำหนดนัด แต่ในวันนัดฝ่ายโจทก์ที่ 1 กลับไม่มีผู้ใดมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ถึงแม้จะปรากฏว่าการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยวิธีปิดหมายยังไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมายดังที่ฝ่ายโจทก์ที่ 1 กล่าวอ้าง ก็หาทำให้ฝ่ายโจทก์ที่ 1 หมดหน้าที่ที่จะต้องมาศาลตามกำหนดนัดไม่
          ทนายโจทก์ที่ 1 ไปให้แพทย์ตรวจอาการป่วยตามที่อ้างเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2539 อันเป็นวันก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง แสดงว่าทนายโจทก์ที่ 1 รู้ตัวว่าตนมีอาการป่วยไม่สามารถมาศาลได้ตั้งแต่ก่อนวันนัดแล้ว และย่อมทราบดีว่าเหตุป่วยเจ็บเป็นเหตุที่อาจขอเลื่อนคดีได้ เพราะเป็นเหตุอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ ทนายโจทก์ที่ 1 ก็น่าจะติดต่อให้โจทก์ที่ 1 มาศาล หรือมานำคำร้องขอเลื่อนคดีที่สำนักงานทนายความของทนายโจทก์ที่ 1 มายื่นต่อศาลอันอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ แต่ทนายโจทก์ที่ 1 ก็หาได้ยื่นคำร้องแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบถึงเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวเพื่อขอเลื่อนคดีไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์ที่ 1 ส่อลักษณะเป็นการประวิงคดี ทำให้ฝ่ายจำเลยได้รับความเดือดร้อน ทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ยกคดีในส่วนของโจทก์ที่ 1 ขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2548   โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานนัดต่อมาเพราะสำคัญผิดเนื่องจากจำวันนัดผิด เป็นเรื่องความบกพร่องหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นความผิดพลาดของทนายโจทก์เองที่จำวันนัดคลาดเคลื่อน ถือไม่ได้ว่ามีเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2549   ในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วจึงมีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนด แม้ น. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนจะมาที่ศาลแล้วแต่ก็มิได้เข้าห้องพิจารณา โดย น. ไปทำหน้าที่แทนพนักงานอัยการในคดีอื่นและทำหน้าที่อื่น ศาลได้ประกาศเรียกโจทก์ให้เข้าห้องพิจารณาตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ศาลรอจนกระทั่งเวลา 11.15 นาฬิกา โจทก์ก็ไม่เข้าห้องพิจารณาคดีแถลงให้ศาลทราบถึงเหตุขัดข้องของโจทก์ ทั้งที่โจทก์ได้มาอยู่ในบริเวณศาลแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่หรือเล็งเห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาล ดังนั้น โจทก์จึงจะยกขึ้นแก้ตัวหรือยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่หาได้ไม่
          อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ให้ศาลพิพากษายกฟ้องนั้น โจทก์ต้องทราบนัดนั้นแล้ว หากโจทก์ไม่ทราบนัด ศาลก็พิพากษายกฟ้องไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2503   ในคดีอาญา โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไปจนกว่า จะจับตัวจำเลยได้ และในท้ายคำร้อง ทนายโจทก์ได้เซ็นที่หมายเหตุว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นว่าให้เลื่อนคดีไป โดยโจทก์ยังไม่ทราบคำสั่งศาล ดังนี้ ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยถือว่าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166, 181 หาชอบไม่
          แม้โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด แต่ศาลพิพากษาทิ้งฟ้อง ไม่ได้พิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ย่อมฟ้องใหม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162-163/2506    คดีอาญานั้น เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องก็เท่ากับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย ศาลจึงควรพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 แต่ศาลชั้นต้นกลับสั่งจำหน่ายคดีนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ผลแห่งคดีจึงคงเป็นว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดีอยู่นั่นเองซึ่งไม่ทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องใหม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา39ฉะนั้นโจทก์จึงฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ โดยไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ

          ในคดีที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดตามมาตรา 166 นั้น โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยแสดงให้เห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาศาลไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ ตามมาตรา 166 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2544    ทนายโจทก์ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์โดยชอบแล้วแต่มาถึงศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเวลาอันเลยกำหนดนัดไปแล้วหนึ่งชั่วโมงครึ่งเนื่องจากรถยนต์ของทนายโจทก์มีเหตุขัดข้อง ทนายโจทก์สามารถจอดรถไว้ข้างทางแล้วรีบโทรศัพท์แจ้งศาลทราบทันที หรือมิฉะนั้นก็รีบเดินทางมาศาลด้วยรถยนต์รับจ้างได้ แต่ทนายโจทก์มิได้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ไม่เอาใจใส่หรือเล็งเห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาล กรณีไม่มีเหตุสมควรให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2528   โจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล แต่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นต่อศาลขอเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาเพื่อไต่สวนให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลและพิพากษายกฟ้อง ดังนี้ โจทก์จะมาร้องขอให้ยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 มิได้ เพราะมิใช่เป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด