18 มีนาคม 2567

ความผิดต่อหน้าที่ของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ (ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา)

          กรณีพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญากระทำความผิดต่อหน้าที่ที่ตนต้องปฏิบัติโดยมิชอบหรือโดยทุจริตนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาเช่นกัน โดยมิใช่เป็นความผิดตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502

          พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ได้แก่

          “พนักงาน” หมายความว่า ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ โดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้นๆ  ทั้งนี้ นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย (มาตรา 3)



          ในมาตรา 3 พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 
          (1) เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และ
          (2) องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นนั้น รัฐเป็นเจ้าของ หรือรัฐมีส่วนถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด และ
          (3) พนักงานดังกล่าวได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้น ๆ
          (4) ถ้าพนักงานดังกล่าวนั้นเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ก็จะไม่ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ แต่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

          พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ จึงได้แก่ พนักงานในรัฐวิสาหกิจหรือในบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบ เช่น การประปา การไฟฟ้า องค์การสวนสัตว์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัทการบินไทย เหล่านี้เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557  การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้
          แม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และโจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวย่อมมิได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่
          ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้

          พนักงานการไฟฟ้าถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าแผนกบัญชีและการเงินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดจากผู้ใช้ไฟฟ้า แล้วพนักงานคนดังกล่าวเบียดบังเงินนั้นเป็นของตน จึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2555  แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติจะมีคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้พนักงานในแผนกหมุนเวียนช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับใบเสร็จรับเงินและเงินสดจากผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วเบียดบังเป็นของตน จึงมีความผิดฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเบียดบังทรัพย์ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการเป็นของตนโดยทุจริต และเป็นการกระทำที่มีเจตนาเบียดบังตามวาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายชำระ จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน
          ก. ได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม 2541 ซึ่งมีการระบุจำนวนเงินแน่นอนแล้ว เมื่อ ก. นำเงินไปชำระแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรับชำระเงินค่าไฟฟ้าและออกใบเสร็จรับเงิน ย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะต้องเขียนค่าไฟฟ้าทั้งสองจำนวนลงในเศษกระดาษอีก ทั้งการประทับตรายางว่า ชำระเงินแล้วโดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และวันเดือนปีกำกับในเศษกระดาษดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำเป็นหลักฐานมอบให้แก่ ก. ว่าได้ชำระเงินแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการออกใบเสร็จรับเงินตามระเบียบของผู้เสียหาย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

          พนักงานซึ่งปฏิบัติงานในบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัดที่รัฐบาลมีหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2511  จำเลยเป็นลูกจ้างของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีอันเป็นโรงงานของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติจำกัด ซึ่งรัฐบาลมีทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบ โดยจำเลยมีหน้าที่ซ่อมเครื่องจักรของโรงงานฯ แต่ในระหว่างเกิดคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการให้เป็นพนักงานชั่งอ้อยของโรงงานจำเลยมีรายได้ประจำจากโรงงานดังนี้ ถือว่าจำเลยเป็นพนักงานตามความหมายของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และการที่จำเลยได้ทำการชั่งอ้อยที่มีผู้นำมาส่งหรือขายให้แก่โรงงานนั้น ได้ชื่อว่าจำเลยมีหน้าที่ทำ หรือจัดการทรัพย์ใดๆ ตามความหมายใน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้การที่จำเลยถือโอกาสชั่งอ้อยจำนวนเดียวโดยโยกคันชั่ง 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ได้สลิปการชั่งอ้อยเกินมา 1 ชุด แล้วนำสลิปที่ได้เกินมานั้นไปใช้เป็นหลักฐาน ว่าเป็นการชั่งอ้อยของผู้มีชื่อในวันถัดมา อันจะทำให้โรงงานต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อเกินกว่าที่จะต้องจ่าย หากมีผู้พบปะทราบการกระทำนั้นเสียก่อนที่โรงงานจะจ่ายเงินถือว่าเป็นความผิด

          พนักงานธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน ถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2534  จำเลยเป็นหัวหน้าแผนกการเงินของธนาคาร มีหน้าที่เก็บรักษาเงินเมื่อถูกตรวจสอบพบว่าเงินหายก็ยอมรับว่าเป็นผู้ยักยอกเงินที่เก็บรักษาไว้ไปในทันทีและโดยสมัครใจ ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะฟังได้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2539  จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยจำเลยอนุมัติให้บริษัท ส. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยจำเลยไม่มีอำนาจ แม้จะได้ความว่าหลังจากจำเลยลาออกจากโจทก์แล้วต่อมาโจทก์ได้ยอมรับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่บริษัท ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ก็ตามก็เป็นเพียงการที่โจทก์ผ่อนผันให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้ที่ก่อนไว้เท่านั้น หาเป็นการสละหรือยอมให้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นระงับไม่ เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต่อโจทก์อันเป็นความผิดแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่คำนึงถึงว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือไม่ จำเลยอนุมัติให้บริษัท ส. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่มีอำนาจหลายวันด้วยกัน แต่ในแต่ละวันจำเลยจะอนุมัติเพียงครั้งเดียว ดังนี้ แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวกันในอันที่จะให้บริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ชอบเจตนาเช่นนั้นก็มีได้เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่ง เมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยอนุมัติให้บริษัท ส. เบิกเงินเกินบัญชีไปวันหนึ่งเป็นการกระทำกรรมหนึ่ง จำเลยอนุมัติทั้งหมด 144 วันจึงเป็นความผิด 144 กรรม มิใช่เป็นความผิด 338 กรรม ตามที่จำเลยอนุมัติเช็คและใบหักหนี้แต่ละฉบับ



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2541  โจทก์ไปขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสินพบว่าสมุดฝากเงินของโจทก์ซึ่งเก็บไว้ที่ธนาคารมีเงินเหลืออยู่ น้อยกว่าที่ฝากไว้จริง และตรวจสอบสมุดฝากเงินของ ฉ. ภริยาโจทก์ และสมุดฝากเงินของ จ. บุตรโจทก์ก็พบว่าเงินในสมุดฝากเงินเหลือน้อยผิดปกติเช่นกัน โจทก์จึงขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานของธนาคารออมสินปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์ตรวจสอบใบถอนเงินตามที่โจทก์ขอตามสิทธิและความจำเป็น อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 13 โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ภริยาและบุตรเสียหาย เพราะโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ ภริยาและบุตรถูกคนร้ายปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีหรือไม่เพียงใด และไม่อาจเอาผิดกับผู้รับผิดชอบของธนาคารออมสินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

          จำเลยเป็นพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำการขายไม้ฝ่าฝืนระเบียบเกินอำนาจหน้าที่ของตน ทำให้เกิดความเสียหาย ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2528  องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยเป็นพนักงานประจำป่า หมวดทำไม้ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการทำไม้สัมปทานและควบคุมการทำไม้ นอกโครงการและไม้ของกลางในคดีนี้ มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการ เสนอความเห็นหาตัวผู้รับจ้างเกี่ยวกับไม้ที่รับมอบไว้จำเลยใช้อำนาจในหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต โดยจัดการรับชักลากและขนไม้ของกลางซึ่งตนเองมีหน้าที่ดูแลรักษาดังกล่าวไปแล้วทำการขายไปโดยมิได้ขออนุมัติผู้บังคับบัญชาก่อนอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและเกินอำนาจหน้าที่ของตนทำให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้รับความเสียหายขาดราคาค่าไม้ของกลางที่ควรจะได้ไปเช่นนี้ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ มาตรา 8

          พนักงานขับรถขององค์การสวนยาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2538  การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานขับรถขององค์การสวนยาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับใบรับ-จ่ายน้ำมันมาแล้วมอบให้ ว.ไปเบิกน้ำมันใส่รถยนต์ส่วนตัวของ ว.ทั้ง ๆ ที่จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำใบรับ-จ่ายน้ำมันไปเบิกน้ำมันใส่รถของผู้เสียหายเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในกิจการของผู้เสียหาย ย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจึงมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 แต่หามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายในมาตรา 147 และจำเลยเป็นพนักงานขับรถเพียงแต่มอบใบรับ-จ่ายน้ำมันที่จำเลยได้รับมามอบให้ ว. ไปเบิกน้ำมันใช้เป็นส่วนตัวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เมื่อจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11เท่านั้น พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่เป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43

          แต่เจ้าพนักงานสงเคราะห์ตำแหน่งพนักงานสงเคราะห์ยางจังหวัด ถือเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญาบังคับ การกระทำจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1744/2535  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานสงเคราะห์ตำแหน่งพนักงานสงเคราะห์ยางจังหวัดสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดตรัง ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 ได้ยักยอกปุ๋ยของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งอยู่ในอำนาจจัดการดูแลรักษาของจำเลยตามหน้าที่ไปเป็นประโยชน์ของจำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้บทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "พนักงาน" ไว้หมายถึง บุคคลต่างๆตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 จำเลยย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายจึงไม่เป็นพนักงานตามความหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

          เมื่อการแต่งตั้งไม่ชอบ ก็ไม่มีฐานะเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หากมีการทุจริตก็ไม่ผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2531  การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดบุคคลผู้ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่างๆ โดยในคำสั่งนั้นระบุตำแหน่งของกรรมการไว้โดยเฉพาะ และมีหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มีคำสั่งดังกล่าวก็ได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นเป็นกรรมการแทนแต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานจัดการทรัพย์สินหรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการและดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงานสำนักงานดูแลเคหะชุมชน จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์ได้ การที่หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่ไขตู้โทรศัพท์เก็บเงินส่งเจ้าหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา หากแต่เป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนในฐานะประธานกรรมการเป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยเบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วนจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่เมื่อการเคหะแห่งชาติมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

          เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้พนักงานการรถไฟเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ก็ไม่อาจใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2530  พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา เมื่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่จำหน่ายตั๋วเดินทางยักยอกเงินค่าตั๋วเดินทางที่จำเลยได้รับไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502  มาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายไม่เป็น 'พนักงาน' ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ด้วย

          อยู่ระหว่างทดลองงาน ยังไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงาน ก็ไม่ถือว่าเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2523  ขณะกระทำความผิดจำเลยอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติงาน หากได้ผลเป็นที่ไม่พอใจก็ให้ออกได้โดยไม่ต้องตั้งกรรมการยังไม่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานการไฟฟ้านครหลวงจึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2513  คำว่าพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติงานโดยมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ด้วยตนเอง ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นคนงานทดลองปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์การสวนสัตว์ยังไม่ได้รับการบรรจุและไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่องานอย่างใดโดยเฉพาะ แต่ทำงานอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่อีกชั้นหนึ่ง ย่อมไม่เป็นพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อจำเลยยักยอกทรัพย์ขององค์การสวนสัตว์ไป ก็ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 4

          แต่พนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาไม่ถือเป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2515  การที่จะถือว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาเป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 หรือไม่ จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐ เมื่องานหรือทุนที่ดำเนินการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นของรัฐ จำเลยจึงไม่เป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวข้างต้น
          ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือใช้หนังสือปลอมและยักยอกดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาที่ว่าจำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 หรือไม่ ตามคำวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "พนักงาน" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะถือว่าจำเลยเป็นพนักงาน จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐทางพิจารณาได้ความว่า คุรุสภาตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 เป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนิติบุคคล อาจมีรายได้จากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดตั้งองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภา และทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ ซึ่งบุคคลอุทิศให้คุรุสภาและภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไข ข้อบังคับ หรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้อุทิศกำหนดไว้ ให้คุรุสภารักษาและจัดการตามที่เห็นสมควรแก่ประโยชน์แห่งคุรุสภา และได้ความจากคำเบิกความของนายกำธร สถิรกุลซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาพยานโจทก์ต่อไปว่ากรรมการอำนวยการของคุรุสภาได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ใช้ทุนของคุรุสภา เป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งของคุรุสภาเริ่มแรกใช้เงินซึ่งยืมมาจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้ใช้คืนหมดเมื่อ 10 ปีกว่ามาแล้ว ผลกำไรส่วนหนึ่งส่งให้แก่คุรุสภาอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ขยายงาน ก่อนตั้งองค์การค้าของคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการได้โอนงานโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชฯ สังกัดกรมอาชีวศึกษา กับร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สังกัดกรมสามัญศึกษาให้คุรุสภาด้วย คุรุสภาจึงเอางานทั้งสองนี้มาร่วมกันตั้งเป็นองค์การค้าของคุรุสภาขึ้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโอนงานโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชกับร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ให้แก่คุรุสภา ทรัพย์สินที่โอนมาก็ตกเป็นของคุรุสภา การที่คุรุสภาเอาเงิน 2 งานที่ได้รับโอนมาดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นใหม่ งานหรือทุนที่ดำเนินการจึงเป็นของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นของรัฐ จำเลยจึงไม่เป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินไปจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานทุจริตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

          แม้เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ถ้าพนักงานกระทำการซึ่งไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงและผู้บังคับบัญชาก็มิได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2532  จำเลยหาผู้ฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ โดยหลอกลวงแจ้งเงื่อนไขในการทำสัญญาอันเป็นเท็จทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินและธนาคารออมสินได้จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและเงินรับรองในการหาผู้ฝากและเงินสมนาคุณแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินแก่จำเลย แม้จำเลยจะหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่จำเลยก็ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การที่ธนาคารออมสินได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยก็เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือตามสัญญาซึ่งมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลย มิใช่จ่ายให้จำเลยโดยเหตุที่จำเลยหลอกลวง และมิใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงของจำเลย การหลอกลวงของจำเลยเป็นแต่เพียงทำให้ประชาชนเข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินเท่านั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยเป็นพนักงานธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี ตำแหน่งพนักงานบริการรับใช้ มีหน้าที่เก็บกวาดบริการภายในธนาคาร และงานอื่นตามแต่ผู้จัดการจะใช้ ในการหาผู้ฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ ธนาคารเปิดโอกาสให้พนักงานธนาคารหาเงินฝากประเภทดังกล่าวได้นอกเวลาทำการ และมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนให้เป็นเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองจากธนาคาร เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่พนักงานธนาคาร การที่จำเลยหาผู้ฝากเงินไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของจำเลยและผู้บังคับบัญชาจำเลยก็มิได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยทำหลักฐานเท็จขอเบิกเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองในการหาผู้ฝากเงินประเภทดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11




17 มีนาคม 2567

"สำคัญผิดในข้อเท็จจริง" ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดหรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดหรือได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลง

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 62 "ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี
          ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา ๕๙ หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท
          บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น"

          กรณีผู้ถูกใช้ให้กระทำได้สำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าผู้ใช้มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มนั้นได้‬ จึงได้ใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายเบิกถอนเงินของผู้เสียหายจากตู้เอทีเอ็มของธนาคาร แม้ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใช้มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้ถูกใช้ให้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้ถูกใช้ย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก "แต่ถือว่าผู้ใช้นั้นเป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อม" โดยใช้ผู้ถูกใช้ให้กระทำเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดของผู้ใช้นั้นเอง

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14213/2557 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายเบิกถอนเงินของผู้เสียหายจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารโดยสำคัญผิดว่าจำเลยที่ 3 ผู้มอบบัตรเอทีเอ็มและใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปเบิกถอนเงินมีสิทธิที่จะใช้บัตรเอทีเอ็มนั้นได้ แม้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารจะไม่มีอยู่จริง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อมโดยใช้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดของจำเลยที่ 3 เอง และแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิด แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อมโดยใช้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 3 จะกระทำผิดด้วยตัวเอง หรือเป็นการกระทำผิดโดยอ้อม จำเลยที่ 3 ก็มีสถานะเป็นผู้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องเหมือนกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาจึงย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง




          ‎ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า‬ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับฟังมาซึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ซึ่งเกิดจากภริยาคนเก่า ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 2 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายลักบัตรเอทีเอ็ม 1 ใบ ราคา 150 บาท ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอนไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ออกให้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาผู้เสียหายทราบเหตุดังกล่าว จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบการใช้บัตรเอทีเอ็มพบว่า มีการนำบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปตรวจสอบวงเงินคงเหลือที่ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลตะกั่วป่า 3 ครั้ง ครั้นวันที่ 20 มกราคม 2552 มีการนำบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปตรวจสอบยอดเงินคงเหลือที่ตู้เอทีเอ็มในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ปตท. ซึ่งอยู่ในอำเภอตะกั่วป่า 1 ครั้ง และใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งละ 10,000 บาท รวม 2 ครั้ง ต่อมามีการนำบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปตรวจสอบยอดเงินคงเหลือที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ท่าโรงช้าง และใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าฉาง ครั้งละ 10,000 บาท รวม 2 ครั้ง และในวันเดียวกันนั้นยังมีการนำบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพุนพิน เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 อีก 2 ครั้ง เป็นเงิน 40,000 บาท และ 8,900 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 88,900 บาท สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักบัตรเอทีเอ็มหรือร่วมกันรับของโจรบัตรเอทีเอ็มนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยทั้งสี่ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 เพียงคนเดียว ความผิดดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักเงินและร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบในวันที่ 20 มกราคม 2552 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสี่และโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักเงินและร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบในวันที่ 21 มกราคม 2552 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ได้ จึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัตรเอทีเอ็มที่จำเลยที่ 2 ได้รับมาจากจำเลยที่ 3 ถอนเงินสดไปจากธนาคารโดยไม่รู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็ม การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขาดเจตนากระทำผิด พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 คดีสำหรับจำเลยที่ 4 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
‪          ‎มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า‬ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนากระทำความผิดว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับบัตรเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 3 ไปใช้เบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็มโดยรู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของบัตรและไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของบัตร ทั้งไม่ทราบด้วยว่าแท้จริงแล้วเจ้าของบัตรยินยอมให้จำเลยที่ 3 นำบัตรเอทีเอ็มไปเบิกเงินสดหรือไม่ จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดเจตนากระทำความผิดนั้น ในข้อนี้เห็นว่า ผู้เสียหาย เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า หลังจากผู้เสียหายร้องทุกข์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 28,000 บาท มามอบให้แก่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าเงินดังกล่าว จำเลยที่ 3 บิดาของจำเลยที่ 2 มาขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยโอนเงินจากบัตรเอทีเอ็มให้เพราะจำเลยที่ 3 โอนเงินด้วยบัตรเอทีเอ็มไม่เป็น เมื่อผู้เสียหายสอบถามจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เล่าให้ผู้เสียหายฟังว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 นำบัตรเอทีเอ็มมาให้กดเบิกถอนเงินนั้น จำเลยที่ 3 แจ้งแก่จำเลยที่ 2 ว่า บัตรเอทีเอ็มเจ้าของบัตรเป็นหนี้จำเลยที่ 3 จึงมอบบัตรเอทีเอ็มมากดเบิกถอนเงินเพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 2 สอบถามจำเลยที่ 3 ว่า เหตุใดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ด้วยเงินสดทั้ง ๆ ที่มีบัตรเอทีเอ็ม จำเลยที่ 2 จึงมีความสงสัย แต่จำเลยที่ 3 ไม่ตอบ กลับพยายามให้จำเลยที่ 2 ไปกดเบิกถอนเงินแทนให้ หลังจากจำเลยที่ 2 กลับบ้านแล้วไปปรึกษากับสามีว่า การกระทำดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ โดยบอกว่าบัตรเอทีเอ็มไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี การนำเงินมาคืนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น พนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกไว้ ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่นำสืบว่า เมื่อใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินมาได้แล้ว จำเลยที่ 2 ก็นำเงินไปมอบให้จำเลยที่ 3 ทันที 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้สึกผิดปกติที่บัตรเอทีเอ็มเป็นชื่อของบุคคลอื่น ไม่ใช่ชื่อของจำเลยที่ 3 และเมื่อสอบถามแล้วจำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมบอกว่าเป็นของใคร จำเลยที่ 2 จึงมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงบางส่วน จำนวน 20,000 บาท และเก็บเงินส่วนที่เหลือไว้ โดยจำเลยที่ 2 เบิกความถึงข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่า หลังจากนำบัตรเอทีเอ็มไปกดเบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้าน สามีจำเลยที่ 2 สอบถามเกี่ยวกับเรื่องการเอาบัตรเอทีเอ็มไปกดถอนเงิน เมื่อจำเลยที่ 2 เล่าให้ฟัง จำเลยที่ 2 ถูกสามีดุด่าว่าทำไมถึงไม่ถามจำเลยที่ 3 ว่าเอาบัตรเอทีเอ็มมาจากไหนและเมื่อจำเลยที่ 2 นำเงินไปมอบให้แก่จำเลยที่ 3 จำนวนเพียง 20,000 บาท จำเลยที่ 3 ถามจำเลยที่ 2 ว่า ทำไมถึงเอาเงินมาให้เพียง 20,000 บาท เพราะในบัญชีมีตั้ง 40,000 ถึง 50,000 บาท จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 เก็บไว้เอง 20,000 บาท หากจำเลยที่ 3 ต้องการทั้งหมด ก็ให้เซ็นหนังสือมาว่าได้บัตรเอทีเอ็มมาโดยชอบ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันไปตรวจสอบบัญชีของบัตรเอทีเอ็มอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่ามีเงินเหลืออยู่ในบัญชีประมาณ 8,000 ถึง 9,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงนำบัตรเอทีเอ็มไปกดถอนเงินจำนวนดังกล่าวอีก เพื่อนำเงินที่เหลือรวมเป็นเงิน 28,000 บาท ไปคืนให้แก่จำเลยที่ 3 แต่มีข้อแม้ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับรองเป็นหนังสือก่อนว่าได้เงินจำนวนดังกล่าวมาโดยชอบ จำเลยที่ 3 ไม่ยอมทำหลักฐานเป็นหนังสือยืนยันว่าได้บัตรเอทีเอ็มดังกล่าวมาโดยชอบและมีหนี้สินกับเจ้าของบัตรจริง จำเลยที่ 2 จึงไม่คืนเงินทั้งหมดอีกจำนวน 28,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 หลังจากนั้นอีก 2 วัน จำเลยที่ 2 นัดให้จำเลยที่ 3 มาพบกันที่สถานีตำรวจภูธรพุนพิน แต่จำเลยที่ 3 ไม่มาและก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 3 โกรธจำเลยที่ 2 และบอกจำเลยที่ 2 ว่า ไม่เอาเงินก็ได้แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ จำเลยที่ 2 ไม่แน่ใจต่อคำว่าเกิดอะไรขึ้นมาคืออะไร จึงปรึกษากับสามี สามีจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 2 เอาเงินจำนวน 28,000 บาท ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เห็นว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากจะมีผู้เสียหายเบิกความเจือสมดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมีพยานเอกสารสำคัญคือสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานมานำสืบสนับสนุน โดยปรากฏข้อเท็จจริงจากสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน 28,000 บาท มามอบให้ผู้เสียหายรับคืนไปแล้ว ส่วนสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2552 หลังวันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินคือ วันที่ 20 และ 21 เดือนเดียวกันเพียงประมาณ 3 ถึง 4 วัน เท่านั้น และเป็นเวลาก่อนที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 14 วัน ด้วย อันเป็นหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์เสียอีก พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความสมเหตุสมผล มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะรับฟังเชื่อถือได้และทำให้พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำบัตรเอทีเอ็มที่ได้รับมาจากจำเลยที่ 3 ไปใช้เบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารโดยรู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มดังกล่าวหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โดยฟังข้อเท็จจริงเชื่อตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายเบิกถอนเงินของผู้เสียหายจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารโดยสำคัญผิดว่า จำเลยที่ 3 ผู้มอบบัตรเอทีเอ็มและใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปเบิกถอนเงินมีสิทธิที่จะใช้บัตรเอทีเอ็มนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ว่า หากจำเลยที่ 3 มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายเบิกถอนเงินจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิด แม้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารจะไม่มีอยู่จริง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนากระทำผิดและพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
          ‎อนึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า‬ จำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดเพราะจำเลยที่ 3 มอบบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคาร โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำคัญผิดว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยมีสิทธิ อันมีผลทำให้ผลการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง แต่กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อม โดยใช้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดของจำเลยที่ 3 เอง และแม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิด แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อมโดยใช้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 3 จะกระทำผิดด้วยตัวเองหรือเป็นการกระทำผิดโดยอ้อม จำเลยที่ 3 ก็มีสถานะเป็นผู้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องเหมือนกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้หลงต่อสู้ในข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไป ศาลฎีกาจึงย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ตามที่พิจารณาได้ความ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
          ‎พิพากษาแก้เป็นว่า‬ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/7 ประกอบมาตรา 269/5, 335 (7) วรรคแรก จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี ให้จำเลยที่ 3 คืนเงิน 20,900 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน

          ความหมายของอาวุธปืน          

          “อาวุธปืน” หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา 4 (1))
          ส่วนของอาวุธปืนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น “อาวุธปืน” ตามความในมาตรา 4 (1) คือ
          (1) ลำกล้อง
          (2) เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน
          (3) เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก
          (4) เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้
          (กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2551 ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2536  ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ที่แก้ไขแล้ว มิได้บัญญัติว่าอาวุธปืนจะต้องใช้ยิงได้จึงจะเป็นอาวุธปืน ดังนั้น การที่จำเลยมีปืนของกลางจำนวน 4 กระบอกไว้ในครอบครอง แม้จะปรากฏว่าปืนของกลางมีสภาพเก่า ลำกล้องมีสนิมขึ้นไม่สามารถใช้ยิงได้และบางกระบอกไม่มีด้ามปืน จำเลยก็มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72


          ความหมายของเครื่องกระสุนปืน 

          “เครื่องกระสุนปืน” หมายความรวมตลอดถึงกระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีกรดแก๊ส เชื้อเพลิง เชื้อโรค ไอพิษ หมอกหรือควัน หรือกระสุน ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน หรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน (มาตรา 4 (2))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2550  พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (2) มิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน

          ความหมายของวัตถุระเบิด

          “วัตถุระเบิด” คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน หรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหาร กับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อประทุต่าง ๆ หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้ หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 4 (3))
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2545  น้ำมันเบนซินที่บรรจุอยู่ในขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอน เมื่อจุดไฟจากเศษผ้าซึ่งเป็นสายชนวนแล้วขว้างปาไปจะทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้เป็นระเบิดเพลิงชนิดทำเอง แต่ไม่มีสะเก็ดระเบิด มีแต่ทำให้เกิดไฟไหม้มากน้อยแล้วแต่การกระจายของน้ำมันเบนซิน จึงไม่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน และไม่มีกำลังดันทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารอีกทั้งไม่ใช่เชื้อประทุหรือวัตถุที่มีสภาพคล้ายคลึงกับเชื้อประทุซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิด จึงไม่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิดตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 4(3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2536  แม้ลูกระเบิดจะไม่มีชนวนหัวท้ายที่จะนำมาประกอบ เข้าด้วยกัน แต่ลูกระเบิดก็มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองพร้อมที่จะใช้งาน หากนำชนวนหัวและชนวนท้ายมาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะสามารถทำการยิงได้ทันที จึงเป็นวัตถุระเบิดหรือ เครื่องกระสุนปืนตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4(2) และ (3) แล้ว

          สิ่งเทียมอาวุธปืนไม่ถือว่าเป็นอาวุธโดยสภาพ       
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2557  เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติกจึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

          ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4174/2555  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่" และมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของคำว่า "มี" ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อการจำนำนั้นผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้อยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 747 และมาตรา 758 การที่จำเลยที่ 3 รับจำนำอาวุธปืนของกลางจึงมีเจตนายึดถืออาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มิใช่เพียงแต่ยึดถือไว้แทนจำเลยที่ 1 ชั่วขณะ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2548  จำเลยได้รับฝากอาวุธปืน เหล็กพานท้ายปืน และด้ามปืนของกลางไว้จาก ภ. เพื่อทำความสะอาด การที่จำเลยครอบครองอาวุธปืนของกลางในลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยยึดถืออาวุธปืนไว้แทน ภ. เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนายึดถือ เพื่อตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง ตามความหมายแห่ง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2552  พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ฯ มาตรา 4 (6) ได้ให้ความหมายคำว่า "มี" ว่า หมายถึงมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง จำเลยร้องบอกพวกให้ส่งอาวุธปืนให้ พวกของจำเลยจึงส่งอาวุธปืนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยยิง แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองอาวุธปืนมาแต่แรก ขณะที่จำเลยยิงนั้นพวกของจำเลยซึ่งส่งอาวุธปืนให้ก็ยังอยู่ด้วยกัน การใช้อาวุธปืนของจำเลยเป็นเพียงชั่วคราวในขณะที่ยิงเท่านั้น อาวุธปืนจึงยังคงอยู่ในครอบครองของพวกจำเลย แม้จำเลยรู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืน ก็จะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมในการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวมาแต่ต้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการพาอาวุธปืนติดตัวไปนั้น ก่อนเกิดเหตุพวกของจำเลยเป็นคนพาอาวุธปืนติดตัวไป จำเลยจึงอาจส่งมอบคืนให้แก่พวกแล้วต่างคนต่างหลบหนีไปก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2536  จำเลยบอกให้พวกของจำเลยส่งอาวุธปืน พวกของจำเลยก็ส่งให้แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้นเองโดยพวกของจำเลยก็ยังอยู่ที่เกิดเหตุนั้นด้วย พวกของจำเลยจึงยังคงควบคุมดูแลอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิดและมิได้มอบการครอบครองให้จำเลย สิทธิครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนยังคงอยู่กับพวกของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองและไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืนด้วย โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2551 ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 แม้ซองกระสุนปืนของกลางสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด แล้วก็เป็นซองกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และซองกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 32
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2550  พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (2) มิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยมีพลุดังกล่าวไว้ในครอบครองย่อมไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพสำหรับความผิดในข้อหานี้ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว ก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ และต้องคืนพลุสดุดส่องแสงของกลางแก่จำเลย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555  จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12775/2553  นาย พ. กับพวกไปหาจำเลยที่บ้านร่วมดื่มสุราแล้วชวนไปเที่ยวงานวัดด้วยกันประมาณ 12 คน โดยนั่งตอนท้ายรถยนต์กระบะและอาวุธปืนของกลางอยู่ที่นาย พ. เพียงผู้เดียว จนกระทั่งวันและเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นพบอาวุธปืนของกลางบนพื้นถนนข้างรถยนต์กระบะดังกล่าว
          พฤติการณ์ที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางจากนาย พ. แล้วส่งต่อให้เพื่อนไปโยนทิ้งทันที เป็นการที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางมาอยู่ที่จำเลยเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นเพื่อส่งต่อไปทันทีเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนาย พ. มีและพาอาวุธปืนของกลาง

          ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21745/2556  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ซึ่งคำว่า "ชุมนุมชน" หมายความถึง หมู่ชนที่มารวมกันมาก ๆ โดยเป็นการรวมบุคคลหลาย ๆ คนโดยทั่วไป มิใช่บุคคลเฉพาะบางหมู่บางพวก แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพเข้าไปในบริเวณที่มีหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยถืออาวุธปืนพกยืนอยู่บริเวณข้างกำแพงด้านนอกแม้ไม่ได้เข้าไปที่ศาลหลักเมืองบริเวณที่จัดงานแสดงหมอลำและชกมวยก็ตาม แต่บริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนดังกล่าวมีรถยนต์ของผู้มาเที่ยวงานจอดอยู่ห่างจากปากทางเข้าออกงานประมาณ 20 เมตร แสดงว่าบริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนนั้นอยู่ในที่ซึ่งหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ มาจอดรถเพื่อเข้าร่วมงาน ถือว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2554  เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และมาตรา 8 ทวิ ต่างเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเองแยกจากกันได้ การพิจารณาว่าจำเลยจะกระทำความผิดตามมาตรา 8 ทวิ หรือไม่ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 7 มาก่อน และมาตรา 8 ทวิ ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าใช้บังคับใช้กับอาวุธปืนที่มีหรือไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับ ดังนั้น ต้องถือว่าใช้บังคับกับอาวุธปืนทั้งที่มีและไม่มีเครื่องหมายประจำอาวุธปืนของนายทะเบียนประทับ ซึ่งกรณีปกติย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมาตรา 8 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้มิให้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหาร และตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นพาอาวุธปืนของกลางติดตัวออกไประงับเหตุทะเลาะวิวาทอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แม้อาวุธปืนของกลางจะไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนและจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางก็ตาม ย่อมไม่ใช้บังคับแก่จำเลยในกรณีนี้ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2554 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต หรือเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จากบทบัญญัติดังกล่าว การพาอาวุธปืนติดตัวไปได้ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หากมิได้รับใบอนุญาตจะต้องเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปในการประกอบธุรกิจของจำเลยเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แต่อย่างใด มิฉะนั้นเท่ากับว่าจำเลยสามารถพาอาวุธปืนไปได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12775/2553  นาย พ. กับพวกไปหาจำเลยที่บ้านร่วมดื่มสุราแล้วชวนไปเที่ยวงานวัดด้วยกันประมาณ 12 คน โดยนั่งตอนท้ายรถยนต์กระบะและอาวุธปืนของกลางอยู่ที่นาย พ. เพียงผู้เดียว จนกระทั่งวันและเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นพบอาวุธปืนของกลางบนพื้นถนนข้างรถยนต์กระบะดังกล่าว
          พฤติการณ์ที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางจากนาย พ. แล้วส่งต่อให้เพื่อนไปโยนทิ้งทันที เป็นการที่จำเลยรับอาวุธปืนของกลางมาอยู่ที่จำเลยเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นเพื่อส่งต่อไปทันทีเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนาย พ.มีและพาอาวุธปืนของกลาง

กระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้

          คนบ้ากระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา  65 "ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
          แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
          มาตรา  66 "ความมึนเมาเพราะเสพย์สุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา 65 ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยกเว้นโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

          ผู้ที่กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ อาจจะเป็นเพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน(เป็นคนบ้าหรือวิกลจริต) ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
          ถ้าผู้กระทำยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ก็ยังคงต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
          แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดเมายา(ไม่ได้บ้า) จะมาอ้างว่ากระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ตามมาตรา 65 ไม่ได้ จึงยังต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ยกเว้นเป็นกรณีความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์

          ตัวอย่างกรณีที่ผู้กระทำความผิดเมายา(ไม่ได้บ้า) จึงไม่ได้ยกเว้นหรือลดหย่อนโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2545 เอกสารที่จำเลยนำมาแสดงอ้างว่าตนเป็นโรคประสาทเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญานั้น เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ จำเลยมิได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันว่าตนป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำการโดยไม่รู้สึกตัวทั้งในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่า จำเลยให้การปฏิเสธซึ่งจำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามได้เหมือนคนปกติส่วนที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของจำเลยระบุว่าจำเลยมีอาการเบลอๆ ไม่ค่อยได้สตินั้นอาจเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อนเกิดเหตุจนมีอาการมึนเมาก็เป็นได้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยมีอาการทางจิตประสาทไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ (จึงต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2545 แม้พฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนยิงคนจำนวนมากคล้ายคนมีสติไม่เหมือนคนปกติก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้นำแพทย์มาเบิกความยืนยันและไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดงว่าจำเลยเป็นโรคจิต ศาลจึงไม่อาจที่จะวินิจฉัยได้เองว่า จำเลยมีจิตไม่ปกติ ทั้งจำเลยสามารถให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามปกติโดยไม่ปรากฏว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยดื่มสุราจนเมา การที่จำเลยกระทำความผิดไปจึงเนื่องมาจากดื่มสุรา ซึ่งจำเลยจะอ้างเป็นเหตุลดหย่อนผ่อนโทษตาม ป.อ. มาตรา 65 ไม่ได้ เพราะจำเลยสมัครใจดื่มเอง

          แต่ถ้าผู้กระทำนั้นถึงขั้นปัญญาอ่อนขนาดที่ไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ถือว่ากระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2544 จำเลยปฏิเสธตลอดมาว่า จำเลยมีความพิการทางสมอง ไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิดดังนั้นปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง หรือไม่นั้น ศาลต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 59 หรือไม่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้เป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59

          ส่วนถ้าผู้กระทำผิดยังรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังบังคับตนเองได้บ้าง(บ้าเล็กน้อย) ก็ยังคงต้องรับโทษอยู่ แต่อาจได้ลดหย่อนผ่อนโทษลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2544   ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายได้รับอันตรายมีบาดแผลถูกฟันที่ศีรษะด้านขวาและซ้าย 10 แผลเศษ ทำให้กะโหลกศีรษะด้านหน้าขวาและซ้ายแตกกดยุบลง ศีรษะด้านข้างและท้ายทอยซ้ายแตกมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกด้านข้างซ้าย ฝ่ามือขวามีบาดแผล 2 แห่ง ยาว 4 เซนติเมตร และจมูกด้านซ้ายเป็นรอยบาดแผล ผิวหนังถลอกประมาณ 10 แผล ในขณะที่แพทย์รับตัวผู้เสียหาย ผู้เสียหายช็อกเนื่องจากเสียเลือดมาก หากไม่ได้รักษาทันท่วงทีผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายเต็มแรง อาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายเป็นมีดฟันหญ้ามีขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่า
          อาการโรคซึมเศร้าเกิดจากความกดดันของสภาพแวดล้อม ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำลง เมื่อมีเหตุมากระตุ้นจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ จำเลยไม่มีมูลเหตุที่จะเคียดแค้นจนถึงกับต้องทำร้ายผู้เสียหาย แต่เป็นเพราะอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจนแสดงออกในทางเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพและรู้สึกว่าจำเลยไร้ค่าจนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบผู้เสียหายกำลังขับเรือเร่ขายสินค้าเช่นเดียวกับตน จึงเป็นเหตุกระตุ้นจิตใจของจำเลยให้มีความก้าวร้าวยิ่งขึ้น จนจำเลยแสดงออกด้วยการทำร้ายผู้เสียหายอย่างรุนแรง แต่วันเกิดเหตุจำเลยขับเรือออกไปค้าขายซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามปกติ ในเรือของจำเลยมีสินค้าต่างๆ สำหรับจำหน่ายอันเป็นอาชีพของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยยังสามารถประกอบอาชีพตามที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ หลังเกิดเหตุจำเลยยังสามารถขับเรือแล่นหลบหนีกลับบ้านได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งศาลอาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้



14 มีนาคม 2567

การลงโทษทางวินัย การออกคำสั่งลงโทษที่มีลักษณะเป็นการลงโทษซ้ำในมูลเหตุเดียวกันนั้น แม้ว่าความผิดครั้งหลังเกิดจากการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

               การลงโทษทางปกครอง หรือการลงโทษทางวินัย จะถือเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลผู้ถูกลงโทษหรือไม่ และคำสั่งลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยมากกว่าหนึ่งครั้งสําหรับมูลความผิดเดียวโดยครั้งแรกเป็นการลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงและครั้งที่สองเป็นการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีดังกล่าวจะเป็นการอันต้องห้ามตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่
               มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ 
               คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 7/2557 ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คือขณะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นปลดองค์การบริหารส่วนตำบลบางปลากด  ถูกกล่าวหาว่าเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างและกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการก่อสร้างสะพานทางเดินเท้าคอนกรีตและโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ไม่ได้ออกไปตรวจสอบความถูกต้องของโครงการก่อสร้างตามแบบแปลนที่กำหนด จำนวน  4 โครงการ ซึ่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลชะอม  (ผู้ฟ้องคดีโอน (ย้าย)มาดำรงตำแหน่งที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะอม) จึงมีคำสั่ง ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดีร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
               ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้โอน (ย้าย) มาดำรงตำแหน่งที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางปลากด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางปลากด) โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครนายก ) ได้มีคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางปลากด  ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนกรณีเดียวกัน
               ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้ยกอุทธรณ์
               ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการลงโทษทางวินัยสองครั้งในความผิดเดียวกัน จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้
               การออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงโดยตัดเงินเดือนและการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงโดยไล่ออกจากราชการเป็นการลงโทษซ้ำอันเป็นการขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พทธศักราช 2550 หรือไม่ ?
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หลักที่ว่าบุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำและโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะเป็นความผิดและโทษอาญา ความผิดและโทษทางปกครอง หรือความผิดและโทษทางวินัย นอกจากนั้น การลงโทษบุคคลไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นโทษทางอาญา โทษทางปกครอง หรือโทษทางวินัย ถือได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกลงโทษ การลงโทษบุคคลมากกว่าหนึ่งครั้งสาหรับการกระทำความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว จึงเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายเกินความจำเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นๆ มุ่งหมายจะให้ความคุ้มครอง อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
               การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางปลากด ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นการมีคำสั่งลงโทษซ้ำอีกครั้งหนึ่งสำหรับการกระทำความผิดวินัยเรื่องเดียวกันกับที่ผู้ฟ้องคดีเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้วตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลชะอม ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546  อันเป็นการต้องห้ามตามหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว
สําหรับประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอํานาจออกคําสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางปลากด ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ลงโทษไล่ผ้ฟู้องคดีออกจากราชการหรือไม่นั้น
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 93 ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือยกเว้นผลบังคับของหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียวและมาตรา 29 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550 ที่ห้ามมิให้จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินความจำเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นๆ มุ่งหมายจะให้ความคุ้มครองแต่อย่างใด
               ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงปฏิบัติตามบทบญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้โดยดำเนินการเพิกถอนคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลชะอม ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันออกคําสั่งตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเพิกถอนคําสั่งทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หมวด 2 คำสั่งทางปกครอง ส่วนที่ 6 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเสียก่อน
               เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังมิได้ดำเนินการให้มีการเพิกถอนคำสั่งลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 กรณีจึงมิอาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่า คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ลงโทษซ้ำอีกครั้งหนึ่งสำหรับการกระทำความผิดทางวินัยเรื่องเดียวกัน และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายทั่วไปและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               หมายเหตุ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ยกเลิกแล้ว ส่วนสิทธิเสรีภาพตามรับธรรมนูญนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ได้มีบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 25