14 มีนาคม 2567

ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา  362  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 
          กรณีแรก เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
          กรณีที่สอง เข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข

          ความผิดฐานบุกรุก แม้แค่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเข้าไป ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทั้งตัวก็เป็นความผิด 
          
          เข้าไปในที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครอง ไม่ผิดบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5362/2539  จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับห้ามโอนจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองให้แก่ผู้อื่นได้ การที่จำเลยทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินและทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วมมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมภายในกำหนดเวลาห้ามโอน จึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และล้อมรั้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

          มีสิทธิเข้าไปอยู่ในที่ดินโดยชอบมาตั้งแต่ต้น การที่อยู่ในที่ดินตลอดมา แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษาขับไล่ แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2565  การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนาง ส. โดยนาย น. เจ้าของที่ดินเดิมและนาง ส. ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย น. ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านาย น. และนาง ส. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านให้นาง ก. แล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน
          ที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลง จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านาย น. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนาย น. และนาง ส. จนกระทั่งนาง ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านาย น. และนาง ส. ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นาย น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่นาง ส. มาก่อน เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

          เข้าไปครอบครองที่ดินอยู่มาก่อนที่ผู้อื่นจะมีสิทธิครองครอง เมื่อมีการโต้แย้งเรื่องสิทธิครอบครองอยู่ จึงไม่ผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2540  นับจากวันที่โจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทจากกรมที่ดิน โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมยังมิได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าไปยึดถือที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทั้งจำเลยที่ 1 ได้แสดงความเป็นเจ้าของโดยทำเป็นหนังสือคัดค้านการนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส.3 และขายให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปถากถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2535 กรณีจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 นั้น ผู้เสียหายจะต้องเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่จำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้เสียหายโดยปกติสุข จำเลยได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้ว ผู้เสียหายเพิ่งจะอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการซื้อขายในภายหลัง การที่จำเลยเข้าไปครอบครองยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ก่อนและคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา ย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก




          กรณีเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข
          ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยว่า แม้ไม่มีการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์เลยก็ตาม ถ้ามีการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 362
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2537  แม้ถนนที่เป็นทางเข้าออกของที่ดินของโจทก์จะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่มีอำนาจโดยพลการที่จะนำไม้และสังกะสีไปตอกปิดกั้นประตูทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558  จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
          จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่
          คำพิพากษาฎีกาที่ 5132/2555  เดิมนาย ส.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 73948 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 38 ตารางวา ส่วนโจทก์ร่วมเป็นน้องสาวของนาย ส. และเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 54/7 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยได้รับอนุญาตจากนาย ส.  เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 นาย ส.ทำสัญญาจะขายที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่ จำเลยที่ 1 ในราคา 700,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย  ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2548 นาย ส.จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 และนางสาว บ. โดยระบุในสัญญาว่าเป็นการขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง  ต่อมาจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เข้าไปซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านพิพาท โดยมีการรื้อส่วนประกอบของบ้านบางส่วนในห้องครัวและห้องน้ำ โจทก์ร่วมได้เข้าห้ามปราม จำเลยที่ 1 ยังให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการซ่อมแซมบ้านพิพาทต่อไป จึงมีการแจ้งความและฟ้องร้องต่อศาลกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
          ศาลได้วินิจฉัยไว้ว่า แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจะระบุว่า นาย ส.จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นาย ส.ทำหนังสือสัญญาขายที่ีดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความระบุว่า ตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง แสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของนาย ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อถอนปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้งๆที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์

          ผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของถ้าเข้าไปรบกวนการครอบครองของผู้เช่าย่อมมีความผิดบุกรุกได้ ยกเว้นจะมีการระบุไว้ในสัญญาชัดเจนให้ผู้ให้เช่าทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2519  ข้อสัญญาเช่าที่ว่า เมื่อผู้เช่าผิดสัญญาในการชำระเงินตามกำหนดเวลา เจ้าของสถานที่เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองสถานที่ ย้ายบุคคลออกไปจากสถานที่ทั้งหมด เข้าครอบครองสถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง สิ่งของที่ติดกับสถานที่และทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดในสถานที่เช่า และไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าก็ตาม ก็สามารถให้เช่าสถานที่เช่าได้ใหม่ นั้น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ผู้เช่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 เจ้าของสถานที่เช่าใช้สิทธิตามสัญญานี้ได้ และการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 1 ให้คนงานใช้ลวดไขกุญแจที่ใส่ปิดประตูห้องพิพาทออกแล้วเอากุญแจลูกใหม่ใส่แทน เป็นเหตุให้โจทก์กับพนักงานเข้าไปใช้ห้องพิพาทไม่ได้ จึงไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558  ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83

          การกระทำที่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยเอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561 ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก

          บุกรุกที่ดินมือเปล่า แต่ผู้เสียหายไม่ฟ้องขับไล่ภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2530 จำเลยบุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดิน นส.3 ก. ของ ส. ผู้เสียหาย อันเป็นการแย่งการครอบครอง เมื่อ ส. มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยบุกรุก ย่อมหมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1735 วรรคสอง สิทธิครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง การที่จำเลยครองครองที่ดินภายหลังจากการที่สิทธิครอบครองของ ส. สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

          บุกรุกเป็นความผิดสำเร็จทันทีตั้งแต่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการครอบครองต่อมา เป็นเพียงผลของการบุกรุก ไม่เป็นความผิดต่อเนื่อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2558  ความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกเพิงขายอาหารชั่วคราวในที่ดินโจทก์ร่วมเมื่อปี 2547 การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินโจทก์ร่วมต่อมาหลังจากนั้นด้วยการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตชั้นเดียวจนถึงช่วงเกิดเหตุตามฟ้องคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องในอันที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานบุกรุกขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก




ขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ตามกำหนดเวลา | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

          คดีเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

           เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้เจ้าของที่ดินตามคำขอ จนกระทั่งล่วงเลยเวลาไปนาน ผู้ขอออกโฉนดที่ดินจึงฟ้องต่อศาลปกครองว่า เจ้าพนักงานที่ดินละเลยต่อหน้าที่

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1267/2559  ข้อเท็จจริงมีว่า ขณะเกิดเหตุ ผู้ฟ้องคดีนำหลักฐาน น.ส. 3 ก. พร้อมสําเนาระวางรูปถ่ายทางอากาศ หมายเลข 4845 IV ที่สํานักงานป่าไม้เขตได้ขีดเขตป่าไม้สงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีลงในระวางแล้ว มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามคำขอลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 แต่เมื่อมีการออกประกาศโฉนดที่ดินและไม่มีผู้คัดค้านแล้ว เจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กลับไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคาขอ ผู้ฟ้องคดีสอบถามความคืบหน้าหลายครั้ง จนกระทั่งนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดิน โดยเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

          เจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) อ้างแผนที่ภูมิประเทศและระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนมีอาณาเขตติดต่อคาบเกี่ยวแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี จึงต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ทำการพิสูจน์ที่ดินเสียก่อน และไม่ใช่กรณีที่ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 64 วันตามประกาศกรมที่ดิน เรื่องการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546

          คดีนี้มีข้อที่ควรพิจารณาว่า การที่ผ้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการตามคำขอ เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และต้องปฏิบัติตามประกาศกรมที่ดิน เรื่องการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายไว้มีกระบวนงาน 16 ขั้นตอน ใช้เวลาประมาณ 64 วันทำการ  การดำเนินงานตามคำขอของผู้ฟ้องคดีต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะอ้างว่าได้ตรวจสอบที่ดินพิพาทว่ามีอาณาเขตติดต่อคาบเกี่ยวแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีจึงต้องตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนเสียก่อนอันถือเป็นข้อยกเว้นที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้ภายในระยะเวลา 64 วันทำการ ตามขั้นตอนและระยะเวลาตามประกาศของกรมที่ดินก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาคําขอของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร โดยควรต้องมีคําสั่งเกี่ยวกับคําขอไม่เกิน 90 วันทําการ นับแต่วันที่ได้รับคำขอออกโฉนดที่ดิน
          เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน จนถึงวันยื่นฟ้องรวมเป็นเวลากว่า 288 วัน โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินและมิได้ส่งพยานหลักฐานการสั่งเรื่องตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างได้ อีกทั้งภายหลังยื่นฟ้องคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินตามกฎกระทรวงดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธานกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินได้แจ้งนัดหมายคณะกรรมการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 กรณีจึงฟังได้ว่า ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินตามที่กล่าวอ้าง ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถจะดำเนินการหรือเร่งรัดการตรวจพิสูจน์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอนสมควรได้ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำขอล่าช้าเกินสมควร

           พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีดําเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามขั้นตอน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด


12 มีนาคม 2567

สัญญาว่าจ้างที่หน่วยงานเทศบาลไม่กำหนดรายละเอียดงานบางอย่างไว้ในสัญญา แม้มิใช่เหตุสุดวิสัย แต่ถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ว่าจ้าง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาทำงานได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นฯ

               สัญญาทางปกครอง

               ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 132 (1) (2) และ (3) กําหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีอํานาจงดหรือลดค่าปรับ หรือขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาได้ กรณีมีเหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือมีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

               แต่มักจะเกิดปัญหาในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจพิจารณาสั่งการ ที่จะวินิจฉัยว่ากรณีใดบ้างจะถือเป็น “เหตุสุดวิสัย” หรือ “เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงาน” ที่ทําให้สามารถงดหรือลดค่าปรับหรือขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลงให้แก่คู่สัญญาได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ และสำหรับในส่วนของผู้รับจ้างซึ่งเป็นเอกชนที่อาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบข้อกฎหมาย ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ไม่ถูกต้อง

               มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยไว้
               คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 480/2557   เป็นกรณีการใช้อํานาจของนายกเทศมนตรีมีคําสั่งอนุญาตขยายเวลาให้กับผู้รับจ้างก่อสร้าง แต่ต่อมาสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่า เหตุผลการขอขยายระยะเวลามิใช่ “เหตุสุดวิสัย” ทําให้เทศบาลใช้อํานาจเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้เงินในช่วงที่มีการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาและท้ายที่สุดเมื่อเทศบาลไม่สามารถใช้สิทธิเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้เงินได้ เทศบาลจึงใช้อํานาจออกคําสั่งเรียกให้นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจอนุญาตให้ผู้รับจ้างขยายเวลาการปฏิบัติตามสัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
               ข้อเท็จจริงในคดีคือ ผู้ฟ้องคดีขณะนั้นดํารงตําแหน่งนายกเทศมนตรีได้ทําสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจํากัด ป. ก่อสร้าง “สวนภูมิรักษ์” ของเทศบาล (สวนสาธารณะ) โดยผู้รับจ้างต้องปลูกต้นไม้ต่างๆ พร้อมจัดวางระบบให้น้ํา โดยสัญญาแบ่งการจ่ายเงินค่าจ้างเป็น 7 งวด ในระหว่างการทํางานผู้รับจ้างได้ขอขยายระยะเวลาตามข้อ 22 ของสัญญา และผู้ฟ้องคดีได้มีคําสั่งอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้าง โดยงดเว้นค่าปรับ 36 วัน คิดเป็นเงินค่าปรับจํานวน 1,349,568 บาท และผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายกับรับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว  
               ต่อมาสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคได้ตรวจสอบการจัดจ้างและเห็นว่ามิใช่เหตุสุดวิสัยที่จะขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามสัญญาได้เทศบาลจึงมีหนังสือเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้จากการขยายระยะเวลาดังกล่าว แต่ผู้รับจ้างเพิกเฉยและเทศบาลได้ฟ้องผู้รับจ้างเพื่อเรียกคืนเงินต่อศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งศาลปกครองมีคําพิพากษาว่าเทศบาลไม่อาจเรียกให้ผู้รับจ้างชดใช้เงินค่าปรับอันเกิดจากการงดเว้นค่าปรับได้ตามบันทึกตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาก่อสร้าง
               เทศบาลจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกเทศมนตรี) ได้มีคําสั่งไล่เบี้ยให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจํานวนดังกล่าวแก่เทศบาล
               ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ในการขยายระยะเวลาตามสัญญาโดยงดเว้นค่าปรับเป็นไปตามระเบียบ (ข้อ 132 (3) ) ผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาร่วมกับคณะกรรมการตรวจการจ้าง ช่างควบคุมงาน และนิติกร ที่ทําหน้าที่ให้คําปรึกษาตามระเบียบขั้นตอนปฏิบัติของกฎหมาย ซึ่งมีความเห็นว่ามีความจําเป็นต้องเก็บน้ําในบ่อเพื่อทดสอบระบบน้ําและใช้น้ําดูแลรักษาพันธุ์ไม้เพื่อจะได้เห็นปัญหาและประสิทธิภาพของระบบและช่างผู้ควบคุมงานคํานวณระยะเวลาการจัดหาน้ําว่าต้องใช้เวลา 36 วัน การขยายเวลาก่อสร้างจึงเกิดประโยชน์ต่อเทศบาลมากกว่าการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จึงไม่ได้กระทําโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เป็นการใช้อํานาจของนายกเทศมนตรีในการบริหารราชการตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496  และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
               หลังจากผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คําสั่ง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัด) มีคําวินิจฉัยยกอุทธรณ์จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่ง
               ข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็น คือ (1) ผู้ฟ้องคดีกระทําละเมิดโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทําการโดยประมาทเลินเล่อ เนื่องจากมิได้พิจารณาสั่งการขยายระยะเวลาโดยอาศัยอํานาจของตนเองตามที่กฎหมายกําหนดโดยพลการ แต่ได้สั่งการให้คณะกรรมการตรวจการจ้างและนิติกรพิจารณา ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นผู้ฟ้องคดีที่เป็นนายกเทศมนตรีควรมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาและผู้ฟ้องคดีก็ได้กระทําในลักษณะเช่นเดียวกัน
               (2) การขยายระยะเวลาก่อสร้างเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ในสัญญาจ้างกําหนดให้ผู้รับจ้างต้องปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่อนุรักษ์ไม้ยืนต้นเดิม ปลูกไม้ประดับ จัดมุมนั่งพักผ่อน ลานอเนกประสงค์สวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น ทําทางเดินเท้า จัดวางระบบให้น้ํา และทําเรือนเพาะชําขนาดเล็ก โดยงานเกี่ยวกับการถมดินปรับแต่งขอบบ่อพร้อมทั้งขนย้ายตะกอนท้องบ่อ อยู่ในงวดที่ 2 งานเกี่ยวกับการปลูกหญ้าและปลูกต้นไม้อยู่ในงวดที่ 5 และงานเกี่ยวกับการวางระบบน้ํา สําหรับสนามและระบบน้ําพุอยู่ในงวดที่ 6 ย่อมแสดงว่า ในช่วงระหว่างการดําเนินงานในงวดที่ 2 บ่อน้ําจะต้องไม่มีน้ําเหลืออยู่เพื่อให้สามารถขุดลอกและขนย้ายตะกอนท้องบ่อได้ในขณะเดียวกันก็มีความจําเป็นที่จะต้องจัดหาน้ําหรือเติมน้ําลงในบ่อเพื่อใช้สําหรับการดูแลรักษาต้นไม้และหญ้าที่กําหนดให้ปลูกในงวดที่ 5  และทดสอบระบบน้ําสําหรับสนามและระบบน้ําพุในงวดที่ 6 แต่สัญญาจ้างไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการจัดหาน้ําหรือเติมน้ําลงในบ่อเพื่อใช้สําหรับการดูแลรักษาต้นไม้และหญ้า รวมทั้งการทดสอบระบบน้ําสําหรับสนามและระบบน้ําพุแต่อย่างใด
               โดยคู่สัญญาไม่ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นดังกล่าวมาก่อน จนกระทั่งผู้รับจ้างได้ขอขยายเวลาการก่อสร้างและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้มีความเห็นว่า เทศบาลมิได้เตรียมการเกี่ยวกับเรื่องการเติมน้ําในบ่อดินที่ขุด ทําให้มีปัญหาในระบบน้ําที่จะใช้ดูแลรักษาหญ้าและต้นไม้ฯลฯ และมีข้อสังเกตว่าน้ําในบ่อไม่มีจึงไม่สามารถทดสอบการใช้งานของปั๊มน้ําพุหรือสปริงเกอร์ได้หากปลูกต้นไม้ปลูกหญ้า ต้นไม้และหญ้าอาจตายได้
               ดังนั้น ปัญหาในเรื่องนี้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงมิได้พิจารณามาตั้งแต่ต้น ทั้งสัญญาจ้างก็มิได้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้กรณีจึงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง (เทศบาล) ที่ไม่ได้กําหนดรายละเอียดในการเติมน้ําในบ่อดินที่ขุดแต่งในโครงการ การขอขยายระยะเวลาจึงไม่ใช่กรณีเหตุสุดวิสัย แต่ถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ว่าจ้าง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 132 (3) และตามสัญญาจ้างข้อ 22
               การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาแต่เพียงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถขยายระยะเวลาให้ผู้รับจ้างได้ เพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยมิได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง และระเบียบ ข้อบังคับ และข้อสัญญาจ้างในกรณีอื่น ๆ จึงเป็นการพิจารณาและฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนและไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาโดยรับฟังความเห็นของคณะกรรมการตรวจการจ้าง งานนิติการ กองวิชาการและแผนงาน และช่างผู้ควบคุมงานแล้วก่อนมีคําสั่งถือว่าได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาขยายเวลาทําการตามสัญญาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 132 (1) จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้กระทําการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แปลงหนี้ใหม่ ต้องเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้

          ป.พ.พ.มาตรา 349  เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
          ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
          ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

          การแปลงหนี้ใหม่ จึงต้องเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ซึ่งจะมีผลให้มูลหนี้เดิมระงับไป แล้วคู่กรณีก็จะมาผูกพันกันตามมูลหนี้ใหม่  แต่ถ้าการแปลงหนี้ใหม่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย มูลหนี้เดิมก็ยังไม่ระงับไปแต่อย่างใด


          

          กรณีเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้         
          จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน ยังมิได้ชำระหนี้ การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นหนี้ใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ตามสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2544)
          จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายสาขาบางนา เมื่อปี 2535  ก. พนักงานขายสาขาบางนา ได้ขายรถยนต์ให้ให้แก่ ส. ในราคา 299,000 บาท โดย ส. วางเงินดาวน์ไว้ 60,000 บาท ส่วนที่เหลือจะนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หลังจากส่งมอบรถยนต์ไปแล้วปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่อนุมัติให้ ส.เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากเอกสารของ ส.เป็นเอกสารปลอม และ ส.ได้นำรถยนต์หนีไป จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์  เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่   3272/2547)

          กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้
          จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2540)





ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 147

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 147  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพัน บาทถึงสี่หมื่นบาท"

          ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอก

          (1) ต้อง เป็นเจ้าพนักงาน
          ถ้าไม่เป็นเจ้าพนักงานก็จะเป็นตัวการในการกระทำความผิดไม่ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งความผิดตามมาตรา 147 นี้เป็นบทเฉพาะ หากผิดมาตรานี้แล้วก็จะไม่ปรับบทมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
          เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556  พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า "การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส" ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว


          ถ้าเป็นเพียงลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น ไม่เป็นเจ้าพนักงาน(เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงาน) ไม่อาจเป็นตัวการกระทำความผิดตามมาตรา 147 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2537   จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทานโจทก์ร่วม  ซึ่งมิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน  จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายเนื่องจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และมาตรา 147,151, 157 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น  แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้  คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น 
 
          การได้รับแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ทำให้เป็นเจ้าพนักงาน ผิดยักยอกธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2538  การแต่งตั้งเสมียนตราอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่มีสุขาภิบาลให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลนั้น จะต้องเป็นเรื่องเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง นายอำเภอแม้จะเป็นกรรมการสุขาภิบาลอยู่ด้วย ก็ไม่มีอำนาจที่จะแต่งตั้งเสมียนตราอำเภอให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการที่ ป.นายอำเภอพรหมพิรามสั่งให้จำเลยไปปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาลจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยไม่มีฐานะเป็นพนักงานของสุขาภิบาลและไม่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ไม่ได้ แต่อาศัยอำนาจตามความใน ป.วิ.อ.มาตรา 192 ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของสุขาภิบาลตาม ป.อ. มาตรา 352 หรือไม่

          พนักงานตรวจสภาพรถของบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ไม่เป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2545  ใบรับรองการตรวจสภาพรถเป็นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบกมอบให้บริษัท ต. จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ออกและรับรองการตรวจสภาพรถเพื่อเป็นหลักฐานว่ารถยนต์ได้ผ่านการตรวจสภาพแล้ว พนักงานของบริษัท ต. จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองการตรวจสภาพรถไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย

          พนักงานของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248-15249/2557   จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้

          (2) มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด
          หน้าที่ของเจ้าพนักงานอาจเกิดจากกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ หรืออาจเกิดขึ้นโดยคำสั่งหรือการมอบหมายของผู้มีอำนาจสั่งการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2507 (ประชุมใหญ่)  จำเลยเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่รับคำขอและสอบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับการขออนุญาตให้และมีอาวุธปืน แล้วทำความเห็นเสนอต่อนายอำเภอ  เมื่อนายอำเภออนุญาต จำเลยก็มีหน้าที่กรอกข้อความในใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเสนอนายอำเภอ ลงลายมือชื่อในฐานะนายทะเบียนท้องที่  จำเลยไม่มีอำนาจที่จะลงลายมือชื่อได้  ดังนี้ หากจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเองในใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้วประทับตราตำแหน่งนายอำเภอเป็นการปลอมตนว่าเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจลงนามในใบอนุญาตแล้ว  ใบอนุญาตนี้ก็ไม่ใช่ใบอนุญาตอันแท้จริง เพราะไม่ได้ลงนามพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และจำเลยเบียดบังยักยอกเงินค่าธรรมเนียม 100 บาท ที่จำเลยรับไว้ตามหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 147 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2507)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2527  เมื่อสารวัตรใหญ่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้สั่งให้จำเลยทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในการเก็บรักษาเงินดังกล่าวตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว
          การที่จำเลยนำเงินของทางราชการไปฝากผู้อื่นไว้ มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ หรือหากไม่มีตู้นิรภัยของทางราชการ ควรจะเก็บเงินนั้นอย่างใด จำเลยก็จะต้องขอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคือสารวัตรใหญ่ เสียก่อน แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลย มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินจำนวนนั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นแล้ว เป็นความผิดตามมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2558  แม้ตามหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการอันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาค และแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา การที่จำเลยรับเงินไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. ที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลย ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

          แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การงาน เช่นเป็นเรื่องสวัสดิการ ก็ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5964/2537  เงินรายได้ฌาปนสถานที่จำเลยเบียดบังไม่ได้ส่งกรมตำรวจตามที่โจทก์กล่าวหา เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ใช่เงินรายได้ของแผ่นดิน และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ.มาตรา 147 ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษา แต่เมื่อเงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวในคดีนี้เป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจเท่านั้น มิใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษา จึงลงโทษจำเลยตามป.อ.มาตรา 147 ไม่ได้
          การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ปรากฏว่าผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 แต่ ท.เพิ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองสวัสดิการกรมตำรวจ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 การร้องทุกข์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่รับคำสั่งจึงเกิน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีจึงขาดอายุความ แม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้เอง


          เงินค่าทิป ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3410/2525  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับจดและต่อทะเบียนยานพาหนะเก็บรักษาเงินค่าภาษียานพาหนะและค่าแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนยานพาหนะ ได้รับเงินที่ผู้มาต่อทะเบียนมอบให้ด้วยความสมัครใจเป็นค่าบริการ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เพราะเงินดังกล่าวใช้เป็นทรัพย์ที่จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษา ทั้งไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาลด้วย
          เงินส่วนเกิน ไม่ใช่เงินของทางราชการ ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1272/2506   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอมีหน้าที่รับเรื่องราวจดทะเบียน ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของราษฎร ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินจากผู้ขายเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดและยึดเอาส่วนเกินไว้ เงินส่วนเกินไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาล จึงไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147  ฉะนั้น การที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (แม้จะเกินกว่ากฎหมายกำหนด) ก็ดี การทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินก็ดี จึงไม่ใช่เป็นการกระทำหรือเบียดบังต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
          ยักยอกกัญชาของกลาง ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2532   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์  ตำแหน่งหัวหน้าเสมียนคดี มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางและลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีของกลางกับสำเนาหนังสือนำส่งของกลางของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแก  แต่ไม่ลงบัญชีของกลางในคดีอาญาของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์  เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการรับกัญชาของกลางรายนี้แล้ว ต่อมาจำเลยเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
          การที่จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อีก
          ข้าราชการมีหน้าที่ขับรถยนต์แอบดูดน้ำมันหรือยอมให้ผู้อื่นดูดน้ำมันไปขาย ผิดมาตรา 147 นี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2505   จำเลยเป็นผู้คุมตรี  มีหน้าที่ควบคุมดูแลนักโทษ  และยังมีหน้าที่ขับรถยนต์ของเรือนจำด้วย  พัศดีเรือนจำให้จำเลยเอารถยนต์ของเรือนจำไปบรรทุกแกลบ  จำเลยก็ขับไป  เมื่อจำเลยมีหน้าที่ขับรถยนต์ก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันรถยนต์ด้วย  การที่จำเลยเบียดบังเอาน้ำมันในรถยนต์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 147
          แต่ถ้าเป็นลูกจ้างแอบดูดน้ำมันไปขาย ผิดลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2510  จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของเทศบาลนครกรุงเทพ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของเทศบาล บรรทุกคนงานไปทำการล้างท่อและซ่อมท่อระบายน้ำ จำเลยที่ 2 เป็นคนล้างท่อและซ่อมท่อ จำเลยมีหน้าที่เพียงดูแลรักษารถยนต์และน้ำมันเท่านั้น เทศบาลมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในถังของรถยนต์นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันดูดเอาน้ำมันเบนซินไปจากถังรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วนำเอาน้ำมนนั้นไปขายให้จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) (11) จำเลยที่ 3 รับไว้โดยรู้ ก็ต้องมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
          ทำการนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ผิดมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556   จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

          (3) เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่น หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย
          ทำนองเดียวกับยักยอก คือ ต้องครอบครองทรัพย์นั้นอยู่แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ไม่ใช่เอาไปเพียงชั่วคราวแล้วเอามาคืนซึ่งไม่ใช่การเบียดบัง 
          มีหน้าที่จัดซื้อ ไปถอนเงินจากธนาคารเพื่อซื้อพัสดุ แล้วไม่ซื้อ ถือเป็นการเบียดบัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2534   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานประจำโรงพยาบาล มีหน้าที่จัดซื้อจัดการซ่อมแซม และดูแลรักษาพัสดุครุภัณฑ์และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านการเงินด้วย จำเลยได้ลงชื่อคู่กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลในฐานะเจ้าของบัญชีและผู้มอบฉันทะในแบบถอนเงินจำนวน14,000 บาท จากบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาลพรหมพิรามมาสำรองจ่ายค่าพัสดุครุภัณฑ์ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดซื้อแล้วมอบให้ ส. นำไปถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารมาให้ตน จำเลยได้รับแล้วมิได้จัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์แต่อย่างใด และปรากฏว่าเงินจำนวนนี้ได้ขาดหายไปจากบัญชี การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเงินจำนวน 14,000บาท ที่อยู่ในความครอบครองตามหน้าที่ของตนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147.
          เอาไปจำนำก็ถือว่าเบียดบัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2518  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้รับมอบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกรมตำรวจเพื่อใช้ในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่  จำเลยย่อมมีหน้าที่รักษาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นในระหว่างที่จำเลยครอบครองอยู่ การที่จำเลยนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยมีหน้าที่รักษานั้นไปจำนำไว้กับบุคคลอื่น  ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น  จึงเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเป็นของบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่เป็นผิดตามมาตรา 158 อีก
          นำเงินไปจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือว่าเบียดบัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21355/2556  จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการตำบล ล. และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล ล. ได้เบิกเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล แล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ยังทำงานขุดลอกคลองไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ล. ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างนั้น ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

          (4) โดยทุจริต
          รับเงินไว้ไม่ยอมส่งคลัง นานถึง 5 เดือน ถือว่ามีเจตนาทุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2530   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเงินรายได้ของหน่วยราชการที่ตนสังกัดและได้รับเงินรายได้ไว้ แต่มิได้นำเงินนั้นส่งคลังตามระเบียบซึ่งตามปกติจะต้องนำส่งคลังในวันเดียวกันกับวันที่ได้รับเงินไว้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ให้นำส่งคลังในวันรุ่งขึ้นถัดไปที่เป็นวันทำการทั้งจำเลยมิได้ลงบัญชีรับเงินไว้เป็นหลักฐานจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดตรวจพบการกระทำของจำเลยเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษ จำเลยจึงได้นำเงินส่งคลัง นับว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้ว.
          ทำโดยเปิดเผยสุจริตใจและทางราชการได้ประโยชน์ ถือว่าไม่มีเจตนาทุจริต แม้จะผิดระเบียบก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2536   จำเลยขายซากเรือที่ชำรุดใช้การไม่ได้โดยเปิดเผยและสุจริตใจเพียงแต่ไม่ได้ขออนุมัติขายตามระเบียบของทางราชการ แล้วจำเลยนำเงินที่ขายได้ซื้อรถตัดหญ้าในราคาสูงกว่าราคาที่ขายเรือได้ 400 บาท ให้แก่ทางราชการในทันที แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือของผู้อื่น จึงไม่ผิด ป.อ. มาตรา 147 
          จำเลยได้นำเรือลำใหม่มาใช้แทนเรือลำเก่าที่ขายไปให้แก่กรมชลประทานแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาเรือแก่ทางราชการกรมชลประทานอีก

          (5) โดยเจตนา
           ต้องกระทำโดยมีเจตนา ด้วย