11 มีนาคม 2567

กรมทางหลวงมีหน้าที่ควบคุมดูแลกระแสไฟฟ้าส่องสว่างที่ติดตั้งบนทางหลวง เมื่อไฟฟ้ารั่วเป็นเหตุผู้ที่สัญจรไปมาถึงแก่ความตาย กรมทางหลวงจะต้องรับผิดชอบ | ละเมิด | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          กรณีที่กรมทางหลวงได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบนทางหลวงเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทางในยามค่ำคืน แต่กลับละเลยไม่ตรวจสอบอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย 

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 223/2558  สำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้ เหตุเกิดขึ้นเวลาประมาณ 01.30 น. ขณะที่บุตรชายของผู้ฟ้องคดีได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนมาถึงสามแยก บริเวณดังกล่าวมีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุล้มลงและเสียชีวิต
          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่บุตรชายตนต้องมาเสียชีวิต เพราะกรมทางหลวงติดตั้งระบบไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ซ่อมแซมสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ จนทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่ว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าเสียหาย
          คดีนี้มีพยานซึ่งไปถึงที่เกิดเหตุและเข้าช่วยเหลือให้ถ้อยคำว่า เห็นบุตรชายของผู้ฟ้องคดีถูกรถจักรยานยนต์ล้มทับขา นอนหมดสติ หงายหน้าขึ้น น้ำท่วมไม่ถึงใบหน้า ปากและจมูกโผล่เหนือน้ำ และไม่ได้กลิ่นสุรา โดยอาสาสมัครที่ลงไปช่วยเหลือคนแรกได้แจ้งเตือนว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่ว แต่เนื่องจากสวมรองเท้าบูทจึงไม่ได้รับอันตราย และอาสาสมัครคนอื่นๆ ได้ถูกไฟฟ้าช็อตในระหว่างการช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นมีไฟฟ้าส่องสว่างอยู่ จึงเป็นไปได้ที่ไฟฟ้าอาจรั่ว เนื่องจากระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติไม่ทำงาน นอกจากนี้ ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพก็ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย ไม่มีเลือดออกบริเวณใด
          ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเป็นไปตามมาตรฐานและไม่มีอุปกรณ์ส่วนใดชำรุด อีกทั้งมีระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติหากเกิดกรณีไฟฟ้ารั่ว สาเหตุการตายจึงไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้ารั่ว แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายที่ฝ่าฝืนป้ายเตือนห้ามนำรถเล็กผ่านเข้าไป

          คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริเวณที่เกิดเหตุ กรมทางหลวงได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างที่เสาไฟฟ้า 2 ต้นห่างกันประมาณ 40 เมตร โดยใช้สายไฟฟ้าชนิด Nyy ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี มีความทนทาน ป้องกันน้ำได้ และร้อยลงในท่อเหล็กแล้วฝังใต้ดิน โดยไม่มีการโยงสายไฟฟ้าพาดระหว่างเสา และติดตั้งสะพานไฟซึ่งเป็นระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อกระแสไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจร แต่ในขณะเกิดเหตุสภาพของท่อเหล็กที่ร้อยสายไฟไว้ข้างในได้หลุดออกจากกันและขณะเกิดเหตุนั้นยังมีกระแสไฟฟ้าส่องสว่างอยู่ จึงเป็นไปได้ที่ไฟฟ้าอาจรั่วออกมาได้ เนื่องจากระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติไม่ทำงาน ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพก็ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย ไม่มีเลือดออกบริเวณใด เมื่อผู้ตายมีอายุเพียง 37 ปี รูปร่างสูงใหญ่ ไม่ได้ดื่มสุรา และไม่มีโรคประจำตัว การที่บุตรชายผู้ฟ้องคดีไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เกิดจากถูกกระแสไฟฟ้าที่รั่วช็อตเป็นเหตุให้หมดสติ และแม้ว่าจะมีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ก็ยังพอมีรถสัญจรไปมา จึงทำให้เกิดคลื่นน้ำกระเพื่อมพัดพาเอาน้ำเข้าไปในปากและจมูกที่โผล่พ้นน้ำเพียงเล็กน้อยได้ อันทำให้แพทย์ระบุสาเหตุว่า จมน้ำเสียชีวิต การเสียชีวิตของผู้ตาย จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายที่ขับขี่รถผ่านเข้าไปในเส้นทางที่มีน้ำท่วมขัง ทั้งที่มีป้ายเตือนห้ามรถเล็กผ่านเส้นทางดังกล่าวไว้แล้ว แต่การเสียชีวิตเป็นผลโดยตรงจากการติดตั้งสายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด และการละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแล รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์มิให้ชำรุดบกพร่องและระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ อันเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี

          ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการ สำหรับหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนเพื่อมิให้เกิดภัยอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น นอกจากจะต้องให้บริการอย่างเพียงพอและทั่วถึงแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์และระบบป้องกันให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งต้องหมั่นคอยตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ที่ติดตั้งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในเวลาต่อมา



สัญญาจ้างทำของ

          สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานนั้น สาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของคือผลสำเร็จของงานที่จ้าง ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 587  "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557   สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2555   จำเลยจ้างโจทก์ขับรถขนส่งสินค้าโดยโจทก์ต้องมีรถบรรทุกสินค้าของตัวเอง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่ปฏิบัติงานส่งสินค้าให้จำเลยเท่านั้น จึงบ่งบอกว่าจำเลยมุ่งผลสำเร็จของงานให้มีการขนสินค้าไปให้ลูกค้าตามช่วงเวลานั้นจนเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ อีกทั้งโจทก์จะมาทำงานวันใดก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยหากฝ่าฝืนจำเลยมีสิทธิลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555  โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยทำไม้โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ที่จำเลยทำได้นั้นให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่การขาย ให้เช่า มอบให้หรือโอนไปด้วยประการใดๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2555  สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่ง

          สัญญาจ้างทำของมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาจ้างแรงงาน กล่าวคือ 
          (1) สัญญาจ้างทำของนั้นมุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานที่ผู้รับจ้างทำให้แก่ผู้ว่าจ้าง แต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นกรณีที่ลูกจ้างตกลงทำงานตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ได้มุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงาน
          (2) สัญญาจ้างทำของผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างแก่ผู้รับจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานที่ทำนั้น แต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นนายจ้างจะต้องให้สินจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
          (3) ในเรื่องอำนาจบังคับบัญชานั้น สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมการทำงาน ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้เสร็จตามที่ตกลงกันเท่านั้น  ส่วนสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างให้ทำการงานตามคำสั่งของตน
          (4) สัญญาจ้างทำของนั้น เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ผู้รับจ้างจะเป็นผู้จัดหามาเอง ส่วนสัมภาระถ้าผู้รับจ้างจัดหามาจะต้องจัดหาสัมภาระชนิดที่ดีด้วย เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น  แต่สัญญาจ้างแรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้สัมภาระเป็นของนายจ้าง
          (5) สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง  แต่ในส่วนสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
         
          ผู้รับจ้างมีหน้าที่จัดหาเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ส่วนสัมภาระนั้นอยู่ที่การตกลงกัน แต่ถ้าฝ่ายผู้รับจ้างจัดหาก็ต้องจัดหาสิ่งที่ดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558   แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136-146/2529  การที่จำเลยที่ 2 รับเหมาตกแต่งห้องพักของโรงแรมโดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นสัญญาจ้างทำของ ต่อมาจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งห้องพักก็เป็นกรณีจ้างทำของเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วงตามลำดับ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงในฐานะลูกหนี้ร่วมชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง แม้จำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็คงต้องรับผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7

          ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2510   โจทก์จ้างจำเลยให้เจาะน้ำบาดาลให้โจทก์ 1 บ่อ ตามสัญญาสัมภาระที่ต้องใช้ก็คือท่อกรองน้ำ ท่อน้ำ เครื่องปั๊มน้ำ ฯลฯ จึงถือได้ว่าการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเป็นส่วนหนึ่งของการเจาะบ่อน้ำบาดาล ปั๊มน้ำฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหา สิ่งของเหล่านี้ฝ่ายใดจะเป็นผู้จัดหามาก็ตามต้องถือว่าเป็นสัมภาระใช้ในการเจาะบ่อน้ำบาดาลอยู่นั่นเอง หากการงานที่ทำเกิดการบกพร่องสูบน้ำไม่ได้ปริมาณตามสัญญา เป็นเพราะความบกพร่องของปั๊มน้ำที่โจทก์จัดหามา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด

          ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ ไม่ต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2554  จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ผลิตตุ๊กตาช้าง 2 รายการ คือตุ๊กตาช้างสวมชุดเอี๊ยมและตุ๊กตาช้างบนฐานโยกเยก เมื่อโจทก์ผิดนัดโดยไม่สามารถส่งสินค้าตุ๊กตาช้างสวมชุดเอี๊ยมได้ทันภายในกำหนดจนจำเลยบอกเลิกสัญญาในส่วนตุ๊กตาช้างสวมชุดเอี๊ยมมาแล้ว จำเลยอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินการผลิตสินค้าตุ๊กตาช้างบนฐานโยกเยกให้แก่จำเลยได้ทันกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 593 ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายจากค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นในการที่จำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นผลิตสินค้าได้

          ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ผู้ว่าจ้างจะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6314/2550  เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น
          เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2538   กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อสัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้ามาก จำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 387 แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้  การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอม โดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง 
          กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเอง โดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 605 
          ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ 

          ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้  แต่ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7809/2540   จำเลยทำงานล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้จำเลยโดยดี โดยงานที่จำเลยทำส่วนใหญ่สมบูรณ์ มีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำงานที่จ้างให้โจทก์เสร็จแล้ว 
          ตามสัญญาจ้างเหมาฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างต้องทำงานรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในสัญญานี้เป็นต้นไปถ้าหากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันจนกว่าผู้รับจ้างจะทำงานรายนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่มีทางที่จะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จได้ เมื่อครบกำหนด 60 วันแล้ว ผู้รับจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะเลิกสัญญานี้ได้ทันที และหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นอันเนื่องจากผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่กลับยอมต่ออายุสัญญาให้จำเลยโดยยอมรับเอาผลงานของจำเลยและชำระค่าจ้างให้จำเลยในวันซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดอายุสัญญาที่โจทก์ต่อให้แล้ว แสดงว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2540   แม้โจทก์ผู้รับจ้างจะก่อสร้างอาคารให้จำเลยไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อจนอาคารแล้วเสร็จ และจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายอาคารนั้นให้บุคคลอื่นไปหลังจากนั้นจำเลยยังให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอีกหลังหนึ่งด้วยและจำเลยก็ไม่ติดใจเรื่องค่าปรับวันละ 1,000 บาท ตามสัญญา ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ได้เคร่งครัดเรื่องกำหนดเวลาการก่อสร้างและไม่ได้ติดใจในเรื่องค่าปรับ ทั้งยังยอมรับผลงานของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว อันเป็นการยอมรับชำระหนี้โดยมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 381 วรรคสาม 
 
          ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549  โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7172/2547   ความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 หมายความถึงความชำรุดบกพร่องซึ่งเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 598 , 599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้กับผู้ว่าจ้างครบถ้วนแล้ว มิใช่หมายถึงการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา 
          ที่จำเลยฎีกาว่า ว. ตัวแทนโจทก์รับมอบงานก่อสร้างบ้านจากจำเลยโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 นั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญา หาใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานที่ทำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญาจริง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยตามสัดส่วนของงานที่ยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อยตามสัญญาได้

          สินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ  แต่ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วนๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนๆ ก็ให้ใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1383/2553  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 บัญญัติว่าอันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ ดังนี้ เมื่อโจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าแรงและค่าวัสดุให้แก่โจทก์ในเวลาที่รับมอบงาน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ โดยมิต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552   สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ต้องทวงถามลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้เสียก่อนแต่ประการใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อันจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเสียก่อน และเมื่อระยะเวลาที่ได้ทวงถามนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วจึงได้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างจากจำเลยทั้งสามได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยทั้งสามรับมอบการงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการตกลงว่าจ้างกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 มิใช่ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสามชำระหนี้หลังจากที่จำเลยทั้งสามรับทราบการกำหนดราคาหรือประเมินค่าจ้างจากโจทก์ เพราะหากกรณีเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้แล้วก็เท่ากับโจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองตามอำเภอใจนั่นเอง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5203/2546   วันที่โจทก์ส่งมอบงานถมดินและปรับพื้นที่ย่อมไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะรับมอบงานหรือไม่ มิใช่ว่าเมื่อโจทก์ส่งมอบงานแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ทันที เพราะงานที่ส่งมอบอาจมีข้อบกพร่องอันจะต้องแก้ไขเสียก่อน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานเป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ลงชื่อในบันทึกท้ายหนังสือของคณะกรรมการตรวจรับงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 แต่ก็ยังมีข้อเรียกร้องให้โจทก์ปรับถนนให้เรียบร้อยเสียก่อน แสดงว่าการรับมอบงานของจำเลยที่ 1 ไม่เร็วไปกว่าวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2541 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ไม่ขาดอายุความ
 
          ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2545   สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างต่อผู้รับจ้างได้โดยการแจ้งบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า 3 เดือน ไปยังผู้รับจ้างมีความหมายว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยพลันไม่ได้ ต้องให้เวลาโจทก์เตรียมตัวไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อหยุดการก่อสร้าง หยุดการจัดหาสัมภาระในการก่อสร้าง เตรียมรื้อถอนโรงเรือนและวัสดุอุปกรณ์และเลิกจ้างคนงานตลอดจนคำนวณค่าจ้างและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น มิใช่ว่าโจทก์จำเลยยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญากันโดยโจทก์ต้องก่อสร้างและจำเลยต้องชำระเงินตามกำหนดกันอีกถึง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่สัญญาต้องเลิกกันอยู่แล้ว จึงต้องถือว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเลิกกันตั้งแต่วันที่แจ้งบอกเลิกสัญญา
          สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโดยจำเลยเป็นผู้บอกเลิกสัญญาอาศัยสิทธิในฐานะผู้ว่าจ้างและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญากรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 ที่จำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นสำหรับเงินค่าเตรียมการก่อสร้าง เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วก็ไม่ต้องเตรียมการก่อสร้างต่อไปอีก ส่วนเงินค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลังโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยถือว่าสัญญายังไม่เลิกกันจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 605 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6598/2541   แม้การดำเนินการก่อสร้างของโจทก์ล่าช้า คนงานน้อย เครื่องมือไม่ทันสมัย ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่สัญญาว่าจ้างฉบับพิพาทระบุเพียงว่า ผู้รับจ้างจะทำการก่อสร้างให้อยู่ภายในสัญญาจะเกินสัญญาไม่ได้เท่านั้น สัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ชัดแจ้ง ทั้งโจทก์ก็ประสงค์จะทำงานต่อไปหากจำเลยเห็นว่าโจทก์ทำงานล่าช้ามาก จะเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตามป.พ.พ.มาตรา 387 แต่จำเลยมิได้กระทำ แต่จำเลยกลับให้โจทก์หยุดดำเนินการก่อสร้างทันที และว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างแทนโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวย่อมเป็นการใช้สิทธิในการเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆอันเกิดจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 605
 
          สัญญาจ้างทำของมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น แม้จะตกลงกันโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องคดีได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2561  โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง

          แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่ปัจจุปันนี้มี พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า สัญญารักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ ดังนั้น การให้บริการรักษาความปลอดภัยจึงต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2565  ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้...” อันมีความหมายว่า ในการให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจะถือว่ามีการทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า “ให้การให้บริการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือหรือมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง เป็นโมฆะ” ฉะนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้องมีเพียงโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจ้างฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้าง ต้องถือว่าการให้บริการรักษาความปลอดภัยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์แก่จำเลยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า สัญญารักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ และเมื่อการรักษาความปลอดภัยมีลักษณะเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์สิ่งใดที่สามารถคืนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ด้วย โดยการคืนทรัพย์สินในกรณีนี้สามารถทำได้โดยกำหนดให้จำเลยใช้เงินเท่ากับบริการที่จำเลยได้รับจากโจทก์ และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย

          อายุความ
          การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าจ้าง(สินจ้าง)ตามสัญญาจ้างทำของ มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ 

10 มีนาคม 2567

กระทำความผิดด้วยความจำเป็น

          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น 

          มาตรา 67 "ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
          (1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
          (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
          ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"

          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น เป็นกรณีการกระทำที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หมายความว่า การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ซึ่งจะต่างกับกรณีการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่การกระทำนั้นจะไม่เป็นความผิดเลย แต่อย่างไรก็ตาม ผลก็เหมือนกันคือ ไม่ต้องรับโทษ

          การกระทำโดยจำเป็นแยกได้เป็น 2 กรณี คือ

          กรณีตามมาตรา 67 (1) คือ จำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ 
          มีหลัก ดังนี้
          (1) อยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ
          (2) ไม่สามราถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
          (3) ผู้กระทำจะต้องมิได้ก่อเหตุการณ์นั้นขึ้นโดยความผิดของตน
          (4) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

          กรณีตามมาตรา 67(2) คือ จำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตราย 
          มีหลัก ดังนี้
          (1) มีภยันตราย
          (2) ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง
          (3) เป็นภยันตรายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโดยวิธีอื่นใดได้
          (4) ภยันตรายนั้นผู้กระทำโดยจำเป็นมิได้ก่อให้เกิดขึ้น
          (5) กระทำไปเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย
          (6) กระทำไปไม่เกินขอบเขต ได้แก่ ไม่เกินสมควรแกเหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

          ทั้งสองกรณีถ้าการกระทำนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้กระทำยังมีความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้





          
          กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67 (1) ต้องอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544 การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ ซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด อีกประการหนึ่ง ก็คือเป็นความจำเป็น ซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำ แต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
           ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2514  จำเลยถูกคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกหลายคนแต่ละคนมีอาวุธปืนครบมือ ใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้เอาเรือรับส่งข้ามฟากเพื่อช่วยคนร้ายให้พ้นจากการจับกุม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยกระทำไปเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงขัดขืนได้ จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น จำเลยไม่ต้องรับโทษ          
          เมื่อปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ไม่ต้องรับโทษแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2525 จำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายจะไปฆ่าผู้ตาย หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้ายซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67(1) เมื่อส่งคนร้ายแล้วก็ไปแจ้งความแก่ผู้ใหญ่บ้านทันทีดังนี้ จำเลยไม่ต้องรับโทษ

          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67(1) ที่ได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ไม่ได้รับยกเว้นโทษ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2542  จำเลยกับผู้ตายลักลอบได้เสียกัน ต่อมา บ. สามีจำเลยทราบเรื่องและจะให้โอกาสจำเลยกลับตัว แต่ต้องทำตามที่สั่ง ถ้าไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสียทั้งสองคน จำเลยและ บ. อยู่ด้วยกันเพียงสองคนในบ้านพัก จำเลยเป็นหญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจึงอาจถูก บ. ข่มเหงเอาได้ตลอดเวลา จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ บ. สามีอาจฆ่าจำเลยเสียได้จริง ด้วยความกลัวจำเลยจึงยอมทำตาม บ. บอกแผนให้จำเลยนัดผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุและกำชับว่าให้พาผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุให้ได้ ไม่งั้นเตรียมตัวตาย จำเลยจึงไปหลอกชวนผู้ตายให้ไปร่วมหลับนอนกันอีกในวันรุ่งขึ้น วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยพาผู้ตายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้ตายถูก บ. ฆ่าตาย จำเลยร่วมฆ่าผู้ตายเพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ บ. ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่การที่จำเลยยอมร่วมมือกับ บ. ฆ่าผู้ตาย ถือได้ว่าได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ตาม ป.อ. มาตรา 67 (1), 69

          กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67(2) จะต้องมีภยันตรายที่ใกล้จะถึง จึงจำเป็นต้องกระทำความผิดเพื่อให้พ้นจากภยันตรายนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2529  ฟ้องว่าจำเลยขุดหลุมทำให้ถนนที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลุมที่จำเลยทั้งสองขุดอยู่ในเขตถนนสาธารณะที่โจทก์ฟ้องแล้วไม่ว่าหลุมนั้น จะอยู่ที่ไหล่ถนนฝั่งเดียวกันตามที่ปรากฏในทางพิจารณาหรือทั้งสองข้างถนนดัง ที่กล่าวในฟ้องก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทั้งสิ้นและข้อแตกต่าง ดังกล่าวก็หาใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยหลงต่อสู้ไม่เพราะจำเลยยอมรับว่าขุดหลุม ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ต่อสู้ว่าไม่เป็นความผิดเพราะไม่ใช่ถนนสาธารณะเท่านั้น
          การกระทำเพราะความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ผู้กระทำจะต้องอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือ ขัดขืนได้หรือเพื่อให้ผู้กระทำหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่ สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ แต่การขุดหลุมของจำเลยทั้งสองเป็นทางระบายน้ำจากนาที่จำเลยทำลงคลองสาธารณะ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมต้นข้าวเมื่อฝนตกมาเท่านั้น ขณะจำเลยกระทำการดังกล่าวฝนยังไม่ตก น้ำยังไม่ท่วมต้นข้าวของจำเลยจึงไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจำเลยจำเป็น ต้องกระทำ ทั้งเมื่อฝนตกมากและน้ำท่วมต้นข้าวของจำเลย จำเลยก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากนาได้ การกระทำของจำเลยหาใช่ความจำเป็นตามกฎหมายไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1660/2511  มีผู้นำช้างไปล่ามไว้ใกล้กับสวนของจำเลยโดยจำเลยไม่รู้ กลางคืนช้างหลุดจากโซ่ พังรั้วลวดหนามเข้าไปในสวนของจำเลย ซึ่งมีบ้านพักของจำเลยกับคนงานปลูกอยู่ คนงานได้ยินเสียงหักข้าวโพดจึงบอกจำเลย จำเลยถือปืนเดินไปดูกับคนงาน จำเลยโผล่จากไร่ข้าวโพดพบช้างอยู่กลางไร่ข้าวโพดห่างประมาณ 4 วา โดยไม่ทันรู้ตัวและกำลังเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นช้างป่า ซึ่งยังมีอยู่ในป่าบริเวณไร่ของจำเลย จึงผลักคนงานให้หลบแล้วเอาปืนยิงช้างไป 2 นัดแล้ววิ่งหนี ดังนี้ ถือว่าการที่จำเลยยิงช้างของผู้เสียหาย เป็นการตัดสินใจโดยกระทันหันด้วยความจำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลยกับคนงานโดยจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้ และการกระทำของจำเลยไม่เกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษฐานทำให้เสียทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2518  นาของ จ. กับพวกอยู่ทางเหนือของพนังกั้นน้ำ นาของจำเลยอยู่ทางใต้ของพนังและอยู่ในที่ลุ่ม เวลามีน้ำมากๆ นาของจำเลยจะถูกน้ำท่วมหมด หลังปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา น้ำท่วมนาของจำเลยเพราะมีผู้ถมดินปิดทางระบายน้ำจำเลยร้องไปทางอำเภอๆ ก็ไม่ทำอะไรจนปี พ.ศ.2516 ที่เกิดเหตุ จ. กับพวกหล่อคอนกรีตทับพนังกั้นน้ำและปิดช่องระบายน้ำอีก ทำให้น้ำท่วมนาของจำเลยสูงถึง 1 เมตรจนจำเลยไม่อาจทำนาได้ เมื่อจำเลยได้ดำเนินการที่จะขจัดความเสียหายโดยการร้องเรียนต่ออำเภอหลายครั้งแล้วไม่ได้ผลจำเลยจึงทุบทำลายพนังคอนกรีตนั้นโดยทำเพียงให้ขาดเป็นช่อง 3 ช่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาจำเลยเท่านั้น แม้จะเป็นความผิด ก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ทรัพย์สินของตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67

          กรณีการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67(2) ที่ได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ย่อมไม่ได้รับยกเว้นโทษ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2489  จำเลยได้ถูกกระทำร้ายในขณะที่กำลังกินอาหารโดยจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น จำเลยวิ่งหนีจากเรือนหลังตะวันออกไปทางเรือนหลังที่ผู้อยู่ ผู้ตายได้ทำการขัดขวางจำเลยในขณะที่มีคน 5-6 คนถือไม้วิ่งไล่ทำร้าย จำเลยอยู่อย่างกระชั้นชิดติดๆ กันไป นับได้ว่าจำเลยกำลังตกอยู่ในภยันตรายอันร้ายแรงทั้งเป็นเวลากระทันหันอันจะหลีกเลี่ยงไปทางอื่นให้ทันท่วงทีไม่ได้ จึงเป็นความจำเป็นของจำเลยที่จะต้องผ่านไปทางที่ผู้ตายขัดขวาง การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตาย 1 ที เพื่อหลบหนีภัยตามเหตุที่ปรากฏ จึงยังไม่พอสันนิษฐานว่า จำเลยจงใจเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เห็นว่าการกระทำของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุไปมาก กล่าวคือเพียงแต่ผู้ตายขัดขวางมิให้ผ่านไป ถ้าจำเลยใช้กำลังหักโหมขืนเข้าไปก็ยังทำได้ มิบังควรต้องใช้อาวุธมีดแทงจนเกิดเป็นคดีฆาตกรรม

          กรณีที่ไม่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำแต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
          ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553  คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
          การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น



การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 68  "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"

          การกระทำเพื่อป้องกัน แม้จะเกิดความเสียหายบ้าง แต่ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นย่อมไม่มีความผิด

          หลักเกณฑ์ การป้องกันโดยชอบ
          1. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ
             - ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ หากผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้ ก็ไม่มีสิทธิป้องกัน
             - ผู้ที่จะอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นด้วย แต่ถ้าผู้จะอ้างป้องกันนั้น มีส่วนก่อให้เกิดภยันตรายนั้น ก็ไม่สามรถอ้างป้องกันได้
          2. ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง คือ ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นกระชั้นชิดถึงขนาดที่หากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น ก็อาจจะเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้
          3. ผู้กระทำจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น
          4. การกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ คือ
             - การกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น เช่น ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการถูกตบหน้า จะป้องกันโดยใช้ปืนยิง ถือว่าไม่ได้สัดส่วนกัน
             - การกระทำเพื่อป้องกันนั้น ถ้าผู้กระทำได้ใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดอันตรายแล้ว ถือว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

          
          ถ้าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2552  จำเลยที่ 2 เข้าไปกอดรัด ป. หลังจากที่ถูก ป. ใช้ขวดตีที่บริเวณศีรษะ แต่ ป. ยังไม่หยุดทำร้ายโดยใช้ปากกัดที่บริเวณแขนของจำเลยที่ 2 และยังใช้มือบีบคอจำเลยที่ 2 ด้วย ย่อมเป็นการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิเข้าช่วยเหลือป้องกันจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ค้อนตีศรีษะ ป. 3 ถึง 4 ครั้ง เป็นเพียงแผลแตกแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตีเต็มกำลังให้ถึงตาย แต่จำเลยที่ 1 กระทำเพื่อให้ ป. หยุดทำร้ายและปล่อยตัวจำเลยที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการป้องกันจำเลยที่ 2 พอสมควรแก่เหตุ




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2553  ผู้ตายใช้มีดอีโต้ไล่ฟันจำเลยมาแล้ว ต่อมาผู้ตายขับรถยนต์กระบะกลับมาที่บ้านของจำเลยอีกครั้ง โดยผู้ตายเหน็บอาวุธปืนพกลูกซองสั้นไว้ที่เอวด้านหน้าขึ้นบันไดไปหาจำเลยที่ชั้นบนและร้องท้าทายจำเลยให้เอาอาวุธปืนของจำเลยมายิงกันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง การกระทำของผู้ตายที่พาอาวุธปืนมาท้าทายจำเลยดังกล่าวหาใช่เป็นการข่มขู่จำเลยตามที่โจทก์ฎีกาไม่ แต่ฟังได้ว่าผู้ตายมีเจตนาจะเข้ามาใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายจำเลย จึงนับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลย แม้ ย. และ ท. ซึ่งอยู่ใต้ถุนบ้านจะไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชั้นบน แต่ ย. และ ท. ได้ยินเสียงตึงตังโครมครามและได้ยินเสียงจำเลยร้องให้ช่วยก่อนที่เสียงปืนจะดังขึ้น อันแสดงว่าเมื่อผู้ตายขึ้นไปพบจำเลยแล้วมีการต่อสู้กัน จำเลยจึงชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายของผู้ตายได้ การที่จำเลยยิงปืน 2 นัด แต่ลูกกระสุนปืนถูกผู้ตายเพียงนัดเดียว เมื่อผู้ตายถูกยิงแล้วจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายอีก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 68
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10497/2553  ผู้ตายเมาสุราก่อเหตุขึ้นก่อน โดยพูดจาทำนองหาเรื่องจำเลยเมื่อจำเลยเดินหนีไม่ตอบโต้ ผู้ตายยังเดินตามและใช้ไม้ตีจำเลยที่หลัง 1 ครั้ง แล้วผู้ตายจะใช้ไม่ตีจำเลยอีก นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ การที่จำเลยหันกลับมาชกผู้ตายซึ่งอยู่ในระยะประชิดเพื่อป้องกันตัวแม้จะเป็นการชกโดยแรงแต่ก็เป็นการชกเพียงครั้งเดียว และเมื่อจำเลยชกผู้ตายล้มลงจำเลยก็ไม่ได้ชกผู้ตายซ้ำอีก การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9276/2555  ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุและวิ่งไล่ทำร้าย ร. จากโรงลิเกไปจนถึงที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดฟันแขน ร.จนได้รับบาดเจ็บ และถีบ ร. จนล้มลง แล้วใช้อาวุธปืนจ่อ ร.พร้อมจะยิงและพูดว่ามึงตาย อันเป็นการหมายเอาชีวิต ร. นับว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยได้ห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ตายไม่เชื่อฟัง ในสถานการณ์เช่นนั้น การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในทันทีทันใด จึงเป็นการยับยั้งการกระทำของผู้ตาย และป้องกันชีวิต ร. ทั้งจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว  ถือได้ว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10895/2557 สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุกาณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช. ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้ ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

          แม้เป็นเรื่องสำคัญผิดว่าจะมีภยันตรายเกิดขึ้นแก่ตน แต่ก็ยังมีสิทธิป้องกันตัว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2553  ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยนอนในเปลที่ขนำในนากุ้งเพื่อเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินของตน เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์แล่นผ่านเข้ามาใกล้ก็ใช้สปอทไลท์ส่องซึ่งจะทำให้ผู้ที่ผ่านมาทราบว่ามีผู้เฝ้าดูแลอยู่ในบริเวณนั้น อันเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพย์สินของตน แต่โจทก์ร่วมกลับขับรถแล่นเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมิใช่ถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรทั่วไป แต่เป็นถนนทางเข้านากุ้งในยามวิกาลเวลาประมาณ 3 นาฬิกา แล้วชนรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าขนำ ย่อมทำให้จำเลยตกใจกลัวและสำคัญผิดว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากคนร้ายที่มุ่งเข้าทำร้ายตน การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าก่อนและยิงอีก 1 นัด ในระยะเวลาที่ใกล้ชิดต่อเนื่องกันขณะ ช. และโจทก์ร่วมกำลังเปิดประตูรถออกมา ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในรถมีอาวุธหากจำเลยช้าเพียงเล็กน้อย จำเลยก็อาจได้รับอันตรายร้ายแรงได้ จึงเป็นการป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้นแก่ตนและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อีกทั้งหลังจากจำเลยยิงปืนนัดที่สองไปแล้ว จำเลยก็วิ่งหลบหนีไปในทันทีโดยมิได้ยิงหรือทำร้ายโจทก์ร่วมหรือ ช. ซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสเนื่องจากโจทก์ร่วมถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บและลงมาจากรถแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้น อันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 ประกอบมาตรา 62 วรรคแรก

          เมื่อภยันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่นหมดไปแล้ว จะอ้างเหตุป้องกันไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2553   ผู้ตายเข้าไปลวนลามฉุดมือ ช. แต่มารดาดึงตัว ช. ไว้ได้แล้ว ผู้ตายจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายได้หมดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 68 ที่บัญญัติให้การกระทำโดยป้องกันจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ตายเข้าไปลวนลาม ช. บุตรสาวของจำเลยถึงบ้าน เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในแทบจะทันใดหลังจากถูกข่มแหงการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

          แต่ถ้าเป็นการสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาท จะอ้างเหตุป้องกันตัวมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2554 ในวันเกิดเหตุตอนเช้าเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 มีเหตุชกต่อยกับผู้ตายมาก่อน มีอาจารย์เข้ามาห้ามแต่จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยังคงไม่ยุติ ออกติดตามหากลุ่มของผู้ตายต่อไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ยังต้องการพบผู้ตายด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด มิฉะนั้นคงไม่ออกติดตามจนกระทั่งมาพบผู้ตายตอนเย็นจำเลยที่ 1 ก็เดินเข้าไปหาผู้ตายทั้งๆ ที่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 กับผู้ตายมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในตอนเช้า การเดินเข้าไปหาผู้ตายในลักษณะดังกล่าวนั้น ย่อมเล็งเห็นผลแล้วจะต้องเกิดเหตุทะเลาะวิวาทอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแน่นอน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ควรเข้าไปหาผู้ตายก่อน เพราะผู้ตายก็ยังมิได้ทำอะไรจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุการณ์ในตอนเช้ายุติไปแล้วไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องเดินเข้าไปหาผู้ตายอีกการที่จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปหาผู้ตายโดยมีอาวุธปืนติดตัวเตรียมพร้อมมาด้วยจึงไม่มีทางฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องการมีเรื่องกับผู้ตายอีก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย และเมื่อเป็นการสมัครใจวิวาทซึ่งกันและกันแล้ว การที่ผู้ตายยิงจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ยิงผู้ตายเช่นเดียวกัน จึงหาอาจอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2554 การที่จำเลยพกมีดปลายแหลมไปตามหาผู้เสียหายที่บ้าน เพราะโกรธผู้เสียหายที่ไปทำร้าย ส. บุตรเขยจำเลย เมื่อผู้เสียหายได้ยินจึงเดินออกจากบ้าน แล้วต่างฝ่ายต่างเดินเข้าหากัน ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยไป 1 ครั้ง ขณะเดียวกันจำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายครั้ง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจวิวาทกับผู้เสียหาย จะอ้างเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2554  ตามพฤติการณ์ที่ผู้ตายยืนร้องตะโกนด่าอยู่หน้าบ้านแล้วจำเลยที่ 2 ออกไปแย่งอาวุธปืนแล้วตีศีรษะผู้ตายโดยแรงทันที แม้ข้างศพผู้ตายจะมีมีดปลายแหลมตกอยู่โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าเมื่อแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วผู้ตายชักอาวุธมีดจะแทงจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า "ทนไม่ไหวแล้วโว้ย" แล้ววิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายอันมีลักษณะเหมือนจะทำร้ายผู้ตาย จึงมีสภาพเสมือนจำเลยที่ 2 สมัครใจเข้าไปวิวาทกับผู้ตาย ไม่อาจยกเอาการป้องกันสิทธิของตนขึ้นอ้างเพื่อลบล้างความผิดของตนได้

          กล่าวคำหยาบเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้รู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483 - 484/2550  ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่คนละโต๊ะกับผู้ตาย จำเลยเป็นฝ่ายเดินมาหาผู้ตายและถามผู้ตายถึงสาเหตุที่ห้ามจำเลยเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จากนั้นจำเลยกับผู้ตายก็โต้เถียงกัน จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องลุกขึ้นมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน จำเลยจึงออกจากร้านเนื่องจากจ่าสิบตำรวจ ส. ร้องขอ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยกลับมาใหม่และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และเล็งอาวุธปืนมายังสิบตำรวจเอก ย. จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและจำเลยยังโกรธแค้นอยู่ แม้จะได้ความว่าเมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไปจ่าสิบตำรวจ ส. จะต่อว่าผู้ตายว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบ และผู้ตายพูดว่า "พี่ผิดไปแล้ว" ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่

          แม้มีสิทธิป้องกัน แต่ถ้าการป้องกันนั้นเกินสมควรแก่เหตุ ก็ยังคงมีความผิด ยังต้องรับโทษ เพียงแต่อาจได้รับโทษน้อยลง ตามมาตรา 69
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7940/2551  บ้านและบริเวณบ้านของจำเลยถือว่าเป็นเคหสถานที่ประชาชนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัยไม่ควรถูกบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำเป็นต้องหลบหนีและมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนเพราะจำเลยเป็นผู้สุจริตหาต้องถูกบังคับให้ไปเสียจากเคหสถานของจำเลยซึ่งมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและเคลื่อนไหวโดยอิสระ หากจำเลยจำต้องหนีแล้วเสรีภาพของจำเลยก็จะถูกกระทบกระเทือน
          ผู้ตายขับรถเข้ามาในบริเวณบ้านของจำเลยเพื่อจะบังคับ ผ. ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยและเคยเป็นภริยาของผู้ตายให้ไปอยู่กินด้วยกันเช่นเดิมแล้วเกิดโต้เถียงกันจำเลยพูดจาห้ามปราม ผู้ตายไม่ฟังและได้ลงจากรถพร้อมกับถืออาวุธมีดยาว 12 นิ้ว เดินไปหาจำเลย จำเลยจึงวิ่งขึ้นไปบนบ้านหยิบเอาอาวุธปืนยาวกึ่งอัตโนมัติขนาด .22 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งเป็นอาวุธปืนที่ปกติใช้ยิงนกหรือสัตว์ขนาดเล็กและมีแรงปะทะน้อยลงจากบ้าน เพื่อปรามมิให้ผู้ตายทำร้ายจำเลยหรือทำลายทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับให้ ผ. ไปอยู่กับผู้ตาย โดยไม่มีกริยาอาการที่จะยิงทำร้ายผู้ตายซึ่งถูก ผ. โอบกอดไว้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยมีเจตนาสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับผู้ตายหาได้ไม่ หลังจากนั้นสักครู่ผู้ตายสะบัดตัวหลุดและเดินเข้าหาจำเลยเพื่อทำร้ายจนห่างประมาณ 1 วา โดยมีอาวุธมีดยาวเช่นนี้นับว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิจะป้องกันเนื่องจากหากปล่อยให้ผู้ตายเข้ามาใกล้กว่านั้น โอกาสที่จะใช้อาวุธปืนยาวยิงเพื่อป้องกันตัวย่อมจะขัดข้อง การที่จำเลยใช้อาวุธดังกล่าวยิงไปที่ผู้ตายไป 1 นัด แต่ผู้ตายยังเดินเข้ามาหาจำเลยอีก จำเลยจึงยิงผู้ตายอีก 2 นัด ติดต่อกันผู้ตายจึงล้มลง นับว่าเป็นการพอสมควรแก่เหตุในภาวะและวิสัยเช่นนั้น แต่หลังจากผู้ตายล้มลงนอนหงายจำเลยยังเดินเข้าไปยิงผู้ตายอีก 2 นัด จึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2553  พฤติการณ์ที่ผู้ตายทำร้าย ส. ล้มลงแล้วจะตามไปทำร้าย ส. อีก เมื่อจำเลยเข้าห้ามปราม ผู้ตายก็ใช้มีดแทงจำเลย ถือว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ส. และจำเลยแล้ว การที่จำเลยใช้ด้ามพร้าตีผู้ตายจนล้มลงนั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ตายพยายามจะลุกขึ้นอีก แต่จำเลยใช้เท้าขวาเหยียบมือผู้ตายที่กำลังถือมีดอยู่แสดงว่าภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายนั้นถูกจำเลยควบคุมมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกได้ ถือว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ ส. และจำเลยหมดไปแล้ว จำเลยไม่จำเป็นต้องทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ดังนั้น การที่จำเลยใช้มือซ้ายจับคางผู้ตายใช้มือขวาซึ่งถือมีดเชือดคอผู้ตาย 1 ครั้ง และเมื่อผู้ตายยังดิ้นรนอยู่จำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยอีกเล่มหนึ่งมาแทงผู้ตายถึง 2 แผลอีก นับเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 เพราะหากจำเลยไม่เชือดคอผู้ตาย ผู้ตายก็คงไม่ถึงแก่ความตาย คดีจึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2553  จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้เสียหายไปในทันทีทันใดในท่านอนตะแคง โดยไม่มีโอกาสเลือกยิงจุดสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย เมื่ออาวุธปืนโดยสภาพย่อมเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด ประกอบกับกระสุนปืนก็ถูกที่บริเวณใบหน้าซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะใกล้ประชิดติดตัวก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนจะต้องถูกผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย หาใช่ไม่มีเจตนาฆ่า และเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายก่อนซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่เมื่อไม้ดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อตีถูกจำเลยแล้วไม้ดังกล่าว ก็หักทันที อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะกระทำการอย่างใดอื่นอีกที่ส่อแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามีเจตนาจะทำร้ายจำเลยเพิ่มเติมให้หนักขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนไปที่ผู้เสียหายในขณะนั้น โดยมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการกระทำของผู้เสียหายได้โดยวิธีอื่นอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุอันจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69  



คนเสมือนไร้ความสามารถ

          คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ กรณีที่คนที่มีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟืนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ซึ่งคนที่มีสภาพเช่นนั้นอาจถูกบุคคลตามมาตรา 28 กล่าวคือ คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการ ร้องขอเพื่อให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และเมื่อศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว บุคคลเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความพิทักษ์ของบุคคลอื่น ซึ่งเรียกว่าผู้พิทักษ์ ตามมาตรา 32

          กรณีเป็นบุคคลไม่สามารถจะจัดการงานของตนเองได้เพราะกายพิการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2520  ค.อายุ 74 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และเป็นอัมพาตมานานประมาณ 13 เดือน มือเท้าข้างขวาและร่างกายแถบซีกด้านขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ เคลื่อนไหวได้เฉพาะแถบซีกด้านซ้าย ลุกขึ้นยังไม่ได้ นั่งได้ คลานไปในระยะใกล้ๆ ได้ เข้าใจคำถามได้ดี สามารถตอบคำถามได้บ้าง แพทย์รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงเป็นบุคคลไม่สามารถจะจัดการงานของตนเองได้เพราะกายพิการ สมควรถูกสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์


          กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2536   แม้ผู้คัดค้านชอบดื่มและเมาสุราก็ตาม แต่ก็คงเพียงบางเวลาเท่านั้น และไม่ถึงขนาดครองสติไม่ได้ ในเวลาที่ไม่เมาสุราก็ยังสามารถประกอบกิจการงานได้ด้วยตนเองเช่นคนปกติทั่วไป ผู้คัดค้านยืนยันว่าสามารถปกครองทรัพย์สินของตนเอง ทั้งยังได้ความว่าพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องในข้อหายักยอกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 34 เดิม (ปัจจุบันมาตรา 32) ผู้คัดค้านเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ตามลำพัง ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2526  คำร้องกล่าวเพียงว่า ช.มารดาผู้ร้องป่วยเป็นโรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน สุขภาพไม่สมบูรณ์  ง่ายต่อการถูกหลอกลวงหรือข่มขู่จากผู้อื่นได้เท่านั้น  ไม่ได้กล่าวว่า ช. ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้เพราะเหตุ ต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 34 เดิม (ปัจจุบันมาตรา 32) ตามทางไต่สวนก็ได้ความว่า ช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านได้ตามปกติโดยไปจ่ายตลาดและหุงหาอาหารเอง กรณีไม่มีเหตุที่จะสั่งให้ ช. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแต่ประการใด

          ผู้มีอำนาจร้องขอต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530  จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2522   น้าไม่ใช่บุพการีและไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูที่พอจะฟังได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์ตามพฤตินัย จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้หลานเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้

          แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ก็ต้องถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถบริบูรณ์ จึงย่อมมีความสามารถที่จะทำการใดๆได้โดยลำพัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550  โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์ ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้ ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์ จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน

          โดยปกติแล้วคนเสมือนไร้ความสามารถยังสามารถทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้โดยลำพัง ยกเว้นเป็นการบางอย่างซึ่งมีกฎหมายกำหนดห้ามไว้ในมาตรา 34 ซึ่งจะกระทำโดยลำพังไม่ได้ หากจะทำก็ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ หากฝ่าฝืนทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอม การนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ

          มาตรา 34  "คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
          (1) นำทรัพย์สินไปลงทุน
          (2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
          (3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
          (4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
          (5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
          (6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
          (7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
          (9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
          (10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
          (11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
          ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
          คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528  พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น  การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย