01 มีนาคม 2567

การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์



          (1) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14(1)
          
          ต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาพิเศษ “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง” จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2562  ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า “(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า “(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาพิเศษ “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง” จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้นำข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (ที่แก้ไขใหม่) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

          บุคคลผู้เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเปิดเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง เจ้าของสื่อย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าเจ้าของสื่อในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว เมื่อข่าวสารเป็นข้อมูลเท็จ เจ้าของสื่อซึ่งเป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560  จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ ม.ออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์ ม.ออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์ ม.ออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ
          โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1)
          

          (2) ความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก ตามมาตรา 14(4)

          ถ้าการนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์นั้น มีเพียงผู้ส่งและผู้เสียหายเท่านั้นที่ดูได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
          จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์


          บทนิยามศัพท์ (มาตรา 3)

          “ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ

          “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

          “ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น

          “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
          (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
          (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

          “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม


          ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 

          มาตรา 5 "ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 6 "ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 7 "ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 8 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 9 "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 10 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 11 "ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
          ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
          ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับ
และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย"

          มาตรา 12 "ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 หรือมาตรา 11 เป็นการกระทําต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 เป็นการกระทําต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาท
ถึงสามแสนบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามโดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่น
ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท"

          มาตรา 12/1 "ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
          ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 โดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท"

          มาตรา 13 "ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทําความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
          ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทําความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 หากผู้นําไปใช้ได้กระทําความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือต้องรับผิดตามมาตรา 12 วรรคสองหรือวรรคสี่ หรือมาตรา 12/1 ผู้จําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกําหนดโทษสูงขึ้นด้วย ก็เฉพาะเมื่อตนได้รู้หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นที่เกิดขึ้นนั้น
          ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทํา
ความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หากผู้นําไปใช้ได้กระทําความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม หรือต้องรับผิดตามมาตรา 12 วรรคสองหรือวรรคสี่ หรือมาตรา 12/1 ผู้จําหน่าย
หรือเผยแพร่ชุดคําสั่งดังกล่าวต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกําหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย
          ในกรณีที่ผู้จําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งผู้ใดต้องรับผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และตามวรรคสาม หรือวรรคสี่ด้วย ให้ผู้นั้นต้องรับโทษที่มีอัตราโทษสูงที่สุดแต่กระทงเดียว"

          มาตรา 14 "ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
          (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
          (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
          (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
          (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
          (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
          ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้"

          มาตรา 15 "ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด
ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 14

          ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์
          ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้อง
รับโทษ"

          มาตรา 16 "ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์
ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง
ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น
ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา
มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย
ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
          ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็น
การติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผู้กระทำไม่มีความผิด
          ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้
          ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส
หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย"

          มาตรา 16/1 "ในคดีความผิดตามมาตรา 14 หรือมาตรา 16 ซึ่งมีคําพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
          (1) ให้ทําลายข้อมูลตามมาตราดังกล่าว
          (2) ให้โฆษณาหรือเผยแพร่คําพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จําเลยเป็นผู้ชําระค่าโฆษณา หรือเผยแพร่
          (3) ให้ดําเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทําความผิดนั้น"

          มาตรา 16/2 "ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทําลาย
ตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทําลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้
ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี"

          มาตรา 17 "ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
          (1) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหาย
ได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
          (2) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหาย
ได้ร้องขอให้ลงโทษจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร"

          มาตรา 17/1 "ความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 11 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 16/2 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 27 ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอํานาจเปรียบเทียบได้
          คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจํานวนสามคน ซึ่งคนหนึ่งต้องเป็น
พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทําการเปรียบเทียบกรณีใดและผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามคําเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกําหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ชําระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กําหนด ให้เริ่มนับอายุความในการฟ้องคดีใหม่นับตั้งแต่วันที่ครบกําหนดระยะเวลาดังกล่าว"


การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก


          กรณีผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดย่อมจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ โดยจะต้องร้องขอต่อศาลเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้นลง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1727

          มาตรา 1727  "ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
          แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล"

          1. ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559  พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558  พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6628/2550  การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ตายเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เลิกร้างกับผู้ตายแล้วได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดโดยผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินในส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จะมาร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากผู้คัดค้านที่ 1 มีข้อโต้แย้งอย่างใดหรือผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ดังกล่าวอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอ ก็ชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2548  การที่โจทก์อ้างว่าเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. เจ้ามรดกและมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกเพราะทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้

          2. ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 (ประชุมใหญ่) การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559  ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง
          ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้ว การจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556 การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12752/2556  กิจการโรงเรียน ป. นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพของผู้ตายและผู้ร้องที่ร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน ส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.4 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อคู่คัดค้านมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องห้ามตามมาตรา 1727

          3. มูลเหตุที่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจึงมีอยู่ 2 กรณี คือ
          (1) ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือ
          (2) มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรถอนผู้จัดการมรดก

          (1) กรณีผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หมายความว่า ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกซึ่งกฎหมายบังคับไว้ เช่น หน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1728 หน้าที่แจ้งหนี้อันเป็นคุณหรือโทษระหว่างผู้จัดการมรดกกับกองมรดก หน้าที่หาประกันในการจัดการมรดกและแถลงความเป็นไปในการจัดการมรดกแก่ทายาท ตามมาตรา 1730 หน้าที่ฟ้องคดีหรือแก้ฟ้อง รวมทั้งเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดก ตามมาตรา 1736 วรรคสอง หรือหน้าที่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 1732 เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556  ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555  ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2555  ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านโดยอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่ยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมรดกจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านยอมลงชื่อถอนเงินฝากของผู้ตายแล้วบัญชีหนึ่ง โดยผู้ร้องตกลงว่าจะแบ่งเงินให้ผู้คัดค้าน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่แบ่งให้ตามตกลง การที่ผู้คัดค้านไม่ยินยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินให้อีก ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ผู้ร้องเบิกเงินของผู้ตายออกจากบัญชีธนาคาร ก. ไปเพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งให้แก่ผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้ร้องละเลยมิได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก หากให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านต่อไปจะล่าช้าติดขัดก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีเหตุสมควรให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2547  ป.พ.พ. มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว และมาตรา 1728 (2) บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน คงมีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ขวนขวายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและติดต่อฝ่ายผู้คัดค้านเพียงฝ่ายเดียวแม้ผู้คัดค้านพอมีเหตุผลในข้อขัดข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ไปตามนัดเพื่อร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพราะเหตุติดไปท่องเที่ยวตามที่ได้ซื้อตั๋วทัวร์ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อผู้คัดค้านตอบขัดข้องแล้ว ก็น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดวันสะดวกแจ้งแก่ฝ่ายผู้ร้องบ้าง หาใช่ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำภารกิจให้ลุล่วง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อผู้ร้องได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายเสนอศาลชั้นต้น ซึ่งผู้คัดค้านได้ไปขอถ่ายสำเนาแล้วคงค้านแต่เพียงทรัพย์สินรายการเดียวว่าไม่ใช่มรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านและเบิกความรับว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง กับตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องโดยรับว่าผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการร้านค้าของผู้ตายนับแต่ปี 2541 และผู้คัดค้านมีอายุถึง 80 ปี ในปี 2547 แล้วเช่นนี้ หากยังคงให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การจัดการมรดกจะยังคงมีปัญหาและไม่ลุล่วงตามที่ควรกรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง


          (2) มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรถอนผู้จัดการมรดก เช่น ผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2552  แม้การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้แล้ว
          นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          4. ถ้าผู้จัดการมรดกไม่ได้ละเลยการตามหน้าที่หรือไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ก็ไม่มีเหตุให้ถอดถอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560  คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560  เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9929/2551  ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้เรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และได้ความว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย แม้หากจะฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องก็ยังคงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ จึงไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรจะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2548  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างว่าทรัพย์สินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์ของเจ้ามรดกแต่เป็นของผู้คัดค้าน มิใช่เหตุตามกฎหมายดังกล่าวอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2547  ผู้ขอถอดถอนเป็นทายาทเจ้ามรดกอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารเป็นทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่ามีสิทธิในเงินฝากดังกล่าวหนึ่งในสี่ส่วน และไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยตกลงกันว่าให้กันเงินตามส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เฉพาะตนไว้ในบัญชีที่เหลือนอกนั้นคงถอนมาแบ่งกันตามส่วนของทายาท ซึ่งผู้ร้องได้จัดการเสร็จสิ้นแล้ว พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอถอดถอนเท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2542  แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกจากธนาคารก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องย่อมไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารไม่ใช่เหตุที่จะอ้างไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่ผู้ร้องไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ร้อง นอกจากนี้ผู้คัดค้านเป็นบุตรเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องเป็นมารดาผู้คัดค้านและเป็นภริยาเจ้ามรดกและทุกฝ่ายทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง การที่ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนเรื่องผู้ร้องไม่เรียกประชุมทายาทก็ปรากฏว่าทายาทของเจ้ามรดกบางคนอยู่ต่างประเทศบางคนอยู่ต่างจังหวัดจึงเป็นการยากที่จะจัดประชุมทายาทดังนั้น ที่ผู้ร้องไม่จัดประชุมทายาทเพราะเหตุดังกล่าวมาจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และแม้ผู้ร้องจะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729 บัญญัติไว้ก็ตาม แต่มาตรา 1731 ก็ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า มีเหตุสมควรจะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก 

ความสิ้นสุดจากการเป็นผู้จัดการมรดก


          เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ความเป็นผู้จัดการมรดกก็อาจสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุดังต่อไปนี้


          1. เมื่อผู้จัดการมรดกตาย เนื่องจากสิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อผู้จัดการมรดกตายลงทายาทของผู้จัดการมรดกจึงไม่สามารถจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อไปได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2516  การเป็นผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ที่ได้รับการตั้ง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถึงแก่กรรม การเป็นผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาของจำเลยว่าสมควรจะถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ อีกต่อไป จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา คืนค่าตัดสินและค่าคำบังคับ 

          2. เมื่อผู้จัดการมรดกลาออก หมายความว่า เมื่อผู้จัดการมรดกนั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลนั้น การลาออกจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ลาออกแล้วความเป็นผู้จัดการมรดกก็ยังไม่สิ้นสุดลง หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในระหว่างนี้ ผู้จัดการมรดกก็ต้องรับผิดชอบ



          3. ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก แต่การยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกต้องยื่นก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นตามมาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2552   คำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนระบุว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ทำให้ทายาทอื่นที่จะได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกได้รับความเสียหาย โดยผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านเป็นทำนองปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เนื้อหาตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 จึงแสดงรายละเอียดชัดเจนแล้วว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้มายื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นจำต้องไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อฟังพยานหลักฐานจากผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องให้ครบถ้วนกระบวนความเสียก่อนว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ตามคำร้องขอหรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรที่ศาลจะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งผู้ร้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1728 ถึง 1733 ซึ่งถือเป็นสาเหตุอย่างอื่นที่ศาลอาจเห็นว่าเป็นเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียก็ได้หรือไม่ โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเคยยื่นคำร้องขอแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดไปแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นการเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

          4. ผู้จัดการมรดกตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น กลายเป็นบุคคลล้มละลาย ความเป็นผู้จัดการมรดดกก็สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538   เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ย.เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ต่อมา ย.ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้กองมรดกของผู้ตายไม่มีผู้จัดการมรดก แม้ขณะที่ ย.เป็นผู้จัดการมรดกอยู่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกกับทายาทบางคน ก็ไม่ปรากฏว่า ย.ได้แบ่งทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ทายาทอีกสองคนคือ ก.และ พ. มิได้ตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ดังนั้น การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงมีเหตุขัดข้องต้องตั้งผู้จัดการมรดกอีก

          5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือ เมื่อมีการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีมรดกอะไรให้จัดการอีกต่อไป ความเป็นผู้จัดการมรดกก็สิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มต้นนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ทายาทจะมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่เกิดความเสียหายแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2551  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2547   เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งตามคำฟ้องและจากการตรวจสอบของโจทก์ทั้งสามว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนให้แก่ตนเองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์มรดกอื่นอีก ดังนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 (4) โดยไม่จำต้องทำการชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์จำเลยก่อน และการที่ทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินพิพาท 1 แปลง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2535 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ทั้งสามก็ฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

          แต่ในกรณีที่การแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การจัดการมรดกก็ยังไม่ถือว่าสิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความจัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558   การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557   อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับ และถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาท โดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557   ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557   ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557  โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2550  โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546   โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งสอง สำหรับจำเลยที่ 1 จะยกอายุความมรดก 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ดังนั้น ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมอันจะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและให้คืนเงินสดเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

          ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย แต่กลับไม่ยอมแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน เลือกแบ่งทรัพย์มรดกให้เฉพาะทายาทบางคน ย่อมเป็นการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีผลทำให้การจัดการมรดกนั้นยังไม่เสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก



การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

 

          
          เมื่อลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับเอาจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ แต่กลับเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธินั้น ย่อมทำให้เจ้าหนี้ไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงต้องเรียกร้องโดยการฟ้องลูกหนี้ของลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ชำระหนี้ได้ตามมาตรา 233 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าชเจ้าหนี้นะคดีแล้ว แต่บุคคลภายนอกยังไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็บังคับยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ 

          มาตรา 233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยการฟ้องบังคับเอาจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้ก็อาจเลือกใช้วิธีฟ้องลูกหนี้ของตนให้ชำระหนี้ แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องเหนือบุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้เป็นเงินให้แก่ลูกหนี้ กรณีนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นโดยให้บุคคลภายนอกชำระเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้ผ่านทางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สามารถยึดทรัพย์สินของบุคคลภายนอกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสมือนบุคคลได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549  สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
          ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ

          การที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง จะต้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสียประโยชน์ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2536  การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ฟ้องคดีในนามของตนเองนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นจะต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนั้นไม่พอจะชำระหนี้ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาทแต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุดจำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทแสดงว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้น หรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้
          จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้
          การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557  จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้

          ในการฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ได้เลย โดยไม่ต้องรับมอบอำนาจจากลูกหนี้อีก แต่ต้องบรรยายฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546  บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565  แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234
          
          การฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในอายุความด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18624/2555  จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2539  โจทก์ฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัท บ. โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. จำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัท บ.ไปโดยทุจริต บริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัท บ.ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บ. ซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อบริษัท บ. บริษัท บ.ชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บ.ชอบจะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัท บ.เท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัท บ.อยู่ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัท บ.มีอายุความตามมาตรา 448 เมื่อการกระทำละเมิดเกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัท บ.อยู่ คือก่อนวันที่ 17 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัท บ. โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2535 พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

          การฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          มาตรา 234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้

          มาตรา 235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
          แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

          จำเลยสามารถยกข้อต่อสู้ที่มีต่อลูกหนี้เดิมขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้    
       
          มาตรา 236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2540  จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกัน และเป็นหนี้เงินเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วย จึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์ เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 236 กำหนดให้จำเลยที่มีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ โดยขอหักกลบลบหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ 342 ได้


          

หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน


          คำพิพากษาศาลฎีกาหลายเรื่องอาศัยหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนในการวินิจฉัยคดี โดยกล่าวถึง "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน" ข้อเท็จจริงในคดีที่มีการอ้างหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนส่วนมากจะเป็นกรณีที่ผู้โอนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่โอน เป็นเหตุให้ผู้รับโอนไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาบางเรื่องกล่าวไว้ชัดเจนว่าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเป็น "หลักกฎหมายทั่วไป" โดยเป็นการใช้กฎหมายตามมาตรา 4  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 4 "กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ
          เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7393/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2550  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2541  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และสละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะได้ออก น.ส. 3 ก. แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้ครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 3 มีชื่อใน น.ส.3 ก. จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ไป แม้จำเลยที่ 4 ซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดในที่ดินพิพาท ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองไปขายโดยไม่ชอบ และขอให้เพิกถอน น.ส. 3 ก.ที่จำเลยที่ 3 ออกโดยไม่ชอบ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันทราบมูลคดีนี้ คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

          หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน มีข้อยกเว้นตามมาตรา 1299 วรรคสอง ซึ่งเป็นหลักคุ้มครองบุคคลภายนอกที่ได้อสังหาริมทรัพย์ไปทางทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549   จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2538  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาจริงดังโจทก์กล่าวอ้าง การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2540   โจทก์เป็นทายาทได้รับที่ดินมรดกของ ป. เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ส่วนจำเลยกับ น.รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยผู้โอนขายให้ โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต เมื่อที่ดินส่วนของ น. น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. เมื่อ ห.ถึงแก่กรรมจำเลยและ ถ.เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนของ ห. โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ น. รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบอ้างว่า เดิมนาย ป. และนาง จ. ต่างเป็นเจ้าของที่ดินตามตราจอง ศก.108 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่แปลงละประมาณ 25 ไร่ ที่ดินของนาย ป. อยู่ทางด้านทิศใต้ ภายหลังนาย ป. ถึงแก่กรรม นาง จ.ขอออกโฉนดที่ดินโดยรวมเอาที่ดินของนาย ป. เข้าด้วยกัน ที่ดินส่วนของนาย ป. เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จึงรวมอยู่ในโฉนดที่ 952 โจทก์เป็นบุตรนาง ล. นาง ล. เป็นทายาทโดยธรรมของนาย ป. โจทก์จึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนาย ป. และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. โจทก์และทายาทของนาย ป. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 952 กึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้จะฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อสิทธิของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง คดีได้ความว่า จำเลยกับนาย น. รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยผู้โอนขายกรรมสิทธิ์ให้เมื่อปี 2491 ตามหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสารบาญจดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.21 และ ล.9 ตามลำดับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต เมื่อโจทก์มิได้อ้างว่าจำเลยและนาย น. รับโอนโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยและนาย น. รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโดยสุจริตแล้ว เมื่อที่ดินส่วนของนาย น. นาย น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนาง ห. เมื่อนาง ห.ถึงแก่กรรม จำเลยและนาง ถ. เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนนาง ห.โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนตามที่กล่าวอ้างใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่นาย น.รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต กรณีนี้จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะสิทธิของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างเอากรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในที่ดินตามโฉนดที่ 952 ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว"