01 มีนาคม 2567

ที่งอกริมตลิ่ง


          
          ที่งอก หมายถึง ที่ดินซึ่งติดพื้นน้ำงอกออกไปจากตลิ่ง ในฤดูน้ำหรือเวลาน้ำขึ้นปกติน้ำท่วมไม่ถึง ต่างจากที่ชายตลิ่งซึ่งน้ำท่วมถึง ที่งอกริมตลิ่งอาจจะงอกออกไปจากริมแม่น้ำ ริมบึง ริมทะเลสาบ ริมทะเล ก็ได้

          มาตรา 1308  "ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น"


          ที่งอกริมตลิ่งประกอบด้วยหลัก 4 ประการ

          (1) เป็นที่งอกซึ่งเกิดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ที่ดินที่งอกโดยมนุษย์ใช้ดินถมให้เกิดขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2551  ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทรายชายหาดเนื่องจากมีสิ่งก่อสร้างเป็นเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ ทำให้กีดขวางการเคลื่อนย้ายของตะกอนทรายชายฝั่งทะเลและกักเก็บตะกอนทรายนี้ให้สะสมตัว ทำให้ที่งอกเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์นำไปถม วัตถุประสงค์ในการสร้างเขื่อนหินของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ผู้สร้างเขื่อนหินเพื่อกันมิให้ทรายเปิดปากคลอง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดที่งอกริมตลิ่ง โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ที่งอกเกิดขึ้นติดต่อเป็นแปลงเดียวกับที่ดินเดิมโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895  ดังนี้ แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10662/2551  ที่งอกที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวย่อมถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308

          (2) ต้องงอกจากริ่มตลิ่งออกไป ไม่ใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาริมตลิ่งหรือหนองน้ำสาธารณะตื้นเขิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2523  ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่ง มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่งแม้หนองน้ำจะตื้นเขินขึ้นมีระดับเสมอกับที่ดินโจทก์ที่ล้อมรอบหนองน้ำอยู่ ก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่ง เพราะมิได้งอกออกจากตลิ่งที่ดินโจทก์ การที่หนองน้ำสาธารณะกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินทั้งแปลงเช่นนี้แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยโจทก์เข้าทำนาแต่ผู้เดียว ถ้ายังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หนองน้ำ ดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณาสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม แม้โจทก์จะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่

          (3) งอกออกไปจากที่ดินเดิมโดยไม่มีอะไรคั่น หากมีทางหลวงหรือมีถนนมาคั่น เจ้าของที่ดินย่อมไม่ใช่เจ้าของที่งอกนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556  ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2540   เดิมที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำ แต่ปัจจุบันติดที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยาวไปทางแม่น้ำ 61.80 เมตร สภาพของที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นซึ่งติดกับที่ดินพิพาทเป็นแนวยาวทอดไปตามริมแม่น้ำหลายกิโลเมตร ที่ดินพิพาทส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ จากที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ลุ่มขึ้นไปทางทิศเหนือมีลักษณะค่อย ๆ ลุ่มลึกลงบางตอนลึกท่วมศีรษะ ส่วนทางด้านทิศใต้ก็เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะลุ่มลึกน้อยกว่า เมื่อที่ดินพิพาทและที่ดินที่ทอดเป็นแนวยาวไปตามแนวแม่น้ำนั้น เกิดจากกระแสน้ำได้เซาะที่ดินฝั่งตรงกันข้ามและบริเวณดังกล่าวน้ำไม่ไหลหมุนเวียน ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์กับที่ดินพิพาทเดิมมีลำรางคั่น น้ำท่วมถึงทุกปี แต่ระยะหลังลำรางตื้นเขินเพราะมีเขื่อนกั้นทำให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน เป็นที่งอกยาวไปตามแนวแม่น้ำ ที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการที่น้ำพัดพาเอาดินจากที่อื่นมาทับถมกันที่ริมตลิ่งตามธรรมชาติจนน้ำท่วมไม่ถึงทำให้เกิดที่ดินงอกออกไปจากริมตลิ่ง แต่เป็นทางน้ำที่ตื้นเขินขึ้นเพราะน้ำเปลี่ยนทางเดิน และเดิมที่ดินพิพาทเป็นเกาะมีลำคลองกั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนือและทางทิศใต้มีคลอง แต่ทางราชการได้ปิดกั้นคลองทำให้ลำคลองที่กั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขินน้ำท่วมไม่ถึง ที่ดินพิพาทจึงไปติดกับที่ดินของโจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเดิมสภาพของที่ดินพิพาทเป็นเกาะ เมื่อลำรางที่กั้นระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขินและน้ำท่วมไม่ถึง ที่ดินพิพาทจึงติดกับที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ดินที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ตามธรรมชาติแต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินแล้วขยายเข้ามาติดที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1308 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558  ในขณะที่ ข. นำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น ข. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่า ข. ได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่
          จำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "ที่ชายทะเล" หมายถึง "เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด" ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจาก ข. เจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่


          (4) ในฤดูน้ำปกติน้ำท่วมไม่ถึง ถ้าน้ำท่วมถึงก็ไม่ใช่ที่งอก แต่เป็นที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2506  โจทก์ซื้อที่ดิน(ที่มือเปล่า)จากผู้อื่น  ด้านยาวทิศใต้จดถนนหลวงด้านกว้างทิศตะวันออกจดคลอง  แล้วให้จำเลยเช่าโดยระบุว่า  เช่าเพื่อปลูกอาศัย  จำเลยใช้ที่ของโจทก์ทำคอกเป็ดและเลี้ยงเป็ด  แต่ปลูกโรงเรือนอยู่ในที่ดินต่อกับเขตที่ของโจทก์ออกไปทางทิศตะวันออก  เป็นที่ซึ่งน้ำในลำคลองท่วมถึงเป็นปกติเกือบตลอดปี  ที่ซึ่งจำเลยปลูกโรงเรือนนี้ย่อมเป็นที่ชายตลิ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งตามมาตรา 1308 แม้โจทก์จะได้ครอบครองที่รายนี้มา 10 ปีเศษแล้ว แต่เมื่อตรงที่จำเลยปลูกโรงเรือนเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์ก็จะอ้างสิทธิครอบครองว่าเป็นของตนหาได้ไม่

          เจ้าของที่ดินซึ่งเกิดที่งอก ย่อมได้มาซึ่งที่งอกริ่มตลิ่งตามมาตรา 1308 ตามหลักส่วนควบ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326-1327/2506  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1308  ถือได้ว่ากฎหมายให้เจ้าของที่ดินริมตลิ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่งอกออกไปโดยลักษณะเป็นส่วนควบของที่ดินริมตลิ่ง และถือว่าเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดของที่ดินริมตลิ่งด้วย
          ข้อสัญญาจำนองซึ่งกล่าวว่า "สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ไม่มีสิ่งใดยกเว้นจำนองด้วยทั้งสิ้น" นี้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 719 แปลความได้ว่าหมายถึง สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่มีอยู่บนที่ดินจำนองในขณะทำสัญญาจำนองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าบ้านที่พิพาทนั้นน้ำท่วมถึง ก็ยังไม่มีสภาพเป็นที่งอกในขณะทำสัญญาจำนอง บ้านนั้นก็มิใช่เป็นสิ่งปลูกสร้างตามข้อสัญญาจำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2539  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308  กำหนดให้ทึ่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง เมื่อที่งอกอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวและเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. เจ้าของที่ดินโดยหลักส่วนควบด้วยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องรังวัดขึ้นทะเบียนว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเดิมเสียก่อนแล้วจึงจะเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ การที่ ส. ขายที่งอกให้โจทก์ ถือว่าได้แบ่งที่ดินตามโฉนดนั้นขายแก่โจทก์ไม่ใช่เป็นการขายที่ดินมือเปล่า โจทก์กับ ส.เพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายกันเองจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่งอก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยออกไปจากที่งอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546  ส. โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10734 อันเป็นที่ดินแปลงเดิมที่เกิดที่งอกให้แก่บริษัท บ. เมื่อปี 2519 ตั้งแต่ยังไม่ได้รับโฉนดของที่งอกที่ขอออกไว้ ขณะที่โอนที่ดินแปลงเดิมไปนั้น ที่งอกริมตลิ่งเริ่มเกิดมีขึ้นแล้ว การเกิดมีที่งอกขึ้นมาในที่ดินย่อมจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ที่บัญญัติว่า "ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น" เมื่อที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกได้โอนให้บริษัท บ. ไปแล้วในระหว่างนี้ ด้วยความสมัครใจของ ส. เอง ที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกย่อมตกติดไปเป็นของผู้ซื้อ โดยผลของบทกฎหมายดังกล่าว ส. พ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ ทั้งที่ดินแปลงเดิมที่เกิดมีที่งอก และที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกไปจนหมดสิ้น แม้ว่าต่อมาในปี 2522 ได้มีการออกโฉนดสำเร็จบริบูรณ์เป็นชื่อของ ส. ก็ไม่ทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกนั้นไป และไม่มีอำนาจที่จะขายที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่า ส. ผู้โอน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10734 อันเป็นที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกริมตลิ่งจากเจ้าของเดิมมาโดยถูกต้อง ทำให้ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกนั้นด้วยโดยผลของกฎหมาย

          ถ้าที่ดินเดิมเป็นที่ดินที่มีโฉนด ที่งอกริ่มตลิ่งก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินนั้น การอ้างการครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ก็จะต้องครอบครองครบ 10 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543  เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.วิ.พ.มาตรา 1304 (2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382

          แต่ถ้าที่ดินเดิมเป็นเพียงที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นต้น กรณีนี้ที่งอกก็เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเช่นกัน หากมีการแย่งการครอบครองก็ต้องฟ้องเอาคืนภายใน 1 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2523  นาย ช. ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หมาย จ.1 ให้นาง ม. ที่ดินแปลงนี้ทิศใต้ติดทะเลสาบ เมื่อที่ดินหลุดเป็นสิทธิของนาง ม. แล้ว นาง ม. ได้จดทะเบียนขายให้จำเลยทั้งแปลง คือที่ดินภายในเส้นสีน้ำเงินในแผนที่กลางซึ่งโจทก์จำเลยรับกันว่าเป็นที่ของจำเลย ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงในแผนที่กลางเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จำเลยซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงมีสิทธิครอบครองที่พิพาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308  

          ที่ดินซึ่งถูกน้ำเซาะพังจนเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำแล้ว ย่อมเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่ถ้าสภาพทางกายภาพกลายเป็นทางน้ำ แต่เจ้าของยังคงสงวนสิทธิความเป็นเจ้าของ ที่ดินนั้นก็ไม่เป็นสาธารณะของแผ่นดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2490  ที่วิวาทเปลี่ยนสภาพกลายเป็นทางน้ำแล้วก็จะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ภายหลังผู้ใดจะได้กรรมสิทธิที่ตรงกัน ก็ต้องเป็นไปตาม ก.ม.ว่าด้วยการได้มาแห่งกรรมสิทธิ์ แต่ควรจะฟังว่าที่พิพาทเคยเป็นทางน้ำมาแล้วหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาจากแง่แห่งข้อเท็จจริงหลายประการ เพียงแต่ตลิ่งพังทลายลงแม่น้ำชั่วคราว และยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของ อาจยังไม่พอที่จะถือว่าตรงนั้นเป็นทางน้ำก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่คู่ความแถลงไว้ ยังมิได้ฟังคำพยานในข้ออื่นๆ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่กระจ่างแจ่มใส จึงพิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปให้เต็มประเด็น แล้วพิพากษาใหม่



หน่วยงานรัฐสร้างทางรุกล้ำที่ดินเอกชน เป็นละเมิด ต้องรื้อถอน | ละเมิด | คดีปกครอง

 
          การก่อสร้างหรือขยายถนนหนทาง และการจัดทําระบบระบายน้ำ ซึ่งมีแนวเขตคาบเกี่ยวกับที่ดินของเอกชนที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้มีความชัดเจนก่อนที่จะทําสัญญาจ้างก่อสร้าง ทั้งนี้ หากทำการก่อสร้างรุกล้ำที่ดินเอกชนโดยเจ้าของที่ดินไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เจ้าของที่ดินก็มีสิทธิขอให้รื้อถอนได้ โดยผู้มีหน้าที่ไม่อาจทําการสร้างไปโดยพละการก่อนแล้วค่อยดําเนินการตามขั้นตอนในการจ่ายค่าทดแทน รวมทั้งไม่อาจอ้างว่าดําเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริตแล้วกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยที่ยังไม่มีการเวนคืนที่ดินตามกฎหมาย หรือตกลงซื้อขาย หรือเจ้าของยังมิได้อุทิศที่ดินให้ ดังคดีตัวอย่างนี้
 
          ข้อเท็จจริงมีว่า ... กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทําสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทําการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าของทางหลวงแผ่นดินสายหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าว เห็นว่าได้มีการก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนด้านทิศใต้ยาวตลอดแนวที่ดิน และลึกเข้าไปในที่ดินทางทิศตะวันตกประมาณ 64 ซม. และทิศตะวันออก 94 ซม. ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้สํานักงานทางหลวงแก้ไขปัญหาดังกล่าว
          เมื่อทำการตรวจสอบที่ดินส่วนพิพาท ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเขตทางบางช่วงมีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านรายอื่นจริง จึงมีการอนุมัติลดระยะเขตทางให้ตรงกับข้อเท็จจริง และแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดอง เพื่อพิจารณากําหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเขตทางต่อไป
          แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนเป็นการกระทําละเมิดทําให้ไม่สามารถใช้ที่ดินในส่วนที่รุกล้ำได้ จึงยื่นฟ้องกรมทางหลวง และ
สํานักงานทางหลวง ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินพิพาท

          โดยศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า กรมทางหลวงกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจึงพิพากษาให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำในส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำออกเสีย 
          แต่กรมทางหลวงอุทธรณ์ว่า ได้ดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ซึ่งจะมีการเวนคืนที่ดินต่อไป และแม้ว่าหากจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอยู่บ้างแต่ก็เป็นพื้นที่ไม่มากนัก และเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต การให้รื้อถอนจะทําให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของทางราชการ

          คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กรมทางหลวงกระทําละเมิดโดยก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และต้องรับผิดเพียงใด

          ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อกรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทําสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทําการปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชนและทําระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ซึ่งตามบัญชีเขตทางเดิมกว้างข้างละ 20 เมตร ทั้งที่ในความเป็นจริงเขตทางมีความกว้างน้อยกว่า 20 เมตร ทําให้ผู้รับจ้างปรับปรุงทางรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้เขตทางกว้างข้างละ 20 เมตร ตามที่กําหนดในสัญญา ดังนั้น เมื่อกรมทางหลวงยังไม่ได้ทําการเวนคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายทางหลวงว่า “เมื่อมีความจําเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดําเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์” รวมทั้งยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว และไม่มีหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้อุทิศที่ดินส่วนพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์หรือมีหลักฐานการมอบอํานาจของผู้ฟ้องคดีให้บุคคลใดดําเนินการเช่นว่านั้น

          กรณีจึงเป็นการกระทําละเมิดทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามนัยมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ขอที่ดินคืนในสภาพเดิม และไม่ประสงค์จะขายที่ดินให้แก่กรมทางหลวง ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางเท้าและท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยคํานึงถึงความเหมาะสม ความจําเป็น และดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแล้ว การทําให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำออกนั้น มิได้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะแต่ประการใด เนื่องจากเมื่อรื้อถอนในส่วนที่รุกล้ำแล้วยังคงเหลือทางเท้าและท่อระบายน้ำขนาดกว้างเพียงพอที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้
 
          ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้กรมทางหลวงดําเนินการรื้อถอน
ทางเท้าและท่อระบายน้ำส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกําหนด (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 58/2565

28 กุมภาพันธ์ 2567

คนไร้ความสามารถ


          คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต ที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล และศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 28 ดังนั้น แม้จะเป็นบุคคลวิกลจริต แต่ถ้าศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ทั้งนี้ บุคคลไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล เพื่อทำหน้าที่อนุบาลดูแลคนไร้ความสามารถ และทำนิติกรรมต่างๆแทนคนไร้ความสามารถ

          อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นบุคคลวิกลจริต
          บุคคลวิกลจริต มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537)


          โรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ เป็นบุคคลวิกลจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537  คำว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่าจ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ. ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2527 คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว 
          มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 490/2509 ประชุมใหญ่)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2509 (ประชุมใหญ่)  คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารประกอบกิจการงานของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว
          ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใด ๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว.

          ผู้ที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถ
          (1) คู่สมรส 
          (2) บุพการี ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด 
          (3) ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
          (4) ผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้
          (5) ผู้พิทักษ์ สำหรับผู้พิทักษ์นี้คือผู้มีหน้าที่ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หากคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นวิกลจริต ผู้พิทักษ์ก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถได้ 
          (6) ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ คือผู้ที่ปกครองดูแลบุคคลวิกลจริตนั้นอยู่
          (7) พนักงานอัยการ 
          บุคคล 7 ประเภทข้างต้นเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ บุคคลอื่นนอกจากนี้ไม่มีสิทธิ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2534   โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่รับรองแล้วของ ส. เป็นผู้สืบสันดานของ ส.มีสิทธิรับมรดกของส. กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้ ส. ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 29 (เดิม) ได้ และโดยนัยเดียวกัน แม้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของ ส. ตามคำสั่งศาลอยู่แล้วก็ตาม ถ้า มีเหตุอันสมควร โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อนุบาลต่อไปได้.

          ความสามารถในการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
          นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม จะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทนเท่านั้น ตามมาตรา 29
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530  จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม

          เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

          สำหรับนิติกรรมที่ต้องทำเป็นการเฉพาะตัว เช่น การสมรส การทำพินัยกรรม นั้นกฎหมายห้ามทำทั้งหมด
          มาตรา 1449 ."การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 1704 วรรคหนึ่ง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ"
          แต่มีข้อสังเกตุว่า กรณีคนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถย่อมถือว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้มีความสามารถเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป จึงสามารถทำนิติกรรมใดๆได้โดยสมบูรณ์ เว้นแต่ จะเป็นโมฆียะได้ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นในขณะที่ผู้นั้นวิกลจริตอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่ว่าผู้นั้นเป็นคนวิกลจริต ตามมาตรา 30
          มาตรา 1704 วรรคสอง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่"

          ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ
          ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว การสิ้นสุดแห่งการเป็นคนไร้ความสามารถ จะมีได้ในกรณีที่เมื่อศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นเสีย โดยการที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการร้องขอ ตามมาตรา 31


ผู้เยาว์


          ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งการบรรลุนิติภาวะนั้นไม่ว่าจะเป็นการบรรลุนิติภาวะโดยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสที่ทำโดยถูกต้องตามมาตรา 1448 ก็ตาม (มาตรา 19 และมาตรา 20) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2558  แม้ผู้ร้องและผู้เยาว์เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การขออนุญาตศาลดังกล่าว เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพแห่งข้อหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องครอบครัวและมรดกโดยตรงที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์อันเป็นเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์อายุ 19 ปี จึงยังไม่พ้นจากภาวะผู้เยาว์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักกฎหมายอิสลามว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ มายกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2549  ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2541  เด็กหญิง ย. อายุยังไม่เกิน 15 ปี แม้จะได้แต่งงานตามประเพณีกับ จ. แล้ว ก็ยังไม่พ้นจากภาวะการเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20 เพราะการแต่งงานหรือการสมรสของผู้เสียหายมิได้อยู่ในเงื่อนไขตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  เนื่องจากผู้เสียหายมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ อีกทั้งความไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสหรือมีการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 การที่บิดามารดาผู้เสียหายอนุญาตให้ผู้เสียหายแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับ จ. จึงเป็นเพียงมอบการดูแลผู้เสียหายซึ่งยังเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ให้ จ. ดูแลแทน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายจากบริเวณโรงภาพยนตร์กลางแปลงไปยังห้องพักจำเลยเพื่อประสงค์จะกอดจูบลูบคลำโดยตั้งใจจะร่วมประเวณีกับผู้เสียหายในทำนองชู้สาว ถือว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากการดูแลของ จ.เพื่อการอนาจารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามแล้ว


          ความสามารถในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์
          โดยหลักแล้ว ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 21)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่โจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพ พูดและเดินไม่ได้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลจึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 จึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับพิจารณาคดีต่อไปจนเสร็จ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2541 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาให้ฟ้องและดำเนินคดีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนได้หาจำต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาอีกครั้งไม่

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายบัญญัติให้มีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่อาจให้ความยินยอมหรือทำแทนผู้เยาว์ได้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้เยาว์ ได้แก่ กรณีนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามมาตรา 1574 และนิติกรรมที่ประโยชน์ของผู้แทนโดยชอบธรรมขัดกันกับผลประโยชน์ของผู้เยาว์ ตามมาตรา 1575
          มาตรา 1574  "นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา  ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          มาตรา 1575  "ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ"
          มาตรา 1576  "ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1575 ให้หมายความรวมถึงประโยชน์ในกิจการดังต่อไปนี้ด้วย คือ
          (1) ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วน
          (2) ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125-2126/2558  การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552  เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574(12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21793/2556   ป. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. โดยคำสั่งศาล ได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และ พ. ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แต่อย่างใด การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของ ช. ระหว่าง ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555  หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
          แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2551  ขณะทำสัญญาขายที่ดินจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้เยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ การทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ทำสัญญาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอด ก็เป็นเพียงการเข้ายึดถือที่ดินแทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เท่านั้น ทั้งการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินเมื่อบรรลุนิติภาวะและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็หาใช่เป็นการแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดิน หรือถือว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 สละสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ประการใดไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550   ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2537  จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยมีจำเลยที่ 2 และนาง อ. บิดามารดาของจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนเพียงสองคน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่กู้จากโจทก์เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างปั๊มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้ในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวนาง อ. มารดาจำเลยที่ 3 จะได้ลงนามร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ได้ก็ตาม แต่นาง อ. ก็ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่ง ทั้งสัญญาที่ นาง อ. ร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาล การกระทำของนาง อ. ดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไป

          ข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้มีดังนี้
          (1) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22)
          (2) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (มาตรา 23)
          (3) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร (มาตรา 24)
          (4) ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์ (มาตรา 25)
          (5) ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร (มาตรา 26)
          (6) ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ กรณีนี้ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว (มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรคสอง)


          ผู้แทนโดยชอบธรรมคือใคร
          ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ ซึ่งมีอำนาจทำการต่างๆแทนผู้เยาว์ หรือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ ทั้งนี้ การใดที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำลงไปย่อมมีผลผูกพันผู้เยาว์

          ผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดาและมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกันในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นมีทั้งบิดาและมารดา หรืออาจจะเป็นบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย ไม่แน่นอนว่าบิดาหรือมารดามีชีวิตอยู่ บิดาหรือมารดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
          มาตรา 1566  "บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
          อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) มารดาหรือบิดาตาย
          (2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
          (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
          (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
          (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
          (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้"
          มาตรา 1569  "ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550  บุตรทั้งสองของโจทก์กับจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มาโดยตลอด โจทก์รับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์มากว่า 8 ปี แล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและในอนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

          ผู้ปกครอง จะมีได้ก็แต่เฉพาะในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้ว
          มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง  "บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้"
          มาตรา 1598/3 วรรคหนึ่ง  "ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544   ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์จึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอดถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง
           ป.พ.พ. มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าบิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ได้

อำนาจปกครองบุตร


          บุตรอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
          อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตรมีขึ้นนับตั้งแต่บุตรถือกำเนิดมา เป็นอำนาจที่ใช้ในการเลี้ยงดูรักษาบุตรให้เจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า โดยมาตรา 1566 กำหนดให้บิดาและมารดา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งบุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองนี้มีเฉพาะบุตรผู้เยาว์เท่านั้น หากบรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาอีกต่อไป สำหรับการใช้อำนาจปกครองบุตรนี้ บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจปกครองโดยลำพัง และจะสละอำนาจปกครองบุตรให้บุคคลอื่นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2537  โจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 แม้บิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของมารดาไม่ เมื่อมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ตาม มาตรา 1569 มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2542  โจทก์เป็นภริยาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิง ธ. ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ธ. ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยเป็นบิดามิชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ การที่โจทก์ทำบันทึกระบุข้อความมอบผู้เยาว์ให้อยู่ในความปกครองของพี่สาวจำเลยจึงเป็นการตั้งผู้ปกครองกันเองย่อมไม่มีผล เพราะการตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะด้วยคำสั่งศาลหรือบิดามารดาตกลงกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เท่านั้น ข้อความตามบันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ให้อยู่กับพี่สาวจำเลยเท่านั้น และกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้เป็นมารดาได้สละการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้บิดาหรือมารดาสามารถสละการใช้อำนาจปกครองให้แก่บุคคลอื่นได้ ทั้งมิใช่กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ จำเลยซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีหน้าที่ต้องส่งผู้เยาว์ให้แก่โจทก์
          เมื่อจำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์โต้แย้งสิทธิ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียว


          แต่กรณีที่มีเหตุให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมมีได้ ตามมาตรา 1566 วรรคสองและวรรคท้าย และมาตรา 1568 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
          (1) มารดาหรือบิดาตาย บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (2) ไม่เป็นการแน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย เช่น มารดาหรือบิดาหายไปไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเมือนไร้ความสามารถ เช่นนี้บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นนี้ศาลจะต้องคำนึงถึงความุขและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เช่น บิดามารดาหย่าขาดจากกันขณะที่บุตรยังเล็กอยู่ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาคนเดียวก็ได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550   แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านละทิ้งไม่ดูแลไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
          (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ กรณีนี้อำนาจปกครองบุตรก็อยู่กับคนใดคนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ แต่ทั้งนี้เฉพาะที่กฎหมายยอมให้ตกลงกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2544  โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่าให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลยังไม่ได้สั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่งแล้วโจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(6) ข้อตกลงตามสัญญาหย่าระบุเพียงให้จำเลยไปมาหาสู่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ตลอดเวลา หามีข้อตกลงให้จำเลยรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอุปการะเลี้ยงดูไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วย
          (7) บุตรเกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชาย จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงแต่เพียงผู้เดียว  
          (8) เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองที่มีต่อบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมา คู่สมรสของบุคคลนั้นไม่มีอำนาจปกครองบุตรด้วย

          สิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง
          ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ ดังนี้
          (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
          (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
          (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
          (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
          (5) สิทธิในการให้ความยินยอมบุตรผู้เยาว์ทำการหมั้นและสมรส
          (6) สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการอุปการะเลี้ยงดูบุตรในด้านต่างๆ เช่นการให้ความยินยอมในการเข้ารับการรักษาพยาบาลการผ่าตัดหรือการทำนิติกรรมต่างๆ

          ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรโดยอำนาจของกฎหมาย