01 มีนาคม 2567

บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน


          มาตรา 1300  "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิของตน ต่อมามีบุคคลอื่นได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยการจดทะเบียน ผลตามมาตรา 1300 คือ คนที่อยู่ในฐานะเป็นผู้จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ โดยมีหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ผู้ที่ได้สังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้จดทะเบียนไปนั้น ต้องได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือผู้รับโอนกระทำการโดยไม่สุจริต แต่ถ้าเป็นการได้มาโดยมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต ก็ไม่สามารถเพิกถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562  ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้
          แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้



          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ได้แก่

          (1) ผู้ทำนิติกรรมเพื่อให้ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยรับมอบอสังหาริมทรัพย์นั้นมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือและไปจดทะเบียนการได้มา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558  ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555 ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6691/2555  โจทก์ร่วมขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยเพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย แต่ธนาคารหาโฉนดที่ดินพิพาทไม่พบ จึงยังไม่ได้ดำเนินการ ต่อมาโจทก์ร่วมย้ายที่อยู่ จำเลยไม่สามารถติดตามโจทก์ร่วมมาดำเนินการได้ กรณีจึงไม่ใช่ปล่อยทิ้งไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และการที่โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากธนาคารว่าโฉนดที่ดินสูญหายก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ใบแทนโฉนดที่ดินมาโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย หาใช่กรณีที่จำเลยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการไม่ เมื่อโจทก์ร่วมได้ดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินใหม่ได้แล้ว โจทก์ร่วมได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ จำเลยจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2529  จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกแล้วจำเลยที่ 1 ได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกเข้าครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา โดยสัญญาว่าจะโอนสิทธิทางทะเบียนให้ในภายหลังซึ่งขณะนั้นที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้ว และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืนภายในกำหนด โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเลย ทั้งซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้ตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้ตน จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเอาคืนที่ดินพิพาทที่ตนได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2526  ก.ยกที่ดินโฉนดตราจองให้โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละครึ่งแต่ทำสัญญาจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งโฉนด ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกรณีพิพาทแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รู้เห็น แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังทำสัญญาซื้อขายรับโอนโฉนดตราจองดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายได้ตามมาตรา 1300



          (2) ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2508  เมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินสองแปลง มิได้มีผู้ร้องขัดทรัพย์หรือโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด จนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศและขายทอดตลาดไปตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด และศาลสั่งขายให้โจทก์แล้ว เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ซื้อทรัพย์รายนี้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิเป็นของตนได้แม้หลักฐานทางทะเบียนจะปรากฏว่ามิใช่เป็นของจำเลยก็ตาม โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีเรียกบุคคลภายนอกที่มีชื่อทางทะเบียนมาเป็นคู่ความก่อน
          แต่ถ้าซื้อมาโดยไม่สุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2509  จำเลยที่ 1, 2 ออกโฉนดทับที่ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ก่อน การออกโฉนดทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1, 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 3, 4 รับจำนองที่พิพาทโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3, 4 ฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3 โอนทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 5, 6 โดยเสน่หา โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้

          (3) ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาตามมาตรา 1299 ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536  จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

          (4) ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยคำพิพากษาของศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7205/2543  ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องตกลงชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลย ดังนี้สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ตนได้เกิดขึ้นแล้วทันที เพียงแต่ผู้ร้องต้องชำระเงินที่เหลือตอบแทนให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาด้วยเท่านั้น การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทน หามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ การที่ผู้ร้องยังคงมีสิทธิเช่นนี้เมื่อผู้ร้องได้ชำระเงินที่เหลือตอบแทนนั้นถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 โจทก์จึงหามีสิทธิขอให้บังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2552  การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. โดยอ้างว่าเพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. ซึ่งได้ระบุไว้ชัดแจ้งในคำขอจดทะเบียนสิทธิด้วย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่กระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทจึงต้องผูกพันต่อ ท. ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. ไปก่อนแล้วและได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจะทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ท. และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินเช่นนี้ ท. จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 หาใช่จำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 2 อาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ ท. ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ ท. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ประกอบมาตรา 1599 และมาตรา 1600
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561  คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้
          ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

          (5) ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ตามมาตรา 1532
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558  ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้

          อย่างไรก็ตาม *** ถ้าเป็นการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ ตามมาตรา 1300 ตอนท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562  แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก


          เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตลง ทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย คือ ทายาทโดยธรรม หรือตกทอดแก่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม คือ ผู้รับพินัยกรรม 

          ความสามารถในการเป็นทายาทและคุณสมบัติในการรับมรดก

          มาตรา 1604  "บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย"
          มาตรา 1654 วรรคสอง  "ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น"

          สรุปได้ว่า
          (1) ผู้ที่จะเป็นทายาทต้องมีสภาพบุคคล
          (2) ทายาทต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย



          (1) ผู้ที่จะเป็นทายาทต้องมีสภาพบุคคล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508  ในเรื่องมรดกนั้นเมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม) ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมมรดกของผู้นั้นจะตกทอดแก่แผ่นดิน พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล พินัยกรรมที่สั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 81 เช่น เพื่อบำเพ็ญทานการศาสนา ฯลฯ ผู้รับตามพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคลสามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของจะตกทอดแก่แผ่นดิน ในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษ (ชื่อตึ๊ง) เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล จึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินได้ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556  ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

          (2) ทายาทต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย แยกพิจารณาได้ดังนี้

          ก. กรณีทายาทเป็นบุคคลธรรดา ตามมาตรา 1604 บัญญัติใช้แก่บุคคลธรรมดาที่เป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น โดยวางหลักว่า บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ต่อเมื่อมีสภาพบุคคล คือคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และรวมถึงเวลาที่ทารกปฏิสนธิในครรภ์มารดาด้วย หากว่าภายหลังทารกนั้นเกิดมาและรอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2501  ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาขณะที่บิดาตายก็มีสิทธิเป็นทายาทได้ ถ้าหากภายหลังได้เกิดมารอดอยู่ และโดยมีพฤติการณ์ที่บิดารับรองทารกในครรภ์ว่าเป็นบุตรของตน อายุความฟ้องเรียกมรดกหนึ่งปีตามมาตรา 1755 นั้น จำแนกไว้สองประเภทคือ นับแต่เจ้ามรดกตายประการหนึ่ง หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกอีกประการหนึ่ง ฉะนั้น การที่เด็กผู้เป็นทายาทเกิดภายหลังที่บิดาตายแล้ว อายุความฟ้องร้องเรียกมรดกจึงเริ่มนับแต่เด็กนั้นคลอดเป็นต้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2526  ชายไปอยู่กินกับหญิง และแสดงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาในที่ต่าง ๆ อย่างเปิดเผยเป็นการยอมรับว่าหญิงเป็นภริยา มีการจัดเลี้ยงฉลองการตั้งครรภ์ เป็นการแสดงออกถึงการรับรองว่าโจทก์ซึ่งเป็นทารกในครรภ์มารดาเป็นบุตรของตน โจทก์จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกตามมาตรา 1629(1)

          ***การรับรองบุตรนอกกฎหมายที่อยู่ในครรภ์มารดา หากบิดาไม่แสดงอาการรับรองโดยพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วบิดาตายไปก่อนเด็กเกิด ไม่มีโอกาสที่บิดาจะรับรองว่าเป็นบุตรได้อีก จึงไม่มีทางเป็นทายาทตามมาตรา 1627 (บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2496  หญิงชายได้เสียอยู่กินด้วยกันแต่มิได้จดทะเบียนสมรสการสมรสย่อมไม่สมบูรณ์ จะเรียกว่าเป็นสามีภริยากันไม่ได้และบุตรที่เกิดจากหญิงนั้นก็มิใช่บุตรอันชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นและเมื่อชายนั้นตายเสียในระหว่างหญิงตั้งครรภ์ เมื่อบุตรนั้นคลอดออกมา ชายนั้นก็ไม่มีโอกาสจะรับรองเด็กนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 ได้เด็กนั้นจึงไม่ใช่บุตรที่บิดาได้รับรองแล้ว จึงย่อมไม่มีสิทธิจะได้รับมรดกจากชายนั้น ในฐานะผู้สืบสันดาน

          ***แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการแก้ไข ป.พ.พ.มาตรา 1557 เป็นว่า "การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิดแต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้" ดังนั้น ***หากมีการฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรแล้วศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ย่อมมีผลไปถึงเวลาที่เด็กนั้นเกิดว่า ขณะที่เกิดเด็กนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย*** 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556  คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม (ปัจจุบัน ตามมาตรา 1557 คำพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด) เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2554  แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แต่ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ซึ่งเป็นผู้ประกันตน และในขณะนั้นก่อนมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจึงยังคงมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด(ปัจจุบัน ตามมาตรา 1557 คำพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด) อันเป็นเวลาก่อนการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ สิทธิของโจทก์ที่ขอจะรับบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายในฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงสมบูรณ์ก่อนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณี ส. ผู้ประกันตนจึงแก่ความตาย



          ***ทั้งนี้ การฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายจะต้องฟ้องภายในอายุความมรดกด้วยตามบทบัญญัติมาตรา 1558 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2532  โจทก์ฟ้องว่า มารดาโจทก์กับ ม. ซึ่งเป็นมารดาของเจ้ามรดกไม่มีอำนาจทำสัญญาแบ่งมรดก จึงขอเรียกทรัพย์มรดกส่วนที่ ม. รับไปคืนจากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้รับโอน เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกคืนจากทายาท ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ในขณะที่ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกนั้น โจทก์มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ถือได้ว่าโจทก์โดยมารดารู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยทั้งสี่เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกจาก ม. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ย่อมเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2538  ผู้คัดค้านเพิ่งคลอดหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของผู้คัดค้าน ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายประมาณ 8 เดือนว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งกรณีถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องภายในอายุความมรดก ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1558 วรรคแรก สิทธิดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดากับผู้ตายทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 อันเป็นลำดับถัดลงมาไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ มาตรา 1629, 1630
          คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 หมายถึงผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพย์มรดกโดยตรงมาตั้งแต่ต้น คือขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาใช่เกิดขึ้นในภายหลังตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีดังเช่นในคดีนี้ไม่
          
          ข. กรณีเป็นนิติบุคคลก็ต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาเจ้ามรดกตาย จึงจะมีสิทธิรับมรดก แต่มีข้อยกเว้นสำหรับนิติบุคคลที่ไม่มีสภาพบุคคลอาจรับมรดกได้ มี 2 กรณี
          (1) กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งมูลนิธิตามมาตรา 1676
          (2) กรณีมรดกตกทอดแก่แผ่นดิน ตามมาตรา 1753 เนื่องจากเจ้ามรดกไม่มีทายาท


          ทายาทโดยธรรม ที่มีสิทธิรับมรดกนั้นเป็นใครบ้าง ?


          ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับตามมาตรา 1629
          มาตรา 1629 "ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
          (1)  ผู้สืบสันดาน
          (2)  บิดามารดา
          (3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
          (4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
          (5)  ปู่ ย่า ตา ยาย
          (6)  ลุง ป้า น้า อา
          คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635"

          (1) ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) หมายถึง บุตรของเจ้ามรดกเท่านั้น

          นอกจากนี้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผลของมาตรา 1627 จึงมีสิทธิรับมรดกในลำดับเดียวกันกับผู้สืบสันดาน ทั้งนี้ ถ้าเป็นบุตรนอกกฎหมายจะไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ยกเว้นจะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามมาตรา 1627
          บุตรที่เกิดจากหญิง ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น แต่ที่เป็นปัญหาคือถ้าหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแล้วมีบุตรด้วยกัน บุตรที่เกิดมาย่อมเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย(บิดา) หรือเรียกกันว่าบุตรนอกกฎหมาย
          บุตรนอกกฎหมายของบิดา คือ บุตรที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา และบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร หรือศาลไม่ได้มีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2487  เด็กที่เกิดจากชายที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงนั้น แม้จะรู้กันทั่วไปว่าเป็นบุตรของชายก็ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย

          บุตรนอกกฎหมายซึ่งบิดามีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่ารับรองแล้ว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2537  การรับรองบุตรนอกกฎหมายจะต้องกระทำโดยบุคคลผู้เป็นบิดา เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาไม่ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้คัดค้านหรือมอบหมายให้ผู้ใดอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้คัดค้านแทน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของตนโดยพฤตินัย ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทที่มีสิทธิในมรดกของผู้ตาย            
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2534   พฤติการณ์ที่ พ. พาโจทก์ไปมอบตัวตามโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนบิดากับบุตรโดยทั่วไปได้ปฏิบัติกัน และปฏิบัติต่อโจทก์อย่างโจทก์เป็นบุตรของตนเช่นนี้ถือได้ว่า พ. ได้รับรองโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายว่าเป็นบุตรของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2534   การที่ ค. เจ้าบ้านแจ้งย้ายผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในบ้านต่อนายทะเบียนในฐานะบุตรของตน ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ ค. บิดารับรองแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของ ค. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2537   ผู้ตายพามารดาผู้คัดค้านที่ 3 ไปคลอดที่โรงพยาบาลกับแจ้งว่าเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ออกค่าใช้จ่ายการคลอด และรับกลับจากโรงพยาบาล ส่งเสียให้เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนตลอดมา ทั้งยังพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปสมัครงานโดยใบสมัครงานระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากนี้ผู้ตายยังเคยพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปเที่ยวเป็นประจำ พฤติการณ์ที่ผู้ตายปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของตนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

          อย่างไรก็ตาม แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะมีสิทธิรับมรดกของบิดาโดยให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1627 แต่บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นถึงจะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่ารับรองบุตรแล้ว ก็หามีสิทธิรับมรดกของบุตรที่ตนรับรองด้วยไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2510   แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เจ้ามรดก แต่โจทก์กับเจ้ามรดกก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดากับบุตรว่า เป็นทายาทซึ่งกันและกัน หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน
          บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกันอย่างใดเลย และไม่มีสิทธิได้รับมรดกซึ่งกันและกันด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 เป็นบทบัญญัติวางข้อข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่บิดารับรองแล้วให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่า ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย (อ้างฎีกาที่ 1271/2506)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2508   บุตรนอกสมรสที่บิดายังมิได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่มีพฤติการณ์เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเป็นบุตรนั้น มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเพียงรับมรดกบิดาได้ตามมาตรา 1629(1) เท่านั้น ส่วนบิดาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีสิทธิและหน้าที่ต่อบุตรนอกสมรสที่ยังมิได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรแต่ประการใด

          บุตรบุญธรรม
          การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมที่มีผลสมบูรณ์อยู่แล้วก่อนไม่ถูกกระทบกระเทือนเพราะการใช้ ป.พ.พ.บรรพ 5 อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ตามมาตรา 1598/27 บุตรบุญธรรมก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2519 (ประชุมใหญ่)  กฎหมายลักษณมรฎก บทที่ 12 บัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในภาคญาติ แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณมรฎก ร.ศ.121 บัญญัติให้ญาติของผู้มรณภาพตามที่กำหนดไว้เป็นชั้น ๆ ได้รับมรดกในภาคญาติ แต่สำหรับบุตรบุญธรรมไม่ได้กำหนดไว้ บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่านับแต่ ร.ศ. 121 เป็นต้นมา จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 แล้ว บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติมาตรา 1586 และ 1627 ก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนตามมาตรา 1585 เท่านั้น มิได้รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าซึ่งใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ด้วย เพราะพระราชบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ. 2477 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า "บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทงกระเทือนถึง(2) การรับบุตรบุญธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแต่การนั้น ๆ " ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมมีอยู่ตามกฎหมายเก่าอย่างไร เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับแล้วก็คงมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้น บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่าและมิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว


          ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี โดยต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมไม่ต่ำกว่า 15 ปี ถ้าขณะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมผู้รับบุตรบุญธรรมอายุต่ำกว่า 25 ปี การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ แม้ต่อมาจะมีอายุครบ 25 ปีในภายหลังก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2497  บุคคลที่อายุไม่ครบ 30 ปี (อายุที่กฎหมายบังคับในขณะนั้น) จดทะเบียนรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ แม้บุคคลนั้นจะมีชีวิตมาจนถึงแก่กรรมนับอายุได้เกิน 30 ปีแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันเพราะไม่ใช่กรณีที่กฎหมายให้สัตยาบันได้
          บุตรบุญธรรมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย ดังนั้น หากบุตรบุญธรรมเสียชีวิตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรของบุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ ตามมาตรา 1639  แต่บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2528 (ประชุมใหญ่)  ผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643 หมายถึงผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่บุตรบุญธรรมหาใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม
          บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วย เพียงแต่คู่สมรสนั้นให้ความยินยอมให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ไม่ถือว่าคู่สมรสนั้นรับบุตรบุญธรรมนั้นด้วย ตามมาตรา 1598/24, 1598/26 ยกเว้นแต่ว่าคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมจะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นด้วย (มาตรา 1598/25, 1598/26 และ 1598/27)
          ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม (มาตรา 1598/29) อย่างไรก็ตาม ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนให้บุตรบุญธรรมคืน ถ้าบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายก่อนตน (มาตรา 1598/30)  

          ลำดับในการรับมรดกระหว่างทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกนั้นก็เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย เว้นแต่ กรณีมีบิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 1630
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556  คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555  ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2553  ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุว่า ผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้น แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับของผู้คัดค้านไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายโดยเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2551   ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งเป็นไปตามลำดับชั้นที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และบิดามารดาของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนผู้ตายแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าขณะผู้ตายถึงแก่กรรม ย. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 ซึ่งเป็นลำดับที่สูงกว่าผู้ร้องยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงย่อมตกได้แก่ ย. เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายตกได้แก่ ย. ดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องก็ไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกที่จะร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549   โจทก์เป็นบุตรของ ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของ ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก  จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          (2) บิดามารดา ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (2) ของเจ้ามรดก ในส่วนมารดาของเจ้ามรดกนั้นย่อมเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเสมอ
          ส่วนบิดาของเจ้ามรดกนั้น จะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อ (1) เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายโดยจดทะเบียนสมรสกับมารดา (2) บิดาที่ได้จดทะเบียนรับเจ้ามรดกเป็นบุตร หรือ (3) ศาลได้มีคำพิพากษาว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

          (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (3) คือ พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2529  การเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันต้องถือความเป็นพี่น้องกันตามความเป็นจริง ส่วนบิดามารดาจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่กรรมและผู้ตายก็ไม่มีผู้สืบสันดาน พี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 จึงเป็นผู้จัดการศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพเพราะเหตุที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายได้

          (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (4) คือ พี่น้องที่เกิดจากบิดาหรือมารดาเดียวกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545  การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง และตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

          (5) ปู่ ย่า ตา ยาย ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (5) หมายถึง ผู้บุพการีหรือญาติสืบสายโลหิตโดยตรงของเจ้ามรดกเท่านั้น โดยต้องเป็นปู่และย่าที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ในส่วนตาและยายก็จะต้องชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2494  ย่าของโจทก์เป็นป้าผู้ตายเมื่อผู้ตายไม่มีทายาทในอันดับ 1 ถึง 5 และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่แล้ว ย่าของโจทก์ผู้เป็นป้าผู้ตายก็ย่อมเป็นทายาท(อันดับ 6) มีสิทธิได้รับมรดกผู้ตาย และเมื่อย่าของโจทก์และบิดาของโจทก์ตายแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1639

          (6) ลุง ป้า น้า อา ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (6) หมายถึง พี่ชาย พี่สาว น้องชาย น้องสาว ของบิดาหรือมารดาเจ้ามรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2491  ข.เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ล. ซึ่งเป็นมารดาของเจ้ามฤดก ป.เป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากับ ล. ดังนี้ ช. และ ป. ย่อมเป็นน้าและอาของเจ้ามฤดก ทั้ง ช. และ ป. ย่อมเป็นญาติลำกัด 6 ในมาตรา 1629 เช่นเดียวกัน ซึ่งญาติลำดับ 6 ในมาตรา 1629 นี้ กฎหมายไม่ได้แยกญาติชิดและห่าง ดังในลำดับ 3 และ 4 ดังนั้น ญาติลำดับ 6 ในมาตรา 1629 ย่อมรับมฤดกแทนที่กันได้ตามมาตรา 1639

          (7) คู่สมรสก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกันตามมาตรา 1629 วรรคสอง ซึ่งมีสิทธิในกองมรดกของเจ้ามรดกตามส่วนภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งมาตรา 1635 ทั้งนี้ คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ได้แก่ สามีหรือภริยาของเจ้ามรดกนั้นนั้น ซึ่งการเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องจดทะเบียนสมรส และเมื่อเป็นคู่สมรสแล้วแม้จะแยกกันอยู่โดยยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ตามกฎหมายก็ยังถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกอยู่ ย่อมมีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2487   สามีภรรยาแยกกันอยู่ช้านานหรือเรียกว่าร้างกันนั้น ไม่ทำไห้ขาดจากสามีภรรยากัน และไม่สิ้นสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน.


          ทายาทย่อมมีสิทธิรับมรดกตามลำดับชั้น

       
          มาตรา 1630  "ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
          แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
          มาตรา 1631  "ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่"

          ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนั้นเป็นไปตามลำดับชั้น หากลำดับชั้นหนึ่งๆตามมาตรา 1629 ยังมีชีวิตหรือมีผู้รับมรดกแทนที่ ทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น 
          ยกเว้นกรณีมาตรา 1630 วรรคสอง ซึ่งผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ยังมีชีวิตหรือมีผู้รับมรดกแทนที่และบิดามารดาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (2) ยังมีชีวิตเช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ให้บิดามารดาเจ้ามรดกนั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร โดยผลของมาตรา 1630 วรรคสอง ในทำนองเดียวกันกับกรณีคู่สมรสของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร โดยผลของมาตรา 1635(1) เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556   คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม(ปัจจุบัน มีผลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่เด็กเกิด) เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2553   ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุว่า ผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้น แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับของผู้คัดค้านไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายโดยเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397-1399/2551   การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกันแม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของ จ. ซึ่งเป็นลุงของผู้ตาย โดย จ. เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่า จ. แล้ว จ. จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548   การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว 
          เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7474/2547   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ โดยระบุว่าผู้ร้องเป็นน้องต่างมารดากับโจทก์ ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนี้ผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 4 เมื่อผู้ร้องรับว่าผู้เป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของโจทก์ผู้มรณะที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง




ที่งอกริมตลิ่ง


          
          ที่งอก หมายถึง ที่ดินซึ่งติดพื้นน้ำงอกออกไปจากตลิ่ง ในฤดูน้ำหรือเวลาน้ำขึ้นปกติน้ำท่วมไม่ถึง ต่างจากที่ชายตลิ่งซึ่งน้ำท่วมถึง ที่งอกริมตลิ่งอาจจะงอกออกไปจากริมแม่น้ำ ริมบึง ริมทะเลสาบ ริมทะเล ก็ได้

          มาตรา 1308  "ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น"


          ที่งอกริมตลิ่งประกอบด้วยหลัก 4 ประการ

          (1) เป็นที่งอกซึ่งเกิดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ที่ดินที่งอกโดยมนุษย์ใช้ดินถมให้เกิดขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2551  ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทรายชายหาดเนื่องจากมีสิ่งก่อสร้างเป็นเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ ทำให้กีดขวางการเคลื่อนย้ายของตะกอนทรายชายฝั่งทะเลและกักเก็บตะกอนทรายนี้ให้สะสมตัว ทำให้ที่งอกเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์นำไปถม วัตถุประสงค์ในการสร้างเขื่อนหินของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ผู้สร้างเขื่อนหินเพื่อกันมิให้ทรายเปิดปากคลอง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดที่งอกริมตลิ่ง โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ที่งอกเกิดขึ้นติดต่อเป็นแปลงเดียวกับที่ดินเดิมโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895  ดังนี้ แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10662/2551  ที่งอกที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวย่อมถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308

          (2) ต้องงอกจากริ่มตลิ่งออกไป ไม่ใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาริมตลิ่งหรือหนองน้ำสาธารณะตื้นเขิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2523  ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่ง มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่งแม้หนองน้ำจะตื้นเขินขึ้นมีระดับเสมอกับที่ดินโจทก์ที่ล้อมรอบหนองน้ำอยู่ ก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่ง เพราะมิได้งอกออกจากตลิ่งที่ดินโจทก์ การที่หนองน้ำสาธารณะกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินทั้งแปลงเช่นนี้แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยโจทก์เข้าทำนาแต่ผู้เดียว ถ้ายังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หนองน้ำ ดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณาสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม แม้โจทก์จะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่

          (3) งอกออกไปจากที่ดินเดิมโดยไม่มีอะไรคั่น หากมีทางหลวงหรือมีถนนมาคั่น เจ้าของที่ดินย่อมไม่ใช่เจ้าของที่งอกนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556  ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2540   เดิมที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำ แต่ปัจจุบันติดที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยาวไปทางแม่น้ำ 61.80 เมตร สภาพของที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นซึ่งติดกับที่ดินพิพาทเป็นแนวยาวทอดไปตามริมแม่น้ำหลายกิโลเมตร ที่ดินพิพาทส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ จากที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ลุ่มขึ้นไปทางทิศเหนือมีลักษณะค่อย ๆ ลุ่มลึกลงบางตอนลึกท่วมศีรษะ ส่วนทางด้านทิศใต้ก็เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะลุ่มลึกน้อยกว่า เมื่อที่ดินพิพาทและที่ดินที่ทอดเป็นแนวยาวไปตามแนวแม่น้ำนั้น เกิดจากกระแสน้ำได้เซาะที่ดินฝั่งตรงกันข้ามและบริเวณดังกล่าวน้ำไม่ไหลหมุนเวียน ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์กับที่ดินพิพาทเดิมมีลำรางคั่น น้ำท่วมถึงทุกปี แต่ระยะหลังลำรางตื้นเขินเพราะมีเขื่อนกั้นทำให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน เป็นที่งอกยาวไปตามแนวแม่น้ำ ที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการที่น้ำพัดพาเอาดินจากที่อื่นมาทับถมกันที่ริมตลิ่งตามธรรมชาติจนน้ำท่วมไม่ถึงทำให้เกิดที่ดินงอกออกไปจากริมตลิ่ง แต่เป็นทางน้ำที่ตื้นเขินขึ้นเพราะน้ำเปลี่ยนทางเดิน และเดิมที่ดินพิพาทเป็นเกาะมีลำคลองกั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนือและทางทิศใต้มีคลอง แต่ทางราชการได้ปิดกั้นคลองทำให้ลำคลองที่กั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขินน้ำท่วมไม่ถึง ที่ดินพิพาทจึงไปติดกับที่ดินของโจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเดิมสภาพของที่ดินพิพาทเป็นเกาะ เมื่อลำรางที่กั้นระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขินและน้ำท่วมไม่ถึง ที่ดินพิพาทจึงติดกับที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ดินที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ตามธรรมชาติแต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินแล้วขยายเข้ามาติดที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1308 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558  ในขณะที่ ข. นำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น ข. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่า ข. ได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่
          จำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "ที่ชายทะเล" หมายถึง "เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด" ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจาก ข. เจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่


          (4) ในฤดูน้ำปกติน้ำท่วมไม่ถึง ถ้าน้ำท่วมถึงก็ไม่ใช่ที่งอก แต่เป็นที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2506  โจทก์ซื้อที่ดิน(ที่มือเปล่า)จากผู้อื่น  ด้านยาวทิศใต้จดถนนหลวงด้านกว้างทิศตะวันออกจดคลอง  แล้วให้จำเลยเช่าโดยระบุว่า  เช่าเพื่อปลูกอาศัย  จำเลยใช้ที่ของโจทก์ทำคอกเป็ดและเลี้ยงเป็ด  แต่ปลูกโรงเรือนอยู่ในที่ดินต่อกับเขตที่ของโจทก์ออกไปทางทิศตะวันออก  เป็นที่ซึ่งน้ำในลำคลองท่วมถึงเป็นปกติเกือบตลอดปี  ที่ซึ่งจำเลยปลูกโรงเรือนนี้ย่อมเป็นที่ชายตลิ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งตามมาตรา 1308 แม้โจทก์จะได้ครอบครองที่รายนี้มา 10 ปีเศษแล้ว แต่เมื่อตรงที่จำเลยปลูกโรงเรือนเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์ก็จะอ้างสิทธิครอบครองว่าเป็นของตนหาได้ไม่

          เจ้าของที่ดินซึ่งเกิดที่งอก ย่อมได้มาซึ่งที่งอกริ่มตลิ่งตามมาตรา 1308 ตามหลักส่วนควบ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326-1327/2506  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1308  ถือได้ว่ากฎหมายให้เจ้าของที่ดินริมตลิ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่งอกออกไปโดยลักษณะเป็นส่วนควบของที่ดินริมตลิ่ง และถือว่าเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดของที่ดินริมตลิ่งด้วย
          ข้อสัญญาจำนองซึ่งกล่าวว่า "สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ไม่มีสิ่งใดยกเว้นจำนองด้วยทั้งสิ้น" นี้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 719 แปลความได้ว่าหมายถึง สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่มีอยู่บนที่ดินจำนองในขณะทำสัญญาจำนองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าบ้านที่พิพาทนั้นน้ำท่วมถึง ก็ยังไม่มีสภาพเป็นที่งอกในขณะทำสัญญาจำนอง บ้านนั้นก็มิใช่เป็นสิ่งปลูกสร้างตามข้อสัญญาจำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2539  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308  กำหนดให้ทึ่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง เมื่อที่งอกอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวและเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. เจ้าของที่ดินโดยหลักส่วนควบด้วยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องรังวัดขึ้นทะเบียนว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเดิมเสียก่อนแล้วจึงจะเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ การที่ ส. ขายที่งอกให้โจทก์ ถือว่าได้แบ่งที่ดินตามโฉนดนั้นขายแก่โจทก์ไม่ใช่เป็นการขายที่ดินมือเปล่า โจทก์กับ ส.เพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายกันเองจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่งอก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยออกไปจากที่งอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546  ส. โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10734 อันเป็นที่ดินแปลงเดิมที่เกิดที่งอกให้แก่บริษัท บ. เมื่อปี 2519 ตั้งแต่ยังไม่ได้รับโฉนดของที่งอกที่ขอออกไว้ ขณะที่โอนที่ดินแปลงเดิมไปนั้น ที่งอกริมตลิ่งเริ่มเกิดมีขึ้นแล้ว การเกิดมีที่งอกขึ้นมาในที่ดินย่อมจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ที่บัญญัติว่า "ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น" เมื่อที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกได้โอนให้บริษัท บ. ไปแล้วในระหว่างนี้ ด้วยความสมัครใจของ ส. เอง ที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกย่อมตกติดไปเป็นของผู้ซื้อ โดยผลของบทกฎหมายดังกล่าว ส. พ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ ทั้งที่ดินแปลงเดิมที่เกิดมีที่งอก และที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกไปจนหมดสิ้น แม้ว่าต่อมาในปี 2522 ได้มีการออกโฉนดสำเร็จบริบูรณ์เป็นชื่อของ ส. ก็ไม่ทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกนั้นไป และไม่มีอำนาจที่จะขายที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่า ส. ผู้โอน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10734 อันเป็นที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกริมตลิ่งจากเจ้าของเดิมมาโดยถูกต้อง ทำให้ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกนั้นด้วยโดยผลของกฎหมาย

          ถ้าที่ดินเดิมเป็นที่ดินที่มีโฉนด ที่งอกริ่มตลิ่งก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินนั้น การอ้างการครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ก็จะต้องครอบครองครบ 10 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543  เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.วิ.พ.มาตรา 1304 (2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382

          แต่ถ้าที่ดินเดิมเป็นเพียงที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นต้น กรณีนี้ที่งอกก็เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเช่นกัน หากมีการแย่งการครอบครองก็ต้องฟ้องเอาคืนภายใน 1 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2523  นาย ช. ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หมาย จ.1 ให้นาง ม. ที่ดินแปลงนี้ทิศใต้ติดทะเลสาบ เมื่อที่ดินหลุดเป็นสิทธิของนาง ม. แล้ว นาง ม. ได้จดทะเบียนขายให้จำเลยทั้งแปลง คือที่ดินภายในเส้นสีน้ำเงินในแผนที่กลางซึ่งโจทก์จำเลยรับกันว่าเป็นที่ของจำเลย ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงในแผนที่กลางเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จำเลยซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงมีสิทธิครอบครองที่พิพาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308  

          ที่ดินซึ่งถูกน้ำเซาะพังจนเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำแล้ว ย่อมเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่ถ้าสภาพทางกายภาพกลายเป็นทางน้ำ แต่เจ้าของยังคงสงวนสิทธิความเป็นเจ้าของ ที่ดินนั้นก็ไม่เป็นสาธารณะของแผ่นดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2490  ที่วิวาทเปลี่ยนสภาพกลายเป็นทางน้ำแล้วก็จะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ภายหลังผู้ใดจะได้กรรมสิทธิที่ตรงกัน ก็ต้องเป็นไปตาม ก.ม.ว่าด้วยการได้มาแห่งกรรมสิทธิ์ แต่ควรจะฟังว่าที่พิพาทเคยเป็นทางน้ำมาแล้วหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาจากแง่แห่งข้อเท็จจริงหลายประการ เพียงแต่ตลิ่งพังทลายลงแม่น้ำชั่วคราว และยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของ อาจยังไม่พอที่จะถือว่าตรงนั้นเป็นทางน้ำก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่คู่ความแถลงไว้ ยังมิได้ฟังคำพยานในข้ออื่นๆ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่กระจ่างแจ่มใส จึงพิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปให้เต็มประเด็น แล้วพิพากษาใหม่



หน่วยงานรัฐสร้างทางรุกล้ำที่ดินเอกชน เป็นละเมิด ต้องรื้อถอน | ละเมิด | คดีปกครอง

 
          การก่อสร้างหรือขยายถนนหนทาง และการจัดทําระบบระบายน้ำ ซึ่งมีแนวเขตคาบเกี่ยวกับที่ดินของเอกชนที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้มีความชัดเจนก่อนที่จะทําสัญญาจ้างก่อสร้าง ทั้งนี้ หากทำการก่อสร้างรุกล้ำที่ดินเอกชนโดยเจ้าของที่ดินไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เจ้าของที่ดินก็มีสิทธิขอให้รื้อถอนได้ โดยผู้มีหน้าที่ไม่อาจทําการสร้างไปโดยพละการก่อนแล้วค่อยดําเนินการตามขั้นตอนในการจ่ายค่าทดแทน รวมทั้งไม่อาจอ้างว่าดําเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริตแล้วกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยที่ยังไม่มีการเวนคืนที่ดินตามกฎหมาย หรือตกลงซื้อขาย หรือเจ้าของยังมิได้อุทิศที่ดินให้ ดังคดีตัวอย่างนี้
 
          ข้อเท็จจริงมีว่า ... กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทําสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทําการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าของทางหลวงแผ่นดินสายหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าว เห็นว่าได้มีการก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนด้านทิศใต้ยาวตลอดแนวที่ดิน และลึกเข้าไปในที่ดินทางทิศตะวันตกประมาณ 64 ซม. และทิศตะวันออก 94 ซม. ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้สํานักงานทางหลวงแก้ไขปัญหาดังกล่าว
          เมื่อทำการตรวจสอบที่ดินส่วนพิพาท ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเขตทางบางช่วงมีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านรายอื่นจริง จึงมีการอนุมัติลดระยะเขตทางให้ตรงกับข้อเท็จจริง และแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดอง เพื่อพิจารณากําหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเขตทางต่อไป
          แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนเป็นการกระทําละเมิดทําให้ไม่สามารถใช้ที่ดินในส่วนที่รุกล้ำได้ จึงยื่นฟ้องกรมทางหลวง และ
สํานักงานทางหลวง ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินพิพาท

          โดยศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า กรมทางหลวงกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจึงพิพากษาให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำในส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำออกเสีย 
          แต่กรมทางหลวงอุทธรณ์ว่า ได้ดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ซึ่งจะมีการเวนคืนที่ดินต่อไป และแม้ว่าหากจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอยู่บ้างแต่ก็เป็นพื้นที่ไม่มากนัก และเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต การให้รื้อถอนจะทําให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของทางราชการ

          คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กรมทางหลวงกระทําละเมิดโดยก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และต้องรับผิดเพียงใด

          ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อกรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทําสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทําการปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชนและทําระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ซึ่งตามบัญชีเขตทางเดิมกว้างข้างละ 20 เมตร ทั้งที่ในความเป็นจริงเขตทางมีความกว้างน้อยกว่า 20 เมตร ทําให้ผู้รับจ้างปรับปรุงทางรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้เขตทางกว้างข้างละ 20 เมตร ตามที่กําหนดในสัญญา ดังนั้น เมื่อกรมทางหลวงยังไม่ได้ทําการเวนคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายทางหลวงว่า “เมื่อมีความจําเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดําเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์” รวมทั้งยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว และไม่มีหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้อุทิศที่ดินส่วนพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์หรือมีหลักฐานการมอบอํานาจของผู้ฟ้องคดีให้บุคคลใดดําเนินการเช่นว่านั้น

          กรณีจึงเป็นการกระทําละเมิดทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามนัยมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ขอที่ดินคืนในสภาพเดิม และไม่ประสงค์จะขายที่ดินให้แก่กรมทางหลวง ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางเท้าและท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยคํานึงถึงความเหมาะสม ความจําเป็น และดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแล้ว การทําให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำออกนั้น มิได้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะแต่ประการใด เนื่องจากเมื่อรื้อถอนในส่วนที่รุกล้ำแล้วยังคงเหลือทางเท้าและท่อระบายน้ำขนาดกว้างเพียงพอที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้
 
          ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้กรมทางหลวงดําเนินการรื้อถอน
ทางเท้าและท่อระบายน้ำส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกําหนด (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 58/2565

28 กุมภาพันธ์ 2567

คนไร้ความสามารถ


          คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต ที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล และศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 28 ดังนั้น แม้จะเป็นบุคคลวิกลจริต แต่ถ้าศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ทั้งนี้ บุคคลไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล เพื่อทำหน้าที่อนุบาลดูแลคนไร้ความสามารถ และทำนิติกรรมต่างๆแทนคนไร้ความสามารถ

          อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นบุคคลวิกลจริต
          บุคคลวิกลจริต มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537)


          โรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ เป็นบุคคลวิกลจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537  คำว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่าจ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ. ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2527 คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว 
          มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 490/2509 ประชุมใหญ่)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2509 (ประชุมใหญ่)  คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารประกอบกิจการงานของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว
          ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใด ๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว.

          ผู้ที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถ
          (1) คู่สมรส 
          (2) บุพการี ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด 
          (3) ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
          (4) ผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้
          (5) ผู้พิทักษ์ สำหรับผู้พิทักษ์นี้คือผู้มีหน้าที่ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หากคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นวิกลจริต ผู้พิทักษ์ก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถได้ 
          (6) ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ คือผู้ที่ปกครองดูแลบุคคลวิกลจริตนั้นอยู่
          (7) พนักงานอัยการ 
          บุคคล 7 ประเภทข้างต้นเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ บุคคลอื่นนอกจากนี้ไม่มีสิทธิ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2534   โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่รับรองแล้วของ ส. เป็นผู้สืบสันดานของ ส.มีสิทธิรับมรดกของส. กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้ ส. ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 29 (เดิม) ได้ และโดยนัยเดียวกัน แม้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของ ส. ตามคำสั่งศาลอยู่แล้วก็ตาม ถ้า มีเหตุอันสมควร โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อนุบาลต่อไปได้.

          ความสามารถในการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
          นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม จะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทนเท่านั้น ตามมาตรา 29
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530  จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม

          เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

          สำหรับนิติกรรมที่ต้องทำเป็นการเฉพาะตัว เช่น การสมรส การทำพินัยกรรม นั้นกฎหมายห้ามทำทั้งหมด
          มาตรา 1449 ."การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 1704 วรรคหนึ่ง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ"
          แต่มีข้อสังเกตุว่า กรณีคนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถย่อมถือว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้มีความสามารถเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป จึงสามารถทำนิติกรรมใดๆได้โดยสมบูรณ์ เว้นแต่ จะเป็นโมฆียะได้ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นในขณะที่ผู้นั้นวิกลจริตอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่ว่าผู้นั้นเป็นคนวิกลจริต ตามมาตรา 30
          มาตรา 1704 วรรคสอง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่"

          ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ
          ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว การสิ้นสุดแห่งการเป็นคนไร้ความสามารถ จะมีได้ในกรณีที่เมื่อศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นเสีย โดยการที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการร้องขอ ตามมาตรา 31