03 เมษายน 2567

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

         มาตรา 276  "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท 
        ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
         ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต 
         ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้"

         มาตรา 1 (18) กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
              



         ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง 
         ข่มขืน หมายถึง การข่มขืนใจ คือ กระทำชำเราผู้อื่นโดยที่เขาไม่ได้สมัครใจ หากสมัครใจยินยอมก็มิใช่การข่มขืน 


         วิธีการที่ใช้ข่มขืน ได้แก่

         (1) โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2544  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยและผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีโดยจำเลยขับรถพาผู้เสียหายไป เมื่อจำเลยจอดรถแล้วบังคับให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้า ผู้เสียหายไม่ยอมถอด จำเลยบอกว่าหากไม่ถอดจะยัดเยียดข้อหายาบ้าให้และต่อมาจำเลยหยิบอาวุธปืนมาขู่ ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงยอมให้จำเลยกระทำชำเรา แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนขู่ผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืนจนผู้เสียหายเกิดความกลัวเท่านั้น ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ขู่ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นอาวุธปืนตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ หรือไม่ และตามผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าอาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนพกอัดลมชนิดใช้ยิงกับลูกกระสุนพลาสติกทรงกลมขนาด 6 มม. ซึ่งใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุไม่ได้ มิใช่อาวุธปืนตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง มิใช่วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2549  การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          ผู้เสียหายทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของจำเลยและถูกจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่ยิมยอมให้จำเลยกระทำชำเราจะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ผู้เสียหายอยู่ในภาวะเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้ขัดขืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของตนได้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา

         (2) โดยใช้กำลังประทุษร้าย
          ผู้ที่ช่วยกันจับแขนจับขาหญิงไว้ให้คน 1 คนทำการข่มขืนชำเรานั้นมีผิดฐานเป็นตัวการในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราด้วย
          ผู้เสียหายเป็นหญิงอายุ 16 ปี ถูกคนร้ายหลายคนผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเรา โดยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยให้ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำชำเรา ในสภาพเช่นนั้นผู้เสียหายย่อมจำคนร้ายไม่ได้ทั้งหมด แต่เฉพาะจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายที่คุมตัวผู้เสียหายลงไปปัสสาวะข้างล่างเมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีได้ไล่จับเป็นคนร้ายที่จับผู้เสียหายกดน้ำ ต่อย ท้อง และเอาผู้เสียหายขึ้นไปข่มขืนกระทำชำเรา โดยในระหว่างข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยยังได้ลุกจากตัวผู้เสียหายไปถีบ ด. ตก จากบันไดกระต๊อบด้วย การที่ผู้เสียหายจำจำเลยได้จึงมิใช่เรื่องผิดปกติวิสัย

         (3) โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
         ชำเราหญิงขณะเมาสุราหมดสติ อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2554 ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ได้ขัดขืนเพราะเห็นว่าจำเลยเป็นบิดา แต่ให้การตามบันทึกคำให้การต่อหน้าบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอ พนักงานอัยการ และนักสังคมสงเคราะห์ว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ร้องขอไม่ให้จำเลยทำ จำเลยไม่ฟังและผู้เสียหายก็มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่มีแรงที่จะขัดขืน ผู้เสียหายเป็นบุตรจำเลยและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายยังรักจำเลยและไม่ประสงค์จะเอาเรื่องจำเลย เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อกว่าคำเบิกความ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าแต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ประกอบกับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่บุตรจะยินยอมให้บิดากระทำชำเรา คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงมีเหตุผลหนักแน่นรับฟังได้
          ผู้เสียหายที่ 1 ยอมให้จำเลยกระทำชำเราเพราะหลงเชื่อในอุบายของจำเลยที่ทำนายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ดวงชะตาไม่ดี จะต้องทำพิธีกรรมเพื่อสะเดาะเคราะห์เพื่อที่บิดาผู้เสียหายทั้งสองที่เลิกรากับมารดาผู้เสียหายทั้งสองจะส่งเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 แสดงว่าผู้เสียหายที่ 1 เยาว์วัยอ่อนต่อโลก มีความโง่เขลาเบาปัญญาหลงเชื่ออย่างงมงายว่าจำเลยสามารถทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาจนส่งเสริมให้บิดาส่งเงินมาให้ได้ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายที่ 1 ยอมให้จำเลยกระทำชำเราหลายครั้งมิได้เกิดจากความสมัครใจและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การที่จำเลยเลิกเสื้อของผู้เสียหายที่ 1 ขึ้น ใช้ปากกาเขียนที่หน้าอกที่ตัว และใช้น้ำมันทาตัวผู้เสียหายที่ 1 ถอดกางเกงของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ชักเข้าชักออกจนสำเร็จความใคร่ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

        (4) โดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น คือ ทำให้ผู้อื่นสำคัญผิดในตัวบุคคลเป็นคนละคน


        การกระทำชำเรา
        มาตรา 1 (18) กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
         ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 เป็นเพียงการขยายขอบเขตของการกระทำชำเราในส่วนของอวัยวะที่ถูกกระทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อวัยวะเพศ จะเป็นที่ทวารหนักหรือที่ช่องปากก็ได้ และสิ่งที่ใช้ในการกระทำไม่จำเป็นต้องเป็นอวัยวะเพศเท่านั้น จะเป็นสิ่งอื่นใดก็ได้ ดังนั้น การกระทำชำเราไม่ว่าเป็นการกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นจึงยังคงต้องมีการสอดใส่อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดให้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเพียงการสัมผัสภายนอกกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นไม่ว่าด้วยอวัยวะส่วนใดหรือด้วยวัตถุสิ่งใดก็จะเป็นการกระทำชำเราไปเสียทั้งหมด

         เหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้น 
         มาตรา 276 วรรคสาม  "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต"

          (1) ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด
          จำเลยข่มขืนชำเราหญิง โดยพวกของจำเลยมีปืนบังคับไม่ให้คนอื่นช่วยหญิง จำเลยร่วมกระทำกับพวกที่มีอาวุธปืนจำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นตาม มาตรา 276 วรรค 2 (มาตรา 276 วรรคสาม (ใหม่))

          (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน
          
          การโทรมหญิง(หรือชาย) ต้องมีการผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราตั้งแต่สองคนขึ้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8412/2557  พวกของจำเลยได้ร่วมกับจำเลยหามผู้เสียหายขึ้นไปในห้องบนชั้นสองเพื่อที่จะข่มขืนกระทำชำเรามาตั้งแต่แรก ครั้นจำเลยข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและออกจากห้องลงไปชั้นล่าง พวกของจำเลยเดินขึ้นมาและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อทันทีในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยกับพวกรู้กันโดยให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนแรก พวกของจำเลยเป็นคนที่สอง ถือได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7346/2557  การที่ ต. กระชากมือดึงผู้เสียหายเข้าไปในห้องทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อ ต. ออกจากห้อง จำเลยก็เข้าไปในห้องทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อ และเมื่อจำเลยออกจากห้อง ต. กับ ป. พวกของจำเลยก็พากันเข้าไปในห้องร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีก พฤติการณ์การข่มขืนกระทำชำเราเช่นนี้ แม้ว่าผู้กระทำมิได้อยู่ในห้องในขณะที่คนหนึ่งข่มขืนกระทำชำเราอยู่ แต่จำเลยกับพวกได้กระทำในลักษณะติดต่อกัน จึงเป็นการสมคบกันกระทำความผิด อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
            
            เหตุบรรเทาโทษกรณีเป็นการกระทำผิดระหว่างคู่สมรสและยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกัน
            มาตรา 276 วรรคสี่ "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้"

           มาตรา 281  "ความผิดตามมาตราดังต่อไปนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้
          (1) มาตรา 276 วรรคหนึ่ง และมาตรา 278 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย
           (2) มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 และมาตรา 285/2"

          ตัวการร่วมกระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2564 ขณะจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องในห้อง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 หรือ ก. ได้รออยู่หน้าห้องเพื่อจะเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนต่อไปอันมีลักษณะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน หลังจากจำเลยที่ 1 ออกไปนอกห้องแล้วก็ไม่มีผู้ใดเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องอีกจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นถึงได้มี ก. เข้าไปขอร่วมประเวณีกับผู้ร้อง 1 ครั้ง ซึ่งการกระทำของ ก. ห่างจากการข่มขืนกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 หลายชั่วโมง การกระทำของจำเลยที่ 1 และ ก. จึงมิใช่เป็นการร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก 
          ขณะจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องในสวนปาล์ม จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณดังกล่าวจนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จและพาผู้ร้องออกมา จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ร่วมกันพาผู้ร้องไปที่บ้านร้างเกิดเหตุต่อ ครั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราอีกครั้งในบ้านร้าง จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณบ้านและรับรู้การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตลอด ตามพฤติการณ์ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 276 วรรคแรก เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13673/2557  ความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้นจะต้องมีลักษณะของการสมคบกันมาแต่ต้น และขณะเกิดเหตุได้ผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงด้วย แต่ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันสมคบคิดมาแต่ต้นกันอย่างไร และไม่ปรากฏว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยทั้งสามได้ตกลงให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รออยู่นอกห้องนอนเพื่อให้จำเลยที่ 2 รอที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นคนถัดไป ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้พูดขอมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ร่วมที่ 1 ในลักษณะขอความยินยอมจากโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อน เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ยินยอมจำเลยที่ 2 จึงใช้กำลังข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 แต่ไม่สำเร็จ หากจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 มาแต่ต้น จำเลยที่ 2 คงจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ในทันทีที่พบ คงไม่รั้งรอเพื่อพูดขอร่วมเพศกับโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วยความสมัครใจของโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อน พฤติการณ์แห่งคดียังไม่อาจรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามร่วมกันผลัดเปลี่ยนข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม แต่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา และฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกผู้อื่นกระทำความผิดดังกล่าวตามลำดับ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์โดยมีบันทึกการชดเชยเยียวยาให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองแนบท้ายอุทธรณ์ มีข้อความว่า โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามอีกต่อไป จึงถือได้ว่ามีการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันแล้ว ย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

                   ***** นับตั้งแต่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เปลี่ยนเป็นความผิดอาญาแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยผลของประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่มาตรา 281 คงเหลือให้เป็นความผิดยอมความได้เฉพาะการข่มขืนระหว่างคู่สมรสในบางพฤติการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น  *****





ฉ้อโกงแรงงาน

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 344  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดของมาตรา 344

          1. หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม
          2. โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน

           และต้องกระทำโดย
          1. เจตนาธรรมดา
          2. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)

          การหลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา 344 ไม่จำเป็นต้องหลอกลวงครั้งเดียวครบสิบคน แม้จะหลอกลวงมาครั้งละคนสองคนจนกระทั่งครบสิบคน ถ้าหากผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงให้ได้ครบสิบคนมาตั้งแต่แรกแล้วก็มีความผิดเช่นเดียวกัน


          หลอกลวงรับสมัครงาน แต่ความจริงไม่มีงานให้ทำ ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2510   ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ที่ถูกหลอกให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน ฯลฯ  เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยหลอกเพื่อให้ส่งเงินเท่านั้น ไม่ได้หลอกให้ทำงาน เพราะไม่มีงานให้ทำ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามมาตรา 344 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2539  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผลคือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้กระทำในนามบริษัท โดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดี การคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้วก็ดี ล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อให้มาทำงาน เพราะความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้มีการทำงานในช่วงแรก ๆ และจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตาม ป.อ. มาตรา 344 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

          ถ้าไม่มีเจตนาทุจริตในขณะตกลงกัน แต่มีเหตุขัดข้องในภายหลังทำให้จำเลยไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2506  ความผิดฐานฉ้อโกงค่าจ้างแรงงานตามประมวลกฎมายอาญามาตรา 344 นั้นจะต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายในขณะที่ตกลงจะให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตนโดยเจตนาจะไม่ใช่ค่าแรงงาน หรือค่าจ้างหรือจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลง จึงจะเป็นความผิดได้ ถ้าหากไม่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเช่นนั้นในขณะที่จะตกลงกัน แต่เป็นเรื่องตกลงกันมาแล้ว จึงมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่อาจใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น จะปรับบทเป็นความผิดทางอาญาหาได้ไม่

          พนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3303/2531  ในคดีฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ในทางแพ่ง

          เมื่อจำเลยมีเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังทำงานไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการทำงานนั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556  คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว


ความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามมาตรา 148

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 148  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"

          ความผิดตามมาตรา 148

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          เจ้าพนักงานในที่นี้ก็มีความหมายเช่นเดียวกับมาตราอื่นๆ คือ มีกฎหมายแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานหรือเป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนประเภทงบประมาณแล้วก็มีหน้าที่เพื่อการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4512/2536   จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้เป็นเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายจากอุทกภัย แล้วให้ทำเรื่องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงิน แม้ต่อมาทางราชการได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายโดยไม่มีจำเลยเป็นกรรมการด้วยก็ตาม แต่คำสั่งในภายหลังก็ไม่มีการยกเลิกเพิกถอนหน้าที่ของจำเลยตามที่นายอำเภอมีคำสั่ง จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
          แต่การกระทำการนอกหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ย่อมไม่ใช่เจ้าพนักงานเพื่อการนั้น



          (2) ต้องเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ คือ เริ่มต้นโดยการใช้อำนาจมิชอบ
          ถ้าเป็นการใช้อำนาจนอกตำแหน่งก็ไม่เข้าองค์ประกอบข้อนี้ เพราะไม่ใช่การใช้อำนาจในตำแหน่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119-120/2518   ล. เลขานุการแขวงมีหน้าที่ตรวจสอบภาษีบำรุงท้องที่ว่ารายการถูกต้องหรือไม่ พูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสียภาษีแล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสีย ล. ไม่มีหน้าที่รับเงินไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 148 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2532  จำเลยได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานด้านธุรการ ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยกระทำมิชอบเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,157 และ 162 จำเลยจึงไม่อาจกระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้
          ความผิดตามมาตรา 148 นี้ต้องเป็นการเริ่มต้นจากการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หากเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยชอบแล้วมารับสินบนในภายหลังก็จะไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่จะเป็นความผิดตามมาตรา 149
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2505  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ลงโทษเจ้าพนักงานผู้เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินโดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำแหน่งของตน แต่จำเลยแกล้งจับผู้เสียหายมาแล้วขู่เอาเงิน จึงเป็นความผิด  มาตรา 148 ไม่ใช่ 149
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2545  พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ 30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน 3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
          เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2539   จำเลยที่ 1 กับพวกอีกหนึ่งคนมาที่บ้านผู้เสียหายแนะนำตัวว่าชื่อร้อยตำรวจโท อ.มาจากกองปราบปรามมาทำงานโดยขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายและถามผู้เสียหายว่าจะให้เท่าใด ผู้เสียหายเป็นนักการพนันเข้าใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมาขอเงินกลัวจะถูกจับกุม เพราะในบ้านของผู้เสียหายมีการลักลอบเล่นการพนันเป็นประจำ จึงบอกว่าจะให้ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ขอ 15,000 บาท ผู้เสียหายจึงให้เงินจำนวนดังกล่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้แกล้งกล่าวหาผู้เสียหายในข้อหาใด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแต่ประการใด จำเลยที่ 1 เพียงแต่พูดขอเงินค่าใช้จ่ายเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการอันใดอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน จำเลยที่ 1 ยังไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 148
          จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก ส.และ อ.ผู้เสียหายแต่ละรายหากไม่ยอมให้เงินจะจับกุม จนผู้เสียหายทั้งสองรายกลัวจึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 1 แม้ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของผู้เสียหายทั้งสองรายนี้ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายหลายรายในเวลาไล่เลี่ยกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด ข่มขืนใจและจูงใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องเอาเงินเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองราย หากไม่ยอมให้จะจับกุมจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามป.อ. มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตามป.อ. มาตรา 337
          จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก พ. ผู้เสียหายโดยกล่าวในทำนองว่าถ้าไม่ให้เงินจะทำการจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี พ.ตกลงให้เงินแก่จำเลยที่ 1 เพราะ พ.เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการคุมผู้หญิงที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีในเขตอำเภอสุไหงโกลก และ พ.ตกลงให้เงินเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในพวกสมาชิกหญิงที่มีอาชีพรับจ้างค้าประเวณี ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก พ.ผู้เสียหาย หากไม่ยอมให้จะจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี ซึ่งอยู่ในความดูแลของพ.ผู้เสียหาย โดยพฤติการณ์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1 มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้ พ.ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมหญิงค้าประเวณีซึ่งอยู่ในความดูแลของ พ. ผู้เสียหายทั้งที่ไม่ปรากฏว่าขณะข่มขู่ดังกล่าวมีการค้าประเวณีกันจริง กรณีจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตาม ป.อ.มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 337
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2547   แม้ว่าจำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน แต่การที่จำเลยแนะนำผู้เสียหายว่าต้องดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนและรับติดต่อทนายความเพื่อดำเนินการร้องขอจัดการมรดกนั้นหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 157 ไม่

          (3) ข่มขืนใจ หรือจูงใจผู้อื่น
          กรณีข่มขืนใจ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2536   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้ทั่วราชอาณาจักร ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ในขณะที่ผู้เสียหายกำลังเลื่อยไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มี น.ส.3 ของตนเอง ซึ่งถือว่ามีสิทธิกระทำได้โดยชอบ ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้เสียหายขัดขวางในการที่จำเลยกับพวกจะยึดเอาเลื่อยยนต์ของผู้เสียหายไป เป็นการกระทำที่ข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวก จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553   จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก
          กรณีจูงใจ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2530   จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดมหาวิทยาลัย ร. มีหน้าที่ปฏิบัติงานช่าง เขียนแบบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายจำเลยได้รับแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยให้มีหน้าที่ควบคุมและตรวจงานก่อสร้างที่พักสำหรับนักศึกษา แล้วรายงานผลให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบ ซึ่งจำเลยอาจรายงานในทางให้คุณหรือให้โทษ โดยเกี่ยงงอน ว่างานงวดสุดท้ายที่จำเลยเรียกร้องเงินจาก พ. ตัวแทนของผู้รับจ้างในการที่จำเลยจะลงนามตรวจผ่านให้นั้นยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาจ้างก็ได้ จึงถือได้ว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจเพื่อให้ พ. ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าเรียกร้องให้ผู้อื่นและได้มีการส่งมอบเงินให้จำเลยหลังจากที่คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานไว้แล้วก็ตาม.

          (4) เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น
          แม้จะหยิบเอาเองก็หมายถึงมอบให้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2506 (ประชุมใหญ่)  จำเลยเป็นตำรวจประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ พากันไปแกล้งจับผู้เสียหายที่จังหวัดนครนายก หาว่าเล่นสลากกินรวบ ขอค้นบ้าน แล้วงัดลิ้นชักโต๊ะหยิบเอาเงินและปืนไปเพื่อประโยชน์แก่ตนดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะหยิบเอาเงินและปืนนั้นไปเองก็ดี แต่เมื่อเป็นเพราะเหตุที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ผู้เสียหายจึงไม่กล้าแย่งคืน หรือเพราะผู้เสียหายอาจจะเข้าใจว่าจำเลยเอาไปเป็นวัตถุพยาน ดังนั้น จึงถือได้ว่า ผู้เสียหายได้มอบให้แก่จำเลยตามความหมายของมาตรานี้แล้ว และเมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 148 แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงมาตรา 157 อันเป็นบทลงโทษทั่วไปซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่าอีก 

          (5) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)
          ถ้าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำนั้นก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2524   จำเลยที่ 1 (ผู้ใหญ่บ้าน) ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นคนร้ายลักไก่งวง แล้วจำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ทั้งสี่มาเพื่อพูดจาตกลงกันถึงเรื่องความเสียหายฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ไกล่เกลี่ยให้โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตกลงกันเรื่องค่าเสียหายเพื่อให้คดีเลิกแล้วกันนั้น ไม่ใช่เรื่องจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตเพื่อขู่เอาเงินจากโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 173/2510)



24 มีนาคม 2567

การสอบสวนทางวินัย บุคคลซึ่งเคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมาก่อน ได้เข้าประชุม อ.ก.พ. กรมฯด้วยอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง มติ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ที่ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี ออกจากราชการเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

               การดำเนินการสอบสวนทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่ปรากฏที่บัญญัติถึงกรณีความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ไว้ แต่เมื่อการพิจารณาความผิดทางวินัย ถือเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงต้องนำหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาบังคับใช้เพื่อประกันความเป็นธรรมให้กับคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
               การพิจารณาความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 13 หรือมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังเช่น กรณีที่มีการกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีการดำเนินการทางวินัยตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จนกระทั่งมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่ปรากฏว่าหนึ่งในอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนเป็นคนเดียวกับประธานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาความผิดทางวินัยในเรื่องเดียวกันด้วย จะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีเหตุอันมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อันเป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
               ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษากรณีดังกล่าวไว้
               คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.795/2555  ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (อธิบดีกรมการจัดหางาน) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่เรียกรับเงินจากนายจ้างคนงานต่างด้าว โดยมีนาย พ. เป็นประธานกรรมการสอบสวน และคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงควรลงโทษไล่ออกจากราชการ หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีได้รับรายงานแล้วก็ได้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานพิจารณา ซึ่งในการประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน นาย พ. ได้เข้าประชุม ในฐานะ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานด้วย และที่ประชุมมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงมีคำสั่งตามมติดังกล่าว
               ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับมติจึงได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ. และหลังจาก ก.พ. มีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่าการสอบสวนไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี
               ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า มติ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ที่ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการเข้าประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางานของนาย พ. ซึ่งเคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมาก่อนมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามนัยมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 
               ผู้ถูกฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยโต้แย้งว่าการประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ต้องให้กรรมการสอบสวนผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการประชุมด้วยเพื่อชี้แจงตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยของ อ.ก.พ. เนื่องจากเป็นผู้รู้รายละเอียดในสำนวนการสอบสวนและมีเอกสารการสอบสวนจำนวนมากและนาย พ. ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับกรณีดังกล่าว
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุไม่มีบทบัญญัติและก.พ. ก็ไม่ได้ออกกฎ ก.พ. ไว้ว่า การประชุมของ อ.ก.พ. กรม จะต้องดำเนินการเช่นใด และบุคคลใดมีสิทธิเข้าร่วมประชุมหรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาใช้บังคับตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อการพิจารณากรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ซึ่งถือว่าเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อ.ก.พ. ผู้ทำการพิจารณาจะต้องมีความเป็นกลางหรือไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ ตามมาตรา 13 หรือกรณีมีเหตุอื่น ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง เมื่อนาย พ. เข้าร่วมประชุม อ.ก.พ. กรมการจัดหางานในฐานะ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน มิได้เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงตอบข้อซักถามข้อสงสัยของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน และนาย พ. เคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีมาก่อนและเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการอันเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ทั้ง อ.ก.พ.กรมการจัดหางานก็มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งหากมีมติเป็นประการใด ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติดังกล่าว ดังนั้น นาย พ. ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิมตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ อันเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ย่อมเป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้การพิจารณาทางปกครองของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มีผลให้มติ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน และคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               โดยสรุปศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักว่า อ.ก.พ. กรม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและมติของ อ.ก.พ. กรม มีผลทำให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติดังกล่าว อ.ก.พ. กรม จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองและการประชุม อ.ก.พ. กรม เป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมเป็น อ.ก.พ. กรม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง จึงต้องมีความเป็นกลางตามนัยมาตรา 13 และมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  หากเจ้าหน้าที่มีความไม่เป็นกลางย่อมส่งผลโดยตรงต่อการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมย่อมจะส่งผลให้คำสั่งทางปกครองที่ผู้มีอำนาจสั่งตามมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

ผู้เช่าเดิมตกลงสนองรับคำมั่นเพื่อต่อสัญญาเช่าโดยไม่รู้ว่าผู้ให้เช่าเสียชีวิตแล้ว ย่อมมีผลผูกพันผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาท ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่

          ป.พ.พ.  มาตรา 169  "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
          การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 360  "บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ"

          สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าผู้เช่าได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญัญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม
          แต่คำมั่นดังกล่าวบังคับได้แค่การต่อสัญญาเช่าครั้งแรกจำนวน 3 ปีที่ผู้เช่าสนองรับโดยไม่รู้ถึงความตายของผู้ให้เช่าเท่านั้น ส่วนการต่อสัญญาเช่าครั้งต่อไปนั้นผู้เช่าทราบถึงความตายของผู้ให้เช่าแล้ว กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ ทายาทย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่ผู้เช่าได้ เมื่อทายาทมีหนังสือไปยังผู้เช่า แจ้งว่าทายาทผู้รับโอนตึกแถวไม่ประสงค์จะให้ผู้เช่าเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า ทายาทย่อมฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1602/2548 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบุตรนาง ป. เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 18657 ตำบลแม่กล่อง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดานาง ป.ซึ่งตกทอดแก่นาง ป.และทายาทอื่น จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทเลขที่ 734/44 ถึง 734/46 รวม 3 คูหา ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว อายุสัญญาเช่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2535 มีเงื่อนไขว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไปโดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี โดยมีนางสาว ร. ในฐานะตัวแทนทายาทของบิดามารดานาง ป.เป็นผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าของอำเภอ เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกกันปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวและตึกแถวพิพาททั้ง 3 คูหา ตกเป็นของนาง ป.ครั้นนาง ป.ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงจดทะเบียนรับมรดกที่ดินและตึกแถวพิพาทมาเป็นของโจทก์เมื่อปี 2533 เมื่อครบอายุสัญญาเช่าในปี 2535 โจทก์ไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้จำเลยและฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมบริวารให้ออกไปจากตึกแถวพิพาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/1537 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทในฐานะผู้เช่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 จำเลยและบริวารจึงอยู่ในตึกแถวพิพาทเรื่อยมา ต่อมาเมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โจทก์ไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยและบริวารยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาท
           คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าโจทก์ต้องให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีก 3 ปี เพราะมีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่เนื่องจากจำเลยสนองรับคำมั่นถายในกำหนด สัญญาเช่าจึงไม่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 หรือไม่ เห็นว่า ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2537 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 11 มีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็น 2 เท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บในการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งผู้เช่าต้องเสียค่าธรรมเนียมในการต่อสัญญาครั้งละ 30,000 บาท ให้แก่ผู้เช่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไป ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่านาง ป.ถึงแก่กรมไปก่อนแล้วกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของนางสาว ร.ตัวแทนของนาง ป.จึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม... ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลตลอดไปไม่ แม้ข้อความในสัญญาเช่า ข้อ 11 จะเป็นคำมั่นที่นาง ป.ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าต่อไปและตกทอดแก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้ายสุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งได้ความตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2537 ของศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า นาง ป.ถึงแก่ความตายแล้ว ตึกแถวพิพาทจึงจกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาท โดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาดังกล่าวไปจากศาลชั้นต้นในวันเดียวกัน แสดงว่าจำเลยทราบตั้งแต่ขณะนั้นแล้วว่านาง ป.ถึงแก่ความตายแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทตามเอกสารหมาย ล.2 ไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากวว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย ดังนั้น คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.2 จึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลย 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.14 แจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า ดังนั้น สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่อสัญญาเช่าตามคำพิพากษาในคดีก่อน จำเลยและบริวารจึงไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทภายหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้