3 เม.ย. 2567

ฉ้อโกงแรงงาน

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 344  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดของมาตรา 344

          1. หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม
          2. โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน

           และต้องกระทำโดย
          1. เจตนาธรรมดา
          2. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)

          การหลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา 344 ไม่จำเป็นต้องหลอกลวงครั้งเดียวครบสิบคน แม้จะหลอกลวงมาครั้งละคนสองคนจนกระทั่งครบสิบคน ถ้าหากผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงให้ได้ครบสิบคนมาตั้งแต่แรกแล้วก็มีความผิดเช่นเดียวกัน


          หลอกลวงรับสมัครงาน แต่ความจริงไม่มีงานให้ทำ ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2510   ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ที่ถูกหลอกให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน ฯลฯ  เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยหลอกเพื่อให้ส่งเงินเท่านั้น ไม่ได้หลอกให้ทำงาน เพราะไม่มีงานให้ทำ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามมาตรา 344 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2539  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผลคือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้กระทำในนามบริษัท โดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดี การคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้วก็ดี ล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อให้มาทำงาน เพราะความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้มีการทำงานในช่วงแรก ๆ และจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตาม ป.อ. มาตรา 344 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

          ถ้าไม่มีเจตนาทุจริตในขณะตกลงกัน แต่มีเหตุขัดข้องในภายหลังทำให้จำเลยไม่สามารถจ่ายค่าจ้างได้ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2506  ความผิดฐานฉ้อโกงค่าจ้างแรงงานตามประมวลกฎมายอาญามาตรา 344 นั้นจะต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายในขณะที่ตกลงจะให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตนโดยเจตนาจะไม่ใช่ค่าแรงงาน หรือค่าจ้างหรือจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลง จึงจะเป็นความผิดได้ ถ้าหากไม่ได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเช่นนั้นในขณะที่จะตกลงกัน แต่เป็นเรื่องตกลงกันมาแล้ว จึงมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่อาจใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น จะปรับบทเป็นความผิดทางอาญาหาได้ไม่

          พนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3303/2531  ในคดีฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ในทางแพ่ง

          เมื่อจำเลยมีเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังทำงานไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการทำงานนั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556  คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว