มาตรา 148 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"
ความผิดตามมาตรา 148
(1) เป็นเจ้าพนักงาน
เจ้าพนักงานในที่นี้ก็มีความหมายเช่นเดียวกับมาตราอื่นๆ คือ มีกฎหมายแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานหรือเป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนประเภทงบประมาณแล้วก็มีหน้าที่เพื่อการนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4512/2536 จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้เป็นเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายจากอุทกภัย แล้วให้ทำเรื่องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงิน แม้ต่อมาทางราชการได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายโดยไม่มีจำเลยเป็นกรรมการด้วยก็ตาม แต่คำสั่งในภายหลังก็ไม่มีการยกเลิกเพิกถอนหน้าที่ของจำเลยตามที่นายอำเภอมีคำสั่ง จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
แต่การกระทำการนอกหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ย่อมไม่ใช่เจ้าพนักงานเพื่อการนั้น
ถ้าเป็นการใช้อำนาจนอกตำแหน่งก็ไม่เข้าองค์ประกอบข้อนี้ เพราะไม่ใช่การใช้อำนาจในตำแหน่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119-120/2518 ล. เลขานุการแขวงมีหน้าที่ตรวจสอบภาษีบำรุงท้องที่ว่ารายการถูกต้องหรือไม่ พูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสียภาษีแล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสีย ล. ไม่มีหน้าที่รับเงินไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 148 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 157
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2532 จำเลยได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานด้านธุรการ ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยกระทำมิชอบเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,157 และ 162 จำเลยจึงไม่อาจกระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้
ความผิดตามมาตรา 148 นี้ต้องเป็นการเริ่มต้นจากการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หากเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยชอบแล้วมารับสินบนในภายหลังก็จะไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่จะเป็นความผิดตามมาตรา 149
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2505 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ลงโทษเจ้าพนักงานผู้เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินโดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำแหน่งของตน แต่จำเลยแกล้งจับผู้เสียหายมาแล้วขู่เอาเงิน จึงเป็นความผิด มาตรา 148 ไม่ใช่ 149
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2545 พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ 30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน 3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2539 จำเลยที่ 1 กับพวกอีกหนึ่งคนมาที่บ้านผู้เสียหายแนะนำตัวว่าชื่อร้อยตำรวจโท อ.มาจากกองปราบปรามมาทำงานโดยขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายและถามผู้เสียหายว่าจะให้เท่าใด ผู้เสียหายเป็นนักการพนันเข้าใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมาขอเงินกลัวจะถูกจับกุม เพราะในบ้านของผู้เสียหายมีการลักลอบเล่นการพนันเป็นประจำ จึงบอกว่าจะให้ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ขอ 15,000 บาท ผู้เสียหายจึงให้เงินจำนวนดังกล่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้แกล้งกล่าวหาผู้เสียหายในข้อหาใด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแต่ประการใด จำเลยที่ 1 เพียงแต่พูดขอเงินค่าใช้จ่ายเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการอันใดอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน จำเลยที่ 1 ยังไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 148
จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก ส.และ อ.ผู้เสียหายแต่ละรายหากไม่ยอมให้เงินจะจับกุม จนผู้เสียหายทั้งสองรายกลัวจึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 1 แม้ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของผู้เสียหายทั้งสองรายนี้ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายหลายรายในเวลาไล่เลี่ยกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด ข่มขืนใจและจูงใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องเอาเงินเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองราย หากไม่ยอมให้จะจับกุมจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามป.อ. มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตามป.อ. มาตรา 337
จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก พ. ผู้เสียหายโดยกล่าวในทำนองว่าถ้าไม่ให้เงินจะทำการจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี พ.ตกลงให้เงินแก่จำเลยที่ 1 เพราะ พ.เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการคุมผู้หญิงที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีในเขตอำเภอสุไหงโกลก และ พ.ตกลงให้เงินเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในพวกสมาชิกหญิงที่มีอาชีพรับจ้างค้าประเวณี ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก พ.ผู้เสียหาย หากไม่ยอมให้จะจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี ซึ่งอยู่ในความดูแลของพ.ผู้เสียหาย โดยพฤติการณ์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1 มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้ พ.ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมหญิงค้าประเวณีซึ่งอยู่ในความดูแลของ พ. ผู้เสียหายทั้งที่ไม่ปรากฏว่าขณะข่มขู่ดังกล่าวมีการค้าประเวณีกันจริง กรณีจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตาม ป.อ.มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 337
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2547 แม้ว่าจำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน แต่การที่จำเลยแนะนำผู้เสียหายว่าต้องดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนและรับติดต่อทนายความเพื่อดำเนินการร้องขอจัดการมรดกนั้นหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 157 ไม่
กรณีข่มขืนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2536 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้ทั่วราชอาณาจักร ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ในขณะที่ผู้เสียหายกำลังเลื่อยไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มี น.ส.3 ของตนเอง ซึ่งถือว่ามีสิทธิกระทำได้โดยชอบ ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้เสียหายขัดขวางในการที่จำเลยกับพวกจะยึดเอาเลื่อยยนต์ของผู้เสียหายไป เป็นการกระทำที่ข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวก จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก
กรณีจูงใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2530 จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดมหาวิทยาลัย ร. มีหน้าที่ปฏิบัติงานช่าง เขียนแบบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายจำเลยได้รับแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยให้มีหน้าที่ควบคุมและตรวจงานก่อสร้างที่พักสำหรับนักศึกษา แล้วรายงานผลให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบ ซึ่งจำเลยอาจรายงานในทางให้คุณหรือให้โทษ โดยเกี่ยงงอน ว่างานงวดสุดท้ายที่จำเลยเรียกร้องเงินจาก พ. ตัวแทนของผู้รับจ้างในการที่จำเลยจะลงนามตรวจผ่านให้นั้นยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาจ้างก็ได้ จึงถือได้ว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจเพื่อให้ พ. ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าเรียกร้องให้ผู้อื่นและได้มีการส่งมอบเงินให้จำเลยหลังจากที่คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานไว้แล้วก็ตาม.
(4) เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น
แม้จะหยิบเอาเองก็หมายถึงมอบให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2506 (ประชุมใหญ่) จำเลยเป็นตำรวจประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ พากันไปแกล้งจับผู้เสียหายที่จังหวัดนครนายก หาว่าเล่นสลากกินรวบ ขอค้นบ้าน แล้วงัดลิ้นชักโต๊ะหยิบเอาเงินและปืนไปเพื่อประโยชน์แก่ตนดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะหยิบเอาเงินและปืนนั้นไปเองก็ดี แต่เมื่อเป็นเพราะเหตุที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ผู้เสียหายจึงไม่กล้าแย่งคืน หรือเพราะผู้เสียหายอาจจะเข้าใจว่าจำเลยเอาไปเป็นวัตถุพยาน ดังนั้น จึงถือได้ว่า ผู้เสียหายได้มอบให้แก่จำเลยตามความหมายของมาตรานี้แล้ว และเมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 148 แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงมาตรา 157 อันเป็นบทลงโทษทั่วไปซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่าอีก
ถ้าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำนั้นก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2524 จำเลยที่ 1 (ผู้ใหญ่บ้าน) ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นคนร้ายลักไก่งวง แล้วจำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ทั้งสี่มาเพื่อพูดจาตกลงกันถึงเรื่องความเสียหายฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ไกล่เกลี่ยให้โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตกลงกันเรื่องค่าเสียหายเพื่อให้คดีเลิกแล้วกันนั้น ไม่ใช่เรื่องจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตเพื่อขู่เอาเงินจากโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 173/2510)