05 มีนาคม 2567

การใช้สิทธิเกินส่วน ซึ่งก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เป็นละเมิด


          เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิอย่างอื่นในที่ดินนั้น ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้สิทธิของตนในที่ดินนั้นได้อย่างเสรีโดยปราศจากขอบเขต โดยการใช้สิทธินั้นจะต้องไม่ไปกระทบสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นที่ใกล้เคียง ซึ่งกฎหมายได้ให้การคุ้มครองไว้

          มาตรา 421  การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
          มาตรา 1337  บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป  ทั้งนี้ ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน

          การใช้สิทธิของตนที่ไปกระทบสิทธิบุคคลอื่นหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่น เป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ เช่น การก่อสร้างอาคารที่ไปบังแสงสว่าง บังลมที่จะเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ข้างเคียง การสร้างสิ่งปลูกสร้างปิดบังหน้าที่ดินกระทบการใช้ทางหลวงหรือทางสาธารณะ หรือการใช้สิทธิที่สร้างความเดือดร้อนอย่างอื่นเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559  การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้

          การจัดรายการส่งเสริมการขายที่มิใช่เป็นวิสัยทางการค้าปกติ แต่มีเจตนาจะทำให้บุคคลอื่นต้องได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6599/2559  คดีนี้โจทก์ทั้งสองจัดรายการส่งเสริมการขาย "ผนึกกำลังสนั่นวงการ ช้อปสะใจคืนกำไร 2 ห้าง" โดยแจกคูปองมูลค่า 80 บาท ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองขั้นต่ำ 800 บาท นำมาใช้เป็นส่วนลดราคาสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้เมื่อซื้อสินค้าตั้งแต่ 400 บาท ขึ้นไป จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขายและโฆษณาว่า "ยินดีต้อนรับลูกค้าคาร์ฟูร์ด้วยใจ สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ถือคูปองคาร์ฟูร์ นำมาเพิ่มมูลค่า 2 เท่า เมื่อใช้คู่กับบัตรคลับการ์ด" โดยโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งยังอยู่ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสองจัดรายการส่งเสริมการขาย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงถึงยอดขายของโจทก์ทั้งสอง กรณีนี้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นลงทุนโฆษณาสื่อถึงลูกค้าเพื่อมาซื้อสินค้าของตน ต้องใช้บุคลากรและเงินจำนวนมาก ส่วนจำเลยเพียงแต่อาศัยการโฆษณาของโจทก์ทั้งสองเป็นพื้นฐานแล้วโฆษณาเพิ่มเติมโดยให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่า ง่ายต่อการจูงใจให้ลูกค้านำคูปองมาใช้ที่ห้างของตน เมื่อลูกค้าของโจทก์ทั้งสองนำคูปองของห้างโจทก์ทั้งสองมาซื้อสินค้าที่ห้างของจำเลยแล้ว จำเลยก็จะเก็บคูปองไว้ ทำให้ลูกค้าของห้างโจทก์ทั้งสองไม่มีคูปองที่จะกลับไปซื้อสินค้าครั้งที่สองที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้อีก อันเป็นการทำให้รายการส่งเสริมการขายของห้างโจทก์ทั้งสองไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ลูกค้าที่นำคูปองมาใช้ที่ห้างของจำเลย ก็มิได้รับสิทธิในการใช้คูปองทุกคน โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิในการใช้คูปองคือ ลูกค้าที่ยังไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยและจะต้องสมัครเป็นสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยก่อนที่จะได้รับสิทธิ แม้ลูกค้าที่สมัครสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยแล้ว ยังสามารถเป็นสมาชิกของห้างโจทก์ทั้งสองและกลับไปซื้อสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้ แต่ก็ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่า ห้างของจำเลยให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่าห้างของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นวิสัยทางการค้าปกติ แต่มีเจตนาทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสียหาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421


          สร้างสิ่งปลูกสร้างลงในแนวรั้วและบนทางเท้าโครงการจัดสรร ทำให้โจทก์และประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรของโจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจนเกินสมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15876/2556  แม้การที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างร้านค้าในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะกระทำได้ แต่การที่จำเลยรื้อถอน ทุบ ทำลายรั้วคอนกรีตพิพาทของโจทก์ออก จากนั้นก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างซึ่งบางส่วนอยู่บนแนวรั้วพิพาทของโจทก์และทางเท้าในโครงการจัดสรร เมื่อคำนึงถึงสภาพและตำแหน่งของทรัพย์ที่มาจากการจัดสรรที่ดินของโจทก์ซึ่งต้องลงทุนในการพัฒนาที่ดินและสาธารณูปโภคด้วยเงินจำนวนมาก กับต้องถือว่าประชาชนที่เข้าไปซื้อที่ดินและบ้านทุกคนมีส่วนร่วมกันในการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคดังกล่าวและด้วยความหวังที่ว่าเมื่อเข้าไปอยู่อาศัยแล้วจะได้รับความสะดวกสบายมากกว่าการอยู่อาศัยในที่ดินที่มิได้มีการพัฒนาใด ๆ การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าจะทำให้โจทก์และประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรของโจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจนเกินสมควร โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์และผู้จัดสรรซึ่งดูแลสาธารณูปโภค ย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336, 1337 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          ที่ดินและตึกแถวอยู่ใกล้ทางหลวง แต่มีการสร้างกำแพงทึบสูงถึง 2.70 เมตร ทำให้ชั้นล่างของตึกแถวถูกบดบังและผู้อยู่อาศัยย่อมไม่อาจเห็นทัศนียภาพดังกล่าวได้ ทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสเห็นความเป็นไปบนทางหลวง และผู้สัญจรบนทางหลวงไม่อาจเห็นตึกแถวได้ชัดเจนเช่นกัน ย่อมทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสในการค้าขาย การทำกำแพงคอนกรีตทึบสูง 2.70 เมตร โดยขาดเหตุผล จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15674/2555  จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิกระทำการใด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของจำเลย แต่การใช้สิทธิของจำเลยต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่เพียง 35 ตารางวา เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง มีความกว้างสุดประมาณ 2 เมตร ตามสภาพย่อมไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะบดบังทัศนียภาพหน้าที่ดินที่เป็นตึกแถวตั้งอยู่ได้ ซึ่งทัศนียภาพดังกล่าวเป็นคูน้ำและทางหลวงสายสุพรรณบุรี - ชัยนาท หมายเลข 340 ที่อยู่หน้าที่ดินของจำเลย ส. เจ้าของที่ดินเดิมก็คงคาดหมายเช่นนี้ จึงสร้างตึกแถวขาย แต่เมื่อมีกำแพงทึบสูงถึง 2.70 เมตร ย่อมทำให้ชั้นล่างของตึกแถวถูกบดบังและผู้อยู่อาศัยย่อมไม่อาจเห็นทัศนียภาพดังกล่าวได้ ทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสเห็นความเป็นไปบนทางหลวง และผู้สัญจรบนทางหลวงไม่อาจเห็นตึกแถวได้ชัดเจนเช่นกัน ย่อมทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสในการค้าขาย การที่จำเลยทำกำแพงคอนกรีตทึบสูง 2.70 เมตร โดยขาดเหตุผล จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 421

          จำเลยร่วมกันกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยพิพาทเพื่อประโยชนในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม โดยสะพานลอยพิพาทและซุ้มหลังคาสะพานลอยแทบจะปิดบังอาคารของโจทก์ไปหมดสิ้น เป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2553  การก่อสร้างสะพานลอยพิพาทริเริ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมโดยตรงเพราะในขณะนั้นมิได้เป็นจุดที่มีประชาชนเดินข้ามถนนเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด ลำพังการคาดการณ์ว่าเมื่อสร้างสะพานลอยพิพาทแล้วย่อมต้องมีประชาชนใช้ประโยชน์เป็นจำนวนยังไม่พอฟังว่าการสร้างสะพานลอยพิพาทเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์โดยแท้จริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยพิพาทเพื่อประโยชนในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอันเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันควร อันเป็นละเมิดต่อโจทก์

          สร้างสิ่งปลูกสร้างบนไล่ทาง ปลูกต้นไม้ หรือล้อมรั้วปิดกั้นระหว่างทางสาธารณะและที่ดิน กระทบสิทธิของเจ้าของที่ดินที่จะใช้ทางสาธารณะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552  ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับมอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใดใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดยปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้ เมื่อจำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2551  ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยทำการไถทางแล้วปลูกต้นสักในเส้นทางดังกล่าว ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในการใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ ทั้งไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนเลิกใช้เส้นทางดังกล่าวแล้วเพราะตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโดยทางการก็ยังคงสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2549  คำฟ้องโจทก์ตอนท้ายได้บรรยายแล้วว่า โจทก์ประสงค์จะนำที่ดินไปทำประโยชน์โดยทำเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า จึงให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งบังหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งหมดออกไป และบรรยายฟ้องต่อไปอีกว่า การที่จำเลยไม่รื้อถอนบ้านจำเลยบางส่วนแม้จะปลูกนอกเขตที่ดินโจทก์ แต่บังหน้าที่ดินทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้หน้าที่ดินที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำประโยชน์ได้ ขอให้รื้อถอนบ้านจำเลยบางส่วนออกไปจากหน้าที่ดินพิพาทด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เป็นกรณีที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า การที่จำเลยใช้สิทธิปลูกบ้านในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือควรคาดหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์บังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านที่ปลูกบังหน้าที่ดินโจทก์ทั้งยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนจากจำเลยได้อีก จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9671 - 9675/2544  เมื่อจำเลยใช้สิทธิของตนปลูกบ้านในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินปิดหน้าที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ กรณีต้องบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และ 1337 การที่จำเลยปลูกบ้านอยู่ก่อนก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ผู้มาทีหลังต้องเสียสิทธิดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานอันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์อันเป็นทางสาธารณะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2544  บริษัท ม. จัดสรรพื้นคอนกรีตบนที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลย รวมตลอดถึงด้านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงเป็นทางสำหรับให้บุคคลที่ซื้อบ้านที่บริษัท ม. ได้จัดสรรขายใช้เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินได้ การที่จำเลยให้พนักงานของจำเลยและลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยใช้และนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่ไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่เข้าออกได้แม้เป็นการชั่วคราวแต่ก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และยังเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามมาตรา 1337 อีกด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้

          ปักเสาและก่อรั้วปิดกั้นหน้าที่ดินกระทบถึงสิทธิการใช้ทางที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะของเจ้าของที่ดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2539  ภริยาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้แบ่งขายที่ดินให้ผู้อื่นรวมทั้งโจทก์โดยตกลงยินยอมให้ผู้ซื้อที่ดินใช้ถนนที่ยังเป็นที่ดินของผู้ขายและอยู่ติดที่ดินที่โจทก์ซื้อเพื่อเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้การที่จำเลยก่อรั้วอิฐบล็อกและปักเสาคอนกรีตตามแนวรั้วอิฐบล็อกปิดขวางหน้าที่ดินโจทก์ซื้อตลอดแนวทำให้โจทก์ได้รับความไม่สะดวกในการเข้าออกบ้านโจทก์ในที่ดินที่ซื้อสู่ที่ดินของภริยาจำเลยที่ยังคงอนุญาตให้โจทก์ใช้เพื่อออกสู่ถนนสาธารณะดังที่เคยได้รับเป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรโจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปด้วยการฟ้องคดีให้จำเลยรื้อถอนไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337

          การประกอบกิจการที่ส่งเสียงดังและมีกลิ่นเหม็น การทิ้งสิ่งปฏิกูลส่งกลิ่นเหม็นข้างอาคาร และจอดรถขวางทางทำให้เข้าออกลำบาก ย่อมทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548  การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7785/2561  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้จะไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีหน้าที่ดูแลที่ดินที่เป็นประเภทสาธารณูปโภค ซึ่งที่ดินประเภทสาธารณูปโภคจะตกเป็นภาระจำยอมให้กับผู้ซื้อที่ดินในโครงการ มีสิทธิใช้ที่ดินในส่วนดังกล่าว โดยไม่ต้องจดทะเบียนภาระจำยอม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่กันไว้สำหรับสาธารณูปโภคประเภทถนนในโครงการ มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินและเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาท คดีนี้ตอนต้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนฟ้องคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต จึงเหลือเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543
          แต่อย่างไรก็ดี พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 2 เปิดร้านค้าสุราเปิดเพลงส่งเสียงดังรบกวนและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ และเปิดกิจการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมีการทิ้งสิ่งปฏิกูลส่งกลิ่นเหม็นข้างอาคารโจทก์ และจอดรถขวางทางทำให้โจทก์เข้าออกลำบาก ทำให้โจทก์และผู้ที่เช่าอาคารโจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญจนเกินสมควร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ให้ออกไปจากพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคประเภทสาธารณประโยชน์ (ถนนในโครงการ)

          การก่อสร้างอาคารที่ทำให้อาคารข้างเคียงเกิดรอยร้าว และปิดบังช่องแสงและทิศทางลมของอาคารข้างเคียง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2548  โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าการปลูกสร้างอาคารสูงของจำเลยทั้งสองที่ปลูกสร้างจนเกือบชิดหรือติดกับตัวอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ โดยมิได้รับความยินยอมของโจทก์ทั้งสี่ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาโดยตลอด กล่าวคือระหว่างปลูกสร้างอาคารได้มีการลงเสาเข็มพื้นฐานอาคารโดยไม่ถูกวิธีและปลอดภัยพอ เป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ในส่วนที่เป็นผนังห้อง เสา คาน เกิดรอยแตกร้าวโดยทั่วไป อาคารสูงของจำเลยทั้งสองปิดบังช่องของแสงและทิศทางลมซึ่งส่องและระบายเข้าออกในส่วนทางด้านหลังของทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ อีกทั้งระหว่างก่อสร้างได้ก่อให้เกิดมลภาวะซึ่งความเดือดร้อนเสียหายเช่นนี้ไม่เคยเกิดและมีมาก่อน โจทก์ทั้งสี่ไม่อาจอยู่อาศัยในทาวน์เฮาส์ของตนได้อย่างเป็นปกติสุข มีผลต่อความรู้สึกด้านจิตใจและความเป็นอยู่ รวมทั้งสุขภาพของคนในครอบครัวของโจทก์ทั้งสี่อย่างแสนสาหัส ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสี่ยังได้สรุปความเสียหายก่อนที่มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า "การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจอย่างแสนสาหัส?" ดังนี้ เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จะมิได้มีข้อความโดยชัดแจ้งระบุค่าทดแทน การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้สิทธิของตนในการปลูกสร้างอาคารสูงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ คือทาวน์เฮาส์ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 มาด้วย ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องที่โจทก์ได้บรรยายมาดังกล่าวข้างต้น พิจารณาประกอบคำให้การที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยทั้งสองโดยห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายและการก่อสร้างก็ได้รับอนุญาตจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและมีการตรวจสอบแบบแปลนและสถานที่ก่อสร้างแล้ว อีกทั้งวิธีการก่อสร้างก็ทำถูกตามขั้นตอนโดยมีวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างและอาคารที่ปลูกสร้างก็ไม่ได้บังทิศทางลมอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ทั้งสี่ด้วย และในประการสำคัญคือศาลชั้นต้นก็ได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นพิพาทเรื่องค่าเสียหายไว้เพียงกว้าง ๆ ว่าโจทก์ทั้งสี่เสียหายหรือไม่เพียงใดด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่และคำให้การจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ถือได้ว่าคดีมีประเด็นพิพาทเรื่องค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้สิทธิปลูกสร้างอาคารบนที่ดินของตนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คือทาวน์เฮาส์ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ด้วย โดยถือว่ารวมอยู่ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสี่ที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นพิพาทไว้

          ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินข้างเคียง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2546  สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับเทศบาลระบุให้โจทก์ใช้ที่ดินที่เช่าเป็นสถานที่จอดรถสำหรับกิจการโรงแรมของโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่าทำให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินได้โดยสะดวกเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินจากเทศบาลแต่การเช่าที่ดินก็เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการโรงแรมของโจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337 แม้ว่าจำเลยติดตั้งหลังคาตึกแถวก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินจากเทศบาลก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมออกมาจากตึกแถวของจำเลยซึ่งกีดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว

          กรณีที่เป็นการใช้สิทธิที่พึงมีตามปกติที่ไม่เกินส่วนย่อมสามารถกระทำได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2554  แม้ผู้จัดสรรที่ดินได้แสดงออกโดยปริยายว่า จะจัดให้มีถนนในโครงการที่ดินที่จัดสรรตามแผนผังโครงการ ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอม ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป จะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจัดสรรที่ดิน แต่ปรากฏว่า ถนนพิพาทอยู่ในที่ดินจัดสรรส่วนที่ผู้จัดสรรที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์และก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามแผนผังของโครงการ โดยที่ดินดังกล่าวถูกปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่ามานานถึง 12 ปี มีการนำแท่งคอนกรีตไปปิดกั้นปากทางถนนพิพาทไม่ให้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออก โจทก์หรือผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรายอื่น ๆ ไม่ได้โต้แย้งต่อผู้จัดสรรที่ดินเพราะสามารถใช้ถนนด้านหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ออกสู่ถนนสาธารณะได้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์หรือผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรายอื่น ๆ มิได้ถือเอาการมีหรือไม่มีอาคารพาณิชย์ในที่ดินดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและถนนพิพาทจะเป็นสาธารณูปโภคหรือไม่ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวมิได้นำออกจัดสรรขายตามสภาพที่เป็นจริง ถนนพิพาทจึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอม ผู้จัดสรรที่ดินจึงมีสิทธิเหนือที่ดินและถนนพิพาทส่วนนี้ ต่อมาผู้จัดสรรที่ดินขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก่อสร้างกำแพงปิดกั้นปากทางถนนพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
          อาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสองคูหาตั้งอยู่ในโครงการจัดสรรในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นย่านชุมชนและย่านการค้าที่มีความเจริญมาก มีอาคารพาณิชย์ของผู้อื่นในโครงการปลูกเรียงติดต่อกันหลายคูหา โจทก์จึงควรคิดหรือคาดหมายได้ถึงความไม่สะดวกในการพักอาศัยและการสัญจรไปมา แม้จะปรากฏขณะโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากแผนผังของโครงการว่า มีถนนอยู่ด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ แต่ก็เป็นถนนที่กันไว้สำหรับใช้เป็นทางเข้าออกอาคารพาณิชย์ที่จะก่อสร้างในที่ดินด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ เมื่อผู้จัดสรรที่ดินมิได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ตามแผนผังของโครงการ โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือว่ากล่าวเอาแก่ผู้จัดสรรที่ดิน ทั้งโจทก์ยังได้ต่อเติมด้านหลังอาคารพาณิชย์ทั้งสี่ชั้น ให้สูงชิดติดกันแนวเขตที่ดินของโจทก์ เท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพว่าหากมีผู้มาก่อสร้างชิดติดกับแนวเขตที่ดินโจทก์ อาจทำให้บังทิศทางลม แสงสว่าง กับหน้าต่างและประตูด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ได้ ซึ่งเป็นไปตามปกติและมีเหตุอันควรที่จะคาดหมายได้อยู่แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งที่ดินด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์จากผู้จัดสรรที่ดินและสร้างรั้วคอนกรีตผนังทึบชิดติดกับด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์สูงประมาณ 3 เมตร จึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติโดยมีเหตุอันควรถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550  โจทก์ต่อเติมอาคารตึกแถวในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินของโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมาก ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วย อากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวจึงถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย การที่จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2546  ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวง แต่ก็มิใช่ตัวทางหลวง ไม่ว่าจะเป็นผิวจราจรหรือทางเท้า ที่ดินของโจทก์จึงมิได้เชื่อมกับถนนกันตังเนื่องจากยังมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ หากโจทก์จะเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนกันตัง โจทก์จะต้องผ่านที่ดินพิพาทเสียก่อนซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำถนนจากที่ดินของโจทก์ต่อเชื่อมกับถนนกันตังโดยผ่านที่ดินพิพาท จำเลยปลูกต้นไม้และก่อสร้างห้องน้ำในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะที่คั่นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนหลวง เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ติดต่อกับถนนหลวงมาแต่เดิมเนื่องจากมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ และจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเช่นนี้ โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทกีดขวางทางออกสู่ถนนสาธารณะหาได้ไม่ กรณียังไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 421 และมาตรา 1337 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนต้นไม้และสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2545  การที่โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนถึงกับต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร จำเลยปลูกสร้างอาคารและกำแพงล้อมรั้วในที่ดินของจำเลยเอง ไม่ปรากฏว่าได้กลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 แต่อย่างใด เมื่อที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยังเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีรั้วล้อมรอบ โจทก์ก็ย่อมสามารถเดินผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะด้านวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (ถนนสุขุมวิท 93) และถนนอ่อนนุชได้ ส่วนด้านทิศตะวันตกโจทก์แถลงต่อศาลเองว่าหากมีการปิดกั้นโจทก์ไม่สามารถเดินออกไปสู่ทางสาธารณะได้ แสดงว่าหากโจทก์จะเดินออกไปก็ย่อมเดินได้ทั้งเป็นเรื่องในอนาคตที่โจทก์คาดหมายไปเอง นอกจากนี้ปรากฏว่าโจทก์มิได้มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ บ้านที่โจทก์อยู่อาศัยคงเป็นบ้านที่ บ. ปลูก และโจทก์มีฐานะเป็นเพียงผู้อาศัย การที่จำเลยสร้างอาคารคอนกรีตสูง 3 ชั้น และกำแพงรั้วปิดกั้นตามแนวเขตที่ดินของจำเลย จึงมิได้เป็นเหตุให้โจทก์เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ


สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

          
          สิทธิในทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มาตรา 37 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก" และมาตรา 37 วรรคสอง บัญญัติว่า "ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" ทั้งนี้ สิทธิในการครอบครองที่ดินมีอิทธิพลต่อการดํารงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย และส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

          หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในอันที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตาม หลายกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผลให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิได้รับความเสียหาย จนกระทั่งท้ายที่สุดต้องฟ้องศาลปกครองให้มีคําบังคับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทําหน้าที่หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น

          กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทําให้ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงได้

          คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 283/2552  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีว่า มีเหตุเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เมื่อเจ้าของที่ดินที่แท้จริง (ผู้ฟ้องคดี) ตาม น.ส. 3 ยื่นคําขอออกโฉนดที่ดิน แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินบนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับผู้อื่นไปแล้ว เมื่อมีการสอบสวนก็พบว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบ ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจจะต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวและออกโฉนดที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงต่อไป แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอํานาจกลับไม่ดําเนินการเพิกถอนและเจ้าพนักงานที่ดินก็ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าโดยอ้างว่ายังไม่ได้มีการแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ และการเพิกถอนจะต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่าง ยังไม่มีผลใช้บังคับ

          จนกระทั่งทำให้ในที่สุดเจ้าของที่ดินที่แท้จริง ต้องมาฟ้องศาลปกครองให้พิพากษาหรือมีคําสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหาย

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้มีการแจ้งให้เจ้าของโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว มีการคัดค้านแล้วและการสอบสวนการออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน น.ส.3 ของผู้ฟ้องคดีก็ได้ดําเนินการครบทุกขั้นตอนแล้ว แม้ยังไม่ได้มีกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2543 ออกมาบังคับใช้ก็ตาม ก็สามารถนําพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาใช้บังคับได้ ดังนั้น การไม่ดําเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน จนไม่สามารถออกโฉนดให้เจ้าของที่แท้จริงได้จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินก็มิได้ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนที่จะออกโฉนดที่ดินให้ผู้อื่นโดยไม่ชอบทับที่ดิน น.ส. 3 ของผู้ฟ้องคดีและเมื่อผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดที่ดินและร้องเรียนให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ เจ้าพนักงานที่ดินก็ใช้เวลาตรวจสอบและเสนอความเห็นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคําสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนานถึง 12 ปี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และเมื่อไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้จึงเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

          ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้ผู้มีอํานาจเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนและให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหาย        


การฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่


          กรณีที่การประชุมใหญ่ของบริษัทนั้นมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทแล้ว กฎหมายได้กำหนดให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิร้องให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมนั้นได้ภายในหนึ่งเดือน
          มาตรา 1195  "การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น"


          บุคคลผู้ที่มีสิทธิเพิกถอน คือ กรรมการหรือผู้ถือหุ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2510   เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย เมื่อเจ้ามรดกตายหุ้นของเจ้ามรดกย่อมตกมาเป็นของทายาททันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชิย์ มาตรา 1599 และ 1600 ทายาทจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ ตามมาตรา 1195 ได้ แม้ว่าบริษัทจำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนทายาทเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2557   ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้องเป็นการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ หรือส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นได้

          การฟ้องให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1195 นี้ให้นำมาใช้กับกรณีของนิติบุคคลอาคารชุดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2555   พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการประชุมใหญ่ แต่มิได้กล่าวถึงการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่จึงต้องเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195 ที่บัญญัติว่า “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย...” เมื่อโจทก์เห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดไม่ชอบ โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท อย่างไรก็ตามไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท โจทก์อาจฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์เพื่อให้บังคับตามสิทธินั้นเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้    

          โดยหลักแล้วต้องฟ้องหรือร้องให้เพิกถอนมติที่ประชุมภายในหนึ่งเดือน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9479/2558   โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งก็คือขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 3/2536 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2536 ครั้งที่ 4/2536 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2536 และครั้งที่ 5/2536 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536 โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองถือหุ้นตามอัตราส่วนก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าว โดยอ้างว่าการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไม่ชอบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนมติโดยอ้างว่าการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นได้นัดเรียกประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้การขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ ป.พ.พ. มาตรา 1195 ต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันลงมติ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 130/2548   คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า การเรียกประชุมหรือการประชุมและการลงมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท โดยมีคำขอให้เพิกถอนกับมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำนวนทุนกลับคืนสู่สภาพเดิม กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติฝ่าฝืนกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น

          แต่มีข้อยกเว้นที่ให้ฟ้องได้โดยไม่อยู่ภายในบังคับระยะเวลาหนึ่งเดือน คือ กรณีที่ไม่มีการประชุมกันจริง แต่ได้ทำรายงานประชุมเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2520   การประชุมใหญ่ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน มิใช่เป็นการประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตามความหมายของประมวลกฎมหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แต่เป็นรายงานการประชุมเท็จ เพราะไม่มีการประชุมกันจริง จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องฟ้องเพิกถอนภายในกำหนดเดือนหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2534  โจทก์ฟ้องว่า รายงานการประชุมใหญ่นั้นไม่มีการประชุมกันจริงและเป็นเท็จไม่มีผลตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ ซึ่งจะต้องฟ้องร้องเสียภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7926/2557  การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม มิได้ประชุมกันจริง และเป็นการทำรายงานการประชุมเท็จที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จึงชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนที่อาศัยการประชุมใหญ่เท็จดังกล่าวเสียได้ ทั้งกรณีของการทำรายงานการประชุมใหญ่เท็จเพื่อนำไปจดทะเบียน ย่อมจะมิใช่การประชุมใหญ่ผิดระเบียบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทอันจะอยู่ในบังคับที่ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195


04 มีนาคม 2567

สัญญานายหน้า

          ลักษณะของสัญญานายหน้า

          มาตรา 845 "บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่า บุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
          นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไป ก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ"

          มาตรา 846 "ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่า ย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
          ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม"
       


          1. นายหน้าเป็นตัวกลางที่ช่วยชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลอื่นได้เข้าทำสัญญากัน นายหน้าไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปกระทำการแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่มีอำนาจเข้าไปทำสัญญาแทนคู่สัญญา
          2. นายหน้าเป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีบทบังคับว่าจะต้องสัญญาเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น สัญญานายหน้าจะตกลงกันเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้
          3. เมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้คู่สัญญาทำสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จ แม้ต่อมาคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผิดสัญญาหรือเลิกสัญญาที่ทำไว้นั้น ก็ตาม
          ซึ่งทั้งนี้สัญญานายหน้านั้นตามปกติต้องถือว่ามีบำเหน็จ แม้จะไม่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่าจะต้องเสียค่าบำเหน็จนายหน้าเท่าใด ก็ต้องให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2535  โจทก์ช่วยติดต่อขายที่ดินให้จำเลยสำเร็จ เป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ ถือได้ว่าตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846 วรรคแรก ส่วนข้อตกลงให้เงินส่วนที่เกินจากราคาที่ดินที่จำเลยกำหนดไว้ 2,000,000 บาท เป็นค่าบำเหน็จแก่โจทก์นั้นเป็นข้อตกลงพิเศษส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกัน แม้จำเลยจะขายที่ดินให้แก่ ฉ. ในราคา 2,000,000 บาทก็ตาม โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้ค่าบำเหน็จและเมื่อไม่ได้ความว่าค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใดและไม่ปรากฏธรรมเนียมในการนี้โดยชัดแจ้ง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้เท่าที่กำหนดได้ตามสมควร

          สิทธิของนายหน้า
          1. มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ อันเนื่องมาจากการทำหน้าที่ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลได้เข้าทำสัญญากัน
          2. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ถ้าได้ตกลงกันไว้ให้เรียกค่าใช้จ่ายที่เสียไปไว้ล่วงหน้า แม้ว่าสัญญาจะมิได้กระทำสำเร็จ

          สัญญาที่มีลักษณะเป็นการหากำไรจากการซื้อขายที่ดินตามปกติ ไม่ใช่สัญญานายหน้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7604/2553  ทางนำสืบของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องปรากฏว่าเงินจำนวนที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่เงินส่วนที่ต่ำกว่าไร่ละ 65,000 บาท ตามที่อ้างว่าเป็นข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าหากแต่เป็นเงินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับพวกซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาไร่ละ 50,000 บาท แล้วนำมาเสนอขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท ส่วนที่เกินไร่ละ 10,000 บาท ตกเป็นของโจทก์กับพวก อันมีลักษณะเป็นการหากำไรจากการซื้อขายที่ดินตามปกติ และเมื่อพิจารณาจากหนังสือทวงถามเงินและสรุปรายการซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์เป็นคนทำเอกสารดังกล่าวเองก็ยิ่งปรากฏชัดเจนว่า เป็นเรื่องที่โจทก์กับพวกซื้อที่ดินมาขายให้แก่ฝ่ายจำเลยจริง โดยเอากำไรจากราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมาหักออกจากราคาที่ตั้งขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายของเจ้าของที่ดินชื่อ ข. ที่ปรากฏในลำดับที่ 6 โจทก์ไปซื้อที่ดินรายนี้มาในราคาไร่ละ 100,000 บาท ขายให้แก่ฝ่ายจำเลยราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยโจทก์จ่ายเงินเพิ่มเอง อันเป็นผลขาดทุนในการซื้อขายที่ดินรายนี้ ทำให้เห็นเจตนาของทั้งสองฝ่ายว่าการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทุกแปลงรวมทั้งแปลงพิพาทเป็นเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายที่ดินกัน หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาถูกเมื่อนำไปขายในราคาที่ตกลงกัน โจทก์ก็มีกำไรมาก หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาแพงก็จะมีกำไรน้อย และโจทก์อาจขาดทุนได้หากซื้อที่ดินมาในราคาสูงกว่าที่ตกลงขายให้แก่ฝ่ายจำเลย ลักษณะการทำธุรกิจกันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการชี้ช่องให้ฝ่ายจำเลยได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาค่าบำเหน็จนายหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 วรรคหนึ่ง

          ถ้าการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทำสัญญานั้นสำเร็จ นายหน้าย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5604/2548  ตามสัญญานายหน้าจำเลยตกลงจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี ในกรณีแรก ตามสัญญาข้อ 3 ถ้าโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ได้ในราคาไม่ต่ำกว่าห้องละ 6,500,000 บาท จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่านายหน้าห้องละ 300,000 บาท ในกรณีที่สอง ตามสัญญาข้อ 4 หากโจทก์สามารถชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ได้ในราคาสูงกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 3 จำเลยทั้งสองตกลงให้จำนวนเงินส่วนที่เกินเป็นของโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ห้อง เอ. 9 และ เอ. 10 ได้ตามราคาที่กำหนดโจทก์ย่อมมีสิทธิได้ค่านายหน้าห้องละ 300,000 บาท และโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ห้อง เอ. 2, เอ. 6 ถึง เอ. 8 ในราคาสูงกว่าที่กำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่านายหน้าที่ชี้ช่องให้จำเลยทั้งสองขายอาคารพาณิชย์ได้ในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนดตามสัญญาข้อ 3 และมีสิทธิได้รับเงินในส่วนที่สามารถชี้ช่องให้จำเลยทั้งสองขายในราคาสูงกว่าที่กำหนดตามสัญญาข้อ 4 อีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804 - 1805/2546 สัญญาร่วมกิจการนายหน้าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นข้อตกลงในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินและจะได้แบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันให้สำเร็จลุล่วงตามความประสงค์เท่านั้น ไม่มีข้อความใดพอประมาณได้ว่าหากจำเลยรู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่นายหน้าผู้จะซื้อจะไม่ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าอย่างแน่นอน ดังนี้ ถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ชี้ช่องให้ บ. กับ ฟ. ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จ พฤติกรรมที่แสดงว่าคู่สัญญามิได้ให้ความสำคัญในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองจะต้องเป็นนายหน้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สัญญาร่วมกิจการนายหน้าดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์ทั้งสองแสดงการฉ้อฉลต่อจำเลย อันจะทำให้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าต่อโจทก์ทั้งสอง
          สำหรับพวกจำเลยทั้งสิบสี่คนที่ร่วมลงชื่อในสัญญานายหน้านั้นไม่ได้กระทำการเป็นนายหน้าที่แท้จริง แต่สัญญานายหน้าฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นเนื่องจากเป็นความประสงค์ของ บ. และจำเลยเพื่อกระจายฐานภาษีที่จะต้องชำระให้น้อยลงเท่านั้นจึงต้องถือว่าเงินค่าที่ดินส่วนเกินซึ่งจำเลยเป็นผู้รับมาจาก บ. ต้องนำมาจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้า เมื่อจำเลยไม่นำมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสอง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาร่วมกิจการนายหน้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2545  โจทก์เป็นผู้เริ่มต้นติดต่อขอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และเจรจาติดต่อกับญาติพี่น้องของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง รวมทั้งไปพบกันที่บ้านมารดาจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์เสนอขายที่ดินต่อบริษัท ค. แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ต่างก็มาดูที่ดินที่จะซื้อขาย ตลอดทั้งนำเจ้าหน้าที่ของบริษัท ค. มาเจรจาตกลงจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยทั้งสองและได้จดทะเบียนให้บริษัท ค. เช่าที่ดินเป็นผลสำเร็จนั้น จึงเกิดจากการที่โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้ทั้งสองฝ่ายเข้าทำสัญญากัน การที่โจทก์เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้นโดยไม่เคยรู้จักกับบริษัท ค. และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 กับเจ้าของที่ดินรายอื่นๆมาก่อนต้องเข้าร่วมเจรจาติดต่อกับเจ้าของที่ดินทั้งหลายก็เพื่อต้องการผล ประโยชน์เป็นค่านายหน้า ไม่ใช่ทำให้เปล่า หากโจทก์ไม่ได้ค่านายหน้าเป็นผลตอบแทนในการเจรจาติดต่อในครั้งแรกแล้ว การดำเนินการใดๆต่อมาคงไม่เกิดขึ้น และการที่บริษัท ค. กำหนดข้อห้ามไม่ให้ ส. รับประโยชน์หรือค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 นั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างบริษัท ค. กับ ส. ไม่เกี่ยวกับโจทก์ ทั้งไม่ได้ความว่าโจทก์ตกลงยกเลิกสัญญานายหน้ากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธไม่ชำระค่านายหน้าแก่โจทก์หาได้ไม่


          ถ้ามีการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทำสัญญากันสำเร็จแล้ว นายหน้าย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จทันที แม้ต่อมาภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกสัญญานั้นไปก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2542  โจทก์จัดหาผู้ซื้อมาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย โดยจำเลยให้ค่าบริการแก่โจทก์ร้อยละ 1.5 ของยอดขายตามสัญญา คิดเป็นเงิน 7,470,604.95 บาท ตกลงแบ่งชำระเป็น 3 งวด ดังนั้น เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียงงวดเดียว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระงวดที่สองและงวดที่สามที่เหลือ แม้ต่อมาผู้ขายจะตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญากับผู้ซื้อใหม่โดยลดยอดขายลงก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินจนครบ เพราะถือว่าได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันเป็นผลสำเร็จเนื่องจากการที่โจทก์ชี้ ช่องหรือจัดการแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8543/2544  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประกาศประกวดราคาให้ผู้สนใจเสนอขายที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการเขตโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าตกลงค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ตั้งไว้ หากขายได้เกินราคา ดังกล่าวเงินที่ขายเกินยอมยกให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างยื่นซองประกวดราคาเสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงเดียวกันแก่องค์การโทรศัพท์ โดยโจทก์เสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ คณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนเสนอขายที่ดินเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แล้วมีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 และหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 8 ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ 2 และได้ชำระค่าที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 เนื่องจากโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ได้ทำกันไว้ในตอนแรก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามข้อตกลงดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการที่จำเลยที่ 1 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ได้ถอนซองประกวดราคาของโจทก์โดยปริยาย ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามเอกสารหมาย จ. 8 จากจำเลยที่ 2 ด้วย

          สัญญานายหน้าไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ฟ้องบังคับกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2545  โจทก์ติดต่อกับจำเลยและเจ้าของที่ดินทั้ง 4 แปลง เรื่องการเช่าและซื้อขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นได้ใช้บ้าน ร. มารดาจำเลยเป็นสถานที่นัดพบเสมอทั้ง ร. ก็ร่วมเจรจาอยู่ด้วย แม้บางครั้งจำเลยไม่มาแต่ ร. ก็เป็นผู้จัดการแทนจำเลยเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาในที่สุด ดังนั้น ข้อตกลงใดๆที่อยู่ในกรอบของการเช่าหรือซื้อขายที่ดินของจำเลยย่อมเห็นเป็นปริยายว่า จำเลยได้เชิด ร. เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับโจทก์ ทำให้เจ้าของที่ดินอีก 4 แปลง ตกลงยินยอมให้เช่าและขายที่ดินเรื่องค่านายหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง ด้วยแม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันจำเลยแล้ว ดังนั้น จำเลยต้องให้ค่านายหน้า และเงินค่าที่ดินที่ให้เช่าหรือขายเกินกว่าราคาที่กำหนดแก่โจทก์

          ถ้าการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทำสัญญายังไม่เป็นผลสำเร็จ ก็ไม่มีสิทธิได้ค่านายหน้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2550  สัญญาจองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกัน ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของโจทก์ที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 845
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2540  บันทึก ข้อตกลงท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ป. ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อระบุว่า จำเลยต้องการให้โจทก์เป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการขายที่ดินให้กับบริษัทค.ไม่ ว่าจะเป็นที่ดินส่วนใดก็ตาม ซึ่งทางจำเลยขายให้กับทางบริษัทค.ได้ จำเลยสัญญาว่าจะจัดค่านายหน้าให้กับโจทก์ 20,000 บาท ต่อไร่ของที่ดินทุก ๆ แปลง ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากจากข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้า 3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 20,000 บาท ต่อเมื่อโจทก์ดำเนินการให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าวได้จนเป็นผลสำเร็จเมื่อ โจทก์เพียงแต่จัดให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับพ.กรรมการบริษัทค.แต่ต่อ มาผู้จะซื้อผิดสัญญาจนมีการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไปแล้ว กรณีจึงหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันจะทำให้จำเลยได้รับเงินตามราคาที่ ตกลงกันไว้ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินหรือค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ดัง กล่าว

          ถ้าการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่มีผลสำเร็จ ก็ไม่มีสิทธิได้ค่านายหน้า แม้ต่อมาคู่สัญญาจะตกลงกันทำสัญญาใหม่เป็นสัญญาร่วมลงทุน แต่ก็ไม่ใช่สัญญาที่ได้เข้าทำโดยการชี้ช่องหรือจัดการของนายหน้าแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2550  จำเลยทั้งห้าตกลงมอบหมายให้โจทก์ไปติดต่อขายที่ดินทั้งห้าแปลง โจทก์จึงได้ไปติดต่อขายที่ดินให้แก่ ส. แต่ที่โจทก์นำสืบว่า ส. ไปตรวจดูที่ดินแล้วพอใจ ส. และจำเลยทั้งห้าจึงตกลงทำสัญญาซื้อขายกันที่บ้านของ ส. โดยโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายด้วยนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานสัญญาซื้อขายที่กล่าวอ้างมาแสดง คงมีแต่คำเบิกความลอยๆเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ติดต่อกับ ส. และจำเลยทั้งห้าเกี่ยวกับเรื่องซื้อขายที่ดินนี้อีก ข้อเท็จจริงจึงเชื่อตามที่จำเลยทั้งห้านำสืบต่อมาโดยมีหลักฐานเป็นพยาน เอกสารสนับสนุนว่า อ. บุตรเขยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับ ส. ต่อมา โดย ส. อ้างว่าไม่มีเงินมาซื้อที่ดินทั้งห้าแปลงของจำเลยทั้งห้า แต่ถ้าจะนำที่ดินมาร่วมลงทุนกันและหากำไรมาแบ่งกันก็สามารถทำได้ ข้อตกลงที่ว่าให้นำที่ดินมาร่วมลงทุนและหากำไรมาแบ่งกัน จึงเป็นข้อตกลงและวัตถุประสงค์ใหม่ซึ่งจำเลยทั้งห้าต้องนำไปปรึกษาหาหรือกัน และตัดสินใจกันใหม่ว่าจะรับข้อเสนอใหม่นี้หรือไม่ แสดงว่าการชี้ช่องของโจทก์ที่ต้องการให้จำเลยทั้งห้าขายที่ดินให้แก่ ส. นั้นไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจาก ส. ไม่มีเงินซื้อ การตกลงนำที่ดินเข้าร่วมลงทุนกับ ส. แล้วนำกำไรมาแบ่งกันภายหลัง จึงเป็นวัตถุประสงค์ใหม่ของจำเลยทั้งห้าไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์และไม่อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์เดิม เพราะการเข้าร่วมลงทุนนั้นเป็นการนำเอาที่ดินของจำเลยทั้งห้ามาเข้าร่วมกับ ส. และให้ ส. เป็นผู้บริหารจัดการโดยจำเลยทั้งห้าได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของโดยรับหุ้นของ บริษัท บ. ของ ส. ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่ การเข้าร่วมลงทุนกับ ส. ตามข้อตกลงใหม่ดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าขายที่ดินได้สำเร็จแล้ว ด้วยการชี้ช่องของโจทก์ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการขายที่ดินในรูปแบบใหม่ ซึ่งในที่สุดข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าทราบว่าถูก ส. หลอกลวง จำเลยทั้งห้าจึงได้ฟ้องเรียกที่ดินทั้งห้าแปลงคืนจากบริษัท บ. และ ส. กับพวก และศาลพิพากษาตามยอมให้คืนที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวแก่จำเลยทั้งห้าแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์สามารถชี้ช่องให้จำเลยทั้งห้าขายที่ดินตามฟ้องจนสำเร็จวัตถุประสงค์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยทั้งห้าตามที่ตกลงกัน

          ถ้าไม่ได้ตกลงให้เข้าชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทำสัญญากันไว้ ก็ไม่ใช่นายหน้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2540  บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 845 และ 846 แสดงให้เห็นว่าสัญญานายหน้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีการตกลงกันระหว่างบุคคลที่ประสงค์จะทำสัญญากับบุคคลที่จะทำหน้าที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้ได้ทำสัญญาที่เรียกว่านายหน้า เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลย พ. น้องจำเลยเป็นผู้ติดต่อขอให้โจทก์ช่วยเสนอขายที่ดินของจำเลย โดยโจทก์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและราคาจาก พ.  พ. ตกลงกับโจทก์ว่าค่านายหน้าที่จำเลยจะให้ในอัตราร้อยละ 3 ของราคาซื้อขายที่ดินนั้น  พ.จะแบ่งให้โจทก์ร้อยละ 2 ส่วน พ. จะเอาไว้ร้อยละ 1  โจทก์ไม่เคยตกลงเรื่องค่านายหน้ากับจำเลย ในวันทำสัญญาจะซื้อขายโจทก์ได้รับเงินค่านายหน้าจากพ. และในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยกับ จ.  โจทก์ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินจ. เป็นคนรับเงินค่านายหน้าไว้แทนโจทก์ 200,000 บาท และบอกว่าส่วนที่เหลือให้โจทก์ติดต่อ พ.  แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ตกลงโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้โจทก์เป็นนายหน้า ชี้ช่องให้ จ.มาซื้อที่ดินจำเลย แม้โจทก์ตกลงร่วมกับ พ. ทำหน้าที่ติดต่อชี้ช่องให้ จ. เข้าทำสัญญากับจำเลยหรือจัดการให้จ. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยแล้วได้ส่วนแบ่งค่านายหน้าจาก พ. ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ พ. เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ร่วมกับ พ.ทำหน้าที่ชี้ช่องให้จำเลยกับ จ. เข้าทำสัญญากันแล้ว โจทก์ย่อมไม่ใช่นายหน้าของจำเลย โจทก์ได้รับแบ่งค่านายหน้าที่จำเลยจ่ายให้จาก พ. และ จ. มาบางส่วน ก็เป็นเพราะเหตุที่มีข้อตกลงกันไว้ระหว่างโจทก์กับ พ. และ จ. แต่โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับเรียกเอาค่านายหน้าจากจำเลยได้

          มาตรา 847 "ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดีหรือ ได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่ นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับ ทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่"
       
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326 - 328/2518  จำเลยตกลงขายที่ดินของจำเลยให้แก่กระทรวงการคลังตามที่โจทก์ผู้เป็นนายหน้าของจำเลยติดต่อให้ มิได้ขายให้แก่ ค. ตามสัญญามัดจำจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับ ค. และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบำเหน็จจาก ค. หรือกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างใดจะถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ และโจทก์ได้กระทำการให้บุคคลภายนอกอันไม่สมควรแก่หน้าที่ผู้กระทำการโดยสุจริต เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ได้รับหน้าที่หาได้ไม่

          มาตรา 848 "ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญา ซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่ง ให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง"

           มาตรา 849 "การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญา นั้นท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทน ผู้เป็นคู่สัญญา"

          ความรับผิดของนายหน้า
          1. นายหน้าไม่มีอำนาจรับเงินหรือรับชำระหนี้แทนคู่สัญญา
          2. นายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญา ซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายทราบ

          อายุความฟ้องเรียกค่านายหน้า มีอายุความ 10 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6952/2552  โจทก์ฟ้องเรียกค่าบำเหน็จและเงินส่วนเกินตามสัญญานายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 มิได้ฟ้องเรียกเอาสินจ้างจากการรับทำการงาน สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30
       

สัญญาตัวแทน


          มาตรา 797 "อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
          อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้"

          สัญญาตัวแทนนั้นโดยปกติแล้วเกิดขึ้นโดยอาศัยหลักความยินยอมจากฝ่ายตัวการและตัวแทน แต่บางครั้งก็อาจมีตัวแทนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมเห็นชอบ แต่เกิดขึ้นเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ ที่เรียกว่า "ตัวแทนเชิด" "ตัวแทนโดยการให้สัตยาบัน" หรือ "ตัวแทนโดยปริยาย"ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวแทนโดยกฎหมายปิดปาก คือ ปิดปากตัวการนั่นเอง
          สัญญาตัวแทนนั้น ต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย คือ ตัวการฝ่ายหนึ่ง และตัวแทนอีกฝ่ายหนึ่ง โดยการที่ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนมีอำนาจแทนตนในการกระทำการอย่างใดๆกับบุคลที่สามหรือบุคคลภายนอก ทั้งนี้ กิจการทุกเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถตั้งตัวแทนไปกระทำการแทนได้ ยกเว้น กิจการซึ่งอาจเป็นกิจการเฉพาะตัวเพราะกฎหมายบังคับหรือตามลักษณะกิจการนั้นจะต้องทำด้วยตนเอง


           กิจการที่ตัวการสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนไปกระทำการแทนนั้น ถ้าหากตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็จะฟ้องตัวแทนให้รับผิดไม่ได้ หากจะฟ้องก็ต้องฟ้องตัวการให้รับผิด ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาตรา 820, 797
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2545  จำเลยแต่งตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. กับจำเลยหาใช่เป็นเรื่องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของจำเลยแต่อย่างใดไม่ เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอันเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ทดรองจ่ายแทนจำเลย จึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยหรือรับทำการงานต่าง ๆ ของจำเลย คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 19 กันยายน 2540 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2556  บริษัท ย. มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง เป็นกรณีจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัท ย. ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
          จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์แทนบริษัท ย. ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2552  โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ชำระราคาครบถ้วนและส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในวันที่ทำสัญญาแล้ว แต่ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์สอบถามไปยังบริษัท ส. จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัท ส. และชำระราคาแล้ว แล้วได้มีการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมื่อคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและครอบครองรถยนต์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 ซึ่งผู้มีอำนาจโอนสิทธิในรถยนต์พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัท ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือไม่ และการที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้นั้นคำพิพากษาต้องมีผลผูกพันบริษัท ส. ด้วย ทำให้บริษัท ส. ต้องเข้ามารับผิดต่อโจทก์ในฐานะคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทซึ่งต้องอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบริษัท ส. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกบริษัท ส. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันบริษัท ส. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

          แต่ในส่วนการใช้วานให้คนขับรถหรือทำการอย่างใดให้นั้นไม่ใช่เรื่องของสัญญาตัวแทน แต่เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้ใช้กับผู้ถูกใช้เท่านั้น ไม่ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม ซึ่งสัญญาตัวแทนโดยทั่วไปนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามโดยอาจจะระบุไว้เฉพาะหรือโดยทั่วไปก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2505 ใช้หรือวานบุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้างให้ขับรถยนต์ไปในธุระกิจของผู้ใช้เอง โดยผู้ถูกใช้เป็นผู้ขับรถยนต์ได้ และเคยขับให้ผู้ใช้มาก่อนแล้วนั้น หากผู้ถูกใช้ขับรถยนต์ไปชนบุคคลอื่นเป็นการละเมิดขึ้น ผู้ใช้ก็หาจำต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ เพราะมิได้ประมาทเลินเล่อในการใช้หรือวาน 
          การรับใช้หรือวานขับรถยนต์ให้นั้นไม่ใช่เป็นตัวแทน เพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่ 3 แต่เป็นกิจการในระหว่างผู้ใช้กับผู้รับใช้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลที่ 3 เลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2507  ความรับผิดของตัวการในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนกระทำไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 นั้น  จะต้องเป็นเรื่องที่ตัวการตั้งตัวแทนให้ไปทำการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3
          โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นตัวการร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน  เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกถ่านของจำเลยที่2 ได้ทำการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3 อันจะเข้าลักษณะเป็นตัวแทนแล้ว  จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทนตามที่โจทก์ฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2510  เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถแล้วเจ้าของรถยนต์วานให้ช่างซ่อมรถขับรถคันนั้นไปส่งที่อื่น เมื่อส่งเสร็จแล้วช่างซ่อมรถขับรถกลับอู่ไปเกิดชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายระหว่างทาง ดังนี้ ช่างซ่อมรถไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมรับผิดในการละเมิดนั้น 
          สัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 นั้น ผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523  การที่จำเลยที่ 1  ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3  ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3  จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5549/2541 จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุโดยในขณะเกิดเหตุจำเลยให้ น. ยืมเงิน โดยให้ น.ขับรถยนต์ของจำเลยคันดังกล่าวไปรับเงินจากภรรยาของจำเลย แล้ว น.ขับรถยนต์ไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันอื่นโดยละเมิด เป็นเหตุให้ ณ.ผู้ขับขี่ และ บ. ซึ่งนั่งซ้อนท้ายมากับรถคันดังกล่าวถึงแก่ความตายแต่การที่ น. นำรถยนต์ที่จำเลยให้ยืมเพื่อไปรับเงินที่จำเลยให้ยืมจากภรรยาของจำเลย มิใช่เป็นการทำการแทนจำเลย หากแต่เป็นการทำเพื่อกิจการและประโยชน์ของ น.เอง ดังนี้น. จึงมิใช่ตัวแทนของจำเลย จำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่ง น. ได้กระทำไป
          แต่กรณีที่ใช้ให้ไปกระทำการอย่างใดแทนตน โดยเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม ถือเป็นตัวแทนโดยปริยาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2516 (ประชุมใหญ่)  การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลาธิการกองพลทหารม้า สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพลขับและสังกัดอยู่ในกองพลเดียวกัน ขับรถยนต์ของทางราชการกองพลทหารม้าไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการวัดอยู่ด้วยกิจการดังกล่าวมิใช่ราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 3  ทั้งมิได้เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 แต่ประการใด  ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่2 เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนี้โดยปริยายเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับกองพลทหารม้าได้ชนรถยนต์โจทก์เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2515) 
          ซึ่งการเกิดสัญญาตัวแทนตามมาตรา 799 วรรคสอง บัญญัติให้ตัวแทนนั้นเกิดขึ้นโดยการแต่งตั้งแสดงออกชัดคือมอบหมายระหว่างตัวการและตัวแทนโดยตรงหรืออาจเป็นตัวแทนโดยปริยายก็ได้