28 กรกฎาคม 2559

สินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 1476   "สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
          (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (4) ให้กู้ยืมเงิน
          (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
          (6) ประนีประนอมยอมความ
          (7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
          การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง"

          มาตรา 1476/1   "สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
          ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476"

          มาตรา 1480   "การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
          การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10513/2557   การที่ อ. ภริยา ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2540 นาง อ. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (มุกดาหาร) ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนาง อ. เป็นเงิน 300,000 บาท มีกำหนดเวลาไถ่คืน 1 ปี โดยสัญญาขายฝาก ข้อ 9 ระบุว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายฝากที่พิพาทตามสัญญาขายฝาก ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การจัดการทรัพย์สินที่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 หากเป็นการจัดการเกี่ยวกับสินส่วนตัว คู่สมรสฝ่ายนั้นย่อมจัดการได้เองตามมาตรา 1473 คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และนาง อ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) และตามสัญญาขายฝาก ข้อ 9 ระบุว่า โจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายฝากที่พิพาท ดังนั้น การที่นาง อ. ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวจะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น(ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (มุกดาหาร) ครึ่งส่วนให้แก่โจทก์ด้วยการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน โดยปลอดภาระผูกพันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระภาษีกับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท)

          การขายฝากที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 1476(1) ถ้าทำไปฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ อาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ แต่ถ้ายังไม่เพิกถอนบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดินนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7031/2557  ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

          การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ถ้าบุคคลภายนอกรู้ว่าคู่สมรสมิได้ให้ความยินยอมด้วย ก็ถือว่าไม่สุจริตย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/2557  ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) 
          ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต

          ถ้าจัดการสินสมรสโดยการแบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1476(6) วรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556  แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
          การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้

          แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินโดยการนำให้บุคคลภายนอกเช่าช่วง แม้จะเป็นสินสมรสแต่ก็หาใช่เป็นกรณีที่คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนตาม มาตรา 1476(1)-(8) ไม่ เพราะมาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12772/2555  สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าจาก ป. เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ไม่ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะจัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

          อาคารชุดเป็นสินสมรสที่คู่สมรสมีอำนาจจัดการร่วมกัน แม้คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวก็ไม่มีอำนาจนำอาคารชุดไปจำนองโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม เพราะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1476 (1) คู่สมรสอีกฝ่ายจึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นเสียได้ตามมาตรา 1480
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552  จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
          เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง

          แต่ถ้านิติกรรมนั้นเกิดขึ้นภายหลังคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายแล้ว กรณีย่อมมิใช่การจัดการสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่จะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง  แต่เป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ที่เป็นมรดก         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2552  คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตามก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนหากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
          เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และ อ. ย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตายของ อ. ทรัพย์มรดกส่วนของ อ. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันที ด้วยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของ อ. ย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก อ. ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี อ. สิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 และ 1480 ทั้ง อ. ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่งของ อ. ที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่แบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่ อ. โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น

25 กรกฎาคม 2559

สิทธิยึดหน่วง


          สิทธิยึดหน่วงเป็นสิทธิพิเศษของเจ้าหนี้ที่มีอำนาจเหนือตัวทรัพย์ซึ่งสามารถจะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยการยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้

          ป.พ.พ. มาตรา 241  "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้  ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
          อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

           
          เจ้าหนี้จะมีสิทธิใช้สิทธิยึดหน่วงได้ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
          (1) ต้องมีการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น
          (2) การที่เข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นต้องเริ่มแต่การที่ชอบด้วยกฎหมาย
          (3) มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น
          (4) หนี้นั้นต้องถึงกำหนดชำระแล้ว

          (1) ต้องมีการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น

          จำเลยมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2558  จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของโจทก์ ทั้งมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในขณะทำการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างงวดงานจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงเพื่ออยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12429/2558  ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง เมื่อโจทก์ลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้นจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายแก่โจทก์ 



          (2) การที่เข้าครอบครองนั้นต้องเริ่มแต่การที่ชอบด้วยกฎหมาย

          การเข้าครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นนั้นต้องเป็นการเข้าครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ถ้าเป็นการเข้าครอบครองที่ละเมิดต่อกฎหมายย่อมไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงได้ ตามมาตรา 241 วรรคสอง

          (3) มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น

          หนังสือค้ำประกันที่มอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างนั้น หากหนังสือค้ำประกันสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกัน ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วงเอาไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13204/2558   จำเลยเป็นสถาบันการเงินประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ บ. ที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับมีการประทับข้อความว่า หากหมดอายุการบังคับหรือหมดภาระผูกพันแล้วโปรดคืนธนาคาร (หมายถึงจำเลย) อันเป็นการแสดงว่าหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของจำเลยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของบริษัท ค. ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารไว้กับโจทก์หาใช่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงหรือหลักประกันอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ค. ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับ หนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับย่อมสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลย
          แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในอีกคดีหนึ่งพิพากษาให้โจทก์คดีนี้คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ถ้าหากโจทก์คืนให้บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปแล้วบริษัท ค. ผู้รับจ้างก็ต้องนำไปคืนให้จำเลยเนื่องจากเป็นเอกสารของจำเลย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับของจำเลยเนื่องจากสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยได้

           การตกลงมอบใบจอง (น.ส.2) หรือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันเงินกู้ ไม่มีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์เกี่ยวด้วยที่ดินใบจอง (น.ส.2) หรือที่ดินตามโฉนด จึงไม่เป็นสิทธิยึดหน่วง แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8752/2556    การที่ผู้ตายมอบใบจอง (น.ส.2) ให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน แม้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิยึดหน่วงแก่จำเลยเพราะหนี้ที่จำเลยมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่จำเลยจะได้รับชำระหนี้คืนจากผู้ตายเท่านั้น หาได้มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยที่ดินใบจอง (น.ส.2) ซึ่งครอบครองไว้นั้นจึงไม่เป็นสิทธิยึดหน่วงดังที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้างก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีเมื่อผู้ตายมอบใบจอง (น.ส.2) ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งจำเลยมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนจนเสร็จสิ้นเชิง จำเลยย่อมมีสิทธิยึดถือใบจอง (น.ส.2) ดังกล่าวไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2556  แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย

           ผู้จะซื้อซึ่งชำระราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายครบถ้วนและผู้จะขายส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญา ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้จะซื้อเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ทำให้ผู้จะซื้ออยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555  การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241
          



          กรณีมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนตามข้อตกลง อันเป็นบุคคลสิทธิบังคับกันได้ แต่หาใช่สิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ไม่ ดังนั้น เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555   การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
          เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้
          โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วยจึงเป็นการบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลไม่อาจบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการตามที่โจทก์ขอได้ อีกทั้งเป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

          โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2554   โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่ผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ผู้รับตราส่งมีผลให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครอบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อนๆ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เพราะจำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น นับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล

          จำเลยได้รับความเสียหายจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งว่าจ้างมาจากโจทก์ แต่ไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินค่าจ้างที่ค้างชำระ เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 241
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993/2552   แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายจำนวน 900,000 บาท เนื่องจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโจทก์ซึ่งจำเลยจ้างไปรักษาความปลอดภัยให้แก่อาคารชุดของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ทวงถามค่าเสียหายดังกล่าวแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระโจทก์จำนวน 401,761.46 บาท เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 241
          ความเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยยังไม่ยุติ จะต้องตกลงกันอีก ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ ดังนี้ แม้เป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างฉบับเดียวกัน ก็ต้องถือว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อโจทก์ยังมีข้อต่อสู้อยู่ตาม ป.พ.พ. 344 จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้ได้ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงและจะขอหักกลบลบหนี้ไม่ได้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงโต้แย้งว่ายังไม่ผิดนัดมิได้

          ***ถ้าไม่มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วง***
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2552   ศาลฎีกามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และขับไล่ ท. ระหว่างบังคับคดี จำเลยได้ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) อยู่ในเขตที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยครอบครองและใช้ประโยชน์ และจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท โดยรับมอบการครอบครองมาจาก ท. โดยชอบ จนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กับมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกันไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินคนละแปลงกันหรือไม่ และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กรณีจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาก็ตาม แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวก็ใช้ยันจำเลยผู้เป็นบุคคลภายนอกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) การที่จำเลยให้การรับว่าได้รับที่ดินพิพาทมาจาก ท. ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ อันเป็นการรับมอบที่ดินพิพาทโดยเด็ดขาด มิใช่เพื่อประกันการชำระหนี้แล้วได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 1 ปี ทำให้ได้สิทธิครอบครอง โดยไม่ได้ให้การว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ด้วยเหตุประการอื่น จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติข้างต้น โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ แม้ว่า ท. ยังไม่ได้ชำระเงินยืมและดอกเบี้ยให้จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2541   แม้ ช.จะเป็นผู้ครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทโดยโจทก์มอบให้ไว้ เนื่องจากตกลงจะขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาททั้งสองแปลงให้ แต่การที่ ช.เคยครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไว้นั้น ก็เป็นเพียงการครอบครองเอกสารซึ่งแสดงว่าผู้มีชื่อในเอกสารนั้นได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเท่านั้น ช.ไม่ได้ครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องขายฝากให้แก่ ช. ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่า ช.หรือกองมรดกของ ช.มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาท เมื่อ ช.ถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ช.ย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 241
          โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจาก ช. เมื่อ ช.ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงชอบที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทของ ช.คนใดก็ได้ จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของ ช. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558  โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น

          การกู้ยืมที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2549   บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับ ร. ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ และการที่โจทก์กับ ร. ตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. อีกจำนวนหนึ่ง เห็นได้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มนั้นเป็นสาระสำคัญที่จะต้องตกลงกัน แต่จำเลยก็ยังไม่มีการตกลงกันในรายละเอียดว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. เป็นจำนวนเท่าใด จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้



          โจทก์ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินครบถ้วนและเข้าครอบครองที่ดินแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547   โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1755 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2546    โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาท โดยมีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้โจทก์เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองโจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนและจำเลยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วแม้สิทธิครอบครองจะยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์เพราะคู่สัญญาประสงค์จะให้มีการโอนทางทะเบียน แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินด้านทิศใต้ส่วนที่โจทก์ครอบครอง แล้วโอนให้โจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ก็เป็นเพียงประมาณการเท่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ช่างรังวัดสอบเขตและทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยเป็นผู้นำชี้ซึ่งช่างรังวัดที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองได้เนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเนื้อที่ซึ่งปรากฏในแผนที่พิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2544   อ. กับ ส. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2510 โดย อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านในปี 2510 ต่อมา ส. จะแบ่งแยกที่ดินโอนแก่ อ. แต่การแบ่งแยกมีปัญหาเพราะมีการฟ้องร้องระหว่าง ส. กับเจ้าของเดิม คดีถึงที่สุดในปี 2514 และ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2522 การที่ ส. ยอมให้ อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านจนกระทั่ง อ. ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองต่อมา โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ส. จะปฏิบัติตามสัญญาโดยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 และมาตรา 193/27 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เมื่อปี 2536 จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2539   ผ.ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริง โดยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทแล้วและได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาแม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อมีการชำระหนี้กันแล้วก็มีผลใช้บังคับกันได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ แม้ ผ.จะถึงแก่ความตายแล้วกว่า 30 ปี โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ผ.ให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 241 และมาตรา 193/27 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

          ผู้ร้องมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้นั้น แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ เพราะมิใช่สิทธิยึดหน่วง ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาทไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2546  ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินโดยจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้นั้น แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ ส่วนสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น หนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้น หาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาท ผู้ร้องต้องส่งต้นฉบับที่ดินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อทำการบังคับคดีต่อไป

          โฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดิน แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545   โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่

          เป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2541  การที่โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว ดังนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายในเรื่องสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดพิพาท ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดพิพาทจนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

          (4) หนี้นั้นต้องถึงกำหนดชำระแล้ว

          ถ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็จะอ้างสิทธิยึดหน่วงไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2544   แม้จำเลยจะจ้างโจทก์ทำเพลทแม่พิมพ์หลายครั้ง แต่ในการจ้างแต่ละครั้งสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อหนี้ ค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เกี่ยวกับการว่าจ้างครั้งที่ 4 และไม่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยเพลทแม่พิมพ์ตามสัญญาจ้างครั้งที่ 4 ที่โจทก์ยึดถือไว้ ทั้งหนี้ค่าจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 4 ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงเพลทแม่พิมพ์ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 การที่โจทก์ยึดเพลทแม่พิมพ์ไว้  ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ทำให้จำเลยไม่สามารถพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ย่อมทำให้จำเลยเสียหายอยู่ในตัว


          ข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่เกิดสิทธิยึดหน่วง

          ป.พ.พ. มาตรา 242 " สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่ง อันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย "
          เหตุแห่งข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่เกิดสิทธิยึดหน่วงตามที่ได้บัญญัติในมาตรา 242 คือ
          (1) สิทธิยึดหน่วงที่ไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้
          (2)สิทธิยึดหน่วงที่ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้น
          (3) สิทธิยึดหน่วงที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน


          ผลของสิทธิยึดหน่วง

          เมื่อเกิดสิทธิยึดหน่วงขึ้นแก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิและตกอยู่ในบังคับแห่งหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติในมาตรา 244, 245, 246, 247 และ 248 กล่าวคือ

          ก. สิทธิของเจ้าหนี้ 
          ผลของการยึดหน่วงทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิ 3 ประการ
          (1) สิทธิที่จะยึดทรัพย์ไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนสิ้นเชิง มาตรา 241, 244
          (2) สิทธิในดอกผล มาตรา 245 คือ สิทธิเก็บดอกผล และสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากดอกผลนั้นก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
          (3) สิทธิได้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น มาตรา 245, 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555   การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
          เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2533  โจทก์ว่าจ้างจำเลยตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อจำเลยตัดเย็บเสื้อผ้าผิดแบบ โจทก์ก็ส่งเสื้อไปให้จำเลยทำการแก้ไขโดยขยายระยะเวลาให้จำเลยส่งมอบเสื้อที่แก้ไขแล้วให้แก่โจทก์ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ส่งไปให้แก้ไข จำเลยได้แก้ไขเสื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ส่งกลับคืนไปให้โจทก์ภายในกำหนด 10 วัน เพราะโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าจ้างตัดเย็บเสื้อให้แก่จำเลยดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะจำเลยมีสิทธิไม่ยอมส่งมอบเสื้อที่แก้ไขแล้วให้แก่โจทก์ได้ จนกว่าโจทก์จะชำระสินจ้างหรือขอปฏิบัติการชำระสินจ้าง

          ข.หน้าที่ของเจ้าหนี้   
          มาตรา 246 บัญญัติให้เจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยึดหน่วง มีหน้าที่ 2 ประการ คือ
          (1) หน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ที่ยึดหน่วงตามสมควร มาตรา 246 วรรคแรก
          (2) หน้าที่ต้องไม่เอาไปใช้สอย หรือให้เช่า หรือทำเป็นหลักประกัน มาตรา 246 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2523  เจ้าของนำรถจักรยานยนต์มาจ้างร้านโจทก์ซ่อมแล้วไม่มารับคืนเพราะค่าจ้างสูง โจทก์จึงเอามาใช้ขับขี่ แล้วถูกรถจำเลยชนได้รับความเสียหาย กรณีนี้โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์โดยชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องรับผิดต่อเจ้าของรถหากรถนั้นต้องเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์คันนั้นแก่โจทก์ได้

          ความระงับแห่งสิทธิยึดหน่วง

          สิทธิยึดหน่วงเป็นสิทธิซึ่งเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน สิทธิยึดหน่วงจะมีได้ก็เมื่อมีหนี้ประธาน ถ้าหนี้ประธานระงับไป สิทธิยึดหน่วงก็ระงับไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ประธานอาจยังมีอยู่ สิทธิยึดหน่วงก็อาจระงับไปด้วยเหตุดังต่่อไปนี้
          (1) เจ้าหนี้ฝ่าฝืนหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 246 การฝ่าฝืนหน้าที่ของเจ้าหนี้มิได้ทำให้สิทธิยึดหน่วงระงับไปทันที เพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดสิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะเรียกร้องให้ระงับสิทธิยึดหน่วงนั้นเสียโดยเรียกทรัพย์คืน แต่ลูกหนี้ต้องใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น
          (2) ลูกหนี้หาประกันมาให้ตามสมควร ตามมาตรา 249
          (3) การครองทรัพย์สูญสิ้นไป ตามมาตรา 250 กล่าวคือ ถ้าการครองทรัพย์สินสูญสิ้นไป สิทธิยึดหน่วงก็เป็นอันระงับสิ้นไปด้วย แต่ ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับแก่ กรณีที่ทรัพย์สินอันยึดหน่วงไว้นั้น ได้ให้เช่าไป หรือจำนำไว้ ด้วยความยินยอมของลูกหนี้
          (4) การระงับโดยเหตุอื่น เช่น ถ้าทรัพย์ที่ยึดหน่วงไว้ถูกทำลายสลายลง




20 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานฟ้องเท็จ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 175  "ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
          มาตรา 176  "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 175 แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ความผิดฐานฟ้องเท็จ เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15243/2557  ความผิดฐานฟ้องเท็จเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การถอนฟ้องในระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องคงเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 176
          คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องโดยลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองมาในส่วนของคำขอท้ายฟ้องก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งโจทก์ให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง จนเห็นได้ว่าเป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15232/2553   เมื่อจำเลยเอาความเท็จมาฟ้องโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหาย และความผิดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยฟ้องคดี แม้จำเลยที่ 2 ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์จะให้การรับสารภาพ ก็หาใช่ว่าโจทก์มีส่วนมีร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อันมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่
          ส่วน ป.อ. มาตรา 176 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 175 แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบรรเทาโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด ดังนี้ เมื่อจำเลยถอนฟ้องในคดีอาญาที่เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ก่อนมีคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ลุแก่โทษต่อศาลแล้ว ควรได้รับการบรรเทาโทษตามบทบัญญัตินั้นทั้งกฎหมายหาได้บัญญัติว่าจำเลยต้องให้การรับสารภาพจึงจะได้รับการบรรเทาโทษ

          โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องเป็นเท็จด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19980/2555   ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องและเบิกความเป็นเท็จด้วย ที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์เพียงบรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ซึ่งเป็นลูกความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องจะเป็นความเท็จหรือความจริงโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏว่า คำฟ้องเป็นความเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ว. ไม่ใช่โจทก์นั้น เป็นเพียงการอ้างผลของคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 หมายเลขแดงที่ 895/2549 ของศาลชั้นต้น ว่าศาลในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าอย่างไรเท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวยืนยันข้อความใดที่อ้างว่าเป็นความเท็จ โดยความจริงมีว่าอย่างไรแต่อย่างใด
          ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า โจทก์ทำหน้าที่เพียงเป็นทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ตัวความซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดี แต่การเป็นทนายความผู้เรียงคำฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทำไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงด้วยว่า ความจริงจำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่า โจทก์มิได้รู้เห็นหรือทราบมาก่อนว่าเรื่องราวตามที่โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น เป็นความเท็จ ลำพังการอ้างว่า โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความ จึงมิใช่เป็นการกล่าวถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จนั้นเช่นไร โดยมีความจริงเป็นอย่างไรและจำเลยทั้งสองทราบดีเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) คดีไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง      
          
          การฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และพวกร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9941/2553  ตามพฤติการณ์ทั้งโจทก์ ศ. และ น. ต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมาไม่ว่าด้วยประการใดๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่าการที่ ศ. สั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลยย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับ ศ. ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่ ศ. ออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อ ศ. เป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่เดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลยเช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่ ศ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่ น. เพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับ ศ. ในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และ ศ. กล่าวหาโจทก์และ ศ. ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และ ศ. ร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

          ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายในสัญญากู้เพื่อสร้างหลักฐานการกู้เงิน แล้วนำมาฟ้องผู้เสียหายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ และเมื่อเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8902/2552   เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกับ บ. แต่จำเลยจัดให้ บ. และ ฝ. ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมสัญญากู้ยืมเงิน การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ร่วมโดยระบุว่าโจทก์ร่วมออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นฟ้องเท็จ เพราะการกู้ยืมเงินไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย

          กรณีฟ้องความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน สืบเนื่องมาจากการโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วโจทก์นำรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาท จำเลยยื่นฟ้องโจทก์เนื่องมาจากเข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยเข้าใจ ไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8520/2544  ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน 18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

          แต่ถ้าฟ้องว่าผู้เสียหายบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีทรัพย์ที่เสียหายตามคำฟ้องจริง ย่อมมีความผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5100/2539   โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ การที่จำเลยที่ 1 เอาความอันรู้อยู่ว่าเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่า โจทก์กระทำความผิดอาญาในความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าในบริเวณที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันต้นยางพาราของจำเลยที่ 1 ไม่มีต้นยางพาราพันธุ์ จี.ที.ปลูกอยู่ การที่จำเลยที่ 1 นำความอันรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาฟ้องและเบิกความเท็จว่า โจทก์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันต้นยางพาราพันธุ์จี.ที. ของจำเลยที่ 1 เสียหาย 57 ต้น และจำเลยที่ 2 เบิกความเท็จว่าต้นยางพาราบริเวณดังกล่าว จำเลยที่ 1 ปลูกมาประมาณ 2 ถึง 3 ปีแล้ว อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่า ข้อความตามฟ้องและที่จำเลยทั้งสองเบิกความเบิกความนั้นเป็นเท็จและความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จตามป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคสอง

          ฟ้องคดีอาญาไปตามความเข้าใจตามที่พบเห็นมา แม้ความจริงจะไม่เป็นตามฟ้อง ก็ไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  389/2542  แม้จะได้ความตามคำเบิกความของ ส. พยานโจทก์และคำวินิจฉัยของศาลล่างว่าพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองขาดเจตนา กระทำความผิดดังที่จำเลยฟ้อง แต่จำเลยก็ฟ้องโจทก์ทั้งสอง เป็นคดีอาญาไปตามความเข้าใจของจำเลยตามที่พบเห็นมา จึงเป็นการขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จ การกระทำของจำเลยไม่เป็น ความผิดฐานฟ้องเท็จ คดีโจทก์ไม่มีมูล
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองในชั้นนี้ว่า คดีมีมูลหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าแต่เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันต่อศาลชั้นต้นโดยกล่าวหาว่า โจทก์ที่ 2 กระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ส่วนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยละเว้นไม่จับกุมโจทก์ที่ 2 ซึ่งกระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งตามคำฟ้องของจำเลยไม่เป็นความจริง คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในความผิดฐานฟ้องเท็จ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีมีมูลข้อเท็จจริงได้ความว่า ข้อหาฐานวิ่งราวทรัพย์เกิดในบริษัท ค. ซึ่งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองเข้าไปขอยืมใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท สำหรับสาเหตุที่โจทก์ทั้งสองขอยืมเอกสารดังกล่าวได้ความว่ากรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวและภริยาซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยหลบหนีคดีอาญาเรื่องเช็คที่โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตามวิสัยของปุถุชนโดยทั่วไป โจทก์ทั้งสองซึ่งมีความสนิทสนมกับจำเลยและนายจ้างของจำเลยมาก่อน นำใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปถ่ายเอกสารย่อมแสดงได้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาร่วมกันวิ่งราวทรัพย์คือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ ทั้งโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่มีหน้าที่ต้องจับกุมโจทก์ที่ 2 เพราะโจทก์ที่ 2 มิได้กระทำความผิดแต่อย่างใดซึ่งจำเลยก็ทราบดีการที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาฐานวิ่งราวทรัพย์และข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจึงเป็นเท็จนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนางสาวเสาวคนธ์จิตรัตน์ พยานโจทก์ และคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่าพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองขาดเจตนากระทำความผิดดังที่จำเลยฟ้องแต่จำเลยก็ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีอาญาตามฟ้องไปตามความเข้าใจของจำเลยเองตามที่พบเห็นมาซึ่งนับว่าขาดเจตนากระทำผิดฐานฟ้องเท็จเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีไม่มีมูลนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

          จำเลยมิได้บรรยายฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง พฤติการณ์แห่งคดีไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  489/2539  การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 175 นอกจากจะต้องเอาข้อความเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาแล้ว ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตาม ป.อ.มาตรา 59 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ทำและนำไปปิดประกาศที่หน้าบ้านโจทก์ซึ่งบุคคลอื่นที่ผ่านไปมาสามารถพบเห็นได้โดยง่ายมีข้อความว่า ป.ผู้เช่าบ้านของ ก.ภริยาโจทก์ซึ่งถูกฟ้องขับไล่ทนต่อความละอายไม่ได้ ได้ออกจากบ้านเช่าไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่จำเลยกับมารดาและน้องๆ ของจำเลยบริวารของ ป.ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเช่าตามลำพังโดยไม่จ่ายค่าเช่า และจำเลยได้นำป้ายชื่อและอาชีพของตนไปติดไว้ที่ฝาบ้านโดยเปิดเผยแสดงเจตนาครอบครองบ้านเช่าเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ใส่ความจำเลยต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณาด้วยเอกสารว่า แม้ผู้เช่าบ้านได้ยอมออกจากบ้านไปแล้ว จำเลยซึ่งเป็นบริวารยังดื้อดึงอาศัยอยู่ในบ้านเช่าตามลำพังโดยไม่จ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้เช่า ทั้งยังเอาป้ายชื่อและอาชีพของจำเลยไปติดไว้แสดงเจตนาครอบครองบ้านเช่า เป็นการกระทำที่น่าจะทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังและตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ก็เป็นหนังสือของโจทก์ถึงจำเลยโดยตรงข้อความที่ว่า ป.ผู้เช่าได้ออกจากบ้านเช่าไปอยู่ที่อื่นแล้วนั้น ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า ป.ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าบ้านอีกต่อไป ผู้ที่ตัองรับผิดชำระค่าเช่าบ้านคือผู้ที่อยู่ในบ้านเช่า ซึ่งก็หมายถึงตัวจำเลยนั่นเอง ทั้งจำเลยได้แนบเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารท้ายฟ้องของคดีอาญาที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นฟ้องเท็จด้วย จำเลยจึงมิได้บรรยายฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง พฤติการณ์แห่งคดีไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ 



15 กรกฎาคม 2559

เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 294  "ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"
          มาตรา 299  "ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น

          การชุลมุนต่อสู้กันจะต้องไม่สามารถรู้หรือไม่สามารถแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2642/2542  จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 มีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายผู้ตายกับพวกมาแต่แรกอีกทั้งได้ลงมือทำร้ายผู้ตายกับพวกโดยร่วมกัน ชกต่อยและใช้ไม้ตี ถึงแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายเพราะถูกแทง โดยไม่รู้ว่าจำเลยคนไหนเป็นคนแทง จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 ก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน แม้แต่ละฝ่ายมีหลายคนแต่เมื่อสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ หาใช่เป็นความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กันเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตายไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1189/2537  แม้จำเลยจะมีพวกน้อยกว่า แต่จำเลยกับพวกมีทั้งอาวุธปืนและอาวุธมีด น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกไม่ได้เกรงกลัวโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย การทะเลาะวิวาทระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นการสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจอ้างเรื่องป้องกันตัวมาเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้ว่าในระหว่างการวิวาทกันนั้นจำเลยอาจเพลี่ยงพล้ำไปบ้างก็ตาม และกรณีที่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่ง และจำเลยกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งได้เกิดวิวาททำร้ายกัน และจำเลยใช้อาวุธปืนพกที่ติดตัวไปยิงโจทก์ร่วมกับพวกและใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเช่นนี้เป็นคนละกรณีกับเรื่องชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพราะกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายโจทก์ร่วมและการที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงโจทก์ร่วมกับพวก กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและพลาดไปถูกผู้อื่นถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4804/2530  กรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงตาย ตาม ป.อ. มาตรา 294 หมายถึงกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครได้ทำร้ายผู้ตายถึงตาย มิใช่กรณีที่ฝ่ายหนึ่งกลุ้มรุมกันทำร้ายผู้ตายถึงตาย ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา.

          การเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจนมีผู้เสียชีวิต จะต้องไม่อาจทราบได้ว่าใครหรือฝ่ายไหนเป็นคนทำร้ายให้เสียชีวิต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3713/2531  ผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายในขณะเกิดชุลมุนต่อสู้หรือสมัครใจวิวาทกันระหว่างฝ่ายผู้ตายและฝ่ายจำเลยซึ่งได้เข้าร่วมในการชุลมุนตั้งแต่สามคนขึ้นไป โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้าร่วมในการชุลมุนคนใดใช้มีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เช่นนี้ จะถือว่าผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 เท่านั้น
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้ตายซึ่งอยู่ในที่ชุลมุนด้วยถูกแทงทำร้ายถึงแก่ความตาย คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้ตายด้วยเท่านั้น โจทก์มี ว. พ. และ ส. ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเป็นพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ว่าจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงทำร้ายผู้ตาย แต่พยานโจทก์ทั้งสามนี้กลับเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้ในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1800/2528 ของศาลชั้นต้นว่า คนร้ายถือมีดมีหลายคน ที่สำคัญไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนแทงทำร้ายผู้ตายแต่อย่างใด โดยเฉพาะ ว.เบิกความว่า ค.เป็นคนใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตาย ส่วน พ.กับ ส.เบิกความในคดีก่อนในส่วนที่เกี่ยวกับคนร้ายรายนี้ว่า มี ข.(ชื่อเหมือนกันกับชื่อจำเลยในคดีนี้) ยืนอยู่ในกลุ่มของ ค. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 คนในขณะเกิดเหตุด้วย สำหรับคดีนี้ ว.เบิกความว่า จำเลยใช้มีดแทงที่ท้องของผู้ตาย พ.เบิกความว่า จำเลยแทงทำร้ายผู้ตาย 2 ครั้งคือที่ท้องและหลัง ส่วน ส. เบิกความตอนแรกว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยถือเหล็กขูดซาฟท์ แต่เบิกความตอนแทงทำร้ายผู้ตายว่าจำเลยใช้มีดแทงอย่างไรก็ดี ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตายท้ายฟ้องปรากฏว่าผู้ตายถูกแทงมีบาดแผล 2 แผล คือที่บริเวณหลังด้านซ้ายกับที่บริเวณหลังด้านขวา หาใช่ถูกแทงที่ท้องดังพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไม่ เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดต่อลักษณะสภาพบาดแผลของผู้ตาย ประกอบกับได้ความว่าพยานโจทก์ก็ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจนต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด และไม่ทราบว่าถูกผู้ร่วมในการชุลมุนคนไหนแทงทำร้ายรวมทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีคนแทงทำร้ายผู้ตายซึ่งเป็นสาระสำคัญ 2 ครั้ง แตกต่างกันไม่อยู่กับร่องรอยเช่นนี้ ทำให้น่าเชื่อว่าพยานโจทก์คงเห็นไม่ถนัดหรือไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ร่วมในการชุลมุนคนไหนใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าผู้ตายถึงแก่ความตายสืบเนื่องจากการที่จำเลยกับพวกของจำเลยเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และแม้พวกของจำเลยจะได้ร่วมทำร้ายร่างกายผู้ตายด้วย ก็ต้องถือว่าจำเลยกับพวกของจำเลยร่วมกันฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายในขณะเกิดชุลมุนต่อสู้หรือสมัครใจวิวาทกันระหว่างฝ่ายผู้ตายและฝ่ายจำเลยซึ่งได้เข้าร่วมในการชุลมุนตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้าร่วมในการชุลมุนคนไหนใช้มีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเช่นนี้ จะถือว่าผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้ ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยมา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          ใช้สิ่งของขว้างปากับกลุ่มคนที่ทะเลาะวิวาทกัน เป็นการเข้าร่วมในการชุลมุนวิวาทด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2241/2522  ใช้สิ่งของขว้างปากับกลุ่มคนที่ทะเลาะวิวาทกัน เป็นการเข้าร่วมในการชุลมุนวิวาทด้วย เมื่อเป็นเหตุให้มีคนตาย เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ใช้สิ่งของขว้างปากับกลุ่มบุคคลที่ทะเลาะวิวาทนั้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ด้วย และเหตุที่มีการขว้างระเบิดจนเป็นเหตุให้มีคนถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัสก็โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น"
          
          ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8737/2553  ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา




14 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 295  "ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 297  "ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
          อันตรายสาหัสนั้น คือ
          (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
          (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
          (3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
          (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
          (5) แท้งลูก
          (6) จิตพิการอย่างติดตัว
          (7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
          (8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน"
          มาตรา 391  "ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ใช้มีดขนาดไม่ใหญ่ฟันกลางหลังแผลไม่ลึก บาดแผลไม่ร้ายแรง ทั้งที่มีโอกาศเลือกแทงอวัยวะสำคัญได้ เป็นเจตนาทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5744/2555  โจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น




          ใช้มีดแทงเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหนีไป บาดแผลที่ถูกแทงไม่ลึกรักษาเพีบง 7 วันหาย เจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  290/2554  ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผลเพียงแต่ระบุว่า บาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนักทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

          บาดแผลจากการถูกตบหน้าหลายครั้งที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตรและแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร รักษา 7 วันหาย เป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 อันเป็นความผิดลหุโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8192/2553  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว ถือว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลย จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือไม่ ...... สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ได้ความจากผู้เสียหาย จำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่บริเวณลานปั๊มน้ำมัน โดยตบหน้าหลายครั้งและในห้องน้ำอีกหลายครั้ง เมื่อได้พิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์แล้วปรากฏว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตร และแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่า สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และกำหนดโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นของจำเลยอีก

          ยิงลงพื้นในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญ ลักษณะบาดแผลอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมา แสดงว่ามิได้มีเจตนาที่จะทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต เป็นความผิดเพียงเจตนาทำร้าย มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1336/2553  ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย ลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมาคงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลังเมื่อนอนหมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295
          จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุก็เพื่อเอารถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยที่จอดทิ้งไว้ มิได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวก การที่ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหลบหนีแต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการรุมทำร้ายของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจนหมดลูกโม่จำนวน 6 นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนและผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิง ก. ผู้เสียหายที่ 1  ช. ผู้เสียหายที่ 2  ป. ผู้เสียหายที่ 3 ท. ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปัญหาประการแรกจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสี่เบิกความสอดคล้องทำนองเดียวกันว่าในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ชวนกันไปดื่มน้ำชาในร้านเกิดเหตุพบจำเลย ถ. ส. และ ว. นั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกนั่งดื่มน้ำชาได้ประมาณ 15 นาที ถ.ได้เดินเข้าไปชกหน้าผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ได้เตะตอบไป ถ.ดึงอาวุธมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายที่ 1 เฉียดชายโครง ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนี เมื่อเห็นว่าไม่มีผู้ใดวิ่งไล่ตาม ผู้เสียหายที่ 1 เดินกลับมาร่วมกลุ่มกับพวกที่ร้านน้ำชาเกิดเหตุ ต่อมาอีกประมาณ 10 นาที ส.ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยมี ว.และจำเลยตามลำดับนั่งซ้อนท้ายกลับมาที่ร้านเกิดเหตุเพื่อมาเอารถจักรยานยนต์ของ ส.ซึ่งจอดทิ้งไว้ เมื่อมาถึงผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปถามหา ถ.ว่าไปไหน เมื่อจำเลยกับพวกตอบปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รุมต่อยจำเลยกับพวก จำเลยชักอาวุธปืนของกลางยิงมาทางผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกรวม 5 นัด ถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บและพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บด้วย เห็นว่า ที่ผู้เสียหายที่ 1 มีเรื่องกับ ถ. จำเลยกับพวกที่ไปด้วยกันไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 กับพวกด้วย ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้จากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่า ก่อนเกิดเหตุไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้คิดวางแผนและมีเหตุจูงใจที่จะทำร้ายหรือมุ่งหมายเอาชีวิตผู้เสียหายที่ 1 กับพวกมาก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยรับว่าได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ มีกระสุนบางนัดเกิดจากการยิงแล้วสะบัดจะไปถูกผู้ใดบ้างไม่ทราบ พันตำรวจโท ร. สารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่าหลังเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีเหตุยิงกันที่ร้านน้ำชาเกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนี จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจตั้งด่านสกัดทุกเส้นทาง ต่อมาได้รับแจ้งว่าจับจำเลยกับพวกอีกสองคนได้ จึงร่วมตรวจค้นจำเลยกับพวกพบปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 ปลอก สอบปากคำจำเลยเบื้องต้น จำเลยให้การรับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจริง และได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า อาวุธปืนของกลางบรรจุกระสุนคราวละ 6 นัด นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 4 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เห็นกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ จากนั้นได้ยินเสียงปืน 3 ถึง 4 นัดเห็นแต่แสงไฟแลบออกมา แต่ไม่เห็นตัวคนยิง ระดับแสงไฟจากปากกระบอกปืนอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง ต่อมาได้ยินเสียงปืนอีก 2 นัด ห่างจากช่วงแรกเล็กน้อย ผู้เสียหายที่ 4 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า แสงจากปากกระบอกปืนนัดแรกที่เห็นพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนนัดอื่นๆ พุ่งมาทางผู้เสียหายที่ 4 และกลุ่มวัยรุ่นที่ทะเลาะกัน สำหรับบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับได้ความจากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดขนาด 2 X 1 เซนติเมตร บริเวณขาขวา มีเขม่าดำรอบๆ ขอบแผล ซึ่งบาดแผลน่าจะเกิดจากอาวุธปืน คาดว่าจะใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรก ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลจำนวน 6 แห่ง บาดแผลที่ขาขวาด้านซ้ายมีรอยเขม่าสีดำขนาด 2 เซนติเมตร น่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดจากอาวุธปืน คาดว่าจะหายเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนผู้เสียหายที่ 3 มีบาดแผล 2 แห่ง บริเวณแผ่นหลังคาดว่าจะหายภายใน 10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรก ผู้เสียหายที่ 4 มีบาดแผล 2 แห่ง บริเวณโคนขาซ้ายด้านหลังพบเขม่าสีดำบริเวณบาดแผล น่าจะเกิดจากอาวุธปืน คาดว่าใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรก ซึ่งคำเบิกความของพันตำรวจโท ร. ผู้เสียหายที่ 4 และแพทย์ผู้ตรวจ สอดรับกับคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้าและยิงต่อมาอีกจนกระสุนหมดลูกโม่รวม 6 นัด แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมา คงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ที่ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลัง แต่จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 ได้ความว่า เมื่อได้ยินเสียงปืนจึงหมอบลงกับพื้นเห็นแต่แสงไฟจากปากกระบอกปืน ไม่เห็นตัวผู้ยิง ขณะหมอบรู้สึกตัวว่าถูกกระสุนปืนที่หลังด้านขวามือแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลเมื่อนอนหมอบลงแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับกับลักษณะการยิงของจำเลยเช่นเดียวกันแม้อาวุธปืนจะเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถก่อให้เกิดภยันตรายที่อาจทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ แต่การกระทำเนื่องจากการใช้จะต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้ใช้ด้วย การที่จำเลยยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้ายลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน ต่อมาการที่จำเลยยิงอีกหลายนัดจนหมดลูกโม่ก็เป็นการยิงลงพื้นดินและระดับต่ำเพื่อมิให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต การที่กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จำเลยก็รับว่าเกิดจากการไม่สามารถบังคับการยิงได้ ทำให้ปืนสะบัดไปสะบัดมา แต่ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ได้รับก็เกิดจากการยิงในระดับต่ำเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ดังนี้เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          ฟันเพียงครั้งเดียว บาดแผลไม่ฉกรรจ์ เจตนาเพียงทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1190/2553  จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีไป ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยวิ่งไล่ตามไปทำร้ายผู้เสียหายอีก ซึ่งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ชกต่อยกับผู้เสียหาย โดยไม่ได้เลือกว่าจะฟันผู้เสียหายบริเวณใด หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายมาก่อน จำเลยสามารถวิ่งไล่ตามไปใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายได้อีกโดยไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดมาขัดขวางไม่ให้จำเลยทำเช่นนั้น ประกอบกับพวกของจำเลยก็มีหลายคนสามารถวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปได้นอกจากนี้ขณะที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายเพียงแต่ยกแขนขึ้นบังเท่านั้นไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณข้อศอกข้างขวายาวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้มีดฟันอย่างรุนแรง อีกทั้งจำเลยและผู้เสียหายไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนถึงขนาดจะต้องเอาชีวิต พฤติการณ์การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะทำร้ายเท่านั้น

          เจตนาทำร้าย แต่เกิดผลทำให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็ยเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส มาตรา 297(8)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5087/2551  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
          ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

          แม้จำเลยพูดว่าจะฆ่า แต่ตามพฤติการณ์เป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธเพื่อให้พวกจำเลยสั่งสอนผู้เสียหายเท่านั้น จากนั้นพวกจำเลยมีการลงมือทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยจึงรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297(8)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17866/2555  การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า “กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย” นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหาย ถูก ส.ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และผู้เสียหายอ้างว่ายังมีคนร้ายอีกหลายคนร่วมทำร้ายร่างกายด้วย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ต่อมา ส.ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดี
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเป็นเวลานานถึง 5 นาที ผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจำเสียงของจำเลยได้ ซึ่งผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเสียงที่ตะโกนด่าไล่หลังว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย เป็นเสียงของจำเลย และ ช. พยานโจทก์ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นคงมีแต่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเท่านั้นโดยไม่มีพนักงานคนอื่นของบริษัทเข้าโต้เถียงกับผู้เสียหายด้วย และเหตุการณ์ที่ ส. กับลูกน้องของจำเลยอีกหลายคนเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายก็เกิดขึ้นทันทีหลังจากจำเลยตะโกนสั่ง รูปคดีบ่งชี้ว่าจำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายแล้วเกิดอารมณ์โกรธจึงตะโกนว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย และการที่ ส.กับลูกน้องของจำเลยคนอื่นๆ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เป็นการกระทำตามที่จำเลยตะโกนสั่ง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเกิดขึ้นต่อเนื่องทันทีหลังจากมีเสียงตะโกนสั่งของจำเลย อีกทั้งโจทก์ยังมีรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมาแสดงเป็นพยานหลักฐานประกอบ โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีหลังจากเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามความเป็นจริงโดยไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวยังระบุคำพูดของจำเลยและรายละเอียดรวมทั้งขั้นตอนการกระทำความผิดสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวน ส. ให้การรับสารภาพว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเนื่องจากได้ยินเสียงจำเลยพูดทำนองว่าให้จัดการหน่อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยสั่งให้ ส.กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษานานเกินกว่า 1 เดือน และได้ความจากผู้เสียหายว่ากระดูกข้อมือซ้ายหักต้องเข้าเฝือก ระหว่างนั้นยกของหนักไม่ได้ กว่าจะหายเป็นปกติใช้เวลารักษา 2 เดือน จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ถือได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนคำพูดของจำเลยที่ว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธและเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง

          ถูกทำร้ายจนมีบาดแผลฉีกขาดยาว 3 เซนติเมตร ลักษณะบาดแผลใช้เวลารักษา 7 วัน นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2888/2547   การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก และน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83

          แค่จับมือยกขึ้นให้ตำรวจเห็น ไม่ถือว่ามีเจตนาทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3580/2545  จำเลยเข้ามาจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นพร้อมกับพูดว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามา จำเลยก็ปล่อยมือของโจทก์ โดยใช้เวลาจับมือของโจทก์ไว้ไม่ถึงหนึ่งนาที เจตนาอันแท้จริงของจำเลยในการจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นก็เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าบ้านไว้โดยไม่มีสิทธิจะรับเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะทำร้ายโจทก์ให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

          บาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำ ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7665/2544  ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและฟกช้ำที่คอด้านขวาขนาด 1 x 2 เซนติเมตร และมีบาดแผลถลอกฟกช้ำที่โหนกแก้มซ้ายขนาด 1 x 1 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่าเกิดจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกโดยแรง ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสุดท้าย

          จำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน คือ การทำร้ายร่างกาย เมื่อไม่มีบาดแผลจากการชกต่อย จึงรับผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9650/2553  ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

          การทำร้ายร่างกายต้องดูพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายประกอบกัน ใช้กำปั้นทุบทำร้าย ไม่มีบาดแผล เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3630/2550  การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

          ตบหน้าเพียงสองครั้ง ไม่เกี่ยวกับแขนหัก จึงรับผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2770/2544  จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้มือตบหน้าเพียง 2 ครั้งส่วนการที่กระดูกต้นแขนซ้ายของผู้เสียหายหักอาจเกิดจากผู้เสียหายวิ่งล้มลง มิได้เกิดจากจำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวมากน้อยเพียงใด จึงฟังได้เพียงว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 และการที่ผู้เสียหายตะโกนด่าถึงมารดาจำเลยว่ามารดาจำเลยเป็นโสเภณีและถึงแก่กรรมด้วยโรคเอดส์ เป็นการกล่าวหาว่ามารดาจำเลยสำส่อนทางเพศ ถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยตบหน้าผู้เสียหาย 2 ครั้ง ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225