คำพิพากษาศาลฎีกา คดีแพ่ง ที่น่าสนใจ













-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2566 ร้องซ้ำ, เจ้าของรวมคนหนึ่งยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมเพื่อดำเนินคดีในศาลเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก เป็นการกระทำแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย คดีถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ เจ้าของรวมคนอื่นจึงไม่อาจนำประเด็นข้อเท็จจริงเดียวกันมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินอีก เป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2566 ฟ้องซ้ำ, จำเลยในคดีก่อนและจำเลยที่ 2 คดีนี้ ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ พ. (จำเลยซึ่งในคดีนี้) เป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน เมื่อเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนและในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว จึงต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148


-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4969/2565 ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายได้เฉพาะกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) แต่กรณีที่ตกลงหย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง





-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563 ก่อนตายเจ้ามรดกยกที่ดินให้จำเลย แม้ผู้ตายยกให้โดยมิได้จดทะเบียนโอน แต่เมื่อจำเลยครอบครองด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563 สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนห้องชุดตามสัญญาซื้อขายให้โจทก์ได้นั้น เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากหนี้ และเมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2562 กฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนคนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาโดยไม่ได้รับอนุญาต คนต่างด้าวต้องปฏิบัติตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 คือ ต้องจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9882/2560 ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้า แม้จะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม
 
-  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 ผู้กู้หาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ ส่วนผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากผู้กู้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ผู้ให้กู้ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำเงินที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยทั้งหมดไปหักต้นเงินกู้