คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2565 ทรัพย์มรดก, ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน, การใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้

          
          จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตาย ซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์มรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่านั้น แม้ในการจัดการมรดกทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท จำเลยที่ 1 อาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายมรดกได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการกระทำเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์มรดกโดยประการอื่นได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากแต่เป็นการกระทำใด ๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะรับฟังว่าซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขาย การที่โจทก์และ อ. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3
          -------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1151 ให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1151 แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

          จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 2,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 3

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงมีคำสั่งไม่รับ

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่ง ห้ามจำเลยทั้งสามจำหน่าย จ่าย โอนหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทในระหว่างพิจารณา แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นิติกรรมการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1151 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ตกเป็นโมฆะและให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว และให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1151 คืนแก่โจทก์ตามฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้คำสั่งศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการบังคับตามคำพิพากษาเสร็จสิ้น

          จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นสามีของนางมยุเรศผู้ตาย เด็กชายอเล็กซานเดอร์เป็นบุตรของโจทก์กับผู้ตาย โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายอเล็กซานเดอร์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1151 ทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 1,000,000 บาท แล้วเบียดบังเอาเงินที่ได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกไม่เคยทราบและไม่เคยยินยอมให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และนำสืบข้อเท็จจริงโดยนำนายจตุพรผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายไม่ทราบและมิได้รู้เห็นยินยอม ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์และมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยพลการ โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมิได้รู้เห็นยินยอมในการขายที่ดินพิพาทด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ได้ความจากสำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางมยุเรศผู้ตาย ว่า ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่านั้น แม้ในการจัดการมรดกทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 อาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายมรดกได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการกระทำเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์มรดกโดยประการอื่นได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากแต่เป็นการกระทำใด ๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะรับฟังว่าซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขาย การที่โจทก์และเด็กชายอเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ตายที่ยังมีชีวิตและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิชอบดังกล่าว จึงมีเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 และไม่ได้ความจากทางพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากการขายที่ดินพิพาท จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

          พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลรวม 15,000 บาท เพิ่มเติมจากความรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

          (สุภัทร อยู่ถนอม-นิรัตน์ จันทพัฒน์-สมเกียรติ ตั้งสกุล)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 วรรคสอง, 1336, 1719