คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2567 สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก, การจัดการมรดกไม่ชอบ, เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมฟ้องเรียกทรัพย์คืน

          คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มีที่มาจากบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำกับทายาทของ ก. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ให้แก่ทายาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 (เลขที่ 96870) ให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก อันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนภายใต้ขอบอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง และ 1745 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกรู้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ แต่กลับมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทวันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นเวลาหลังจากได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพียง 18 วัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของจำเลยที่ 1 ที่จะเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและนอกขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ผู้มีชื่อไปขอใบแทนทั้งที่โฉนดที่ดินไม่ได้สูญหาย ใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้โฉนดที่ดินถูกยกเลิกไป และถือไม่ได้ว่าใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คู่กรณีจะนำไปใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 63 วรรคแรกและวรรคสอง, 72 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
          ------------------------------

          โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 96870 ลงวันที่ 10 เมษายน 2561 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการโอน หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนโอนดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

          จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางพันทิพา ทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 เดิมมีชื่อนางกุ่ม เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อนางกุ่มถึงแก่ความตายจึงตกทอดเป็นมรดกแก่นายกิมเจ็ง จำเลยที่ 1 เป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายกิมเจ็ง จำเลยที่ 1 กับนายกิมเจ็ง ไม่มีบุตรด้วยกัน โจทก์เป็นบุตรของนางกิมเซ็ก ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายกิมเจ็ง โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 462/2541 หมายเลขแดงที่ 1515/2541 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2541 ในคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 คดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกิมเจ็งมีการทำบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกนายกิมเจ็งให้แก่ทายาทและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 คดีนี้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 8235 (ที่ดินพิพาท) ซึ่งภายหลังมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นโฉนดเลขที่ 96870 ให้แก่โจทก์ไว้ด้วย แต่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความและบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก วันที่ 26 ธันวาคม 2560 จำเลยที่ 1 แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า โฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย วันที่ 5 มกราคม 2561 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท วันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท วันที่ 10 เมษายน 2561 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุราคาซื้อขายเป็นเงิน 5,130,000 บาท โดยที่ดินพิพาทมีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธินิติกรรมเป็นเงิน 10,519,850 บาท

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกที่ดินพิพาทคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้หรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 462/2541 หมายเลขแดงที่ 1515/2541 ของศาลชั้นต้น มีที่มาจากบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกิมเจ็งทำกับทายาทของนายกิมเจ็งแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายกิมเจ็งให้แก่ทายาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 (เลขที่ 96870) ให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก อันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก มีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนภายใต้ขอบอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง และ 1745 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกรู้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ แต่กลับมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทวันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นเวลาหลังจากได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพียง 18 วัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของจำเลยที่ 1 ที่จะเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและนอกขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นอกจากนี้การจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยใช้ใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 96870 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ผู้มีชื่อไปขอใบแทนทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ไม่ได้สูญหาย อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของมาขอรับใบแทนโฉนดที่ดินได้ ใบแทนโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้โฉนดที่ดินเลขที่ 96870 ถูกยกเลิกไป และถือไม่ได้ว่าใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 96870 เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คู่กรณีจะนำไปใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 63 วรรคแรกและวรรคสอง, 72 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีมิใช่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความแล้วก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โดยขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์โดยบริบูรณ์ ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 หรือมีผลบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแล้ว ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายดังกล่าว ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ เพื่อให้ผลเป็นไปตามคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 96870 และเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 96870 เลขที่ดิน 289 ลงวันที่ 10 เมษายน 2561 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
          (กีรติ วรพุทธพงศ์-ประสงค์ จรูญรัตนา-รุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336, 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง, 1745, 1750 วรรคสอง
ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 63 วรรคแรก, 63 วรรคสอง, 72