คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563 สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนห้องชุดตามสัญญาซื้อขายให้โจทก์ได้นั้น เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากหนี้ และเมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1


          โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่การกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252

          ----------------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงิน 671,729.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 637,663 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกนาย ณ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

          จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงิน 999,938 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ

         โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 999,938 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 637,663 บาท นับถัดจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 และจากต้นเงิน 362,275 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจห้องชุดโครงการมาเอสโตร 12 จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้จัดการแผนกขาย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 โจทก์ตกลงซื้อห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 1 ราคา 3,917,725 บาท โจทก์ชำระเงินจองให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาท ชำระเงินเพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขาย 195,887 บาท และผ่อนชำระเงินค่างวดรายเดือน เดือนละ 16,324 บาท 24 งวด จำนวน 391,776 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 637,663 บาท เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์เพื่อนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทภายใน 30 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยที่ 1 โอนขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วม
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้อง เนื่องจากโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยร่วมไปแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยร่วมไปแล้วหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้โจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 นำห้องชุดพิพาทไปขาย หนังสือโอนสิทธิที่ระบุว่าโจทก์โอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้น ซึ่งคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือบันทึกแจ้งการกระทำความผิด ที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 ได้ยอมรับต่อจำเลยที่ 1 ว่า เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือโอนสิทธิจริง จำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานก็เบิกความยอมรับว่า หนังสือโอนสิทธิเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้น โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องจึงยิ่งเป็นการสนับสนุนให้พยานโจทก์มีน้ำหนักน่ารับฟัง ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อเท็จจริงใดมานำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วม จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือโอนสิทธิขึ้นโดยพลการและปลอมลายมือชื่อโจทก์ในเอกสารดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้จึงเป็นกรณีของการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น สำหรับการกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาล และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

          (วินัย เรืองศรี-ภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์-ภาวนา สุคันธวณิช)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 820, 821, 822
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นางชิดชนก วังศานุตร

ศาลอุทธรณ์ - นายมงคล พันธ์ฟัก

แหล่งที่มากองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

แผนก

หมายเลขคดีดำศาลฎีกาพ.762/2562

หมายเลขคดีดำศาลชั้นต้น

หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น

หมายเหตุ


ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา

 ป.พ.พ. ม. 456, ม. 820, ม. 821, ม. 822

 ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252

แหล่งที่มา

 กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ

 โจทก์ - นาง อ.

 จำ