คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9882/2560 ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้า แม้จะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม

 

          คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายว่า จำเลยใช้ทางพิพาทมาตลอด กว้าง 11 เมตร ยาวจากที่ดินจำเลยไปจดถนนกรุงธนบุรี ยาว 38 เมตร เป็นทางเดิน ยานพาหนะผ่านเข้าออก ที่จอดรถ และขนถ่ายสินค้าถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ตามแผนผังท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม ส่วนโจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงไม่ใช่ภาระจำยอมของที่ดินจำเลย จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2553 ถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยหาได้ใช้ทางดังกล่าวตลอดมาตามที่จำเลยให้การ ทางออกสู่ทางสาธารณะที่จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร เท่านั้น หาได้กว้าง 11 เมตร ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยอ้างการใช้ทางเต็มพื้นที่ตามเอกสารท้ายคำให้การจึงไม่ชอบ เห็นได้ว่าโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเฉพาะเรื่องจำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงบางส่วน มิใช่เต็มพื้นที่ที่ดินโจทก์ และใช้มายังไม่ถึง 10 ปี แต่โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งเรื่องจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้า จึงถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้าในที่ดินโจทก์ส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ด้วย
          การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้ ว. ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ ว. ขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้น จึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันฟ้องคือคือวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
          ป.พ.พ. มาตรา 1387 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลย มิใช่เพื่ออสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ด้วย แม้จำเลยและบริวารจะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม เพราะ ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ภารยทรัพย์ของผู้อื่นเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ
          ------------------------------------------------------

           โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและห้ามจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์อีกต่อไป

          จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 11 เมตร ยาว 38 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 846 และ 6151 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ของจำเลย ให้โจทก์ไปจดทะเบียนภาระจำยอมโดยไม่มีค่าตอบแทน หากโจทก์ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ห้ามมิให้โจทก์ปิดกั้นรบกวนการใช้ภาระจำยอมของจำเลยเพื่อเป็นทางเดินและยานพาหนะเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ รวมถึงการใช้เป็นที่จอดรถและการใดเพื่อประโยชน์อันเป็นปกติทางการค้า

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6151 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) จังหวัดธนบุรี และที่ดินบางส่วนกว้างประมาณ 11 เมตร ยาวประมาณ 5.6 เมตร ของที่ดินโฉนดเลขที่ 846 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) จังหวัดธนบุรี บริเวณแนวเส้นสีเหลืองตกเป็นภาระจำยอมทางเดินและยานพาหนะผ่านเข้าออกแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) จังหวัดธนบุรี ให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมโดยไม่มีค่าตอบแทน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 6151 ทั้งแปลงและในที่ดินโฉนดเลขที่ 846 กว้างประมาณ 11 เมตร ยาวประมาณ 5.6 เมตร ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร (จังหวัดธนบุรี) ของโจทก์ บริเวณเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาทตกเป็นภาระจำยอมทางเดิน ยานพาหนะผ่านเข้าออก ที่จอดรถยนต์และที่ขนถ่ายสินค้าแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร (จังหวัดธนบุรี) ของจำเลย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและส่วนฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ตกเป็นพับ

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนซอยกรุงธนบุรี 10 โดยถนนซอยช่วงแรกจากปากซอยเข้ามาเป็นที่ดินโจทก์ทั้งแปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 6151 ส่วนถนนซอยช่วงหลังซึ่งอยู่ติดกันเป็นบางส่วนของที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 846 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ตำแหน่งของที่ดินโจทก์ ที่ดินจำเลย และทางพิพาทซึ่งก็คือถนนซอยที่ระบายเป็นสีเหลืองในแผนที่พิพาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 6151 ของโจทก์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2527 เจ้าของที่ดินเดิมในขณะนั้นคือนางสุกัญญาได้จดทะเบียนที่ดินทั้งแปลงให้เป็นภาระจำยอมทางเดินและยานพาหนะเข้าออกแก่ที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 20650 ถึง 20655 ของนายอนันต์โดยไม่มีค่าตอบแทน ต่อมาปี 2528 จำเลยกับพวกซื้อที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 20655, 20654 และที่ดินที่มิใช่สามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 20644 พร้อมบ้านทาวน์เฮ้าส์ ต่อมาปี 2531 จำเลยและพวกขายที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 20654 และ 20655 แก่บริษัทเอช.เอช.เค อินเตอร์เทรด จำกัด ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 จำเลยขายที่ดินที่มิใช่สามยทรัพย์พร้อมบ้านทาวน์เฮ้าส์คือโฉนดเลขที่ 20644 ในคดีนี้ ให้แก่น้องสะใภ้คือนางสาววรรณี หลังจากนั้นนางสาววรรณีนำไปจำนองต่อธนาคารซิตี้แบงก์ ขึ้นเงินจำนอง ไถ่ถอนจำนอง จำนองใหม่ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด โอนสิทธิจำนองให้แก่กองทุนรวมไทย รีสตรัคเจอริ่ง วันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 นางสาววรรณีจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่กองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่ง และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2553 กองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลย หลังจากนั้นจำเลยกับบริวารอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านเลขที่ 156 ในคดีนี้ และใช้ทางพิพาทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่ดินของฝ่ายโจทก์นั้น เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2532 เจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์คือนางสุกัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 846 และ 6151 ให้แก่บริษัทชูยศและบุตร จำกัด ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2545 บริษัทชูยศและบุตร จำกัด ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่าบริษัทศรีสุทธิกุล จำกัด และเดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ทางพิพาท 500,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรก (ข้อ 1.1) ที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นอุทธรณ์ของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นที่จอดรถยนต์ ที่ขนถ่ายสินค้าและจำเลยใช้ทางพิพาทโดยวิสาสะ โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยฟ้องแย้งมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า โจทก์ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของจำเลยทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนว่าจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ดินของจำเลย ที่จอดรถยนต์ และที่ขนถ่ายสินค้าโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม และถือว่าโจทก์รับข้อเท็จจริงนี้และเป็นที่ยุติแล้วว่าจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ดินของจำเลย ที่จอดรถยนต์ และที่ขนถ่ายสินค้าโดยความสงบและโดยเปิดเผย ตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 84 (3) นั้น เห็นว่า ในคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายว่า จำเลยใช้ทางพิพาทมาตลอด กว้าง 11 เมตร ยาวจากที่ดินจำเลยไปจดถนนกรุงธนบุรี ยาว 38 เมตร เป็นทางเดิน ยานพาหนะผ่านเข้าออก ที่จอดรถ และขนถ่ายสินค้าถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ตามแผนผังที่ตีเส้นประด้วยสีส้ม ใช้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม ส่วนโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงไม่ใช่ภาระจำยอมของที่ดินจำเลยในคดีนี้ จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2553 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยหาได้ใช้ทางดังกล่าวตลอดมาตามที่จำเลยให้การ ทางออกสู่ทางสาธารณะที่จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร เท่านั้น หาได้กว้าง 11 เมตร ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง ที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 6151 มีเนื้อที่ 72 ตารางวา จำเลยไม่มีสิทธิใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะเต็มเนื้อที่ เพราะทางกว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร ก็เพียงพอแล้ว ไม่เป็นภาระแก่ที่ดินโจทก์เสื่อมราคามากไปจากเดิมที่โจทก์เรียกร้อง เมื่อคำนวณรวมกับที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 846 ที่จำเลยใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะมีเนื้อที่เพียง 29 ตารางวา เท่านั้น จำเลยอ้างการใช้ทางเต็มพื้นที่ตามคำให้การ จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริง ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเฉพาะเรื่องจำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงบางส่วนคือกว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร มิใช่เต็มพื้นที่ที่ดินโจทก์คือกว้าง 11 เมตร ยาว 38 เมตร และใช้มายังไม่ถึง 10 ปี เพราะจำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2553 แต่โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งเรื่องจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้า จึงต้องถือว่าโจทก์ยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ว่าจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้าในที่ดินโจทก์ส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกับบริวารได้ภาระจำยอมในทางพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 6151 ของโจทก์ทั้งแปลงอันเป็นทางพิพาทให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยจะได้ทางภาระจำยอมดังกล่าวหรือไม่จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 ทางพิจารณาโจทก์มีพยานมาเบิกความเพียงปากเดียวคือนายกีรวิชชผู้รับมอบอำนาจโจทก์ แต่นายกีรวิชชก็เบิกความโดยไม่ทราบสาเหตุที่จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่นางสาววรรณีไม่ทราบสาเหตุที่จำเลยซื้อที่ดินมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่ง คงได้ความไปตามสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามที่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว โดยนายกีรวิชชไม่ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงระหว่างที่จำเลยขายที่ดินพร้อมบ้านให้แก่นางสาววรรณี จนกระทั่งจำเลยซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งว่าใครเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ มีการใช้ทางพิพาทอย่างไรหรือไม่ ส่วนจำเลยมีพยานมาเบิกความรวม 4 ปาก โดยนำสืบถึงเรื่องการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 พร้อมบ้านทาวน์เฮาส์เลขที่ 156 ของจำเลยตั้งแต่ปี 2528 และการขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่นางสาววรรณีซึ่งเป็นน้องสะใภ้เมื่อปี 2534 โดยอ้างสาเหตุเรื่องเงินทุนการประกอบธุรกิจของจำเลย แต่จำเลยและบริวารยังคงเป็นผู้ครอบครองอาศัยอยู่ในที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวตลอดมา จนกระทั่งจำเลยซื้อที่ดินและบ้านหลังดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งเมื่อปี 2553 พยานเอกสารที่จำเลยอ้างส่งประกอบการเบิกความทั้งหมดไม่มีลักษณะส่อไปในทางทำหลักฐานขึ้นเพื่อหวังผลในคดีนี้แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาภาพถ่ายของโจทก์ประกอบกับแผนที่พิพาทจะเห็นได้ว่าที่ดินพร้อมบ้านของจำเลยมีลักษณะเป็นทาวน์เฮาส์กึ่งอาคารพาณิชย์ ปลูกติดกัน ถัดจากปากซอยกรุงธนบุรี 10 เป็นแปลงที่ 7 หน้ากว้างแต่ละแปลงประมาณ 5 ถึง 6 เมตร และไม่มีทางออกอื่นสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรีนอกจากทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 พร้อมบ้านหลังดังกล่าวก็ต้องใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะทั้งสิ้น ช่วงที่ผู้ครอบครองที่ดินแปลงของจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ต้องถือว่าผู้ครอบครองนั้นใช้ทางพิพาทแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงของจำเลยอยู่ดี การใช้ทางพิพาทจึงต้องถือระยะเวลาติดต่อกันอย่างน้อยตั้งแต่ที่มีการออกโฉนดเลขที่ 20644 คือ วันที่ 27 กรกฎาคม 2527 เพราะตามรูปแผนที่พิพาทและการใช้ทางพิพาทเป็นปรปักษ์ต่อที่ดินโจทก์นับแต่นั้น ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับมีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 20655 และ 20645 ซึ่งได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงอื่นไว้แล้วจนถึงปัจจุบัน การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้นางสาววรรณีซึ่งเป็นน้องสะใภ้ นางสาววรรณีขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้นจึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ (ฟ้องวันที่ 22 สิงหาคม 2557) เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ทางภาระจำยอมมีขอบเขตเพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ทางพิพาทที่ระบายด้วยสีเหลือง เฉพาะส่วนที่อยู่ในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 6151 ทั้งแปลงนั้น ได้จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมที่ดินทั้งแปลงให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่อื่น แต่มิได้จดทะเบียนให้เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงหาอาจได้ภาระจำยอมเสมอเหมือน กับที่ดินแปลงอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และใช้เป็นที่ขนถ่ายสินค้านั้น เป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลยอย่างเห็นได้ชัด มิใช่เพื่ออสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ด้วย แม้จำเลยและบริวารจะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ภารยทรัพย์ของผู้อื่นเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ และเนื่องจากการได้ภาระจำยอมเพื่อเป็นทางเดินและทางพาหนะเข้าออกสู่ถนนสาธารณะดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นนั้น ไม่มีเหตุผลความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่กว้างจากหน้าที่ดินจำเลยไปจนจดเขตที่ดินของโจทก์ตลอดแนวยาวไปจนถึงปากซอยกรุงธนบุรี 10 จึงเห็นควรกำหนดให้ทางภาระจำยอมที่จำเลยได้นั้นใช้เฉพาะเป็นทางเดินและทางพาหนะเข้าออกสู่ถนนสาธารณะกรุงธนบุรี โดยมีความกว้างจากหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยไปทางทิศเหนือเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 846 เป็นระยะ 3.5 เมตร แล้วลากยาวไปทางทิศตะวันออกผ่านเข้าไปในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 6151 จนจดปากซอยกรุงธนบุรี 10 ถนนกรุงธนบุรี เป็นระยะทางยาวประมาณ 38 เมตร

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ภาระจำยอมในทางพิพาทกว้างเพียง 3.5 เมตร ยาวประมาณ 38 เมตร เท่านั้น หาใช่ได้ภาระจำยอมเต็มตามโฉนดที่ดินโจทก์เลขที่ 6151 ทั้งแปลง และบางส่วนของที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 846 จากหน้าโฉนดที่ดินของจำเลยไปทางทิศเหนือจนจดเขตที่ดินโจทก์โฉนดดังกล่าวดังที่จำเลยต่อสู้ไม่ การที่จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินโจทก์ส่วนที่เกินภาระจำยอมดังกล่าวจึงเป็นการละเมิด ต้องใช้ค่าเสียหายนับแต่ทำละเมิด แต่เนื่องจากโจทก์เพิ่งมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ทางพิพาทเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 จึงให้เริ่มคิดค่าเสียหายนับแต่เวลาดังกล่าว จากทางนำสืบจำเลยยอมรับว่า ให้บุตรชายจำเลยใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโจทก์ จอดรถและใช้เป็นที่ขนถ่ายสินค้า แต่โจทก์ไม่นำสืบปรากฏให้ชัดเจนว่าจำเลยใช้พื้นที่กว้างยาวเพียงใด และใช้ตลอดเวลาหรือไม่เพียงใด ทั้งการจอดรถและการขนถ่ายสินค้าตามความเป็นจริงปกติน่าจะมิได้กระทำตลอดเวลา ทำให้การคิดค่าเสียหายตามวิธีที่โจทก์คำนวณตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์โดยใช้ราคาประเมินที่ดินและค่าเสื่อมราคาของที่ดิน จึงไม่ชอบด้วยเหตุผลเพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของโจทก์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียงเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ข้อฎีกาอื่นของโจทก์ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

          พิพากษาแก้เป็นว่า บางส่วนของทางพิพาทที่ระบายเป็นสีเหลืองมีอาณาเขตวัดจากหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) จังหวัดกรุงเทพมหานคร ของจำเลยไปทางทิศเหนือเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 846 ตำบลบางไส้ไก่ฝั่งเหนือ อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร เป็นระยะ 3.5 เมตร แล้วลากไปทางทิศตะวันออกผ่านเข้าไปในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 6151 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) จังหวัดธนบุรี จนจดปากซอยกรุงธนบุรี 10 ถนนกรุงธนบุรี ตามแนวยาวของทางพิพาทในแผนที่พิพาทดังกล่าว เป็นระยะทางยาวประมาณ 38 เมตร ให้ตกเป็นทางภาระจำยอมใช้เฉพาะเป็นทางเดินและทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี แก่ที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 20644 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) จังหวัดกรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้เป็นพับ

(ธีระ เบญจรัศมีโรจน์-สรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย-สมศรี หรูจิตตวิวัฒน์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1387, 1401