คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2567 ผู้แทนโดยชอบธรรมมาร้องขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 เพื่อให้ศาลกำกับดูแลให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์หรือก่อความเสียหายแก่ผู้เยาว์น้อยที่สุด

 
          ผู้ร้องขอขายที่ดินซึ่งผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้เยาว์ เพื่อการศึกษาแก่ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมมาร้องขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ก็เพื่อให้ศาลกำกับดูแลให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์หรือก่อความเสียหายแก่ผู้เยาว์น้อยที่สุด เมื่อได้ความว่าการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งอนาคตของผู้เยาว์และได้รับราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้มีการขายได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ ที่ศาลชั้นต้นอ้างว่าการทำนิติกรรมขายไม่ได้รับความยินยอมจาก จ. มารดาผู้เยาว์ เป็นการวินิจฉัยขัดกับข้อเท็จจริงเนื่องจากที่ จ. ไม่ได้ดูแลผู้เยาว์และไม่อาจติดต่อได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอ้างว่า ไม่มีเรื่องเร่งด่วนหรือเหตุฉุกเฉิน ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มาตรา 1574 กำหนดไว้ ส่วนที่อ้างว่ารอให้ผู้เยาว์ทั้งสองเจริญวัยจนบรรลุนิติภาวะตัดสินใจเอง ก็เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่มาตรา 1574 ให้ศาลกำกับดูแลการทำนิติกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ช่วงเวลาที่ยังเป็นผู้เยาว์เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

          --------------------------------------------------
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 91693 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนของผู้เยาว์ทั้งสองที่ถือกรรมสิทธิ์รวมแทนผู้เยาว์ทั้งสอง

          ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับนางสาว จ. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2542 ระหว่างสมรสมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นาย ก. ขณะยื่นคำร้องขออายุ 21 ปี นาย ส. ขณะยื่นคำร้องขออายุ 18 ปี และเด็กหญิง จ. ขณะยื่นคำร้องขออายุ 13 ปี ผู้ร้องกับนางสาว จ. เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 91693 เนื้อที่ 85 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านพัก ในโครงการบ้านจัดสรร อ. ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ร้องกับนางสาว จ. หย่า โดยให้ผู้ร้องกับนางสาว จ. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองร่วมกัน สำหรับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นางสาว จ. ยกกรรมสิทธิ์ส่วนที่ถือร่วมกับผู้ร้องให้แก่ผู้เยาว์ทั้งสองกับนาย ก. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาโฉนดที่ดิน ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางไต่สวนและรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ว่าผู้เยาว์ทั้งสองกับนาย ก. อยู่กับผู้ร้อง ผู้ร้องให้การอุปการะเลี้ยงดูคนเดียว นางสาว จ. ไม่ได้ติดต่อหรือกลับมาพบผู้เยาว์ทั้งสองกับนาย ก. อีก โดยได้ความจากนาย ส.และเด็กหญิง จ. ว่าไม่ทราบว่านางสาว จ.ไปอยู่ที่ใดขาดการติดต่อกันตั้งแต่ปี 2558

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในส่วนของผู้เยาว์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันของบุคคล 4 คน ส่วนหนึ่งเป็นของผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมอีก 3 คน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องแม้จะต้องปกครองดูแลผู้เยาว์ทั้งสองกับนาย ก. ร่วมกับนางสาว จ. ผู้เป็นมารดา แต่ความเป็นจริงผู้ร้องเพียงผู้เดียวที่แบกรับภาระทั้งค่าใช้จ่ายและการดูแลผู้เยาว์ทั้งสองกับนาย ก. โดยอาศัยรายได้จากค่าเช่าอาคารที่พักอาศัยเพียงเล็กน้อย เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้เช่าที่พักลดลง แต่ภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของผู้เยาว์ทั้งสองยังมีอยู่มากพอสมควรไม่ว่ารายจ่ายของนาย ส. ที่วิทยาลัย ด. หรือรายจ่ายของเด็กหญิง จ. ที่โรงเรียน ส. รวมทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่น ๆ การที่ผู้ร้องจะขอขายทรัพย์กรรมสิทธิ์ร่วม จึงมีเหตุผลเพื่อการลงทุนในการศึกษาแก่ผู้เยาว์ทั้งสองให้มีความรู้เพราะการมีวิชาความรู้ย่อมสร้างโอกาสที่จะหาที่ดินที่เสียไปให้กลับมีขึ้นอีกได้ง่าย และดีกว่าการมีที่ดินแต่ไร้วิชาความรู้ อันจะทำให้ต้องสูญเสียที่ดินไปโดยง่ายในอนาคตและไร้ประโยชน์แก่ผู้เยาว์ทั้งสอง ส่วนผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมอีก 3 คน บุตรคนโตนาย ก. บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้เยาว์คนที่ 2 นาย ส. อายุ 18 ปี มีการศึกษาตามวัย มีวุฒิภาวะพอสมควรซึ่งทั้งสองคนมีวัยและวุฒิภาวะและการศึกษาที่เพียงพอจะตัดสินใจได้ถึงความจำเป็นในการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคน รวมทั้งประโยชน์ของเด็กหญิง จ. ผู้เยาว์ด้วย เมื่อผู้ร้องในฐานะของผู้แทนโดยชอบธรรมมาร้องขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ที่ประสงค์จะให้ศาลกำกับดูแลเพื่อให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์ทั้งสองหรือก่อความเสียหายแก่ผู้เยาว์ทั้งสองน้อยที่สุด เมื่อได้ความว่าการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งอนาคตของผู้เยาว์ทั้งสองและได้รับราคาที่สูงกว่าราคาประเมินจึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้มีการขายได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ทั้งสองโดยแท้ ที่ศาลชั้นต้นอ้างว่าการทำนิติกรรมขายไม่ได้รับความยินยอมจากนางสาว จิ. มารดาผู้เยาว์ทั้งสอง เป็นการวินิจฉัยโดยขัดข้อเท็จจริงที่นางสาว จ. ไม่ได้ดูแลผู้เยาว์ทั้งสองและไม่อาจติดต่อได้ ข้อวินิจฉัยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์แท้จริงที่ผู้เยาว์ทั้งสองพึงได้รับ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอ้างว่าไม่มีเรื่องเร่งด่วนหรือเหตุฉุกเฉิน ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มาตรา 1574 กำหนดไว้ ส่วนที่อ้างว่ารอให้ผู้เยาว์ทั้งสองเจริญวัยจนบรรลุนิติภาวะตัดสินใจเอง ก็เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่มาตรา 1574 ให้ศาลกำกับดูแลการทำนิติกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ช่วงเวลาที่ยังเป็นผู้เยาว์เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์แล้วเมื่อบรรลุนิติภาวะจึงค่อยมาดำเนินการ เหตุผลและคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

          พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 91693 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนที่ผู้เยาว์ทั้งสองผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

          (นพพร โพธิรังสิยากร-ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล-สุวิทย์ พรพานิช)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ป.พ.พ. ม. 1574