คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563 ก่อนตายเจ้ามรดกยกที่ดินให้จำเลย แม้ผู้ตายยกให้โดยมิได้จดทะเบียนโอน แต่เมื่อจำเลยครอบครองด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

 

          ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. และไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้ 

          ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น

          จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต 

          จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้ง 

          การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้ เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด 

          -----------------------------------------------------------


          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตราจองที่ 4971 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา หรือที่ดินโฉนดเลขที่ 197496 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา และให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนสู่ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมหรือกองมรดกโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยส่งมอบโฉนดตราจองที่ 4971 หรือโฉนดที่ดินเลขที่ 197496 แก่โจทก์และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นางมี และนางมั่ง มีสามีคนเดียวกัน คือ นายสวน นางมีไม่มีบุตร แต่นางมั่งมีบุตรคนเดียว คือ นางทองสุก นางทองสุก มีสามี 3 คน คือ นายเส็ง นายเมียว นายเกียนชวง นางทองสุกและนายเส็ง มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางลมูล นางลมูลและนายเดช มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายประดิษฐ์ และนางกัญตนา นางลมูลถึงแก่ความตายวันที่ 3 ตุลาคม 2558 นางทองสุกและนายเมียว มีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียว คือ โจทก์ นางทองสุกและนายเกียนชวงมีบุตรด้วยกัน 4 คน จำเลยเป็นบุตรคนที่ 2 ส่วนนางจันตรี เป็นน้องสาวของบิดาจำเลย นางทองสุกถึงแก่ความตายวันที่ 24 เมษายน 2547 ที่ดินโฉนดตราจองที่ 4971 หรือที่ดินโฉนดเลขที่ 197496 หรือที่ดินพิพาทนั้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2483 นางมีและนางมั่งรับมรดกที่ดินพิพาทของนางจัน โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามคำสั่งศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 690/2550 วันที่ 19 เมษายน 2532 นางทองสุกจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 ให้จำเลย ส่วนสามีโจทก์ถึงแก่ความตายปี 2558 และต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางทองสุก

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความได้ความว่าโจทก์และสามีทำธุรกิจเกี่ยวกับรถบรรทุกสิบล้อ จึงขอให้นางทองสุกนำที่ดินเนื้อที่ 5 ถึง 6 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับวัดไปขายฝากไว้แก่นายวิรัตน์ ซึ่งในการขายฝากสามีโจทก์ได้ไปทำสัญญาขายฝากด้วย แต่ต่อมาโจทก์และสามีไม่มีเงินชำระหนี้ นางทองสุกจึงให้จำเลยนำเงินไปชำระหนี้และยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลย แต่โจทก์ทราบว่ามีเพียงแปลงเดียว ส่วนจำเลยเบิกความได้ความว่า เดิมโจทก์และสามีประกอบอาชีพค้าขายที่จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาย้ายไปที่จังหวัดกำแพงเพชรและที่อื่น ๆ ไม่เคยกลับมาพักอาศัยที่บ้านที่หมู่บ้านจอมทอง เพียงแต่กลับมาหานางทองสุกและนางมั่งเพื่อขอเงินไปลงทุนซื้อรถบรรทุกสิบล้อ แต่นางทองสุกและนางมั่งไม่มีเงิน โจทก์และสามีจึงขอให้นำที่ดินโฉนดตราจองที่ 6404 และ 6418 ไปขายฝากแก่นายวิรัตน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2508 ต่อมาโจทก์และสามีมาขอเงินนางทองสุกไปลงทุนซื้อรถกระบะเพื่อค้าขาย นางทองสุกไม่มีเงิน โจทก์จึงขอที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากนางจันตรี ซึ่งเป็นน้องสาวบิดาจำเลย โดยจำเลยและน้องชายเป็นคนเอาโฉนดตราจองที่ 4972 ดังกล่าว ไปให้นางจันตรีและได้รับเงินที่โจทก์กู้ 30,000 บาท มาให้โจทก์ ซึ่งความสอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ยืมโฉนดตราจองดังกล่าวไปวางประกันเงินกู้นางจันตรีเพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจ ปรากฏว่าโจทก์และสามีไม่เคยชำระหนี้และไม่ไถ่ถอนการขายฝาก และนางสาวกัญตนา เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า นางทองสุกบอกกับบุตรทุกคนว่าไม่มีเงินไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและไม่มีเงินชำระหนี้นางจันตรี บุตรหลานคนใดหาเงินไปไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากและชำระหนี้ให้นางจันตรีได้ นางทองสุกจะยกที่ดินทั้งหมดให้บุตรคนนั้น บุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ทราบเรื่องดีแต่โจทก์เพิกเฉย พี่น้องทุกคนไม่มีใครสนใจที่จะหาเงินไปชำระหนี้เนื่องจากขณะนั้นที่ดินอยู่ชนบท ราคาต่ำ ถนนเข้าออกไม่สะดวก แต่จำเลยเห็นว่าเป็นที่ดินของตา ยายและมารดา จำเลยซึ่งรับราชการครูจึงกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ครูบางส่วนไปไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากนายวิรัตน์และชำระหนี้ให้นางจันตรี แต่นางจันตรีเห็นใจจึงคืนโฉนดตราจองที่ 4972 ดังกล่าวให้จำเลย ประกอบกับจำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูนางทองสุกช่วยเหลือพี่น้อง หาเงินมาชำระหนี้เพื่อรักษาทรัพย์สิน นางทองสุกจึงยกที่ดินที่ขายฝากทั้ง 2 แปลง และที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 รวมทั้งที่ดินพิพาทให้จำเลยในวันที่ 19 เมษายน 2532 และจำเลยเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงได้ความว่า ที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 และที่ดินพิพาทอยู่ติดกัน มีอาณาเขตเดียวกัน นางทองสุกยกที่ดินให้เนื้อที่ครอบคลุมทั้งสองแปลง ขณะที่นางทองสุกยกที่ดินให้ จำเลยไม่ทราบว่ามีที่ดินพิพาทอีกแปลง ต่อมาทางราชการเปลี่ยนโฉนดตราจองเป็นโฉนดที่ดินจึงทราบว่ามีที่ดินพิพาท จำเลยครอบครองทำประโยชน์ที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งไม่มีแนวเขตที่ดินจึงมีลักษณะเป็นที่ดินผืนเดียวกัน นอกจากนี้นางสาวกัญตนา เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านได้ความว่า ที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 และที่ดินพิพาทไม่มีอะไรกั้นแนวเขต มองดูเหมือนเป็นแปลงเดียวกันและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลง ส่วนที่นางสาวกัญตนาเบิกความว่า ขณะจำเลยรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย นางลมูลซึ่งเป็นมารดายังมีชีวิตอยู่ได้ถามจำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนางทองสุกเป็นส่วนของนางลมูล 1 ใน 6 ส่วนเมื่อรังวัดแล้วแบ่งกัน จำเลยบอกว่าให้รังวัดใส่ชื่อจำเลยตามคำสั่งศาลแล้วจึงจะโอนให้นางลมูลนั้น ปรากฏว่านางลมูลถึงแก่ความตายวันที่ 3 ตุลาคม 2558 แต่ไม่โต้แย้งคัดค้านการรังวัดและไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หากที่ดินเป็นมรดกก็ควรใส่ชื่อทายาททุกคน ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลมีคำสั่งก่อนและไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์เพียงผู้เดียว เมื่อนางทองสุกยกที่ดินพิพาทให้จำเลยพร้อมกับที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 ในวันที่ 19 เมษายน 2532 จำเลยมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 5 เมษายน 2550 เป็นระยะเวลาที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางทองสุกและไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่สุจริตเนื่องจากจำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า นางสาวกัญตนาเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงได้ความว่า เหตุที่นางสาวกัญตนาและนางลมูลมาพักอาศัยที่บ้านเลขที่ 14/1 เนื่องจากโจทก์ไปทำงานต่างจังหวัด จึงให้บุคคลทั้งสองมาพักอาศัยแทนเพื่อดูแลบ้าน เมื่อนางลมูลซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางทองสุกไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการรังวัด ประกอบกับโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางทองสุก จำเลยอาศัยสิทธิของนางทองสุกครอบครองแทนทายาทคนอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางทองสุกยกที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่นางทองสุกยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้จำเลยมิได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเข้าใจว่านางมั่งมีบุตรคนเดียวคือนางทองสุกซึ่งถึงแก่ความตายแล้วจึงแจ้งว่าไม่มีทายาทอื่น แต่จำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากพยานเอกสารและพยานบุคคลต่างอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก จึงขอประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดมีมารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว จึงไม่อาจส่งสำเนาให้แก่ทายาทผู้มีชื่อในโฉนดได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำแถลง นอกจากนี้ยังมีการประกาศที่หน้าศาลชั้นต้น เรื่องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมีนายบุญยัง นางจรินทร์ เจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งได้ไประวังแนวเขตในการรังวัดที่ดินมาเบิกความเป็นพยาน และมีนายสันติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มาเบิกความเป็นพยานเช่นกัน นอกจากนี้จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้พี่น้องทุกคนก็ไม่มีใครคัดค้านเนื่องจากทุกคนทราบว่านางทองสุกยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วจำเลยครอบครองทำประโยชน์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนางทองสุก ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แม้ไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้โจทก์ ก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริตตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พี่น้องอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาท ไม่มีพี่น้องรายใดที่นางทองสุกยกที่ดินพิพาทให้เป็นการเฉพาะรายนั้น จะเห็นได้ว่านางทองสุกนำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากและนำที่ดินไปเป็นประกันการกู้ยืมเงิน เพื่อนำเงินมาให้โจทก์แต่โจทก์ไม่เคยชำระหนี้เลยซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ที่ดิน 3 แปลง ในสภาพของเงินลงทุนแล้วโดยจำเลยเป็นผู้ไปชำระหนี้แทนนางทองสุก ฎีกาในส่วนนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นสุดท้ายว่า คำให้การของจำเลยขัดกันหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทมีชื่อนางมีและนางมั่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางทองสุก นางทองสุกเห็นว่าจำเลยมีการอุปการะเลี้ยงดูนางทองสุกและนำเงินไปชำระหนี้โดยซื้อที่ดินที่พี่น้องนำไปขายฝากคืนมา จึงยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยและนางทองสุกมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตราจองที่ 4972 จึงจดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวพร้อมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยและจำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้น จะเห็นได้ว่าจำเลยได้บรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การดังกล่าวจึงชัดแจ้ง ไม่ขัดกันตามฎีกาของโจทก์ นอกจากนี้การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรที่จะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ศาลย่อมมีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้และเมื่อได้วินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด ส่วนที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดเป็นผู้เรียงและพิมพ์ เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและคดีนี้ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้งให้นายเด่นยุทธ เป็นทนายความวันที่ 14 มีนาคม 2560 และในสำนวนนายเด่นยุทธได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องลงวันที่ 14 มีนาคม 2560 คดีจึงพอที่จะฟังได้ว่านายเด่นยุทธเป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง ซึ่งมีอำนาจกระทำได้ คดีจึงไม่จำต้องคืนคำฟ้องให้โจทก์ไปทำใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ดำเนินมาทั้งหมดจึงไม่เสียไป ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

          (เฉลิมชัย ศรีเลิศชัยพานิช-วิชิต ลีธรรมชโย-วิบูลย์ แสงชมภู)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18 วรรคสอง, 67 (5), 142, 145 (2), 177 วรรคสอง