คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566 ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน, เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน หากเกินกำหนด 60 วัน ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว


          จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว

          กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า “ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น “ภูมิลำเนา” ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว...” แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

          ------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 156,507,901.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 139,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 326,666.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร จ. สาขากรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลจีดี 11075 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 วงเงินไม่เกิน 36,600,000 บาท และหนังสือค้ำประกันของธนาคาร จ. สาขากรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลจีดี 11132 ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2554 วงเงินไม่เกิน 37,550,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่คืนหรือไม่สามารถคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 74,150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้นำทรัพย์จำนอง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 39133, 39134, 39135, 39136, 39137, 39138, 39141, 39142, 39143, 39144, 48433 และ 51210 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 348 และตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1923 และ 1925 ที่ดินโฉนดเลขที่ 12951, 12952 และ 12953 และที่ดินโฉนดเลขที่ 14541, 23726, 45645 และ 45696 และห้องชุดของจำเลยที่ 5 เลขที่ 30/69 และ 30/70 และห้องชุดเลขที่ 780/587 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

          จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง

          ก่อนสืบพยานจำเลยทั้งหกสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การเรื่องการโอนกิจการที่ให้การต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 156,507,901.23 บาท และ 326,666.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 139,600,000 บาท และของต้นเงิน 326,666.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 14 มีนาคม 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ชำระหนี้ดังกล่าวแทน หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39133, 39134, 39135, 39136, 39137, 39138, 39141, 39142, 39143, 39144, 48433 และ 51210 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 348 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1923 และ 1925 ที่ดินโฉนดเลขที่ 12951, 12952 และ 12953 ที่ดินโฉนดเลขที่ 14541, 23726, 45645 และ 45696 และห้องชุดเลขที่ 30/69 และ 30/70 และห้องชุดเลขที่ 780/587 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยทั้งหกอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 139,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 16,907,901.23 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 326,666.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 ร่วมรับผิด 139,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินหกสิบวัน และต้องไม่เกิน 16,907,901.23 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 ร่วมรับผิด 326,666.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินหกสิบวัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 139,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินหกสิบวัน และต้องไม่เกิน 16,907,901.23 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 326,666.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินหกสิบวัน กับให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระเงิน 139,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 16,907,901.23 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระเงิน 326,666.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 4 อุทธรณ์และชำระค่าขึ้นศาลร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงไม่คืนให้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ธนาคาร จ. สาขากรุงเทพมหานคร ให้วงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออกแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 177,000,000 บาท และวงเงินสินเชื่อหนังสือค้ำประกัน 85,000,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 มีการทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม และมีการยืนยันการให้สินเชื่อเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 และวันที่ 16 ธันวาคม 2556 วันที่ 18 สิงหาคม 2557 ธนาคาร จ. สาขากรุงเทพมหานคร โอนกิจการให้แก่โจทก์ วันที่ 17 ธันวาคม 2557 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยืนยันการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 ตามที่ธนาคาร จ. สาขากรุงเทพมหานคร เคยให้สินเชื่อดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 และต่อมามีการทำบันทึกข้อตกลงอีกหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อการส่งออกรวม 8 ครั้ง และจำเลยที่ 1 ขอให้ธนาคาร จ. สาขากรุงเทพมหานคร ออกหนังสือค้ำประกัน เพื่อทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรรวมสองฉบับเลขที่ แอลจีดี 11075 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 และเลขที่ แอลจีดี 11132 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2554 จำเลยที่ 1 รับหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับไปส่งมอบให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรแล้ว เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 แล้ว โดยไม่มีข้อตกลงยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 นำที่ดินและห้องชุดมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน 326,666.30 บาท และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมสินเชื่อเพื่อการส่งออก 139,600,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งหกรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีอำนาจคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และตามประกาศธนาคารของโจทก์ เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี การที่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามประกาศของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง พิจารณาแล้วเมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในส่วนของหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออก จำนวน 139,600,000 บาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น กรณีต้องพิจารณาประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคหนี่ง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกัน จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 สัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 และหนังสือรับรอง ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกันระบุว่า “ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น “ภูมิลำเนา” ตามกฎหมายตามลำดับที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว...” แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรอง ถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ประกอบกับในส่วนที่โจทก์นำสืบว่ามีการแจ้งการบอกกล่าวการผิดนัดให้จำเลยที่ 2 โดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน 326,666.30 บาท นั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 139,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,907,901.23 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในส่วนหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

          (ปิยนุช จรูญรัตนา-รังสรรค์ โรจน์ชีวิน-อนันต์ คงบริรักษ์)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 169 วรรคหนึ่ง, 379, 383 วรรคหนึ่ง, 686 วรรคหนึ่ง, 686 วรรคสอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252