คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2566 ทำนิติกรรมกู้ยืมเพื่ออำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ

          แม้สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แต่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย กรณีเชื่อว่าก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมลงทุนกันจริงโดยมีการส่งมอบเงินตามสัญญากู้เป็นเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาผูกพันกันตามนิติกรรมร่วมลงทุน แต่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา นิติกรรมกู้ยืมจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ” แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง
          ------------------------------------------------------
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 525,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 8,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
           โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน หรือไม่ เห็นว่า ก่อนโจทก์และจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น ได้ความว่า เดือนพฤษภาคม 2561 บริษัทของจำเลยว่าจ้างบริษัทของโจทก์ขนเถ้าลอย โจทก์ติดต่อบิดาจำเลยขอร่วมลงทุนในธุรกิจเถ้าลอย นัดหมายและเจรจาเกี่ยวกับการร่วมธุรกิจกัน... หลังจากนั้นโจทก์โอนเงิน 450,000 บาท ให้แก่จำเลย ต่อมาบิดาจำเลยพาโจทก์และนางสาวสุดารัตน์ เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ซึ่งเป็นคู่สัญญาของบริษัทจำเลยในการทำธุรกิจเถ้าลอยที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พฤติการณ์เช่นนี้แสดงถึงการดำเนินการในการร่วมลงทุนกันแล้ว แม้สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แต่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ประกอบกับสัญญากู้ยืมเงิน จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 หลังจากนางสุวรรณาภริยาของโจทก์ได้โอนเงินให้จำเลยตามที่โจทก์มอบหมาย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วนอย่างไร หรือโจทก์มีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องส่งมอบเงินให้จำเลยก่อนทำสัญญากู้ แต่กลับได้ความว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2561 โจทก์ นางสุวรรณาภริยาของโจทก์และนางสาวสุดารัตน์บุตรของโจทก์ เข้าร่วมประชุมเจรจาและตกลงร่วมลงทุนในธุรกิจขนส่งเถ้าลอย... โดยการสนทนากันในแอปพลิเคชันไลน์ดังกล่าว ไม่ปรากฏการพูดคุยเกี่ยวกับการกู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลย กลับมีการพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน ทั้งจำเลยนำสัญญาต่อเรือมาแสดงว่า มีการนำเงินไปลงทุนจริงตามที่แจ้งโจทก์ไว้ ยิ่งกว่านั้น การที่นายปัญญวัฒน์ พยานจำเลยตอบทนายจำเลยถามติงว่า “ภายหลังประชุมวันที่ 1 มิถุนายน 2561 พยานพูดคุยส่วนตัวกับโจทก์ว่า ต้องแสดงให้จำเลยมั่นใจว่าโจทก์จะลงทุนจริง โจทก์จึงเสนอและโอนเงินให้ 450,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุน 500,000 บาท” จึงน่าเชื่อว่า ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมลงทุนกันจริงโดยมีการส่งมอบเงินตามสัญญากู้เป็นเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาผูกพันกันตามนิติกรรมร่วมลงทุน แต่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา นิติกรรมกู้ยืมจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ...” และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ” แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

          (ธนาคม ลิ้มภักดี-นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล-อภิชาต ภมรบุตร)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94