คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566 การแบ่งปันทรัพย์มรดก บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก สิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อผู้จัดการมรดกตาย เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก


          แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 โดยแจ้งชัดเป็นสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่โจทก์ทั้งสามก็กล่าวอ้างสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ทั้งสามนำสืบถึงข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องในการที่โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย จึงมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการขอให้บังคับแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามนำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้องนอกประเด็น

          การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด” ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง

          จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้

          ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้

          ----------------------------------------------------------


          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้กำจัดจำเลยที่ 2 ไม่ให้มีสิทธิรับมรดกของนางสว่าง ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 และที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างและจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 กลับสู่กองมรดกของนางสว่าง ให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 และ 49023 ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

           จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถูกจำกัดมิให้รับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 และ 49023 ของนางสว่างผู้ตาย ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 และที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยทั้งสองกลับสู่กองมรดกของนางสว่าง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ตามสัดส่วนที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับในฐานะทายาทเป็นเนื้อที่คนละ 1 ใน 4 ส่วน คิดจากเนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เป็นเนื้อที่คนละ 3 ไร่ 40 ตารางวา จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 ให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 4 ส่วน คิดจากเนื้อที่ 1 งาน 29 ตารางวา เป็นเนื้อที่คนละ 32.25 ตารางวา โดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนจำนอง ให้โจทก์ทั้งสามไถ่ถอนจำนองได้เองโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 49023 ให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 4 ส่วน คิดจากเนื้อที่ 3 งาน 24 ตารางวา เป็นเนื้อที่คนละ 81 ตารางวา หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

           จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 และที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยทั้งสองกลับสู่กองมรดกของนางสว่าง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 คนละ 1 ใน 5 ส่วนของทรัพย์มรดก ในที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 คนละ 1 ใน 5 ส่วนของทรัพย์มรดกโดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนจำนอง ให้โจทก์ทั้งสามไถ่ถอนจำนองได้เองโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และในที่ดินโฉนดเลขที่ 49023 คนละ 1 ใน 5 ส่วนของทรัพย์มรดก หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ก่อนศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 กับนางสว่าง ผู้ตาย ซึ่งจำเลยที่ 1 กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538 ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีชื่อในทะเบียนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 กับมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 62649 และ 49023 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาททั้งสามแปลง วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยคำสั่งศาล หลังจากนั้นวันที่ 13 มิถุนายน 2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตน ครั้นวันที่ 1 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ต่อจากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวไว้แก่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสอง จำกัด และในวันที่ 1 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้จำเลยที่ 2 สำหรับคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงมิอาจขอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ทั้งสามมิได้อุทธรณ์ คำขอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า สำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 และโฉนดเลขที่ 49023 และ 62649 เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามนำสืบโดยได้ความจากคำเบิกความของนายเลิศศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน พยานโจทก์ทั้งสามว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองไปพบนายเลิศศักดิ์และตกลงแบ่งมรดกของผู้ตาย นายเลิศศักดิ์เป็นผู้ทำบันทึกโดยโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้านายเลิศศักดิ์ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความรับข้อเท็จจริงในข้อนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 1 ได้ทำข้อตกลงเจรจาแบ่งปันที่ดินพิพาทด้วยความสมัครใจที่ทำการผู้ใหญ่บ้านตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 และจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับในข้อนี้เช่นกันว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 2 เดินทางไปที่ทำการผู้ใหญ่บ้านและได้ลงลายมือชื่อในบันทึกตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 หากผู้ตายยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้จำเลยที่ 2 ตามที่ผู้ตายได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ตายดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบแล้ว จำเลยทั้งสองคงไม่ไปทำความตกลงกับโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เป็นแน่ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปตกลงกับโจทก์ทั้งสามเช่นนี้ บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ก็ระบุตามคำร้องขอว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังที่ปรากฏตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายความโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสามสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยทั้งสองกับโจทก์ทั้งสามทำบันทึกตกลงกันตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนปัญหาที่ว่าบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เป็นการตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่นั้น แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามสำเนาหนังสือดังกล่าวโดยแจ้งชัดเป็นสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่โจทก์ทั้งสามก็กล่าวอ้างสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ทั้งสามนำสืบถึงข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 จึงเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องในการที่โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย จึงมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการขอให้บังคับแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามนำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาไม่ เมื่อพิจารณาบันทึกตามสำเนาหนังสือดังกล่าวซึ่งมีสาระสำคัญว่า ที่นาแปลงเลขที่ 37 หมายเลขระวาง 5739 IV เป็นที่ น.ส. 3 แบ่งออกเป็น 5 ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสอง ที่สวนเป็นโฉนดเลขที่ 59 ระวาง 5739 IV 6206 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 และโฉนดเลขที่ 62649 พร้อมบ้านเลขที่ 37 แบ่งให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวตรงกับที่พิพาททั้งสามแปลง โดยปรากฏตามสำเนาหนังสือดังกล่าวว่ามีการลงลายมือชื่อของนายเลิศศักดิ์ผู้ใหญ่บ้านและลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสอง โดยเฉพาะในช่องลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นมีการระบุไว้ว่าเป็นผู้จัดการมรดกด้วย อันแสดงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายยังเป็นผู้จัดการมรดกที่เป็นตัวแทนของทายาทอื่นของผู้ตายด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือดังที่ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันระหว่างทายาท” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อนแต่ได้ทำโดยสัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนั้น บันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งได้ทำโดยสัญญาอันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดและลงลายมือชื่อของตนซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ ตามวรรคสองแห่งบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด” ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่โจทก์ทั้งสามจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของผู้ตายมีสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายคนละ 1 ใน 5 ส่วน เช่นเดียวกับโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 5 ส่วน นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสอง จำกัด เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกา ดังนั้น โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สำหรับที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 49023 ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 49023 ยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 และ 49023 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 ก่อนครึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 (1) ประกอบมาตรา 1533 และเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่งแล้วจึงแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามต่อไปนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสามต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

           อนี่ง ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิใช่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นอุทลุมนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งต้องกระทำโดยการยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้

           พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่าง แสงสระคู กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 เฉพาะส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสาม โดยให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวคนละ 1 ใน 5 ส่วน ให้โจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 49023 1 ใน 2 ส่วน คำขอเกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 62649 และคำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


          (อุไรลักษณ์ ลีธรรมชโย-สมบูรณ์ จิตรพัฒนากุล-ระบิล จันทรภิรมย์)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 213 วรรคสอง, 1605, 1722, 1750

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 61 วรรคแปด