คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2564 การแบ่งส่วนมรดกของทายาทและคู่สมรสของเจ้ามรดก, การรับมรดกแทนที่, การสืบมรดก

 
          คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ซ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งเก้าแปลงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มีอายุความห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามที่ต่อสู้ในคำให้การ ประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาเรื่องอายุความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 แก้ฎีกาเรื่องอายุความเช่นกัน จึงเป็นฎีกาและคำแก้ฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252

          ซ. กับ ฟ. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งมิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะแก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย กฎหมายลักษณะผัวเมียมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดสัญชาติ และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ” ซึ่งมีความหมายว่าการสมรสที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่อย่างไร ก็ยังคงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พุทธศักราช 2479 ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งคู่สมรสไม่จำต้องจดทะเบียนสมรส

           ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ จ. เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ จ. ส่วนหนึ่งย่อมตกได้แก่ ซ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แม้ ซ. ไม่ได้เรียกร้องก็ไม่มีผลทำให้เสียสิทธิในมรดกส่วนของตนแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏว่า ซ. แสดงเจตนาสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้จัดการทรัพย์มรดกของ จ. ซ. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของ ซ. ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ที่ตกได้แก่ ซ. ส่วนหนึ่ง

           เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่าง จ. กับ ค. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่าง จ. กับ. ค. มีผลตั้งแต่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตาย และการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจึงต้องแบ่งเป็นมรดกของ จ. และแบ่งให้ ค. คนละส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงกึ่งหนึ่งส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ผู้สืบสันดานของ จ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ซ. บิดาของ จ. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร และ ค. คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง, 1629 (1) (2), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) แต่ ซ. ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการจัดการมรดกของ จ. มรดกในส่วนของ ซ. จึงตกได้แก่ผู้สืบสันดานของ ซ. ทั้งเก้าคน เมื่อ จ. ถึงแก่ความตายไปก่อน ผู้สืบสันดานของ จ. คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ จ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ส่วน ย. ผู้สืบสันดานคนหนึ่งของ ซ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้นแม้ไม่ปรากฏว่า ย. ถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ซ. ผู้สืบสันดานของ ย. ทั้งหกคนย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกของ ย. แล้วแต่กรณี
          -------------------------------------------------------------

           โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยทั้งสิบเอ็ดให้กลับเป็นของนาย จ. หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ถอนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนาย จ. และตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย จ. แทน

          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

          โจทก์อุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และนาย จ. เป็นบุตรของนาย ซ. กับนาง ฟ. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นบุตรของนาย จ. กับนาง ค. จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 นาย จ.ถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 9 แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 1307 กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ 6487 และ 6488 กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ 26961 กรุงเทพมหานคร (โฉนดที่ดินเลขที่ 41676 กรุงเทพมหานคร) โฉนดที่ดินเลขที่ 41677, 42977, 42978, 42979 และ 42980 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย จ. ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8083/2541 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 13 เมษายน 2545 นาย ซ. ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนาย จ. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1307, 6487, 6488 และ 26961 (41676) ให้แก่นาง ค. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ในวันเดียวกันบุคคลดังกล่าวจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสี่แปลงแก่จำเลยที่ 3 และในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ.จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41677 ให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 22 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42977 ให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42978 ให้แก่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42979 ให้แก่จำเลยที่ 10 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42980 ให้แก่จำเลยที่ 11 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ซ. ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1124/2559 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ถอนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนาย จ. โจทก์ไม่อุทธรณ์ ปัญหานี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ข้อแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนาย ซ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาย จ. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งเก้าแปลงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มีอายุความห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามที่ต่อสู้ในคำให้การ ประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาเรื่องอายุความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 แก้ฎีกาเรื่องอายุความเช่นกัน จึงเป็นฎีกาและคำแก้ฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ข้อต่อไปมีว่า นาย ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนาย จ. หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 แก้ฎีกาว่า นาย ซ. เป็นคนต่างด้าว ไม่มีสัญชาติไทย อยู่กินฉันสามีภริยากับนาง ฟ. ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พุทธศักราช 2477 ไม่อาจนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับกับความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยการสมรสได้ นาย ซ. จึงไม่ใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนาย จ. โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนาย ซ. จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาย จ. ในส่วนที่ตกได้แก่นาย ซ. เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาย ซ. และได้ความจากจำเลยที่ 6 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่านาย ซ. เข้ามามีถิ่นที่อยู่ตามทะเบียนคนต่างด้าวตั้งแต่ปี 2465 โดยอยู่กินกับนาง ฟ.มีบุตรคือนาย จ. เกิดปี 2476 ทั้งในคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ยอมรับว่านาย ซ. กับนาง ฟ. อยู่กินกันก่อนมีการประกาศใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมีบุตรด้วยกันถึง 9 คน แสดงว่านาย ซ. กับนาง ฟ. มีเจตนาอยู่กินกันฉันสามีภริยา นาย ซ. กับนาง ฟ. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งมิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะแก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ฎีกา กฎหมายลักษณะผัวเมียมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดสัญชาติ และตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ” ซึ่งมีความหมายว่าการสมรสที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่อย่างไร ก็ยังคงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พุทธศักราช 2477 ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งคู่สมรสไม่จำต้องจดทะเบียนสมรส ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านาย ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนาย จ. เมื่อนาย จ. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของนาย จ. ส่วนหนึ่งย่อมตกได้แก่นาย ซ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แม้นาย ซ. ไม่ได้เรียกร้องขอแบ่งปันมรดกส่วนของตนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีผลทำให้นาย ซ. เสียสิทธิในมรดกส่วนของตนแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏว่านาย ซ. แสดงเจตนาสละมรดกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้จัดการทรัพย์มรดกของนาย จ. นาย ซ. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของนาย ซ. ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนาย จ. ที่ตกได้แก่นาย ซ. ส่วนหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านาย ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนาย จ. ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงตามฟ้องเป็นทรัพย์สินที่นาย จ. ได้มาระหว่างสมรสกับนาง ค. และตามบัญชีเครือญาติที่โจทก์อ้างต่อศาลระบุว่านาย จ. จดทะเบียนสมรสกับนาง ค. ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจึงเป็นสินสมรสระหว่างนาย จ. กับนาง ค. เมื่อนาย จ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างนาย จ. กับนาง ค. ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างนาย จ. กับนาง ค. มีผลตั้งแต่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น และการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 (1) ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจึงต้องแบ่งเป็นมรดกของนาย จ. และแบ่งให้นาง ค. คนละส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงกึ่งหนึ่งส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ผู้สืบสันดานของนาย จ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 นาย ซ. บิดาของนาย จ. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร และนาง ค. คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง, 1629 วรรคหนึ่ง (1) (2) วรรคสอง, 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) แต่นาย ซ. ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการจัดการมรดกของนาย จ.  มรดกในส่วนของนาย ซ. จึงตกได้แก่ผู้สืบสันดานของนาย ซ. ทั้งเก้าคน คือ นาย จ. นาง ย. นาง พ. นางฟอง นาย อ. นาย ว. นาง ศ. นาง พ.ท. และโจทก์ เมื่อนาย จ. ถึงแก่ความตายไปก่อน ผู้สืบสันดานของนาย จ. คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มีสิทธิรับมรดกแทนที่นาย จ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ส่วนนาง ย. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้น แม้ไม่ปรากฏว่านาง ย. ถึงแก่ความตายก่อนหรือหลังนาย ซ. ผู้สืบสันดานของนาง ย. ทั้งหกคน ตามบัญชีเครือญาติดังกล่าวย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกของนาง ย. แล้วแต่กรณี สรุปแล้วนาง ค. มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลง 13 ใน 24 ส่วน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 และนาย ซ. มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงคนละ 1 ใน 24 ส่วน ส่วนของนาย ซ. ต้องแบ่งเป็น 9 ส่วน แก่โจทก์และทายาทดังที่วินิจฉัยข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41677 และ 42978 ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42977 ให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42979 ให้แก่จำเลยที่ 10 และที่ดินโฉนดเลขที่ 42980 ให้แก่จำเลยที่ 11 ซึ่งรวมส่วนของโจทก์และทายาทของนาย ซ. โดยไม่ได้รับความยินยอมและไม่มีค่าตอบแทนนั้น เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนาย ซ. มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนและทายาทของนาย ซ. จำนวน 1 ใน 24 ส่วน ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนของนาย จ. ส่วนที่จะเพิกถอนรวมอยู่ด้วย 1 ใน 9 ส่วน จากจำนวน 1 ใน 24 ส่วน แต่กรณีไม่อาจเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นของนาย ซ.  8 ใน 9 ส่วน จากจำนวน 1 ใน 24 ส่วนได้ ต้องเพิกถอนส่วนที่เป็นมรดกของนาย ซ. ทั้งหมด 1 ใน 24 ส่วน เพื่อให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกนำไปจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทของนาย ซ. ตามกฎหมายต่อไป และแม้โจทก์จะมีคำขอให้การเพิกถอนการจดทะเบียนกลับไปเป็นชื่อของนาย จ. ตามเดิมแต่ความประสงค์แท้จริงของโจทก์ต้องการนำทรัพย์มรดกส่วนนี้ไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของนาย ซ. และเพื่อมิให้มีปัญหาในชั้นบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ซ. ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1307, 6487, 6488 และ 26961 (41676) เห็นว่า ตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินระบุว่าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1307, 6487, 6488 และ 26961 (41676) ให้แก่นาง ค. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 และในวันเดียวกันบุคคลดังกล่าวจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสี่แปลงแก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มิได้รับโอนที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ.ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง แม้การโอนดังกล่าวเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำโดยสุจริตนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 บัญญัติว่า ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนกระทำโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 และทางพิจารณาโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริตอย่างไร ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังกล่าวมาในราคาสูงถึง 545,000,000 บาท โดยจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงไม่ได้ ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ในส่วนของโจทก์และทายาทของนาย ซ. จำนวน 1 ใน 24 ส่วน ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 41677 และ 42978 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 และวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ตามลำดับ โฉนดที่ดินเลขที่ 42977 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 โฉนดที่ดินเลขที่ 42979 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. กับจำเลยที่ 10 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 และโฉนดที่ดินเลขที่ 42980 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. กับจำเลยที่ 11 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 จำนวน 1 ใน 24 ส่วนของที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย จ. จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ซ. ตามส่วนดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

          (อารีย์ เตชะหรูวิจิตร-กาญจนา ชัยคงดี-นันทวัน เจริญชาศรี)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1501, 1533, 1599 วรรคหนึ่ง, 1612, 1625 (1), 1629 (1) (2), 1630 วรรคสอง, 1635 (1), 1639, 1733 วรรคสอง, 1754 วรรคสี่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง, 225 วรรคหนึ่ง, 252