คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2566 บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ, มรดก, ฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้, อายุความ

          บทบัญญัติมาตรา 62 ป.พ.พ. การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ม. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ม. ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ม. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่

          ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ นั้น โดยผลของมาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่า ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของ ม. ไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          ------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 63922 ของนางมุ่ยเตียง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 และบังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางมุ่ยเตียงดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนมรดกที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
          จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนและส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 63922 คืนแก่โจทก์ ด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนางมุ่ยเตียง นางมุ่ยเตียงยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ เนื่องจากโจทก์ได้ไปจากถิ่นที่อยู่ซึ่งพักอาศัยอยู่กับนางมุ่ยเตียง มารดาของโจทก์ ตั้งแต่ปี 2546 และไม่ได้ติดต่อกับนางมุ่ยเตียง ไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ ต่อมานางมุ่ยเตียงยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางมุ่ยเตียงเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ นางมุ่ยเตียงในฐานะผู้จัดการมรดกของโจทก์ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 63922 ของโจทก์มาเป็นของตน จนกระทั่งปี 2557 โจทก์กลับมาหานางมุ่ยเตียงที่บ้าน ต่อมาเมื่อนางมุ่ยเตียงถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางมุ่ยเตียงตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ทราบความจริง โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางมุ่ยเตียงโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธอ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องเอาคืนฐานลาภมิควรได้และนางมุ่ยเตียงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางมุ่ยเตียงโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฏหลังศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่และต่อมาศาลได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญแล้วก็ตาม แต่การถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญของโจทก์ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง เมื่อตามบทบัญญัติ มาตรา 62 การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางมุ่ยเตียงซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่นางมุ่ยเตียงทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว นางมุ่ยเตียงจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่านางมุ่ยเตียงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ เห็นว่า โดยผลของมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติให้บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 ดังนี้ แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่านางมุ่ยเตียงได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของนางมุ่ยเตียงไปแล้วดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
          (สุจินต์ เชี่ยวชาญศิลป์-จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล-พงษ์ธร จันทร์อุดม)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ป.พ.พ. ม. 62ม. 63ม. 66 วรรคหนึ่งม. 419ม. 1382ม. 1602