คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4557/2566 กู้ยืมเงิน, หนังสือรับสภาพหนี้รับชำระหนี้แทนผู้ตาย, ทำนิติกรรมเพราะถูกข่มขู่, อายุความ

          โจทก์ฟ้องโดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดง แต่โจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้มีใจความว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ โดยนำโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายรับจะชดใช้เงินแก่โจทก์ กับมีลายมือชื่อของจำเลยในสัญญา และโจทก์มี ส. บุตรของโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และเป็นพยานลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงและมารดาพยานซึ่งเป็นพี่ของผู้ตายต้องการช่วยน้อง จึงให้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกัน มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ต่อมาเมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โจทก์และ ส. เป็นญาติของจำเลย เชื่อว่า ส. เบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา อันเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของมูลหนี้เดิมและหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นประกันประกอบกับโจทก์มีโฉนดที่ดินของผู้ตายอยู่ในครอบครอง จึงฟังได้ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้จริง และมีการคืนให้จำเลยเมื่อมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้
          การที่ ง. โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้ มิฉะนั้นจะเอาตำรวจมาจับและต้องติดคุก แสดงว่า ง. ได้แจ้งข้อเท็จจริงในหนังสือให้จำเลยทราบแล้วก่อนที่จะมีการทำหนังสือดังกล่าวขึ้น ส่วนถ้อยคำที่ว่า “ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้มิเช่นนั้นจะเอาตำรวจมาจับจะต้องติดคุก” นั้น จากพฤติการณ์ที่ผู้ตายเสียชีวิตและยังไม่มีผู้ใดชำระหนี้ การที่ ง. พูดขู่จำเลยดังกล่าว และจำเลยยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดจะใช้เงินที่กู้คืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่ ง. ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่เป็นการหลอกลวงข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 วรรคหนึ่ง และมาตรา 166
          ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยต่อโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภายในกำหนด 10 ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยมีข้อตกลงระบุให้โจทก์มีสิทธิยึดโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันอันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำต่อกัน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดินคืนจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์
          ------------------------------
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากกองมรดกของนายวรพจน์ผู้ตายจนครบถ้วน
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหาย 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 28655 ให้แก่จำเลย
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายวรพจน์ ผู้ตาย ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จำเลยได้รับ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
          จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา และได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยเป็นญาติกัน โดยนาง ศ. ภริยาของโจทก์ เป็นพี่ของนาย ว. ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลย นาย ส. เป็นน้องของโจทก์ ส่วนนาย ส.ก. เป็นบุตรของโจทก์ วันที่ 23 ธันวาคม 2556 ผู้ตายถึงแก่ความตาย วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ 200,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตายให้โจทก์ยึดถือเป็นประกัน และจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายยินยอมรับผิดชดใช้เงินที่ค้างทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า นาย ว. ผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องและทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดง แต่โจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 ซี่งมีใจความว่า ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ โดยนำโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายรับจะชดใช้เงินแก่โจทก์ กับมีลายมือชื่อของจำเลยในสัญญา และโจทก์มีนาย ส.ก. บุตรของโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และเป็นพยานลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงโดยนาย  ส. เป็นผู้พาผู้ตายกับจำเลยมากู้เงิน และมารดาพยานซึ่งเป็นพี่ของผู้ตายต้องการช่วยน้อง จึงให้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกัน มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ต่อมาเมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โจทก์และนาย ส.ก. เป็นญาติของจำเลย เชื่อว่านาย ส.ก. เบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมาอันเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของมูลหนี้เดิมและหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นประกัน ประกอบกับโจทก์มีโฉนดที่ดินของผู้ตายอยู่ในครอบครอง ซึ่งหากผู้ตายไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้ตายจะนำโฉนดดังกล่าวส่งมอบให้โจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายมอบโฉนดที่ดินให้ภริยาของโจทก์เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกับน้องเป็นผู้พิการก็เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลย พยานจำเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างพยานโจทก์ได้ คำเบิกความของนาย ส.ก. พยานโจทก์สอดคล้องกับสภาพพฤติการณ์แห่งคดี ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า ส่วนการที่โจทก์และนาย ส. ไม่ได้มาเบิกความก็ได้ความว่าโจทก์ป่วยด้วยโรคงูสวัดที่ใบหูขวาร่วมกับเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดอักเสบทำให้หน้าเบี้ยว นาย ส. ป่วยด้วยโรคภาวะติดเชื้อในปอดนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจผ่านท่อเจาะคอ แม้นาง ศ. ไม่ได้เข้าเบิกความ แต่ตามข้อเท็จจริงเมื่อคำเบิกความของนาย ส.ก. สอดคล้องกับสภาพพฤติการณ์แห่งคดีและมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย จึงฟังได้ว่า ผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้จริง และมีการคืนให้จำเลยเมื่อมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามที่นาย ส.ก. เบิกความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันจริง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยจบชั้นมัธยมปีที่ 3 และหนังสือรับสภาพหนี้ระบุชื่อ นามสกุล ปีเกิด และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย จำเลยยอมรับว่าลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้จริง ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องมีการสอบถามจากจำเลยและการที่นาย ส. โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบว่า ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้ มิฉะนั้นจะเอาตำรวจมาจับและต้องติดคุก แสดงว่านาย  ส. ได้แจ้งข้อเท็จจริงในหนังสือให้จำเลยทราบแล้วก่อนที่จะมีการทำหนังสือดังกล่าวขึ้น ส่วนถ้อยคำที่ว่า“ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้มิเช่นนั้นจะเอาตำรวจมาจับจะต้องติดคุก” นั้น จากพฤติการณ์ที่ผู้ตายเสียชีวิตและยังไม่มีผู้ใดชำระหนี้ การที่นาย ส. พูดขู่จำเลยดังกล่าว และจำเลยยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดจะใช้เงินที่กู้คืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่นาย ส. ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมหาใช่เป็นการหลอกลวงข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคหนึ่ง และมาตรา 166 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า หนังสือรับสภาพหนี้ชอบด้วยกฎหมายมีผลใช้บังคับได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยต่อโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม สะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) โจทก์ไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 และมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภายในกำหนด 10 ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าอายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์ต้องคืนโฉนดที่ดินและชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายและหนังสือดังกล่าวมีข้อตกลงระบุให้โจทก์มีสิทธิยึดโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันอันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำต่อกัน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดินคืนจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดินคืนกับเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ไม่ได้ และยกฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

          (ธนาคม ลิ้มภักดี-นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล-อภิชาต ภมรบุตร)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 วรรคหนึ่ง, 166, 193/14 (1), 193/15, 193/30, 653 วรรคหนึ่ง, 1754 วรรคสาม