16 ตุลาคม 2567

ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ


          มาตรา 3 " ในพระราชกำหนดนี้
          “กู้ยืมเงิน” หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ
          “ผลประโยชน์ตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ผู้กู้ยืมเงิน หรือบุคคลอื่นจ่ายหรือจะจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินเพื่อการกู้ยืมเงิน  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจ่ายในลักษณะดอกเบี้ย เงินปันผล หรือลักษณะอื่นใด
          “ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย
          “ผู้ให้กู้ยืมเงิน” หมายความรวมถึง บุคคลซึ่งผู้ให้กู้ยืมเงินระบุให้เป็นบุคคลที่ได้รับต้นเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้กู้ยืมเงิน
          “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้
          “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ "

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2534  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในฐานะประธานกรรมการยังจัดให้ประชุมผู้ร่วมลงทุนออกหนังสือยืนยันว่าบริษัทยังดำเนินธุรกิจเป็นปกติ ทั้งยังออกหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินทุนคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนทุกราย เป็นการกำกับดูแลธุรกิจบริษัทประหนึ่งตนเป็น กรรมการผู้จัดการ พฤติการณ์บ่งชัดว่าได้ร่วมคบคิดกับบริษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคลทำการกู้ยืมเงินด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะมิใช่กรรมการผู้จัดการและมิได้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้กู้ยืมเงินตามนัยพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 เมื่อจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้กู้ยืมเงินและได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 4, 5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10
          บริษัทเป็นผู้กู้ยืมเงินโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้กู้ยืมเงินไปด้วยตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 การที่จำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นโดยลงนามคนเดียว และไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น หาทำให้ฐานะของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้แทนบริษัทเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 4, 5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้ว เช่นนี้ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10 จำเลยที่ 2 จะได้หลอกลวงประชาชนหรือไม่ หาได้กระทบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่
          แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทด้วยผู้หนึ่ง แต่จำเลยที่ 6 ก็มิได้เป็นกรรมการบริษัท และไม่เคยได้รับเงินจากผู้ร่วมลงทุน โดยจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนแต่อย่างใด จำเลยที่ 6 ไม่มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือกับบริษัท ในการกู้ยืมเงินจากผู้ร่วมลงทุน จำเลยที่ 6 จึงมิใช่ผู้กู้ยืมเงิน ตามนัยพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 10 ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งไม่รอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา และได้ดำเนินการพิจารณาสืบพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้วมีคำพิพากษา ไปประกอบกับคดีส่วนอาญาที่อ้างถึงนั้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อใดก็ไม่อาจทราบได้ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอคดีนี้ไว้ ฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา.

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2536  บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 สองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ประกาศชักชวนบุคคลทั่วไปให้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน หรือร้อยละ 96 ต่อปี ซึ่งมากกว่าที่สถาบันการเงินจะพึงให้ได้ การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 1 รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มามอบให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยจำเลยที่ 4 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ ชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุนเป็นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 แล้ว ไม่ใช่เป็นตัวแทนของผู้ร่วมลงทุน
          ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ผู้กู้ยืมเงิน" หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงินและในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย" แม้พระราชกำหนดจะได้บัญญัติไว้ดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้แม้จำเลยที่ 4 เป็นผู้เสียหายได้ร่วมกับพวกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีอาญาต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชกำหนดว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และเป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 อยู่นั่นเอง พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 6 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ต่อศาลอาญาแม้ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 แต่พนักงานอัยการโจทก์ยังได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้กระทำผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าวก็ตาม แต่ตามเจตนารมย์ของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 10 นั้นแม้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะผู้ต้องหาและหากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นบุคคลล้มละลายพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะฟ้องยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดหรือไม่ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้ล้มละลายได้

          ลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้


          มาตรา 4 " ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
          ผู้ใดไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ดำเนินการ หรือให้พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลใดดำเนินการโฆษณา ประกาศหรือชักชวนประชาชนให้ลงทุนโดย
          (1) ซื้อหรือขายเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งหรือหลายสกุล หรือ
          (2) เก็งกำไรหรืออาจจะได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย "
          มาตรา 5 " ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้
          (1) ในการกู้ยืมเงินหรือจะกู้ยืมเงิน
               (ก) มีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป หรือโดยการแพร่ข่าวด้วยวิธีอื่นใด หรือ
               (ข) ดำเนินกิจการกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ หรือ
               (ค) จัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ หรือ
               (ง) จัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการให้กู้ยืมเงิน หรือ
               (จ) ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเกินสิบคนซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และ
          (2) ผู้นั้น
               (ก) จ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้ หรือ
               (ข) ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 7 (1) (2) หรือ (3) หรือกิจการของผู้นั้นตามที่ผู้นั้นได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 7 ไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่า เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินทั้งหลาย
          ผู้นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 4  ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า กิจการของตนหรือของบุคคลที่ตนอ้างถึงนั้น เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายตามที่ตนได้กล่าวอ้าง หรือหากกิจการดังกล่าวไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียง ก็จะต้องพิสูจน์ได้ว่ากรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติอันไม่อาจคาดหมายได้ หรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น "

          กรณีที่ไม่มีความผิด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6273/2546  ข้อเท็จจริงไม่ได้ความจากผู้เสียหายว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนว่าในการกู้ยืมเงินของสมาชิกนั้น บริษัท ค. จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัท ค. สามีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชาวต่างชาติใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ค. แทน ก่อนจำเลยที่ 1 จะถอนชื่อออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ค. จำเลยที่ 1 ไม่ทราบการดำเนินการของบริษัท ค. จึงฟังได้ว่า การลงทุนของผู้เสียหายมิได้เกิดจากการโฆษณาหรือประกาศชักชวนของจำเลยทั้งสี่โดยตรง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 , 12



          กรณีที่เป็นความผิด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561  การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549  การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6273/2546  ข้อเท็จจริงไม่ได้ความจากผู้เสียหายว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนว่าในการกู้ยืมเงินของสมาชิกนั้น บริษัท ค. จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัท ค. สามีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชาวต่างชาติใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ค. แทน ก่อนจำเลยที่ 1 จะถอนชื่อออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ค. จำเลยที่ 1 ไม่ทราบการดำเนินการของบริษัท ค. จึงฟังได้ว่า การลงทุนของผู้เสียหายมิได้เกิดจากการโฆษณาหรือประกาศชักชวนของจำเลยทั้งสี่โดยตรง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 , 12
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2557  แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวน ป. ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึง 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยแบ่งงานกันทำกับพวกจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง
          อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่ผู้เสียหายที่ 5 ด้วยนั้นชอบแล้ว เพราะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิด จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงินแก่ผู้เสียหายทุกคนด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317 - 7318/2555  พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ในพระราชกำหนดนี้ "ผู้กู้ยืมเงิน" หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย" แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ป. และบริษัท ซ. แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมดำเนินกิจการกับบริษัททั้งสอง และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับบริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ และเป็นผู้กู้ยืมเงินในความหมายของการกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 แล้ว
          การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันโฆษณาชักชวน แนะนำ แจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัท ป. และบริษัท ซ. โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่ว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปในอัตราดังกล่าวได้ จนจำเลยทั้งสองกับพวกได้เงินไป จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่นำมาปรับใช้แก่คดี
          การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (เดิม) แล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 5 อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6719 - 6720/2550  ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลใดก็ตาม ที่กระทำการตามองค์ประกอบความผิดในมาตรานี้เป็นผู้กระทำความผิด ไม่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะแต่เพียงว่าผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อจำเลยกับพวกในฐานะตัวแทนของบริษัท ท. ได้กระทำการในการจะกู้ยืมเงินด้วยการโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป และจำเลยกับพวกจ่ายหรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าวว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้บริษัท ท. กู้ยืมเงินในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ และจำเลยกับพวกไม่ได้พิสูจน์ว่ามีข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยกับพวกจึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547  พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้ให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า "กู้ยืมเงิน" และ "ผลประโยชน์ตอบแทน" ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์
          แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 คน ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91
          จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2547  จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืมในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์มากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้ หากแต่การจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายในครั้งแรกๆ เป็นเพียงอุบายทุจริตตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายให้หลงเชื่อและส่งมอบเงินให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายโดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน และร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2539  บริษัทมีเจตนาเพียงจะเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากประชาชนผู้มาสมัครงานโดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวกรรมการของบริษัทเองหรือเพื่อบริษัท อันเป็นการกระทำโดยทุจริตโดยประกาศหลอกลวงให้ประชาชนมาสมัครงาน ด้วยแสดงข้อความเท็จว่าให้สมัครเข้ามาทำงาน แต่บริษัทหามีงานให้ทำไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่มีงานให้ทำ แต่ก็ยังร่วมดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตลอดมา เป็นการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานดังกล่าวเป็นเหตุทำให้บริษัทกับกรรมการของบริษัทได้ไปซึ่งเงินประกันการทำงานจากผู้สมัคร การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก
          การที่บริษัทได้รับผู้เสียหายเข้าทำงานแล้วได้ให้ผู้เสียหายซื้อหุ้นคนละ 30 หุ้น เป็นเงิน 3,000 บาทมีลักษณะเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนและได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหาย โดยให้เงินปันผลหรือเงินค่าครองชีพเดือนละ 135 บาท จึงเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 เมื่อบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการรับสมัครงานที่มิชอบหรือจ่ายหรือตกลงหรือจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดดังกล่าวและในการกู้เงินดังกล่าวได้มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 135 บาท หรือคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ 54 ต่อปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมรับเงินที่ผู้เสียหายได้นำมาเข้าร่วมลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว จึงมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5
          ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้กระทำในนามของบริษัทโดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดี การคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้วก็ดี ล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อให้มาทำงาน เพราะความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้มีการทำงานในช่วงแรกๆและจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิให้เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
          ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษโดยรวมโทษทุกกระทงแล้วปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ทั้งที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุด คือ ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 20 ปีนั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) รวมจำคุกคนละ 50 ปี แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งห้า คงแก้ไขให้ถูกต้องได้เฉพาะปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น


เหตุฟ้องหย่า

          การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล


          ศาลจะมีคำพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันก็โดยสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องขอหย่า โดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1516 ซึ่งมีกำหนดไว้ 12 เหตุที่ใช้บังคับกับทุกกรณีที่มีการหย่าเกิดขึ้น

          มาตรา 1516  "เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
          (1)  สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
               (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
               (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
               (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
          อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (4/1)  สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (4/2)  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (5)  สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
          (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้"




          (1)  สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้  (มาตรา 1516 (1)) 


          ก. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ภริยาฟ้องหย่าได้

          สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา
          การอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา คือ การให้ความช่วยเหลือหญิงอื่นในสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ไม่ว่าเงินหรือเครื่องอุปโภคบริโภคหรือทรัพย์อื่นใดในการดำรงชีพ ทั้งนี้ต้องเป็นการอุปการะเลี้ยงดูฉันภริยา และแม้หญิงอื่นจะเคยมีความสัมพันธ์กับสามีมาก่อนสมรสกับภริยา หากสามียังอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นโดยเปิดเผยฉันภริยาแล้ว ภริยาก็มีสิทธิฟ้องหย่าได้
          การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา คือ การแสดงโดยเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปทราบว่าหญิงอื่นนั้นเป็นภริยาของตนหรือมีความสัมพันธ์ฉันภริยากับตน เช่น พาไปออกงานสังคมโดยเปิดเผยและแนะนำให้เพื่อนฝูงรู้จักว่าเป็นภริยาตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2525  จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ เมื่อจำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และยกย่องเป็นภรรยาอย่างออกหน้า ดังนี้ โจทก์ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่าในกรณีนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน ตาม ป.พ.พ. ม.1523 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552  แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2552   โจทก์เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมาและโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546   โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้
          การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

          สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

          สามีเป็นชู้กับภริยาคนอื่น เป็นกรณีที่สามีถูกภริยาฟ้องหย่าเพราะเหตุไปเป็นชู้กับภริยาผู้อื่นนั้น สามีจะต้องรู้ว่าหญิงอื่นที่สมัครใจมาร่วมประเวณีกับตนเองนั้นมีสามีแล้วด้วยจึงจะถือว่าเป็นชู้ การเป็นชู้นี้แม้เพียงครั้งเดียวก็ถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ อย่างไรก็ตาม การเป็นชู้นี้ถือว่าเป็นเหตุประพฤติชั่วตามมาตรา 1516 (2) ด้วย

          สามีร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ คือ กรณีที่สามีสมัครใจร่วมประเวณีกับหญิงอื่นนี้ ต้องกระทำเป็นประจำเป็นนิสัย ไม่ใช่ชั่วครั้งคราว

          ข. ภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามี มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ สามีฟ้องหย่าได้

          ภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามี

          ภริยามีชู้ คือ กรณีภริยาสมัครใจร่วมประเวณีกับชายอื่น แต่ถ้าถูกข่มขืนก็ไม่ถือว่ามีชู้

          ภริยาร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ คือ ภริยาสมัครใจร่วมเพศกับชายอื่นและภริยากระทำเช่นนี้จนติดนิสัยหรือกระทำอยู่เสมอๆ มิใช่ชั่วครั้งชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แม้ร่วมเพศกับชายอื่นเพียงครั้งเดียวก็ถือว่ามีชู้อันเป็นเหตุฟ้องหย่าเหมือนกัน

          อนึ่ง ถ้าศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุประพฤตินอกใจคู่สมรสตามมาตรา 1516 (1) สามีหรือภริยามีสิทธิได้รับค่าทดแทนทั้งจากภริยาหรือสามี และจากชายชู้หรือจากหญิงที่สามีร่วมทำชู้ หรือจากชายอื่นหรือหญิงอื่นอันเป็นเหตุแห่งการหย่านั้นด้วย ตามมาตรา 1523
      


       
           (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
               (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
               (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
               (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ 
          อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (2))

          การที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้ฟ้องหย่านั้น การประพฤติชั่วดังกล่าวจะต้องเป็นเหตุให้ภริยาหรือสามีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดอดร้อนเกินควรด้วย ถ้าลำพังแค่การประพฤติชั่วอย่างเดียวยังไม่เป็นเหตุหย่า สำหรับความประพฤติชั่วนั้น หมายถึง ความประพฤติที่ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจารีตประเพณีซึ่งวิญญูชนรู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2529  แม้การที่จำเลยใช้กำลังกายปลุกปล้ำและทำร้ายท.ลูกจ้างโดยส่อเจตนาว่าจะใช้กำลังบังคับข่มขืนใจให้ ท.ยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณีนั้นจะเกิดขึ้นภายในบ้านไม่มีบุคคลภายนอกรู้เห็นก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงต่อท.ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2531  จำเลยชอบเล่นการพนันมานาน โจทก์ห้ามปรามก็ไม่เชื่อบางครั้งนำทรัพย์สินภายในบ้านไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนันจำเลยเคยถูกจับฐานเล่นการพนันถูกดำเนินคดีจนศาลพิพากษาลงโทษ ก็ยังไม่เลิก โจทก์เป็นตำรวจต้องถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปตักเตือนว่าหากไม่ห้ามให้จำเลยเลิกเล่น จะย้ายโจทก์ โจทก์ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว เมื่อจำเลยเล่นการพนันเสียบางครั้งเงินก็ไม่พอใช้จ่าย พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) และ (ค)
          การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175/2537  สามีดื่มสุราเป็นอาจิณ และทำร้ายร่างกายภริยาบ่อยครั้งเมื่อมึนเมา เป็นการประพฤติชั่ว ภริยาฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5989/2538  สามีเที่ยวหญิงบริการและให้เพื่อนถ่ายภาพลามกอนาจารที่ตนทำกับหญิงอนาจารออกเผยแพร่ เป็นการประพฤติชั่ว ฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547  ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2543  เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 1 คนต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันอีก ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โดยโจทก์กับบุตรอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำพัง โจทก์พาบุตรเดินทางไปเยี่ยมจำเลยตามปกติพบชายอื่นพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับจำเลยในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันหลังจากนั้นประมาณ 3 ปี โจทก์พาบุตรเดินทางไปพบจำเลยเนื่องจากต้องการให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในการขายตึกแถวสินสมรส โจทก์ก็พบจำเลยพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับชายอื่นอีกคนหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยอีก โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเช่นเคย เมื่อจำเลยเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย จำเลยก็มากับชายอื่นและเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน แทนที่จำเลยจะพักอยู่บ้านโจทก์ผู้เป็นสามี พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(2)(ก)(ข) และ (6) แม้ในระหว่างที่จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น และให้ความอุปการะเลี้ยงดูด้วยซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวเอาความกับโจทก์ตามสิทธิที่มีอยู่ กรณีหาเป็นเหตุทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์สิ้นไปไม่

          พฤติการณ์ที่ไม่เป็นการประพฤติชั่ว ฟ้องหย่าไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2533  จำเลยเป็นภรรยาโจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมพูดกับโจทก์ หากมีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกันจำเลยจะเขียนจดหมายแทนการพูดกับโจทก์ก็เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงอื่นและทำร้ายร่างกายจำเลย ทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้บุตรได้ยินการทะเลาะกันระหว่างโจทก์กับจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุอันสมควรที่จะทำให้จำเลยแสดงอาการดูถูกเกลียดชังโจทก์และไม่พูดคุยกับโจทก์ได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่ว และถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุหย่า มารดาของโจทก์เป็นลมเนื่องจากทะเลาะกับจำเลย เพราะจำเลยต้องการพาบุตรชายไปเที่ยวนอกบ้านแต่มารดาไม่ยอม เหตุดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีโจทก์อย่างร้ายแรง.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2537  การที่จำเลยสืบทราบว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหญิงอื่นจึงเสพสุรา สูบบุหรี่ ทะเลาะวิวาท และติดตามควบคุมโจทก์ในวิทยาลัยที่โจทก์ทำงานอยู่นั้น แม้พฤติการณ์ของจำเลยจะก่อให้โจทก์เกิดความเบื่อหน่ายอับอายในหมู่เพื่อนอาจารย์และนักศึกษา แต่ก็เกิดจากความรักหึงหวงหวาดระแวงของจำเลยตามวิสัยสตรีเพศที่เป็นภริยาซึ่งอาจปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ถ้าโจทก์ไม่แสดงความรำคาญใจและฝักใฝ่ในสตรีอื่นให้ปรากฏ ทั้งจำเลยเองก็ไม่สมัครใจหย่าตัดความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงยังไม่ถึงขั้นประพฤติชั่วที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงหรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเดือดร้อนเกินควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541  การที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็นผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ สมาคมฯจึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าว เป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2542  การที่จำเลยไปเที่ยวกับผู้ชายในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ความชัดว่าจำเลยประพฤติตนเช่นนั้นเป็นปกติวิสัยหรือไม่ ชายที่จำเลยไปด้วยมีความสัมพันธ์กับจำเลยเกินกว่าปกติธรรมดาหรือไม่ และจำเลยไปกับชายดังกล่าวเพียงลำพังสองต่อสองหรือไม่ จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยประพฤติชั่ว อันจะเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2546  ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนับแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นไปโดยปกติ จำเลยเพิ่งมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปเมื่อครั้งทำงานที่ประเทศบรูไนแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการและนายจ้างส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทย ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อนจำเลยย่อมเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น โจทก์จึงควรสงสารให้ความเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจจำเลย แม้บางครั้งจำเลยดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยเนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ส่งจดหมายมาบอกขณะโจทก์อยู่ที่ดินแดนไต้หวันว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วทั้งจำเลยยินยอมแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวหรือดื่มสุราดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3)

          (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (3))

          ก. การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หมายถึง การจงใจทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของคู่สมรสหรือบุพการีของคู่สมรสอีกฝ่าย ซึ่งการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจนี้ต้องร้ายแรงด้วยจึงจะเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2506/2523  การที่สามีไปได้ภริยาน้อยจนกระทั่งมีบุตรด้วยกันภริยาหลวงย่อมจะต้องมีความหึงหวงเป็นธรรมดา ภริยาด่าสามีด้วยอารมณ์หึงหวงอันเกิดจากความรักความหวงแหนหาเป็นการร้ายแรงที่จะอ้างมาเป็นเหตุหย่าได้ไม่ และการทำร้ายร่างกายด้วยสาเหตุดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฏว่าสามีได้รับอันตรายร้ายแรงจากบาดแผลนั้นแต่อย่างใด ก็ไม่เข้าลักษณะของการทำร้ายอันเป็นการร้ายแรงที่จะถือเป็นเหตุหย่าได้เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2943/2524  การที่จำเลยตัดสายห้ามล้อรถยนต์เพื่อมิให้โจทก์ออกจากบ้านยังห่างไกลต่อการที่จะฟังว่าจำเลยได้ทำร้ายโจทก์ และแม้โจทก์จำเลยทะเลาะกันเป็นประจำก็ฟังไม่ได้ว่าเป็นการร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2539   จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 1,000 บาท โจทก์มิได้นำแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลมาเบิกความว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บมากน้อยเพียงใด การที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับเพียง 1,000 บาท แสดงว่าบาดแผลที่โจทก์ได้รับไม่เป็นอันตรายร้ายแรงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นการร้ายแรงอันเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3)

          ข. การทรมาณร่างการหรือจิตใจ คือ การทำให้เกิดความลำบากทางร่างกายหรือจิตใจ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2524  จำเลยทะเลาะกับโจทก์ และด่าโจทก์กับบิดามารดาโจทก์ว่า "อีดอกทอง อีหน้าส้นตีน พ่อแม่มึเฮงซวย กูอยู่บ้านนี้ไม่ได้แล้ว" และเมื่อโจทก์จำเลยแยกไปอยู่ที่อื่น จำเลยยังด่าว่า "อีดอกทอง อีหน้าส้นตีน พ่อแม่ไม่สั่งสอน ทำกับข้าวเหมือนให้หมากิน" ทั้งยังด่าโจทก์เป็นผู้หญิงไม่ดีอีกด้วย และใช้กำลังตบตีโจทก์จนหนีออกจากบ้าน จำเลยก็ยังตามไปตบตีโจทก์อีก เช่นนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และบิดาโจทก์อย่างร้ายแรง และเป็นการทรมาณร่างกายและจิตใจโจทก์ อันเป็นเหตุฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6483/2534  การฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างสามีภริยาเรื่องต่างฝ่ายจะไม่นำบุตรหรือญาติเข้ามาอยู่ในบ้านที่สามีซื้อเป็นเรือนหอ ไม่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่สนใจความเป็นอยู่ของโจทก์ ทั้งที่รู้ว่าโจทก์เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและอายุมาก จำเลยไม่สนใจจัดการบ้านเรือน อาหารและแอบไปถอนเงินฝากของโจทก์มาใช้ส่วนตัว เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติตนในฐานะภริยาบกพร่องไปเท่านั้น ไม่เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2557  โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นสามีอ้างเหตุว่า จำเลยทรมานร่างกายและจิตใจของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ด้วยการใช้วาจาไม่สุภาพและทะเลาะกับโจทก์โดยไม่มีเหตุผลเป็นประจำ จำเลยถือมีดทำครัวยืนขวางไม่ให้โจทก์ออกจากบ้านและขู่จะฆ่าให้ตายหากไม่นำภาพถ่ายในอดีตของโจทก์มาให้และข่มขู่จะทำร้ายโจทก์ด้วยอารมณ์รุนแรงไม่มีเหตุผล ทำให้โจทก์หนีออกจากบ้านเพราะเกรงจะถูกทำร้าย การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้มีดขู่ให้โจทก์ยอมร่วมประเวณีด้วย ทั้งๆที่โจทก์ไม่สบายและไม่ต้องการร่วมประเวณี ทำให้โจทก์รู้สึกทรมานร่างกายและจิตใจอย่างมาก จึงเป็นรายละเอียดแห่งเหตุหย่าตามที่โจทก์กล่าวบรรยายในฟ้อง มิใช่การนำสืบนอกเหนือจากฟ้องตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

          ค. หมิ่นประมาท หรือเหยียดหยาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 329/2511  โจทก์จำเลยทะเลาะกันด่ากัน โจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์เพื่อยกเป็นเหตุฟ้องหย่าหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2517  จำเลยด่าโจทก์และมารดาโจทก์ว่ามารดาโจทก์เป็นคนดอกทองและโจทก์เป็นลูกคนดอกทอง มารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นคนดอกทอง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493ได้นิยามคำว่า 'ดอกทอง' ไว้ว่า หมายถึงหญิงใจง่ายในทางประเวณี คำด่าดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการด่ามารดาโจทก์เป็นหญิงใจง่ายในทางประเวณีและมารดาโจทก์จะชักชวนให้โจทก์ไปเป็นหญิงใจง่ายในทางประเวณี อันเป็นการหมิ่นประมาทมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5638/2537  พฤติการณ์ของจำเลยที่กล่าวหาว่าโจทก์มีชู้ โดยที่คาดคะเนหรือสันนิษฐานเอาเอง แล้วด่าว่าโจทก์ถึงเหตุนี้ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานและต่อหน้าพนักงานสอบสอน จึงเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ทั้งการที่จำเลยได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ด่าว่าโจทก์ไปให้โจทก์และบุคคลอื่นทางไปรษณีย์ กับส่งทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยทำลายแล้วไปให้โจทก์ เป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(3)(เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2548  โจทก์มีพฤติการณ์ส่อว่าจะมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับผู้หญิงอื่น จำเลยหึงหวงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันมาโดยตลอด ณ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์เคยมาขอยืมเงินโจทก์ไปแล้วยังใช้คืนไม่หมด ต่อมา ณ. ขอให้โจทก์นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อนำเงินกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานต่างประเทศอีก แต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนอง จึงเกิดทะเลาะกัน โจทก์จำเลยเขียนบันทึกโต้ตอบกันโดยโจทก์ด่าจำเลยก่อนว่าโจทก์กับจำเลยเป็นบุคคลคนละชั้นกัน จำเลยจึงลำเลิกบุญคุณด่ากลับทำนองว่าโดยเลี้ยงดูส่งเสียโจทก์มาก่อน การที่จำเลยพูดห้ามบุตรสาวจำเลยไม่ให้เข้าใกล้โจทก์และว่าไอ้คนนี้ถ้าคลำไม่มีหางมันเอาหมดนั้น เป็นการกระทำไปโดยเจตนาเตือนให้บุตรสาวระมัดระวังตัวไว้ เพียงแต่ใช้ถ้อยคำอันไม่สมควรเยี่ยงมารดาทั่วไปเท่านั้น นอกจากนี้ การที่จำเลยพูดว่าทำนองเหยียดหยามโจทก์และมารดาโจทก์เกิดจากโจทก์และมารดาโจทก์มีส่วนร่วมก่อให้จำเลยกระทำการดังกล่าวอยู่มาก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเหยียดหยามโจทก์และมารดาโจทก์อย่างร้ายแรงอันโจทก์จะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2546  ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนับแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นไปโดยปกติ จำเลยเพิ่งมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปเมื่อครั้งทำงานที่ประเทศบรูไนแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการและนายจ้างส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทย ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อนจำเลยย่อมเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น โจทก์จึงควรสงสารให้ความเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจจำเลย แม้บางครั้งจำเลยดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยเนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ส่งจดหมายมาบอกขณะโจทก์อยู่ที่ดินแดนไต้หวันว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วทั้งจำเลยยินยอมแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวหรือดื่มสุราดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3)
       
          การที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันด้วยเหตุตามมาตรา 1516 (3) นี้ ถ้าเหตุการหย่าเกิดขึ้นจากการที่คู่สมรสฝ่ายที่ต้องรับผิดก่อให้เกิดขึ้นโดยประสงค์ที่จะให้อีกฝ่ายไม่อาจทนได้จึงต้องฟ้องหย่า คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่ามีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิดด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 1524



          (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4))

           หลักเกณฑ์การทิ้งร้าง คือ

          ก. สามีและภริยาแยกอยู่ต่างหากจากกัน อยู่คนละบ้าน ห่างไกลกัน ไม่มีการติดต่อกัน และการแยกกันอยู่ต้องมีตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีด้วย ถ้าต่อมากลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมแล้ว ก็ถือว่าให้อภัยในการละทิ้งร้างดังกล่าวแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2518  การที่สามีภริยาไม่ได้หลับนอนร่วมเพศกัน แต่อยู่คนละบ้านในบริเวณเดียวกัน ไม่เป็นการทิ้งร้างกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4480/2553  จำเลยซึ่งเป็นภริยาย้ายออกจากบ้านพักของโจทก์ซึ่งเป็นแฟลตตำรวจไปอยู่บ้านที่อำเภอน้ำปาดเนื่องจากโจทก์บอกให้ย้ายไป โดยโจทก์โทรศัพท์แจ้งบิดาจำเลยให้มารับจำเลยไป ทั้งบ้านที่อำเภอน้ำปาดก็เป็นที่ดินของโจทก์และจำเลยอันเป็นสินสมรสร่วมกัน การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ โจทก์จึงอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยเพราะจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงรับกันว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์กับจำเลยทะเลาะกันรุนแรงจนถึงขนาดโจทก์ตบตีจำเลยและจำเลยย้ายออกจากบ้านพักของโจทก์ที่เป็นแฟลตตำรวจ ตั้งอยู่ถนนศรีพนมมาศ ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ไปอยู่ที่บ้านตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจำเลยพาเด็กหญิง ภ. บุตรสาวของโจทก์และจำเลยไปอยู่ด้วย จนเป็นเหตุให้โจทก์อ้างเป็นเหตุหาว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์เป็นคดีนั้น โจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงรับกันด้วยว่า การที่จำเลยย้ายออกจากบ้านพักแฟลตตำรวจไปอยู่ที่บ้านที่อำเภอน้ำปาดเป็นเพราะโจทก์บอกให้ย้ายไป โดยโจทก์โทรศัพท์แจ้งบิดาจำเลยให้มารับจำเลยไปและบ้านที่อำเภอน้ำปาดดังกล่าวนั้น ก็เป็นบ้านที่เป็นของโจทก์และจำเลยอันเป็นสินสมรสร่วมกัน ดังนี้ การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ โจทก์จึงอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”

          ข. เจตนาที่สามีหรือภริยาจะแยกจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง หากไม่มีเจตนาแต่เพราะความจำเป็นทำให้ต้องไปอยู่ที่อื่น ดังนี้ ก็ไม่ใช่การจงใจละทิ้งร้าง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552  ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเหตุหย่าเพียงการละทิ้งร้างกันเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามมาตรา 1516 (4/2) และแม้ว่าคำฟ้องโจทก์แนบบันทึกตกลงแยกทางกันด้วยว่า “ศ. (จำเลย) มีความประสงค์ขอแยกทางกันอยู่กับ ว. (โจทก์) และ ว. ก็ยินยอม” ไว้ท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถือว่าคำฟ้องโจทก์มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) กรณีสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีด้วย
          ตามบันทึกตกลงแยกทางกันนั้นได้บันทึกถึงเหตุที่โจทก์และจำเลยต้องทำบันทึกดังกล่าว และภายหลังทำบันทึกตกลง จำเลยไม่เคยพูดเรื่องขอจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่จำเลยเคยพูดกับโจทก์ให้กลับมาอยู่กับจำเลยและบุตรอีก การบันทึกข้อความเรื่องแยกกันอยู่ดังกล่าวจึงเป็นความประสงค์อันเป็นเจตนาของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยยอมลงลายมือชื่อในบันทึกตกลงเชื่อว่าเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับความจริงในข้อนี้ ก็ยิ่งย้ำให้เห็นชัดแจ้งว่ามีสาระเพื่อได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กรณีจึงไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ การพิจารณาข้อความในบันทึกตกลงในเรื่องแยกกันอยู่จึงพิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารโดยไม่พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยย่อมไม่ชอบ ทั้งโจทก์ก็รับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามมาตรา 1516 (4) ซึ่งการไม่ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อยุติเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู กรณีจึงไม่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4)
         สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550   แม้พฤติการณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2542 โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป แต่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยรวมทั้งไม่ยินยอมกลับประเทศไทยเพื่อมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่ปี 2542 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2545   หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยไปอยู่กินกันที่บ้านมารดาโจทก์ ต่อมามารดาและพี่สาวโจทก์มีเรื่องทะเลาะกับจำเลย จำเลยกับบุตรจึงต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นซึ่งโจทก์ก็ตามไปอยู่ด้วย กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ส่วนการที่โจทก์ไปอยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน แล้วกลับออกมาอยู่กับมารดาโจทก์โดยอ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านนั้นก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยาซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลยแม้ต่อมาจำเลยจะย้ายบ้านมาอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปเพียง 5 ถึง 6 ห้องเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มา เมื่อจำเลยต้องย้ายที่อยู่ใหม่ห่างประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาหรือชักชวนจำเลยกับบุตรให้กลับไปอยู่ด้วยกัน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงให้เห็นว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป

          (5)  สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4/1))
          เหตุฟ้องหย่าตามข้อนี้จะต้องประกอบด้วย
          ก. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
          ข. ต้องจำคุกมาแล้วเกินหนึ่งปี
          ค. ความผิดที่ถูกจำคุกนั้นอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย
          ง. การเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555  เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า “สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้” ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

          (6)  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4/2))

          ก. สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8225/2540  โจทก์ได้ ว.เป็นภริยาภายหลังจากจำเลยออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาไปแล้ว ทั้งลักษณะของการที่จำเลยออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกับโจทก์ก็ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจของจำเลยเอง มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขับไล่จำเลยหรือโจทก์นำหญิงอื่นเข้ามาอยู่กินในบ้านฉันสามีภริยาอันเป็นการบีบบังคับให้จำเลยต้องออกจากบ้านแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ต่างหากจากโจทก์
          โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556  พฤติการณ์ที่จะเข้าเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) นั้น นอกจากสามีภริยาต้องสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน 3 ปี แล้ว ยังต้องเป็นการแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติด้วย
          โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อความตกลงประนีประนอมยอมความกันว่า ไม่ประสงค์จะร่วมชีวิตฉันสามีภริยากันอีกต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน 3 ปี แล้ว แต่เหตุที่โจทก์จำเลยไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกตินั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2549  แม้ในปี 2517 โจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยโดยออกจากบ้านที่โจทก์จำเลยเคยอยู่กินด้วยกันไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนาง ม. ก็ตาม แต่ในปี 2519 จำเลยก็มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ส. จนมีบุตรด้วยกัน 1 คน แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไปเช่นเดียวกัน และระหว่างที่แยกกันอยู่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยอีก ฝ่ายจำเลยซึ่งทราบดีว่าโจทก์พักอาศัยอยู่ที่ใดก็มิได้สนใจหรือหาทางที่จะอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยที่ต่างคนต่างอยู่เป็นเวลานานถึง 25 ปีนั้น ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้

          ข. สามีและภริยาแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
       
          (7)  สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (5))
          เหตุฟ้องหย่าข้อนี้แยกเป็น 2 กรณี คือ
          ก. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
          ข. ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (8) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (6))
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2564
การที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552  วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ระหว่างอยู่กินด้วยกันจำเลยเคยส่งเงินผ่านบัญชีของบุตรดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของโจทก์เดือนละ 10,000 บาท ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 8,000 บาท กับเดือนละ 6,000 บาท ตามลำดับ ครั้นปี 2539 โจทก์กับจำเลยได้แยกกันอยู่ และตั้งแต่ปี 2547 จำเลยเกษียณอายุราชการและไม่ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์อีกต่อไป จำเลยได้รับบำนาญหลังจากหักภาษีและค่าฌาปนกิจแล้วเป็นเงิน 23,000 บาทเศษ ส่วนโจทก์ไม่มีรายได้
          ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยหรือไม่ เบื้องแรกเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์แห่งการสมรสก็เพื่อที่จะให้ชายหญิงคู่สมรสได้อยู่กินฉันสามีภริยา ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน และตามมาตรา 1598/38 ที่บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้ได้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติเพื่อให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพ หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่าดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง ส่วนที่จำเลยอ้างเป็นข้อเถียงในฎีกาว่า จำเลยและโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2539 และนับจากเวลาดังกล่าวโจทก์เองไม่เคยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลย ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ และโจทก์ไม่มีอาชีพหรือรายได้ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2552  การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นไปยังผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ผู้สอนของโจทก์ เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ผู้สอนของโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง จึงมีเหตุผลที่จะกระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวมิให้หญิงอื่นมาทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2551  โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาย่อมจะมีเรื่องระหองระแหงทะเลาะกันเป็นปกติธรรมดาของชีวิตคู่ การที่จำเลยไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย และการที่จำเลยตบตีทำร้ายโจทก์จนโจทก์ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยแต่พนักงานสอบสวนได้ไกล่เกลี่ยก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยยังทะเลาะกันและจำเลยพยายามจะทำร้ายร่างกายโจทก์ พฤติกรรมดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินควร ยังไม่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2543  เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน1 คน ต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันอีก ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โดยโจทก์กับบุตรอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำพัง โจทก์พาบุตรเดินทางไปเยี่ยมจำเลยตามปกติพบชายอื่นพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับจำเลยในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันหลังจากนั้นประมาณ 3 ปี โจทก์พาบุตรเดินทางไปพบจำเลยเนื่องจากต้องการให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในการขายตึกแถวสินสมรส โจทก์ก็พบจำเลยพักอาศัยอยู่ร่วมห้องกับชายอื่นอีกคนหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยอีก โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเช่นเคย เมื่อจำเลยเดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย จำเลยก็มากับชายอื่นและเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ด้วยกัน แทนที่จำเลยจะพักอยู่บ้านโจทก์ผู้เป็นสามีพฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (2) (ก) (ข) และ (6) แม้ในระหว่างที่จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น และให้ความอุปการะเลี้ยงดูด้วย ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวเอาความกับโจทก์ตามสิทธิที่มีอยู่ กรณีหาเป็นเหตุทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์สิ้นไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6483/2534  การฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างสามีภริยาเรื่องต่างฝ่ายจะไม่นำบุตรหรือญาติเข้ามาอยู่ในบ้านที่สามีซื้อเป็นเรือนหอ ไม่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516   โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่สนใจความเป็นอยู่ของโจทก์ ทั้งที่รู้ว่าโจทก์เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและอายุมาก จำเลยไม่สนใจจัดการบ้านเรือน อาหารและแอบไปถอนเงินฝากของโจทก์มาใช้ส่วนตัว เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติตนในฐานะภริยาบกพร่องไปเท่านั้น ไม่เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)(6)

          (9) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(7))
          เหตุหย่าข้อนี้ ประกอบด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
          ก. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี
          ข. ความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้
          ค. ความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้

          (10) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (8))
          ทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤตินั้นจะต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น ไม่ใช่การทำด้วยวาจา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2553/2526  ก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า 'ฝ่ายภรรยาจะไม่ประพฤติตัวให้ผิดจารีตประเพณีและให้อยู่กินปรนนิบัติในฐานะให้เป็นสามีภรรยาอยู่กินร่วมกันตลอดไปและจะไม่ประพฤติปฏิบัตินอกใจสามีอีกต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระทำผิดพลาดเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมให้ปรับเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท' สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งมีลักษณะเป็นทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติของภรรยาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8) ซึ่งเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าภรรยาได้ หากผิดทัณฑ์บนที่ทำกันเป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ และไม่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในส่วนบุคคล ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายใด ๆ อีกทั้งมิได้เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต่อมาโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสก็ได้ยอมรับสัญญาฉบับนี้ให้มีผลผูกพันบังคับระหว่างกันได้ สัญญาฉบับนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2538  จำเลยกู้ยืมเงินคนอื่นเพื่อใช้จ่ายในคดีที่โจทก์ถูกจับฐานพกอาวุธปืนและเพื่อใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหนี้สินทั้งหมดจึงเกิดจากการนำมาใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยและบุตรมิใช่เกิดขึ้นเพราะจำเลยนำไปเล่นสลากกินรวบดังที่โจทก์อ้างการกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)  การที่จำเลยหึงหวงและโกรธที่โจทก์หนีไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจึงด่าโจทก์และบุพการีว่ามึงมันเลวเหมือนโคตรมึงนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรงเพราะเป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจการกระทำของจำเลยต่อโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้นถือว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสามีภริยาทั่วไปไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)  หลังจากทำทัณฑ์บนแล้วโจทก์ยังมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจำเลยจึงดุด่าและทำร้ายโจทก์อีกการกระทำของจำเลยมีสาเหตุจากการกระทำของโจทก์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8)

          (11) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(9))

          (12) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516(10))
          สภาพแห่งกายที่ทำให้สามีหรือภริยาไม่อาจร่วมประเวณีได้ หมายถึง สภาพและอวัยวะส่วนที่ทำให้กำเนิดบุตรของชายหรือหญิงผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถร่วมประเวณีกันได้ อย่างไรก็ตาม สภาพแห่งกายที่ไม่อาจร่วมประเวณีได้นี้ต้องเป็นอยู่ตลอดกาล หากเป็นเพียงชั่วคราวก็ไม่เป็นเหตุหย่า


          ข้อยกเว้นในเหตุฟ้องหย่า

          กฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา 1517 และมาตรา 1518 ประกอบด้วยข้อยกเว้น 4 ประการ คือ

          ก. การยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจของฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2527 ระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ จำเลยมีอาชีพผิดกฎหมายค้ายาเสพติด โจทก์รู้เห็นและร่วมกระทำด้วยโจทก์ให้ญาติของโจทก์นำเฮโรอีนมาจากภาคเหนือ จนญาติของโจทก์และจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมหรือรู้เห็น เป็นใจในการกระทำของจำเลยที่เป็นเหตุหย่านั้น โจทก์จะ ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยหาได้ไม่

          ข. การกระทำของฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าเป็นเหตุให้เกิดเหตุหย่านั้น
       
          ค. เหตุหย่าเป็นเหตุเล็กน้อย

          ง. ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าให้อภัยแล้ว



สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา


          สัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง โดยผู้เช่าได้ใช้ทรัพย์หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่าก็ได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทน แต่บางกรณีที่คู่สัญญามีการตกลงกันเป็นพิเศษโดยผู้เช่าต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้องชำระค่าตอบแทนอย่างอื่นให้แก่ผู้ให้เช่านอกเหนือจากค่าเช่าปกติ เช่น ข้อตกลงให้ผู้เช่าสร้างอาคารลงในที่ดินที่ให้เช่า โดยให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน โดยให้ผู้เช่ามีสิทธินำทรัพย์สินออกให้ผู้อื่นเช่าต่อไปมีกำหนด 20 ปี ดังนี้ นอกจากสัญญาเช่าที่ดินปกติแล้ว ยังมีข้อตกลงเรื่องก่อสร้างอาคารและกำหนดสิทธิหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายหลังก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วด้วย จึงมิใช่สัญญาเช่าธรรมดา หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษ ซึ่งเรียกว่า สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          หลักกฎหมายเรื่องสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา มีปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่วางหลักไว้ ซึ่งสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้เช่าได้ให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ให้เช่าเป็นพิเศษนอกเหนือจากค่าเช่าตามปกติ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2488  เจ้าของตึกทำสัญญากับผู้เช่าว่ายอมให้ผู้เช่าออกทุนสร้างตึกให้ดีขึ้นตามรายงานที่ตกลงกัน  เมื่อเสร็จแล้วเจ้าของยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไป 15 ปีในอัตราค่าเช่าเดิม ดังนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันอันเกี่ยวกับทรัพย์สินย่อมตกทอดไปยังทายาท ผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้เช่าผู้เช่าฟ้องขอให้ผู้ให้เช่ายอมให้เช่าต่อไปจนครบ 15 ปีตามสัญญาเช่าได้


          กรณีที่ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

            (1) ปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินที่เช่าแล้วยกกรรมสิทธิ์อาคารให้แก่เจ้าของที่ดิน โดยอาจยกกรรมสิทธิ์ให้ทันทีหรือยกให้ภายหลังเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าก็ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2488   เช่าที่ดินของผู้อื่นปลูกตึกโดยตกลงว่าจะให้ตึกเป็นสิทธิแก่เจ้าของที่ดินจะเป็นในทันทีหรือในภายหน้าก็ตาม เมื่อถึงกำหนดนั้นๆ แล้วตึกย่อมตกเป็นกรรมสิทธิแก่เจ้าของที่ดินโดยไม่ต้องมีการโอนทะเบียน ในกรณีเช่นนี้ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทำการโอนก็ต้องตัดสินยกฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2518  โจทก์ร่วมทำสัญญาให้บริษัท ว.ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของโจทก์ร่วม โดยตกลงให้อาคารตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม บริษัท ว.หรือบริษัทผู้รับช่วงจากบริษัท ว.ได้สิทธิเรียกร้องเงินกินเปล่าจากผู้เช่าและนำผู้เช่ามาทำสัญญากับโจทก์ร่วม บริษัท ว.ให้บริษัท ส.รับช่วงก่อสร้างอาคารดังกล่าวไป บริษัท ส.ได้ก่อสร้างอาคารพิพาทหนี้แล้วบริษัท ว.และบริษัท ส.ได้ตกลงให้ ม.เช่า และนำ ม.ไปทำสัญญาเช่ากับโจทก์ร่วม ต่อมา ม.โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์โดยโจทก์ร่วมอนุญาตและทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะได้ออกเงินค่าก่อสร้างอาคารพิพาทให้แก่บริษัท ส.และบริษัท ส.ตกลงจะให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท ทั้งจำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในอาคารพิพาทก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่ากับโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมไม่ทราบถึงข้อตกลงระหว่างบริษัท ส.กับจำเลย และบริษัท ส.ไม่ได้นำจำเลยไปทำสัญญาเช่ากับโจทก์ร่วมข้อตกลงระหว่างจำเลยกับบริษัท ส.คงผูกพันเฉพาะจำเลยกับบริษัท ส.เท่านั้นไม่ผูกพันโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ร่วมจึงไม่มีหน้าที่ให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท
          อาคารพิพาทปลูกในที่ดินของโจทก์ร่วม เมื่อตกลงกันว่าให้อาคารที่ก่อสร้างขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม จึงเป็นส่วนควบของที่ดินของโจทก์ร่วมและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทให้โจทก์ร่วมอีก
          ***กรณีทำสัญญาตกลงยกกรรมสิทธิ์อาคารให้ภายหลังเมื่อครบสัญญาเช่า หากยังไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่า กรรมสิทธิ์ในอาคารยังไม่ตกเป็นของเจ้าของที่ดิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370-371/2511  ผู้ร้องทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินปลูกตึกแถวที่โจทก์นำยึด มีกำหนด 15 ปี โดยจดทะเบียนการเช่า มีข้อสัญญาว่า หากผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 3 ครั้งติดๆกัน ยอมยกสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ ดังนี้ ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดตึกแถวพิพาท จำเลยยังไม่ผิดนัดชำระค่าเช่า จำเลยยังไม่ผิดสัญญา ตึกพิพาทยังเป็นของผู้ร้องผู้ให้เช่าอยู่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
          จำเลยปลูกสร้างตึกพิพาทลงในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 15 ปีจึงจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบอายุ ตึกพิพาทยังไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน

            (2) ปลูกพืชลงในที่ดินที่เช่า

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801-802/2492   ทำสัญญาเช่าที่ดิน โดยมีข้อสัญญาว่า ผู้เช่าต้องหาต้นผลไม้มาปลูกเอง ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อผู้เช่าตาย สิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าก็ตกไปยังทายาท ทายาทมีสิทธิที่จะได้เช่าต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่ทำไว้ต่อกัน (อ้างฎีกา 172/2488)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2495   โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยเช่าสวนของโจทก์มีกำหนด 6 ปี โดยจำเลยมีหน้าที่ปลูกส้มเขียวหวานลงในสวนของโจทก์ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนชะนิดหนึ่ง  ซึ่งมิใช่สัญญาเช่าตามธรรมดา ฉะนั้นเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อสัญญา คือได้ปลูกส้มเขียวหวานลงแล้ว จำเลยก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้เช่าสวนต่อไปตามข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดการจดทะเบียนการเช่าให้จำเลยได้ตามนัยฎีกาที่ 172/2488
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2551   เดิมจำเลยเช่าที่ดินโจทก์เพื่อทำสวน โดยเสียค่าเช่ารายปีละ 7,500 บาท มีการทำสัญญาเช่ากันครั้งละ 1 ปี โดยโจทก์ให้จำเลยเช่าตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปี แล้วและในวันที่ 19 พฤษภาคม 2536 โจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลย ระบุว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อทำสวนสามารถพัฒนาที่ดินกลบร่อง ยกร่อง พร้อมทั้งตกแต่งคันล้อมขึ้นมาใหม่ เพื่อปรับปรุงทำสวนจนเต็มเนื้อที่ โจทก์ตกลงให้เช่าที่ดินแปลงนี้มีกำหนด 30 ปี ครบกำหนดให้สวนและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกันอีก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 มีกำหนดเช่า 1 ปี จากนั้นโจทก์ไม่ยอมทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทอีก ในวันที่ 6 มีนาคม 2544 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทเห็นว่าจำเลยจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาระยะเวลาเช่าในปี 2536 จำเลยได้ยกร่องสวนและปลูกต้นมะนาวแล้วตั้งแต่ปี 2537 ทั้งโจทก์ยังเบิกความยอมรับว่าในการปรับระดับที่ดินและยกร่องสวนใหม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 50,000 บาท จะเห็นได้ว่าตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยมิได้มีหน้าที่เพียงแต่บำรุงรักษาซ่อมแซมที่ดินที่เช่าตามปกติ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องพัฒนาที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยมากขึ้นจากสัญญาเช่าตามธรรมดา และหากมีระยะเวลาการเช่าเพียง 1 ปี ตามปกติ จักทำให้จำเลยได้รับผลประโยชน์ได้คุ้มกับที่จำเลยได้ลงทุนไปในการพัฒนาที่ดินและทำสวนมะนาว ทั้งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้สวนและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เป็นประโยชน์แก่โจทก์ด้วย มิใช่ว่าไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์เลย โจทก์เองก็ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งตกลงยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นการตอบแทน สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงคือได้พัฒนาที่ดิน กลบร่องสวนเดิม ยกร่องสวนใหม่ ตบแต่งคันล้อมขึ้นมาใหม่ และปลูกต้นมะนาวแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

            (3) ออกเงินช่วยค่าก่อสร้าง

          กรณีเจ้าของที่ดินก่อสร้างอาคารเอง แต่บางครั้งเงินอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องการเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้ที่ต้องการเช่าอาคารนั้น ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานว่า เงินช่วยค่าก่อสร้างนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2501  โจทก์ออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกให้จำเลย และจำเลยตกลงจะให้โจทก์เช่าตึกที่ก่อสร้างขึ้นใหม่สัญญาเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ โจทก์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เมื่อจำเลยผิดสัญญา เพราะเป็นสัญญาต่าตอบแทนชนิดหนึ่ง มิใช่สัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1135/2506   สัญญาเช่าห้องแถว ซึ่งผู้เช่าให้เงินแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินช่วยค่าก่อสร้าง และผู้ให้เช่ายอมให้เช่าอยู่ได้ 6 ปี 10 เดือนนั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทน มีผลผูกพันกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2511   จำเลยช่วยออกเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 6 ปีนั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อหมดอายุสัญญาเช่านั้นแล้ว จำเลยได้เช่าต่อมาสัญญาเช่าใหม่นี้เป็นสัญญาเช่าธรรมดา หาใช่สัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือจากสัญญาเช่าไม่
          สำหรับเงินช่วยค่าก่อสร้างนี้ ต้องได้ความว่าเป็นเงินที่ออกช่วยค่าก่อสร้างกันจริง คือ ต้องออกเงินช่วยก่อนมีการก่อสร้างหรือขณะทำการก่อสร้าง แต่ถ้าทำการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เงินที่ผู้เช่าให้ไปในภายหลังจะไม่ใช่เงินช่วยค่าก่อสร้าง แต่ถือเป็นเงินกินเปล่า มีผลให้สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาเช่าธรรมดา มิใช่สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2506   ในการทำสัญญาเช่าห้อง ผู้เช่าออกเงินให้ผู้ให้เช่า 5,000 บาท ในสัญญาเช่ากล่าวถึงว่าเป็นเงินค่าก่อสร้างค่าแป๊ะเจี๊ยะ เมื่อคดีได้ความว่าในขณะทำสัญญานี้ ผู้ให้เช่ามีห้องพร้อมอยู่แล้วไม่จำต้องก่อสร้างขึ้นแต่อย่างใด ดังนี้ เงินที่ผู้เช่าออกไปนั้นจึงไม่ใช่เงินค่าก่อสร้าง คงเป็นเงินกินเปล่าตามธรรมดา สัญญาเช่าจึงเป็นสัญญาเช่าธรรมดาไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน
          สัญญาเช่าที่ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน เมื่อกำหนดระยะเวลาเช่าได้ 10 ปีโดยไม่ได้จดทะเบียนการเช่านั้น คงบังคับกันได้เพียง 3 ปี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 574-580/2516   จำเลยเช่าแผงลอยของโจทก์ประกอบการค้า และเสียเงินให้โจทก์ 2,000 บาท  ขณะที่จำเลยมาเช่า โจทก์มีแผงลอยพร้อมอยู่แล้ว ไม่จำต้องก่อสร้างขึ้นอีกแต่อย่างใด ที่จำเลยเสียเงินให้โจทก์ ก็ได้รับประโยชน์โดยโจทก์เก็บค่าเช่าถูกกว่าผู้เช่าที่มิได้เสียเงินเงินที่จำเลยเสียให้โจทก์นั้นจึงเป็นเงินประเภทเดียวกับเงินกินเปล่าอันเป็นค่าเช่าส่วนหนึ่ง. หาทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไม่
          กรณีผู้เช่าชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินของเจ้าของที่ดิน และยกอาคารให้เจ้าของที่ดิน โดยบุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้เช่าและมีสิทธินำอาคารออกให้เช่าได้ ก็ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2512   จำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 ปลูกตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 แล้วให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้มาขอเช่าตึกได้ และจำเลยที่1 จะทำสัญญาเช่าให้มีกำหนดสิบปี เมื่อโจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 2 และเสียเงินค่าก่อสร้างตึกให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จดทะเบียนการเช่าได้ตามสัญญา (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2506)
          แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เป็นคู่สัญญากับโจทก์แต่ตามสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์ได้ การชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญากับจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ หรือ นัยหนึ่งโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองด้วยการที่จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เช่าตึกเป็นการตอบแทนตามสิทธิของโจทก์ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้นด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์
          แต่ถ้าออกเงินให้แก่ผู้ก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ผู้ก่อสร้างอาคารช่วยพาไปทำสัญญากับเจ้าของที่ดิน ไม่ถือว่าออกเงินช่วยค่าก่อสร้าง จึงไม่ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2523  การเข้าอยู่ในห้องพิพาทโดยได้ออกเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ก่อสร้างเพื่อตนจะได้เข้าทำสัญญาเช่ากับเจ้าของห้องพิพาทหาใช่เป็นการช่วยค่าก่อสร้างห้องพิพาทไม่สัญญาเช่าที่ทำกับเจ้าของห้องพิพาทจึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและเมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงใช้บังคับได้เพียง 3 ปี

            (4) การซ่อมแซมปรับปรุงอาคารที่เช่า

          ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมเล็กน้อยทรัพย์ที่เช่าตามมาตรา 553 และแม้จะเป็นการซ่อมแซมใหญ่แก่สถานที่เช่า หากเป็นการซ่อมแซมเพื่อความสะดวกแก่ผู้เช่าหรือเพื่อผู้เช่าได้เข้าอยู่อาศัย ก็ถือว่าเป็นข้อตกลงตามสัญญาเช่าธรรมดา แต่ถ้ามีข้อตกลงให้ซ่อมแซมใหญ่สถานที่เช่าจนเกินภาระตามปกติธรรมดาหรือจนทำให้สถานที่เช่ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้เช่าแล้ว สัญญานั้นก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2512   ทำสัญญาเช่าห้องแถวสองชั้นฉบับแรกมีกำหนด 3 ปี ระหว่างอายุสัญญาเช่าได้ทำสัญญาอีก 1 ฉบับ โดยผู้ให้เช่ารับจะให้เช่าห้องดังกล่าวต่อจากสัญญาเช่าฉบับแรกอีก 9 ปี และผู้เช่ารับภาระซ่อมแซมต่อเติมพื้นประตูและทำชั้นที่สามเพิ่ม ทั้งได้ทำการเหล่านี้แล้ว สัญญาฉบับหลังย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องมีเอกสารมาแสดงหรือบังคับให้จดทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5770/2539   โจทก์เช่าอาคารเฉพาะชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 6 จากจำเลยในอัตราค่าเช่าเดือนละ 200,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ปรับปรุงอาคารที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นห้องพักและสำนักงาน สิ้นค่าใช้จ่ายไป 6,000,000 บาทและจะต้องชำระค่าเช่าให้จำเลยอีกเดือนละ 200,000 บาท ทั้งตามข้อสัญญาระบุว่าบรรดาสิ่งที่ผู้เช่าได้นำมาตกแต่งในสถานที่เช่า ถ้ามีลักษณะติดตรึงตรากับตัวอาคารแล้ว ผู้เช่าจะรื้อถอนไปไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การปลูกสร้างหรือดัดแปลงต่อเติมที่ผู้เช่าได้กระทำขึ้นนั้น ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น ในการลงทุนปรับปรุงอาคารพิพาทประกอบกับข้อสัญญาดังกล่าวบ่งชี้ว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          ผลของการเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา 

          สามารถแยกพิจารณาได้ 2 กรณี

            1. กรณีไม่มีการโอนทรัพย์สินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอก

          (1) สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 538 ที่จะต้องทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ ดังนั้น หากเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แม้ทำสัญญาเช่ากันด้วยวาจาก็บังคับได้ตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2501  โจทก์ออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกให้จำเลย และจำเลยตกลงจะให้โจทก์เช่าตึกที่ก่อสร้างขึ้นใหม่สัญญาเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ โจทก์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เมื่อจำเลยผิดสัญญา เพราะเป็นสัญญาต่าตอบแทนชนิดหนึ่ง มิใช่สัญญาเช่าธรรมดา
          (2) สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา มิใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า แม้ผู้เช่าตายสัญญาเช่ายังไม่ระงับ แต่สิทธิการเช่าย่อมตกทอดแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801-802/2492  ทำสัญญาเช่าที่ดิน โดยมีข้อสัญญาว่า ผู้เช่าต้องหาต้นผลไม้มาปลูกเอง  ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อผู้เช่าตาย สิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าก็ตกไปยังทายาท ทายาทมีสิทธิที่จะได้เช่าต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่ทำไว้ต่อกัน (อ้างฎีกา 172/2488)
          (3) เจ้าของรวมคนหนึ่งทำสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาโดยเจ้าของรวมคนอื่นรู้เห็น สัญญานี้ย่อมผูกพันเจ้าของรวมทุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408-410/2501   สัญญาที่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ออกเงินสร้างตึกขึ้นแล้วจำเลยมีสิทธิที่จะอยู่ได้ 8 ปีฝ่ายเจ้าของที่ดินเป็นผู้ที่จะได้ตึกโดยไม่ต้องออกเงินสร้างแต่จะต้องยอมให้ผู้สร้างอยู่ได้ 8 ปี สัญญาเช่นนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันย่อมมีผลผูกพันกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน(อ้างฎีกาที่ 1460/2495)
          โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่กับน.ส.สุภาคู่สัญญาซึ่งทำสัญญากันกับจำเลยดังกล่าวข้างต้นและโจทก์รับในรายงานพิจารณาของศาลว่าโจทก์ได้รู้เห็นยินยอมให้ น.ส.สุภาทำสัญญานั้นด้วยโจทก์จึงต้องผูกพันในสัญญาด้วยและเมื่อโจทก์รับโอนที่ดินมาเป็นของตนแต่ผู้เดียวในภายหลังโจทก์ต้องรับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญานั้นมาด้วยเมื่อตามสัญญา จำเลยมีสิทธิจะอยู่ได้ 8 ปีขณะที่ยังไม่ครบกำหนดนั้นโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิจะเลิกสัญญาและยังไม่มีสิทธิจะขับไล่จำเลย
          (4) ถ้าระยะเวลาตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหมดลง และผู้ให้เช่ามีการต่อสัญญาให้แก่ผู้เช่า สัญญาฉบับหลังเป็นสัญญาเช่าธรรมดา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2511  จำเลยช่วยออกเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 6 ปีนั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อหมดอายุสัญญาเช่านั้นแล้ว จำเลยได้เช่าต่อมาสัญญาเช่าใหม่นี้เป็นสัญญาเช่าธรรมดา หาใช่สัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือจากสัญญาเช่าไม่

            2. กรณีมีการโอนทรัพย์สินตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาให้แก่บุคคลภายนอก 

          (1) สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิ มีผลผูกพันเฉพาะผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเดิมเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันผู้รับโอนทรัพย์สิน ผู้รับโอนทรัพย์สินคงมีผลผูกพันเฉพาะสัญญาเช่าธรรมดาเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2508  ต่างตอบแทนระหว่างจำเลยกับนาย ส. ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิผูกพันระหว่างคู่สัญญามิใช่ทรัพย์สิทธิ ไม่ตกติดไปกับทรัพย์ของคู่สัญญา โจทก์รับโอนห้องพิพาทมา จึงไม่ต้องถูกผูกพันตามความตกลงนั้นด้วย  
          (2) กรณีบุคคลภายนอกรับโอนทรัพย์สินที่เช่านั้นมาโดยรู้ว่ามีข้อตกลงเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ก็ไม่ถือว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2514  จำเลยเช่าตึกแถวของ อ. มีกำหนด 10 ปี โดยทำสัญญากันเองไว้ล่วงหน้า 3 ฉบับ ๆ ละ 3 ปี 3 ฉบับ อีกฉบับหนึ่ง 1 ปี แม้จำเลยจะอ้างว่าสัญญาเช่ารายนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนนอกเหนือการเช่าธรรมดาเพราะจำเลยได้เสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้ อ. ก็ตาม แต่เมื่อมิได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าดังกล่าวก็มีผลผูกพันระหว่างจำเลยกับ อ. เท่านั้น               ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์นั้น เมื่อโจทก์ได้รับโอนตึกพิพาทมาโดยสุจริตแม้โจทก์จะทราบว่า อ. กับจำเลยมีข้อตกลงอยู่จริง แต่ในกรณีเช่นนี้ก็หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอย่างใดไม่
          แม้สัญญาดังกล่าวจะได้ทำเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันโจทก์ในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทนี้ภายในระยะ 3 ปีเท่านั้น  เมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทมาภายหลังกำหนด 3 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่ถูกผูกพันที่จะต้องให้จำเลยเช่าต่อไป
          อย่างไรก็ตาม กรณีบุคคลภายนอกไม่ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีข้อยกเว้น 2 ประการ คือ
          (ก) กรณีบุคคลภายนอกผู้รับโอนยอมรับผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว และผู้เช่าแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ของสัญญาแล้ว บุคคลภายนอกผู้รับโอนจะต้องผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานั้น ตามหลักสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก มาตรา 374
          (ข) กรณีโอนทรัพย์ที่เช่าทางมรดก ผู้รับมรดกย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ในสัญญาเช่าตามมาตรา 1600

          การบอกเลิกสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          (1) กรณีไม่มีข้อตกลงให้เลิกสัญญา หากต่อมาผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ผู้เช่าก็มีสิทธบอกเลิกสัญญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2511   สัญญาก่อสร้างที่ผู้สร้างยอมยกกรรมสิทธิ์ในเคหะที่สร้างให้แก่เจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินต้องยอมให้ผู้ก่อสร้างเช่าเคหะนั้น เป็นสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดาด้วย แม้จะระบุให้เช่าและสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดาด้วย แม้จะระบุให้เช่าได้มีกำหนด 11 ปี ก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่ในเรื่องเช่านั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ตามธรรม คือ ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่า เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าก็เป็นการผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าก็ย่อมบอกเลิกการเช่าได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560
          (2) กรณีมีข้อตกลงให้บอกเลิกสัญญา กรณีนี้ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อตกลงนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2509    สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทโดยจำเลยเป็นผู้สร้างและยอมให้ตึกเป็นของโจทก์ และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 9 ปี อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนและมีข้อตกลงในสัญญาเช่าด้วยว่า ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ทันทีเมื่อผู้เช่าผิดสัญญาแม้ข้อหนึ่งข้อใด นั้น หากต่อมาผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 4 งวดติดกัน ผู้ให้เช่าย่อมบอกเลิกสัญญาเช่าได้เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อได้ตกลงไว้ในสัญญาเช่นนี้ กำหนดเวลาเช่า 9 ปีก็ต้องอยู่ภายในข้อตกลงนั้นด้วย เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า 4 งวดติดกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อตกลงนั้น

          สำหรับการเช่าช่วงนั้นอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการเช่าทรัพย์ คือ ผู้ให้เช่าต้องอนุญาตไว้ หากสัญญาไม่มีการระบุให้เช่าช่วง ถือว่าไม่มีการอนุญาตให้เช่าช่วง ผู้เช่าจึงไม่มีสิทธินำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้เช่าช่วง