01 สิงหาคม 2559

การร้องขัดทรัพย์ - ในการบังคับคดี ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยไม่ใช่ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาดผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิในการยึดทรัพย์นั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นได้

          ป.วิ.พ.
          มาตรา 323  "ภายใต้บังคับมาตรา 55 บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น
          ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา 332 ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 339 หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 340 แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย
          เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา 332 ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา
          โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
          ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา"



          หลักเกณฑ์ร้องขัดทรัพย์
          1. ผู้ร้องต้องมีส่วนได้เสียโดยถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่ถูกยึด เช่น เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง
          2. จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึด แต่ถ้าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย เช่น เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์นั้น ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          3. ต้องร้องขัดทรัพย์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น (มาตรา 323 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่)
          4. ต้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดี ซึ่งก็คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น
          5. การร้องขัดทรัพย์ทำได้เฉพาะคดีที่มีการนำยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีเอากับจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ถ้าเป็นกรณีขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อนำเงินมาแบ่งกันในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมซึ่งโจทก์และจำเลยมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่)

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น 

          ถ้าทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้นจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของ ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิร้องขัดทรัพย์นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2557    ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 แต่ภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2535 ตามสำเนาใบมรณบัตร ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียวที่ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ย่อมถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว และที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายอันเป็นมรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเพียงผู้เดียวตามพินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 แล้วเช่นกัน ประกอบกับในเวลาก่อนหรือขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ทั้งสองยังมิได้ฟ้องร้องให้ผู้ตายหรือทายาทของผู้ตายต้องรับผิดในมูลละเมิด ทั้งยังไม่ปรากฏด้วยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายในขณะผู้ตายถึงแก่ความตายจนกระทั่งการจัดการมรดกเสร็จสิ้นอันจะก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสองในอันจะบังคับชำระหนี้เอาจากกองมรดกของผู้ตายได้ จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ในอันที่จะถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง เมื่อภายหลังจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เองโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาอ้างว่า การโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการโอนโดยฉ้อฉลไม่สุจริตเพื่อหลบเลี่ยงมิให้โจทก์ทั้งสองบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร้องขัดทรัพย์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องจึงร้องขัดทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556    แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (มาตรา 323)

          โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านของผู้ร้องมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (288 เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2555    ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านเลขที่ 7/1 บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยหลังจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินรวมถึงบ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย จึงเป็นการนำยึดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง บ้านเลขที่ 7/1 ย่อมเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของจำเลยหามีสิทธิบังคับชำระหนี้ไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้

          เมื่อจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2554    ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด



          การขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามคำสั่งศาล อันเป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้มีสิทธิร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 (271 เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (288 เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2553    ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตาม มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27
          โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วน เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยศาลกำหนดไว้ว่าหากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน อันเป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้มีสิทธิร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

          ถ้ามีการขายทอดตลาดบ้านพิพาทที่ผู้ร้องอ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องจะขอปล่อยทรัพย์นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320/2553    ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการยึดทรัพย์ประกอบบัญชียึดทรัพย์ว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 8418 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส. โดยแสดงรายละเอียดสภาพของบ้านว่าเป็นบ้านตึกชั้นเดียว กระเบื้องซีแพค ผนังก่ออิฐฉาบปูนขอบเรียบ มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ด้านหลังต่อเติมเป็นห้องครัว ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ ไม่ปรากฏเลขทะเบียน แต่โจทก์ยืนยันว่าเป็นบ้านเลขที่ 142 และเป็นของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยระบุสภาพของบ้านและแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านไว้ชัดเจน เป็นที่เข้าใจได้ว่าบ้านที่จะขายทอดตลาดเป็นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้ บ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดกับบ้านที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นบ้านหลังเดียวกัน มิใช่เป็นการขายทอดตลาดบ้านหลังที่มิได้ยึดแต่ประการใด แม้เลขที่ของบ้านจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเพียงการระบุเลขที่บ้านผิดไป มิได้มีผลให้การขายทอดตลาดไม่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ร้องที่ 1 ก็ชอบที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อการขายทอดตลาดบ้านพิพาทเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องที่ 1 จะขอปล่อยทรัพย์นั้นได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า มีเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งผู้ร้องที่ 2 มิได้โต้แย้งว่า ผู้ร้องที่ 2 ทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาทและนำออกขายทอดตลาดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ดังนั้น หากจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องที่ 2 ย่อมต้องร้องขอเสียก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องที่ 2 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม แต่ผู้ร้องที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นแล้ว ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่อาจร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้เพียงในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2545 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 8418 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสาวสมวงศ์ โดยแสดงรายละเอียดสภาพบ้านชัดเจนว่าเป็นบ้านตึกชั้นเดียว กระเบื้องซีแพค ผนังก่ออิฐฉาบปูนขอบเรียบ มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ด้านหลังต่อเติมเป็นห้องครัว ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ ไม่ปรากฏเลขทะเบียน แต่โจทก์ยืนยันว่าเป็นบ้านเลขที่ 142 และเป็นทรัพย์ของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยระบุสภาพของบ้านและมีแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านไว้ชัดเจนเป็นที่เข้าใจได้ว่า บ้านที่จะขายทอดตลาดเป็นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้โดยเป็นการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เช่นนี้บ้านที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้และประกาศขายทอดตลาดกับบ้านที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปจึงเป็นบ้านหลังเดียวกัน มิใช่เป็นการขายทอดตลาดบ้านหลังที่มิได้ยึด แม้เลขที่ของบ้านจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเพียงการระบุเลขที่บ้านผิดไปจากความจริง แต่มิได้มีผลให้การขายทอดตลาดบ้านนั้นไม่ชอบดังที่ผู้ร้องที่ 1 อ้าง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ร้องที่ 1 ก็ชอบที่ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อการขายทอดตลาดบ้านพิพาทเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ ผู้ร้องที่ 1 จะขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นได้ สำหรับข้ออ้างตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองข้ออื่นนอกจากนี้ ผู้ร้องทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          การร้องขัดทรัพย์ ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7318/2553    โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของผู้ร้องและขายทอดตลาดให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่รู้เห็นมาก่อน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดี อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมาย และตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว โดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาขอให้มีคำสั่งให้มีการไต่สวนหรือมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกนำยึดโดยมิชอบ โดยอ้างว่าที่ดินแปลงที่ 1 ที่ถูกขายทอดตลาดเป็นของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้เห็นในการยึดทรัพย์และการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ การปฏิบัติของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการนำยึดเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 ไม่มีการแจ้งการยึดทรัพย์ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงทราบ พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้และขายทอดตลาดนั้นเป็นของผู้ร้อง โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของผู้ร้องและดำเนินการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่รู้เห็นมาก่อน การบังคับคดีจึงกระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้นัดไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการนำยึดที่ดินที่ผิดกระบวนการและมิชอบ ให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้ อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์นั่นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด และการจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องได้นั้น ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแปลงที่ 1 ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือแปลงที่ 1 เนื้อที่ 90 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง  และแปลงที่ 2  เนื้อที่  70  ตารางวา ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่จะได้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด โดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร อันเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 และเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยเห็นว่า สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2545 ที่ดินแปลงนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียังขายทอดตลาดไม่ได้และอยู่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ ถือได้ว่าสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 นี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งฉบับโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งรวมถึงคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาท แต่ปรากฏตามคำร้องว่าผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลมาแบบคดีไม่มีทุนทรัพย์เพียง 200 บาท จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปด้วย”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องนำเงินค่าขึ้นศาลสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 มาชำระเสียให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควร แล้วจึงให้รับคำร้องของผู้ร้องสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หากผู้ร้องไม่ดำเนินการให้จำหน่ายคดีผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

          เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นตามหลักเรื่องส่วนควบ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2553    แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เป็นบ้านเลขที่ 50 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งเดิมเป็นของจำเลย ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2546 จำเลยทำสัญญาขายฝากให้แก่ผู้ร้อง มีกำหนด 2 ปี เป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยกับผู้ร้องทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้และเงื่อนไขการซื้อคืนตามเอกสารหมาย ร.2 ระบุว่า จำเลยตกลงขายบ้านไม้ทรงไทย 4 หลังซึ่งรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้อง โดยมิได้จดทะเบียนการซื้อขายนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า การซื้อขายบ้านพิพาทเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจำเลยกับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเท่านั้น ไม่มีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เห็นว่า แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วยสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้นเช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          การร้องขัดทรัพย์จะต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทก่อนเอาออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2553    แม้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาก่อน ป. ซื้อที่ดินพิพาทและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในคดีที่ ป. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าก่อนหน้านั้น ป. นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ ก. ในปี 2530 และถูก ก. ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 แต่ ป. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ก. จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ก็ต้องถือว่า ก. ยึดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจาก ป. แล้วหากจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทในคดีที่ ก. เป็นโจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ ป. ก่อนเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว แม้ ป. ไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจากการซื้อทอดตลาด สิทธิของโจทก์ผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจึงมิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทนั้นมิใช่ของ ป. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อันเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”
          เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การที่จำเลยปลูกห้องแถว 5 ห้อง รุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ยกข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์ขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนค่าเสียหายจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีรื้อถอนห้องแถว 5 ห้อง ของจำเลยออกจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

          เมื่อที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยมิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3862/2552    แม้ที่พิพาทมีชื่อของจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2513 ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมา โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่พิพาทเลย การที่จำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งได้มาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวแล้ว เห็นได้ชัดว่า การขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำไปในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ด้วยแล้ว พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท

          การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 (287 เดิม) แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (288 เดิม) และผู้ร้องได้ปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมเป็นอันหมดไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2552    เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินของตนตามกฎหมายซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องได้ปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมเป็นอันหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 288 ได้

          บุคคลที่อาจยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้ จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใดๆ ในทรัพย์ที่ถูกยึด อันถือได้ว่าเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจากการยึดทรัพย์นั้น ถ้าผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้ร้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในนามส่วนตัว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10506/2551    บุคคลที่อาจยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้ จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใดๆ ในทรัพย์ที่ถูกยึด อันถือได้ว่าเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจากการยึดทรัพย์นั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่า อพาร์ตเมนต์ที่ถูกยึดไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 แต่เป็นทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. หากเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริง บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิจากการยึดทรัพย์ก็คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากตัวผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ทรัพย์ที่ถูกยึดจึงหาได้เป็นสิทธิของผู้ร้องด้วยไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิ และถึงแม้ห้างดังกล่าวเหลือผู้ร้องเพียงคนเดียว เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดถึงแก่ความตายไป ก็เป็นผลให้เลิกห้างและชำระบัญชีโดยผู้ชำระบัญชีจะเป็นผู้ดำเนินการของห้างหุ้นส่วนตามแต่จำเป็นเพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 เมื่อผู้ร้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งเป็นเพียงหุ้นส่วนธรรมดาจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์คดีนี้

          คำร้องขัดทรัพย์ เป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่ต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีตามมาตรา 302 ซึ่งคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9362/2551     คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคำร้องขัดทรัพย์ เป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่ต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีตามมาตรา 302 ซึ่งบัญญัติว่า ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น ดังนั้น การยื่นคำร้องขัดทรัพย์จึงต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาและตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) บัญญัติว่า “คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302” และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น” ดังนั้น การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตามมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นจึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทไว้พิจารณาพิพากษาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

          คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8856/2551    คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยทั้งกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ตนเอง โดยผู้ร้องไม่ยินยอม ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์เป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขัดทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ตนเองโดยผู้ร้องไม่ยินยอม ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ร้องโอนที่ดินชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2547 เมื่อผู้ร้องในคดีนี้อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้น คำพิพาทษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่าแม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่คดีดังกล่าวก็นานมาแล้ว และหลังจากจำเลยที่ 1 ชนะคดี จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้ร้องเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอดนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          ทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยหรือลูกนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551     ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
          ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน” เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

          เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขัดทรัพย์นั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2551    ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และหนี้ตามคำพิพากษามิใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ศาลจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นหนี้ร่วม โจทก์ก็ไม่อาจยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลอดชำระหนี้แก่โจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกปัญหาว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทของผู้ร้อง โดยไม่วินิจฉัยปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
          การที่ จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาจากผู้ที่เป็นบิดามารดาและต่อมา จ. ก็ยกที่ดินพิพาทให้บุตรคือผู้ร้อง น่าเชื่อว่าหลังจาก จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทแล้ว จ. ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาในฐานะเจ้าของจนกระทั่งยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เมื่อ จ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี จ. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จะยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจากบิดามารดามาเป็นชื่อ จ. ก็ตาม และเมื่อ จ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องในปี 2510 ผู้ร้องก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ได้รับการยกให้จาก จ. ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องเพราะผู้ร้องได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในปี 2519 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในปี 2530 จึงไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องกลายเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี

          แม้ทรัพย์อันเป็นที่ดินที่ถูกยึดนั้นเป็นของผู้ร้อง แต่ถ้าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้จำเลยนำที่ดินนั้นไปเป็นหลักประกันตัวผู้ต้องหา เมื่อจำเลยผิดสัญญาและโจทก์ยึดที่ดินพิพาทบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจะใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2551    ผู้ร้องรู้เห็นและยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันตัวผู้ต้องหา เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันและศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจยึดที่ดินพิพาทบังคับชำระหนี้ได้ไม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวและจะใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหาได้ไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5

          คำสั่งศาลที่อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์ที่ยึดซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้และนำเงินจำนวนดังกล่าวเก็บรักษาไว้ตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งมาตรา 288 วรรคสาม บัญญัติให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด ผู้ร้องขอเพิกถอนไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2551    ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า “...ถ้าปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินเช่าว่านี้โดยไม่ชักช้า” คดีนี้โจทก์นำยึดข้าวเปลือกโดยอ้างว่าเป็นของจำเลย และยื่นคำร้องขอให้นำออกขายทอดตลาดเนื่องจากว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นข้าวเปลือกที่เก็บไว้นานอาจเกิดความเสียหายได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์ที่ยึดและนำเงินจำนวนดังกล่าวเก็บรักษาไว้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งมาตรา 288 วรรคสาม บัญญัติให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดข้าวเปลือก เท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นที่สุดแล้ว คำร้องดังกล่าวมิใช่คำร้องขอให้งดการบังคับคดีหรือคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ แม้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          การใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 (มาตรา 323 ใหม่) ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่ถ้ามิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และต้องนำทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาด จึงนำบทบัญญัติ มาตรา 288 มาใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8897/2550     การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่สำหรับคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ระหว่างพิจารณา โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม มิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และต้องนำทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาด จึงหาอาจนำบทบัญญัติ มาตรา 288 มาใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิอย่างไรก็ชอบที่จะยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีต่างหาก และตามคำร้องของผู้ร้องมีประเด็นพิจารณาเพียงว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นตันที่ให้ยกคำร้องโดยไม่มีการไต่สวนพยานก่อนเป็นการชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลความว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไว้แทนผู้ร้อง ขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ได้ใต่สวนพยานก่อน เห็นว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่สำหรับคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม จึงมิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และต้องมีการนำทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาด จึงหาอาจนำบทบัญญัติมาตรา 288 มาใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิอย่างไรก็ชอบที่จะยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีต่างหาก ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาในทำนองว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นเรื่องของการขอแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) นั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องมีประเด็นเพียงว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่ กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนก่อนจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”