20 มีนาคม 2567

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา  1461 "สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
          สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน"
       
          การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ได้แก่ การอยู่ร่วมบ้าน ร่วมชีวิตในการครองเรือนและร่วมประเวณีต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอยู่กินกับฝ่ายหนึ่งนั้นจะฟ้องร้องบังคับให้อยู่กินกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่อาจเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้
          ส่วนการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน คือ การช่วยปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้ด้วยความผาสุกและช่วยให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพแก่กัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องอุปโภคบริโภคในการดำรงชีพ ในการพิจารณาถึงการอุปการะเลี้ยงดูนี้จะพิจารณาโดยคำนึงถึง อายุ สุขภาพ รายได้ และทรัพย์สินของคู่สมรส ฐานะทางสังคม ภาระหน้าที่ของคู่สมรสในการให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตร รวมทั้งความสามารถทางร่างกายและจิตใจของคู่สมรสในการประกอบกิจการงานด้วย ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยการชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่จะมีการตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น และสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 1598/41 ดังนั้น หากสามีภริยาทะเลาะกันแล้วทำสัญญาแยกกันอยู่ต่างหากโดยภริยาระบุว่าจะไม่เรียกร้องทรัพย์สินเงินทองที่มีต่อกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น ภริยาก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามีได้ เพราะการสละสิทธิที่จะไม่รับค่าอุปการะเลี้ยงดูไม่มีผลบังคับ
          หากมีบุคคลภายนอกมาทำละเมิดต่อสามีหรือภริยาให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย ภริยาหรือสามีอีกฝ่ายย่อมถูกกระทบกระเทือนสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากผู้ทำละเมิดในค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดแรงงาน และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445 และมาตรา 443


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3822/2524  โจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ โจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้  ความสามารถและฐานะของโจทก์ดีกว่าจำเลย โจทก์ผู้เป็นสามีจึงต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ประกอบด้วยมาตรา 1598/38
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540  ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง นั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปีจึงเป็นระยะเวลาที่สมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2558  จทก์ที่ 2 กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านพิพาทจนกระทั่งโจทก์ที่ 2 ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ซึ่งหมายความรวมถึงการดูแลทุกข์สุขและความเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันในบ้านพิพาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีภริยาต่อกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สมัครใจที่จะดูแลโจทก์ที่ 2 การให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้จำเลยไม่สามารถดูแลโจทก์ที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยและอยู่อาศัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 จำเลยในฐานะภริยาของโจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทเช่นกัน หากจำเลยมีพฤติกรรมกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างไร ก็ชอบที่โจทก์ที่ 2 จะใช้สิทธิฟ้องหย่าเป็นคดีต่างหาก โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
          ส่วนโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมจะใช้สิทธิของตนให้ขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้ จำเลยในฐานะภริยามีสิทธิพักอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยด้วยเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557  ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552  วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549   ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8225/2540  ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง ย่อมสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้จำเลยสิ้นสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่จำเลยขอเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5004/2538  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง สามีและภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและตามฐานะของตน ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับมรดกจากมารดา จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 1,800 บาท ต่อมาต้องคดีถูกออกจากราชการ ตามฐานะย่อมไม่อาจจะให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยก็เป็นเงินทุนของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมรดกจากมารดา ฐานะของจำเลยที่ 1 ดีขึ้น สามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ได้ จึงต้องรับผิดให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์นับแต่ได้รับมรดกจนถึงวันฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2535  จำเลยไม่ยอมอยู่ร่วมกับโจทก์และไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามอัตภาพ โดยที่จำเลยอยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38

          สามีภริยาแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว แยกเป็น 2 กรณี

          (1) สามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหาก
          ซึ่งสามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ โดยอาจทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ มีผลให้ต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่ที่จะอยู่กินฉันสามีภริยาต่อไป แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่ ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายจึงยังไม่สามารถสมรสใหม่ได้ แต่หากการแยกกันอยู่นี้เป็นเหตุที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้และแยกกันอยู่มาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าสามปี สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (4/2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5627/2530   ในคดีหย่า แม้โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันระหว่างพิจารณา แต่การที่จำเลยจะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่า มีเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ และเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของโจทก์หรือไม่ เมื่อโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์  ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่สามีภริยาแยกกันอยู่นั้นฝ่ายที่มีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริต ชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่าย เมื่อโจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ชั่วคราวโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลย และจำเลยไม่มีอาชีพหรือรายได้เพียงพอโจทก์ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูจำเลย มาตลอดและอยู่ในฐานะที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้จึงมี หน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูจำเลย

          (2) ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว
          มาตรา  1462 "ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้"
          ในกรณีที่สามีภริยาไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ต่อไป หากขืนอยู่ร่วมกันต่อไปสามีหรือภริยาจะได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ต้องเสียหายหรือเดือดร้อยมีสิทธิตามมาตรา 1462 ที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ซึ่งเหตุที่จะร้องขอให้ศาลอนุญาตแยกกันอยู่ชั่วคราวมี 4 กรณี คือ
          ก. สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้
          ข. การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา
          ค. การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา
          ง. การอยู่ร่วมกันจำทำลายความผาสุกอย่างมากของสามีหรือภริยา



18 มีนาคม 2567

ผู้จัดการมรดก คำสั่งศาลตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ผู้จัดการมรดกบางคนเสียชีวิต ที่เหลือไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้


          ป.พ.พ. มาตรา 1726  ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
          
          กรณีเรื่องนี้ ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจำนวน 3 คน เป็นผู้จัดการของเจ้ามรดกร่วมกัน ต่อมาระหว่างจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ผู้จัดการมรดกเสียชีวิตหนึ่งคน ผู้จัดการมรดกที่เหลือนำคดีมาฟ้องศาลให้ทายาทส่งมอบโฉนดคืน เพื่อจะได้จัดการแบ่งปันมรดก ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสอง(ผู้จัดการมรดก) อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา             
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
          ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันการกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองกับ ป. เป็นผู้จัดการมรดกต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกเพียง 2 คน โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ไม่มีอำนาจจะจัดการได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินของผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553)

ความผิดฐานรับของโจร

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 357  "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          ความผิดฐานรับของโจร
          1. ผู้ใด
          2. ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด
          3. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
          4. กระทำโดยเจตนา 




          ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกื้อหนุนการกระทำความผิดฐานต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้รวม 9 ฐานความผิด กล่าวคือ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ แต่จะมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก หรือฉ้อโกง ความผิดฐานรับของโจรมีส่วนใกล้เคียงกับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดก่อนหรืออย่างช้าในขณะกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้กระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดนั้นสำเร็จลงแล้ว เช่น ช่วยพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดไปเสีย ก็ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน แต่อาจมีความผิดฐานรับของโจรได้หากทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น

          ช่วยซ่อนเร้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336/2533   จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปจอดไว้ใต้ต้นไผ่ในสวนกาแฟห่างจากทางเดินประมาณ 100 เมตร และห่างจากลานตากกาแฟซึ่งเป็นที่พบตัวจำเลยประมาณ 500 เมตร อันเป็นการจอดในลักษณะซุกซ่อนประกอบกับจำเลยมีอาการตกใจเมื่อพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปฏิเสธเมื่อถูกซักถามถึงรถจักรยานยนต์ของกลาง พฤติการณ์ของจำเลยจึงฟังได้ว่าจำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร

          ช่วยจำหน่าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2518  จำเลยติดต่อเรียกและรับค่าไถ่คืนรถแก่เจ้าทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าเจ้าทรัพย์ขอให้ช่วย จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2508   มีคนเอาปืนมาจำนำจำเลย จำเลยไม่มีเงินจึงพาไปจำนำกับผู้อื่น โดยจำเลยช่วยพูดจาให้เขารับจำนำ เช่นนี้ เป็นการช่วยจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2529  จำเลยมีอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ได้นำรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายซึ่งถูกชิงทรัพย์ไปจำนำ โดยมิได้นำทะเบียนรถไปแสดง เมื่อถูกกล่าวหาก็อ้างแต่เพียงว่าเป็นรถของ ส.โดยมิได้นำตัว ส.มาสืบ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร
          แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ก็ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรตามมาตรา 357 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192


          แต่ถ้าเจ้าของทรัพย์ขอร้องให้ช่วยติดตามไถ่ทรัพย์คืนและมิได้รู้เห็นเป็นใจกับคนร้าย ก็ไม่ผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2530   จำเลยเป็นคนกลางติดต่อไถ่รถจักรยานยนต์ร่วมกับผู้อื่นตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ไว้จากคนร้ายหรือร่วมรู้กับคนร้ายมาเรียกค่าไถ่จากผู้เสียหาย การที่จำเลยขี่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาส่งให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องนำมาคืนตามที่ผู้เสียหายกับพวกขอร้องให้ทำ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

          ช่วยพาไปเสีย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1937/2533  จำเลยรู้ว่ายางพาราแผ่นของกลางเป็นทรัพย์ที่คนร้ายไปลักมาแล้วนำไปซ่อนไว้ การที่จำเลยลงมือเก็บยางพาราแผ่นเตรียมขนไปจึงเป็นการช่วยพาเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

          ซื้อ หมายถึง การรับทรัพย์ที่เป็นของโจรไว้โดยมีค่าตอบแทน และการซื้อดังกล่าวจะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2522  จำเลยอยู่ที่ปากถ้ำที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานพบคนร้ายมีกระบือผูกอยู่ในถ้ำ จำเลยเพียงแต่ดูกระบือ ตั้งใจจะซื้อ ยังไม่ตกลงจะซื้อก็ถูกจับ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบคงได้ความแต่เพียงว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยิงต่อสู้กับคนร้ายแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยยืนอยู่บริเวณปากถ้ำที่เกิดเหตุ และพบกระบือ 2 ตัวที่ถูกคนร้ายลักไปผูกอยู่ที่ในถ้ำเท่านั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นประจักษ์ว่า จำเลยได้ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่น ซึ่งกระบือที่ถูกลักนั้นแต่ประการใด แต่จำเลยนำสืบว่าเหตุที่จำเลยไปอยู่ที่บริเวณถ้ำเสือที่เกิดเหตุนั้น เพราะผู้ตายกับพวกไปบอกขายกระบือให้จำเลย ขณะที่จำเลยไปหาซื้อกระบือและพักอยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านนั้น จำเลยจึงออกจากบ้านไปกับผู้ตายและพวกเพื่อดูกระบือที่บอกขาย จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงและจับกุม พยานจำเลยมีตัวจำเลยกับผู้ใหญ่บ้าน และนาย ฉ.เบิกความถึงเรื่องผู้ตายกับพวกบอกขายกระบือและพาจำเลยออกจากบ้านไปดูกระบือตรงกัน กับได้ความตามคำเบิกความของนาย ฮ. ผู้เสียหายและจ่าสิบตำรวจประสงค์ คงรอด ผู้จับกุมจำเลยซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่า เมื่อจับจำเลยได้นั้นพบเงินที่จำเลย 960 บาท และจำเลยแจ้งว่าไปที่ถ้ำนั้นเพื่อดูกระบือที่ผู้ตายกับพวกบอกขาย จำเลยให้การยืนยันเช่นนี้ตลอดมาทั้งที่ให้การต่อ ผู้บังคับหมวดตำรวจตระเวนชายแดน 320 และต่อพนักงานสอบสวน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าในขณะที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวนั้น จำเลยยังมิได้รับกระบือ2 ตัวนั้นไว้ยึดถือหรือครอบครอง จำเลยเพียงแต่ตั้งใจจะซื้อกระบือ แต่ยังไม่ทันได้ตกลงซื้อก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานรับของโจรดังโจทก์ฟ้อง"

          รับจำนำ ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันที่จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้รับตัวทรัพย์ที่จำนำ
          รับไว้ด้วยประการใดๆ เป็นการบัญญัติไว้กว้างๆ เช่น รับฝาก เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2520  จำเลยรับเช็คไว้โดยรู้ว่าเป็นเช็คอันได้มาจากการลักทรัพย์ แม้จำเลยจะไม่มีทางรับเงินตามเช็คได้ เพราะเช็คถูกอายัดไว้แล้ว ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้วไม่ใช่เพียงขั้นพยายาม

           หลักสำคัญอีกประการคือ ต้องกระทำต่อทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิด ได้แก่ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ 
          ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่เรียกว่าเป็นของโจรนั้น หมายถึงเฉพาะตัวทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น ถ้าตราบใดที่ตัวทรัพย์ยังไม่เปลี่ยนสภาพหรือไม่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นสิ้นสุดการเป็นของโจรแล้ว ทรัพย์นั้นก็ยังคงเป็นของโจรอยู่ต่อไป
          เหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นหมดสภาพการเป็นของโจร เช่น
          1.ทรัพย์ที่เป็นของโจรได้เปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์อย่างอื่น
          2.การเอาทรัพย์ที่เป็นของโจรไปแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์อย่างอื่น ทรัพย์ที่ได้มาใหม่นั้นก็ไม่ใช่ของโจร
          3.ทรัพย์ที่เป็นของโจรหมดสภาพการเป็นของโจร เช่น เจ้าของทรัพย์ได้ทรัพย์นั้นคืนมา
          4.เมื่อเจ้าของเดิมหมดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันเป็นของโจร เช่น กรณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382, 1383 เป็นต้น

          สุดท้ายคือเรื่องเจตนา คือ ขณะที่รับทรัพย์นั้นไว้ รู้หรือไม่ว่าทรัพย์ที่รับไว้นั้นเป็นของโจร หรือทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน 9 ฐานความผิดดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287/2540   คดีเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรนั้นข้อสำคัญโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำความผิด กรณีของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด จะอาศัยพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากบ้านของ ส. โดยคิดหรือคาดคะเนเอาว่าจำเลยได้ครอบครองหรือช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วฟังประกอบบันทึกการตรวจยึดว่าจำเลยมีรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดนั้นหาได้ไม่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2540   เจ้าพนักงานตำรวจพบชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางวางอย่างเปิดเผยในร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของจำเลย โดยมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพของกลางดังกล่าวเลย ทั้งจำเลยยังมีบิลเงินสดที่แสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้เพื่อทำการซ่อมซึ่งเป็นฉบับซึ่งแทรกอยู่กับใบเสร็จฉบับอื่นจึงยากที่จำเลยจะทำเพิ่มเติมได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2540    จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6771/2542   อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีทะเบียน ผู้ที่จะครอบครองได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจะนำอาวุธปืนนั้นไปจำนำไว้กับจำเลยเองก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว หากจำเลยยอมรับจำนำไว้แม้โดยสุจริตก็เป็นการไม่บังควรเพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี การที่จำเลยอ้างว่ารับจำนำอาวุธปืนของกลางซึ่งถูกคนร้ายลักไปไว้จาก ต. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน โดยมิได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของบิดา ต. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3,500 บาท ทั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาท แสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ทั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขูดลบหมายเลขทะเบียนไม่สามารถอ่านได้ แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไปในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียนเพื่อทำลายหลักฐานส่อให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

          แต่ถ้าไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมาหรือไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจาการกระทำความผิดใน 9 ฐานดังกล่าว ผู้รับไว้ก็ไม่ผิดรับของโจร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2727/2537  รังนกในถ้ำตามเกาะเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา  การที่ อ.ได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกได้อันเป็นการได้รับผูกขาดจากรัฐบาลนั้น  อ.ผู้รับผูกขาดมีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกในถ้ำที่ผูกขาดก็เข้าเก็บเอาได้  ไม่ต้องมีการหวงห้ามเหมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต  แต่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกนั้นยังจะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน เมื่อผู้ที่เก็บรังนกรายนี้ไม่ใช่ลูกจ้างของ อ.  และ อ.ยังมิได้เข้ายึดถือเอารังนกนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 1318  แห่ง ป.พ.พ.  อ.จึงยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกรายนี้  การเก็บรังนกดังกล่าวไปจึงไม่เป็นการลักทรัพย์ของ อ.  และเมื่อรังนกไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมาจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร 
          จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4  ถูกฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2  จึงเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี  แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา  เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิด  ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213  ประกอบด้วยมาตรา 225


การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์สินคืนตามสัญญาขายฝากนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน

          การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลา ไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว(แม้จะเลยเวลาราชการแล้วก็ตาม) จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้
          ป.พ.พ. มาตรา 492 ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
          ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 333 วรรคสาม        
          มาตรา 498  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ
          (1) ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม หรือ
          (2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น  แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

          โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดินซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้วและไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556)

ความผิดฐานกรรโชก

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 337  "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
          ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
          (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
          (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

          ความผิดฐานกรรโชก
          1. ผู้ใด
          2. ข่มขืนใจ
          3. ผู้อื่น
          4. โดย
               (1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือ
               (2) ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อ ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกขูเข็ญหรือของบุคคลที่สาม
          5. ให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
          6. จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
          7. กระทำโดยเจตนา 



          ความผิดฐานกรรโชกเป็นความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ โดยผู้กระทำต้องข่มขืนใจผู้อื่น การข่มขืนใจอาจทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน โดยเจตนาที่จะให้ผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ซึ่งความผิดฐานกรรโชกนี้แทบจะเหมือนกับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 แต่ความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 บัญญัติไว้กว้างกว่า  คือ มาตรา 309 เจตนาที่ผู้กระทำประสงค์คือให้ผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ดังนั้น ในความผิดฐานกรรโชกย่อมเป็นความผิดต่อเสรีภาพด้วยเสมอ 

          ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานกรรโชกและความผิดฐานชิงทรัพย์
          1. ความผิดฐานชิงทรัพย์มีที่มาจากความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้น ทรัพย์ที่จะชิงจึงมีได้แต่เฉพาะสังหาริมทรัพย์ และต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถหยิบจับเคลื่อนที่ได้เท่านั้น ส่วนความผิดฐานกรรโชกเป็นการบังคับให้ผู้อื่นยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินจึงมีความหมายกว้างกว่า จึงอาจกรรโชกเอาสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ สิทธิหรือประโยชน์ต่างๆในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินก็ได้
          2. ความผิดฐานกรรโชกมีเพียงเจตนาธรรมดา แต่ความผิดฐานชิงทรัพย์มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์จึงต้องมีเจตาพิเศษคือเจตนาทุจริต เพื่อประการใดประการหนึ่งใน 5 ประการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 339 ด้วย
          3. ความผิดฐานกรรโชกส่วนของการกระทำอาจจะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย รวมถึงขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพหรือชื่อเสียงหรือทรัพย์สินด้วย แต่ความผิดฐานชิงทรัพย์จะต้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น
4. แม้จะมีการใช้กำลังประทุษร้าย แต่ถ้าบังคับให้ผู้ถูกข่มขืนใจส่งมอบทรัพย์สินให้ในเวลาอื่น ไม่ใช่ทันที ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานกรรโชก เนื่องจากความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นการใช้กำลังประทุษร้ายกับการได้มาซึ่งทรัพย์นั้นจะต้องต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน
          5. เมื่อผู้ถูกข่มขืนใจเกิดความเกรงกลัวจากการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จนยอมให้หรือยอมจะให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน แม้ยังไม่มีการส่งมอบ ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 337 แล้ว  ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ดูที่ความเต็มใจหรือไม่ เมื่อมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยเจตนาจะให้ได้ทรัพย์มาในขณะนั้น ผู้ถูกกระทำจะกลัวหรือไม่ไม่สำคัญเนื่องจากมีความผิดตามาตรา 339 ฐานชิงทรัพย์ทันที แต่จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้ครอบครองทรัพย์นั้นแล้ว ถ้ายังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ก็เป็นแค่พยายามชิงทรัพย์

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555  จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2555  จำเลยทั้งสามร่วมกันล่อหลอกให้ผู้เสียหายไปหา แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ระหว่างอยู่ในรถมีทั้งการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขู่เข็ญให้ผู้เสียหายไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวิธีการที่จะให้ผู้เสียหายยอมให้หรือยอมจะให้พวกตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป พวกจำเลยยังนำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินของผู้เสียหายออกมาและขู่เข็ญผู้เสียหายจนยอมที่จะให้เงินแก่พวกจำเลยเป็นการทดแทนที่จะให้ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ แสดงว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและจะให้ได้มาอย่างไร การกระทำความผิดมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน และการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเกิดขึ้นซ้อนกัน ทั้งความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินที่พวกจำเลยเอาไปและยอมจะให้เงินแก่พวกจำเลยอีกในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสามจะได้เงินส่วนที่ผู้เสียหายตกลงจะให้ในภายหลังหรือไม่ หามีผลให้การกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกไม่เป็นความผิดสำเร็จไม่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกและร่วมกันปล้นทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 - 2387/2554  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
          การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
          หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2553  จำเลยกับพวกวางแผนขับรถยนต์แท็กซี่ชนรถยนต์ปิกอัพของผู้เสียหาย แล้วลงจากรถเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายอ้างว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ขอเรียกเพียง 5,000 บาท ผู้เสียหายต่อรอง พวกของจำเลย พูดขู่ว่าหากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจ ผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้ 500 บาท แล้วจำเลยกับพวกแยกย้ายหลบหนีไปทันที ดังนั้น การที่จำเลยขู่ว่าจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินให้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11052/2553  ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือมีครอบครองทรัพย์นั้น หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339 (2) โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฏว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้องเมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปในทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะถูกประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553  ถ้อยคำที่กลุ่มจำเลยทั้ง 5 โทรศัพท์มาทวงหนี้จากผู้เสียหายที่ว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” เป็นถ้อยคำที่สามัญชนทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้า ตามที่เรียกร้อง ผู้เสียหายเดินไปสถานที่นัดหมายตามคำขู่มิได้ไปด้วยความสมัครใจการที่ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัวเป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยทั้ง 5 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้วไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม