12 มีนาคม 2567

เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

          บุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานนั้นมีฐานะนอกเหนือไปจากบุคคลธรรมดาบางประการ เนื่องจากผลของอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ จึงทำให้มีกฎหมายที่บัญญัติความผิดที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ที่มีผลทั้งในการคุ้มครองและควบคุมบุคคลผู้เป็นเจ้าพนักงานนั้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่คุ้มครองหรือควบคุมเจ้าพนักงานนั้น หมายถึงเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการกระทำในเรื่องส่วนตัวของบุคคลนั้น ทั้งนี้ เมื่อเจ้าพนักงานไม่ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ก็มีฐานะเช่นบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง กฎหมายจึงไม่ได้คุ้มครองหรือควบคุมเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่ากรณีใดที่บุคคลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยได้มีบทนิยามความหมายของคำว่า "เจ้าพนักงาน" อยู่ในมาตรา 1 (16) แห่งประมวลกฎหมายอาญา    

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 1 (16)  “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

          เจ้าพนักงาน ตามบทนิยามในมาตรา 1 (16) แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีหลักเกณฑ์ คือ
          (1) เป็นบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          (2) เป็นบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือหรือครั้งคราว และ
          (3) ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม


          1.  เป็นบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2524   เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือ ในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น จำเลยที่ 1 เป็นกำนัน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ จำเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการสภาตำบลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารของตำบล และมีระเบียบของสำนักนายกว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 กำหนดให้กำนันแพทย์ประจำตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เป็นคณะกรรมการดำเนินการตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทฯ เรียกโดยย่อว่า ปชลต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวนั้นเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยทั้งสามดำเนินการในฐานะเป็นคณะกรรมการ ปชลต. ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น อันอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้

               1.1 ข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการพลเรือนในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการต่างๆ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลทหาร ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม รวมถึงพนักงานอัยการ เหล่านี้ เป็นเจ้าพนักงาน
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2523  จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออกและมีหน้าที่ทำ กรอกข้อความ ลงในมรณบัตรตามอำนาจหน้าที่โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียน ผู้รับแจ้ง  มรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่ จำเลยที่ 2 ทำขึ้น  แม้ข้อความในมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับ ความจริง  ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา161 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 162
               คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า 'ศาล' หมายถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา  จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย  การที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7663/2543  แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ มาตรา 27 บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่จะเสนอก.อ.ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลยังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน ก.อ.รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อ ก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุม ก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย
               อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย
               การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล
                การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบ การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ. เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่ายโดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้งเพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91

               1.2 ข้าราชการการเมือง เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และตำแหน่งในฝ่ายบริหารอื่นๆ
               ในส่วนของตำแหน่งที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เป็นเจ้าพนักงาน แต่ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2478   ยื่นเรื่องราวใส่ความเจ้าพนักงานหาว่ากระทำรายงานเท็จต่อสภาผู้แทนราษฎร ฯ จึงส่งเรื่องราวต่อ ๆ ไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อทำการสอบสวน ปรากฎว่าไม่เป็นความจริงดังกล่าวหา ดังนี้ถือว่าได้กล่าวแก่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่ไม่เป็นผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะผู้แทนราษฎรไม่มีหน้าที่ทางบริหาร ไม่ใช่เจ้าพนักงาน

               1.3 ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการต่างๆ ไม่ว่าลูกจ้างประจำหรือชั่วคราว ตามปกติไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน 
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2522   จำเลยเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ เบิกเงินค่าจ้างในงบงานจัดทรัพย์สินของรัฐ กรมธนารักษ์ โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บเงินที่มีผู้ชำระต่อราชพัสดุจังหวัดเท่านั้น จึงมิใช่เป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมาย คำสั่งจ้างจำเลยระบุเพียงว่าให้จ้างจำเลยเข้าเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ มิได้อ้างว่าแต่งตั้งจำเลย โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายใด ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุก็มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้าง หาใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่
               ยกเว้นมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้เป็นเจ้าพนักงาน เช่น พนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางด่วน เป็นเจ้าพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2545   จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ ระดับ 2 ประจำด่านบางนาและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้รถผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย    การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคน โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่านโดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้น และพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง แต่เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน 8 ครั้ง เป็นเงิน 153,700 บาท แม้ว่าจะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าผ่านทาง แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งเป็นผู้รับเงินและรวบรวมนำส่งต่อไปอันถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบ จึงถือว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินอันเป็นสิ่งแสดงว่าจำเลยมิได้ทุจริตนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมาเพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคัน หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จรับเงิน จำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมาปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกออกไป ฉะนั้น แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จรับเงินก็มิได้เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2523   จำเลยรับราชการเป็นพนักงานจ้าง ตำแหน่งพนักงานบำรุงป่าได้รับมอบหมายให้ใช้และรักษาดวงตราก้อนเหล็กประทับไม้ ต.3986 ของกรมป่าไม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต้องแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 75 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำเลยจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 4(16) ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จำเลยได้รับมอบหมายให้ช่วยป่าไม้อำเภอตรวจสอบไม้ผ่านด่านออกใบเบิกทางจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 160

          2. เป็นบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว
          ข้าราชการทั่วไปนั้นตามปกติถือว่าเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามอำนาจหน้าที่ของตนเอง แต่ในบางครั้งอาจได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นด้วย โดยการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นนั้นผู้แต่งตั้งต้องมีอำนาจตามกฎหมายด้วย ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นก็เป็นเจ้าพนักงานเช่นกัน แต่หากผู้แต่งตั้งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อื่น กรณีนี้ผู้ถูกแต่งตั้งไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          อย่างไรก็ตาม หากมีการแต่งตั้งให้ปฏิบัตินอกหน้าที่ราชการ อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2530   ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 แต่การที่ อ. ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. และ อ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2523   พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 24 มิได้บัญญัติให้อำนาจนายอำเภอแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด การที่นายอำเภอมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานสำรวจสำหรับเขตหมู่บ้าน และแต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในหมู่บ้านที่ตนปกครองรับผิดชอบ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แม้ต่อมาจำเลยได้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากราษฎร แล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตจำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2529   จำเลยทั้งสองเป็นครูโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี สังกัดกรมสามัญศึกษาไม่ได้สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน แต่จำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ทางธุรการและการเงินของโรงเรียนผู้ใหญ่วิสุทธิกษัตรี สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยราชการด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานและได้ปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินที่ได้รับไว้ตามหน้าที่ไม่จัดการนำส่งประธานกรรมการเก็บรักษาเงินตามระเบียบ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์โดยทุจริต อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งความผิดดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแม้จะร้องทุกข์เกิน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีก็หาขาดอายุความไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2522   ข้าราชการกรมชลประทานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับมอบงานจ้างตัดไม้ในบริเวณที่ทำเขื่อน  ไม่มีหน้าที่รักษาเขื่อน ลงชื่อในหนังสือรับมอบงานโดยไม่ได้ไปตรวจสอบงาน  แต่ไม่ปรากฏว่าทุจริตต่อไม้และต้นไม้ที่ถูกตัดคงเหลืออยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำไม่ทำให้น้ำเน่าเขื่อน และอ่างเก็บน้ำไม่เสียหาย  ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 151, 157 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 162 เฉพาะตัวผู้รับเงินจากผู้รับจ้างเป็นทุจริต  เป็นความผิดตาม มาตรา 157 สัญญาจ้างทำ 3 คราว 52 ฉบับ  เป็นเพียงวิธีการแต่ผู้รับจ้างมีรายเดียวเป็นเจตนาเดียว  เป็นความผิดกรรมเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2523   จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าธุรการของโรงพยาบาลและเป็นกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างตึก จำเลยทราบดีว่าการก่อสร้างผิดรายการตามแบบแปลนแต่เพิกเฉยเสีย แล้วทำบันทึกตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานว่า ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาจ้างจนทางราชการได้อนุมัติจ่ายค่าจ้างให้ผู้รับจ้างไปครบถ้วนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162(1) นั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามกฎหมายที่เป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2480   เสมียนอำเภอซึ่งมีหน้าที่เขียนและรับเงินเกี่ยวกับตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ได้ปลอมใบนำส่งเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรนั้นถือว่าเป็นการกระทำในหน้าที่ ต้องมีผิดฐานปลอมหนังสือตาม ม.229 ความผิดในเรื่องเจ้าพนักงานกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่นั้นไม่จำต้องเป็นตำแหน่งหน้าที่ประจำ แม้เป็นหน้าที่ชั่วคราวก็เป็นผิด อ้างฎีกาที่ 758/2478 ในคดีที่จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทนั้น เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยมีผิดตามบทหนักแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะผิดกฎหมายบทเบาหรือไม่
          การแต่งตั้งให้ปฏิบัตินอกหน้าที่ราชการ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2506   การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานที่ดินอำเภอได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดงานปีใหม่ และเป็นกรรมการจำหน่ายบัตรผ่านประตูนั้น หาทำให้ผู้เสียหายมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ แต่เป็นเรื่องช่วยเหลือนายอำเภอปฏิบัติงานพิเศษเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ฉะนั้น การพยายามทำร้ายผู้เสียหายที่ไม่ยอมให้ผ่านประตูเข้าไปในบริเวณงานโดยไม่มีบัตร จึงมีความผิดตามมาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 80 ไม่ใช่มาตรา 296 ประกอบด้วยมาตรา 80

          3. ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
          การเป็นเจ้าพนักงานนี้ไม่ต้องคำนึงว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ แม้ไม่มีค่าตอบแทนหากมีกฎหมายบัญญติหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติราชการ ก็ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว

ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

          มาตรา  268 "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
          ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว"

          ความผิดมาตรา 268 วรรคแรก

          1. ผู้ใด
          2. ใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267
          3. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (พฤติการณ์ประกอบการกระทำ)
          4. เจตนา

          หลักเกณฑ์
          1. การใช้เอกสารตามมาตรานี้ ต้องเป็นการนำไปใช้อย่างเอกสาร โดยการนำไปยื่นหรือแสดงข้อความในเอกสารนั้น ไม่ใช่นำเอกสารไปทำอย่างอื่น เช่น ห่อผักหรือห่อผลไม้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงข้อความในเอกสารนั้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2510   นำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดกและอำเภอได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว แม้ต่อมาจะได้ขอถอนคำขอรับมรดกนั้นเสีย การนำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนั้นก็เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2542   ผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคาร ก. ไม่เคยนำบัตรเครดิตของธนาคาร ก. ไปสั่งซื้ออาหารหรือใช้บริการของจำเลย และไม่เคยลงลายมือชื่อในใบบันทึกรายการขายสินค้าที่ร้านของจำเลย การที่จำเลยนำใบบันทึกรายการขายสินค้าดังกล่าวที่เป็นเอกสารสิทธิปลอมไปใช้เบิกเงินจากธนาคาร ก.จนได้รับเงินจากธนาคาร ก.แล้ว จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงธนาคาร ก.
          2. การอ้างเอกสารปลอม
          การอ้างเอกสารตามมาตรานี้ หมายถึง การอาศัยเอกสารนั้นแสดงข้อเท็จจริงบางประการ ไม่จำต้องอ้างเป็นพยานต่อศาล (*ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์)
          การอ้างต่อผู้ใดอาจทำโดยให้ผู้นั้นเรียกหรือตรวจดูเอกสารนั้นเองก็ได้ เช่น ขอให้ศาลเรียกเอกสารปลอมมาจากที่หนึ่งที่ใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2506  จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียง 10,000 บาทแล้วจำเลยแก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินที่เจ้าหนี้เซ็นชื่อเป็นผู้รับเงิน โดยแก้ 10,000 บาท เป็น 70,000 บาท ต่อมาจำเลยคัดสำเนาใบรับเงินที่ปลอมนั้นมาแสดงต่อศาลทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพราะถ้าศาลหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้จะต้องขาดเงินที่ควรได้รับชำระหนี้ไป 60,000 บาทการปลอมของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 264 แล้ว และเอกสารนี้เป็นใบรับเงินชำระหนี้แสดงว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในจำนวนเงินนี้ระงับไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 และการที่จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่ปลอมแสดงต่อศาลเป็นการอ้างถึงเอกสารที่ปลอม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 ด้วยต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 ตามอัตราโทษในมาตรา 265
          3. ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ไม่ว่าผู้ใช้หรืออ้างจะทำเอกสารปลอมนั้นหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5246/2548  การกระทำความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้อ อันเป็นเอกสารปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษี หมายความว่าใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมนั้น เป็นใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออก อันเป็นองค์ประกอบความผิดของ ป. รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) เท่านั้น คำฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือมีการกระทำอื่นใดต่อเอกสารให้ผิดไปจากเดิมอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267 แต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 268 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตราดังกล่าว ประกอบมาตรา 83 และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามมาตราดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          4. การใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน (พฤติการณ์ประกอบการกระทำ)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2503  จำเลยนำประกาศนียบัตรปลอมของกลางออกแสดงต่อสายของตำรวจดูเป็นตัวอย่างเพื่อให้ผู้ติดต่อขอซื้อเชื่อถือจะได้ตกลงซื้อ เช่นนี้ ถือได้แล้วว่าเป็นการนำเอกสารปลอมมาใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนแล้ว จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 25/2503)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2510   นำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดกและอำเภอได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว แม้ต่อมาจะได้ขอถอนคำขอรับมรดกนั้นเสีย การนำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนั้นก็เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
          5. ต้องกระทำโดยมีเจตนา คือ ต้องใช้หรืออ้างโดยที่รู้ว่าเป็นเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ด้วยจึงจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2541  ผู้กระทำจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมต่อเมื่อได้รู้ข้อเท็จจริงว่าเอกสารนั้นปลอม เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้รู้ว่าเอกสารดังกล่าวปลอม การที่จำเลยใช้เอกสารนั้นย่อมขาดเจตนาในการกระทำผิด จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2542  มีคนร้ายลักเอารถยนต์คันของกลางของผู้เสียหายไปต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ดังกล่าวได้จากจำเลยรถที่ยึดได้มีการติดแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีและแผ่นป้ายทะเบียนรถซึ่งเป็นของปลอม รถยนต์ที่จำเลยขับได้ติดเอกสารปลอมทั้งหมดไว้ที่รถในลักษณะเปิดเผยเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือผู้อื่นที่พบเห็นเข้าใจว่าเอกสารปลอมเหล่านั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและเข้าใจว่ารถยนต์ที่จำเลยขับเป็นรถยนต์ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นรถที่ถูกคนร้ายลักมาและจำเลยจะนำรถยนต์ของกลางไปขาย ถือได้ว่าเป็นการใช้เอกสารปลอมโดยเจตนาจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม 
          6. ถ้าผู้ใช้หรืออ้างเอกสารเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรา 268 นี้แต่กระทงเดียว




ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 149  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 149

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
          มาตรานี้บัญญัติไว้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆไว้กว้างขวาง มิได้หมายถึงเจ้าพนักงานเพียงอย่างเดียว สำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ก็ได้แก่ พวก สส. สว.

          (2) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
          นอกจากจะเรียกรับทรัพย์สินแล้ว มาตรานี้ยังรวมถึงประโยชน์อื่นใดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238-244/2489   ปลัดอำเภอประจำตำบล รับผ้าไว้เป็นสินน้ำใจ ไม่จับกุมผู้กระทำผิดฐานมีผ้าผิดบัญชีที่แจ้งปริมาณไว้มีผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 (ถือว่าเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด)


          พฤติการณ์ที่ถือว่าเรียกทรัพย์สินแล้ว แต่ยังไม่กำหนดจำนวนเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2531   จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด ได้จับกุมผู้กระทำผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบพร้อมของกลางแล้วไม่นำส่งสถานีตำรวจทันที กลับพาไปที่ป้ายรถโดยสารประจำทางในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นและให้ผู้ถูกจับกุมโทรศัพท์ติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตกลงกันที่ป้ายรถโดยสารประจำทางและรออยู่เป็นเวลานานเมื่อพาผู้ถูกจับไปสถานีตำรวจจำเลยเข้าไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ไม่มอบบันทึกการจับกุมและของกลางให้ ทั้งไม่นำตัวผู้ต้องหาเข้าไปด้วย แสดงว่าเป็นเพียงแผนการของจำเลยให้ผู้ต้องหากลัวและหาทางตกลงกับจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะมอบผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนจริงจัง พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเรียกทรัพย์สินจากผู้ต้องหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน และฝ่ายผู้ต้องหายังไม่ได้ตอบตกลงเท่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149.
          ถ้าไม่มีการเรียกรับสินบนก็ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2525   จำเลยรับราชการเป็นตำรวจซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ย่อมเป็นเจ้าพนักงาน แม้จำเลยจะรับราชการประจำกองกำกับการตำรวจม้า มีหน้าที่ในการถวายอารักขาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบเขตพระราชฐาน ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการ แต่โดยทั่วไปจำเลยยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 ดังนั้นการที่จำเลยจับกุมโจทก์ร่วมหาว่ามีพลอยหนีภาษีและยึดพลอยของกลางไว้จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมและยึดพลอยของกลางไว้แล้วกลับปล่อยโจทก์ร่วมไป ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด หากแต่ใช้อำนาจยึดเอาพลอยของกลางไปจากโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149  
          เจตนาเรียกรับเงินส่วนเกินจากเงินที่ผู้เสียหายต้องจ่ายตามกฎหมาย ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
          จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น     ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการ    หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
       
          (3) เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1280/2543    วันเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัทและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คันแก่จำเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก
          ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเกิดเหตุในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยมีสิทธิที่จะนำเรื่องที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่าผู้บริหารบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปอภิปรายในรัฐสภาโดยอภิปรายถึงการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการอภิปรายจะต้องเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารของบริษัท ท. แต่เรื่องที่จำเลยจะนำไปอภิปรายจะต้องเป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริงจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท.ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยแกล้งกล่าวหาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงินและรถยนต์แก่จำเลยเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัท ท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบ เพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2551   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
          แต่ถ้าเป็นเรื่องนอกหน้าที่ นอกตำแหน่ง ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 149
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2536   จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งสหกรณ์อำเภอ สังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร ส. จำกัด แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบเพื่อรับบรรจุพนักงาน เมื่อสหกรณ์ดังกล่าวเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่หน่วยงานในกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบโดยตรง ทั้งมติคณะกรรมการสหกรณ์ดังกล่าวก็ไม่มีระเบียบของทางราชการว่าให้ทำได้และจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม และการเป็นกรรมการสอบก็ไม่ใช่งานในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย การเป็นกรรมการของจำเลยจึงไม่ใช่เจ้าพนักงานกระทำการในตำแหน่งของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับทรัพย์สินโดยมิชอบหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง
          ความผิดตามมาตรา 149 ไม่จำเป็นต้องเรียกรับสินบนจากผู้กระทำผิดเท่านั้น แม้เรียกจากบุคคลอื่นก็มีความผิดเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2538   การที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมคนร้าย เรียกรับเงินจากผู้เสียหายในคดีที่สามีผู้เสียหายถูกคนร้ายฆ่าและชิงทรัพย์โดยไม่มีสิทธิจะเรียกรับ ถือได้ว่าเป็นการรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่งหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)
          ต้องมีเจตนา จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ โดยเป็นเพียงเจตนาธรรมดา ไม่จำต้องมีเจตนาทุจริต



ความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดที่เขากระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล

          กรณีของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จะต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งผู้ไร้ความสามารถได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าปรากฏว่ามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
          มาตรา 430 "ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิด ร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร"
          มาตรา 430 แตกต่างจากมาตรา 429 ในเรื่องภาระการพิสูจน์ คือ กรณีตามมาตรา 430 นั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ผู้เสียหาย
          การดูแลตามมาตรา 430 มีอยู่ 3 กรณี 
          1. รับดูแลโดยกฎหมายบังคับ เช่น ผู้ปกครองที่ศาลสั่งตั้ง สถานพินิจคุ้มครองเด็กที่รับเด็กต้องคดีมาดูแล ถือเป็นผู้รับดูแลโดยกฎหมายบังคับ
          2. ดูแลโดยสัญญา เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก จ้างคนมาดูแลผู้เยาว์ หรือครูบาอาจารย์ก็ถือว่าดูแลโดยสัญญา
          3. ดูแลโดยข้อเท็จจริง เช่น บิดานอกกฎหมายที่รับผู้เยาว์ไปดูแลในขณะเกิดเหตุ หรือปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาที่รับผู้เยาว์ไปดูแล หรือรับเด็กมาอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น
           การรับดูแลนี้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือเป็นประจำ ก็ถือว่ารับดูแล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีค่าจ้างหรือไม่



          บุคคลผู้รับดูแลมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือผู้รับดูแล
          1. ครูบาอาจารย์นั้นมีหน้าที่ดูแลนักเรียนผู้เยาว์ด้วย หากนักเรียนผู้เยาว์ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใดในระหว่างอยู่ในความดูแลของครูบาอาจารย์และปรากฏว่าครูบาอาจารย์นั้นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ครูบาอาจารย์นั้นย่อมต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2511  เช้าวันเกิดเหตุ ครูได้เก็บเอาไม้กระบอกพลุที่เด็กนักเรียนเล่นมาทำลายและห้ามไม่ให้เล่นต่อไปตอนหยุดพักกลางวันนักเรียนคนหนึ่งได้เล่นกระบอกพลุที่นอกห้องเรียนไปโดนนัยน์ตานักเรียนอีกคนหนึ่งบอดพฤติการณ์เช่นนี้ครูได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วเหตุที่เกิดละเมิดเป็นการนอกเหนืออำนาจและวิสัยที่ครูจะดูแลให้ปลอดภัยได้ครูจึงไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2515  จำเลยที่ 3 ครูใหญ่ ได้ให้ อ. ครูรองคอยควบคุมดูแลนักเรียนซึ่งรวมทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เล่นบันไดโหนอย่างผาดโผน อ.เห็นก็ห้ามปรามจำเลยที่ 1 พอขาดคำบันไดก็ล้มทับโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้น (เรื่องนี้ฟ้องครูใหญ่ ไม่ได้ฟ้องครูรอง)
          2. นายจ้าง หมายถึงนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้เยาว์ ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ดูแลลูกจ้างผู้เยาว์ด้วย โดยที่ความรับผิดของนายจ้างตามมาตรา 430 นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างเหมือนดังมาตรา 425 แต่การกระทำละเมิดจะเกิดเวลาใดก็ได้ ตราบใดที่ลูกจ้างผู้เยาว์ยังอยู่ในความดูแลของนายจ้างหากไปทำละเมิดแล้วนายจ้างก็ต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนถ้าหากลูกจ้างผู้เยาว์ยังอยู่ในความดูแลของนายจ้างแล้วการทำละเมิดเกิดขึ้นในทางการที่จ้าง กรณีนี้นายจ้างก็ต้องรับผิดทั้งตามมาตรา 425 และมาตรา 430
          3. ผู้รับดูแล คือ ต้องมีความใกล้ชิดดูแลอบรมสั่งสอนผู้เยาว์ด้วย บิดานอกกฎหมายก็ถือเป็นผู้ดูแล ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ถ้าได้ดูแลผู้เยาว์อยู่ก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลเช่นกัน ดังนั้น หากผู้เยาว์ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใดในระหว่างอยู่ในความดูแลของผู้รับดูแลและปรากฏว่าผู้รับดูแลนั้นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ผู้รับดูแลนั้นย่อมต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2518  หลานอายุ 13 ปีมาพักเรียนหนังสืออยู่กับตายายๆ เป็นผู้ดูแลต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับหลานตาม มาตรา 430
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2537   จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยร่วมและเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมต้องย้ายภูมิลำเนาไปประกอบอาชีพในที่ต่าง ๆ หลายแห่งบ่อย ๆ จึงได้ส่งจำเลยที่ 1 ไปอยู่กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้เรียนหนังสือตั้งแต่จำเลยที่ 1 ยังมีอายุประมาณ10 ปี ตลอดมาเป็นเวลา 8-9 ปีแล้ว จำเลยร่วมส่งเสียให้เล่าเรียนโดยให้เบิกเงินจากจำเลยที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุเมื่อมีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่สถานีตำรวจก็ได้ระบุในข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 โดยจำเลยที่ 2 หาจำต้องเป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9084/2539   จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ.มาตรา429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 ต้องนำ ป.พ.พ.มาตรา 430 มาปรับใช้บังคับ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลจึงนำ ป.พ.พ.มาตรา 430 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้โดยชอบ
          จำเลยที่ 2 เป็นผู้บอกจำเลยที่ 3 ให้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ขับรถไม่ค่อยเป็นไม่สามารถขับรถยนต์ออกถนนใหญ่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ทราบดีและยังทราบว่าจำเลยที่ 1 เคยขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรจะเก็บกุญแจรถยนต์จิ๊ปไว้ในที่ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำออกไปใช้ได้ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในการทำละเมิดต่อโจทก์

          ถ้าไม่ใช่ผู้รับดูแลก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2535   จำเลยที่ 2 เป็นเพียงเจ้าของหอพักที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เช่าอยู่ และเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเพื่อกิจธุระของตนเท่านั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ไว้ และจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 เพราะเจ้าของหอพักมีหน้าที่เพียงดำเนินกิจการหอพักและควบคุมการเข้าพักในหอพักเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10239/2546   ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้
          หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์หรือไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราว พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558   เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวผู้เยาว์ส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ไม่มีเจตนารับดูแลผู้เยาว์ เมื่อผู้เยาว์หลบหนีไปทำละเมิด เจ้าพนักงานตำรวจไม่ต้องรับผิดเพราะไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ทำละเมิดโดยตรงที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
          แม้จะเป็นผู้รับดูแลผู้เยาว์ก็ตาม แต่ถ้าทางผู้เสียหายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557   จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2



การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสียไป แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือไร้ความสามารถ

          การเกิดสัญญา จะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้แสดงเจตนา และฝ่ายผู้สนองรับ ซึ่งการแสดงเจตนาที่ส่งออกไปนั้นไม่เสียเปล่า ถึงแม้ต่อมาผู้แสดงเจตนาจะตายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ตาม เจตนานั้นก็ยังมีผลผูกพันทายาทของผู้แสดง ยกเว้นแต่ว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอ(ผู้แสดงเจตนา)ได้แสดง หรือฝ่ายผู้สนองรับได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ กรณีนี้ การแสดงเจตนาที่ผู้เสนอส่งออกมานั้นก็ตกเป็นอันไร้ผลผูกพัน 

          มาตรา 169  "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
          การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 360  "บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ" 

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ 

          การแสดงเจตนาในสัญญาเช่าว่าเมื่อครบสัญญาจะต่ออายุสัญญาเช่าทุกๆ 3 ปี เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่า ยังไม่เกิดเป็นสัญญาฉบับใหม่จนกว่าจะมีผู้เช่าสนองรับ และเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เช่าได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว คำมั่นนั้นจึงมีผลผูกพันผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1602/2548 สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของ ป. ผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญัญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม โจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลผูกพันตลอดไปไม่
          แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะมีคำมั่นที่ ป. ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไปและตกทอดแก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้ายสุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายแล้วตึกแถวพิพาทตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาท จำเลยทราบว่า ป. ถึงแก่ความตายแล้งจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป้นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลย แจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้

          ข้อตกลงในสัญญาเช่าว่าจะต่ออายุสัญญาให้เมื่อครบกำหนดนั้นเป็นเพียงคำมั่น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพันผู้ให้เช่า เพราะยังไม่ได้ความว่าผู้เช่าได้สนองรับก่อนผู้ให้เช่าถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อผู้เช่าได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ให้เช่าถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด ข้อตกลงนั้นจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4392/2547  ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้

          ถ้าไม่รู้ว่าผู้ให้เช่าเสียชีวิตก่อนสนองรับคำมั่น คำมั่นจะให้ต่อสัญญาเช่าย่อมมีผลบังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4872/2539  ตามสัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็นสองเท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บ ข้อสัญญานี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไป ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป.ผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับคำมั่นของ ป.จึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตามให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม

          แต่ถ้ารู้ว่าผู้ให้คำมั่นเสียชีวิตก่อนสนองรับคำมั่น คำมั่นจะให้สิทธิซื้อที่ดินกลับคืนย่อมไม่มีผลบังคับได้อีกต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6515/2538   ตามสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่พิพาทคืนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาเป็นเพียงคำมั่นของ ส. มิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขายที่พิพาท และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สนองรับคำมั่นว่าจะทำการซื้อที่พิพาทไปยัง ส.เมื่อ ส.ตาย โจทก์ก็ทราบ แต่โจทก์ยังตอบรับคำมั่นโดยบอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจะขายที่พิพาทของ ส.ย่อมไม่มีผลบังคับ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.