28 กุมภาพันธ์ 2567

ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา (สินส่วนตัวและสินสมรส)


          สินส่วนตัว 


          มาตรา 1471  "สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
          (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
          (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
          (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
          (4) ที่เป็นของหมั้น"

          สินส่วนตัว แบ่งเป็น 4 ชนิด 

          (1) ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ตามมาตรา 1471(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2524  ที่ดินของชายถือกรรมสิทธิ์รวมกับมารดามาก่อนเป็นสามีภริยากับโจทก์เป็นสินส่วนตัวของชาย ต่อมาชายทำสัญญาประนีประนอมแบ่งกับมารดา เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ก็เป็นแต่แบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับมารดา ที่ดินไม่เป็นสินสมรส
          ชายหญิงอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน แล้วจดทะเบียนสมรสภายหลัง ทรัพย์ที่ได้มาร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส เป็นกรรมสิทธิ์รวมแบ่งกันคนละครึ่งเมื่อหย่ากัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2533  จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านพิพาทบนที่ดินส่วนตัวของตน แม้สามีจะช่วยออกเงินในการปลูกสร้างด้วยถึงหนึ่งในสาม แต่ตามพฤติการณ์เป็นการช่วยเหลือกันฉันสามีภริยา หาใช่เป็นการร่วมลงทุนปลูกบ้านพิพาทด้วยไม่ ดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านพิพาทในระหว่างสมรสจึงไม่ทำให้บ้านพิพาทเป็นสินสมรสอันจะเป็นทรัพย์มรดกของสามีครึ่งหนึ่งด้วย.


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2537  โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันต่อมาได้มีพิธีสมรสตามประเพณีไทย แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาท โดยเงินส่วนหนึ่ง ญาติผู้ใหญ่ให้ไว้ในวันแต่งงาน เงินดังกล่าวได้มาขณะอยู่ร่วมกัน โจทก์ย่อมมีส่วนด้วย อีกส่วนหนึ่งยืมจากมารดาโจทก์ และเงินอีกส่วนหนึ่งกู้ยืมจากธนาคาร โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งโจทก์ช่วยผ่อนชำระแก่ธนาคารจนหมดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหากินร่วมกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมแม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม

          

          สามีซื้อรถยนต์ให้โดยเสน่หาแก่ภริยาก่อนจดทะเบียนสมรส รถยนต์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ที่ภริยาได้มาก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของภริยา 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559  รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย

          ที่ดินการนิคมที่สามีมีอยู่ก่อนสมรส แม้จะได้ขอออกและได้ น.ส. 3 ก. มาระหว่างสมรส ที่ดินนั้นก็ยังเป็นสินส่วนตัวของสามี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2539  โจทก์มีที่ดินอยู่ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2523 การที่โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและได้สิทธิในการขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 8 และ 11 ก็ดี และต่อมาโจทก์ได้ขอออก น.ส.3 ก.สำหรับที่ดินดังกล่าวตาม ป.ที่ดินก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนที่โจทก์จะได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินดังกล่าวเท่านั้น ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่มีเหนือที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ต้น เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่โจทก์มีมาก่อนที่จะอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับจำเลย จึงมิใช่ทรัพย์ที่โจทก์ได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา 1474 (1) ไม่เป็นสินสมรส

          ร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ก่อนที่ต่อมาจะจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคาร เมื่อไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคนฝ่ายละครึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558  การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง

          จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินเพื่อเป็นเรือนหออยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 ก่อนมาจดทะเบียนสมรสในภายหลัง บ้านและที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2549  จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินเพื่อเป็นเรือนหอ อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินมาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2  บ้านและที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินโดยกู้เงินจากธนาคาร ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้บ้านและที่ดินมาก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส บ้านและที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) ที่โจทก์นำสืบว่า บ้านและที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เป็นเพียงการคาดคะเนตามความคิดเห็นของโจทก์และนางสาว อ. พยานโจทก์เท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า บ้านและที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยตรงกันมาว่า บ้านและที่ดินเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          ร้านเสริมสวยเริ่มกิจการมาก่อนจดทะเบียนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวตาม มาตรา 1471 (1) สำหรับที่ดินและห้องชุดรับโอนมาภายหลังจดทะเบียนสมรสเป็นสินสมรส แต่เงินดาวน์ได้นำเงินจากบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินสินส่วนตัวแต่มีรายได้จากร้านเสริมสวยที่ได้มาหลังสมรสรวมอยู่ด้วย ไม่อาจแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเงินสินส่วนตัวหรือสินสมรสปะปนอยู่จำนวนเท่าใด ต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 วรรคท้าย ว่า เงินดาวน์ดังกล่าวเป็นสินสมรสด้วยที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องนี้จึงเป็นสินสมรสเต็มจำนวน
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2545  โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกัน กิจการร้านเสริมสวยดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยมีอยู่แล้วก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ลงทุนในกิจการดังกล่าว 200,000 บาท ส่วนจำเลยลงทุน 100,000 บาท กิจการร้านเสริมสวย จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตามสัดส่วนของเงินลงทุน คือ 2 ต่อ 1
          ที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องจำเลยได้รับโอนมาภายหลังจากโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ส่วนเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดที่จำเลยนำไปชำระนั้น จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย แต่เงินในบัญชีดังกล่าวมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วย ซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยและไม่อาจแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย ส่วนไหนเป็นเงินสินสมรสได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเงินสินส่วนตัวของจำเลยเข้ามาปะปนอยู่กับเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดทั้งสี่เป็นจำนวนเท่าใด กรณีจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 วรรคท้าย ว่า เงินดาวน์ดังกล่าวเป็นสินสมรสด้วย ที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องนี้จึงเป็นสินสมรสเต็มจำนวนที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง
          เงินฝากในบัญชีธนาคารมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วยโดยระคนปนกันจนไม่อาจจำแนกได้ว่าแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าใดจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเงินในบัญชีนี้เป็นสินสมรส ฉะนั้น เมื่อจำเลยถอนเงินในบัญชีดังกล่าวมาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ เงินฝากในบัญชีใหม่นี้จึงเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งเช่นเดียวกันด้วย

          (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 1471(2)
          แต่เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกาย ต้องไม่เกินควรแก่ฐานะ ถ้าเกินฐานะแล้ว แม้จะเป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายส่วนตัว ก็ต้องถือว่าเป็นสินสมรส
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2533  บิดาโจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสของบิดาโจทก์กับผู้ตายเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ไปแล้ว ถือได้ว่าบิดาโจทก์กับผู้ตายได้ตกลงแบ่งที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวออกเป็นของแต่ละฝ่ายย่อมทำให้ที่ดินในส่วนที่เหลือหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ส่วนบ้านนั้นบิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมยกส่วนของตนครึ่งหนึ่งให้โจทก์แล้วเช่นกัน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจึงตกเป็นของผู้ตายแต่ผู้เดียว ผู้ตายไปยื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมให้บ้านพิพาทในส่วนของตนให้แก่โจทก์ แต่การให้บ้านพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้รับนั้นจะสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติกรรม การให้ดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนที่เป็นของผู้ตายยังคงเป็นของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 โจทก์ไม่ได้เป็นทายาท ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก ย่อมไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์สินที่ดินพิพาทและครึ่งหนึ่งของบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้บุคคลอื่นได้ เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องเพชร แหวน เข็มขัดนาก และเครื่องประดับอื่นๆ ตามฟ้องเป็นเครื่องประดับกายซึ่งรวมกันแล้วมีราคาไม่มาก เมื่อพิจารณาตามฐานะและรายได้ของบิดาโจทก์และผู้ตายแล้ว เป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของผู้ตายแม้ผู้ตายได้มาโดยบิดาโจทก์เป็นผู้หามาให้หรือผู้ตายหาเองในระหว่างสมรสก็ตาม ก็เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2535  โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน ต่อมาโจทก์ได้ทำร้ายจำเลยทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะเป็นสามีภริยากันต่อไป จึงไปทำความตกลงกันที่สถานีตำรวจ โดยให้เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกว่า โจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันและจะแบ่งทรัพย์สินกันตามบันทึก ซึ่งมีร้อยตำรวจโทส. และจ่าสิบตำรวจ จ. เป็นพยาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหย่าและเพื่อให้จำเลยไม่ติดใจเอาความโจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เป็นการตอบแทน เมื่อมิได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลใช้เป็นหลักฐานแห่งการหย่าได้ตามมาตรา 1514 วรรคสอง และยังใช้บังคับในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกนั้นได้ด้วย ข้อตกลงเรื่องการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นข้อตกลงที่แบ่งแยกจากกันมิได้ จึงมิได้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างเดียวโดยตรง อันจะมีผลทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินที่ว่าโจทก์ตกลงขายรถยนต์ที่โจทก์ใช้อยู่โดยจะแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่โจทก์ 20,000 บาทจำเลยจะจ่ายให้ทันที่ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะจ่ายเป็นเช็คให้อีก 10,000 บาท มีกำหนด 1 เดือน นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังใช้รถยนต์อยู่มิได้ขายตามข้อตกลง ส่วนจำเลยก็ชำระเงินให้โจทก์ไปเพียง 10,000 บาท ดังนั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดถึงกรณีที่มิได้ขายรถไว้ว่าคู่กรณีตกลงกันอย่างไร จึงต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะได้เงินจากการขายรถเพียง 20,000 บาท เงินส่วนที่เหลือจากการขายเป็นของจำเลยทั้งหมด เมื่อไม่มีการขายรถ จำเลยจึงควรจะเป็นผู้มีสิทธิจัดการเกี่ยวกับรถนั้นโดยชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อตกลงจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบรถให้แก่จำเลย บันทึกข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจะใช้บังคับทรัพย์สินอื่นที่มีอยู่ก่อนหรือได้มาหลังข้อตกลงนอกจากที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงนั้นไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างนั้นจึงต้องเป็นสินสมรสที่จะต้องนำมาแบ่งครึ่งกัน สร้อยคอทองคำและพระเครื่องที่จำเลยซื้อให้แก่โจทก์ระหว่างสมรสเป็นทรัพย์ที่เป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของโจทก์โดยเฉพาะ จึงเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากมีการตกลงจะหย่ากัน เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาตามคำขอท้ายฟ้อง



          (3) เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา ตามมาตรา 1471(3)
          ระหว่างสมรสถ้าสามีหรือภริยาได้รับมรดกไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมก็ตาม หรือหากมีผู้ใดยกทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ทรัพย์สินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นทั้งสิ้น นอกจากนี้ถึงแม้ว่าสามีหรือภริยาจะยกทรัพย์สินส่วนตัวให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในระหว่างสมรส ทรัพย์สินส่วนตัวนี้ก็ย่อมตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายที่ได้รับยกให้นั้นเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2532  ที่ดินที่จำเลยได้รับมาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ ตรวจ ชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้ บังคับแล้ว แม้จำเลยกับผู้ร้องจะสมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ ก็ยังต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาใช้บังคับ เมื่อจำเลยฝ่ายเดียวได้ ที่ดินดังกล่าวมาระหว่างสมรสโดยการยกให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) สำหรับที่ดินที่จำเลยได้รับมาระหว่างสมรส ซึ่งไม่ปรากฏว่าบิดายกให้จำเลยแต่ผู้เดียวหรือให้ผู้ร้องด้วย จึงต้องเป็นไปตามบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ตอนท้าย ที่ให้ถือว่าเป็นสินสมรส ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) การร่วมกันกระทำละเมิดเป็นหนี้ร่วมธรรมดา โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย ย่อมจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เหนือสินสมรสมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ทั้งการทำละเมิดของจำเลยก็เป็นการเฉพาะตัวของผู้กระทำโดยตรง ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการอันจำเป็นในครอบครัว หรือเกี่ยวข้องกับสินสมรสหรือเกิดจากการงานที่ผู้ร้องกับจำเลยทำด้วยกันในฐานะที่เป็นสามีภริยากันจึงไม่เป็นหนี้ร่วมตามนัยมาตรา 1490 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ผู้ร้องไม่ต้องผูกพันในมูลหนี้ดังกล่าว และมีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4982/2541  แม้ผู้ร้องจะได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรสกับผู้ตาย แต่ปรากฏว่าเป็นกรณีได้รับยกให้ที่ดิน ภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 เมื่อไม่ปรากฏมี หนังสือยกให้โดยระบุให้เป็นสินสมรส ก็ต้องถือว่า เป็นการยกที่ดินให้เป็นสินส่วนตัวแก่ผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) การที่ผู้ร้องเป็นภริยาของผู้ตายซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาอันเป็นความรับผิดในฐานะทายาทผู้รับมรดกของผู้ตายซึ่งจะต้องรับผิด ในหนี้สินดังกล่าวต่อโจทก์เมื่อผู้ร้องได้รับมรดกของผู้ตายเท่านั้น เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับมรดกและโจทก์ก็มิได้ฟ้องผู้ร้องให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา โจทก์เพิ่งมานำสืบในชั้นร้องขัดทรัพย์ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์ไปใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จะให้ฟังว่าผู้ร้องต้องรับผิดในฐานะที่เป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายหาได้ไม่ ตามคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้อง ผู้ร้องได้บรรยายให้ปรากฏชัดแล้วว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดคดีนี้ ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตาย ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างผู้ตายกับผู้ร้อง แต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องและ ต. ร่วมกันแสดงว่าผู้ร้องได้อ้างแล้วว่าทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องมิใช่เป็นผู้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องในฐานะทายาทก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกคำร้องของ ผู้ร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทจึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2565  โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ให้แก่จําเลย มิใช่ให้จําเลยถือครองที่ดินแทนโจทก์ และตามสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 30376 ดังกล่าวมาโดยการรับโอนมรดก ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จําเลยโดยไม่ได้ระบุว่า ให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจําเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) และ 1474 (2) จําเลยย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวได้เอง ตามมาตรา 1473 ดังนั้น การที่จําเลยจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ผ. ไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่จําต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดินของจําเลยหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวแก่จําเลยในระหว่างสมรส อันเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกล้างเสียในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่เมื่อจําเลยได้ขายที่ดินไปเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ประกอบกับหลังจากปี 2559 โจทก็ไม่ได้ส่งค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่จําเลย เนื่องจากจําเลยผิดข้อตกลงเรื่องหย่า และโจทก์คิดว่าจําเลยมีเงินส่งเสียบุตร เพราะจําเลยขายที่ดินที่โจทก์ยกให้ไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมโดยปริยายให้นําเงินที่ได้จากการขายที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจําเลยและบุตรของโจทก์ เฉพาะอย่างยิ่งบุตรโจทก์กําลังศึกษาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงไม่เป็นกรณีที่โจทก์จะฟ้องขอให้จําเลยคืนเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อีก

          บิดาทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้บุตรโดยเสน่หา ไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรส ก็ต้องถือว่าเป็นสินส่วนตัว ตามมาตรา 1471 (3) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12346/2558  ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน   

          สามียกที่ดินให้โดยเสน่หาแก่ภริยาแล้ว ที่ดินนั้นย่อมตกเป็นสินส่วนตัวของภริยา ดังนั้น ภริยาย่อมสามารถจัดการสินส่วนตัวได้ด้วยตนเองโดยลำพัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2560  โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจาก พ. แล้วยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสัญญาให้โดยเสน่หาแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าว  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14005/2558  ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่า ผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับโดยเด็ดขาดนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป เป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะเป็นสามีภริยา แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัว แต่การที่โจทก์ยกที่ดิน 8 แปลง ดังกล่าวให้จำเลยก็เพื่อตอบแทนการที่จำเลยยอมยุติปัญหาที่โจทก์ไปมีภริยาอีกคนหนึ่ง จึงแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า โจทก์ได้ให้เป็นสินส่วนตัวของภริยาเด็ดขาดแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ภายหลังจำเลยและครอบครัวจำเลยได้ใช้ประโยชน์โดยอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเรื่อยมาและมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีการโต้แย้งแต่อย่างใด ที่ดิน 8 แปลง นี้ไม่ใช่สินสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย

          ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการรับมรดก เป็นสินส่วนตัว ตามมาตรา 1471 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467/2549  โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำยึดบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าบ้านเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่ผู้เดียว มิใช่สินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง แม้ตามคำร้องขอจะมิได้อ้างว่าเป็นบ้านที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับพี่น้องตามที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการอ้างถึงที่มาเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธินำยึดนั่นเอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นตามคำร้อง มิใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
          บ้านที่โจทก์นำยึดออกขายทอดตลาดซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับทายาทอื่นของ ล. สิทธิของผู้ร้องในบ้านจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) มิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดได้ และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตามมาตรา 1359 จึงมีอำนาจร้องขัดทรัพย์

          (4) ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น ตามมาตรา 1471(4)
          ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นย่อมตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายภริยา

          ของที่ได้มาแทนสินส่วนตัว***
          ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มาแทนสินส่วนตัวนั้น ก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นเช่นเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2511  การที่ผู้ร้องซ่อมแซมบ้านซึ่งปลูกในที่อันเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องอีกทั้งผู้ร้องยังสร้างบ้านขึ้นใหม่อีกหนึ่งหลังในที่ดินดังกล่าวภายหลังจากการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยนั้น เมื่อผู้ร้องได้เอาเงินอันเป็นดอกผลของสินส่วนตัวของผู้ร้องเองใช้จ่ายในการซ่อมแซมและปลูกสร้างแล้วที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1464(4) และมาตรา 1465 วรรคท้าย โจทก์จะขออายัดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ไว้ก่อนมีคำพิพากษาหาได้ไม่ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย กรณีจึงไม่เข้าตามมาตรา 254(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2522  ในระหว่างสมรสของโจทก์จำเลย จำเลยได้ที่ดินโฉนดที่ 4084 และ 4198 โดย ผ. ยกให้โดยเสน่หาระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวกับได้ที่ดินโฉนดที่ 5191 โดย ผ. ทำพินัยกรรมยกให้และระบุให้เป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกัน ต่อมา ล. อ้างว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ ผ. แต่เป็นของภรรยาซึ่งเป็นบุตรของ น. และฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งกับแจ้งความกล่าวหาจำเลยทางอาญาหลายคดี ในที่สุด ล. กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหนึ่งซึ่งศาลพิพากษาตามยอมมีใจความสำคัญว่า ให้จำเลยได้ที่ดินโฉนดที่ 1176 และให้ ล. ได้ที่ดินโฉนดที่ 5191 ส่วนที่ดินโฉนดที่ 4198 และ 4084 นั้น จำเลยตกลงโอนให้ ล. โดย ล. ต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้ 3,100,000 บาท ดังนี้ ต้องถือว่าที่ดินโฉนดที่ 4084 และ 4198 กับโฉนดที่ 5191 เดิมเป็นที่ดินที่จำเลยได้รับมาเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ล. ดังกล่าว ก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับ ล. ในคดีนั้นซึ่งมีประเด็นเพียงว่าที่พิพาทเป็นของ ผ. และ ย. มีอำนาจยกให้จำเลยหรือไม่เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของทรัพย์ยังต้องถือว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่นั่นเอง และเมื่อจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวทั้งสามแปลงนั้นให้แก่ ล. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเหตุให้จำเลยได้มาซึ่งที่ดินโฉนดที่ 1176 กับมีสิทธิได้เงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ก็ต้องถือว่าที่ดินและเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้ามาแทนที่ที่ดินทั้งสามแปลง อันเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการขายหรือแลกเปลี่ยนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465(1) ดังนั้น ที่ดินโฉนดที่ 1176 กับเงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลย หาใช่สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546  ที่ดินที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท 2 แปลง ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง
          โจทก์นำเงินของโจทก์ไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสองว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสรถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
          ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่ง เมื่อรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสินสมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ก็ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าค่าเช่าซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง
       
          การจัดการสินส่วนตัว 

          ตามมาตรา 1473 การจัดการสินส่วนตัวซึ่งเป็นของคู่สมรสฝ่ายใด ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นเป็นคนจัดการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3471/2533  ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับมาจากบิดาเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการจัดการสินส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2536  จำเลยได้รับยกให้ที่ดินภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 เมื่อหนังสือยกให้ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงต้องถือว่าที่ดินของจำเลยเป็นสินส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) จำเลยจึงมีอำนาจจัดการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ในที่ดินดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากภริยา จึงมีผลผูกพันจำเลย สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนที่ดินเป็นภารจำยอมให้โจทก์เป็นสัญญาก่อตั้งภารจำยอมในที่พิพาท เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนได้
          




          สินสมรส 


          มาตรา 1474  "สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
          (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
          (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
          (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
          ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส"

          สินสมรส แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่
       
          (1) ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ตามมาตรา 1474(1)   
          ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสอันถือเป็นสินสมรสนั้น ถ้าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ประธานแล้วต่อมามีทรัพย์อื่นมาประกอบเป็นส่วนควบ ทรัพย์อื่นซึ่งเป็นส่วนควบนั้นย่อมกลายเป็นสินสมรสไปด้วย เป็นต้นว่า ที่ดินเป็นสินสมรส บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมเป็นสินสมรสด้วย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533  เงินบริจาคที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนการรับทรงเจ้าเป็นเงินรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสเมื่อจำเลยที่ 1 นำไปซื้อที่ดินและปลูกอาคาร ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537  จำเลยใช้เงินของจำเลยซื้อสลากกินแบ่งฯก่อนสมรสกับโจทก์สลากกินแบ่งฯออกรางวัลหลังจากที่โจทก์จำเลยสมรสกันแล้ว และถูกรางวัล เงินรางวัลที่จำเลยได้รับมาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1474 (1)
          ป.พ.พ.บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1485 บัญญัติว่าสามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า เป็นข้อยกเว้นจากหลักทั่วไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาก่อนสมรสกันไว้ เงินรางวัลที่เหลือฝากในธนาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินสมรส โจทก์จำเลยย่อมเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันอยู่แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่โจทก์จะเป็นผู้จัดการเงินรางวัลดังกล่าวเพียงผู้เดียวแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19772/2557   การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่ เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้ ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง

          ทรัพย์สินซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาระหว่างสมรสตกเป็นสินสมรส แม้ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสนั้นจะปลูกสร้างลงในที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่าย ก็ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินนั้นแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13964/2558  ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) และ 1472 วรรคหนึ่ง หลังจากสมรสโจทก์ร่วมกับจำเลยปลูกสร้างรีสอร์ต ร้านอาหาร และต่อเติมบ้านเป็นร้านเสริมสวย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส แม้โจทก์จะเป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างก็ตามแต่ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือจากจำเลย ที่สำคัญสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์กับจำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจร่วมกัน ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมให้ใช้ที่ดินพิพาทปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท สิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมบนที่ดินพิพาทไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน คงเป็นสินสมรสที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยร่วมกัน จำเลยไม่ยอมเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย โจทก์จำเลยต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 กรณีนี้ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 คือให้โจทก์จำหน่ายเฉพาะที่ดินพิพาทภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยยังไม่ต้องคืนแก่โจทก์ แต่หากโจทก์ประสงค์จะขายสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินที่พิพาทโดยจำเลยยินยอมก็สามารถทำได้

          เมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส แม้จะระบุให้เป็นชื่อฝ่ายหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ถือเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14040/2557  โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533
          การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมามิใช่จะไม่มีผลใดๆ เสียเลย เพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผล ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

          จดทะเบียนสมรสแล้ว แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน หากยังไม่ได้หย่าขาด ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสก็ถือว่าเป็นสินสมรส 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12250/2557  โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

          สิทธิของทายาทที่จะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนสมาชิกที่ตายก่อนได้รับโฉนด ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 22 ครบถ้วนหรือไม่ สิทธิดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดก การได้สิทธิครอบครองที่ดินนั้นมาระหว่างสมรส จึงถือเป็นสินสมรส
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8624/2557  การที่ทายาทจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนสมาชิกที่ตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินได้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 30 นั้น ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 22 ก่อน ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกทายาทจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของทายาท จึงไม่ใช่สิทธิตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่สมาชิกตาย ภายหลังที่ ม. ถึงแก่ความตาย จำเลยและ บ. ไปยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน ม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยและ บ. มีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศจัดสรรที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยและ บ. ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประกาศดังกล่าวจำเลยได้ทำกินกับโจทก์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิและไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคลองก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะภริยาของจำเลยก็ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำกินหาผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทรวมทั้งผลประโยชน์ที่หาได้จากที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเงื่อนไขว่า ภายในห้าปีนับแต่ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์จะโอนแก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวจำเลยก็ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยได้สิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นสามีภริยากับโจทก์นั่นเอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และมาตรา 1533

         สิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ ท. กับโจทก์ได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2557  เมื่อขณะที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ท. กับจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่ 3 ไร่ ให้แก่ ท. นั้น ท. กับโจทก์เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ ท. จะถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ และปัจจุบันยังมิได้มีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิของ ท. ที่จะได้รับที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วต้องสูญสิ้นไป และสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ ท. กับโจทก์ได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งย่อมมีผลทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่ 3 ไร่ ที่ ท. จะได้รับตามสิทธินั้นตกเป็นสินสมรสระหว่าง ท. กับโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ท. ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่ง

          สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อสิทธิการเช่าได้มาระหว่างสมรสก็เป็นสินสมรส
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2557  อาคารพาณิชย์เลขที่ 35 และ 36 ที่โจทก์และจำเลยเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แม้มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส และตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยจึงต้องแบ่งสินสมรสให้โจทก์
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากันที่สำนักทะเบียนอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยบันทึกการหย่าว่า อยู่กินกันมาเป็นเวลา 17 ปี มีบุตร 4 คน คือ นาย พ. เด็กชาย ฤ. เด็กหญิง น. และเด็กชาย ศ. ตกลงให้อยู่ในความปกครองของจำเลยฝ่ายเดียว มีทรัพย์สินประมาณ 3,000,000 บาท ตกลงหักหนี้สินประมาณ 700,000 บาท หักค่าการศึกษาบุตร 4 คน คนละ 100,000 บาท ที่เหลือแบ่งโจทก์และจำเลยคนละเท่ากัน ให้บุตรอยู่ในความเลี้ยงดูของบิดา หากบุตรไม่สามารถอยู่กับจำเลยได้ให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าการศึกษาบุตรคืนตามสำเนาทะเบียนการหย่าและบันทึกต่อท้าย สำหรับค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสี่จำเลยไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธิการเช่าอาคารเป็นสินสมรสหรือไม่ เห็นว่า แม้อาคารเลขที่ 35 และ 36 มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อสิทธิการเช่าได้มาระหว่างสมรสก็เป็นสินสมรส ทั้งได้ความว่าอาคารดังกล่าวโจทก์และจำเลยปรับปรุงเป็นห้องให้เช่า เมื่อมีสิทธิการเช่าเท่ากับเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในตัวอาคารเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของอาคารนั่นเอง การที่โจทก์เบิกความว่าเป็นเจ้าของอาคาร จึงเป็นการเข้าใจดังเช่นประชาชนทั่วไป นอกจากนี้โจทก์ก็เบิกความว่าเช่าอาคารจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่ามีสิทธิการเช่าอันเป็นสินสมรสนั่นเอง ตรงตามที่บรรยายฟ้องว่ามีสินสมรสโดยไม่ได้ระบุตัวอาคาร ทั้งบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าซึ่งแนบมาท้ายฟ้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องก็ระบุเพียงว่ามีสินสมรสร่วมกัน มิได้ระบุว่าอาคารเป็นสินสมรส เมื่อสิทธิการเช่าเป็นสินสมรสจึงตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามฟ้อง และบันทึกท้ายการหย่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสนั้น เป็นสินสมรส ถึงแม้ได้กรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ตาม สินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556  แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
          การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้

          (2) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474(2)
          ข้อสำคัญคือพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ต้องมีการระบุว่าให้เป็นสินสมรส จึงจะเป็นสินสมรส ถ้าไม่ระบุไว้ ก็จะเป็นสินส่วนตัว ตามมาตรา 1471(3)

          (3) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ตามมาตรา 1474(3)
          ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส ซึ่งดอกผลของทรัพย์ก็มีความหมายตามมาตรา 148 ซึ่งได้แก่ ดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย
          อย่างไรก็ตาม มูลค่าราคาของสินส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นภายหลังสมรสหาใช่ดอกผลของทรัพย์สินไม่ ราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ใช่สินสมรส เช่น ราคาที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวมีราคาสูงขึ้นมากภายหลังสมรส ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ไม่ใช่สินสมรส แต่ยังคงเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
          แม้เป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส แต่ถ้ามีข้อตกลงระหว่างสมรสให้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวแล้ว ก็เป็นสัญญาระหว่างสมรสและเมื่อมีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมไม่อาจบอกล้างได้ ทรัพย์นั้นจึงเป็นสินส่วนตัว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2558   ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15 วัน และข้อ 1 ในสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ยินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนหย่ากัน อันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อาจบอกล้างได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

          การจัดการสินสมรส

          มาตรา 1476 กำหนดหลักกฎหมายไว้ว่า สามีหรือภริยาสามารถจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญเท่านั้นจึงต้องให้คู่สมรสจัดการร่วมกัน คือ กรณีตามมาตรา 1476 (1) ถึง (8) โดยหากมีการจัดการสินสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

          มาตรา 1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
               (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
               (2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
               (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
               (4) ให้กู้ยืมเงิน
               (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
               (6) ประนีประนอมยอมความ
               (7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
               (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
               การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

          มาตรา 1480  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
          การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560  แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10451/2558  โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา
          พ. มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของ พ. กับภริยาคนก่อนซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ. ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรทั้งสามคนที่เกิดกับโจทก์ การยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกันตามกำลังทรัพย์ของผู้ยกให้ จึงเป็นการให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ตาม มาตรา 1476 (5) แม้โจทก์จะไม่ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2558  การที่จำเลยที่ 1 และ ช. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทมา ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์ เป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 บัญญัติว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ (5) ให้โดยเสน่หา และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้น เป็นโมฆะหรือโมฆียะ บัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอน นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ย่อมสมบูรณ์ โจทก์ไม่จำต้องบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสดังกล่าว จำเลยที่ 1 และโจทก์จึงต้องจัดการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
 
          แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 นั้น หากคู่สมรสได้ทำสัญญาก่อนสมรสกันไว้โดยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถจัดการให้แตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็สามารถทำได้

          มาตรา 1476/1  สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
          ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา1476 
          
          




พินัยกรรม


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 1646  "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"

          มาตรา 1647  "การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม"
          มาตรา 1648  "พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด 2 แห่งลักษณะนี้"

          พินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนเองเสียชีวิต โดยพินัยกรรมต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ได้แก่ พินัยกรรมแบบธรรมดา, พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ, พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง, พินัยกรรมแบบเอกสารลับ, พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา, พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ และ พินัยกรรมที่ทำขึ้นในภาวะการรบหรือสงคราม 

          
          1. ผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556  ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2547  ช. และ ป. ยกที่ดินพิพาทให้ ภ. มารดาโจทก์ แม้การให้จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของ ภ. จากบุคคลอื่น ภ. ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมาจนถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ดังนั้น การที่ ป. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของตนเองให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2546  การทำพินัยกรรมเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินที่จะมีผลเมื่อตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง… เมื่อตนตายก็ได้"  นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือ… ก็ได้" แม้ผู้ตายและผู้ร้องจะมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8372 ก็ตาม ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมในส่วนนี้จึงมีผลบังคับได้

          ที่ดินในนิคมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ ไม่สามารถทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563  ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง

          2. การแสดงเจตนาทำพินัยกรรม จะต้องกระทำในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556  การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า พินัยกรรมเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานนำสืบให้เห็นว่าพินัยกรรมมิใช่ของจริง ผู้ร้องมีพยานที่ลงชื่อรับรองในพินัยกรรมเบิกความยืนยันว่า พินัยกรรมทำขึ้นจริงขณะที่ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี และรู้เรื่องดีตลอด ลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมเป็นของผู้ตาย พินัยกรรมจึงไม่ปลอม หรือมีการลงลายพิมพ์นิ้วมือปลอม และหากผู้ตายขาดคุณสมบัติหรือสภาวะความสามารถของผู้ทำโดยการบกพร่อง ตามกฎหมายก็บัญญัติไว้เพียงว่า พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับและเสียไปเท่านั้น หาอาจให้ศาลก้าวล่วงฟังว่าเป็นพินัยกรรมปลอมได้ไม่นั้น ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฏว่า ผู้คัดค้านมีนาวาอากาศโท ส. แพทย์ผู้รักษาผู้ตายเบิกความประกอบประวัติการรักษาผู้ตายโดยเฉพาะคำวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์เวรผู้ทำการรักษาว่า ผู้ตายถูกนำส่งตัวมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว แพทย์เวรใส่ท่อช่วยหายใจและให้ยาเบื้องต้นพบว่าผู้ตายมีอาการเลือดออกในสมอง นาวาอากาศโท ส. นำผู้ตายไปผ่าตัดสมองใส่ท่อเพื่อระบายน้ำและเลือดภายในโพรงสมองผู้ตาย หลังผ่าตัดผู้ตายมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย ไม่เกร็ง แต่ก็ไม่สามารถรู้สึกตัว แม้จะกระตุ้นอย่างแรงก็ไม่รู้สึกตัว ต่อมานาวาอากาศโท ส. ผ่าตัดผู้ตายอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนท่อระบายเลือดและน้ำออกจากโพรงสมอง ซึ่งต้องผ่าตัดเปลี่ยนทุก 5 ถึง 7 วัน มิฉะนั้นจะเกิดอาการติดเชื้อ ในวันเดียวกันนั้นได้เจาะคอผู้ตายเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจด้วย หลังผ่าตัดผู้ตายไม่มีอาการดีขึ้น ยังมีอาการทรงตัวเหมือนเดิมคือ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถพูดจาโต้ตอบได้ หลับตาตลอด ซึ่งอาการแย่กว่าตอนที่เข้ามาในครั้งแรก ต่อมาผู้ตายได้เสียชีวิต นาวาอากาศโท ส. มีความเห็นว่า ผู้ตายไม่สามารถที่จะกลับมามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากก้านสมองของผู้ตายถูกกดมาตลอดตั้งแต่แรก ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรได้เลย ตามความเห็นที่ทำส่งศาล นอกจากนี้ผู้คัดค้านยังมีพยานนำสืบตรงกับพยานผู้ร้องว่า ตั้งแต่ผู้ตายเข้ารักษาในโรงพยาบาลต้องอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู. และใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่รู้สึกตัวมาโดยตลอด พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบมาจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้โดยแจ้งชัดว่า ตั้งแต่ผู้ตายเข้ารักษาในโรงพยาบาลจนถึงวันตายนั้น ผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สึกตัว ไม่รับรู้และไม่สามารถพูดจาโต้ตอบกับใครได้ ดังนั้น เมื่อการทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายด้วยตนเองก็ไม่ได้ ผู้ตายจึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเองในวันเวลาที่ระบุว่ามีการทำพินัยกรรม ข้อความทั้งหมดในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาที่แท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง พินัยกรรมจึงเป็นพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น และเมื่อพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว ข้ออ้างฎีกาอื่น ๆ ของผู้ร้องก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          3. การทำพินัยกรรมต้องมีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ในเรื่องทรัพย์สิน หากทำหนังสือโดยต้องการมอบทรัพย์สินให้ก่อนตายก็มิใช่พินัยกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2554  การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้

          4. ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมบางข้อไม่สามารถทำได้ ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อนั้นก็สิ้นผล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7249/2553  ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับแรก ข้อ 1 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2668 ให้แก่บุตร 5 คน คนละ 626.8 ตารางวา ข้อ 2 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับที่ยกให้บุตรตามข้อ 1 ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับที่สองว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ที่เหลือจากยกให้จำเลยที่ 2 ยินดียกให้โจทก์ทั้งหมด ดังนี้ เห็นได้ว่าเกิดจากการคำนวณเนื้อที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ตายผิดพลาดว่าเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา หรือ 710 ตารางวา แต่ความจริงที่ดินส่วนของผู้ตายมีเนื้อที่เพียง 606.66 ตารางวา เมื่อยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 606.66 ตารางวา ยังไม่ครบตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ผู้ตายระบุไว้ตามที่พินัยกรรมฉบับแรก จึงไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เหลือแบ่งแก่โจทก์ ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกที่ดินแก่โจทก์จึงสิ้นผล

           5. สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้ การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2550  สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามเป็นบุตรของนาง ล.ผู้ตาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2541 นาง ล.ได้ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า พินัยกรรมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ พยานผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและ จ. เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 จ. ได้ทำพินัยกรรมให้กับผู้ตาย จากนั้นพากันเดินทางไปที่สำนักงานเขตดินแดงและผู้ตายลงชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม จ. ลงชื่อเป็นพยานและ อ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดินแดงลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมและมอบพินัยกรรมให้หัวหน้าฝ่ายทะเบียนเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขตด้วย พินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รบมรดกตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่า นาง ล. ผู้ตายมีอาการสมองฝ่อ สติเลอะเลือนไม่สามารถจำบุตรหลานได้ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้องพาผู้ตายไปรักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา ผู้ตายพูดจาไม่รู้เรื่อง จึงพาไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเดอะซีเนียร์ หลังจากนั้นกลับมาพักที่บ้านผู้ร้องและผู้ตายผูกคอตายที่บ้านผู้ร้อง แต่นายแพทย์ ส.กับนายแพทย์ ฉ. เบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2541 นายแพทย์ ส.ได้ทำการตรวจรักษาผู้ตาย พบว่า ผู้ตายมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอสมองขาดเลือดเป็นจุดๆ มีอาการวิงเวียนเป็นบางครั้ง แต่สติสัมปชัญญะยังสมบูรณ์ สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องดี เห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามต่างเบิกความโต้แย้งกันโดยผู้ร้องยืนยันว่าผู้ตายขณะทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าขณะผู้ตายทำพินัยกรรม ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ ฉ. พยานผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด กลับเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจรักษาผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายระหว่างปี 2541 ถึง 2543 โดยนายแพทย์ ส. ตรวจรักษาผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายหลังทำพินัยกรรมประมาณ 1 เดือน และนายแพทย์ ฉ. ตรวจรักษาผู้ตายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 หลังจากผู้ตายทำพินัยกรรมได้ประมาณ 2 ปี เบิกความยืนยันว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นอกจากนี้ นายแพทย์ ส.และนาย ฉ.ยังเบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า ผู้ตายสามารถพูดคุยรู้เรื่องและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะทำพินัยกรรมได้ ประกอบกับหนังสือรับรองของแพทย์ก็ไม่ได้ระบุว่าทำขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกับคำเบิกความของ จ.ที่ว่า พินัยกรรมทำขึ้นที่สำนักงานของ จ. ที่กรุงเทพมหานคร เห็นว่า สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริง ไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด สำหรับฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามที่ว่าผู้ร้องไม่ได้นำตัวนาง อ. พยานในพินัยกรรมมาเบิกความเป็นพยาน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขณะทำพินัยกรรมนั้น การที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้าสืบแค่ไหนเพียงใดเป็นเรื่องดุลยพินิจของผู้ร้อง และฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสามเองก็สามารถอ้างนาง อ. เป็นพยานของตนได้ ไม่มีข้อพิรุธแต่อย่างใด พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานผู้คัดค้านทั้งสาม จึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พินัยกรรมดังกล่าวใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

          6. ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพินัยกรรมคือ ต้องเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายในการแสดงเจตนากำหนดเผื่อตายของตน กล่าวคือ ในขณะที่ตายนั้นไม่มีคำสั่งที่ออกมาภายหลังลบล้างคำสั่งนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 1697 "ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น" หากปรากฏว่ามีพินัยกรรมฉบับใหม่ออกมามีข้อความลบล้างพินัยกรรมฉบับเก่า พินัยกรรมฉบับเดิมก็ถือว่ายกเลิกไป เพราะไม่ใช่คำสั่งครั้งสุดท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556   ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใดๆ ในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว

          7. แต่ถ้าคำสั่งครั้งสุดท้าย ไม่มีข้อความลบล้างคำสั่งในการแสดงเจตนากำหนดเผื่อตายของตนก่อนหน้านี้ พินัยกรรมฉบับเดิมก็ยังคงอยู่ ใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7462/2555  พินัยกรรมฉบับแรก ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 4 แปลง และบ้านให้แก่จำเลยกับพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม และระบุตัดทายาทอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ให้รับมรดก พินัยกรรมฉบับที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินอีก 3 แปลง ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมฉบับแรกให้พี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกยังคงมีอยู่ และกรณีไม่ใช่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังขัดกัน เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกสมบูรณ์ ทรัพย์สินในพินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินนอกพินัยกรรมฉบับที่ 2 แต่เป็นการที่ผู้ตายกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแต่ละรายไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ โจทก์แม้เป็นทายาทโดยธรรมแต่ไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมในส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมเท่านั้น

          8. ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะได้รับในอนาคตได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532  การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผูเดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังที่ผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วย

          การเพิกถอนพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมก่อนผู้ทำพินัยกรรมตาย สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
          (1) ทำพินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
          (2) ผู้ทำพินัยกรรมทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมฉบับนั้นด้วยความตั้งใจ
          (3) โอนหรือทำลายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมไปด้วยความตั้งใจ กรณีนี้ หากเป็นการโอนต้องเป็นการโอนที่มีผลสมบูรณ์ด้วย คือ ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากหากการโอนไม่มีผลแล้วทรัพย์นั้นก็กลับมาเป็นของผู้ทำพินัยกรรมเหมือนเดิม
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2516  การที่ผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 วรรคแรก บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่การโอนนั้นสมบูรณ์และมิได้ถูกเพิกถอนในภายหลัง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกสินเดิมของตนคือที่ดินมีโฉนดพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่ ล. ซึ่งเป็นบุตรแล้วต่อมาเจ้ามรดกได้ไปจดทะเบียนโอนทรัพย์ตามพินัยกรรมให้แก่ ล. ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมดังกล่าว โดยมิได้รับความยินยอมจากสามีเจ้ามรดก ต่อมาเมื่อสามีเจ้ามรดกบอกล้างนิติกรรมการโอนและฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการโอน และเจ้าพนักงานได้แก้สารบาญในโฉนดใส่ชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิมแล้ว ข้อกำหนดพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงยังมิได้ถูกเพิกถอนไป ล. ยังคงมีสิทธิที่จะรับมรดกตามพินัยกรรมในทรัพย์ดังกล่าวได้

          การเพิกถอนพินัยกรรมภายหลังผู้ทำพินัยกรรมตาย
          หากผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนาทำพินัยกรรมโดยบกพร่องเนื่องจากสำคัญผิด ถูกข่มขู่ หรือถูกกลฉ้อฉล เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายไปผู้มีส่วนได้เสียอาจเพิกถอนเสียได้โดยร้องขอต่อศาลภายในเงื่อนไขและระยะเวลา ตามมาตรา 1708 ถึง 1710

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1374  "ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
          การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน"

          ในกรณีที่ผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เนื่องจากมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ และถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ ซึ่งการฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ โดยจะต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ถูกรบกวน




          การซื้อขายที่ดินซึ่งมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 แต่มีผลเป็นการสละการครอบครองที่ดินของผู้ขายให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1401/2553 จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองและมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน เมื่อการซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง เมื่อ จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเป็นการสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา 1377, 1378 แล้ว จึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองแทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่มีปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่ แต่โจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นาย ฉ.และนาง จ. เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่มที่ 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 ตารางวา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย ฉ.และนาง จ. จำนวน 5 ไร่ ราคา 700,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 4 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินรวม 330,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 5 ต่อมาในปี 2538 นาย ฉ.ถึงแก่กรรม นาง จ.ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ทั้งสองใหม่ในราคา 1,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 6 ต่อมาโจทก์ได้ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่นาง จ.ครบถ้วนแล้ว และนาง จ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2539 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ. 7 และโจทก์ทั้งสองให้นาง ส.และนาย ภ. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแทน โดยนาย ส. และนาย ภ. ปลูกพริก ข้าวโพดและอ้อยในที่ดินพิพาท แต่นาง จ. ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อปี 2541 นาง จ. ถึงแก่กรรม
          ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อนาง จ. ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองในวันที่ 12 ตุลาคม 2539 และได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน ซึ่งนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว เมื่อการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนาง จ. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ นาง จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง การซื้อขายเมื่อได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองไปแล้วก็ฟังได้ว่า นาง จ. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว การได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขายซึ่งตกเป็นโมฆะดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาง จ.ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองเนื้อที่ 5 ไร่ แทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกอันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่อีกต่อไป แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
          พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 7 หน้า 128 สารบบเลขที่ 115 หมู่ที่ 7 ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนที่นาง จ. สละการครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 5 ไร่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

          เพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9696/2552  การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 โจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจะต้องถูกรบกวนโดยการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากฝ่ายจำเลย การที่ฝ่ายจำเลยเพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่โจทก์จะต้องฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดิน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่านาง ล. เป็นมารดาของนาย ฟ. และนาย ง. โจทก์เป็นบุตรของนาย ฟ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของนาย ง. ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นบุตรของนาย ฟ. และเป็นบุตรบุญธรรมของนาย ง. เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามใบแจ้งครอบครองเลขที่ 99 หมู่ที่ 3 ตำบลตะพง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามเอกสารหมาย จ.4 มีชื่อนาง ล. เป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2520 นาง ล. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย ง. ต่อมาปี 2538 นาย ง. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 7 ไปดำเนินการขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 7 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ก็ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาล่วงเลยเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 
          คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการแรกว่า นาง ล. ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ให้แก่นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่... ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นาง ล. ยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.4 ให้แก่นาย ฟ. และนาย ง. คนละครึ่ง โดยนาย ฟ. ได้ที่ดินทางด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ตามสำเนาโฉนดที่ดินส่วนที่ระบายไว้ด้วยสีเหลืองเอกสารหมาย จ.7 ส่วนนาย ง. ได้ทางด้านทิศตะวันตกตามสำเนาโฉนดที่ดินส่วนที่ไม่ได้ระบายสีเอกสารหมาย จ.7 หลังจากได้รับการยกให้นาย ฟ.เข้าทำประโยชน์โดยทำสวนยางพารา ต่อมาปี 2523 นาย ฟ.ยกที่ดินพิพาทโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ทำสวนยางพารา โดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมาถึงปัจจุบัน การให้ที่ดินพิพาทระหว่างนาง ล. กับนาย ฟ.บิดาโจทก์ แม้ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน เจ้าของที่ดินจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนาง ล.ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ฟ.บิดาโจทก์ถือว่านาง ล.ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ฟ.บิดาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยนาย ฟ.บิดาโจทก์ยกให้ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ตั้งแต่ปี 2523 การที่นาย ง. บิดาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 นำที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และ 39 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องและนาย ง. มิได้บอกให้โจทก์ทราบ ถึงกระนั้นโจทก์ก็ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน การที่นาย ง. ไปขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปด้วยนั้น หาเป็นเหตุให้สิทธิครอบครองของโจทก์เหนือที่ดินพิพาทที่มีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์เสียไปไม่ เมื่อในขณะออกโฉนดที่ดินนาย ง. ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการออกโฉนดที่ดินให้นาย ง. โดยไม่ชอบ นาย ง. จึงไม่ได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาท นาย ง. ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทไปทำพินิจกรรมยกให้แก่ทายาทของตน ศาลจึงชอบที่จะสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทในส่วนที่ออกโดยไม่ถูกต้องได้ แม้นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 84453 และ 84454 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 หรือ จ.7 อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่า นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างสามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ตามหน้าที่นำสืบของโจทก์ จึงนำพยานหลักฐานโจทก์มารับฟังให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การขอออกโฉนดที่ดินของนาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นไปโดยชอบ และนาง ล. ยกที่ดินพิพาทให้นาย ง. บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงผู้เดียวนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
          ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในประการต่อมา การที่นาย ง. ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 ถือเป็นการรบกวนสิทธิครอบครอง โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองที่ดินภายใน 1 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเวลาที่ถูกรบกวนนั้น เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 นั้น โจทก์ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจะต้องถูกรบกวนโดยการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากฝ่ายจำเลย การที่นาย ง. เพียงแต่ไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน ส่วนฎีกาประการอื่นของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”




          ถ้าผู้ถูกฟ้องให้การว่าที่เป็นของตนเอง มิได้แย่งการครอบครอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1343 - 1344/2552  เมื่อจำเลยทั้งสองให้การชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองมาแต่ต้นมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโต้แย้งการครอบครองเพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนอกประเด็นมาวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นการไม่ชอบ เพราะการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องเกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ

          จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8107/2544   โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ด. บิดาจำเลย ต่อมาก่อน ด. จะถึงแก่ความตาย ด. ได้ขายให้โจทก์โดยการส่งมอบ โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมา จึงได้สิทธิครอบครอง จำเลยให้การว่า ด. ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อทำกินต่างดอกเบี้ย มิได้ครอบครองเพื่อตน หลังจาก ด. ถึงแก่ความตายโจทก์จำเลยฟ้องร้องกันเป็นคดีอาญาและต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องไปแล้วจำเลยได้กลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เพราะเป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่

          จำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  116/2552  จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินจาก ก. จำเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยตั้งแต่จำเลยได้ซื้อมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือทำประโยชน์ โจทก์ทราบมานานหลายปีแล้วว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามป.พ.พ. มาตรา 1374 มาตรา 1375 และมาตราอื่นๆ ในลักษณะ 3 ครอบครอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
          จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินหรือเป็นเจ้าของที่ดิน มีอาณาเขตทั้งสี่ทิศจดที่ดินอะไรหรือของใคร และไม่ได้บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ทั้งสี่ทิศมีความกว้างยาวเท่าไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 172 นั้น เป็นเรื่องนอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามที่จำเลยได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

          ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7393/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย
          คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจาก พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินเป็นของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 วรรคสอง และมาตรา 1375 วรรคสอง
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นาย ส. กับนาง ฟ. เป็นบุตรของนาง ย. โดยนาง ฟ. เป็นพี่นาย ส.และเป็นพี่มารดาของนาง พ. ส่วนนาย ช. เป็นบุตรของนาย ส. เดิมนาย ช. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ตำบลหวายเหนียว อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 โจทก์กับนาย ช. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นาย ช. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2537 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. ตามคำสั่งศาล จากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวทางทะเบียนมาเป็นชื่อของโจทก์ในฐานะผู้รับมรดก เดิมนาง ฟ.เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 989 ตำบลหวายเหนียว อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 7 นาง ฟ. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2514 จากนั้นได้มีการโอนที่ดินของนาง ฟ.ทางทะเบียนมาเป็นของนาง พ. ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2536 นาง พ. ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามเดิม และวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 นาง พ. ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิในที่ดินประเภทแบ่งแยกในนามเดิม โดยขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 989 ออกเป็นโฉนดที่ดินแปลงใหม่ 2 แปลง แปลงแรกโฉนดเลขที่ 14188 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 7.5 ตารางวา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิประเภทแบ่งแยกในนามเดิมและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 และแผ่นที่ 8 แปลงที่สองโฉนดเลขที่ 14187 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสิทธิประเภทแบ่งแยกในนามเดิมและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 หลังจากแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลงดังกล่าวแล้ว คงเหลือเนื้อที่ตามโฉนดเลขที่ 989 เพียง 1 ไร่ 3 งาน 66.3 ตารางวา ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 นาง พ. นำเนื้อที่ดินที่เหลือตามโฉนดเลขที่ 989 ดังกล่าว รวมกันกับที่ดินที่นาง พ. อ้างว่าเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีหลักฐานเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน ไปขอออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่คือโฉนดเลขที่ 15627 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีและสำเนาบันทึกการสอบสวนการครอบครองที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่เอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 นาง พ. จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 ให้แก่จำเลย ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 สำหรับที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้โจทก์และจำเลยนำชี้รังวัดคือที่ดินในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะตามเส้นแดงเนื้อที่ 3 ไร่ 12.3 ตารางวา โจทก์นำรังวัดอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ส่วนจำเลยนำชี้รังวัดภายในเส้นสีแดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนทางด้านทิศใต้ตามเส้นสีฟ้าประ เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา จำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินตามใบ ภ.บ.ท.5 ที่นาง พ. ขายให้แก่จำเลยพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 และส่วนทางด้านทิศเหนือลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอันเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 14187 เนื้อที่ของโฉนดดังกล่าว เฉพาะเท่าที่อยู่ภายในเส้นสีแดงมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 2.2 ตารางวา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้ภายในเส้นสีฟ้าประเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา ว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าประ เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 10.1 ตารางวา เป็นของโจทก์ ดังนั้น ที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือภายในเส้นสีแดงที่โจทก์นำรังวัดอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าประ ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันสรุปได้ว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 เป็นของนาย ช.สามีโจทก์ เมื่อนาย ช. ถึงแก่ความตายจึงได้รับโอนมาเป็นของโจทก์ โดยที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่หมู่ที่ 2 สาเหตุที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวระบุว่าอยู่หมู่ที่ 4 เนื่องจากระบุผิดพลาดตามที่อยู่เดิมของนาย ช. ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ทำการรังวัดทำแผนที่วิวาทได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบถามจากนาย ว. นาง บ. และนาย จ. ต่างให้ถ้อยคำยืนยันว่าที่ดินที่ทำแผนที่วิวาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 และอยู่หมู่ที่ 2 จริง ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เดิมนาย ช.และโจทก์ไม่ได้เข้าทำประโยชน์เนื่องจากนาย ส.บิดาของนาย ช. ต้องการเก็บกินในที่ดินดังกล่าว โดยให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลและส่งผลประโยชน์ให้แก่นาย ส.ทุกปี ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วน เนื่องจากมีคลองและถนนตัดผ่าน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2543 โจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่นาง พ.และจำเลยคัดค้าน โดยจำเลยคัดค้านว่าที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของจำเลยตามใบ ภ.บ.ท.5 ที่ซื้อมาจากนาง พ. นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาว ภ. บุตรของโจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ แม้โจทก์และนางสาว ภ.จะเบิกความแตกต่างกับคำเบิกความของนาย ส.ในเรื่องผลประโยชน์ที่เก็บจากผู้เช่า ก็เป็นเพียงพลความมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ยังเบิกความได้สอดคล้องต้องกันกับคำให้การตามบันทึกถ้อยคำของนาย ว. อายุ 65 ปี ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ประมาณปี 2512 ถึง 2532 และเคยเป็นกำนันตำบลหวายเหนียวตั้งแต่ประมาณปี 2532 ถึง 2537 นาง บ. อายุ 64 ปี และนาย จ. อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทมาแต่เดิมต่างยืนยันตรงกันว่า ที่ดินที่ทำแผนที่วิวาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์ ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 อีกทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่านาย ว. นาง บ.และนาย จ.มิได้รู้เห็นเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีฟ้าประตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 ของโจทก์ แม้นาย ช.และโจทก์จะไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยตนเอง แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากโจทก์และนางสาว ภ.ว่า นาย ช.และโจทก์ได้ให้นาย ส.เป็นผู้เก็บกินในที่ดินพิพาท และนาย ส.ให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลแทนและส่งผลประโยชน์ให้แก่นาย ส. โดยโจทก์อ้างส่งคำเบิกความของนาย ส.ซึ่งได้เบิกความต่อศาลเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในคดีที่โจทก์ฟ้องนาง พ. เป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นพยาน จึงเชื่อได้ว่านาย ช.และโจทก์ให้นาย ส.เป็นผู้เก็บกินในที่ดินพิพาท และนาย ส.ให้นาง พ.เป็นผู้ดูแลและเก็บผลประโยชน์แทน แม้โจทก์จะไม่ได้นำนาย ส.มาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ด้วย เนื่องจากมีอายุมากและความจำเริ่มบกพร่อง แต่เมื่อรับฟังคำเบิกความของนาย ส.ในคดีที่โจทก์ฟ้องนาง พ.เป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทประกอบคำเบิกความของโจทก์และนางสาว ภ.แล้วมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่านาย ส.และนาง พ. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนาย ช.และโจทก์ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทตามใบ ภ.บ.ท.5 มาพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 14187 จากนาง พ. โดยเสียค่าตอบแทนและจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด จำเลยครอบครองโดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2537 จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และนาง พ.เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว นาง พ.ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านาง พ.ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 และมาตรา 1375 กำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวน หรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากนาง พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”




          แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ที่ดินของรัฐอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374                 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6667/2542  แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ ผู้มีสิทธิก็ย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้งทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริง ดังนั้น การที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า เดิมจำเลยซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทมาจากนาย ก. ไม่ปรากฏนามสกุล ตั้งแต่ปี 2507 แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาในปี 2515 มีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำตะคองขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมดังกล่าว ในปี 2525 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยมอบการครอบครองในที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำตะคองโดยแจ้งว่าได้เข้าถือครองทำกินในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยได้นำไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7
          พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จำเลยก็ไม่อาจโอนการครอบครองหรือสละการครอบครองให้โจทก์ได้ การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยย่อมไม่ได้รับสิทธิใด ๆในที่ดินพิพาทไปด้วย จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง และได้รับอนุญาตให้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามกฎหมายดีกว่าโจทก์ เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินดังกล่าว ราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ผู้มีสิทธิย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้ง ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริงจึงออกหนังสือสำคัญทั้งสองฉบับให้ ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินโดยจัดตั้งเป็นนิคมนั้นน่าจะหมายความว่าที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้กับประชาชนต้องเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีผู้ใดยึดถือครอบครอง แต่หากที่ดินผืนใดที่อยู่ในเขตนิคมมีผู้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์อยู่แล้ว รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจยึดกลับคืนมาจัดสรรให้ราษฎรอื่น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่ให้อำนาจรัฐบาลซึ่งก็คือคณะบุคคลคณะหนึ่งกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6264/2541   แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครอบชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้โอนขายโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท ให้โจทก์ที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตจาก อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ให้ทำกินถึง 3 ปี โจทก์ทั้งสองซึ่งได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริงนับแต่ซื้อตลอดมา ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำละเมิดเป็นเหตุให้ต้นข้าวที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปลูกไว้ในที่ดินพิพาทต้องเสียหายนับได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกรบกวนสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4819/2538  การฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์มิได้ขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน มิใช่เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่จำเลยโดยโจทก์อ้างว่าทำขึ้นโดยไม่สุจริต แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินมาตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 โดยชอบอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดิน ไม่ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 548 ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินเดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายสำหรับที่ดินพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 548 ตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2521 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่พันตำรวจโท ส. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 พันตำรวจโท ส.ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยเสน่หาปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 พิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องและทางนำสืบโจทก์อ้างว่าโจทก์และบิดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2502 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ความว่าโจทก์อาจได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาทโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดินอย่างไร และตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตอลดถึงผู้รับโอนด้วย"บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2497 เมื่อโจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา จึงเป็นการครอบครองภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบและคดีนี้มิใช่เป็นการฟ้องขอห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท อันเป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 แต่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่าทำขึ้นโดยไม่สุจริตเมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไม่ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3372/2538  ที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก.ที่ทางราชการออกให้แก่มารดาโจทก์โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวมารดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและมอบการครอบครองให้แล้ว แต่การซื้อขายมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นที่ดินที่ทางราชการห้ามโอนภายใน 5 ปี การซื้อขายจึงไม่ถูกต้องตามแบบและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้ง ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม ส่วนการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้รับโอนดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของ แม้พ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ยังคงถือว่าการครอบครองไว้แทนตลอดมา จนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 หรือจนกว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตามมาตรา 1377, 1379  การที่โจทก์รื้อบ้านไปในระยะเวลาห้ามโอน ผลก็เท่ากับการสละเจตนาครอบครองเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามโอนตกเป็นโมฆะเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการครอบครองแทนจึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2432/2538  จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเช่าจากโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง
          โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเปลี่ยนเจตนาในการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากจำเลย
          พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองหรืออาศัยอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และมาตรา 12 บัญญัติให้บุคคลผู้อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วัน มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ยันต่อรัฐได้ แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยได้