29 กันยายน 2557

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก คือ กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล แล้วกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษ.............
          มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ต้องระวางโทษ............

          กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแล้วได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก


          ตัวอย่าง

          จำเลยที่ 1 เป็นมารดาและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนาย ท.ผู้ตาย  โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. มีบุตรกับนาย ท. 2 คน ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เดิมมีชื่อนาย ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนาย ท.ถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนาย ท. ในวันเดียวกัน ดังนี้ จึงเกิดการฟ้องร้องกัน ซึ่งโจทก์ในฐานะภริยาของเจ้ามรดก ได้ฟ้องให้ลงโทษ จำเลยที่ 1 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก 
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 (ฐานยักยอกทรัพย์มรดก)
          สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น เป็นน้องสาวของนาย ท. ทราบดีว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. และมีบุตรกับนาย ท. 2 คน หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาเป็นของตน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ย่อมทราบว่าโจทก์และบุตรโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาย ท. ต้องไม่ได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าว ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เสียค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์มรดกพิพาทตามที่อ้าง ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่  1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนจีนอายุมาก พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ ทั้งยังป่วยเป็นโรคพาร์คินสันซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเชื่อว่าการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทน่าจะมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการมากกว่า ......... ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 สมคบกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนาย ท. พี่ชาย มาเป็นของตนโดยทุจริต แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลเหมือนเช่นจำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก และโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงคงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
          สรุปว่า กรณีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น(ผู้เสียหาย) ก็จะต้องรับผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก ส่วนบุคคลอื่นที่ให้ความร่วมมือก็ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเท่านั้น เพราะบุคคลอื่นไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล




25 กันยายน 2557

คำมั่นจะให้เช่าไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ตกติดไปกับผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า

          ป.พ.พ.มาตรา 569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
          ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

          ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 569 ว่าแม้โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์(บ้าน อาคาร หรือที่ดิน)ที่ให้เช่าไป สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ยังไม่ระงับ คือ สัญญาเช่ามีอยู่อย่างไรก็ยังคงบังคับกันไปโดยผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งผู้โอนมีต่อผู้เช่านั้นต่อไป แต่จะมีปัญหาในบางกรณีที่มีข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการต่อสัญญาเช่า ว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงนั้นด้วยหรือไม่


          ตัวอย่าง

          นายแดงทำสัญญาให้นายดำเช่าบ้านมีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือน และให้คำมั่นไว้ด้วยว่าจะให้เช่าต่อไปอีก 3 ปี หากผู้เช่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไป จากนั้นเมื่อให้เช่าไปแล้ว 2 ปี นายแดงเอาบ้านที่ให้เช่าไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายเขียว มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี แล้วแจ้งให้นายดำซึ่งเป็นผู้เช่าทราบ ต่อมาเมื่อก่อนจะครบสัญญาเช่า 3 ปี นายดำได้ไปแสดงเจตนาต่อนายเขียวว่าจะเช่าอยู่ต่อไปอีก 3 ปี นายเขียวทราบเรื่องแล้วไม่ว่าอะไร คงเก็บค่าเช่าเรื่อยมา จากนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า 3 ปีแล้วผ่านไปอีก 5 เดือน นายแดงได้ไปไถ่ถอนบ้านที่ขายฝากคืนจากนายเขียว จากนั้นนายแดงก็ฟ้องขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่าของตน เรื่องไปจบที่ศาล
          ศาลพิพากษาให้ขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่า โดยให้เหตุผลว่า สัญญาเช่าบ้าน 3 ปี ระหว่างนายแดงและนายดำมีอยู่ก่อนการขายฝาก จึงต้องตกติดไปยังนายเขียวผู้รับซื้อฝากตาม ป.พ.พ.มาตรา 569 แต่คำมั่นที่จะให้เช่าไม่ตกติดไปด้วยเพราะไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า คงตกติดไปเฉพาะ "สัญญาเช่า" เท่านั้น ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายดำต่อนายเขียวซึ่งแม้จะทำตามคำมั่นก็ไม่เกิดสัญญาเช่าขึ้น แต่การอยู่ต่อมาของนายดำผู้เช่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญา 3 ปีแล้ว โดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ทำให้เป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 570  การที่นายแดงไถ่ถอนการขายฝากเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าไปได้ 5 เดือนนั้น แม้นายดำจะต้องการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นในตอนนี้ก็ไม่ได้ เพราะการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นจะให้เช่าจะต้องกระทำภายในสัญญาเช่า คือ 3 ปี ส่วนระยะเวลา 5 เดือนก่อนมีการไถ่ถอนการขายฝากนั้นถือว่า เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาระหว่างนายเขียวกับนายดำ เมื่อนายแดงไถ่ถอนการขายฝาก ตามมาตรา 502 วรรคหนึ่ง ทรัพย์ที่ไถ่ถอนย่อมปลอดจากสิทธิใดๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการขายฝาก การเช่าจึงไม่ติดมาในตอนที่นายแดงไถ่ถอน นายแดงจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่นายดำได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า ตามมาตรา 566
          สรุปว่า คำมั่นจะให้เช่่าที่เป็นข้อตกลงในสัญญาเช่า ไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า ผู้รับโอนทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่ผูกพันตามคำมั่นนั้น




24 กันยายน 2557

กรณีกรรมการบริษัทได้กระทำการใดให้บริษัทเสียหาย บริษัทสามารถฟ้องกรรมการผู้นั้นได้ แต่ถ้าบริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนใดจะฟ้องคดีเองก็ได้

          กรณีที่กรรมการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
          ป.พ.พ.มาตรา 1169  "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
          อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้บริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่"

          กรณีกรรมการบริษัทไปทำนิติกรรมสัญญาใดๆที่ทำให้บริษัทต้องเสียเปรียบหรือได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้นของบริษัทหามีอำนาจไปฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นแต่อย่างใดไม่ คงมีสิทธิเพียงให้บริษัทฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการคนนั้น หรือหากบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นดังกล่าวก็ฟ้องเองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1169

          ตัวอย่าง เช่น
          นาย ป.เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1  ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยนาย ช. และนาย ว. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินจำนวน 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 54,000,000 บาทโดยมิได้รับความยินยอมจากนาย ป. และผู้ถือหุ้นคนอื่น โดยในการขายที่ดินดังกล่าวมิได้จ่ายเงินกันจริง วันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 29,000,000 บาท โดยกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องดังกล่าวดี นาย ป. เมืื่อทราบเรื่องดังกล่าวจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเสีย
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นการจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1  นาย ป.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น หาอาจก้าวล่วงไปจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เสียเองไม่ และแม้ตัว นาย ป.(โจทก์)เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยอีกคนหนึ่ง แต่ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้อง ลำพังนาย ป.(โจทก์) คนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นกัน นาย ป.(โจทก์) จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจำนอง  
          แต่ นาย ป (โจทก์) และผู้ถือหุ้นคนอื่นสามารถใช้มติที่ประชุมใหญ่ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ แล้วให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการฟ้องแทนบริษัทจำเลยที่ 1 หรือหากนาย ป. (โจทก์) และผู้ถือหุ้นรายอื่นเสียหายก็สามารถเรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ โดยหากบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้อง นาย ป.(โจทก์) ในฐานะผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ก็ได้ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2541)
          
          ดังนั้น ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่ไม่มีอำนาจ ไม่สามารถเข้าไปจัดการงานของบริษัทโดยตนเองได้ ต้องให้กรรมการของบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นคนจัดการ หากผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจทำให้บริษัทเสียหาย ผู้ถือหุ้นต้องเรียกร้องให้บริษัทเป็นคนฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการเท่านั้น ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นก็ไปฟ้องเอง ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561 ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท
          โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1169 บัญญัติว่า "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ ..." ตามบทบัญญัติดังกล่าว บริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องได้ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างบริษัท ส. กับจำเลย หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้จำเลยเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นกรรมการบริษัทจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว

          การฟ้องหรือดำเนินคดีของผู้ถือหุ้นเป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ หากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2565
การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัท ส. ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี

23 กันยายน 2557

หุ้นส่วนบริษัท กรรมการบริษัทมีอำนาจจัดการตามข้อบังคับบริษัทและมีผลผูกพันบริษัท

          วิธีจัดการบริษัท    
          ป.พ.พ. มาตรา 1144 บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง 

          การจัดการกิจการของบริษัทโดยกรรมการนั้น หากได้กระทำไปภายในกรอบข้อบังคับของบริษัท ย่อมมีผลผูกพันบริษัทให้ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก แม้กรรมการจะไม่ได้กระทำตามระเบียบขั้นตอนภายในของบริษัทนั้นก็ตาม
    
          ตัวอย่าง    
          จำเลยที่ 1 ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน อันเป็นการกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ตรงตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองบริษัท ทั้งในหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ก็มิได้มีข้อความจำกัดอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจไว้ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 4 พร้อมประทับตราบริษัทจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 4 ส่งวนการที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 4 ก็เป็นเรื่องระเบียบข้อบังคับภายในของบริษัทจำเลยที่ 4 ไม่มีผลทำให้อำนาจของกรรมการในการกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ตามที่จดทะเบียนไว้แก่นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อธนาคารโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2544
          สรุปว่า เมื่อกรรมการบริษัทได้กระทำไปภายในอำนาจตามกรอบข้อบังคับของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ย่อมมีผลผูกพันบริษัทให้ต้องรับผิดชอบ ส่วนเรื่องระเบียบภายในของบริษัทนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันเองภายในบริษัท ไม่สามารถยกเอาระเบียบภายในของบริษัทนั้นมาบอกปัดความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้

ละเมิด ห้างสรรพสินค้าซึ่งจัดให้มีที่จอดรถแก่ลูกค้า ต้องรับผิดชอบหากรถของลูกค้าสูญหาย

          ป.พ.พ. มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

          ห้างสรรพสินค้าโดยทั่วๆไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถให้แก่ลูกค้าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า ซึ่งในการจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าว ทางห้างจะจัดให้มีการอำนวยความสะดวกโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาคอยดูแล รวมทั้งมีการแลกบัตรเข้าออกสถานที่จอดรถ และมักจะมีปัญหาเมื่อเกิดรถสูญหาย ทางห้างมักจะอ้างว่า การจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าว ทางห้างไม่รับผิดชอบหากรถสูญหาย แต่ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในกรณีนี้ไว้ ว่าห้างต้องรับผิดชอบ จะปัดความรับผิดไม่ได้

          ตัวอย่าง
          ห้างสรรพสินค้า บ. เป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ได้จัดให้มีที่จอดรถแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยมีการแจกบัตรให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาจอดรถ เมื่อจะนำรถออกจากสถานที่จอดรถก็จะมีการตรวจสอบบัตรผ่านจากพนักงานของห้าง หากไม่มีบัตรผ่านก็นำรถออกไปไม่ได้ ต่อมาเปลี่ยนไปใช้วิธีติดกล้องวงจรปิดแทน แล้วปรากฏว่ารถลูกค้าสูญหาย ห้างฯจึงปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบหากรถสูญหายแล้ว ลูกค้าจะมาเรียกร้องให้ห้างรับผิดชอบไม่ได้ เรื่องนี้มีการฟ้องร้องต่อสู้คดีกัน สุดท้ายไปจบที่ศาลฎีกา 
          โดยศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นๆหรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่นำเข้ามาในห้าง ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีดังกล่าวเสีย โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯของจำเลย และโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556)
          สรุปได้ว่า แม้ห้างฯจะอ้างว่าปิดประกาศไว้แล้วว่าไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆก็ตาม แต่ศาลก็ยังต้องให้ห้างฯรับผิดชอบ สาเหตุก็เพราะ ห้างฯต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน  มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง