17 พฤษภาคม 2557

ฟ้องซ้ำ ป.วิ.อ.มาตรา 39(4)

           หลักกฎหมายเรื่อง ฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(4) มีแนวคิดมาจากการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีว่า "ไม่ควรถูกดำเนินคดีซ้ำสองครั้ง จากการกระทำเดียว"    
     
หลักเกณฑ์ *** คือ เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ

1. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  หมายถึง  คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดเหมือนฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง (ป.วิ.พ.มาตรา 148)  ดังนั้น คดีอาญาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าคดีนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว  แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกาก็ตาม  (ฎ.3488/29, 3116/25)  คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดนี้อาจเป็นคำพิพากษาของศาลทหารก็ได้  (ฎ. 937/87, 764/05)

2. จำเลยในคดีก่อนและคดีหลัง ต้องเป็นคนเดียวกัน
ในความผิดอาญาเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์จะไม่ใช่คนเดียวกัน  เช่น ผู้เสียหายและอัยการต่างฟ้องจำเลยต่อศาล หากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีหนึ่งคดีใดแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องอีกคดีหนึ่งย่อมระงับไป แม้จะฟ้องคดีไว้ก่อนก็ตาม  (ฎ. 1037/01, 1438/27)  หรือจำเลยหลายคนถูกพนักงานอัยการฟ้องจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป จำเลยคนใดคนหนึ่งในคดีนั้นจะไปฟ้องจำเลยด้วยกันในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นกัน (ฎ. 738/93, 999/12)

3. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง
จำเลยต้องถูกดำเนินคดีในคดีก่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการสมยอมกัน โดยคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา  39 (4) นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง    ดังนี้หากคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องคดีกันอย่างสมยอม เพื่อหวัง ผลมิให้มีการฟ้องร้องแก่จำเลยได้อีก ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับ  (ฏ. 6446/47, 9334/38)
** คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง จะต้องเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความผิดของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดด้วย  จึงจะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว  เช่น ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจะเลยกระทำผิดตามฟ้อง   หรือ ศาลยกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบมีผลเท่ากับโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้  ดังนี้ฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ. 1382/92)
แม้จะเป็นการพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง หากมีการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งการกระทำของจำเลยแล้วว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด  ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว  ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 2757/44)
ศาลยกฟ้องเพราะขาดองค์ประกอบความผิด เท่ากับฟังว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด แม้จะเป็นคำวินิจฉัยในชั้นตรวจคำฟ้อง  ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว(ฎ. 6770/46)
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเพราะฟ้องมิได้กล่าวถึง เวลา สถานที่ ซึ่งจำเลยกระทำผิด  เท่ากับฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดในเวลาใด สถานที่ใด  เป็นการวินิจฉัยความผิดของจำเลยแล้ว  ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 687/02 ป. , 776/90 ป.)    การที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องไม่ระบุเวลากระทำผิด ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แต่ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องบรรยาย เวลาที่เกิดการกระทำ ผิดในอนาคต ซึ่งเป็นฟ้องเคลือบคลุม  ถือว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยความผิดที่ได้ฟ้อง  ฟ้องใหม่ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  39(4) (ฎ. 1590/24)
ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม  เช่น  การบรรยายเวลากระทำความผิดในอนาคต หรือการบรรยายฟ้องขัดกัน ถือว่ายังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  จึงฟ้องใหม่ได้  (ฎ. 2331/14)
กรณีโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามมาตรา  166  ศาลจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา  132, 174 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา  15   ย่อมไม่ถูกต้อง  ควรพิพากษายกฟ้อง  แต่อย่างไรก็ตามถ้าศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ดังนี้ ฟ้องใหม่ได้  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 162-3/16)
ศาลยกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล(ฎ. 3981/35)  หรือศาลยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 2294/17) ไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย  ถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง   จึงฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคำฟ้องไม่ได้ลงชื่อโจทก์ หรือผู้เรียง  ดังนี้ย่อมไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 3096/24, 5834/30)
ข้อสังเกต 
1)  แม้การที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่ายังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้ำก็ตาม  แต่ระหว่างที่คดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องใหม่ ย่อมเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา  173 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา  15  (ฎ. 1012/27)  
2)  ฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา  173(1)  โจทก์ต้องเป็นคนเดียวกัน แต่หากคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง คดีหลังพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง   กรณีดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นคนละคนกัน  ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามมาตรา 173(1)  ดังนั้นถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสองคดี  ถือว่าโจทก์เป็นคนเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน

4. ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง     
ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นๆ  ไม่ได้หมายถึงฐานความผิด  ดังนั้น การกระทำความผิดในคราวเดียวกัน หรือการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว  โจทก์จะฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ แม้จะขอให้ลงโทษคนละฐานความผิดก็ตาม (ฎ. 4656/12)
การกระทำกรรมเดียวกันมีผู้เสียหายหลายคน  เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องคดีจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ผู้เสียหายคนอื่นก็จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เช่น  รับของโจรไว้หลายรายการในคราวเดียวกัน แม้จะเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายต่างรายกัน  ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว  โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานรับของโจรทรัพย์รายการอื่นอีกไม่ได้ (ฎ. 7296/44ล 4747/33,)  หรือหมิ่นประมาทบุคคลหลายคนในคราวเดียวกัน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีจนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา  39(4)  ผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ (ฎ. 1853/30)   แต่ถ้าผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องจำเลยและได้ถอนฟ้องแล้ว   ผู้เสียหายคนอื่นก็ยังฟ้องคดีได้อีก (ฎ. 5934/33)
  ข้อสังเกต  ดังนั้น จึงได้หลักว่าการกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จะนำการกระทำเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม   ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่ากรณีใดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรม  เช่น
    -  จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนในคราวเดียวกัน  เช่นทรัพย์อยู่ในฟ้องเดียวกัน จึงลักเอาไปพร้อมกัน เป็นกรรมเดียวกัน (ฎ. 6705/46, 1104/04) แต่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายทีละคนแม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 1281/46) 
    -  การที่จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายหลายคนติดต่อกัน ถือว่าเป็นต่างกรรม  (ฎ. 1520/06)  แต่การทำร้ายโดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร  เป็นเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียว (ฎ. 2879/46)  เช่นวางระเบิดครั้งเดียว มีคนเจ็บหลายคน 
    - กระทำชำเราหญิงในแต่ละครั้งใหม่  เนื่องจากต้องปกปิดมิให้ผู้อื่นรู้  ไม่ต่อเนื่องกัน แยกต่างหากจากกันได้ เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 4232/47)
     - บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายหลายคน (โดยเขตที่ดินอยู่ติดกัน)  เป็นการกระทำผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 2725/35)
     -   คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้เสียหายถึงความตาย  ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ ตามมาตรา  39(4)  เพราะทั้งสองคดีเกิดจากการกระทำอันเดียวกันของจำเลย (ฎ. 3116/25, 1124/96 ป.)
   -  จำเลยบุกรุกอสังหาริมทรัพย์เพื่อเข้าไปกระทำความผิดอาญาข้อหาอื่น เช่นบุกรุกเพื่อเข้าไปลักทรัพย์    เป็นความผิดกรรมเดียวกัน  เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยบางข้อหาจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้น  โจทก์จะนำข้อหาอื่นมาฟ้องอีกไม่ได้ (ฎ. 1193/29, 1949/47)
   -  ความผิดฐานมีอาวุธปืนกระบอกเดียวกันไว้ในความครอบครองฯ ครั้งก่อนและครั้งหลังต่อเนื่องกัน เป็นกรรมเดียว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษการกระทำครั้งหลังไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำการกระทำครั้งแรกมาฟ้องอีก (ฎ. 2083/39)   เพราะตราบใดที่ยังคงครอบครองอาวุธปืนกระบอกเดียวกัน และเครื่องกระสุนปืนรายเดียวกัน ก็เป็นกรรมเดียวกัน  แต่ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านฯ  ตาม ป.อ. มาตรา  371   ในแต่ละครั้งเป็นความผิดต่างกรรมกัน 
    - จำเลยลักเอาเช็คหรือรับของโจรแล้วนำไปปลอม เพื่อเบิกถอนเงินจากธนาคารเป็นเจตนาเดียวกัน  เพื่อให้ได้เงินไปจากธนาคาร  จึงถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท   เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์ รับของโจร และฐาน เอาเอกสารของผู้อื่นไป  และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา  39(4)
    -  จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็เพื่อใช้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วม เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  เมื่อโจทก์ฟ้องข้อหายักยอกจนศาลพิพากษาไปแล้ว จะมาฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับไปแล้ว   (ฎ. 3238/36)
- ทำความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วผู้ทำนำเอกสารนั้นไปใช้   กฎหมายให้ลงโทษข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้นอย่างเดียว  ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องข้อหาปลอมเอกสาร ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็ต้องถือว่าความผิดในข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอม คดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วด้วย ฟ้องใหม่ในข้อหานี้อีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 11326/09 ป.)
- ในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง เมื่อมีการฟ้องเฉพาะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  จะฟ้องการกระทำอื่นที่รวมอยู่ด้วยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 424/20)
- เบิกความเท็จหลายตอนในคราวเดียวกันเป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 908/96)
- ความผิดฐานลักปืนของผู้เสียหายกับความผิดฐานมีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 888/07 ป.)  
- ในความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ถ้าความผิดบทหนึ่งเสร็จไปเพราะศาลชั้นต้น จำหน่ายคดี  เนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์   ถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  จึงไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดอื่นที่เป็นกรรมเดียวกันนั้น ระงับไปด้วย (ฎ. 7320/43)