26 ตุลาคม 2557

กฎหมายว่าด้วยลักษณะบุคคล

          บุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
          บุคคลแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
          1. บุคคลธรรมดา
          2. นิติบุคคล

          บุคคลธรรมดา

          สภาพบุคคล
          สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย (มาตรา 15 วรรคหนึ่ง)
          การเริ่มสภาพบุคคล 
          ต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
          1. จะต้องคลอดออกมาแล้ว และ
          2. เมื่อขณะที่คลอดออกมานั้นจะต้องมีชีวิต คือ อยู่รอดเป็นทารก
          การคลอดแล้วมีชีวิตรอดเป็นทารกนั้น แม้มีชีวิตอยู่สักวินาทีก็ถือว่าเป็นบุคคลแล้ว ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าในขณะคลอดออกมาไม่มีชีวิตแล้ว ก็ถือว่าไมมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย เมื่อไม่มีสภาพบุคคลแล้ว ก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแต่ประการใด 
          อย่างไรก็ตามกฎหมายได้ยอมรับสิทธิของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยในมาตรา 15 วรรคสอง "ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก" เช่น กรณีบิดาตายในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ทารกนั้นย่อมมีสิทธิในมรดกของบิดา หากภายหลังนั้นทารกได้คลอดออกมาแล้วมีชีวิตรอดเป็นทารก สิทธิในการรับมรดกนี้ย่อมย้อนไปถึงเวลาที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา
          การสิ้นสภาพบุคคล
          สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดา ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งการตายนี้ เป็นการตายตามปกติธรรมดา และรวมถึงการถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมายด้วย เช่น กรณีผู้ใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็เท่ากับว่าถึงแก่ความตาย
          หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญ
          1. กรณีธรรมดา คือ ถ้าผู้ใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตลอดระยะเวลา 5 ปี
          2. กรณีพิเศษ คือ ระยะเวลาตาม 1. ให้ลดลงเหลือ 2 ปี
               (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
               (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
               (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
          ซึ่งเมื่อมีกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ ร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ (มาตรา 61)
          ผลเมื่อศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ คือ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 (มาตรา 62) คือ เมื่อครบห้าปี กรณีธรรมดา และครบสองปี ในกรณีพิเศษ
          ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5513/2552)

          ความสามารถของบุคคล
          เมื่อบุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีความสามารถเต็มที่จะทำนิติกรรมใดๆได้โดยลำพังตนเอง ซึ่งการที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะได้นั้น แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
          (1) บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ (มาตรา 19 )
          (2) ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 (มาตรา 20) คือ การสมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ หรือกรณีที่ศาลอนุญาตให้ทำการสมรส

          บุคคลที่หย่อนความสามารถ ได้แก่
          (1) ผู้เยาว์ จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้น จะเป็นโมฆียะ (มาตรา 21) เว้นแต่ กรณีนิติกรรมบางอย่างที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยลำพัง เช่น ผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์ (มาตรา 25) เป็นต้น
          (2) บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถกระทำการใดๆได้เลย ถ้าทำลงไปก็เป็นโมฆียะ (มาตรา 29)
          (3) บุคคลวิกลจริต การใดๆที่บุคคลวิกลจริตทำลงนั้นจะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ ได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำวิกลจริต (มาตรา 30)
          (4) บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ปกติแล้วก็ยังสามารถกระทำการต่างๆได้โดยตนเอง เว้นแต่ กรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 จะกระทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน หากฝ่าฝืนการนั้นๆก็ตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 34)