ฟ้องซ้อน

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 173   "เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น
          นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้
          (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ
          (2)  .........."

          ฟ้องซ้อนเป็นข้อจำกัดสิทธิฟ้องคดีของโจทก์ประเภทหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีไปแล้วและคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ห้ามมิให้โจทก์นำเรื่องเดียวกันนั้นมายื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลอีก



          หลักเกณฑ์เรื่องฟ้องซ้อน มีดังนี้

          1. คู่ความในเรื่องฟ้องซ้อนนั้น คดีแรกกับคดีหลังโจทก์และจำเลยต้องเป็นคนเดียวกัน คือ คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องตรงกันทั้งสองฐานะ ถ้าเป็นโจทก์ในคดีแรกแล้วมาเป็นจำเลยในคดีหลัง อย่างนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน แต่อาจเป็นเรื่องอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2595/2534  คำว่าโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ซึ่งจะเป็นฟ้องซ้อนนั้น โจทก์ในคดีแรกต้องเป็นโจทก์ในคดีหลังด้วย เมื่อโจทก์ในคดีนี้ของศาลแพ่งไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีก่อนของศาลจังหวัดชลบุรี ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2579/2525  การที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีก่อนแล้วขาดนัดยื่นคำให้การ และคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้น หาได้มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ เพราะไม่ใช่เป็นกรณีฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) เนื่องจากโจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นโจทก์ในคดีก่อน และมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 เพราะคดีก่อนยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9160/2539  โจทก์ได้จดทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน ซึ่งการแปรสภาพเพียงทำให้โจทก์หมดสภาพการเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่สถานะนิติบุคคลของโจทก์มิได้สิ้นไป บริษัทมหาชนของโจทก์จึงรับไปซึ่งสิทธิในการดำเนินคดีต่อจากเดิมได้ ต้องถือว่าโจทก์ในคดีก่อนและในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 641/2538  คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์เข้าไปก่อสร้างอาคารเพื่อรับเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้เช่าอาคาร ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการเช่ากับผู้จองเช่าอาคาร ส่วนคดีซึ่งจำเลยอ้างนั้น โจทก์รับมอบอำนาจจากผู้จองเช่าอาคารฟ้องจำเลย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการเช่า โจทก์คดีนี้กับคดีที่ผู้จองเช่าอาคารเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น ต่างกันด้วยฐานะบุคคลและฐานะสิทธิก็แยกแตกต่างกัน จึงมิใช่โจทก์เดียวกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) ส่วนคำขอบังคับท้ายฟ้องแม้จะเหมือนกัน แต่ในชั้นบังคับคดีย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งไม่อาจบังคับซ้ำซ้อนกันอยู่แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6920/2537  คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 302/2530 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีที่ ส.ในฐานะส่วนตัวเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย มิใช่คดีที่ ส.ฟ้องจำเลยในฐานะที่ ส.เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เช่นในคดีนี้ โจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่โจทก์คนเดียวกันกับโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 302/2530 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2516  เดิม จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องบิดาโจทก์เป็นจำเลย อ้างว่าบิดาโจทก์อาศัยปลูกเรือนและรั้วในที่ดินของจำเลย ขอให้บิดาโจทก์รื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป บิดาโจทก์ต่อสู้ว่าปลูกสร้างในที่ดินของตนเอง ศาลล่างพิพากษาให้บิดาโจทก์แพ้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนหนึ่งของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ประเด็นในคดีก่อนมีว่าสิ่งปลูกสร้างของบิดาโจทก์อยู่ในที่ดินของจำเลยหรือไม่ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์ครอบครองที่ดินของจำเลยโดยปรปักษ์หรือไม่อันเป็นประเด็นคนละอย่างต่างกัน ทั้งโจทก์ในคดีนี้ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แม้โจทก์คนหนึ่งในคดีนี้จะเข้าแทนที่บิดาโจทก์ผู้มรณะในคดีก่อนนั้น ก็ไม่มีผลให้โจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย

          2. เนื่อหาที่ห้ามฟ้องซ้อน ห้ามโจทก์เฉพาะเรื่องเดียวกันกับที่ฟ้องไว้แล้ว ถ้าเป็นเรื่องอื่นไม่ห้าม เรื่องเดียวกันนั้นพิจารณาจากคำฟ้องมีลักษณะแห่งข้อหาของคดีคือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเหมือนกันหรือไม่ หากเหมือนกันก็เป็นเรื่องเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2550  ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยตามคำฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดในคดีก่อนที่ให้โจทก์และจำเลยมีสิทธิในที่ดินคนละครึ่งของจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดทั้งแปลง ส่วนจะเป็นทางทิศใดจะไปตกลงกันในภายหลัง ทั้งคำขอบังคับในคดีนี้ก็ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในที่ดินส่วนที่แบ่งแยกเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว แตกต่างกับคำขอบังคับในคดีก่อนที่ขอให้บังคับจำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดิน คำฟ้องของโจทก์คดีนี้กับคดีก่อนมิใช่เรื่องเดียวกันและเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968-1969/2529  โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวกันโดยยังมิได้แบ่งแยกเป็นหลายโฉนดเพราะอยู่ในระหว่างการรังวัดแบ่งแยกของเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 2 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าที่พิพาทและบ้านของจำเลยส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงฟ้องจำเลยหลังจากได้รับโฉนดที่ดินมาแล้วและปรากฏว่าที่พิพาทบางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ 1 บางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองต่างมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ฟ้องของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
          กรณีเจ้าของรวม ทรัพย์อันหนึ่งมีเจ้าของรวมหลายๆคนยังไม่แบ่งแยกกันเป็นสัดส่วนทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของครอบไปทั้งหมดในทรัพย์สินนั้น การจัดการทรัพย์สินซึ่งมีกรรมสิทธิ์รวมนั้นกฎหมายบัญญัติให้เจ้าของรวมใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ดังนั้น ถ้าเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมไปแล้ว กฎหมายถือว่าเป็นการทำแทนเจ้าของรวมคนอื่นไปด้วย เจ้าของรวมคนอื่นจึงจะเอาเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 966/2518  โจทก์กับ ส.ท.ภ. และ ล. มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน จำเลยเช่าที่ดินดังกล่าวจาก ส. ครบกำหนดแล้ว ส.ฟ้องขับไล่จำเลย ดังนี้ เป็นเรื่องที่ ส.เจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1356, 1359 ประกอบด้วยมาตรา 302 กล่าวคือเจ้าของรวมแต่ละคนมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์คืนโดยไม่จำต้องไห้เจ้าของรวมทุกคนร่วมกันฟ้อง และจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมหมดทุกคน จึงเท่ากับเป็นการฟ้องคดีแทน เมื่อ ส.ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าแล้ว และคดีอยู่ระหว่างพิจารณา โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินเช่นเดียวกับคดีที่ ส.ฟ้องนั้นอีก จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2524  จำเลยที่ 1 เคยฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายโดยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางเดินทางเดียวกันกับคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็นำเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องแย้งในคดีนี้อีก แม้คดีก่อนจำเลยที่ 2 จะมิได้ร่วมเป็นโจทก์ด้วย แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในฐานะที่จะได้รับประโยชน์หรือโทษจากผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และการที่ฟ้องแย้งมีคำขอบังคับให้จดทะเบียนทางเดินเป็นทางการจำยอมอันเป็นคำขอให้บังคับเพิ่มเติมจากคดีก่อน ประเด็นที่พิพาทกันในคดีก่อนกับที่จำเลยฟ้องแย้งก็คงมีอยู่อย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2553  ด. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมยื่นคำคัดค้านในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญขอให้มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดกเป็นการใช้สิทธิ์อันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 ผลแห่งคดีตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวซึ่งศาลจังหวัดอำนาจเจริญมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมต้องผูกพันถึงโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของรวมการที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับพวกหรือของจำเลยย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
          ด. ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของกองมรดก เป็นการที่ ด. ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกย่อมมีอำนาจทำได้โดยลำพัง การที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของรวมฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยอาศัยข้ออ้างที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดกจึงเป็นเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)



          สำหรับผู้จัดการมรดกมีฐานะเป็นตัวแทนตามกฎหมายของทายาท เมื่อผู้จัดการมรดกฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไว้แล้ว ทายาทจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2523  คดีแรก อ.อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกของฉ. ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่เช่าซึ่งเป็นที่ดินมรดกศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่เชื่อว่าพินัยกรรมที่ อ.อ้างเป็นพินัยกรรมที่ฉ.ทำขึ้นอ. จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขณะคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ฉ. มาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทอีก ที่ อ. ฟ้องคดีแรกนั้นถือได้ว่ากระทำไปในฐานะตัวแทนของทายาทของ ฉ. หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นตัวแทนของโจทก์นั่นเอง เพราะฉะนั้นฟ้องสองคดีนี้จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่ต้องห้ามไปได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2524  ผู้จัดการมรดกในฐานะตัวแทนของทายาทรวมทั้งโจทก์ในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่พิพาท  คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  โจทก์ในคดีนี้มาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่พิพาทเดียวกันอีก  ฟ้องทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เพราะสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
          แต่ถ้าทายาทฟ้องเองโดยไม่ได้ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ทายาทอื่นย่อมนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องอีกได้ ไม่ถือว่าเป็นโจทก์เดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2533  ท. ทายาทของเจ้ามรดกคนหนึ่งเคยฟ้องจำเลยขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทอีกคนหนึ่งมาฟ้องคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับเดียวกันนั้นเป็นโมฆะอีกเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ท. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอันจะถือว่ากระทำในฐานะตัวแทนทายาททั้งหมดรวมทั้งโจทก์ด้วยแล้วโจทก์ย่อมไม่ใช่โจทก์คนเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
          กรณีร้องสอดตามมาตรา 57 (1) ไว้ก่อน แล้วนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องอีก เป็นฟ้องซ้อน แต่ถ้าการร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามมาตรา 57 (3) เพราะถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี ไม่ใช่เรื่องบุคคลภายนอกเข้ามาโดยสมัครใจ กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1935/2540  การที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อนก็เพราะจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อจำเลย เป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะมีความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ทั้งถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอเข้าไปในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และคดีก่อนโจทก์ไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกสามารถและพิสูจน์ในชั้นบังคับคดีได้ว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันโจทก์ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 (2) โดยไม่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่
          คำร้องขอของโจทก์ในคดีก่อนเป็นคำฟ้อง และแม้ในคดีก่อนศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์ก็ยังฎีกาคัดค้านต่อศาลฎีกาคดีก่อนจึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งคดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทจำเลยเป็นบริวารของผู้เช่า ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีก่อนว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2519  คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ให้แบ่งมรดก คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ก็ด้วยการที่ศาลชั้นต้นเรียกให้เข้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)
          กรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 กำหนดให้พนักงานอัยการมีคำขอในทางแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยคืนแก่ผู้เสียหาย คำขอส่วนแพ่งนี้เป็นการขอแทนผู้เสียหาย ดังนั้น ผู้เสียหายจะนำมาฟ้องคดีแพ่งขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวของจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน ส่วนการเรียกดอกเบี้ยนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่พนักงานอัยการไว้ สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายในส่วนนี้จึงยังมิได้มีการใช้สิทธิเรียกร้องแต่ประการใด ผู้เสียหายมีสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยได้ในภายหลัง ไม่เป็นฟ้องซ้อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12414/2547 (ป)  คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์นี้ร่วมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ เช่น เจ้าของรวมฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวม และคำว่าโจทก์รวมถึงคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ขอให้จำเลยใช้หรือคืนราคาทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เป็นต้น นอกจากนี้เรื่องที่นำมาฟ้องในคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกับคดีแรกด้วยกล่าวคือ มูลเหตุที่มาแห่งคดีต้องอาศัยหลักแหล่งแห่งข้อหาอย่างเดียวกัน ในกรณีเรียกค่าเสียหายในเรื่องเดียวกัน โจทก์จะต้องฟ้องมาในคราวเดียวกันจะมาฟ้องเพิ่มในภายหลังเป็นอีกคดีหนึ่งไม่ได้แม้โจทก์จะสงวนสิทธิไว้ก็ตาม สำหรับคดีนี้แม้พนักงานอัยการจะฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนต้นเงินแทนผู้เสียหายคืนให้โจทก์ในคดีอาญาไปแล้วก็ตาม แต่การที่พนักงานอัยการไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยนั้นก็เนื่องมาจาก ป.วิ.อ. มาตรา 43 ให้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเรียกได้เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ยคดีแรกจึงยังไม่มีการฟ้องเรียกเงินดอกเบี้ยมาก่อน และไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้แล้วแต่ไม่เรียก หากแปลความว่าฟ้องของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีหลังซึ่งเรียกทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นฟ้องซ้อนทั้งหมด ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ผลจะกลายเป็นว่าคดีใดพนักงานอัยการฟ้องคดีส่วนแพ่งแทนผู้เสียหายไปแล้วจำเลยคนนั้นกลับไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยและก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็นระหว่างจำเลยด้วยกันรับผิดไม่เท่ากัน โดยผู้เสียหายมิได้กระทำผิดขั้นตอนกระบวนพิจารณาแต่ประการใด และซ้ำเติมผู้เสียหายซึ่งเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง กฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์เช่นนั้น ดังนั้น ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาคดีก่อนเฉพาะต้นเงินเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยไม่เป็นฟ้องซ้อนด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8392/2549  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บังคับให้พนักงานอัยการฟ้องเรียกได้แค่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ยได้เพราะดอกเบี้ยไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด การที่พนักงานอัยการไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยในคดีอาญานั้น จึงไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องเรียกแทนผู้เสียหายได้แล้วแต่ไม่เรียก ฟ้องของโจทก์คดีแพ่งในส่วนของดอกเบี้ยจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8546/2558  คดีอาญาเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฐานยักยอกทรัพย์คือข้าวเปลือกที่จำเลยทั้งสองรับฝากไว้ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซื้อข้าวเปลือกจากโจทก์และยังคงค้างชำระราคาข้าวเปลือก จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระราคาข้าวเปลือกที่ยังคงค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับในคดีอาญาและคดีนี้เป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องผิดสัญญา การโต้แย้งสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเป็นเรื่องของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ เพราะมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
          กรณีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค(โจทก์)ไปแล้ว ผู้บริโภค(โจทก์)จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2548  คดีก่อนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยพนักงานอัยการในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ในกรณีที่โจทก์คดีนี้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารจากจำเลย โดยชำระเงินจองและผ่อนชำระราคาไปแล้ว ขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์คดีนี้ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ได้ชำระไปตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารรายเดียวกันอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันเป็นเพียงซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาโจทก์ในคดีก่อนจะขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอตัดรายชื่อโจทก์คดีนี้จากคำฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์คดีนี้ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
          การฟ้องแบ่งมรดกต้องฟ้องมาทั้งหมดในคราวเดียว จะทยอยฟ้องทีละรายการไม่ได้ แต่ถ้าฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลที่ไม่มีอำนาจยึดถือไว้ ฟ้องได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852/2537  โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสาว ด.เคยฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดก 1 แปลงจากจำเลย  ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอแบ่งที่ดินมรดกที่เหลืออีก 3 แปลงจากจำเลย  แม้ทรัพย์มรดกที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นที่ดินคนละแปลงกับคดีก่อน  แต่ก็เป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งมรดกรายเดียวกัน และมีประเด็นอย่างเดียวกัน อันถือได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173วรรคสอง (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2506  ถ้าปรากฏว่าได้เคยฟ้องเรียกทรัพย์มรดกรายเดียวกันมาครั้งหนึ่งและคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องอีก ถึงแม้ว่าการฟ้องสองคราวนี้จะอ้างสิทธิต่างกัน โดยคดีแรกอ้างความเป็นทายาทปกครองมรดกร่วมกันมา ส่วนคดีหลังอ้างสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ดี ทั้งนี้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2505 (ป)  โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่สาวและน้องสาวของเจ้ามรดก จำเลยเป็นภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ที่ดิน 3 แปลงท้ายฟ้อง เป็นสินเดิมของเจ้ามรดก ที่ดิน 3 แปลงท้ายฟ้องเป็นสินเดิมของเจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และทายาท จำเลยไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิรับมรดก โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกให้แล้ว จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ส่งมอบทรัพย์มรดกให้แล้ว จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ส่งมอบทรัพย์มรดกเป็นคดีหนึ่งแล้ว บัดนี้ ยังมีทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้องอีก 3 แปลง ขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นสินเดิมของเจ้ามรดก โจทก์และทายาทเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกทรัพย์นี้ ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ให้ ดังนี้ เป็นการฟ้องแต่ ฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีอำนาจยึดถือไว้ และเป็นที่ดินต่างแปลง เป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้อีก ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 40/2504)
          ฟ้องซ้อนรวมถึงเรื่องที่สืบเนื่องมาจากมูลคดีเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6486/2558  คำฟ้องคดีก่อนและคดีนี้โจทก์อ้างเหตุว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการฉบับเดียวกัน ซึ่งโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทำให้สัญญาทั้งสองฉบับเลิกกันแล้ว ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้างและค่าเสียหายกับขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่เช่า พร้อมส่งมอบที่เช่าคืนโจทก์ กรณีเป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจากการเลิกสัญญา โจทก์สามารถเรียกเอาค่าเสียหายในอนาคตรวมถึงค่าเสียหายต่างๆ อันสืบเนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบที่เช่าคืนโจทก์ภายหลังสัญญาเลิกกันได้ ค่าใช้ทรัพย์ที่ตกเป็นของโจทก์โดยข้อสัญญาและค่าปรับที่จำเลยออกจากที่เช่าล่าช้าตามฟ้องโจทก์คดีนี้ล้วนเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลิกสัญญาที่คู่สัญญาได้คาดเห็นอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยอาจส่งมอบที่เช่าคืนโจทก์ล่าช้าและยังคงใช้ประโยชน์ในที่เช่าต่อไป จึงได้มีการระบุไว้เป็นข้อตกลงในสัญญาเช่า ทั้งยังถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยเป็นรายเดือนจนกว่าจะได้ที่เช่าคืนในคดีก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องคดีก่อน เป็นฟ้องซ้อนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5858/2558  แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 104/2555 เรื่องขอแบ่งสินสมรสเป็นที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 191/2553 หมู่ที่ 7 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนาง น. แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโต้แย้งขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอแบ่งที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ น. เป็นที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 96/2553 หมู่ที่ 5 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แต่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรโต้แย้งว่ามีสิทธิครอบครอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง แม้การฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดี เป็นการขอให้แบ่งที่ดินต่างแปลงกัน แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินสมรส คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 104/2555 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2558  โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 อ้างว่า ที่ดินพิพาทโฉนดตราจอง เลขที่ 169 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดย ส. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน แต่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 4 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนอง แม้ในคดีนี้โจทก์จะมิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้มีคำวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดย ส. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดภูเก็ต การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

          3. กระบวนการพิจารณาที่ต้องห้ามฟ้องซ้อนตามมาตรา 173 ห้ามเฉพาะโจทก์ฟ้องใหม่ในเรื่องเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12437/2558  คดีก่อนและคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกัน แต่คดีนี้อ้างเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยกับพวกเพิกเฉยไม่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อในการก่อสร้างที่พักให้แก่พนักงานโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ต้องจ่ายเงินค่าที่พักให้แก่พนักงานโจทก์ และขอเรียกค่าเสียหาย ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากจำเลยกับพวกไม่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามฟ้องในคดีก่อน อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว ที่โจทก์อ้างว่าค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ฟ้องคดีก่อนนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์ฟ้องคดีก่อนเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่เป็นคดีผู้บริโภค และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณาเป็นคดีแพ่งสามัญให้งดชี้สองสถานและกำหนดวันนัดพิจารณาต่อเนื่อง แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เกิดจากสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อซึ่งได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ในคดีก่อน ซึ่งเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและมีความเกี่ยวข้องกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 และ 180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้อันเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

          4. คดีเดิมต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันต่อศาล ถ้ามีการพิพากษาคดีไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องฟ้องซ้อน แต่อาจเป็นเรื่องฟ้องซ้ำหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15928/2553  ป.วิ.พ. มาตา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน...” ความในบทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายชัดเจนว่า คดีแรกซึ่งจะประกอบเป็นเหตุผลให้คดีหลังต้องห้ามมิให้ฟ้องนั้น จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ก่อนที่คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และก่อนที่คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งข้อห้ามตามบทบัญญัติในประโยคแรกแห่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ไม่
          ฟ้องของโจทก์คดีนี้ และคดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ล้วนเป็นฟ้องที่โจทก์อ้างสิทธิในการที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมตามสัญญาว่าจ้างโจทก์พัฒนาโครงการที่พักอาศัยรวม 3 แห่ง เพียงแต่โจทก์แยกฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมแต่ละเดือนเป็นคดีไป คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนมีนาคม 2548 และเดือนเมษายน 2548 อันเป็นการอ้างสิทธิของโจทก์ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกัน ฟ้องทั้งสามคดีนี้จึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีแรกคือ คดีหมายเลขดำที่ 890/2550 และคดีที่สองคือคดีหมายเลขดำที่ 1417/2550 ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ขณะนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเดือนเมษายน 2548 ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างและนำมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้แล้ว ข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิไม่ชำระค่าธรรมเนียมเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2548 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ชอบที่โจทก์จะต้องฟ้องรวมกันมาเสียทีเดียว การที่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

          5. ศาลที่ดำเนินกระบวนพิจารณาฟ้องซ้อน ห้ามฟ้องต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น คือห้ามทุกศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2547  การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามที่ศาลชั้นต้นเป็นศาลแรกไว้แล้ว ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัดปัตตานี ฟ้องคดีหลังของโจทก์ที่ศาลจังหวัดปัตตานีจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 อันส่งผลให้คำสั่งประทับฟ้องของศาลจังหวัดปัตตานีไม่ชอบไปด้วยกรณีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 (เดิม) ที่ห้ามมิให้ศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องไว้แล้ว ต้องเป็นกรณีที่ศาลอื่นรับประทับฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น คดีนี้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งประทับฟ้องไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ให้จำหน่ายคดีโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้นจึงไม่ชอบ