ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 144  "เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
          (1) การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ตามมาตรา 143
          (2) การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 209 และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา 53
          (3) การยื่น การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา 229 และ 247 และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาตามมาตรา 254 วรรคสุดท้าย
          (4) การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่างที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา 243
          (๕) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302
          ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 16 และ 240 ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง"



          หลักเกณฑ์การห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำมีดังนี้

          1. เป็นเรื่องชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดี  การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอาจซ้ำทั้งคดีหรือซ้ำเฉพาะบางประเด็นแห่งคดีก็ได้ แต่ต้องเป็นเรื่องของประเด็นแห่งคดี คือ ส่วนสำคัญของเรื่องที่จะต้องพิจารณาในการขอให้ศาลรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตาม หรือเพื่อการใช้สิทธิหรือหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2510   จำเลยผู้ขาดนัดพิจารณายื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ครั้งแรกไม่ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และศาลสั่งยกคำขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นฉบับที่ 2 บรรยายแต่ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และขอให้ถือเหตุที่ได้ขาดนัดตามที่กล่าวในคำขอฉบับแรกเป็นส่วนประกอบของคำขอฉบับหลังได้ ไม่จำเป็นจะต้องบรรยายซ้ำ (อ้างฎีกาที่ 1472/2492)
          จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ครั้งแรกอ้างเหตุไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ศาลสั่งยกคำขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดยทำให้ถูกต้อง ย่อมทำได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 (อ้างฎีกาที่ 1309/2494)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2510   คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลขยายเวลายื่นคำให้การไม่ใช่คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 โจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลรับคำให้การ โดยอ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การได้อีก ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2525   การที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่มาศาล ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดี ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่สั่งจำหน่ายคดีโดยผิดพลาด และศาลสั่งยกคำร้องไปครั้งหนึ่งแล้วก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิยื่นคำร้องใหม่ได้ ไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

          2. ประเด็นเป็นอย่างเดียวกัน และศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้ว ไม่ว่าประเด็นที่ศาลวินิจฉัยนั้นได้มายื่นฟ้องก่อนหรือหลัง และไม่ว่าคำวินิจฉัยนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2538   ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 1123/2534 ที่จำเลยทั้งสองคดีนี้ฟ้องให้ขับไล่โจทก์เป็นจำเลยในคดีหลัง มีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยขี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยทั้งสองคดีนี้ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา  144  แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1123/2534 ของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2544  หลังจากศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย เนื่องจากต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาและพิพากษาคดีที่ผิดระเบียบในชั้นฎีกาทั้งหมดมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยอ้างเหตุเพิกถอนเป็นประเด็นในคดีว่า เกิดจากความผิดพลาดของศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาของจำเลยโดยวินิจฉัยว่ากรณีไม่จำต้องรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ทั้งที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงไว้แล้ว ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวไปแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบอีก โดยอ้างเหตุเพิกถอนเป็นประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบครั้งแรก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8920/2547  เดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำให้การจำเลยมิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นข้ออื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ประเด็นเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยเฉพาะประเด็นอื่นที่ยังมิได้ดำเนินการเท่านั้น จำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพื่อให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความขึ้นอีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอายุความแล้วหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4817/2550   แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ฟ้องขอให้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระหนี้โดยอ้างสัญญากู้ยืมเงิน และบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันก็ตาม แต่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 นั้น โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ผิดข้อตกลงที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงปลอดจำนองที่ดินหลักประกันทำให้โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบประทับตราอนุญาตให้จัดสรรที่ดินและโอนให้แก่ผู้ซื้อได้ ส่วนในคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 กับพวก รับผิดชำระเงินที่กู้ยืมคืนโจทก์โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้จึงแตกต่างกับในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26197/2541 กรณีจึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2550   คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายอ้างว่าสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงเป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีเดิมคือ จำเลยได้กระทำกลฉ้อฉลโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าบัดนี้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดระยะเวลาจึงสิ้นผลผูกพันแล้ว สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องที่สัญญาเช่าที่พิพาทมีผลบังคับเพียงใด และสิ้นผลผูกพันแล้วหรือไม่ ข้ออ้างหรือประเด็นพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับคดีนี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2551   ฟ้องโจทก์คดีนี้กับคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในคดีหลังมีประเด็นซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เมื่อศาลชั้นต้นในคดีหลังได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้วกรณีก็ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7112/2551   คดีก่อนโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ออกเป็น 2 แปลง คือแปลงเดิมเลขที่ 4044 และแปลงใหม่เลขที่ 4045 ตามคำพิพากษาของศาล จำเลยทั้งสามจึงฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกดังกล่าว เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นคู่ความในคดีว่าการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4045 เป็นไปโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จำเลยทั้งสามจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นในคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ยินยอมให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวม การแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมออกเป็นที่ดิน 2 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4044 และเลขที่ 4045 เป็นไปโดยไม่ชอบอีกหาได้ไม่
          การที่จำเลยทั้งสามมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง ให้เหลือเฉพาะที่ดินแปลงเดิมตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4044 แล้วให้นำที่ดินออกขายทอดตลาด อีกเช่นนี้จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดมาแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2551   คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้น มีคู่ความรายเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวกันว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ร้องและพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เมื่อในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น การวินิจฉัยคดีนี้ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับประเด็นข้อพิพาทที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
          เมื่อปรากฏว่าคดีหมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอม ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง...” ดังนั้น จึงต้องฟังว่าพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอมและใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงต้องถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2552   โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แก่จำเลยที่ 1 ตามเช็คและรายการชำระเงินจำนวน 3,320,150 บาท อันเป็นการชำระหนี้ซ้ำซ้อน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนนี้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ และเนื่องจากทรัพย์ที่ต้องคืนเป็นเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวก่อนฟ้องคดี จึงให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ
          โจทก์โดยกรรมการโจทก์เพิ่งรู้ว่า โจทก์ได้ชำระราคารถจักรยานยนต์ที่เข้าใจกันว่า ค้างชำระอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบถ้วนไปก่อนแล้ว อันเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้จำเลยทั้งสองตามฟ้องคดีนี้คือในฐานลาภมิควรได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์โดยกรรมการโจทก์รู้สิทธิเรียกคืนนั้น จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2553   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในประเด็นอำนาจฟ้องจึงถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยซ้ำอีกไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า โจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาเช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเองจึงเป็นการไม่ชอบ

          3. เป็นคู่ความในคดีเดิมหรือผู้สืบสิทธิจากคู่ความในคดีเดิม คือ คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องเป็นคู่ความในคดีเดิมด้วย แม้ฐานะจะกลับกันจากโจทก์เป็นจำเลยหรือจากจำเลยเป็นโจทก์ก็ถือว่าเป็นคู่ความในคดีเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2516   เดิม จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องบิดาโจทก์เป็นจำเลย อ้างว่าบิดาโจทก์อาศัยปลูกเรือนและรั้วในที่ดินของจำเลย  ขอให้บิดาโจทก์รื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป  บิดาโจทก์ต่อสู้ว่าปลูกสร้างในที่ดินของตนเอง  ศาลล่างพิพากษาให้บิดาโจทก์แพ้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา  โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนหนึ่งของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ประเด็นในคดีก่อนมีว่าสิ่งปลูกสร้างของบิดาโจทก์อยู่ในที่ดินของจำเลยหรือไม่ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์ครอบครองที่ดินของจำเลยโดยปรปักษ์หรือไม่อันเป็นประเด็นคนละอย่างต่างกัน  ทั้งโจทก์ในคดีนี้ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน  การยื่นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144  และไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)  แม้โจทก์คนหนึ่งในคดีนี้จะเข้าแทนที่บิดาโจทก์ผู้มรณะในคดีก่อนนั้น  ก็ไม่มีผลให้โจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3064/2545   การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยยื่นฟ้องขับไล่ ส. และจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ให้โจทก์ในฐานะบริวารของ ส. ออกจากที่พิพาท เมื่อโจทก์เห็นว่าตนมิใช่บริวารของ ส. แต่เป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้ว แสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งอันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทแล้ว โจทก์มีสิทธิเสนอคดีของตนต่อศาลโดยยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปิดประกาศกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3)ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ส. ออกจากที่พิพาทก็ตาม เพราะบทบัญญัติดังกล่าวแม้หากบุคคลนั้นไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิห้ามบุคคลนั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ไม่ และเมื่อโจทก์มิได้ร้องขอเข้าไปในคดีที่จำเลยบังคับขับไล่ ส. โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีดังกล่าวหรือจะถูกต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1658/2546   คดีนี้กับคดีก่อน โจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกัน ทรัพย์สินที่ให้เช่าทั้งสองคดีเป็นทรัพย์สินเดียวกันมีกำหนด 7 ปี คดีก่อนจำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ว่าสัญญาเช่าที่ทำกันใช้บังคับได้เพียง 3 ปี และโจทก์ผิดสัญญาเช่าเพราะไม่ชำระค่าเช่าสัญญาเช่าจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์ให้การว่ามิได้ผิดสัญญาเช่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ว่าสัญญาเช่าทั้งหมดตกเป็นโมฆะ ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำตามสัญญาเช่าโจทก์นั้น ย่อมเป็นการขัดกับคำให้การของโจทก์ในคดีก่อนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งคดีนี้ก็เป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่สืบเนื่องมาจากประเด็นเดียวกับที่ศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยมาแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์คดีนี้จะได้ฟ้องไว้ก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดก็ตาม แต่เมื่อศาลในคดีก่อนได้พิจารณาชี้ขาดแล้ว กรณีย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 144 เช่นกัน

          4. การห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ กฎหมายห้ามคู่ความทุกฝ่ายรวมถึงศาลทุกศาลด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2529   ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความไปแล้ว และย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่น เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีใหม่ จำเลยจะยกปัญหาดังกล่าวซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยยุติไปแล้วขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ได้ ต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2524  การห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ.มาตรา 144 มิได้มีเฉพาะการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิมแต่อย่างเดียว การที่คู่กรณีนำคดีมาฟ้องเป็นคดีใหม่ในมูลคดีเดียวกันและมีประเด็นอย่างเดียวกับที่ศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด ก็เป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 144

          ข้อยกเว้นที่ทำได้โดยไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          1. การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามมาตรา 143
          2. การพิจารณาคดีใหม่ คดีมีเอกสารสูญหาย
          3. การอุทธรณ์ฎีกาและการคุ้มครองชั่วคราว
          4. กรณีที่ศาลสูงสั่งให้ศาลล่างพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามมาตรา 243
          5. การบังคับคดีตามมาตรา 302
          6. กรณีส่งประเด็นไปศาลอื่นหรือศาลสูงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนหนึ่งส่วนใดตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 240(2)(3)
          7. นอกจากนี้ถ้ามีกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดให้ทำได้ ก็ถือว่าไม่อยู่ในข้อห้ามเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เช่น การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 กระบวนพิจารณาที่ทำใหม่แทนกระบวนพิจารณาที่ถูกเพิกถอนไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ