16 สิงหาคม 2567

ภาระจำยอม


          ภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิประเภทรอนสิทธิ เป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบกระเทือนถึงการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

          มาตรา 1387 "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น"


          อสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาระจำยอมเรียกว่า "สามยทรัพย์" ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับภาระจำยอมเรียกว่า "ภารยทรัพย์" ตัวอย่างภาระจำยอม เช่น ยอมให้มีทางเดินหรือทางน้ำ ยอมให้ชายคาหรือหน้าต่างบุคคลอื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของตน เป็นต้น

          ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2556  ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย 


          เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์นั้นเช่นเดิม จึงมีสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินที่สามารถขายที่ดินภารยทรัพย์นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549  ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ

          เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์หรือในสามยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามมาตรา 1388
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2546  การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จัดจำหน่ายที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งมีสภาพติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลง ขึ้นไปโดยมีทางเท้าและถนนผ่านตึกหน้าโครงการ เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดิน ดังนั้น ทางเท้าและถนนซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินจึงต้องตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลง ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 และข้อ 30 โจทก์ซื้อที่ดินจากผู้ที่รับโอนที่ดินมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ภารจำยอมจึงตกติดไปยังโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทางภารจำยอมที่ตกแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงรวมทั้งที่ดินของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้
          ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางเท้าตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะใช้ทางเท้าและกันสาดปูนซึ่งมีสภาพติดกับตึกแถวมาแต่แรกโดยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แต่วัสดุผ้าใบกันฝนที่จำเลยนำมาติดตั้งไว้หน้าตึกแถว เป็นการกระทำขึ้นภายหลัง จำเลยไม่มีสิทธิกระทำให้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพราะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ จำเลยจึงต้องรื้อออกไป แม้จะมีการติดตั้งผ้าใบกันฝนที่ตึกแถวของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้

          ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้ ตามมาตรา 1389
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2555  โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทอยู่ภายใต้การจัดสรรเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่น การถูกจำกัดสิทธิโดยภาระจำยอมของโจทก์ให้แก่ที่ดินที่โจทก์จัดสรรขายไปซึ่งสามยทรัพย์จึงเป็นภาระจำยอมเฉพาะใช้เป็นสาธารณูปโภคประเภทสนามเด็กเล่นเท่านั้น และแม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยมิได้เข้าดูแลสาธารณูปโภค เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ หรือสนามเด็กเล่น ภายในหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านที่ชาวบ้านภายในหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ดูแล แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เดิมที่โจทก์ได้จดทะเบียนภาระจำยอมไว้
          อาคารที่จำเลยทั้งสี่ก่อสร้างเป็นอาคารที่เป็นศูนย์แสดงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและฝึกทักษะอาชีพจึงเป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์เดิมที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ แม้อาคารดังกล่าวมีห้องน้ำซึ่งสามารถทำให้เด็กที่มาออกกำลังกายที่สนามเด็กเล่นใช้ประโยชน์ในห้องน้ำนั้นได้ด้วย หรือการที่ตามหนังสือขออนุญาตก่อสร้างอาคารระบุว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม และจัดกิจกรรมทางกีฬาต้านยาเสพติดของเยาวชนด้วย ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย โดยอาคารดังกล่าวยังคงเป็นศูนย์แสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและฝึกทักษะอาชีพ และไม่อาจถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่นที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมไว้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิก่อสร้างอาคารดังกล่าวบนที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4845/2550  ภาระจำยอมรายพิพาทได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามสำเนาโฉนดที่ดิน และสำเนาบันทึกข้อตำลงเรื่องภาระจำยอม จึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนาผูกพันตามสำเนาบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทตามคำขอของโจทก์ที่แจ้งแก่จำเลยว่าเพื่อให้บริษัทเงินทุนผู้รับจำนองยอมรับจำนองที่ดินของโจทก์เป็นประกันการขอกู้ยืมเงินของโจทก์นั้นวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งจำเลยยังยืนยันว่าบริษัทเงินทุนผู้รับจำนองจะรับจำนองต่อเมื่อที่ดินของโจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมเรื่องทางเดินแล้วเท่านั้น และหลังจากจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทโจทก์ได้จำนองที่ดินไว้แก่บริษัทเงินทุนผู้รับจำนอง แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงวัตถุประสงค์และผลของการจดทะเบียนทางภาระจำยอมว่าเป็นการให้สิทธิแก่ที่ดินของโจทก์ที่จะใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอม การจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทของจำเลยเป็นการกระทำด้วยใจสมัครและไม่ได้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงไม่เป็นโมฆะ แม้ต่อมาภายหลังโจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองจากบริษัทเงินทุนดังกล่าว ก็หาทำให้ภาระจำยอมที่มีผลบริบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่ต้นกลับกลายเป็นโมฆะไม่
          เมื่อบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระบุว่าเป็น "ภาระจำยอมเรื่องทางเดิน" ย่อมไม่จำเป็นต้องมีความกว้างถึง 3 เมตร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ทางภาระจำยอมรายพิพาทกว้าง 3 เมตร โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องใช้รถยนต์ผ่านทางภาระจำยอมรายพิพาท เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากที่จดทะเบียนระบุว่าเป็นทางเดิน ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 1388 และ 1389

          แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าตามแนวทางภาระจำยอมด้านข้าง เมื่อไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออก ถือไม่ได้ว่าทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ และไม่ได้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ จึงมีสิทธิทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2551  บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าอยู่ตามแนวยาวของทางภาระจำยอมด้านข้างไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้

          สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของภารยทรัพย์ มีดังนี้ 
          1. ต้องไม่ประกอบการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก (มาตรา 1390)
          2. ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง (มาตรา 1392)
          3. ถ้ามีการแบ่งภารยทรัพย์ ภาระจำยอมก็คงมีอยู่ทุกส่วน ที่แยกออกไป แต่ถ้าส่วนใดไม่ใช้ หรือ ใช้ไม่ได้ เจ้าของส่วนอาจเรียกหรือ ขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้  (มาตรา 1394)
          4. ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่าย หรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น
          ท่านว่าจะจำหน่าย หรือทำให้ภาระจำยอมตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่นต่างหากจากสามยทรัพย์ไม่ได้ (มาตรา 1393)

          ต้องไม่ประกอบการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามมาตรา 1390

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
          เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
          จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2554  ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าในที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์เสียหาย แม้โจทก์จะก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าดังกล่าวมาก่อนที่ดินพิพาทจะตกเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนเพิงเก็บสินค้าแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการทำละเมิดแก่จำเลย
          การที่ อ. เจ้าของที่ดินคนก่อนก่อสร้างรั้วคอนกรีตกีดขวางทางภาระจำยอม ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อที่ดินพิพาทโอนมาเป็นของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่รื้อถอนรั้วคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาท ส่วนการที่จำเลยสร้างโครงหลังคาเหล็กยึดกับผนังโรงงานของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีเสาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงเหล็กติดตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทนั้นไม่ทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์ลดลงหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนโครงเหล็กหลังคา





          เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ตามมาตรา 1391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2548  เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งเชื่อมต่อกับทางสาธารณะ น. บิดาจำเลยมีเจตนาที่จะให้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นที่จัดสรรมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยสะดวก ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน และตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง
          เมื่อทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้เนื่องจากการจดทะเบียนภาระจำยอมถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391

          ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง ตามมาตรา 1392
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2554  โจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 บริเวณที่เป็นทางคอนกรีตเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2516 ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 มาโดยตลอดจำเลยทั้งสี่กับพวกมาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 หลังจากโจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางในที่ดินนี้จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่รับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าว ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์โดยอายุความแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกทุบทำลายทางคอนกรีตที่โจทก์ใช้เป็นทางพัฒนาที่ดินและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว ทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินกว้าง 8 เมตร อันเป็นทางพิพาท โจทก์กับบริวารจึงย้ายมาใช้ทางพิพาท การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทุบทำลายทางคอนกรีตอันเป็นทางภาระจำยอมเดิมของโจทก์แล้วไปทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 จึงเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์ให้ย้ายภาระจำยอมไปยังส่วนอื่น เพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสี่ประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระะจำยอมเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ที่โจทก์มาใช้ทางพิพาทจึงไม่จำต้องนับอายุความกันใหม่
          คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ในเรื่องทางรถยนต์ด้วยและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายภาระจำยอมเดิมมาเป็นทางพิพาทที่มีสภาพเป็นถนน สำหรับรถยนต์แล่นเข้าออก และโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำเลยเดิมมาเป็นทางใหม่ โจทก์และบริวารใช้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออกทางพิพาท ฟังได้ว่า ทางดังกล่าวตกอยู่ภาระจำยอมทางรถยนต์ด้วย
          โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงและข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำยอมไปยังทางที่พิพาท อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ จนทำให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ซึ่งไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งทางที่พิพาทคงเป็นเพียงทางภาระจำยอม มีผู้ได้ภาระจำยอมในทางที่พิพาทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทอาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างแต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม ปัญหาดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาในปัญหาดังกล่าวมา จึงเป็นการพิพากษาในสิ่งใดๆ นอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

          ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่าย หรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ตามมาตรา 1393 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446/2541  เดิม ค.สามีโจทก์ที่ 1 และโจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางเดินบนที่ดินของ พ.ทางด้านทิศตะวันออกออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า10 ปี ที่ดินของ พ.ดังกล่าวจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของ ค.ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบกับมาตรา 1382 ต่อมา พ.ขอให้ ค.ย้ายทางภาระจำยอมเดิมมายังทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของ พ. ซึ่งประสงค์จัดสรรที่ดินขาย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแทนทางเดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 เมื่อโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสามยทรัพย์มาจาก ค. และโจทก์ที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินจาก พ.ซึ่งมีทางพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ให้เปิดทางพิพาทและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ เพราะการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมประการหนึ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1391วรรคแรก
          โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินในที่ดินของ พ.โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมมิใช่ถือวิสาสะ จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้ว แม้โจทก์ที่ 1 จะทราบหรือไม่ทราบระหว่างโจทก์ที่ 1 หรือ ค.เจ้าของที่ดินเดิมที่โจทก์ที่ 1 รับโอนที่ดินมา ผู้ใดเป็นผู้ได้สิทธิภาระจำยอมตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ
          เหตุที่ พ.ขอให้ ค.ย้ายทางภาระจำยอมนั้นเนื่องจาก พ.จะนำที่ดินแปลงที่เป็นภารยทรัพย์มาจัดสรรขาย ดังนั้นการย้ายทางภาระจำยอมไปใช้ทางพิพาทจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ พ. การย้ายทางภาระจำยอมดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ และการที่ ค.เจ้าของที่ดินแปลงที่เป็นสามยทรัพย์ตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ พ.ก็เป็นค่าตอบแทนในส่วนที่ค.จะได้ใช้ทางพิพาทกว้างขึ้นจากเดิมนั้น คู่กรณีย่อมสามารถตกลงกันด้วยความสมัครใจได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 โจทก์ทั้งสองจึงสามารถสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงดังกล่าวเพื่ออธิบายประกอบให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของคู่กรณีได้
           โจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางพิพาทจนได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยโดยอายุความ และโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิที่ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ มิใช่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่าง ค.กับโจทก์ แม้ว่า ค.จะผิดสัญญาการชำระเงินหรือไม่ก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทของโจทก์ทั้งสองที่มีอยู่สิ้นไปไม่
          การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองทุกแปลง ตามรายละเอียดในแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างส่ง แต่ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุเลขโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 ไม่ครบทุกแปลงโดยไม่ระบุที่ดินตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 ด้วย ย่อมทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 1 แปลงดังกล่าวนั้นไร้ผล เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

          ภาระจำยอมเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีการจำกัดระยะเวลา เหมือนทรัพยสิทธิประเภทอื่น ดังนั้น การทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระจำยอมต้องกำหนดเงื่อนไขไว้ให้ชัดเจน เช่น ความกว้างความยาว การให้ยานพาหนะผ่านได้หรือไม่ หรือการกำหนดว่าให้หมดภาระจำยอม เมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ให้บุคคลอื่น

ภาระจำยอม อาจเกิดขึ้นจากนิติกรรม โดยอายุความหรือโดยผลของกฎหมาย


          ภาระจำยอมโดยนิติกรรม จะทำได้โดยการตกลงกันระหว่างเจ้าของที่ดินแปลงที่จะจดเป็นภาระจำยอม และแปลงที่จะได้ประโยชน์จากภาระจำยอม โดยต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2553  ภาระจำยอมเมื่อจดทะเบียนแล้วมีผลผูกพันตราบเท่าที่ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอนเพราะเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1298 ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมเข้ามาในคดีนี้ แต่ฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากและคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือกลับว่าการจดทะเบียนภาระจำยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน จึงต้องฟังว่าการจดะเบียนภาระจำยอมชอบและมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ให้ต้องปฏิบัติตาม แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่ามีการจดทะเบียนภาระจำยอม ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นความรับผิดในเรื่องทรัพยสิทธิที่จดทะเบียนแล้วได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองแก่โจทก์ว่า หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น. โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้ อันเป็นเหตุให้ น. ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอจึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์เหมือนอย่างที่ดินซึ่งแบ่งแยกพร้อมกับแปลงอื่นๆ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมและบังคับให้จำเลยรื้อรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นภารทรัพย์ออกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
          จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
          จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม

          ภาระจำยอมที่เกิดจากอายุความ เกิดโดยทื่ดินแปลงหนึ่งได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยสงบ เปิดเผย และด้วยมีเจตนาเป็นเจ้าของสิทธินั้น ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความ  

          การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอม ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2552  ก่อนหน้าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1129-1130/2544 ที่ดินโฉนดเลขที่ 3437 เดิมซึ่งมีทางพิพาทอยู่บนที่ดิน เป็นที่ดินที่โจทก์กับพวกมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น การใช้ทางพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการใช้ตามกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งไม่ใช่การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทาภาระจำยอม แต่การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมหากจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์

          ชักน้ำเข้านาผ่านลำรางพิพาทในที่ดินจำเลยไปยังที่ดินโจทก์ ด้วยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2552  โจทก์ทั้งสี่ใช้ลำรางพิพาทในการชักน้ำเข้านาที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แล้วขุดเป็นบ่ออยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว จากนั้นโจทก์ทั้งสี่ใช้ระหัดวิดน้ำหรือใช้เครื่องสูบน้ำชักน้ำเข้าไปยังที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วยความสงบ และเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี แล้ว แม้จะได้ความว่ามีลำรางพิพาทถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการชักน้ำเข้าไปโดยการใช้ระหัดวิดน้ำหรือเครื่องสูบน้ำจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แต่ก็อยู่ในลักษณะที่ลำรางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสามต้องรับกรรม หรือรับภาระเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่อยู่ถัดไปด้วยเช่นกัน เพราะสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกัน ถ้าการที่ต้องภาระจำยอมนั้นมีลักษณะเป็นภาระแก่อสังหาริมทรัพย์อื่น จะเป็นแปลงหนึ่งหรือหลายแปลงก็ดี จะมีอสังหาริมทรัพย์อื่นคั่นอยู่ก็ดี ก็ตกเป็นภาระจำยอมได้ ที่ดินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทั้งหกแปลงในการใช้ลำรางพิพาทโดยอายุความ

          ภาระจำยอมที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นภาระจำยอม เช่น มาตรา 1312 มาตรา 1339-1343 และ 1352 รวมถึงกรณีกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2562  ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 กำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์ในภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้ โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับในขณะจัดสรรที่ดินตามโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โครงการ 1 ถึง 7 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคซึ่งจำเลยและบริษัท ก. ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต แต่ผู้ร้องสอดเพิ่งจัดให้ที่ดินพิพาทใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และสวนหย่อมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรภายหลังจากที่ดินจัดสรรด้านหน้าโครงการถูกเวนคืนแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะยินยอมให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์หรือไม่ก็ตาม เมื่อที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคที่อยู่ในแผนผังและโครงการที่ดินจัดสรร ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรในโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ร้องสอดให้รื้อถอนกำแพงพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารจอดรถในที่ดินพิพาท ห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างรั้วกำแพงและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562  ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

          การสิ้นไปแห่งภาระจำยอม
          1. ถ้า ภารยทรัพย์ หรือ สามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมดเท่ากับภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ
          2. เมื่อภารยทรัพย์ และ สามยทรัพย์ ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เจ้าของสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมได้
          3. ภาระจำยอมไม่ได้ใช้ 10 ปี ติดต่อกัน ภาระจำยอมย่อมหมดสิ้นไป
          4. ภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์
          5. เมื่อภาระจำยอมนั้นยังประโยชน์ให้แก่สามยทรัพย์นั้นน้อยมาก เจ้าของภารยทรัพย์ขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน 

          แต่การระงับสิ้นไปแห่งภาระจำยอมซึ่งจดทะเบียนนั้น ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ยังมิได้จดทะเบียนระงับภาระจำยอมนั้น ก็มิอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนสามยทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2413/2566  ขณะโจทก์ทั้งสองซื้อโฉนดที่ดินพิพาท ตามสารบัญการจดทะเบียนปรากฏทรัพยสิทธิ คือ ภาระจำยอมบนที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ใช้สิทธิโต้แย้งทรัพยสิทธิดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าภาระจำยอมยังคงอยู่ แม้ทางภาระจำยอมพิพาทจะไม่มีการใช้ประโยชน์เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ยังมิได้จดทะเบียนระงับภาระจำยอมนั้น จำเลยจะยกเอาการระงับแห่งภาระจำยอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนสามยทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหาได้ไม่
           
          ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้จะเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทาง สาธารณะ เมื่อใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาครบสิบปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2552 โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้การใช้ทางพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2537 จะใช้โดยเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทาง สาธารณะตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาแล้ว หาใช่โจทก์เพิ่งใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในปี 2537 ไม่ เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาจนครบสิบปีก็ถือว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมแล้ว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์

          จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2551  จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจาก ป. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์

          มีข้อตกลงกันว่าต่างฝ่ายต่างยอมให้อาศัยใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนคลองชลประทานได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมระหว่างโจทก์จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2549  โจทก์ยอมรับว่ามีข้อตกลงกับจำเลยว่าต่างฝ่ายต่างยอมให้อาศัยใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนคลองชลประทานได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมระหว่างโจทก์จำเลย เพราะต่างคนต่างยอมให้ผ่าน ในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นการยอมให้ผ่านทางพิพาทโดยถือวิสาสะซึ่งกันและกันนั่นเอง
          ที่ดิน โฉนดเลขที่ 15673 ของโจทก์ไม่ได้ถูกปิดล้อมโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 15671 ของจำเลย แต่ถูกปิดล้อมโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 15672 ของ ว. เพราะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 15673 ของโจทก์จะผ่านไปสู่ถนนคลองชลประทานระยะทางที่ใกล้ที่สุดก็คือผ่านที่ดิน โฉนดเลขที่ 15672 ของ ว. ดังนั้นทางพิพาทช่วงระยะที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 15671 จึงไม่เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ ตามโฉนดเลขที่ 15673          

          การใช้ทางพิพาทโดยการใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2554  โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถว ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของทางพิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ว. เจ้าของที่ดินและตึกแถวเดิมได้ก่อสร้างถนนหรือทางพิพาทไว้เพื่อให้ผู้มาเช่าเซ้งตึกแถวใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งถ้าหากนับถึงขณะที่โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเป็นเวลาเกิน 10 ปี ก็ตาม แต่การใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่ อีกทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำหรืออ้าง อ. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก่อนโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมหรือไม่เช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินทั้งเจ็ดแปลงของโจทก์ทั้งสอง
          เดิมจำเลยก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นทางพิพาทถัดแนวเขตที่ดินกับแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้าไปประมาณ 16 เมตร ซึ่ง ก. ผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ว. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนกำแพงดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาท ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว. เจ้าของเดิมก่อสร้างทางพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยซื้อทางพิพาทจาก ว. และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นทางพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ที่ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อ ก. โจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยอมให้ อ. ผู้เช่าทำประตูเหล็กและคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทก็ดี จำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางไว้บนทางพิพาทก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวติดทางพิพาทไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง



12 สิงหาคม 2567

การทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ เป็นโมฆะ


          การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
          มาตรา  156 "การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
          ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม  ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น"

          สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม คือ สิ่งที่จำเป็นต้องมีในนิติกรรมนั้น ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะไม่มีนิติกรรมนั้นขึ้นมาได้
          ได้แก่
          1. ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม
          2. ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม
          3. ความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
          แต่อย่างไรก็ตามการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ 3 อย่างข้างต้น ยังมีอย่างอื่นได้อีก อะไรที่คล้ายกับ 3 อย่างข้างต้นก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้เหมือนกัน




           (1) การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม
          เป็นเรื่องที่ตังใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่พอแสดงเจตนาออกมากลายเป็นว่าเขาได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นิติกรรมที่เขาตั้งใจกระทำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2498  จำเลยลวงโจทก์ว่าจะพาโจทก์ไปหอทะเบียนที่ดินเพื่อติดต่อให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดหรือตราจองสำหรับที่พิพาทให้โจทก์ แล้วให้โจทก์ลงพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารจ.9 และ ล.1 โดยจำเลยแสร้งแสดงให้โจทก์เข้าใจว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการขอออกโฉนด โจทก์ไม่รู้หนังสือก็หลงเชื่อและลงพิมพ์ลายนิ้วมือให้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญายอมแบ่งที่นาเป็นโมฆะ ตามมาตรา 119 (เดิม) เพราะมิใช่นิติกรรมที่โจทก์เจตนากระทำ โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2508  จำเลยทำใบมอบอำนาจปลอมให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเซ็น โดยหลอกลวงว่าเพื่อมอบอำนาจให้จำเลยเช่ามา แต่ความจริงเป็นใบมอบอำนาจให้โจทก์ขายนาให้จำเลยโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ดังนี้ เป็นการที่โจทก์ทำนิติกรรมมอบอำนาจไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ใบมอบอำนาจจึงใช้ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4987/2531  โจทก์มอบให้ ช. พนักงานของสหกรณ์การเกษตรจำเลยนำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของโจทก์ที่จะกู้จากจำเลยแต่ ช. กลับนำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของ ล. จึงเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 (เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4861/2555   การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554  โจทก์ฟ้องว่าผู้ตายไม่ได้มีเจตนาทำพินัยกรรม แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรม ในขณะนอนป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยหลอกลวงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือมอบอำนาจการขอรับเงินค่าเวนคืนที่ดิน พินัยกรรมจึงเสียเปล่าเป็นโมฆะ เช่นนี้จึงเป็นคำฟ้องว่า การแสดงเจตนาของผู้ตายในการลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวเกิดขึ้นโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ไม่ใช่คำฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 ที่หมายถึงผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมและได้ทำพินัยกรรมแล้ว แต่มีเหตุตามกฎหมายที่จะขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้น ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 3 เดือน ตามมาตรา 1710 (1) หรือ 1710 (2) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2546  โจทก์ประสงค์ทำนิติกรรมจะขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การทำสัญญาจำนองของโจทก์จึงเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2562  โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ ด. พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่า มีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ก็ดี การเพิ่มและการโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่ง น. พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือว่า โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมลงนามกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่างๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว และตรวจพบว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ ส. และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะ 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะของกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

           (2) การสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม
           การแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับบุคคลหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าเมื่อทำนิติกรรมจริงแล้วได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมกับอีกคนหนึ่ง โดยที่เข้าใจผิดว่าคนที่ตนแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นเป็นบุคคลคนเดียวกันกับคนที่มีเจตนาตั้งใจที่จะทำนิติกรรมด้วย การสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมนั้น หมายความว่า ถ้าไม่ใช่บุคคลนั้นก็จะไม่ทำนิติกรรมด้วย 
          แต่ถ้าเป็นนิติกรรมที่คู่กรณีจะเป็นใครก็ได้ไม่เป็นสาระสำคัญ กรณีนี้แม้จะสำคัญผิดในตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2529   การแสดงเจตนาถ้าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ และตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมก็อาจเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้ถ้าการทำนิติกรรมนั้นถือเอาตัวบุคคลเป็นสาระสำคัญ แต่ในบางกรณีตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเนื่องจากจุดประสงค์เพราะต้องการเพียงเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น 
          โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินและรู้จักกับนาง อ.มารดาจำเลยซึ่งมีอาชีพรับซื้อฝากที่ดินเป็นธุรกิจ โจทก์ตกลงขายฝากที่ดินไว้แก่นาง อ.เพราะไม่รู้จักจำเลยมาก่อน แต่นาง อ.กับจำเลยได้สมคบกันฉ้อฉลทำหนังสือมอบอำนาจมารับซื้อฝากใส่ชื่อจำเลยไว้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการไถ่คืนในภายหลังเพราะจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย นิติกรรมการขายฝากจึงตกเป็นโมฆะ นั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างให้เห็นเลยว่าเหตุใดจึงเจาะจงที่จะขายฝากไว้แก่นาง อ.อันพอจะทำให้เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาตัวบุคคลที่จะรับซื้อฝากเป็นสาระสำคัญ คงเห็นได้แต่เพียงว่าโจทก์ต้องการเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น การที่นาง อ.หรือจำเลยจะเป็นผู้รับซื้อฝากก็ไม่มีผลต่างกัน เพราะโจทก์ได้รับค่าขายฝากไปครบถ้วนแล้ว เหตุตามคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะ คดีพอวินิจฉัยได้หาจำต้องฟังพยานโจทก์จำเลยอีกต่อไปไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2517  โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ซึ่งโจทก์ก็รู้ดีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะให้ผู้อื่นเช่าตึกพิพาทนี้ได้ดังนั้น การที่โจทก์กับจำเลยทำหนังสือสัญญาหมาย จ.2  เมื่อพ.ศ. 2513  ความว่า จำเลยยอมออกไปจากตึกพิพาททั้งที่โจทก์รู้ดีว่าตึกพิพาทไม่ใช่ของตนและปกปิดความจริงไว้ เช่นนี้เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยสำคัญผิดในสิ่งสารสำคัญว่าตึกพิพาทที่จำเลยเช่าอยู่นั้นยังเป็นของโจทก์อยู่หากจำเลยรู้ความจริงนี้แล้วจำเลยย่อมจะไม่ทำสัญญากับโจทก์สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 (เดิม)  โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาท



           (3) การสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
          การสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม คือ การสำคัญผิดในตัวทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบกัน อันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เมื่อมีการสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ ตามมาตรา 156
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1710/2500  การซื้อขายที่ดินตรงไหนตามคำพยานหลักฐานได้ความว่า โจทก์ไม่เคยเห็นที่ที่จำเลยขายให้มาก่อน จำเลยชี้สภาพที่ดินให้ดูอย่างไร โจทก์ยอมเข้าใจและถือเอาตามนั้นว่าเป็นที่ดินที่จะซื้อขายกัน โจทก์ได้เห็นสภาพที่ดินตามที่จำเลยชี้ให้ดูเป็นที่เตียนทำประโยชน์ได้ดีโจทก์จึงพอใจตกลงรับซื้อในเนื้อที่ 100 ไร่ราคา 40,000 บาท เมื่อไปชี้ให้โจทก์ดูก่อนตกลงซื้อขายจำเลยชี้ที่ดินของคนอื่นซึ่งเป็นที่เตียนเช่นที่ของนายทุรวมเข้าด้วย ด้านตะวันตกของที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายจึงปรากฏในสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 ว่าติดที่นายเลี่ยมซึ่งรวมเอาที่ของนายทุเข้าไปด้วย พยานหลักฐานน่าเชื่อว่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายไม่ใช่ที่ดินตามที่จำเลยชี้ซึ่งโจทก์พอใจตกลงรับซื้อสภาพของที่ดินที่จำเลยชี้จะขายโจทก์ผิดกับสภาพของที่ดินที่ทำสัญญาซื้อขายกันมากมาย นับว่าโจทก์สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โจทก์ย่อมขอให้ศาลแสดงว่าสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลย เป็นโมฆะ และให้จำเลยคืนเงินมัดจำและค่าที่ดินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 836/2537  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ภริยาของจำเลยได้รับยกให้ฝ่ายเดียวในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสจึงบังคับตามบทบัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไม่ได้ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันที่จะแบ่งกึ่งหนึ่งในฐานะหุ้นส่วนได้ เมื่อที่ดินพิพาทมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลย การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นเหตุให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10258/2558  โจทก์เพียงต้องการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทจึงลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความให้ อ. นำไปจำนอง จำเลยที่ 1 ไปกรอกข้อความเป็นขาย แล้วดำเนินการจดทะเบียนเป็นว่าโจทก์ขายแก่จำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์และ อ. ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินในวันจดทะเบียนซื้อขาย ไม่รู้เห็นยินยอมให้ขายและไม่ได้รับเงินค่าขายแต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์ และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสีย จริงอยู่แม้การที่โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 รู้เห็นเกี่ยวกับการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเป็นผู้ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2 มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งการซื้อขายคือที่ดินและบ้านที่ ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 ชี้ให้ดู อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งการซื้อขาย ไม่ได้มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทเนื่องจากถูก ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงเป็นไปโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จำเลยที่ 2 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสียเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนอันอาจได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวเอาจาก ธ. ก. และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549  ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพาบุคคลอื่นไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

          กรณีอื่นที่ถือว่าเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เช่น สำคัญผิดในข้อตกลงหรือข้อความของนิติกรรม กล่าวคือ เนื้อหาของนิติกรรม ซึ่งมีผลให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2501  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินไปยอมผ่อนเวลาการจ่ายเงินให้แก่ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยมิได้ตกลงกับผู้สั่งจ่ายเสียก่อน ผู้ทรงตั๋วนั้นย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ย และผู้สั่งจ่ายก็พ้นจากความรับผิดอย่างใด ๆ ตามกฎหมายต่อผู้ทรง ในกรณีดังกล่าว ถ้าผู้สั่งจ่ายยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่ผู้ทรง ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เพราะขณะนั้นไม่มีหนี้อะไรเหลืออยู่แล้วแม้หนี้เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1005 ก็ไม่ต้องรับผิด หนังสือรับสภาพหนี้นั้นจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 119 (เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2545  โจทก์ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในราคาที่ดินเพราะถูกนายหน้าหลอกลวงซึ่งจำเลยที่ 1 รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการหลอกลวงดังกล่าว การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกัน แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
          เมื่อนิติกรรมซื้อขายที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากกลฉ้อฉลในขณะเดียวกัน แต่ผลทางกฎหมายต่างกันกล่าวคือ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2567  การที่ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทโจทก์เข้าใจว่าตกลงขายฝากที่ดินพิพาทเป็นเงิน 160,000 บาท ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 มิใช่ 500,000 บาท ตามที่ระบุในสัญญาขายฝากเป็นกรณีโจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาขายฝาก แม้มิใช่การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาที่ตกลงขายฝากย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมการขายฝากโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ศาลจึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559  จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555  การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2552   จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์รวม 6 แปลง โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 749 และ 750 ส่วนที่ดินอีก 4 แปลง เป็นที่ดินภายในเขตการนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยองที่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน เมื่อพิจารณาตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 2 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "และผู้จะซื้อจะโอนในนามผู้หนึ่งผู้ใด ผู้จะขายไม่ขัดข้อง" แสดงกับเจตนารมณ์ของคู่สัญญาว่า ในระหว่างที่สัญญาจะซื้อจะขายมีผลบังคับ โจทก์อาจไปติดต่อหาผู้มาซื้อที่ดินโดยจะโอนที่ดินผ่านจากจำเลยที่ 1 ไปยังผู้ที่จะซื้อที่ดินต่อจากโจทก์ทันทีโดยไม่ผ่านโจทก์ โจทก์จึงต้องการที่ดินที่สามารถจะโอนไปยังผู้อื่นได้โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อกำหนดห้ามโอนเป็นเวลา 5 ปี เมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานของโจทก์แล้วเชื่อว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โจทก์เองทราบเพียงว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินของการนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยองซึ่งสามารถขอออกโฉนดที่ดินได้ การที่โจทก์มาทราบภายหลังว่าที่ดินแปลงที่จะซื้อจะขายจำนวน 4 แปลง มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ผู้จะซื้อแต่อย่างใด และนับเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ และตามพฤติการณ์ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้การซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 749 และ 750 ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้สมบูรณ์แยกต่างหากออกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2559  การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558  เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป




12 กรกฎาคม 2567

ที่ดินถูกแนวเขตเดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ที่ดินราคาตกทั้งแปลง จึงจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรม


          เมื่อมีไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดิน เจ้าของที่ดินก็ย่อมมีความกังวล แม้ที่ดินจะยังเป็นกรรมสิทธิ์ของตนและได้รับค่าทดแทนจากรัฐ แต่ก็ต้องถูกรอนสิทธิโดยถูกจํากัดการใช้ประโยชน์ รวมทั้งค่าทดแทนที่ได้รับก็อาจไม่เป็นที่พอใจแก่เจ้าของที่ดิน

          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ... การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ และเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านกลางที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวา โดย กฟผ. ได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินกรณีถูกเขตเดินสายไฟฟ้า ตามหลักการเดียวกันกับกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับขณะนั้น (พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มิได้กําหนดหลักเกณฑ์การคํานวณค่าทดแทนดังกล่าวไว้) ซึ่งจะจ่ายให้ไม่เต็มจํานวน โดยคิดเป็นอัตราร้อยละของราคาที่ดินที่กําหนด เพราะมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้า (ต่างจากการเวนคืนที่ดินที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือถูกพรากกรรมสิทธิ์ในที่ดิน)  ทั้งนี้ กฟผ. ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าทดแทนตามประเภทการทําประโยชน์ในที่ดิน กล่าวคือ 

          1. ที่ตั้งเสาไฟฟ้า จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 100ของราคาที่ดินที่กําหนด 

          2. ที่บ้าน จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดินที่กําหนด 

          3. ที่สวน จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 70 ของราคาที่กําหนด 

          4. ที่นา รวมตลอดถึงที่ดินว่างเปล่าและที่ดินในลักษณะอื่น ๆ (นอกจากที่บ้านและที่สวน) จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่กําหนด

          ส่วนการพิจารณากําหนดราคาที่ดินเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคํานวณค่าทดแทนนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหาข้อมูลราคาที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งมีมติให้นําราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของกรมธนารักษ์มาเป็นเกณฑ์ในการกําหนดค่าทดแทนดังกล่าว

         สําหรับที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านเป็นเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวาได้คำนวณค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 382,735 บาท แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าค่าทดแทนที่ได้รับไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินราคาตกทั้งแปลง จึงอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทน โดยให้จ่ายค่าทดแทนในราคาต่อไร่เท่ากันทั้งหมด แต่ กฟผ. ปฏิเสธ จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น โดยต่อมาศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ กฟผ. จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี 

          กฟผ. จึงอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด 

          คดีมีประเด็นว่า การกําหนดค่าทดแทนที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ ? หากไม่เป็นธรรม กฟผ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจํานวนเท่าใด ?

          ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กฟผ. ได้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า โดยเขตเดินสายไฟฟ้าได้พาดผ่านกลางที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวา ซึ่งได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยแบ่งค่าทดแทนเป็นส่วน ๆ ได้แก่  (1) ประเภทที่บ้าน บริเวณที่ดินติดทางระยะ 40 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 2.5 ตารางวา กําหนดราคาไร่ละ 80,000 บาท จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดิน เป็นเงิน 108,450 บาท  (2) ประเภทที่นา บริเวณที่ดินอื่น ๆ เนื้อที่ 7 ไร่ 1งาน 71.8 ตารางวา กําหนดราคาไร่ละ 40,000 บาท จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่ดินเป็นเงิน 148,590 บาท  (3) ประเภทที่ว่าง บริเวณที่ดินอื่น ๆ เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 79.3 ตารางวา กําหนดราคาไร่ละ 40,000 บาท จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่ดินเป็นเงิน 118,965 บาท รวมเป็นเงิน 376,005 บาท และจ่ายค่าทดแทนที่ดินบริเวณที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า เนื้อที่ 1 งาน 34.6 ตารางวา เพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 6,730 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 382,735 บาท 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาราคาที่ดินและทรัพย์สินจังหวัดได้มีมติกําหนดค่าทดแทนดังกล่าวโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์มาเปรียบเทียบ สําหรับที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินในโซน 08 ลําดับที่ 7  ส่วนที่อยู่ในหน่วยที่ 12 ที่ดินติดทางสาธารณประโยชน์อื่น ระยะ 40 เมตร ราคาประเมินฯ ไร่ละ 40,000 บาท คณะกรรมการฯ กําหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 80,000 บาท และส่วนที่อยู่ในหน่วยที่ 14 ที่ดินอื่น ๆ ราคาประเมินฯ ไร่ละ 24,000 บาท คณะกรรมการฯ กําหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 40,000 บาท ซึ่งศาลเห็นว่า คณะกรรมการฯ ได้ปรับค่าทดแทนสูงขึ้นจากพื้นฐานราคาประเมินที่ดินที่เป็นบริเวณติดทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศเหนือแต่เพียงด้านเดียว ทั้งๆ ที่ที่ดินแปลงพิพาทติดทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศใต้ด้วย จึงเป็นที่ดินที่ติดทางสาธารณประโยชน์มากกว่าหนึ่งด้าน และเป็นที่ดินที่มีสภาพทําเลที่ตั้งดีกว่าที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ในโซนเดียวกัน ซึ่งมีที่ดินติดทางสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เพียงด้านเดียว การกําหนดค่าทดแทนให้ผู้ฟ้องคดีสําหรับที่ดินในหน่วยที่ 12 เป็นเงินไร่ละ 80,000 บาท และในหน่วยที่ 14 เป็นเงินไร่ละ 40,000 บาท จึงยังไม่เหมาะสมและเป็นธรรม ประกอบกับเมื่อพิจารณารูปแปลงที่ดิน เห็นได้ว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินแปลงใหญ่ เนื้อที่ทั้งหมด 58 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านเฉียงจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทําให้ที่ดินมีลักษณะเหมือนถูกแบ่งออกเป็นสองแปลง และที่ดินส่วนที่เหลือบางส่วนไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก่อนถูกเขตโครงข่ายไฟฟ้า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีด้านหน้ากว้างอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ มีศักยภาพสูงต่อการพัฒนาทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชยกรรม เมื่อถูกโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่านรวมถึงมีเสาไฟฟ่าตั้งอยู่บนที่ดิน ย่อมทําให้ลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินถูกจํากัดลงอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนที่เหลือด้านทิศเหนือของแนวโครงข่ายไฟฟ้าจะมีเนื้อที่น้อย และรูปแปลงเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียวยาวขนานไปตามแนวโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท การก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ส่งผลกระทบโดยตรงในการก่อให้เกิดอุปสรรคหรือข้อจํากัดในการใช้ที่ดินและทําให้มูลค่าของที่ดินทั้งแปลงลดลง แม้จะไม่ได้เป็นการพรากกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปจากผู้ฟ้องคดี แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่มีระยะเวลาจํากัด ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเกินกว่าปกติ 

         ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมจึงควรกําหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้า เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวา ในราคาเท่ากันทั้งแปลง ตามราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กําหนดให้สูงสุด คือ ไร่ละ 80,000 บาท และกําหนดจ่ายในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดิน ในส่วนของที่ตั้งเสาไฟฟ้าจ่ายในอัตราร้อยละ 100 เนื้อที่ 1 งาน 34.6 ตารางวา คิดเป็นจํานวนเงินค่าทดแทน 26,920 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนจํานวนทั้งสิ้น 1,074,340 บาท ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว 382,735 บาท ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้ กฟผ. จ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเพิ่มอีกเป็นเงิน 691,605 บาท 

          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 253/2565)

29 มิถุนายน 2567

การกระทำ "โดยทุจริต"


          ป.อ. มาตรา 1 (1) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

          คำว่า โดยทุจริต อยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายอาญา โดยเฉพาะในความผิดอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์
          องค์ประกอบของคำว่า "โดยทุจริต" 
          (1) แสวงหาประโยชน์
          (2) ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
          (3) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

          (1) แสวงหาประโยชน์ ซึ่งหมายถึง ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินและประโยชน์ที่มิใช่ทรัพย์สินด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2565  ตามมาตรา 1 (1) แห่ง ป.อ. กำหนดบทนิยามคำว่า “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังมิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557 จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555 ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10143/2551 ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อน ไปเที่ยวดื่มสุราด้วยกัน พยานโจทก์ที่ไปในที่เกิดเหตุกับจำเลยและผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่กำลังรอรถโดยสารประจำทางอยู่นั้น จำเลยกับผู้เสียหายกอดกันในฐานะคนรัก หลังเกิดเหตุเมื่อสิบตำรวจเอก ป. ตามไปพบจำเลยอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียงประมาณ 100 เมตร พบจำเลยถอดเสื้อเอาเสื้อพาดบ่าไว้ โดยจำเลยมีอาการมึนเมาและร้อยตำรวจโท น. พนักงานสอบสวนก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะจับตัวจำเลย จำเลยมีอาการมึนเมา จากพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยรู้จักคุ้นเคยกับผู้เสียหายและจำเลยกระทำในขณะมึนเมา การที่จำเลยเอาสร้อยข้อมือทองคำของผู้เสียหายไปนั้นไม่ได้ประสงค์จะเอาไปในลักษณะเป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยมิได้เจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545 จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนวันเกิดเหตุทะเลาะกันแล้วจำเลยหนีออกจากบ้าน ครั้นวันเกิดเหตุจำเลยไปพบผู้เสียหายที่บ้านและขอคืนดีผู้เสียหายขอค่าทำขวัญ แต่ตกลงจำนวนเงินกันไม่ได้ จำเลยโกรธทำร้ายผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำ 2 เส้น แหวนทองคำ 3 วง กับตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ต่อมาจำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนผู้เสียหาย และกลับมาอยู่กินด้วยกัน จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไป เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น เป็นการใช้อำนาจของการเป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ และการที่จำเลยได้นำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายก็แสดงว่าไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่น จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6390/2544 การที่จำเลยนำน้ำมันซึ่งจำเลยมีสิทธิเบิกไปใช้ได้ด้วยตนเองไปเติมใส่รถยนต์คันอื่นเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำรถยนต์คันอื่นนั้นไปใช้ในกิจกรรมอื่นซึ่งไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จำเลยจะพึงใช้ได้อันอาจถือได้ว่าจำเลยได้ประโยชน์จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำการเบียดบังเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเลยสั่งจ่ายไปเป็นของจำเลยหรือของผู้อื่นโดยทุจริตหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2541 จำเลยว่าจ้างผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งจำเลยโดยจำเลยไม่ได้พกมีดปลายแหลมไป เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยบอกให้หยุดรถ ผู้เสียหายหยุดรถเพราะรู้สึกว่ามีมีดปลายแหลมจี้ที่ด้านหลัง และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นมีดปลายแหลมนั้นคืออะไร และสามารถใช้เป็นอาวุธได้หรือไม่ จึงต้องสันนิษฐาน ในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยว่าสิ่งของนั้นไม่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ การที่ผู้เสียหายตกใจกลัวจึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกลัวไปเอง และคำพูดที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ โจทก์ก็ไม่ได้ นำสืบให้เห็นว่าเป็นคำพูดลักษณะใดอันจะแสดงว่าเป็นการขู่เข็ญ ว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือข่มขืนใจให้ผู้เสียหายหยุดรถ นอกจากนั้น ผู้เสียหายทราบว่าในขณะนั้นจำเลยจะไปเยี่ยมภริยาจำเลยที่โรงพยาบาล การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลในลักษณะเปิดเผย จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจตามยึดคืนได้ในวันรุ่งขึ้น ประกอบกับจำเลยไม่ได้หลบหนีไปที่ใดทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายและเพื่อนผู้เสียหายทราบที่อยู่ของจำเลย จึงเป็นการแสดงว่าเมื่อผู้เสียหายกระโดดหนีจากรถจักรยานยนต์แล้วจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ไปยังจุดมุ่งหมายแล้วจอดรถทิ้งไว้โดยไม่ประสงค์จะเอารถจักรยานยนต์ไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2513 คำว่า 'โดยทุจริต' หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น การที่จำเลยทั้งสองสมคบหลอกลวงโจทก์โดยจำเลยที่ 2 แสดงตนต่อโจทก์ว่าเป็นนาย ช. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3. จนโจทก์หลงเชื่อทำหนังสือรับรองทรัพย์ยื่นขอประกันตัวนาย ก.ต่อศาลนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินแต่อย่างใดก็ตาม ก็ทำให้นาย ก. ได้รับประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองทรัพย์นั้นอ้างต่อศาลจนได้รับประกันตัวไป ซึ่งย่อมถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน

          (2) ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องเป็นประโยชน์ที่ผู้แสวงหานั้นไม่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย ถ้าประโยชน์นั้นผู้แสวงหามีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายแล้ว ก็ย่อมมิใช่ทุจริต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12909/2557 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จำเลยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดินหรือผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม แต่บทมาตรานี้ยังมีองค์ประกอบความผิดในกรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพียงแต่ได้ความว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตก็เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดแล้ว อีกทั้งตามมาตรา 1 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดบทนิยามคำว่า "โดยทุจริต "หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การที่จำเลยลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1481 ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา ให้แก่นาย ด. ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่านาย ด. ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้นาย ด. ได้ไปซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2542 ผู้เสียหายฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งนามรดก และข้าวเปลือกเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาพิพาท ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองได้ไปตกลงกันที่สถานีตำรวจว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่เอาข้าวเปลือกเหนียวที่ได้จากการทำนาพิพาทไปขาย แต่ยอมให้แต่ละฝ่ายเอาไปสีรับประทานได้ ผู้เสียหายทำผิดข้อตกลงดังกล่าว โดยผู้เสียหายเอาข้าวเปลือกเหนียวจำนวน50 ถุงปุ๋ย ไปให้ น. เพื่อเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่ผู้เสียหายยืมจาก น. มา จำเลยทั้งสองจึงปิดยุ้งข้าวพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาท ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีนั่นเอง ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า จำเลยทั้งสองจะได้กวาดข้าวเปลือกเหนียวไปกองรวมไว้ ในยุ้งข้าวด้วยก็ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสอง ก็ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2540 การที่จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์ของผู้ตายไปฝังดินไว้ภายหลังจากฆ่าผู้ตายโดยจะขุดมาแบ่งกับพวกเมื่อเรื่องเงียบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 จะขุดเอาทรัพย์ดังกล่าวขึ้นมาในภายหลังหรือไม่เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

          (3) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น คือ การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เพื่อต้องการเอาประโยชน์เป็นของตนเองหรือของผู้อื่น หรือร่วมกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2542  ส.ตกลงให้จำเลยเป็นนายหน้าขายที่ดินของส.และที่ดินของโจทก์ร่วมโดยสัญญานายหน้ามีข้อตกลงว่า จำเลย จะต้องนำดินลูกรังมาถมในที่ดินดังกล่าวให้สูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น การที่จำเลย สั่งให้ ค. ขุดทรายแก้วในที่ดินของโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของตน และทำสัญญาขุดทรายกับ ค. โดยระบุว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจมาจาก ว. และ ป. มิได้ระบุว่ารับมอบอำนาจมาจากโจทก์ร่วม เมื่อ ว. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว คงมีเพียง ป. เท่านั้นที่มีชื่อเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาปกปิด ข้อเท็จจริงไม่ให้ ค. ทราบว่าที่ดินเป็นของโจทก์ร่วมปรากฏว่าจำเลยขายทรายแก้วที่ขุดได้ให้แก่ ค. ในราคาถึง 87,000 บาท โดยมิได้นำเงินนั้นมอบแก่โจทก์ร่วม นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว การกระทำของจำเลยมีเจตนาทุจริต มิใช่การกระทำตามสัญญาโดยอาศัยสิทธิอันชอบธรรม เพื่อผลประโยชน์ของคู่สัญญาอันเป็นเรื่องทางแพ่ง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2517 จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่ทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งลงในตั๋วรูปพรรณที่รู้ว่า ปลอมลายพิมพ์นิ้วมือเจ้าของสัตว์ ทำให้มีผู้ใช้เอกสารนั้นอ้างเมื่อถูกตรวจค้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์แต่ประการใด แต่ก็เป็นการทำให้จำเลยอื่นได้รับประโยชน์ในการใช้เอกสารนั้นไปอ้างเมื่อถูกตรวจค้นหรือถูกจับ ถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน จึงมีความผิดตามมาตรา 157,161 และ 162(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558 โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว