02 มีนาคม 2567

การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับสินสมรสตามมาตรา 1476 ซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

          การจัดการสินสมรสของสามีภริยาซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน 
          อย่างไรก็ตาม การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งทำไปโดยฝ่าฝืนมาตรา 1476 นี้ กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น (มาตรา 1480)

          นำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปขายฝากโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย เมื่อผู้รับซื้อฝากรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือรับซื้อฝากไว้โดยไม่สุจริต อีกฝ่ายย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560  แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2558  แม้การขายฝากที่ดินพิพาทจะมีการทำนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ราคาขายฝากที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด ทั้ง ส. ซึ่ง จ.ผู้ขายฝากอ้างว่าเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น ก็เป็นญาติกับจำเลยผู้รับซื้อฝาก และราคาขายฝากนั้นจำเลยยอมรับว่าได้นำหนี้ของ ส. มารวมเข้าในราคาขายฝากด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นหนี้เท่าใด รวมทั้งไม่มีหลักฐานการเป็นหนี้มาแสดง นอกจากนี้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์เสนอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนในราคา 8,000,000 บาท แต่จำเลยไม่ยินยอม อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทมีราคาสูงกว่าราคาที่ขายฝาก ตามพฤติการณ์แห่งคดีพอรับฟังได้ว่าจำเลยรับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ซึ่งโจทก์เพิ่งทราบเรื่องการขายฝากที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2554 การที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโดยรู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสและคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ยินยอม ผู้ซื้อจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/2557   ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2564  สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ท. สามีชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จดทะเบียนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมของโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ท. จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ท. กับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ในการจัดการสินสมรสของสามีภริยา ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) บัญญัติให้สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง และหากสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติให้อำนาจแก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมในกรณีนี้เป็นเพียงการขอให้เพิกถอนการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจัดการไปโดยปราศจากอำนาจเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาเป็นสินสมรสตามเดิม ทั้งยังเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนรักษาสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1477 ซึ่งบัญญัติให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิทำได้ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ฟ้องทายาทโดยธรรมหรือผู้จัดการมรดกของ ท. สามีโจทก์ที่ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยด้วย ก็หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไม่


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556  การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2552  โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 1 และ ส. มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า รู้จักกับโจทก์ตั้งแต่เด็กเนื่องจากโจทก์มีบ้านอยู่ติดกับบ้านมารดาของจำเลยที่ 2 และทราบว่า ภายหลังโจทก์และจำเลยที่ 1 สมรสกันแล้วมีทรัพย์สินเป็นที่ดินพิพาทโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนแต่ก็เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10633/2551  โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และเมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2548  การที่ อ. สามีโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสให้แก่จำเลย เป็นกรณีที่ อ. จัดการสินสมรสซึ่งโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 เมื่อ อ. จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทได้ภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำดังกล่าวหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนขายฝาก เว้นแต่ขณะที่ทำนิติกรรมนั้นจำเลยได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม มาตรา 1480  เมื่อจำเลยทราบว่า อ. มีคู่สมรส และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ อ. ดังนั้น การที่จำเลยยังทำนิติกรรมขายฝากทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จึงมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับ อ. ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2544  บ. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อ 6 ธ.ค. 2501 ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยอีกเมื่อ 16 มี.ค. 2505 ป.พ.พ. บรรพ 5 (เดิม) มาตรา 1488 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อในขณะที่ บ. ซื้อที่พิพาทยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยยังชอบอยู่ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของทั้ง บ. โจทก์ และจำเลย
          แม้ บ. จะมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไปตามกฎหมาย แต่การที่ บ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา อันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสังคมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายในขณะที่มีการจดทะเบียนให้ขึ้นใช้บังคับ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7978/2542  จำเลยที่ 1 นำทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปจำนองแก่ธนาคารจำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่จำเลยที่ 2 กลับรับจำนองไว้ โดยอ้างว่า ว. ซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแล้ว ย่อมถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำนิติกรรมจำนองโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
          บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินที่ให้จำเลยที่ 1  มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทนั้นเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1469 การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอหย่าและขอแบ่งสินสมรส และศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว อันเป็นการใช้สิทธิบอกล้างในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว ย่อมทำให้สัญญาดังกล่าวสิ้นความผูกพัน ทำให้ทรัพย์สินกลับเป็นสินสมรสดังเดิม และเมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง จึงต้องถือว่าขณะฟ้องคดีนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นผลแล้ว ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสอยู่ขณะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

          แม้นิติกรรมที่ทำขึ้นจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1476 แต่ตราบใดที่นิติกรรมนั้นยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2557  ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7674/2550  ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งรวมถึงผู้ร้องออกไปจากที่ดินพิพาทได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2546  การที่จำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา คงมีผลเพียงว่า ภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480  แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

          การเพิกถอนนิติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 มีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2557  ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มี ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ไม่สามารถเพิกถอนได้หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้ได้

          การเพิกถอนนิติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 ต้องฟ้องเพิกถอนทั้งหมด จะเลือกฟ้องเพิกถอนเฉพาะส่วนมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2551  การเพิกถอนนิติกรรมตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ต้องเพิกถอนทั้งหมด โดยมีผลเป็นว่าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นถ้าเพิกถอนได้ก็ย่อมกลับคืนมาเป็นสินสมรสทั้งหมด มิใช่เพิกถอนแต่เฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอม ดังนั้น ในทางกลับกันถ้าเพิกถอนไม่ได้เพราะบุคคลภายนอกดังกล่าวทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้ทั้งหมด

          การใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 ตามมาตรา 1480 นั้น คู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรม จะต้องใช้สิทธิฟ้องภายในกำหนดอายุความด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2560   เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบดูเอกสารสิทธิเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ทั้งยังได้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่บ้านของ ส. กำนันตำบลตาลชุม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทจริง ย่อมแสดงว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง 

          สิทธิในการฟ้องเพิกถอนการจัดการสินสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1476 ตามมาตรา 1480 มิใช่สิทธิเฉพาะตัว แม้คู่สมรสที่มีสิทธิเพิกถอนนั้นเสียชีวิต ก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2517  โจทก์และจำเลยต่างเป็นบุตรของ ย. แต่ต่างมารดากัน มารดาโจทก์และมารดาจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับ ย.มาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใครจะเป็นภริยาหลวงหรือภริยาน้อยก็ตาม ก็อยู่ในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ย. ด้วยกันทั้งคู่  การที่สามีจะยกสินสมรสซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่ผู้ใดโดยเสน่หานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1473 สามีต้องได้รับความยินยอมของภริยาเสียก่อนเว้นแต่จะเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสังคม และตามมาตรา 1476 การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกัน ถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ ในระหว่างสมรส ย.ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่พิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยโดยเสน่หา การให้ในกรณีนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสมาคม เมื่อไม่ปรากฏว่าภริยาของ ย.ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ การให้ดังกล่าวแล้วจึงไม่สมบูรณ์ หลังจากบิดาและมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของมารดาซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ย. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์พิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานี้ได้ 

          อย่างไรก็ตาม นิติกรรมที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 1476 นั้น ถ้าหากตัวของบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คู่สมรสอีกฝ่ายก็ไม่อาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560  ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้

          แต่ถ้าตามพฤติการณ์นั้นคู่สมรสรู้เห็นยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมได้ฝ่ายเดียวโดยไม่คัดค้าน ก็ย่อมถือว่าคู่สมรสมีการให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสโดยปริยายแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนิติกรรมนั้นอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799 - 8801/2559  การที่ บ. ยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่า บ. มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บ. อีก ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดจาก บ. และ ส. และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า บ. โต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่ บ. ยังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่า บ. ยินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของ บ. จึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง 




กรณีรัฐกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนทับที่ดินของเอกชน ทำให้ไม่สามารถนำที่ดินไปขอออกโฉนดได้ | เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

          เรื่องราวของผู้ฟ้องคดี 22 ราย ที่พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินที่พวกตนอยู่อาศัยมายาวนาน เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ถูกทางราชการกําหนดให้เป็นเขตป่าชายเลนซึ่งต้องห้ามมิให้มีการออกเอกสารสิทธิแต่ให้มีสิทธิในการทํากินหรือทําประโยชน์ในที่ดินได้เท่านั้น ทั้งนี้ การต่อสู้ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เพื่อให้ได้มาซึ่งโฉนดที่ดินในครั้งนี้ได้มีการสู้คดีกันจนถึงชั้นศาลปกครองสงสูด

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.193/2553  คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2538 กรมที่ดินได้ทําการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนอาศัยอยู่ ซึ่งผู้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้ได้จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบยํ่า หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ และต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทําประโยชน์แล้ว แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสําหรับที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น (มาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)

          ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เห็นว่าตัวเองเข้าข่ายตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงรีบพากันไปแจ้งความประสงค์และนําเจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ทําการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน ซึ่งหลังจากที่ได้มีการรังวัดสอบสวนสิทธิและตรวจสอบระวางแผนที่ที่ใช้ในการออกโฉนดแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอาจอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงได้มีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เพื่อให้ทําการตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่าที่ดินจํานวน 22 แปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าชายเลนเขตเศรษฐกิจ ข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 รายได้

          ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงได้โต้แย้งว่า พวกตนได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว โดยเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้เป็นป่าชายเลน อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นชุมชน มีไฟฟ้า ประปา ถนนคอนกรีต ซึ่งหมดสภาพการเป็นป่าชายเลนไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้ทําการเดินสำรวจรังวัดที่ดินก็ได้แจ้งกับผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินที่พิพาทไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ไม่อยู่ในเขตป่าชายเลน และได้กําหนดวันเพื่อแจกโฉนดที่ดิน พอถึงวันดังกล่าวพวกตนกลับได้รับแจ้งว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้เพราะเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ขณะที่เจ้าของที่ดินรายอื่นซึ่งมีที่ดินอยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีต่างก็ได้รับแจกโฉนดกันไปแล้ว
          การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้ตรวจสอบและดําเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่พวกตน แต่ก็ไม่มีการดําเนินการใดๆ สุดท้ายจึงได้นําเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง

          ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําวินิจฉัยโดยสรุปดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้ครอบครองที่ดินมาก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะได้กําหนดเขตป่าชายเลนครอบคลุมที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่โดยสภาพที่ดินในปัจจุบันมีลักษณะเป็นแหล่งชุมชน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 500 เมตร และอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งสภาพที่ดินที่คณะรัฐมนตรีจะกําหนดให้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนได้นั้น ต้องเป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและต้องมีสภาพเป็นป่าเลน
          ดังนั้น เมื่อสภาพที่ดินที่พิพาทไม่มีลักษณะเป็นป่าชายเลนตามที่คณะรัฐมนตรีต้องการสงวนรักษาไว้ แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติกําหนดให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าชายเลน แต่เมื่อที่ดินไม่ได้มีสภาพเป็นป่าชายเลน มติคณะรัฐมนตรีจึงไม่มีผลทําให้ที่ดินดังกล่าวกลับกลายสภาพคืนเป็นป่าชายเลนไปได้อีก
          เมื่อฟังได้ว่าที่ดินที่พิพาทไม่มีสภาพเป็นป่าชายเลนและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2530 ไม่มีผลทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้ครอบครองตามมาตรา 58 มีสภาพเป็นที่ดินป่าชายเลน ที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงจัดอยู่ในประเภทที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธการออกโฉนดที่ดินตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดร้องขอ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด 

          ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินตามคําขอให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา







การร้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสหรือขออนุญาตจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว

          โดยปกติสามีหรือภริยาต่างมีอำนาจจัดการสินสมรสตามลำพังอยู่แล้ว เว้นแต่เป็นเรื่องการจัดการที่สำคัญ 8 ประการตามมาตรา 1476 ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดการร่วมกัน ซึ่งในการจัดการสินสมรสนั้นหากสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือไม่อุปการะเลี้ยงดู หรือทำหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ตามมาตรา 1484 ได้บัญญัติไว้ให้ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว หรือร้องขอให้แยกสินสมรสก็ได้ นอกจากนี้ศาลยังมีอำนาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสตามที่เห็นสมควรก็ได้

          สำหรับเหตุที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมาร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้ มีอยู่ 5 ประการ คือ
          (1) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้นจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด เช่น สินสมรสเป็นตึกแถวเอามาให้เช่าหาประโยชน์จากค่าเช่าได้ แต่กลับทุบตึกแถวนั้นทิ้งทำให้ขาดรายได้ เป็นต้น
          (2) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้นไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ไม่เลี้ยงดูฝ่ายที่มาร้องขอต่อศาล
          (3) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้น มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
          (4) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้น ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
          (5) สามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้น มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส เช่น นำทรัพย์สินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือเล่นการพนัน เป็นต้น

          การจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548 จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5690/2552 โจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียวตลอดมา จนกระทั่งปี 2543 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยมีภริยาอีกคน โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมแบ่งถือว่าจำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 วรรคสอง และมาตรา 1492
          เงินค่าซื้อที่ดินและเงินสดที่ยกให้บุตรทั้งสี่คนรวมแล้วประมาณ 40,000,000 บาท เป็นการยกสินสมรสให้บุตรโดยความยินยอมของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสนี้ ส่วนเงินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ของจำเลยหลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ จึงต้องฟังว่า เงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอีก 660,000 บาท เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งกันสำหรับหุ้นด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยไปไถ่ถอนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด และไม่แบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเข้าจัดการสินสมรสในส่วนนี้ได้ จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ตามรายการโอนเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยเข้าบัญชีที่โจทก์เสนอแสดง ไม่ปรากฏรายการโอนดอกเบี้ย 5,000,000 บาท เข้าบัญชีตามที่โจทก์เบิกความ จึงไม่อาจบังคับในส่วนของดอกเบี้ยได้ ส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาท จำเลยซื้อที่ดินมาในปี 2541 และปลูกบ้านในปี 2544 ถึง 2545 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิใส่ชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้

          ในการร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งตามมาตรา 1484 นี้ คู่สมรสมีทางเลือกอยู่ 2 ประการ คือ
          (1) ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว หรือ
          (2) ร้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรส และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรสแล้ว สินสมรสส่วนที่แยกออกมานั้นตกเป็นสินส่วนตัวของใครคนนั้นก็มีกรรมสิทธิ์และมีอำนาจจัดการโดยลำพัง ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดได้มาภายหลังจากแยกสินสมรสแล้ว ไม่ถือเป็นสินสมรส แต่ให้ถือเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้น รวมทั้งดอกผลของทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้มาภายหลังจากแยกสินสมรสแล้ว ก็คงตกเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นเจ้าของสินส่วนตัวนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1492
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552 โจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียวตลอดมา จนกระทั่งปี 2543 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยมีภริยาอีกคน โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมแบ่งถือว่าจำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 วรรคสอง และมาตรา 1492
          เงินค่าซื้อที่ดินและเงินสดที่ยกให้บุตรทั้งสี่คนรวมแล้วประมาณ 40,000,000 บาท เป็นการยกสินสมรสให้บุตรโดยความยินยอมของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสนี้ ส่วนเงินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ของจำเลยหลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ จึงต้องฟังว่า เงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอีก 660,000 บาท เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งกันสำหรับหุ้นด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยไปไถ่ถอนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด และไม่แบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเข้าจัดการสินสมรสในส่วนนี้ได้ จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ตามรายการโอนเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยเข้าบัญชีที่โจทก์เสนอแสดง ไม่ปรากฏรายการโอนดอกเบี้ย 5,000,000 บาท เข้าบัญชีตามที่โจทก์เบิกความ จึงไม่อาจบังคับในส่วนของดอกเบี้ยได้ ส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาท จำเลยซื้อที่ดินมาในปี 2541 และปลูกบ้านในปี 2544 ถึง 2545 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิใส่ชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2548  โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เพื่อขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว โดยมีเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินสินสมรส ชอบที่โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียวและจัดการแยกสินสมรส



เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ไม่มีอายุความ

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา  1336 "ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"

          เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิที่จะใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และมีสิทธิได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น รวมทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ โดยเฉพาะการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้นั้น เจ้าของทรัพย์สินสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความ
       
          คู่สมรสและบุตรของเจ้ามรดก ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้จัดการมรดกและบุคคลที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2565  จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตาย ซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์มรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่านั้น แม้ในการจัดการมรดกทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท จำเลยที่ 1 อาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายมรดกได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการกระทำเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์มรดกโดยประการอื่นได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากแต่เป็นการกระทำใด ๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะรับฟังว่าซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขาย การที่โจทก์และ อ. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3
  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558  เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2558  โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้องชุดพิพาทและจำเลยเช่าพื้นที่ห้องชุดดังกล่าวบางส่วนจากโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาเช่า ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลย เป็นการฟ้องอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าและในฐานะเจ้าของห้องชุดพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 538 แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง และมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยยังคงอาศัยในห้องชุดพิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น

          โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นมรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556  โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 247

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555   การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2555   คดีนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ในการเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้ว จำเลยถูกผู้อื่นแอบอ้างและใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยจำเลยไม่มีเจตนารับโอนเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เพียงพอโดยไม่จำต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง กรณีเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไป เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีผู้แอบอ้างและใช้เอกสารปลอมขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วนำเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งซื้อมาด้วยเงินของโจทก์มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยก็มิได้กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงชอบด้วยความเป็นธรรมที่โจทก์จะเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้เสมือนเป็นการติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนแทนเงินที่โจทก์ต้องสูญเสียไป เพื่อเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำอันมิชอบ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่ไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้หนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยตามฟ้องได้เพราะจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554  สัญญาฝากเงินและเบิกถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จำกัด เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ดังนั้นเงินฝากของสหกรณ์ที่ฝากไว้กับโจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน สหกรณ์ฯ มีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ โจทก์เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่พนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดและนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี จึงเป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ไม่ใช่เป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯ เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ จะมียอดแสดงการหักเงินจากบัญชี แต่บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ เป็นเพียงหลักฐานและการตรวจสอบการรับฝากและถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯ เท่านั้น เมื่อสหกรณ์ฯ ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์ สหกรณ์ฯ จึงย่อมไม่มีสิทธิติดตามและเอาเงินคืนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ เป็นความรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ไม่มีสิทธิใดที่โจทก์จะรับช่วงจากสหกรณ์ฯ ในการฟ้องร้องเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยรับช่วงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 229
          เมื่อจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลย ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้
          คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์เก็บบรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 227 วรรคหนึ่งด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2554   ที่ดินพิพาททิศเหนือจดที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีทิศตะวันออกจดและเชื่อมต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 529 เป็นแนวยาวระดับเดียวกันจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตกจดซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) ซึ่งรูปแผนที่ของที่ดินโฉนดเลขที่ 529 ระบุว่าทิศใต้จดที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 529 ออกโฉนดปี 2537 ภายหลังจากที่ ล. กับจำเลยที่ 9 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทนานถึง 5 ปี ยังเป็นที่ดินที่เชื่อมต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 เช่นเดิมจึงมิใช่ถนนซอยทองหล่อ 12 เพราะมิฉะนั้นการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องสั่งเพิกถอนตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 แม้ตามรูปแผนที่และสภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 และ 529 เจ้าของที่ดินทั้งแปลงไม่สามารถนำที่ดินทั้งสองแปลงไปทำประโยชน์ได้ นอกจากจัดมีไว้ให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกไปสู่ถนนสุขุมวิท 55 เท่านั้นก็ตาม แต่ขณะที่มีการทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ไม่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 และเจ้าของที่ดินส่วนที่จะเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 529 ได้อุทิศ หรือให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว จะถือว่าที่ดินพิพาทอยู่ติดถนนซอยทองหล่อ 12 หาได้ไม่ เพราะเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิติดตามเอาคืนและขัดขวางได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 คดีฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ติดถนนซอยทองหล่อ 12

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12162/2553  การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ 2 รับซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทนำรถยนต์คันพิพาทไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท ทั้งการที่ บ. และจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันพิพาทของโจทก์มาจัดไฟแนนซ์กับบริษัท ด. ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เป็นการซื้อขายในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมาย
          แม้ตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์จะขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในรถยนต์คันพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม เมื่อปรากฏว่าใบแทนใบคู่มือจดทะเบียนรถสำหรับรถยนต์คันพิพาทที่นายทะเบียนขนส่งจังหวัดขอนแก่นออกให้แทนฉบับเดิม ก็เป็นการดำเนินการของนายทะเบียนขนส่งจังหวัดขอนแก่นตามที่ได้รับแจ้งข้อความเท็จจากจำเลยที่ 2 ถือว่าใบแทนคู่มือการจดทะเบียนเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนแต่โจทก์ก็มีคำขอให้ใบคู่มือจดทะเบียนรถฉบับของโจทก์มีผลใช้บังคับได้ตามเดิมศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนใบแทนใบคู่มือจดทะเบียนรถสำหรับรถยนต์คันพิพาทที่ออกโดยไม่ชอบนั้นได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่เกินคำขอ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8875/2553   การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยเนื่องจาก ม. ปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์แล้วฝากเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนมาจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2553   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยขนส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้า จำเลยนำสินค้าไปเป็นของตนเอง โจทก์ต้องจัดส่งสินค้าอย่างเดียวกันให้ลูกค้าอีกครั้งทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว แม้ตามฟ้องโจทก์จะเรียกเอาค่าเสียหายแต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเอาก็เท่ากับราคาสินค้าที่ได้มอบให้จำเลยไปจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความฟ้องร้อง ทั้งจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายระหว่างการขนส่ง จึงไม่อาจนำอายุความตามมาตรา 624 มาใช้บังคับได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2553    โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาแต่ต้น จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องวินิจฉัยเพราะการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นมิใช่เป็นที่ดินของตนเอง
          โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าของ ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9626/2552   จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. โดยไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ฟ้อง จ. ให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทในข้อหานิติกรรมอำพรางใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากระหว่างจำเลยกับ จ. เป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แต่ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับ จ. และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยอ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. ภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ที่จำเลยผู้ขายฝากจะมีสิทธิไถ่คืนจาก จ. ผู้ซื้อฝากแล้ว เมื่อ จ. มิได้อยู่ในฐานะคู่ความในคดีนี้ ข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของจำเลย แม้จำเลยจะได้ฟ้อง จ. ต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาท แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความแล้ว ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336



การลงโทษทางวินัย ต้องเหมาะสมกับการกระทำผิด | วินัย | คดีปกครอง

 

           การปฏิบัติตของข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการจะต้องระมัดระวังในเรื่องความประพฤติ โดยไม่กระทำการใดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงที่จะทำให้ถูกลงโทษได้  

          ในส่วนโทษสำหรับการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก็คือ ปลดออกและไล่ออก 

          และโทษสำหรับการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และลดเงินเดือน 

          ในส่วนของลูกจ้างประจำของส่วนราชการ มีระเบียบ คือ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 โดยข้อ 52 กำหนดว่า ลูกจ้างประจำผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณี โดยการพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิดกับระดับโทษนั้น จะต้องมีความเป็นธรรมและเหมาะสมกันด้วย 

          สำหรับกรณีเรื่องนี้ เป็นกรณีที่ลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีฐานร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์เอาทรัพย์สินกันโดยผิดกฎหมาย และศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ เนื่องจากเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง         

          ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ทำหน้าที่ในตำแหน่งรักษาอาคาร ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ตำแหน่งคนงาน 

          ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์กับผู้เล่นอื่น รวม 11 คน ในวันหยุดโดยใช้สถานที่ราชการ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดีโดยผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ให้การรับสารภาพ และศาลแขวงมีคำพิพากษาลงโทษปรับคนละ 1,000 บาท ต่อมาอธิบดีกรมชลประทานได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และได้มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีทั้งสามออกจากราชการ 

          ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ อ.ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ถูกยกอุทธรณ์ จึงได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ อ.ก.พ.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีทั้งสามออกจากราชการ และมติที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี  

          ประเด็นก็คือ พฤติการณ์การกระทำของลูกจ้างดังกล่าว ถือเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่? และการลงโทษปลดออกจากราชการเหมาะสมกับการกระทำความผิดดังกล่าว หรือไม่? 

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2559 เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่เป็นเพียงลูกจ้างประจำ ไม่ได้มีหน้าที่ในการกวดขันการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอาคารของหน่วยงาน ไม่ได้มีหน้าที่ติดต่อหรือบริการประชาชนโดยตรง และในการกระทำผิดไม่ได้เป็นเจ้ามือ เจ้าสำนักหรือเล่นการพนันเป็นอาจิณ และความผิดดังกล่าวได้กระทำนอกเวลาราชการมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ประกอบกับเมื่อพิจารณาแนวทางการลงโทษกรณีการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว ซึ่ง ก.พ. ในฐานะเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมแนวทางการลงโทษที่ปรับบทความผิดและกำหนดระดับโทษได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกรณีการเล่นการพนันนั้นมีการลงโทษตัดเงินเดือนและลงโทษลดเงินเดือน การลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงต้องคำนึงถึงระดับโทษที่ส่วนราชการอื่นลงโทษด้วย สำหรับแนวทางการลงโทษตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ซึ่งถือเป็นเพียงคำแนะนำให้ส่วนราชการนำไปประกอบการพิจารณา และหาได้หมายความว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดฐานเล่นการพนันแล้วจะต้องเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงทุกกรณี ดังนั้น การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงยังไม่อาจถือได้ว่ากระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 46 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 แต่เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชัตามข้อ 46 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษปลดออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติที่ยกอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน