28 ธันวาคม 2565

เหตุสุดวิสัย อันเนื่องมาจากพื้นที่ก่อสร้างยังไม่พร้อมส่งมอบ ต้องขยายเวลาและลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้าง | สัญญาทางปกครอง

 

          การจัดทําภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐโดยการทําสัญญาทางปกครอง เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมดําเนินการหรือเป็นผู้ดําเนินการแทนโดยตรง การทําสัญญาทางปกครองดังกล่าวจะมีการกําหนด รายละเอียดของงานหรือข้อกําหนดอื่น ๆ ไว้  เช่น เรื่องของระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาที่มีผลผูกพันให้เอกชนมีหน้าที่ต้องเริ่มปฏิบัติงานหรือดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา และในกรณีที่เอกชนไม่สามารถปฏิบัติหรือดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาตามสัญญาได้ หน่วยงานของรัฐย่อมมีสิทธิที่จะพิจารณาให้เอกชนชําระค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ทํากันไว้ได้ เว้นแต่ เหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากการกระทําของมนุษย์หรือเหตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 
          โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีแนวทางในการวินิจฉัยพฤติการณ์อันถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น การที่เอกชนผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามสัญญาได้ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีความรุนแรงทําให้ขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 260/2552) หรือการที่เอกชนผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างอาคารตามสัญญา เนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำท่วมจนเกิดอุทกภัยและมีการประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 452/2557) เป็นต้น 

          เรื่องนี้ เป็นกรณีกรุงเทพมหานครเรียกค่าปรับจาก เอกชนผู้รับจ้างซึ่งไม่สามารถปรับปรุงถนนให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาตามสัญญา แต่เหตุดังกล่าว เกิดจากการที่กรุงเทพมหานครไม่ส่งมอบพื้นที่ที่พร้อมก่อสร้างและไม่ขยายเวลาดําเนินการให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ข้อ 133 ได้กําหนดหลักเกณฑ์การลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือการขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลงไว้ 

          ข้อเท็จจริงมีว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) โดยผู้อํานวยการเขต (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ผู้รับมอบอํานาจ ได้ทําสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีให้ปรับปรุงถนนในซอย โดยสัญญาระบุให้ดําเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 มีนาคม 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการส่งมอบสถานที่ ในวันเดียวกันนั้น ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าดําเนินการได้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีแนวท่อประปา จึงได้มีหนังสือแจ้งอุปสรรคต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งสํานักงานประปาสาขามีหนังสือแจ้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการสํารวจ และออกแบบการก่อสร้างท่อประปา  ต่อมา ในวันที่ 5 เมษายน 2548 ผู้ฟ้องคดีได้ทําการส่งมอบงานงวดที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ปรับผู้ฟ้องคดีเนื่องจากทํางานล่าช้าเป็นเวลา 8 วัน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญา แต่ปลัดกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ไม่อนุญาต  จนกระทั่งวันที่ 16 กันยายน 2548 ผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานงวดสุดท้าย แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานและมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้าง ล่าช้ากว่ากําหนดในสัญญาเป็นเวลา 172 วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเสียค่าปรับรายวันตามจํานวนวันดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์การไม่อนุญาตให้ต่ออายุสัญญา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) พิจารณาแล้วมีคําสั่งให้ลดค่าปรับเป็นเวลา 36 วัน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินการแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากําหนดเวลาในสัญญาเป็นเพราะสาเหตุ 4 ประการ คือ (1) ความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไม่ประสานงานกับการประปาเพื่อแก้ไข ปัญหาท่อประปากีดขวางงานก่อสร้าง (2) เกิดฝนตกหนักในระหว่างการทํางาน (3) การจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้า และ (4) ไม่ได้รับการเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาจากกรรมการตรวจการจ้าง จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้เพิกถอนคําสั่งแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์และให้ชําระค่าปรับดังกล่าว 

          ข้อพิพาทในคดีมีประเด็นคือ การไม่ขยายเวลาการปฏิบัติงานตามสัญญา แต่ได้ลดค่าปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา 36 วัน เป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?  

          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า ในการทําสัญญาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่ที่พร้อมจะทําการก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมีแนวท่อประปาทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดําเนินการก่อสร้างได้โดยสะดวก ซึ่งสํานักงานประปาสาขามีหนังสือแจ้งว่า การสํารวจและออกแบบการก่อสร้างท่อประปาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 และได้มีการเริ่มขุดวางท่อประปาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 และดําเนินการแล้วเสร็จวันที่ 12 เมษายน 2548 การพิจารณาค่าปรับจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ              
          ช่วงแรก ในระหว่างการสํารวจและออกแบบท่อประปา ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยสภาพของการก่อสร้างถนน หากต้องมีการติดตั้งท่อประปาก็ควรที่จะดําเนินการไปพร้อมกัน เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาและประชาชนเกิดความไม่สะดวกในการสัญจร แต่เมื่อขณะวันทําสัญญาจ้าง (วันที่ 29 กันยายน 2547) การประปานครหลวงยังมิได้กําหนดแนวท่อก่อสร้างท่อประปาที่แน่นอน อุปสรรคในการดําเนินงาน จึงเริ่มตั้งแต่วันเริ่มต้นสัญญาถึงวันที่การออกแบบการก่อสร้างท่อประปาแล้วเสร็จ คือ วันที่ 30 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2547 รวม 79 วัน  ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ทราบแนวท่อประปา ที่แน่นอนและสภาพพื้นที่ไม่พร้อมที่จะทําการก่อสร้างได้ การที่ผู้ฟ้องคดีมิได้เริ่มลงมือทํางานในทันที ที่รับมอบพื้นที่ซึ่งไม่สามารถก่อสร้างได้เนื่องจากมีอุปสรรคการวางแนวท่อประปา จึงเป็นพฤติการณ์ปกติ ที่ผู้ฟ้องคดีพึงกระทําและสมควรต้องกระทําเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่งานที่ทําไป ซึ่งหากงานที่ทํา ไปแล้วไม่สอดคล้องกับแนวการก่อสร้างท่อประปาก็จะก่อให้เกิดความเสียหายและสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงถือได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงอันเป็นเหตุขอขยายเวลาการก่อสร้างตามสัญญาได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงควรต้องขยายเวลาการก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้เป็นเวลา 79 วัน  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาลดค่าปรับในช่วงเวลาดังกล่าวเพียง 15 วัน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณา ที่ไม่เหมาะสมสอดคล้องตามข้อเท็จจริง  
          ช่วงที่สอง ในระหว่างที่มีการก่อสร้างท่อประปา (วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2548) รวม 67 วัน ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีไม่อาจปฏิบัติงานได้ แต่การที่ผู้ฟ้องคดีได้ไปทํางานในส่วนอื่น ๆ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คิดอัตราส่วนที่ผู้ฟ้องคดี สามารถทํางานได้ในระหว่างที่มีการก่อสร้างเป็นเวลา 46 วัน ระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถทํางานได้จริง ในช่วงเวลานี้จึงมีจํานวน 21 วัน (67-46) และเหตุดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถขอขยายเวลาการปฏิบัติงานตามสัญญาได้  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาลดค่าปรับให้ 21 วัน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบเหมาะสมสอดคล้องตามข้อเท็จจริงแล้ว  
          สําหรับเหตุอื่นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างถือเป็นเหตุสุดวิสัยในการขอขยายเวลาตามสัญญานั้น  ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อจากรายงานข้อมูลปริมาณฝนรายวันของสถานีวัดปริมาณน้ําฝนที่บริเวณ ใกล้สถานที่ก่อสร้างพบว่า มีฝนตกประมาณ 5-19 วันต่อเดือน โดยเป็นฝนตกหนัก 2-3 วันต่อเดือน ปริมาณน้ำฝนและความถี่ของจํานวนวันที่ฝนตกดังกล่าวจึงยังไม่เป็นฝนตกหนักผิดปกติจนเป็นอุปสรรคทําให้ไม่สามารถทํางานได้  ประกอบกับการก่อสร้างอยู่ในช่วงฤดูฝน ฝนตกจึงเป็นเหตุการณ์ปกติและเป็นอุปสรรค ต่องานก่อสร้างเป็นธรรมดา และในส่วนของการจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นหน่วยงานราชการย่อมมีระเบียบกําหนดขั้นตอนและวิธีการจ่ายเงินไว้อย่างชัดเจน และไม่ปรากฏพฤติการณ์ประวิงการจ่ายเงินค่าจ้างแต่อย่างใด สําหรับการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการแก้ปัญหางานก่อสร้างนั้น ผู้ฟ้องคดี ก็สามารถติดต่อกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงได้ เหตุอื่นดังกล่าวนี้จึงไม่อาจถือเป็นเหตุสุดวิสัยเหตุหนึ่งเหตุใดที่จะนํามาใช้อ้างเป็นเหตุในการขอขยายเวลาการก่อสร้างได้ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีขอขยายเวลาสัญญาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 จึงชอบที่จะขยายเวลาปฏิบัติงานให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจํานวน 100 วัน (79+21) กําหนดเวลาสิ้นสุด สัญญาจึงขยายไปเป็นวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 การที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 16 กันยายน 2548 จึงเป็นการก่อสร้างล่าช้ากว่ากําหนดเวลาในสัญญา 72 วัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังมิได้ชําระค่าจ้าง งวดสุดท้ายให้แก่ผู้ฟ้องคดี  จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้เงินค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่ผู้ฟ้องคดีโดยให้หักเงินค่าปรับก่อนได้ 
          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 433/2559)

09 มีนาคม 2565

หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างไม่แจ้งความบกพร่องจนผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จเรียบร้อย จะอ้างเหตุบกพร่องเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้างในภายหลังไม่ได้ | สัญญาทางปกครอง | คดีปกครอง

 

          ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่องค์การบริหารส่วนตําบลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ทําสัญญาจ้างเอกชนซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนน โดยการจ้างทำงานดังกล่าวไม่มีแบบแปลน รายละเอียดงานให้เป็นตามใบประมาณการแนบท้ายสัญญา ซึ่งในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินงานนั้น มีผู้ควบคุมงานมาปฏิบัติหน้าที่
ควบคุมงานตามโครงการทุกวัน โดยมิได้มีข้อทักท้วงใด เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือส่งมอบงานจ้างต่อประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง คณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีใช้หินขนาดใหญ่ไม่ได้ขนาดตามมาตรฐานซึ่งจะทําให้หลุดล่อนง่าย และตามภาพถ่ายการดําเนินงานที่ผู้ฟ้องคดีแนบมาพร้อมกับหนังสือขอส่งมอบงานจ้าง ไม่มีภาพการขุดเอาชั้นพื้นทางที่เป็นหลุมบ่อออกแล้วลงวัสดุชั้นพื้นทางที่ดีแทนและไม่มีภาพการบดอัดงานชั้นรองพื้นก่อนปูแอสฟัลท์ติก จึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนการก่อสร้างและซ่อมแซม เห็นควรให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานให้ถูกต้อง
          ส่วนผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินงานตามสัญญาจ้างนั้น คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตําบลไม่ได้มาออกตรวจ ณ สถานที่ก่อสร้าง และตลอดระยะเวลาดําเนินการไม่เคยมีข้อทักท้วงจากคณะกรรมการตรวจการจ้างและองค์การบริหารส่วนตําบล แต่อย่างใด และการที่องค์การบริหารส่วนตําบลมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานจ้าง โดยไม่ระบุรายละเอียดว่าเนื้องานส่วนใดที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบ รายละเอียดของสัญญาจ้าง ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถแก้ไขงานได้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ่ององค์การบริหารส่วนตําบลต่อศาลปกครองขอให้มีคําพิพากษาให้องค์การบริหารส่วนตําบลเบิกจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้าง พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันส่งมอบงานให้แก่ผู้ฟ้องคดี
          ซึ่งหลังจากผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบงานจ้าง ปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตําบลก็ได้เปิดใช้ถนนสายที่พิพาท และได้เปิดใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบันโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญา
 
          คดีมีประเด็นปัญหาว่า องค์การบริหารส่วนตําบล ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาหรือไม่ ?

          คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาข้อกําหนดในสัญญาประกอบกับรายละเอียดงานตามใบประมาณการแนบท้ายสัญญาแล้ว เห็นได้ว่างานจ้างดังกล่าวมิได้ระบุวัสดุที่ใช้ในการปูพื้นผิวถนนแอสฟัลท์ติกว่าจะต้องใช้หินที่มีขนาด ๓/๘ และในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดําเนินการก่อสร้างมีช่างผู้ควบคุมงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเข้าควบคุมงานตลอด ปรากฏตามบันทึกการก่อสร้างประจําวัน โดยในบันทึกดังกล่าวผู้ควบคุมงานทําเครื่องหมายถูกว่าผู้ฟ้องคดีใช้วัสดุก่อสร้าง ใช้เครื่องมือจําเป็น และใช้แรงงานที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานพร้อมลงลายมือชื่อรับรองไว้ นอกจากนี้ ผู้ควบคุมงานได้มีบันทึกรายงานผลการก่อสร้างประจําสัปดาห์ต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยไม่ปรากฏข้อทักท้วงของผู้ควบคุมงานหรือคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าผู้ฟ้องคดีใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานหรือทํางานไม่เป็นไปตามขั้นตอนการก่อสร้าง 
          นอกจากนี้ ตามข้อ ๖๕ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ นั้น คณะกรรมการตรวจการจ้างมีอํานาจหน้าที่ตรวจและควบคุมงานจ้างในขณะที่งานจ้างกําลังอยู่ระหว่างดําเนินการหรือดําเนินการยังไม่แล้วเสร็จ มิใช่หน้าที่เฉพาะตรวจรับงานหลังจากที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างแล้วเท่านั้น เมื่อตลอดระยะเวลาการดําเนินงาน ผู้ถูกฟ้องคดีหรือคณะกรรมการตรวจการจ้าง หรือช่างผู้ควบคุมงานไม่ได้แจ้งความบกพร่องของงานว่าไม่ถูกต้องตามสัญญาอย่างไร เมื่อช่างผู้ควบคุมงานได้รายงานผลการก่อสร้างต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง โดยได้รับรองว่าการดําเนินงานตามโครงการของผู้ฟ้องคดีได้ทํางานแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาจ้าง กรณีนี้จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินงานตามสัญญาจ้างมิได้เป็นผู้ผิดสัญญาแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีตามสัญญา พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันส่งมอบงานไปจนกว่าจะชําระเงินครบถ้วน (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. ๗๒/๒๕๖๔)


28 ตุลาคม 2564

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

 

          มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
          “สิทธิบัตร” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้
          “แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้
          “ผู้ทรงสิทธิบัตร” หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตร

          สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงหมายความถึงการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปร่าง องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของแบบผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษที่ปรากฏแก่สายตา ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2557  การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 56 และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522

          ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม

          การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับจดทะเบียน จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ โดยการพิจารณาสาระสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นเหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วหรือไม่ 

          โดยมาตรา 57 กำหนดว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
          (1) แบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (2) แบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (3) แบบผลิตภัณฑ์ที่เคยมีประกาศโฆษณาตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 28 มาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
          (4) แบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใน (1) (2) หรือ (3) จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11133/2553  ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 กำหนดว่า แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" เมื่อสิทธิบัตรของโจทก์ระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่รูปร่างลักษณะของสปอยเลอร์รถจักรยาน แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่อ้างว่าได้คิดค้นขึ้นเป็นเหล็กแผ่นขึ้นรูปเป็นตัวยู เป็นรูปร่างที่ถูกจัดทำขึ้นตามลักษณะของการใช้สอย มากกว่าความสวยงาม เมื่อรูปร่างแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่มาก่อนแล้ว ในโฆษณาแบบผลิตภัณฑ์รถจักรยานจึงต้องถือว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2552  เมื่อโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายช้อนส้อมเช่นเดียวกับที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และต้องหยุดดำเนินการไป นับได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบหรือถูกโต้แย้งสิทธิแต่ผู้เดียวในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะกล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64 วรรคสอง ได้ความว่าช้อนส้อมของโจทก์มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ได้พิจารณาถึงแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1) และเมื่อไม่ปรากฏว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแตกต่างจากช้อนส้อมของโจทก์ เท่ากับว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยมีหรือใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรและถือว่าไม่มีความใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1)
          การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 ต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
          การที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่มีความใหม่ ย่อมจะไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64

          สิทธิในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
          ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย หรือมีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เว้นแต่การใช้แบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยผู้ทรงสิทธิบัตรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิบัตรนั้นด้วย

          อายุความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
          ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุสิบปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 16 หรือมาตรา 74 มิให้นับระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นอายุของสิทธิบัตรนั้น

03 กุมภาพันธ์ 2564

หน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดิน แต่ไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินตามวัตถุประสงค์การเวนคืน ... ต้องคืนเจ้าของเดิม | เวนคืนที่ดิน | คดีปกครอง

         สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งจะมีระบุไว้เสมอในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพยนั้น รัฐจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐ เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอยางอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น โดยกฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และกําหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท
          อย่างไรก็ดี แม้รัฐจะตรากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ตามอำนาจหน้าที่เพื่อ ประโยชน์สาธารณะตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ในทางปฏิบัติมีบางครั้งที่หน่วยงานทางปกครองผู้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์อาจไม่ได้นำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หรืออาจนำไปใช้เพียงบางส่วน ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพยกับหน่วยงานทางปกครองที่ใช้อำนาจนั้น


          ซึ่งมีกรณีตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 422/2558 กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งหมด แต่กลับนำที่ดินบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของการเวนคืน คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามกฎหมาย เนื้อที่ 30 ตารางวา แต่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี ถูกนำไปใช้เป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเนื้อที่ 12.65 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ได้ให้กรุงเทพมหานครใช้สร้างพื้นผิวจราจรและทางเท้า วางระบบสาธารณูปโภคบนที่ดิน เช่น ท่อระบายน้ำ ป้าย ต้นไม้ เครื่องหมายจราจรและอื่น ๆ ส่วนที่สองเนื้อที่ 17.35 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ นางสาว น. เช่าทำประโยชน์ เนื้อที่ 3.35 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 14 ตารางวา เป็นที่ว่างไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ที่ดินส่วนที่สองมิได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่ได้มีการนำไปหาผลประโยชน์ในทางธุรกิจโดยนำไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดิน จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย) คืนที่ดินส่วนนี้โดยยินยอมจะชำระเงิน ค่าที่ดินส่วนที่ขอคืนให้
          กรณีดังกล่าวจึงมีประเด็นปัญหาว่า จะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามขอบเขตวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน หรือไม่? และเจ้าของที่ดินมีสิทธิขอคืนที่ดินส่วนที่สองนั้นหรือไม่ ?ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ กำหนดไว้ว่า ตามปกติการที่รัฐจะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้เท่าที่มีความจำเป็นตามขอบเขตวัตถุประสงค์ แห่งการเวนคืน และต้องกำาหนดระยะเวลาเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง เมื่อรัฐได้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว รัฐย่อมจะต้องนำไปใช้ตามความจำเป็นภายในขอบเขตวัตถุประสงคแห่งการเวนคืน ถ้ารัฐมิได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน หรือใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนเพียงบางส่วน หรือมิได้ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ส่วนการคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทและการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไปให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530) ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 30 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ให้กรุงเทพมหานครใช้เพื่อก่อสร้างถนนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับทางขึ้น - ลงทางพิเศษศรีรัช และให้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษารวมทั้งใช้สอยเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ โดยเมื่อพิจารณาการนำที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกเวนคืนไปใช้ประโยชน์แล้วเห็นว่า ที่ดินส่วนแรกเป็นการนำที่ดินไปสร้างทางพิเศษตามความหมายของคำว่าทางพิเศษตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ที่บัญญัติว่า ทางพิเศษ หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ไม่ว่า ในระดับพื้นดิน ใต้พื้นดิน เหนือพ้นพื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ และหมายความ รวมถึง ... ทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหล่ทาง ท่อ ทางระบายน้ำ เครื่องหมายจราจรและอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ เกี่ยวกับงานทางพิเศษ อันถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้นําที่ดินส่วนแรกไปสร้างทางพิเศษตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว สำหรับที่ดินส่วนที่สอง ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้แสดง พยานหลักฐานเกี่ยวกับแผนงานการใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนนี้ต่อศาลและเมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนำที่ดินส่วนที่สองบางส่วนไปเรียกเก็บค่าเช่าจากนางสาว น. ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่สองในการสร้างทางพิเศษตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่ได้นําที่ดินที่บังคับเวนคืนมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งไม่อาจกระทําได้ แม้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จะมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาในการใช้ และการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 33 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) ได้บัญญัติให้ใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนเพื่อประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย และถ้าไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมาย ต้องคืนให้เจ้าของเดิม หรือทายาท เว้นแต่จะนำไปใช้ เพื่อการอื่นและโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งกรณีนี้มิใช่การตกลงซื้อขายกันตามมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นมาตรการหนึ่งในการที่รัฐโดยเจ้าหน้าที่เวนคืนสามารถที่จะเลือกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใต้บทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ฉะนั้น เมื่อไม่มีการใช้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่สองนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการตรากฎหมายเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นอีก ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะเรียกคืนที่ดินได้ โดยผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนที่ดินในส่วนที่สองให้แก่ผู้ฟ้องคดี
          พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันดำเนินการคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนเนื้อที่ 17.35 ตารางวา ให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินที่ได้รับจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

          คดีนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมานานแล้วขณะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มีผลใช้บังคับประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยในปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งออกใช้บังคับและได้มีบทบัญญัติในเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและเรื่องการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ซึ่งระบุให้ที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเริ่มดำเนินการตามวัตถุที่ประสงค์ในการเวนคืนไม่ช้ากว่าห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในเรื่องนั้นๆ หรือภายในระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วแต่กรณี หากไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนภายในระยะเวลา หรือเหลือจากการใช้ประโยชน์ ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทมีสิทธิขอคืนที่ดินนั้นได้ ซึ่งการขอคืนที่ดินดังกล่าว เจ้าของเดิมหรือทายาทต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าหน้าที่ภายในสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ในกรณีที่หากว่าที่ดินที่เวนคืนไปนั้นได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว ปรากฏว่าในภายหลังหมดความจำเป็นในการใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว หรือเมื่อพ้นระยะเวลาที่จะขอคืนตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว กรณีนี้เจ้าของเดิมหรือทายาทจะไม่มีสิทธิขอคืน ดังนั้น ปัจจุบันนี้การขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562




10 สิงหาคม 2563

การไฟฟ้าปักเสาไฟในที่ดินเอกชนโดยไม่ขออนุญาต | ละเมิด | คดีปกครอง


          การจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับเมืองไทยส่วนมาก โดยปกติแล้วเสาไฟฟ้าก็จะปักไปตามริมทางสาธารณะ แต่ในกรณีที่ไม่มีทางสาธารณะ ก็อาจจะมีบางครั้งที่จะต้องปักเสาและพาดสายผ่านที่ดินของเอกชน ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น
          ถ้าหากการปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินเอกชนนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอม การไฟฟ้าก็อาจถูกเจ้าของที่ดินฟ้องเนื่องจากการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากบริษัท ท.ได้ซื้อที่ดินในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2543 แล้วพบว่าการไฟฟ้านครหลวงได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ ผ่านที่ดินแปลงนี้ไปสู่ที่ดินแปลงอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
          บริษัท ท. จึงมีหนังสือแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์เหล่านั้นออกไปจากที่ดิน แต่การไฟฟ้านครหลวงกลับมีหนังสือแจ้งให้บริษัท ท. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาและสายไฟฟ้าออกไปเอง เป็นเงินจำนวน 173,100 บาท
          บริษัท ท. จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงก็ได้ต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีพิพาทนี้อยูในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

          ศาลแพ่งธนบุรีกับศาลปกครองกลางมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพงธนบุรีจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          ต่อมาบริษัท ท. จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวงต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนด้วย

          ต่อมาคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัท ท.ฟ้องว่าการไฟฟ้านครหลวงปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินของตนเพื่อส่งผ่านไปยังที่ดินแปลงอื่น ทำให้บริษัท ท. ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าดังกล่าวออกไปและจ่ายค่าเสียหายให้แก่ตน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          เมื่อบริษัท ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่การไฟฟ้านครหลวงไปดำเนินการปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นผ่านไปสู่ที่ดินแปลงอื่น บริษัท ท. จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของการไฟฟ้านครหลวง และคำขอของบริษัท ท. ที่ขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าออกไปพร้อมจ่ายค่าเสียหายเป็นคำขอที่ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับได้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

          ในส่วนเรื่องของระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่การไฟฟ้านครหลวงปักเสา พาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นลงในที่ดินของบริษัท ท. โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ท. และตราบใดที่ยังไม่มีการรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากที่ดิน ย่อมถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดเวลาจนถึงวันฟ้องคดี บริษัท ท. จึงยื่นฟ้องคดีนี้ได้ตลอดตราบเท่าที่ยังคงมีการกระทำละเมิด และถือเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของบริษัท ท. ที่ขอให้ การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนไว้พิจารณาได้

          (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 419/2560)

          ทั้งนี้ การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้ องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542