10 ส.ค. 2563

การไฟฟ้าปักเสาไฟในที่ดินเอกชนโดยไม่ขออนุญาต | ละเมิด | คดีปกครอง


          การจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับเมืองไทยส่วนมาก โดยปกติแล้วเสาไฟฟ้าก็จะปักไปตามริมทางสาธารณะ แต่ในกรณีที่ไม่มีทางสาธารณะ ก็อาจจะมีบางครั้งที่จะต้องปักเสาและพาดสายผ่านที่ดินของเอกชน ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น
          ถ้าหากการปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินเอกชนนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอม การไฟฟ้าก็อาจถูกเจ้าของที่ดินฟ้องเนื่องจากการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากบริษัท ท.ได้ซื้อที่ดินในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2543 แล้วพบว่าการไฟฟ้านครหลวงได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ ผ่านที่ดินแปลงนี้ไปสู่ที่ดินแปลงอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
          บริษัท ท. จึงมีหนังสือแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์เหล่านั้นออกไปจากที่ดิน แต่การไฟฟ้านครหลวงกลับมีหนังสือแจ้งให้บริษัท ท. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาและสายไฟฟ้าออกไปเอง เป็นเงินจำนวน 173,100 บาท
          บริษัท ท. จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงก็ได้ต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีพิพาทนี้อยูในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

          ศาลแพ่งธนบุรีกับศาลปกครองกลางมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพงธนบุรีจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          ต่อมาบริษัท ท. จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวงต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนด้วย

          ต่อมาคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัท ท.ฟ้องว่าการไฟฟ้านครหลวงปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินของตนเพื่อส่งผ่านไปยังที่ดินแปลงอื่น ทำให้บริษัท ท. ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าดังกล่าวออกไปและจ่ายค่าเสียหายให้แก่ตน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          เมื่อบริษัท ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่การไฟฟ้านครหลวงไปดำเนินการปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นผ่านไปสู่ที่ดินแปลงอื่น บริษัท ท. จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของการไฟฟ้านครหลวง และคำขอของบริษัท ท. ที่ขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าออกไปพร้อมจ่ายค่าเสียหายเป็นคำขอที่ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับได้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

          ในส่วนเรื่องของระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่การไฟฟ้านครหลวงปักเสา พาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นลงในที่ดินของบริษัท ท. โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ท. และตราบใดที่ยังไม่มีการรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากที่ดิน ย่อมถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดเวลาจนถึงวันฟ้องคดี บริษัท ท. จึงยื่นฟ้องคดีนี้ได้ตลอดตราบเท่าที่ยังคงมีการกระทำละเมิด และถือเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของบริษัท ท. ที่ขอให้ การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนไว้พิจารณาได้

          (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 419/2560)

          ทั้งนี้ การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้ องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542