12 กันยายน 2560

ฝากทรัพย์

          สัญญาฝากทรัพย์ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝากส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝากและ ผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตน แล้วจะคืนให้ (มาตรา 657)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549  การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้า คอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออกเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์
          บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แจกให้แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถยนต์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ารถของลูกค้า ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้ หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ กล่าวคือ บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่าบัตรจอดรถยังอยู่กับโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทแต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2541  โจทก์นำรถยนต์ไปฝากไว้กับจำเลย จำเลยเรียกเก็บค่าฝากเป็นรายเดือน มีระเบียบว่าเจ้าของรถต้องฝากกุญแจไว้กับจำเลยเพื่อจำเลยเลื่อนรถได้ในกรณีที่มีรถอื่นเข้ามาจอด ซึ่งโจทก์ได้มอบกุญแจรถให้จำเลยทุกครั้งที่มาจอดพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ หาใช่เป็นเรื่องให้เช่าสถานที่จอดรถไม่

          หน้าที่ของผู้รับฝาก
          (1) กรณีรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่า ไม่มีบำเหน็จ ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝาก นั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง (มาตรา 659 วรรคหนึ่ง)
          (2) กรณีที่การรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือ เพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย (มาตรา 659 วรรคสอง)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10082/2551  การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์ไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความ ระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆไปในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร จำเลยใช้ห้องแถวซึ่งอยู่ติดกับถนนเป็นที่ตั้งอู่ บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน แสดงว่าอู่ของจำเลยเป็นอู่ขนาดเล็กย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือ จัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน การที่จำเลยจอดรถยนต์กระบะคันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู เมื่อพบว่ารถยนต์คันพิพาทหายไป ก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว
          (3) กรณีที่ผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะ อย่างนั้น (มาตรา 659 วรรคสาม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8144/2548  การที่โจทก์กับ ม. ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็น สาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์ มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญา ฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์ และ ม. จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือ ปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการ ธนาคารพาณิชย์ของตน เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝาก เป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย
          ขณะที่โจทก์กับ ม. เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม. ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม. เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม. ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม. จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2540  ธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอาชีพรับฝากเงินจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ผู้ฝากเงินให้ละเอียดรอบคอบ เมื่อเปรียบเทียบลายมือโจทก์ในใบถอนเงินฝากกับลายมือโจทก์ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อผู้ฝากและสมุดคู่ฝากแล้ว เห็นได้ว่าลักษณะการเขียนและลายเส้นลายหนาแตกต่างกัน เช่นตัว "ย" เป็นต้น เมื่อปรากฎด้วยว่าลายมือในใบถอนเงินฝากก็มิใช่เป็นของโจทก์ทั้งหมด จึงเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะหากโจทก์มาถอนเงินด้วยตนเองก็น่าจะต้องกรอกข้อความทั้งหมดด้วยตนเอง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงควรจะต้องสอบถามให้ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้กรอกข้อความร่วมกับผู้ถอนหรือขอตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อให้ลายละเอียดรอบคอบมากขึ้น แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตรวจลายมือชื่อโจทก์โดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ตรวจในภาวะเช่นจำเลยที่ 4 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จำเลยที่ 4 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เพียงแต่ทำสมุดคู่ฝากหายไปเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เพราะมีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินและนำไปถอนเงินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้ผู้ปลอมไปโดยประมาทเลินเล่อโดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย ดังนี้เหตุที่โจทก์ทำสมุดหาย จึงไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้เกิดเหตุในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีส่วนร่วมในความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6280/2538  จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ การที่เช็คพิพาทซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นจนกระทั่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์นั้นแสดงว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็คดังกล่าวอันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ
          (4) ห้ามผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษา ยกเว้นแต่ผู้ฝากจะอนุญาต หากผู้รับฝากฝ่าฝืนก็จะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง (มาตรา 660)
          (5) ผู้รับฝากต้อง รับบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน ถ้า
               ก. บุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝาก หรือ
               ข. บุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยึดทรัพย์สินนั้น
          (6) ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากไว้ ดังนี้
               ก. ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ผู้รับฝากไม่มีสิทธิจะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
               ข. ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ผู้รับฝากอาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ
               ค. ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท

          หน้าที่ของผู้ฝาก
          (1) ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย
          (2) ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง
          (3) สำหรับกรณีฝากทรัพย์มีบำเหน็จก็ต้องมีหน้าที่จ่ายค่าบำเหน็จ โดยถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝากทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไร ให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็นระยะอย่างไรก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป


          อายุความ
          ความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ หรือชดใช้เงินค่าใช้จ่าย หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2547  เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือและรับจ้างขนสินค้าขึ้นจากเรือได้ขนถ่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งหมด ขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลย โดยมีการคิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ อันมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2546  โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝากเป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไป จากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ยังไม่ครบ 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่ขาดอายุความ

31 สิงหาคม 2560

หน่วยงานรัฐใช้ดุลพินิจในการกําหนดจุดและรูปแบบเพื่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนสาธารณะ แต่ปิดทางเข้าออกที่ดินเอกชน | ละเมิด | คดีปกครอง

          กรณีที่ กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ดําเนินการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนบริเวณด้านหน้าที่ดินของเอกชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ผู้ฟ้องคดี) แต่บันไดสะพานปิดทางเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกือบทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกที่ดินได้และผู้ฟ้องคดีได้ขอให้แก้ไขแล้ว แต่กรมทางหลวงไม่ได้ดําเนินการแก้ไขให้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้กรมทางหลวงแก้ไขแบบบันไดสะพาน

          โดยที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินว่างเปล่าหน้ากว้าง 10 เมตร และไม่ได้อาศัยในที่ดินแปลงนั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่ามีการก่อสร้างสะพานปิดบังหน้าที่ดิน ภายหลังการก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จตามสัญญา  แต่กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) อ้างว่า ก่อนดําเนินการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน มีการติดป้ายประกาศแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันแล้ว และไม่ได้แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะมีการก่อสร้างสะพานในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้เสนอแนวทางแก้ไขตําแหน่งบันไดสะพานตามรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) กล่าวอ้างต่อศาลปกครองสูงสุดว่า จุดก่อสร้างสะพานเป็นถนน 4 ช่องจราจร ใกล้สี่แยกไฟจราจร อยู่ในบริเวณย่านชุมชนหนาแน่น มีการจราจรคับคั่ง ใกล้ตลาดและโรงเรียน มีนักเรียนและประชาชนเดินข้ามเป็นจํานวนมากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สามารถอํานวยความสะดวกปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางให้ได้รับประโยชน์สูงสุด




          มีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเป็นการดําเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? 

          โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งการใช้ดุลพินิจในการกําหนดจุดและรูปแบบในการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน เป็นการดําเนินกิจการทางปกครองเพื่อบริการสาธารณะ โดยจะต้องดําเนินการชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนและคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อการก่อสร้างสะพานมีบันไดสะพานที่มีความยาว 11.30 เมตร ปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีความยาว 10 เมตร เกือบตลอดทั้งแนว และที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีทางเข้าออกเฉพาะด้านหน้าที่ดินเพียงทางเดียว ส่วนด้านหลังและด้านข้างทั้งสองข้างของที่ดินติดกับที่ดินของเอกชน ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกถนนได้ อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินเพียงรายเดียวที่บันไดสะพานคนเดินข้ามถนนพาดผ่าน ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมเล็งเห็นได้ว่า การก่อสร้างบันไดสะพานคนเดินข้ามถนนดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีติดป้ายประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่มิได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ให้ข้อมูล ชี้แจงและให้เหตุผลแก่ผู้ฟ้องคดีก่อนจะมีการกําหนดตําแหน่ง แบบรูปสะพานและดําเนินการก่อสร้างสะพาน และไม่คํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และแม้ว่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวจะเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะและการกําหนดจุดก่อสร้างสะพานจะเกิดประโยชน์่อประชาชนผู้เดินข้ามถนนก็ตาม แต่ในการจัดทําบริการสาธารณะจะต้องคํานึงถึงความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างด้วย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างบันไดสะพานคนข้ามถนน ซึ่งมีบันไดสะพานทอดยาวปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกือบตลอดทั้งแนว จนทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกถนนและไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสมควร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่เหมาะสมและเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องดําเนินการแก้ไขแบบบันไดสะพานคนเดินข้ามถนน เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ เมื่อการแก้ไขบันไดสะพานคนข้ามตามแบบรูปสะพานที่ผู้ถูกฟ้องคดีเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดทําให้ไม่ปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกถนนและใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสมควร จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่มีคําพิพากษา (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1491/2559)

          ผลของคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได่มีคําสั่งให้กรมทางหลวงชี้แจงเกี่ยวกับการแก่ไขแบบบันไดสะพานที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกที่ดินได้ โดยให้คํานึงถึงความปลอดภัยของโครงสร้าง ความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้สะพานและประโยชน์ใช้สอยของสะพานคนเดินข้ามเป็นสําคัญ โดยคำนึงถึงความสําคัญของ “หลักความได้สัดส่วน” ที่เข้ามาควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อํานาจตามอําเภอใจ แม้จะเป็นการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดให้กระทําได้ก็ตาม




20 สิงหาคม 2560

หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

          มาตรา 310  "ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น"

          องค์ประกอบความผิด
          (1) ผู้ใด
          (2) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
          (3) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)


          การหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรานี้ อาจเป็นการกระทำโดยเคลื่อนไหว หรืองดเว้นการเคลื่อนไหวร่างกายก็ได้
          หน่วงเหนี่ยว คือ ทำให้บุคคลต้องอยู่ ณ ที่นั้นเท่านั้น ไม่ให้ไปจุดอื่น
          กังขัง คือ การบังคับให้คนอยู่ในพื้นที่จำกัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2532  จำเลยที่ 1 กับพวกขับรถพาผู้เสียหายไปยังที่เปลี่ยวแล้วปลุกปล้ำจับหน้าอกและถอดเสื้อกางเกงผู้เสียหาย พอดีมีรถยนต์บรรทุกผ่านมา จำเลยที่ 1 จึงขับรถพาผู้เสียหายไปยังบ่อเลี้ยงปลาและดึงตัวผู้เสียหายลงมาจากรถ จำเลยที่ 1 กอดจูบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 กระชากกางเกงของผู้เสียหายออก ผู้เสียหายดิ้นหลุดแล้วกระโดดลงไปในบ่อเลี้ยงปลา จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกพูดข่มขู่ว่าถ้าไม่ขึ้นมาจะตามลงไปกดให้ตายบ้าง จะเอาไฟฟ้าช็อตบ้าง ทั้งมีพวกจำเลยบางคนถอดเสื้อกางเกงออกหมด บางคนเหลือแต่กางเกงในเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่กล้าขึ้น ต้องทนทรมานอยู่ในบ่อถึง 1 ชั่วโมงเศษ และที่ผู้เสียหาขึ้นจากบ่อก็เพราะถูกหลอกว่าพวกจำเลยไปหมดแล้ว ผู้เสียหายจึงขึ้นมาแล้วถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกจับตัว ข่มขืนกระทำชำเราการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและฐานหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2546  การที่จำเลยจับผู้เสียหายกดน้ำจนหมดสติ อันเป็นการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าสำเร็จขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงอุ้มผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ของจำเลย ซึ่ง ก. ได้ตามมาพูดขอตัวผู้เสียหายเพื่อนำไปส่งโรงพยาบาล แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ จึงเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ซึ่งมีเจตนาต่างหากอีกกรรมหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2554  การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก
          การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385-2387/2554  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2545  จำเลยกับพวกขึ้นไปบนบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจับแขนผู้เสียหายที่ 2 ลากลงจากบ้านพาไปข่มขืนกระทำชำเรายังบ้านที่เกิดเหตุนั้นเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน และตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจารและข่มขืนกระทำเรา   มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่หลังจากที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยกับพวกใส่กลอนขังผู้เสียหายที่ 2 ไว้ในห้องนอนโดยมีพวกของจำเลยอยู่ข้างล่าง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อาจหลบหนีไปได้ การกระทำของจำเลยกับพวกในส่วนหลังนี้จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 อีกกรรมหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2542  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหายที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้นแต่เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบอีกทั้งไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหาไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2520  ล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่ ทำให้โจทก์ออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ โจทก์ต้องปีนกำแพงรั้วกระโดดลงมาได้รับบาดเจ็บ เป็นความผิดตาม ประมวกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก

          ถ้ากรณีที่ผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ ก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2515  จำเลยเป็นจ่าสิบตำรวจและสิบตำรวจเอกได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ  เมื่อนำไปยังสถานีตำรวจแล้วผู้เสียหายยังร้องเอะอะอาละวาด เตะโน่นเตะนี่ เดินไปมาและจะลงไปจากสถานีตำรวจ  จำเลยจึงเอาตัวผู้เสียหายเข้าไปขังไว้ในห้องขังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย  และเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย  ดังนี้ไม่ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2524  การที่จำเลยมีความเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 156/2523 ให้ต่อสู้คดีแทน ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำให้การจำเลยโดยโจทก์มิได้จดทะเบียนทนายความ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติทนายความจึงให้โจทก์รออยู่ในห้องผู้พิพากษาเพื่อให้ตำรวจมาควบคุมตัวโจทก์ไปดำเนินคดี หากไม่รอจำเลยจะลงโทษโจทก์ฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นการกล่าวอ้างตามอำนาจที่จำเลยมีอยู่ตามกฎหมาย ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310

          ถ้าหากตัวของผู้ถูกกระทำยังสามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518  จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้  การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2531  จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้ ก.และได้ส่งมอบตึกพิพาทให้ ก. แล้ว ก. ว่าจ้างโจทก์ซ่อมแซมตึกพิพาทและอนุญาตให้โจทก์กับครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในตึกดังกล่าว แม้ต่อมา ก. ไม่ชำระค่าโอนสิทธิการเช่าส่วนที่ค้าง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับ ก. ในทางแพ่ง การที่จำเลยใช้กุญแจใส่ประตูตึกพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ตึกพิพาทได้อีก จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) แต่ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ หรือกระทำด้วยประการใดให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2527  ในวันเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างขับรถมาจอดติดการจราจรอยู่ด้วยกัน โดยรถจำเลยที่ 1 จอดอยู่ข้างหน้ารถโจทก์ ปรากฏว่ามีเสียงแตรดังมาทางด้านหลัง จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์เป็นคนบีบแตรไล่ เมื่อการจราจรบางลงจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ขับรถต่อไปและไปติดสัญญาณไฟแดงด้วยกัน  จำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถมาถามโจทก์ว่าบีบแตรไล่ทำไม โจทก์ตอบว่าไม่ได้บีบ เกิดโต้เถียงกัน โจทก์ได้พูดขึ้นว่า จะเป็นทหารเกเรหรืออย่างไร จำเลยโกรธจึงจับแขนโจทก์ซึ่งวางพาดประตูรถพร้อมกับพูดว่าลงมาลงมา ขอตะบันหน้าหน่อย โจทก์สะบัดแขนหลุดและไม่ยอมลงจากรถเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 จับแขนโจทก์ชักชวนให้โจทก์ลงมาจากรถก็เพื่อให้โจทก์ลงมาวิวาทกับจำเลยเท่านั้น  การกระทำของจำเลยมิใช่การข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309  จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          ต่อมาหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 เกิดโต้เถียงกันดังกล่าวแล้วในระหว่างที่โจทก์ขับรถไปตามถนน จำเลย ที่ 1 ได้ขับรถไล่ตามกลั่นแกล้งโจทก์ โดยขับรถปาดหน้ารถโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องหยุดรถอย่างกระทันหัน ดังนี้ แม้ขณะโจทก์ขับรถอยู่โจทก์ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการขับรถไปตามถนนสาธารณะตามสิทธิที่กฎหมายรับรองได้กรณีจำเลยที่ 1 ขับรถเข้ามาปาดหน้ารถโจทก์และปิดกั้นรถโจทก์ไม่ ให้โจทก์ขับรถไปโดยสะดวก เมื่อจำเลยปาดหน้ารถโจทก์ โจทก์กลัวว่ารถโจทก์จะชนรถของจำเลยโจทก์ก็ต้องหยุดรถ การที่จำเลยขับรถปาดหน้ารถโจทก์ให้โจทก์หยุดรถขับรถไปไม่ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหน่วงเหนี่ยว กักขังกระทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310  จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้(ผิดมาตรา 309)

          ถ้าขาดเจตนา การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2532  จำเลยกับผู้เสียหายแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายแยกกันอยู่แต่มิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกักขังเพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน และบุตรก็ยังอยู่กับจำเลย อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำโดยมีเจตนาร้ายไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง

          เหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้น
          ถ้าการหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น ตามมาตรา 310 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2554  ผู้ตายซึ่งมีสามีแล้วไม่ได้ยินยอมไปโรงแรมกับจำเลยตั้งแต่ต้น บาดแผลที่ปรากฏให้เห็นภายนอกร่างกายของผู้ตายซึ่งมีโลหิตไหลจากศีรษะและรูหูทั้งสองข้าง วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าผู้ตายอาการหนักต้องรีบนำผู้ตายไปโรงพยาบาลแทนที่จะพาผู้ตายเข้าโรงแรม และยังปรากฏว่าจำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากร้านอาหารผ่านบ้านพักผู้ตายแล้วขับรถวกวนจนกระทั่งพาผู้ตายไปโรงแรมซึ่งอยู่คนละเส้นทาง เชื่อว่า จำเลยไม่มีเจตนาพาผู้ตายไปส่งบ้านพัก หากจำเลยนำผู้ตายไปส่งบ้านพักตามความต้องการของผู้ตายแล้ว เหตุคดีนี้คงไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ตายตกลงจากรถจนถึงแก่ความตายเป็นเพราะผู้ตายไม่ต้องการไปกับจำเลยตามเจตนาของจำเลย สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย


          หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้กระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น
          มาตรา 310 ทวิ  "ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท"


          ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
          มาตรา 311  "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 หรือมาตรา 300"


ความผิดต่อเสรีภาพ

          มาตรา 309  "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท"


          องค์ประกอบความผิด
          (1) ผู้ใด
          (2) ขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย
          (3) จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          การข่มขืนใจทำได้ 2 วิธี คือ
          (1) โดยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน คือ ไม่จำกัดวิธี อาจจะโดยการพูด เขียน หรือหลอกให้กลัวก็ได้
          (2) โดยใช้กำลังประทุษร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2513  จำเลยกับโจทก์ร่วมเข้าหุ้นทำการก่อสร้างโรงเรียนร่วมกัน  จำเลยพาพวกซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปขู่เข็ญให้โจทก์ร่วมคิดบัญชีการเงินเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงเรียน  โจทก์ร่วมไม่ยอมคิดบัญชีประกอบกับขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา  จำเลยกับพวกจึงบังคับให้โจทก์ร่วมคิดบัญชีไม่สำเร็จ  เช่นนี้  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก  เพราะจำเลยไม่มีทางได้ประโยชน์ในทางทรัพย์โดยมิชอบแต่อย่างใด  แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309  วรรค 2  ประกอบมาตรา 80, 83  เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตจนยอมคิดบัญชีให้  และจำเลยได้กระทำไปโดยตลอดแล้วเพื่อให้โจทก์ร่วมกลัวและปฏิบัติตามความประสงค์ของจำเลย

          ความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 เป็นความผิดที่ต้องการผล คือ ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด อันเนื่องมาจากผลของความกลัวหรือจากการประทุษร้ายนั้น แต่ถ้าผลไม่เกิดก็ไม่เป็นความผิดสำเร็จ เป็นได้แค่พยายามเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436/2534  การที่จำเลยซึ่งโดยสารรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายมายังไม่ถึงจุดหมายบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวรถกลับไปส่งที่เดิม เมื่อผู้เสียหายเลี้ยวรถจำเลยกลับกระโดดลงจากรถแล้วบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ และเมื่อพวกจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ตามมาบอกให้ยิง จำเลยก็จ้องปืนมาทางผู้เสียหายครั้นผู้เสียหายไม่หยุดรถและขับรถหลบหนีไป จำเลยก็ยิงปืนขึ้นกรณีไม่ปรากฏเหตุผลอย่างไรที่จำเลยจะต้องให้ผู้เสียหายหยุดรถจนถึงขนาดต้องใช้อาวุธปืนในการบังคับขู่เข็ญเช่นนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายกระทำการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพโดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองแต่เมื่อผู้เสียหายไม่หยุดรถตามที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2546  การที่จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้ บ. นั่งซ้อนท้ายไปด้วยกัน และจำเลยจอดรถจักรยานยนต์ให้ บ. ลงจากรถไปและใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหายทั้งสองให้ลงจากรถจักรยานยนต์โดยจำเลยมิได้ห้ามปราม จึงถือได้ว่าจำเลยร่วมกระทำการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองให้กระทำการใดไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพโดยมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง แต่เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมลงจากรถจักรยานยนต์ตามที่ บ. ข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406-2408/2519  เจ้าพนักงานตำรวจได้ข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินแก่ตน 500 บาทโดยกล่าวหาว่าเล่นการพนัน เมื่อผู้เสียหายขอให้เพียง 100 บาทก็ไม่พอใจ ทำร้ายผู้เสียหายและแกล้งจับโดยไม่มีอำนาจนำไปส่งสถานีตำรวจเช่นนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337 วรรค 2, 309 วรรค 2 และ 295 โดยสำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และความผิดฐานกรรโชกตามมาตรา 337 นั้น ผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้นแล้ว แม้จะยอมไม่เต็มตามที่ถูกเรียกร้องก็เป็นความผิดสำเร็จ ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 148 เพียงแต่ผู้กระทำผิดมีเจตนาจะให้เขาส่งมอบทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ผู้ถูกข่มขืนใจจะไม่ยอมตามนั้นก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2522   จำเลยที่ 1 เข้าไปนั่งในรถแล้วใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้ ส.  ซึ่งเป็นคนขับรถนั่งเฉยๆและให้เอามือวางไว้ที่พวงมาลัยจน ส.  เกิดความ กลัวจำต้องปฏิบัติตามโดยยอมนั่งเฉยๆและต้องเอามือวางไว้ที่พวงมาลัย ตามที่จำเลยข่มขืนใจให้กระทำ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จ ตามมาตรา 309 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่

          มาตรา 209  "ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          องค์ประกอบความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง
          (1) ผู้ใด
          (2) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล
          (3) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)


          เป็นสมาชิกของคณะบุคคล หมายความว่า มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแสดงออกซึ่งเจตนาเข้าร่วมความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543  จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง

          คณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ หมายความว่า รู้กันเป็นการภายในเฉพาะหมู่คณะ ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301-303/2470  จำเลยจัดการชักชวนให้ราษฎรหลายตำบลสาบานตัวเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมซึ่งมิได้จดทะเบียนและมีวัตถุประสงค์จะป้องกันการโจรกรรมในระหว่างสมาชิก และคอยช่วยเหลือหาพยานเท็จ และออกเงินช่วยเหลือเมื่อสมาชิกต้องหาในคดีอาญา มีเครื่องหมายสมาคมรู้กันอยู่ในระหว่างสมาชิกเท่านั้น ดังนี้ วัตถุประสงค์ของสมาคมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่เครื่องหมายของสมาคมรู้กันได้เฉพาะระหว่างสมาชิกนั้น ย่อมแสดงว่าสมาคมนี้ปกปิดวิธีดำเนินการ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่

          คณะบุคคลซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้ไม่จำเป็นถึงขั้นลงมือกระทำ เพียงแค่เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2557  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556   ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก
          เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


          มาตรา 209 วรรคสอง  "ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          มาตรา 209 วรรคสองเป็นเหตุฉกรรจ์ กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็น
          (1) หัวหน้า
          (2) ผู้จัดการ
          (3) ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น เช่น รองหัวหน้า เหรัญญิก ที่ปรึกษา เป็นต้น