20 สิงหาคม 2560

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่

          มาตรา 209  "ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          องค์ประกอบความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง
          (1) ผู้ใด
          (2) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล
          (3) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)


          เป็นสมาชิกของคณะบุคคล หมายความว่า มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแสดงออกซึ่งเจตนาเข้าร่วมความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543  จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง

          คณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ หมายความว่า รู้กันเป็นการภายในเฉพาะหมู่คณะ ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301-303/2470  จำเลยจัดการชักชวนให้ราษฎรหลายตำบลสาบานตัวเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมซึ่งมิได้จดทะเบียนและมีวัตถุประสงค์จะป้องกันการโจรกรรมในระหว่างสมาชิก และคอยช่วยเหลือหาพยานเท็จ และออกเงินช่วยเหลือเมื่อสมาชิกต้องหาในคดีอาญา มีเครื่องหมายสมาคมรู้กันอยู่ในระหว่างสมาชิกเท่านั้น ดังนี้ วัตถุประสงค์ของสมาคมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่เครื่องหมายของสมาคมรู้กันได้เฉพาะระหว่างสมาชิกนั้น ย่อมแสดงว่าสมาคมนี้ปกปิดวิธีดำเนินการ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่

          คณะบุคคลซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้ไม่จำเป็นถึงขั้นลงมือกระทำ เพียงแค่เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2557  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556   ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก
          เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


          มาตรา 209 วรรคสอง  "ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          มาตรา 209 วรรคสองเป็นเหตุฉกรรจ์ กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็น
          (1) หัวหน้า
          (2) ผู้จัดการ
          (3) ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น เช่น รองหัวหน้า เหรัญญิก ที่ปรึกษา เป็นต้น