31 ส.ค. 2560

หน่วยงานรัฐใช้ดุลพินิจในการกําหนดจุดและรูปแบบเพื่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนสาธารณะ แต่ปิดทางเข้าออกที่ดินเอกชน | ละเมิด | คดีปกครอง

          กรณีที่ กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ดําเนินการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนบริเวณด้านหน้าที่ดินของเอกชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ผู้ฟ้องคดี) แต่บันไดสะพานปิดทางเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกือบทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกที่ดินได้และผู้ฟ้องคดีได้ขอให้แก้ไขแล้ว แต่กรมทางหลวงไม่ได้ดําเนินการแก้ไขให้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้กรมทางหลวงแก้ไขแบบบันไดสะพาน

          โดยที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินว่างเปล่าหน้ากว้าง 10 เมตร และไม่ได้อาศัยในที่ดินแปลงนั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่ามีการก่อสร้างสะพานปิดบังหน้าที่ดิน ภายหลังการก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จตามสัญญา  แต่กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) อ้างว่า ก่อนดําเนินการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน มีการติดป้ายประกาศแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันแล้ว และไม่ได้แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะมีการก่อสร้างสะพานในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้เสนอแนวทางแก้ไขตําแหน่งบันไดสะพานตามรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) กล่าวอ้างต่อศาลปกครองสูงสุดว่า จุดก่อสร้างสะพานเป็นถนน 4 ช่องจราจร ใกล้สี่แยกไฟจราจร อยู่ในบริเวณย่านชุมชนหนาแน่น มีการจราจรคับคั่ง ใกล้ตลาดและโรงเรียน มีนักเรียนและประชาชนเดินข้ามเป็นจํานวนมากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สามารถอํานวยความสะดวกปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางให้ได้รับประโยชน์สูงสุด




          มีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเป็นการดําเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? 

          โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งการใช้ดุลพินิจในการกําหนดจุดและรูปแบบในการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน เป็นการดําเนินกิจการทางปกครองเพื่อบริการสาธารณะ โดยจะต้องดําเนินการชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนและคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อการก่อสร้างสะพานมีบันไดสะพานที่มีความยาว 11.30 เมตร ปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีความยาว 10 เมตร เกือบตลอดทั้งแนว และที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีทางเข้าออกเฉพาะด้านหน้าที่ดินเพียงทางเดียว ส่วนด้านหลังและด้านข้างทั้งสองข้างของที่ดินติดกับที่ดินของเอกชน ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกถนนได้ อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินเพียงรายเดียวที่บันไดสะพานคนเดินข้ามถนนพาดผ่าน ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมเล็งเห็นได้ว่า การก่อสร้างบันไดสะพานคนเดินข้ามถนนดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีติดป้ายประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่มิได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ให้ข้อมูล ชี้แจงและให้เหตุผลแก่ผู้ฟ้องคดีก่อนจะมีการกําหนดตําแหน่ง แบบรูปสะพานและดําเนินการก่อสร้างสะพาน และไม่คํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และแม้ว่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวจะเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะและการกําหนดจุดก่อสร้างสะพานจะเกิดประโยชน์่อประชาชนผู้เดินข้ามถนนก็ตาม แต่ในการจัดทําบริการสาธารณะจะต้องคํานึงถึงความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างด้วย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างบันไดสะพานคนข้ามถนน ซึ่งมีบันไดสะพานทอดยาวปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกือบตลอดทั้งแนว จนทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกถนนและไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสมควร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่เหมาะสมและเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องดําเนินการแก้ไขแบบบันไดสะพานคนเดินข้ามถนน เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ เมื่อการแก้ไขบันไดสะพานคนข้ามตามแบบรูปสะพานที่ผู้ถูกฟ้องคดีเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดทําให้ไม่ปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกถนนและใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสมควร จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่มีคําพิพากษา (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1491/2559)

          ผลของคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได่มีคําสั่งให้กรมทางหลวงชี้แจงเกี่ยวกับการแก่ไขแบบบันไดสะพานที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกที่ดินได้ โดยให้คํานึงถึงความปลอดภัยของโครงสร้าง ความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้สะพานและประโยชน์ใช้สอยของสะพานคนเดินข้ามเป็นสําคัญ โดยคำนึงถึงความสําคัญของ “หลักความได้สัดส่วน” ที่เข้ามาควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อํานาจตามอําเภอใจ แม้จะเป็นการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดให้กระทําได้ก็ตาม