20 สิงหาคม 2560

หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

          มาตรา 310  "ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น"

          องค์ประกอบความผิด
          (1) ผู้ใด
          (2) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
          (3) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)


          การหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรานี้ อาจเป็นการกระทำโดยเคลื่อนไหว หรืองดเว้นการเคลื่อนไหวร่างกายก็ได้
          หน่วงเหนี่ยว คือ ทำให้บุคคลต้องอยู่ ณ ที่นั้นเท่านั้น ไม่ให้ไปจุดอื่น
          กังขัง คือ การบังคับให้คนอยู่ในพื้นที่จำกัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2532  จำเลยที่ 1 กับพวกขับรถพาผู้เสียหายไปยังที่เปลี่ยวแล้วปลุกปล้ำจับหน้าอกและถอดเสื้อกางเกงผู้เสียหาย พอดีมีรถยนต์บรรทุกผ่านมา จำเลยที่ 1 จึงขับรถพาผู้เสียหายไปยังบ่อเลี้ยงปลาและดึงตัวผู้เสียหายลงมาจากรถ จำเลยที่ 1 กอดจูบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 กระชากกางเกงของผู้เสียหายออก ผู้เสียหายดิ้นหลุดแล้วกระโดดลงไปในบ่อเลี้ยงปลา จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกพูดข่มขู่ว่าถ้าไม่ขึ้นมาจะตามลงไปกดให้ตายบ้าง จะเอาไฟฟ้าช็อตบ้าง ทั้งมีพวกจำเลยบางคนถอดเสื้อกางเกงออกหมด บางคนเหลือแต่กางเกงในเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่กล้าขึ้น ต้องทนทรมานอยู่ในบ่อถึง 1 ชั่วโมงเศษ และที่ผู้เสียหาขึ้นจากบ่อก็เพราะถูกหลอกว่าพวกจำเลยไปหมดแล้ว ผู้เสียหายจึงขึ้นมาแล้วถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกจับตัว ข่มขืนกระทำชำเราการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและฐานหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2546  การที่จำเลยจับผู้เสียหายกดน้ำจนหมดสติ อันเป็นการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าสำเร็จขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงอุ้มผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ของจำเลย ซึ่ง ก. ได้ตามมาพูดขอตัวผู้เสียหายเพื่อนำไปส่งโรงพยาบาล แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ จึงเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ซึ่งมีเจตนาต่างหากอีกกรรมหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2554  การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก
          การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385-2387/2554  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2545  จำเลยกับพวกขึ้นไปบนบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจับแขนผู้เสียหายที่ 2 ลากลงจากบ้านพาไปข่มขืนกระทำชำเรายังบ้านที่เกิดเหตุนั้นเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน และตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจารและข่มขืนกระทำเรา   มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่หลังจากที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยกับพวกใส่กลอนขังผู้เสียหายที่ 2 ไว้ในห้องนอนโดยมีพวกของจำเลยอยู่ข้างล่าง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อาจหลบหนีไปได้ การกระทำของจำเลยกับพวกในส่วนหลังนี้จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 อีกกรรมหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2542  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหายที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้นแต่เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบอีกทั้งไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหาไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2520  ล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่ ทำให้โจทก์ออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ โจทก์ต้องปีนกำแพงรั้วกระโดดลงมาได้รับบาดเจ็บ เป็นความผิดตาม ประมวกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก

          ถ้ากรณีที่ผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ ก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2515  จำเลยเป็นจ่าสิบตำรวจและสิบตำรวจเอกได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ  เมื่อนำไปยังสถานีตำรวจแล้วผู้เสียหายยังร้องเอะอะอาละวาด เตะโน่นเตะนี่ เดินไปมาและจะลงไปจากสถานีตำรวจ  จำเลยจึงเอาตัวผู้เสียหายเข้าไปขังไว้ในห้องขังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย  และเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย  ดังนี้ไม่ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2524  การที่จำเลยมีความเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 156/2523 ให้ต่อสู้คดีแทน ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำให้การจำเลยโดยโจทก์มิได้จดทะเบียนทนายความ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติทนายความจึงให้โจทก์รออยู่ในห้องผู้พิพากษาเพื่อให้ตำรวจมาควบคุมตัวโจทก์ไปดำเนินคดี หากไม่รอจำเลยจะลงโทษโจทก์ฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นการกล่าวอ้างตามอำนาจที่จำเลยมีอยู่ตามกฎหมาย ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310

          ถ้าหากตัวของผู้ถูกกระทำยังสามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518  จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้  การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2531  จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้ ก.และได้ส่งมอบตึกพิพาทให้ ก. แล้ว ก. ว่าจ้างโจทก์ซ่อมแซมตึกพิพาทและอนุญาตให้โจทก์กับครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในตึกดังกล่าว แม้ต่อมา ก. ไม่ชำระค่าโอนสิทธิการเช่าส่วนที่ค้าง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับ ก. ในทางแพ่ง การที่จำเลยใช้กุญแจใส่ประตูตึกพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ตึกพิพาทได้อีก จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) แต่ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ หรือกระทำด้วยประการใดให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2527  ในวันเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างขับรถมาจอดติดการจราจรอยู่ด้วยกัน โดยรถจำเลยที่ 1 จอดอยู่ข้างหน้ารถโจทก์ ปรากฏว่ามีเสียงแตรดังมาทางด้านหลัง จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์เป็นคนบีบแตรไล่ เมื่อการจราจรบางลงจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ขับรถต่อไปและไปติดสัญญาณไฟแดงด้วยกัน  จำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถมาถามโจทก์ว่าบีบแตรไล่ทำไม โจทก์ตอบว่าไม่ได้บีบ เกิดโต้เถียงกัน โจทก์ได้พูดขึ้นว่า จะเป็นทหารเกเรหรืออย่างไร จำเลยโกรธจึงจับแขนโจทก์ซึ่งวางพาดประตูรถพร้อมกับพูดว่าลงมาลงมา ขอตะบันหน้าหน่อย โจทก์สะบัดแขนหลุดและไม่ยอมลงจากรถเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 จับแขนโจทก์ชักชวนให้โจทก์ลงมาจากรถก็เพื่อให้โจทก์ลงมาวิวาทกับจำเลยเท่านั้น  การกระทำของจำเลยมิใช่การข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309  จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          ต่อมาหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 เกิดโต้เถียงกันดังกล่าวแล้วในระหว่างที่โจทก์ขับรถไปตามถนน จำเลย ที่ 1 ได้ขับรถไล่ตามกลั่นแกล้งโจทก์ โดยขับรถปาดหน้ารถโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องหยุดรถอย่างกระทันหัน ดังนี้ แม้ขณะโจทก์ขับรถอยู่โจทก์ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการขับรถไปตามถนนสาธารณะตามสิทธิที่กฎหมายรับรองได้กรณีจำเลยที่ 1 ขับรถเข้ามาปาดหน้ารถโจทก์และปิดกั้นรถโจทก์ไม่ ให้โจทก์ขับรถไปโดยสะดวก เมื่อจำเลยปาดหน้ารถโจทก์ โจทก์กลัวว่ารถโจทก์จะชนรถของจำเลยโจทก์ก็ต้องหยุดรถ การที่จำเลยขับรถปาดหน้ารถโจทก์ให้โจทก์หยุดรถขับรถไปไม่ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหน่วงเหนี่ยว กักขังกระทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310  จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้(ผิดมาตรา 309)

          ถ้าขาดเจตนา การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2532  จำเลยกับผู้เสียหายแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายแยกกันอยู่แต่มิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกักขังเพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน และบุตรก็ยังอยู่กับจำเลย อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำโดยมีเจตนาร้ายไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง

          เหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้น
          ถ้าการหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น ตามมาตรา 310 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2554  ผู้ตายซึ่งมีสามีแล้วไม่ได้ยินยอมไปโรงแรมกับจำเลยตั้งแต่ต้น บาดแผลที่ปรากฏให้เห็นภายนอกร่างกายของผู้ตายซึ่งมีโลหิตไหลจากศีรษะและรูหูทั้งสองข้าง วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าผู้ตายอาการหนักต้องรีบนำผู้ตายไปโรงพยาบาลแทนที่จะพาผู้ตายเข้าโรงแรม และยังปรากฏว่าจำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากร้านอาหารผ่านบ้านพักผู้ตายแล้วขับรถวกวนจนกระทั่งพาผู้ตายไปโรงแรมซึ่งอยู่คนละเส้นทาง เชื่อว่า จำเลยไม่มีเจตนาพาผู้ตายไปส่งบ้านพัก หากจำเลยนำผู้ตายไปส่งบ้านพักตามความต้องการของผู้ตายแล้ว เหตุคดีนี้คงไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ตายตกลงจากรถจนถึงแก่ความตายเป็นเพราะผู้ตายไม่ต้องการไปกับจำเลยตามเจตนาของจำเลย สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย


          หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้กระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น
          มาตรา 310 ทวิ  "ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท"


          ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
          มาตรา 311  "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 หรือมาตรา 300"