24 มีนาคม 2560

ความผิดฐานเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเรียกรับสินบน ตามมาตรา 201

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 201  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"

          องค์ประกอบความผิดของมาตรา 201

          (1) เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน
          เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะผิดตามมาตรานี้่ได้ มีเฉพาะพนักงานสอบสวน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในตำแหน่งอื่นๆหากมีการเรียกรับสินบนก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 149

          (2) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
          การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้เรียกได้โดยชอบ

          (3)  เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
          เช่น พนักงานอัยการมีหน้าที่สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือตุลาการมีหน้าที่พิพากษาคดี แม้ตามเนื้อหาคดีนั้นจะต้องสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือต้องพิพากษายกฟ้องอยู่แล้ว แต่หากไปเรียกรับทรัพย์สินนั้นก็ยังคงเป็ความผิด คือ แม้จะทำไปตามอำนาจหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีสิทธิไปเรียกรับเงินรับทองหรือประโยชน์อื่นใดจากเขา หรือเรียกว่าไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกินตามน้ำ

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2532  จำเลยบอกให้ ล. ลงลายมือชื่อแทน ท. ได้ ล. จึงปลอมลายมือชื่อ ท. ลงในคำร้องขอประกัน แล้วจำเลยร่วมกับ ล.ขอประกันตัว อ.ผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้โฉนดที่ดินของท.เป็นหลักทรัพย์ เสนอต่อพันตำรวจตรี ช.จนพันตำรวจตรีช.อนุญาตให้ประกันตัว อ. ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งและการที่จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกัน อ. ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าล. ปลอมลายมือชื่อ ท. ผู้ขอประกัน จำเลยก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกัน อ. ทั้งจำเลยยังรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการให้ อ. ได้รับประกันตัวไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 201 ด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า '...ฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกับนาย ห. ขอประกันตัวนาย อ. โดยใช้โฉนดที่ดินของนาง ท.เป็นหลักทรัพย์ และปรากฏตามคำพันตำรวจตรี ช. สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเลิงนกทาด้วยว่า จำเลยได้บันทึกในคำร้องขอประกันว่าสมควรให้ประกัน ผู้ต้องหาไม่หลบหนี ส่วนลายมือชื่อของนาง ท. เจ้าของโฉนดที่ดินซึ่งลงไว้ในคำร้องขอประกันตัวนาย อ. นั้น พันตำรวจตรี ก. ผู้เชี่ยวชาญของศาลสาขาการตรวจพิสูจน์เอกสารและการปลอมแปลงซึ่งทำการพิสูจน์ลายมือชื่อนาง ท. ในเอกสารหมาย จ.4 ยืนยันว่า เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อนาย ห. ที่เขียนเป็นลายมือชื่อนาง ท. ในเอกสารตัวอย่างแล้วปรากฏว่าเป็นลายมือของคนคนเดียวกัน แสดงว่าผู้ที่ปลอมลายมือชื่อของนาง ท. ในคำร้องขอประกันคือนาย ห. นั้นเอง ดังนี้ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมดังโจทก์ฟ้อง และเมื่อจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารปลอมตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ยังได้นำไปเสนอต่อพันตำรวจตรี ช. เพื่อให้พันตำรวจตรี ช. สั่งอนุญาตให้ประกันตัวนาย อ. จนพันตำรวจตรี ช. อนุญาตให้ประกันตัวได้ตามที่จำเลยเสนอความเห็น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งด้วย
          และการที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อพันตำรวจตรี ช. ผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกันตัวนาย อ. ทั้งๆ ที่รู้ว่านาง ท. ผู้ขอประกันตัวนาย อ. มิได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง หากแต่นาย ห. เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกันตัวนาย อ.ผู้ต้องหาไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งนี้ได้ความจากคำนาย ป. พยานโจทก์ว่า จำเลยเคยใช้ให้ไปตามนาย อ.ที่กรุงเทพมหานครและได้พบนาย อ. แต่นาย อ.ไม่ยอมเข้ามอบตัวอ้างว่าได้ให้เงินแก่จำเลยเป็นสินน้ำใจไปแล้ว 25,000 บาท คำนาย ป.นี้เมื่อนำมาพิเคราะห์ประกอบคำพันตำรวจโท ว. ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยโสธร และเป็นผู้รับมอบตัวนาย อ. จากเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษที่เบิกความว่า ได้สอบปากคำนาย อ. ไว้ นาย อ. ให้การว่าได้ให้เงินแก่จำเลยเป็นค่าตอบแทนสินน้ำใจเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แต่นาย อ. ขอให้ลงบันทึกไว้ในคำให้การเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท หรือ 25,000 บาท จำไม่ได้แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการให้นาย อ. ผู้ต้องหาในคดีอาญาได้รับการประกันตัวไป อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 ด้วย...'



20 กุมภาพันธ์ 2560

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และ กิจการค้าร่วม (Consortium)

          กรณีการรับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถรับงานได้โดยลำพัง เพราะเงินทุนไม่เพียงพอหรือขาดแคลนเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรับงานนั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องร่วมกันกับผู้อื่นในการรับงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงานและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และการรวมตัวจะทำให้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งได้
          การร่วมกันทางธุรกิจมีหลายลักษณะซึ่งอาจมีการนำเงินและเทคโนโลยีมาร่วมกันลงทุน โดยการกำหนดสัดส่วนหุ้นและการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกัน มีรูปแบบเหมือนการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ หรือบางลักษณะจะมีการร่วมกันรับงานเพียงอย่างเดียว โดยมีการแบ่งแยกสิทธิและหน้าที่รวมทั้งกำไรและขาดทุนอย่างชัดเจน การร่วมกันในทางการค้านั้นที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และกิจการค้าร่วม (Consortium)


          1. กิจการร่วมค้า (Joint Venture) คือ การร่วมประกอบธุรกิจของบุคคลหรือกิจการตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีการร่วมลงทุนไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ทรัพย์สิน แรงงาน เทคโนโลยี ที่ดิน บุคลากร หรืออื่นๆ ภายใต้ข้อตกลงหรือสัญญาร่วมค้าเพื่อประกอบกิจการร่วมกัน และจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน ถ้าโครงการนั้นทำเสร็จสิ้นลงก็จะถือว่าการร่วมค้านั้นยุติลงด้วย ในกรณีเกิดความเสียหายทางการค้าก็จะรับผิดชอบร่วมกันในนามกิจการร่วมค้า และเมื่อมีผลกำไรก็จะจัดสรรตามสัดส่วนของการลงทุน ทั้งนี้ จะต้องมีผู้ร่วมค้าฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทกับบริษัท หรือบริษัทกับกับบุคคลธรรมดา การร่วมกันดังกล่าวจะไม่เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จะมีเพียงสถานะเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในนามกิจการร่วมค้ากับสรรพากรพื้นที่ ในการขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกิจการร่วมค้า ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำสัญญากิจการร่วมค้ามาเป็นหลักฐาน ถ้าฝ่ายใดเป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ประโยชน์ของการร่วมกันทางการค้าในลักษณะกิจการร่วมค้า เพื่อจะช่วยคู่ค้าแต่ละฝ่ายลดและกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังช่วยประหยัดภาษีจากส่วนกำไรเพราะกฎหมายกำหนดว่าเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไร ไม่ต้องนำมารวมกับรายได้ของบริษัทเดิม
          กิจการร่วมค้า (Joint Venture) กรมสรรพากรได้วางบรรทัดฐานเพิ่มเติมไว้สำหรับการพิจารณาว่า “กิจการร่วมค้า” จะต้องมีคุณสมบัติเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
          (1)   มีการร่วมทุนกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันพึงจะได้ตามสัญญาที่ร่วมกันทำกับบุคคลภายนอก หรือ
          (2)    ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุในสัญญาว่าเป็น “กิจการร่วมค้า” หรือ
          (3)   ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยสัญญานั้นกำหนดให้ต้องรับผิดชอบร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญานั้นไม่ได้แบ่งมอบงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน
          กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ตามความหมายในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร คือ
          (1)   กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไร ระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ระหว่างบริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่น
          (2)   กิจการร่วมค้ามีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
          (3)   กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ในความหมายตามประมวลรัษฎากร เปรียบเสมือนมีฐานะเป็น “นิติบุคคล”
          (4)   กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ในความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 มีสถานะเปรียบเสมือน ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล

          2.  กิจการค้าร่วม (Consortium) คือ การประกอบธุรกิจที่มีลักษณะของการร่วมกันขององค์กรธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เพื่อดำเนินกิจการหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ คือ เข้าร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนธุรกิจ แต่ละฝ่ายจะใช้ความสามารถและความชำนาญในการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้สำเร็จตามโครงการ และมีการแบ่งแยกการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างออกใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินเฉพาะของบริษัทตน
          สัญญากิจการค้าร่วมเป็นเพียงการลงนามร่วมกันในการทำสัญญากับเจ้าของโครงการเท่านั้น เพราะแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตนไม่มีการร่วมทุนหรือแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนระหว่างกัน เมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะยุติลงเหมือนกับกิจการร่วมค้า
          ประโยชน์ของกิจการค้าร่วม คือ ผู้ประกอบการจะสามารถคำนวณหรือประเมินความสามารถของตนในการรับงานในแต่ละส่วนได้ และจะรับผิดชอบเฉพาะส่วนงานของตนเองเท่านั้น ตัวอย่างของกิจการค้าร่วม เช่น ร่วมกันทำสัญญากับหน่วยงานรัฐในการขายและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้ชื่อ “กิจการร่วมค้า AB” หรือ “คอนเซอร์เดียม AB”  ซึ่งบริษัท A รับผิดชอบในการขายอุปกรณ์ ส่วนบริษัท B รับผิดชอบในการติดตั้งระบบ เมื่อปรากฏว่าเกิดความเสียหายจากการพัฒนาระบบจนไม่สามารถใช้งานได้อันมิใช่เกิดจากอุปกรณ์ ดังนั้น บริษัท B จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
          Consortium จะมีลักษณะแตกต่างจาก Joint Venture กล่าวคือ สมาชิกชอง Consortium นั้นจะมีการแบ่งแยกงานและเงินที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับจากเจ้าของโครงการ จะมีการร่วมกันก็เพียงแต่มาลงนามในสัญญาฉบับเดียวกันที่ทำกับเจ้าของโครงการเท่านั้นเอง โดย Consortium นั้น ไม่ได้เป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากผู้เป็นสมาชิกของ Consortium
          Consortium นั้น สมาชิกแต่ละคนจะได้รับเงินในส่วนของงานที่ตนทำ จะกำไรหรือขาดทุนก็เป็นเรื่องของตน ไม่มีการไปรวมกับกำไรหรือขาดทุนของสมาชิก Consortium รายอื่น และสมาชิก Consortium แต่ละรายก็จะเสียภาษีโดยยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีของตนแยกแต่ละรายได้

          ความแตกต่างของการร่วมกันในทางการค้าของทั้งสองลักษณะนั้น หากผู้ประกอบการจำเป็นต้องร่วมการค้ากับผู้อื่น คงจะต้องดูศักยภาพ ความชำนาญและความสามารถของกิจการตนเองเป็นหลักแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็น “กิจการร่วมค้า” (JOINT VENTURE) ที่เข้าเสนอราคากับส่วนราชการตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2475  ลงวันที่  16 มีนาคม 2543 ดังนี้
          1.  กรณีที่ “กิจการร่วมค้า” ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยหลักการกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา ส่วนคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างกิจการร่วมค้าดังกล่าว สามารถนาผลงานก่อสร้างของผู้ที่เข้าร่วมค้ามาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่เข้าประกวดราคาได้
          2.  กรณีที่ “กิจการร่วมค้า” ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยหลักการนิติบุคคลแต่ละนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกราย จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา เว้นแต่ในกรณีที่กิจการร่วมค้าได้มีข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้ผู้ร่วมค้า รายใดรายหนึ่งเป็น “ผู้รับผิดชอบหลัก” ในการเข้าเสนอราคากับทางราชการ และแสดงหลักฐานดังกล่าวมาพร้อมซองประกวดราคา กิจการร่วมค้านั้น สามารถใช้ผลงานก่อสร้างของผู้ร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่ยื่นเสนอราคาได้

          กรณีกิจการร่วมค้าเข้าร่วมในการเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ

          เมื่อหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใดประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องดำเนินการประกาศคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกให้เสนอราคาซึ่งเป็นเกณฑ์ความต้องการขั้นต่ำ เช่น ประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา สมรรถภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและโรงงาน ฐานะการเงิน และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะมีสิทธิเข้าเสนอราคาไว้ในประกาศเชิญชวนหรือประกาศประกวดราคาหรือเอกสารประกวดราคาให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาได้ทราบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานต้องการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้เสนอราคาเป็นกิจการร่วมค้า (joint venture) ที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นิติบุคคลแต่ละรายที่เข้าร่วมค้าต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาด้วย เว้นแต่ในกรณีที่กิจการร่วมค้ามีข้อตกลงระหว่างกันให้ผู้ร่วมค้ารายใดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคากับทางราชการสามารถใช้ผลงานของผู้ร่วมค้าหลักรายนั้น เป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่ยื่นเสนอราคาได้ ทั้งนี้ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3054 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และหนังสือสานักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543
          การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งหนึ่งออกประกาศประมูลการจ้างก่อสร้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์กรณีผู้เสนอราคาเป็นกิจการร่วมค้าตามหนังสือสองฉบับข้างต้น เนื่องจากเห็นว่าหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวมีสภาพเป็นกฎ ผู้เสนอราคาทุกรายจึงต้องทราบ และเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่ส่วนราชการต้องถือปฏิบัติและสามารถบังคับกับเอกชนได้โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาตัดสิทธิผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้ามิให้เข้าเสนอราคาได้หรือไม่
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 530/2554 วินิจฉัยไว้โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า กรณีกลุ่มบริษัทร่วมค้า ศ. โดยบริษัท ด. จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นเอกสารประมูลจ้างตามประกาศประมูลจ้างเหมาก่อสร้างสานักงานแห่งใหม่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ของผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) แต่คณะกรรมการดาเนินการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามหนังสือสานักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543 ประกอบหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3054 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ และไม่ได้แสดงคุณสมบัติด้านผลงานของนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกราย ซึ่งแต่ละรายต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา ทั้งในบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าก็มิได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าเสนอราคา ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คาสั่งดังกล่าวและฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ตัดสินให้ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคา
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคาแต่เพียงว่าผู้เสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคลมีอาชีพรับจ้างงานที่ประมูลจ้างโดยมีผลงานประเภทเดียวกับงานที่ประมูลจ้าง หากผู้เสนอราคาเป็นผู้ร่วมค้าให้ยื่นสำเนาสัญญาร่วมค้า และหากเป็นนิติบุคคลให้ยื่นสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลปีปัจจุบัน โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3054 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543 ไว้ในประกาศเชิญชวนหรือประกาศประกวดราคาหรือเอกสารประกวดราคาให้ผู้เข้าเสนอราคาทราบเป็นการล่วงหน้าว่าเป็นสาระสำคัญที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิเสนอราคาด้วย เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 23 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (3) และ (4) ข้อ 24 วรรคสอง (2) (3) และ (5) และข้อ 37 วรรคสาม (2) ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามหนังสือทั้งสองฉบับมาบังคับใช้กับผู้ฟ้องคดีได้โดยตรง
          เมื่อหนังสือกระทรวงมหาดไทยและหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมีรูปแบบและเนื้อหาให้หน่วยงานของรัฐทราบและถือปฏิบัติตามแนวทางในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ที่เป็นกิจการร่วมค้าให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันโดยมิได้มีเนื้อความในทางบังคับบุคคลภายนอกให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าหนังสือทั้งสองฉบับข้างต้นได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และผู้ฟ้องคดีมิได้รู้ถึงหลักเกณฑ์ตามหนังสือทั้งสองฉบับนั้นมาก่อน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน หนังสือทั้งสองฉบับจึงมีความมุ่งหมายเพียงให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าเท่านั้น มิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้มีผลบังคับไปถึงบุคคลภายนอกเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติภายในฝ่ายปกครอง ไม่มีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าตามที่กำหนดในหนังสือทั้งสองฉบับข้างต้นมาใช้ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีแล้วมีคาสั่งว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาประมูลจ้างก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย



25 มกราคม 2560

การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง กรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนสิ่งกีดขวางบนถนน | ละเมิด | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ในเวลาประมาณ 20.00 น. นาย ค. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนเลียบคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล แต่เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างและถนนมีสภาพชํารุดบางส่วน ปรากฏว่ามีถังน้ํามันขนาดความจุ 200 ลิตร ตั้งกีดขวางผิวจราจรโดยไม่มีสัญญาณแสงไฟส่องเตือน รถจักรยานยนต์ที่นาย ค. ขับขี่มาจึงเสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้ศีรษะของนาย ค. กระแทกพื้นอย่างแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

          ภรรยาและบุตรของนาย ค. จึงฟ้องเทศบาลต่อศาลปกครองว่า การที่นาย ค. ถึงแก่ความตายเป็นผลจากผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลถนนสาธารณะให้มีสภาพดีและไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนให้ผู้ใช้ทางได้รู้ถึงอุปสรรคที่กีดขวางผิวจราจร และมีคําขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของนาย ค.

          ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ได้มีการนําถังน้ำมันขนาดความจุ 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดประมาณ 5 เมตร และ 30 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ถนนทราบแล้ว อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีไฟฟ้าชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่และมีป้ายแจ้งเตือนติดตั้งไว้ด้วย เพียงแต่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินเท่านั้น

          ประเด็น คือ เทศบาลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ? และกรณีเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบํารุงรักษาทางบกตามมาตรา 53 (1) ประกอบกับมาตรา 50 (2) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรได้โดยสะดวกและปลอดภัย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้เจ้าหน้าที่นําถังน้ํามันขนาด 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินในเวลากลางคืนเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทางได้ทราบเป็นสัญลักษณ์อีกชั้นหนึ่ง โดยอ้างว่ามีไฟฟ้าส่องสว่างชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่แล้ว ย่อมเป็นการดําเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ

          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 740/2555)



การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเทศบาลปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ แต่ไปรุกล้ำที่งอกริมตลิ่งของเอกชน

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
  
          คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีอาณาเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำปิง ต่อมาที่ดินดังกล่าวมีที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้น โดยปู่ของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครองที่งอกนั้นไว้ตาม ส.ค.1 และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว
          ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาล) ได้จัดทำโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกโดยการก่อสร้างเขื่อนกันดิน ทางเดินเท้า ปลูกหญ้าและต้นไม้ ซึ่งมีส่วนที่จะต้องดำเนินการในที่ดินของเอกชนหลายคนรวมถึงที่ดินผู้ฟ้องคดีด้วย โดยที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ให้ความยินยอมแต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะอาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดตรงหลักหมุด จึงได้ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยมีการตอกเสาเข็มทำให้บ้านของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย

          ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 บัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของที่ดินแปลงนั้น ซึ่งตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้และคำพิพากษาศาลฎีกาได้ให้ความหมายของ “ที่งอกริมตลิ่ง” หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่เกิดจากการที่สายน้ำพัดพาที่ดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่งและที่งอกริมตลิ่งน้าท่วมไม่ถึงส่วน “ที่ชายตลิ่ง” หมายถึง ที่ชายตลิ่งที่เวลาน้ำขึ้นตามปกติจะท่วมถึง

          มีปัญหาว่าที่ดินพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองทำการปรับภูมิทัศน์เป็น “ที่งอกริมตลิ่ง”หรือ “ที่ชายตลิ่ง” เพราะหากเป็นที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว และการที่หน่วยงานทางปกครองปรับภูมิทัศน์รุกล้ำที่ดินย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยสภาพเดิมของพื้นที่ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าไปปลูกสร้างตามโครงการ มีพื้นดินระดับเดียวกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีต้นไม้ใ้หญ่และวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น ประกอบกับ ส.ค. 1 ที่ทางราชการออกให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ระบุว่าทิศตะวันตกจดฝั่งแม่น้ำปิงและไม่มีพยานให้การในทางอื่นจึงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติงอกไปจากตลิ่ง มิใช่เกิดจากแม่น้ำปิงตื้นเขิน หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่ง เมื่อที่งอกริมตลิ่งนั้น เกิดจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 ของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี และเมื่อไม่ปรากฏว่าหลักหมุดได้ทำขึ้นเมื่อใด แต่จากรายงานการรังวัดที่ดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2518 สันนิษฐานได้ว่า หลักหมุดน่าจะถูกจัดทำขึ้นในวันดังกล่าว ซึ่งนับจนถึงวันที่ถ่ายภาพเป็นเวลา 26 ปีอันเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่ที่งอกริมตลิ่งจะเกิดขึ้นต่อเนื่องออกไปจากหลักหมุด อาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้สิ้นสุดตรงหลักหมุดดังกล่าว ที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นที่งอกริมตลิ่งที่มีอาณาเขตจดแม่น้ำปิง การที่โครงการใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่น้ำท่วมไม่ถึง จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ของเอกชน ไม่ใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจในการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ การสาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการ การดูแลรักษาที่สาธารณะ หรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542) นอกจากนี้ยังขัดต่อเงื่อนไขข้อ 7 ของใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำ ลำ แม่น้ำ ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 เพราะเป็นการปลูกสร้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน
          การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกในบริเวณที่พิพาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วนและเมื่อการดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำในพื้นที่ดังกล่าวออกไป
          สำหรับค่าเสียหายจากการไม่ได้ใ้ช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใ้ช้ประโยชน์จากที่ดิน และค่าเสียหายอันเป็นความเสี่ยงจากน้ำท่วม เป็นความเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำบนที่งอกริมตลิ่งของผู้ฟ้องคดีและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 30,000 บาท

          (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 535/2554)



29 ธันวาคม 2559

วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก


          เมื่อเจ้ามรดกตายมรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันที แต่อย่างไรก็ตามกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในกองมรดกยังไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทโดยเด็ดขาดจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทกันเสร็จสิ้น เพราะถ้าตราบใดที่ยังมีความเป็นมรดกอยู่ทายาทก็อาจเสียสิทธิได้ ซึ่งการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกถ้ามีเหตุขัดข้อง ก็จำเป็นต้องมีผู้จัดการมรดก

          ประเภทของผู้จัดการมรดก

          มาตรา 1711 "ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล"

          1. ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ตามมาตรา 1712 กำหนดวิธีการตั้งไว้ 2 วิธี ประการแรกโดยผู้ทำพินัยกรรม ประการที่สองโดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2519  ข้อความในพินัยกรรมมีว่า ขอมอบพินัยกรรมให้แก่ ม. และขอตั้งให้ ม. เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฯ เป็นการชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าตั้ง ม. เป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่จำกัดว่าเป็นทรัพย์มรดกสิ่งใดบ้าง
          ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลได้ กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมไม่สามารถจัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมได้เนื่องจากเหตุขัดข้อง เช่น เจ้าพนักงานที่ดินไม่โอนที่ดิน ซึ่งศาลมีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลได้ ตามมาตรา 1713 วรรคสอง "การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตาม ข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร "


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2518  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรมไม่ แม้ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายโดยอ้างว่ามีพินัยกรรมระบุไว้ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลได้ดำเนินการพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาท เป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการสืบพยานไปบ้าง แต่ยังไม่หมดปาก และแต่ละฝ่ายต่างอ้างสำนวนคดีอื่นที่คู่ความในคดีนั้นได้ประนีประนอมยอมความกันในเรื่องทรัพย์มรดกผู้ตาย พร้อมพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเป็นพยานเมื่อได้มีการเปิดโอกาสให้คู่ความคัดค้านก่อนได้แล้วการที่ศาลพิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว

          2. ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล มี 2 ประเภท คือ (1) ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจทั่วไป และ (2) ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจเฉพาะ โดยบุคคลที่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนั้นก็จะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558  พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้น แม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

          เจ้าหนี้กองมรดกที่ไม่มีทายาทก็ถือว่ามีส่วนได้เสียร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531 (ประชุมใหญ่)  กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดินแผ่นดิน ก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

          ผู้ที่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนั้นจะขอตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ แต่ผู้จัดการมรดกต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ทั้งนี้ ตามมาตรา 1718 "บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
          (1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
          (2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
          (3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย"

          หลักทั่วไปในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
          1. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ (มาตรา 1721)
          2. ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา 1722 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551  ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525  การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ร่วมกับโจทก์ เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 สัญญาแบ่งทรัพย์นั้นจึงตกเป็นโมฆะ
          3. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการด้วยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ตามมาตรา 1723
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516 - 2517/2521  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 จะเห็นว่าไม่ได้ห้ามผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนเสียเลยทีเดียว หากเป็นการตั้งตัวแทนกระทำการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกย่อมจักกระทำได้ ดังนี้ แม้ผู้จัดการมรดกทั้งสองได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ฉ. ซึ่งเป็นทนายความจัดการแทน. ฉ. ได้แต่เพียงมีหนังสือถึงทายาทให้ส่งทรัพย์มรดกเฉพาะผู้ร้องให้ส่งมอบโฉนดและให้แจ้งทรัพย์มรดกเท่านั้น ซึ่งก็ได้ทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกนอกนั้นผู้จัดการมรดกทั้งสองได้จัดการมรดกด้วยตนเอง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองมิได้กระทำการตามหน้าที่
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2523  ป. บ. และ ส. กับจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ได้จัดแบ่งที่ดินมรดกและตกลงให้มีการทำถนนเพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินด้านในๆ มีทางออกสู่ถนนได้กับตกลงกำหนดแนวทางที่จะทำถนนไว้แล้ว ป. บ. และ ส.เป็นโจทก์ โดยป.และบ.มอบอำนาจให้ส. ฟ้อง อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ยอมสละที่ดินให้ทำถนนอันเป็นการฟ้องให้สละที่ดินทำถนนเพื่อทายาทอื่นใช้ร่วมกันตามข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ ป. บ. และ ส. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นพ้องต้องกัน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกร่วมกันนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนให้จัดการมรดกรายนี้โดยไม่มีอำนาจอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543  ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเอง จะให้ผู้ใดทำแทนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาท โดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้ และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729, 1731, 1726, 1732 และ 1727 วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น วิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเองทายาทและศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมทายาทได้
           4. ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมกับบุคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันบุคคลภายนอกได้ให้หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย ตามมาตรา 1724 วรรคสอง
          5. การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ตามมาตรา 1726  ซึ่งหากเป็นกรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลให้จัดการร่วมกันแล้วมีคนใดเสียชีวิตไป ที่เหลือก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องมาขออำนาจศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553  แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดก หากผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อ ก็จะต้องรับผิดต่อทายาทหรือบุคคลภายนอก ทั้งนี้ตามมาตรา 1720

          ถ้าปรากฏว่าผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาท หรือละเลยไม่จัดการมรดกตามหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาท ผู้จัดการมรดกนั้นต้องรับผิดต่อทายาท แต่ทายาทจะต้องฟ้องให้รับผิดภายในกำหนด 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4606/2540  อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่อายุความตามมาตรา 1754 ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5720/2541  แม้คำฟ้องโจทก์ในช่องจำเลยจะมิได้ระบุว่า จำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ในคำฟ้องก็ได้บรรยายโดยรายละเอียดว่า เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้จัดการโอนมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม แต่กลับโอนเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวในชั้นสืบพยานโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่า ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่จัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่คดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 ยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยโอนที่ดินมรดกมาเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แม้จะถือว่าวันดังกล่าวจัดการมรดกเสร็จสิ้นก็ตาม คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ
          ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2252 เดิมมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ป.เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ขอยกให้จำเลย 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ส่วนที่เหลือยกให้โจทก์ทั้งสองคนละเท่าๆ กัน หมายความว่ายกให้โจทก์คนละ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 59 ส่วน โจทก์จะได้ที่ดินคนละ 25 ส่วน แต่ก่อน ป.ตาย ป.ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ม.กึ่งหนึ่งกรณีต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้ ม.เป็นอันเพิกถอนไป คงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วน ของที่เหลือ หรือได้รับที่ดินน้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรมคิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา โจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งานมิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อน เมื่อมีที่ดินเหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่