25 ม.ค. 2560

การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง กรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนสิ่งกีดขวางบนถนน | ละเมิด | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ในเวลาประมาณ 20.00 น. นาย ค. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนเลียบคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล แต่เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างและถนนมีสภาพชํารุดบางส่วน ปรากฏว่ามีถังน้ํามันขนาดความจุ 200 ลิตร ตั้งกีดขวางผิวจราจรโดยไม่มีสัญญาณแสงไฟส่องเตือน รถจักรยานยนต์ที่นาย ค. ขับขี่มาจึงเสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้ศีรษะของนาย ค. กระแทกพื้นอย่างแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

          ภรรยาและบุตรของนาย ค. จึงฟ้องเทศบาลต่อศาลปกครองว่า การที่นาย ค. ถึงแก่ความตายเป็นผลจากผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลถนนสาธารณะให้มีสภาพดีและไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนให้ผู้ใช้ทางได้รู้ถึงอุปสรรคที่กีดขวางผิวจราจร และมีคําขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของนาย ค.

          ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ได้มีการนําถังน้ำมันขนาดความจุ 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดประมาณ 5 เมตร และ 30 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ถนนทราบแล้ว อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีไฟฟ้าชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่และมีป้ายแจ้งเตือนติดตั้งไว้ด้วย เพียงแต่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินเท่านั้น

          ประเด็น คือ เทศบาลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ? และกรณีเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบํารุงรักษาทางบกตามมาตรา 53 (1) ประกอบกับมาตรา 50 (2) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรได้โดยสะดวกและปลอดภัย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้เจ้าหน้าที่นําถังน้ํามันขนาด 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินในเวลากลางคืนเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทางได้ทราบเป็นสัญลักษณ์อีกชั้นหนึ่ง โดยอ้างว่ามีไฟฟ้าส่องสว่างชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่แล้ว ย่อมเป็นการดําเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ

          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 740/2555)