ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21(2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ตามคำแถลงลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นส่งคำคู่ความใหม่ แล้วไต่สวนและมีคำสั่งต่อไปนั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องแล้วตรวจพบว่า นาย ช. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทถึงแก่ความตาย และมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอจัดการมรดกนาย ช. เจ้ามรดกอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกัน ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม ย่อมถือได้ว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาทตามคำแถลงลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของนาย ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของนาย ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
การส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2558 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องเป็นการดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะการแจ้งให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์ภาค 4 แม้ผลคดีเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง ภายใน 8 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้อง กระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นการไม่ชอบเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หลงผิดมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ ทางแก้ คือ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบได้ หาใช่เรื่องที่ผู้ร้องจะต้องแก้ไขโดยใช้สิทธิฎีกาเพียงทางเดียว แม้การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งเสียเองโดยลำพังให้เพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าก่อนไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่โจทก์และจำเลยทราบโดยชอบแล้ว โจทก์และจำเลยมิได้คัดค้านทั้งปรากฏว่าผู้ร้องได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้องครบถ้วนแล้วตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาในประเด็นที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องเพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้ร้องระบุยืนยันที่อยู่ในคำร้องขอตั้งแต่แรกแล้วว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความยอมรับว่าผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2558 คำร้องขอของผู้ร้องระบุแต่แรกว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงค์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหลายคนส่งจดหมายไปที่บ้านดังกล่าว ทั้งคดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ที่บ้านดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่มีชื่อผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ
เมื่อผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง การที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์ หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพิพาทว่าตนไม่ใช่บริวารศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวนและเจ้าหน้าที่ศาลได้นัดไต่สวน โดยผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเสียใหม่จากเดิมที่นัดไว้ และผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง และการแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้ร้องทราบนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสาร ที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์นั้น หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
คำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แต่ผู้ร้องใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ดังนี้ จะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2552 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่าเลขาธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ทราบ เพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ไม่อาจทราบประกาศแต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่สำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย จะใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์ไม่ได้ การที่ศาลอนุญาตจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4276/2532 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88, 90 การยื่นบัญชีระบุพยานและการส่งสำเนาเอกสารนั้นใช้บังคับเฉพาะการสืบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นแห่งคดีที่พิพาทไม่ใช้บังคับในการไต่สวนคำร้องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดี ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 1274/115 อันเป็นสำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบคำฟ้องและวันนัดสืบพยาน กรณีมีเหตุที่จะให้พิจารณาใหม่
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยทางไปรษณีย์ตอบรับ หากผู้รับมีอายุยังไม่เกิน 20 ปี การส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2536 การส่งประกาศขายทอดตลาดโดยทางไปรษณีย์ตอบรับหากผู้รับประกาศขายทอดตลาดมีอายุ 17-18 ปี การส่งเอกสาร ดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ,76
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ตอบรับและมีผู้รับไว้แล้ว แต่ได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ว่าผู้รับประกาศขายทอดตลาดมีอายุ 17 -18 ปี ฉะนั้น การส่งเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ, 76 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบวันขายทอดตลาด และในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 การขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 839 ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5606/2530 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งความและเตือนให้ผู้ร้องชำระหนี้โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องมิได้รับหนังสือดังกล่าวด้วยตนเอง แต่มีบุตรของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ร้องซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบปีเป็นผู้รับแทนทั้งสองครั้ง การส่งเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ, 76 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2536 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76 บุคคลที่รับคำคู่ความหรือเอกสารไว้แทนจะต้องอายุเกินยี่สิบปีแต่คดีนี้เด็กหญิง ก. หลานสาวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับหนังสือยืนยันหนี้ไว้แทนผู้ร้องมีอายุเพียง 14 ปี เท่านั้น การส่งหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2533 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำแจ้งความยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านในวันที่ 3 มกราคม 2534 จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องยื่นเกินกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยันหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 119 วรรคสอง การส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2524 ข้อ 353 เป็นเรื่องการส่งจดหมายทั่วไปมิใช่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76
ถ้าย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายและคำพิพากษาคดีหลักถึงที่สุดไปก่อนแล้ว ก็ไม่ต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป ดังนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ส่งไปยังภูมิลำเนาเดิมจึงเป็นการไม่ชอบ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 74(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2553 จำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าคดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป และไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดีนี้ของจำเลยที่ 1 เพราะภูมิลำเนาของบุคคลย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมด้วยเจตนาชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41
ผู้ร้องทราบว่าจำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาใหม่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องในคดีนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วนหรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1โดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดเสียก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำสั่งดังกล่าวของศาลล่างทั้งสองเสียได้ตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1
ย้ายภูมิลำเนาใหม่พร้อมแนบเอกสารแสดงภูมิลำเนาใหม่มาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ดังนี้ การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2553 โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 เป็นบ้านเลขที่ 9/81 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2550 นอกจากนี้ตามคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำแถลงรวมทั้งหนังสือรับรองของโจทก์ที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาก็ได้ระบุภูมิลำเนาแห่งใหม่ของโจทก์ไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ ที่ทำการใหม่แล้ว ตั้งแต่ก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่ง ดังนั้น การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าโจทก์รับหมายนัดและสำเนาฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ใหม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ามีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาให้โจทก์หรือไม่
เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่อื่น ไม่ตรงตามคำสั่งศาล การส่งหมายจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852/2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำเลย โจทก์ได้แถลงยืนยันภูมิลำเนาของจำเลยว่า ปัจจุบันจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลย ณ บ้านหลังดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้มีคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลยได้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้ปิดหมายไว้ ณ บ้านหลังดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายดังที่ได้ประทับข้อความไว้ในหมายนัด แต่เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 65/71-72 ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ไม่ตรงตามคำสั่งศาล จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
ผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย การส่งหมายไปยังภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 74(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2549 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ไม่ชอบ เนื่องจากผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย ตามแถลงของโจทก์นับว่ามีเหตุที่จะต้องทำการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนว่า ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านที่มีการส่งหมายหรือไม่เพราะหากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้อง การส่งหมายก็จะไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้อง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ทำการไต่สวนจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งดังกล่าวตามาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
แม้ส่งคำคู่ความไม่ชอบ แต่เมื่อได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบแล้ว เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2547 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)