สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
โดยปกติแล้ว สิทธิของทายาทที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้น จะต้องทำภายในอายุความมรดก คือ ภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม มาตรา 1754
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน ทายาทที่ครอบครองนั้นมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้จะเลยกำหนดอายุความมาแล้ว
ตัวอย่าง
***กรณีครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ทายาทที่เข้าครอบครองส่วนของตนตลอดมาแล้ว แม้ต่อมาจะมีเหตุที่ทำให้มิได้ครอบครอง ก็ยังมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้
โจทก์ เป็นบุตรนาย ส.และนาง ค. โดยบิดามารดาโจทก์มีบุตรด้วยกัน 5 คน รวมทั้งนาย ซ. ด้วย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนาย ซ. และมีบุตรด้วยกันรวม 5 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ปัจจุบันบิดามารดาและพี่น้องของโจทก์ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว เดิมบิดามารดามีที่นาเป็นที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 95 ไร่ หลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรมพี่น้องทุกคนให้นาย ซ.ซึ่งเป็นพี่คนโตไปขอออก ส.ค.1 แทนน้องทุกคน โดยตกลงจะแบ่งปันกันภายหลัง ต่อมาน้องคนอื่นถึงแก่กรรมไปหมด ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์และนาย ซ. เพียง 2 คน ซึ่งได้ร่วมกันครอบครองทำกินตลอดมา ภายหลังนาย ซ. ขอออกเป็นโฉนดเลขที่ 3630 โดยความยินยอมของโจทก์ ครั้นปี 2521 โจทก์และนาย ซ. ตกลงแบ่งที่ดินกันคนละครึ่ง โดยส่วนของโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ระหว่างรอการรังวัดแบ่งแยกนาย ซ.ถึงแก่กรรม หลังจากนาย ซ. ถึงแก่กรรมจำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดินทั้งแปลง แต่โจทก์คัดค้าน แล้วจำเลยทั้งหกตกลงจะแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่เคยตกลงกับนาย ซ. โจทก์จึงถอนคำคัดค้านและยังครอบครองทำกินในที่ดินส่วนของโจทก์เรื่อยมา จนกระทั่งต้นปี 2535 ฝ่ายจำเลยห้ามโจทก์ไม่ให้เข้าทำนาโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าถูกหลอกให้ถอนคำคัดค้าน เพราะจำเลยทั้งหกขอรับโอนมรดกที่ดินไปตั้งแต่ปี 2524 โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย โจทก์จึงมาฟ้องคดีต่อศาล ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนที่เกินส่วนของนาย ซ. ทางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 47 ไร่ 2 งาน 86 ตารางวา และให้จำเลยทั้งหกจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
เรื่องนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะปรากฏว่าภายหลังโจทก์ยื่นคำขอถอนคำค้านการขอรับมรดกที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งหกตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ระบุเพียงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเองได้แล้วมิใช่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก จึงไม่มีผลให้ที่ดินพิพาทแปรสภาพเป็นมิใช่ทรัพย์มรดกต่อไปแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และนาย ซ.ร่วมกัน มิใช่เป็นของนาย ซ.แต่ผู้เดียว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกและทรัพย์มรดกดังกล่าวยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกส่วนของตนตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะล่วงพ้นอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2542)
***กรณีเจ้ามรดกตาย แต่ทรัพย์มรดกนั้นมีบุคคลภายนอกครอบครองอยู่โดยอาศัยสิทธิการเช่า ถือว่าบุคคลภายนอกนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน เมื่อเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน ทายาทคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะเลยกำหนดอายุความแล้วก็ตาม
นาง ท. ที่ดินพิพาทจากนาง จ. แม้นาง จ. ถึงแก่กรรมแล้วก็ยังเช่าติดต่อกัน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่านาง ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนาง จ. คือ โจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นผู้เก็บค่าเช่าก็ตาม และการที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้านนั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบ และมีการกำหนดเวลาไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำ ขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542)
***กรณีที่มีการร้องขอจัดการมรดก และผู้จัดการมรดก ยังมิได้แบ่งปันทรัพย์สินให้แก่ทายาท ต้องถือว่า ผู้จัดการมรดกนั้นครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาททุกคน ทายาทคนใดคนหนึ่งจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกได้ แม้จะเลยกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม
นาย
อ. เจ้ามรดกมีภริยาสองคน คนแรกชื่อนาง ศ.
มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ
นาง ว.และนาย ฬ. ต่อมานาย อ.กับนาง ศ. เลิกร้างกันไป
บุตรทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายเอื้อนบิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ต่อมานาย อ. จึงได้มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลย
ระหว่างอยู่กินกับจำเลยไม่มีบุตรด้วยกัน ส่วนโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ฬ. เมื่อปี 2523
นาย ฬ. ถึงแก่ความตาย ต่อมาปี 2526 นาย อ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย อ. ได้ดำเนินการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทไปแล้วหลายแปลง มีทั้งที่โอนให้แก่ลูกค้าที่ชำระราคาหมดแล้ว
และโอนแบ่งมรดกให้แก่ทายาทของนายเอื้อนบางคน
รวมทั้งที่โอนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็นภริยาจำนวน 28 แปลง
คงมีที่ดินมรดกของนายเอื้อนเหลืออยู่เพียง 3 แปลงเท่านั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่
เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดก
มิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดกดังที่ศาลล่างวินิจฉัย
แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายังมีที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกอีกจำนวน 3 แปลง
ที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้แก่ทายาท แสดงว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอยู่ระหว่างจัดการ
เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวง
โดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1720
การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368
โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจึงชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจาก
จำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี ทั้งนี้ตามมาตรา
1748 คดีโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544)
ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1
ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่
1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่
3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย.
เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส.
จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท
มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย
มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส.
ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส.
ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย.
ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย.
ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ
ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก
ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน
และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส.
ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553)
***การครอบครองทรัพย์มรดกของทายาท อาจโดยให้ผู้อื่นครอบครองไว้แทนก็ใช้ได้ เมื่อ นาง ล. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทได้ตกลงแบ่งที่ดินให้แก่ทายาทอันได้แก่นาง บ. จำเลยที่ 1 นาง ก. และนาง ว. สำหรับที่ดินมรดกส่วนของโจทก์นั้นโจทก์ให้นาง บ. ครอบครองไว้แทน
มีปัญหาประเด็นแรกว่า
การแบ่งปันมรดกรายนี้เสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า
เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันแล้ว
แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของ
แต่โจทก์ได้ให้นาง บ. ครอบครองแทน
ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้ว การแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว
ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า
โจทก์และนาง บ.มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3
เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท โดยนาง บ.ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3
ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจากนาง บ.ถึงแก่ความตาย
จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2542)