01 มีนาคม 2567

ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงในที่ดิน(ทรัพย์สิน) มีสิทธิยึดหน่วงในที่ดินจนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น


          กรณีทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งผู้จะซื้อได้ชำระค่าที่ดินและเข้าครอบครองที่ดินแล้ว ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายเสียชีวิตและผู้จะซื้อซึ่งทราบถึงการเสียชีวิตนั้นแล้วกว่า 1 ปี มีปัญหาว่า ฝ่ายผู้จะซื้อจะฟ้องทายาทเพื่อบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ได้หรือไม่ และคดีขาดอายุความเรียกร้องแล้วหรือไม่ ?

          คำตอบ  การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ซึ่งฝ่ายผู้จะซื้อได้จ่ายเงินค่าที่ดินและเข้าครอบครองที่ดินนั้นแล้ว ผู้จะซื้อจึงมีสิทธิยึดหน่วงในที่ดินจนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น เมื่อเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้จะขายเสียชีวิตลง ทายาทหรือผู้จัดการมรดกย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก ผู้จะซื้อในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจึงสามารถฟ้องบังคับให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ตนเองได้ แม้จะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ผู้จะซื้อได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกก็ตาม ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27, 241 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2497)

          หลักกฎหมาย
          มาตรา 241  "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้  ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
          อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
          มาตรา 193/27  "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้"

         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555  การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547  โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1755 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2546  โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาท โดยมีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้โจทก์เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองโจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนและจำเลยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วแม้สิทธิครอบครองจะยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์เพราะคู่สัญญาประสงค์จะให้มีการโอนทางทะเบียน แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินด้านทิศใต้ส่วนที่โจทก์ครอบครอง แล้วโอนให้โจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ก็เป็นเพียงประมาณการเท่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ช่างรังวัดสอบเขตและทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยเป็นผู้นำชี้ซึ่งช่างรังวัดที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองได้เนื้อที่27 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเนื้อที่ซึ่งปรากฏในแผนที่พิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2545  โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลย โดยชำระราคาให้บางส่วนแล้วส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยส่งมอบให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาท อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวซึ่งจำเลยในฐานะผู้จะขายยังมีหนี้ที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้ได้จนกว่าจำเลยจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายเกินกว่า10 ปี ซึ่งขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 ระบุไว้ว่า แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็ยังคงมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่ตนได้พร้อมรับเงินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป



ทางจำเป็น



          1. ทางจำเป็นคืออะไร

          มาตรา 1349  "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
          ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้  แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
          ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้
          ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้"

          ทางจำเป็นเป็นการให้สิทธิเจ้าของที่ดินรวมทั้งคนในครอบครัวหรือบริวารของเจ้าของที่ดิน ที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ สามารถผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ในขณะเดียวกันทางจำเป็นก็ถือเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ ที่จะต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงในที่ถูกล้อมผ่านที่ดินของตนออกไปสู่ทางสาธารณะ มีข้อสังเกตว่าผู้ที่จะใช้สิทธิในทางจำเป็นได้จะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน หากเป็นเจ้าของโรงเรือนเท่านั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอใช้ทางจำเป็น และทางสาธารณะที่จะออกไปสู่นั้นจะเป็นถนนหรือแม่น้ำลำคลองได้ การใช้ทางจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น จะขอผ่านไปสู่สถานที่หรือทางอย่างอื่นนอกจากทางสาธารณะไม่ได้ ซึ่งต่างจากทางภาระจำยอมที่ทางภาระจำยอมอาจผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้ นอกจากนั้นทางสาธารณะที่จะผ่านไปสู่จะต้องเป็นทางสาธารณะที่มีสภาพการใช้ประโยชน์อย่างทางสาธารณะได้ ถ้าเป็นคลองสาธารณะที่ตื้นเขินแล้วใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นทางสาธารณะในความหมายเรื่องทางจำเป็น          


          ที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว กรณีย่อมไม่อาจขอทางผ่านที่ดินผู้อื่นโดยอ้างเรื่องทางจำเป็น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553 ก. ยกที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ ที่ดินส่วนนี้จำเลยที่ 1 ใช้จัดตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากนับแต่ได้รับการยกให้ในปี 2528 มีการกันที่ดินไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์เพื่อเชื่อมจากที่ดินจำเลยที่ 1 สู่ทางหลวงแผ่นดินสายตาก - เถิน (พหลโยธิน) ซึ่งเป็นทางสาธารณะไว้ก่อนตั้งแต่ ก. แสดงเจตนายกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง จึงไม่ใช่กรณีที่ดินจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจผ่านที่ดินโจทก์ซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551 ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
          โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ส. น. และ ม. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ได้ เพราะ ส. สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของตนเอง การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับของจำเลยไว้เพียง 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น





          แม้ที่ดินอยู่ติดคลองระบายน้ำ แต่ไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรแล้ว และในหน้าแล้งมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่น คลองระบายน้ำนั้นย่อมมิใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดิน ตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่เป็นกรณีที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557  คลองบางสี่บาทมีสภาพเป็นทางระบายน้ำ ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม น้ำในคลองเน่าเสีย เรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน สภาพเช่นนี้ประชาชนไม่สามารถใช้คลองสัญจรไปมาได้อย่างคลองสาธารณะอื่น จึงไม่ถือเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556  แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้

          ต้องขออนุญาตผ่านที่ดินผู้อื่นออกไปสู่ทางสาธารณะ ถือว่าที่ดินถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ จึงฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ 3 ทาง แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด

          แม้ทางเข้าที่ดินผ่านทางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อถนนทางหลวงมีความสูงชันกว่ากันมาก แต่ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินกับทางสาธารณะ จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 1349 วรรคสอง 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553 แม้ทางเข้าที่ดินจำเลยที่ 1 ผ่านทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินมีความสูงชันกว่ากันมาก ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินจำเลยที่ 1 กับทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงมิอาจถือประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง ได้เช่นกัน

          ที่ดินที่แบ่งจากที่ดินแปลงใหญ่ทุกแปลงมีทางออกผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะเป็นทางจำเป็นอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ทั้งสามที่แบ่งแยกที่ดินมาจากที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าวย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกัน เพราะจำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นได้อีกต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2553 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 319 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมามีการแบ่งแยกออกไปรวม 8 แปลง โดยที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงต่างแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 ด้วย ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกมีโจทก์ที่ 2 และนาย ล. กับพวกอีก 6 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และโฉนดที่ดินของนาย ล. ที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 แปลงใหญ่ เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เช่นเดียวกับที่ดินโจทก์ทั้งสาม เมื่อนาย ล. ผ่านที่ดินจำเลยซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะคลองคอกกระบือและถนนเอกชัยได้ โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 ย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกับนาย ล. จำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นได้อีกต่อไป และถือว่าโจทก์ทั้งสามมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงอื่นได้อีก

          สำหรับการวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 ซึ่งการใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7775/2552   การวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 การใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น ผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน หากผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ไม่จ่ายค่าทดแทนตามสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของตนได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ที่จะต้องบอกกล่าวเสนอจำนวนค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทราบก่อน มิฉะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลยได้


          2. ทางจำเป็นเกิดขึ้นได้อย่างไร

          การได้สิทธิใช้ทางจำเป็น ไม่จำต้องมีนิติกรรมสัญญาระหว่างเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมกับเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพราะทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย และผู้ที่จะขอใช้ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิมานาน ถูกล้อมวันไหน เวลาใด แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจำเป็นได้ 
          สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย ตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง

          ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552  ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ทั้งมิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอเปิดทางในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น
          ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร



          3. การพิจารณาทำทางจำเป็น

          การผ่านที่ดินของผู้อื่นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเดินผ่านเท่านั้น ถ้าจำเป็นอาจทำถนนให้ยานพาหนะผ่านก็ได้ แต่ถ้าผู้ขอผ่านไม่มีรถยนต์ใช้จะขอทำถนนสำหรับรถยนต์ไม่ได้ เพราะเกินความจำเป็น นอกจากนี้ การใช้ทางจำเป็นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทางบก อาจเป็นทางน้ำก็ได้ เช่น ที่ดินตั้งอยู่ในบริเวณที่มีทางสาธารณะเป็นทางน้ำ การสัญจรไปมาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ เช่นนี้จะขอขุดคูทำทางน้ำสำหรับใช้เรือผ่านไปมาก็ได้ เว้นแต่จะเกินจำเป็นแก่ผู้ขอผ่านและเสียหายแก่เจ้าของที่ดินที่ให้ผ่านมาก
          ทั้งนี้ การพิจารณาทำทางจำเป็นผ่านที่ดินต้องคำนึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น ระหว่างที่ดินที่มีอาคารปลูกเต็มพื้นที่กับที่ดินว่างเปล่า การเลือกทำทางจำเป็นผ่านที่ดินว่างเปล่าย่อมเสียหายน้อยที่สุดแล้ว หรือการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557  ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์เพียง 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปิดล้อมอยู่ด้านนี้ แต่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์ถึง 4 เมตร 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินของจำเลยทั้งสี่ จากที่ดินของโจทก์เมื่อผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 เพื่อออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ก็เป็นระยะทางที่ใกล้กว่าที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ถึง 280 เมตร แม้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจะมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ถึง 6 เมตร 40 เซนติเมตร ส่วนทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกแม้มีความกว้างถึง 12 เมตร มี 4 ช่องเดินรถ แต่ก็ไม่ได้มีความกว้างเช่นนี้ตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสี่ คงมีความกว้างเช่นนี้เฉพาะบริเวณที่อยู่หน้าสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 พ้นจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียง 2 ช่องเดินรถ เฉพาะความกว้างเพียงบางส่วนของทางสาธารณประโยชน์ด้านนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความสะดวกในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกมีมากกว่าทางด้านทิศตะวันออก โดยเฉพาะทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกนี้ติดกับทางเข้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 และอยู่ตรงข้ามกับสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างซึ่งน่าจะมีการจราจรที่พลุกพล่านมากกว่าทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออก เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจึงมีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นมากกว่าเพราะเนื้อที่ดินที่จะต้องสูญเสียไปเนื่องจากการทำทางผ่านมีความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร น้อยกว่าเนื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการผ่านของโจทก์ถึง 4 เท่า ทั้งเมื่อเทียบขนาดความกว้างของที่ดินแล้ว ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ย่อมอยู่ในสภาพที่สามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ทำร้านขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่บนที่ดินด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 มีสภาพเป็นร่องสวน
          ถนนภายในหมู่บ้านเป็นทางสาธารณประโยชน์ ประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ผู้ใดจะกีดกันหรือไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้สอยไม่ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัว ส่วนผู้ที่ใช้สอยไม่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์ประเภทใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์นั้นเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์นั้นเช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่า ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน พ. จะไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนภายในหมู่บ้านและการนำรถบรรทุกดินผ่านถนนในหมู่บ้านจะทำให้ถนนเสียหาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่โจทก์จะนำมาอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ภายในหมู่บ้านได้ เมื่อยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ที่โจทก์จะผ่านออกถึงทางสาธารณประโยชน์ได้และจะเกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยกว่าของจำเลยทั้งสี่ ทั้งไม่ได้ทำให้โจทก์สูญเสียความสะดวกหรือประโยชน์ใช้สอยที่พอสมควรแก่ความจำเป็นที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้แล้ว แต่โจทก์กลับมาขอผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งจะได้รับความเสียหายมากกว่าจึงเป็นกรณีเกินกว่าความจำเป็นของโจทก์ที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1349
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11428 - 11429/2556  ที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารบนที่ดินจนเต็มพื้นที่ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ หากจะใช้ทางดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ขณะที่ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเป็นการสะดวกมากกว่า เพราะที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีระยะทางออกสู่ทางสาธารณะใกล้ที่สุด ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ และเนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย บัญญัติให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ในคราวเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ให้การและฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม มิฉะนั้นจำเลยที่ 3 ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552  ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2552  ที่ดินที่ ล. ยกให้จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินที่อยู่บริเวณกลางที่ดินของ ล. ไม่ติดทางสาธารณประโยชน์ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ ล. จึงยกที่ดินทางด้านทิศใต้ที่เชื่อมติดทางสาธารณะให้จำเลยที่ 1 แสดงว่า ล. ประสงค์จะให้ใช้เป็นทางออกร่วมกัน การที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์และโจทก์ขอทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 จึงเป็นการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
          ภาระจำยอมหรือทางจำเป็น เป็นทรัพย์สิทธิที่ติดกับตัวทรัพย์ สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกโดยทั่วไปได้ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และกระทำละเมิดโดยเปิดทางจำเป็นของโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ความว่ากระทำการปิดกั้นทางของโจทก์ในนามส่วนตัวเกินอำนาจหน้าที่หรือกระทำการโดยขัดกับระเบียนหรือนอกขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำในนามจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2551 การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่ง ฉ. สามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้


          4. การได้มาและการสิ้นสุดของทางจำเป็น

          ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย ในเมื่อมีความจำเป็น ดังนั้น ถ้าหมดความจำเป็นไม่ถูกล้อมเมื่อใด เช่น ซื้อที่ดินติดต่อกับทางสาธารณะออกเองได้ ทางจำเป็นก็จะต้องสิ้นสุดไป ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้
          
          แม้ต่อมาที่ดินที่ใช้เป็นทางจำเป็นจะเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น หากยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ทางจำเป็นก็ยังคงอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2552 โจทก์มีสิทธิใช้ทางเดินและทางรถยนต์ในที่ดินเป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย แม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินดังกล่าวอยู่นั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็น



          5. ค่าทดแทน

          ในเรื่องการขอใช้ทางจำเป็น กฎหมายบังคับว่า ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่             
          1. ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่มีทางผ่าน จะเสียหายมากหรือน้อยก็แล้วแต่ชนิดของทางที่ผ่าน เช่น จำต้องตัดต้นไม้บางต้นเพื่อให้ทำทางผ่านไปได้            
          2. ค่าทดแทนที่เป็นค่าใช้ที่ดินของเขาเป็นทาง การที่ต้องมีทางผ่านไปย่อมทำให้เจ้าของที่ดิน ไม่ได้ใช้ที่ดินตรงนั้นทำประโยชน์ได้ตามประสงค์ การใช้ค่าทดแทนในกรณีนี้คล้ายกับเป็นค่าเช่า จะตกลงกันเป็นรายปีหรือเป็นเงินก้อนก็ได้
          นอกจากทางจำเป็นจะมีขึ้นได้ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว ในมาตรา 1350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังได้บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่ง ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน และไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ดังนั้น กรณีที่มีการแบ่งแยกที่ดินแล้วทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาแปลงหนึ่งแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นก็สามารถเรียกร้องเอาทางผ่านจากที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคท้าย นั้น เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่จำเลยใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไรเพราะมิใช่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์สำหรับการรื้อถอนรั้วคอนกรีตบางส่วนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 47798 และค่าทดแทนสำหรับการใช้ถนนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 302 และ 295 เป็นเงินรวม 100,000 บาทนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น          
          
          การกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำเป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2555  การกำหนดค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำเป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ใช่ความเสียหายที่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ได้รับ



          6. ข้อแตกต่างระหว่างทางจำเป็นกับภาระจำยอม

            1. ทางจำเป็นจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ส่วนทางภาระจำยอมไม่จำเป็นต้องเป็นการผ่านไปสู่ทางสาธารณะ จะผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้
            2. ทางจำเป็นจะเกิดขึ้นได้จะต้องเป็นกรณีที่ที่ดินถูกล้อมอยู่จนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้  ถือเป็นการได้สิทธิโดยกฎหมาย แต่การขอใช้ทางภาระจำยอมไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อมจนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ แม้ที่ดินไม่ถูกล้อมก็สามารถขอใช้ทางภาระจำยอมได้ โดยอาจได้สิทธิภาระจำยอมโดยนิติกรรมหรือโดยอายุความ
            3. ผู้ขอใช้ทางจำเป็นจะต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ แต่ทางภาระจำยอมโดยนิติกรรม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเสียค่าทดแทนจึงแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะมีการเสียค่าทดแทนหรือไม่
            4. ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย การได้สิทธิไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนภาระจำยอมที่ได้มาโดยนิติกรรมต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรค 1 มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์




          7. การจดทะเบียน “สิทธิทางจำเป็น”

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องทางจำเป็นไว้ในมาตรา 1349 ว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้"
          ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิโดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3774/2549) แต่อย่างไรก็ตาม กรมที่ดินได้เคยพิจารณาตอบข้อหารือว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนในประเภท “สิทธิทางจำเป็น” โดยอนุโลมปฏิบัติตามแนวทางการจดทะเบียนประเภทภาระจำยอม



            โดยที่ทางจำเป็นเป็นเรื่องการได้สิทธิโดยกฎหมาย ดังนั้น การได้มาซึ่งทางจำเป็นจึงไม่ต้องจดทะเบียนแต่ประการใด แต่ผู้ขอใช้ทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการใช้ทางจำเป็นนั้นให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกใช้ทาง อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามเจ้าของที่ดินที่จะตกลงให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม อาจมีการตกลงกันให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมก็ได้ ทางจำเป็นนั้นก็กลายเป็นทางภาระจำยอมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เคยปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาของศาลให้จดทะเบียนทางจำเป็น ในกรณีนี้ การจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นก็จะดำเนินการโดยอนุโลมปฏิบัติเช่นเดียวกับการจดทะเบียนภาระจำยอม
            



บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน


          มาตรา 1300  "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิของตน ต่อมามีบุคคลอื่นได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยการจดทะเบียน ผลตามมาตรา 1300 คือ คนที่อยู่ในฐานะเป็นผู้จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ โดยมีหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ผู้ที่ได้สังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้จดทะเบียนไปนั้น ต้องได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือผู้รับโอนกระทำการโดยไม่สุจริต แต่ถ้าเป็นการได้มาโดยมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต ก็ไม่สามารถเพิกถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562  ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้
          แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้



          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ได้แก่

          (1) ผู้ทำนิติกรรมเพื่อให้ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยรับมอบอสังหาริมทรัพย์นั้นมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือและไปจดทะเบียนการได้มา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558  ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555 ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6691/2555  โจทก์ร่วมขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยเพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย แต่ธนาคารหาโฉนดที่ดินพิพาทไม่พบ จึงยังไม่ได้ดำเนินการ ต่อมาโจทก์ร่วมย้ายที่อยู่ จำเลยไม่สามารถติดตามโจทก์ร่วมมาดำเนินการได้ กรณีจึงไม่ใช่ปล่อยทิ้งไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และการที่โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากธนาคารว่าโฉนดที่ดินสูญหายก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ใบแทนโฉนดที่ดินมาโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย หาใช่กรณีที่จำเลยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการไม่ เมื่อโจทก์ร่วมได้ดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินใหม่ได้แล้ว โจทก์ร่วมได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ จำเลยจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2529  จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกแล้วจำเลยที่ 1 ได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้ากับพวกเข้าครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา โดยสัญญาว่าจะโอนสิทธิทางทะเบียนให้ในภายหลังซึ่งขณะนั้นที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้ว และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืนภายในกำหนด โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเลย ทั้งซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้ตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้ตน จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเอาคืนที่ดินพิพาทที่ตนได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2526  ก.ยกที่ดินโฉนดตราจองให้โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละครึ่งแต่ทำสัญญาจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งโฉนด ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกรณีพิพาทแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รู้เห็น แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังทำสัญญาซื้อขายรับโอนโฉนดตราจองดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายได้ตามมาตรา 1300



          (2) ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2508  เมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินสองแปลง มิได้มีผู้ร้องขัดทรัพย์หรือโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด จนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศและขายทอดตลาดไปตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด และศาลสั่งขายให้โจทก์แล้ว เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ซื้อทรัพย์รายนี้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิเป็นของตนได้แม้หลักฐานทางทะเบียนจะปรากฏว่ามิใช่เป็นของจำเลยก็ตาม โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีเรียกบุคคลภายนอกที่มีชื่อทางทะเบียนมาเป็นคู่ความก่อน
          แต่ถ้าซื้อมาโดยไม่สุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2509  จำเลยที่ 1, 2 ออกโฉนดทับที่ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ก่อน การออกโฉนดทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1, 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 3, 4 รับจำนองที่พิพาทโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3, 4 ฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3 โอนทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 5, 6 โดยเสน่หา โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้

          (3) ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาตามมาตรา 1299 ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536  จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

          (4) ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยคำพิพากษาของศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7205/2543  ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องตกลงชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลย ดังนี้สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ตนได้เกิดขึ้นแล้วทันที เพียงแต่ผู้ร้องต้องชำระเงินที่เหลือตอบแทนให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาด้วยเท่านั้น การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทน หามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ การที่ผู้ร้องยังคงมีสิทธิเช่นนี้เมื่อผู้ร้องได้ชำระเงินที่เหลือตอบแทนนั้นถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 โจทก์จึงหามีสิทธิขอให้บังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2552  การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. โดยอ้างว่าเพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. ซึ่งได้ระบุไว้ชัดแจ้งในคำขอจดทะเบียนสิทธิด้วย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่กระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทจึงต้องผูกพันต่อ ท. ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. ไปก่อนแล้วและได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจะทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ท. และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินเช่นนี้ ท. จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 หาใช่จำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 2 อาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ ท. ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ ท. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ประกอบมาตรา 1599 และมาตรา 1600
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561  คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้
          ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

          (5) ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ตามมาตรา 1532
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558  ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้

          อย่างไรก็ตาม *** ถ้าเป็นการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ ตามมาตรา 1300 ตอนท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562  แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก


          เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตลง ทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย คือ ทายาทโดยธรรม หรือตกทอดแก่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม คือ ผู้รับพินัยกรรม 

          ความสามารถในการเป็นทายาทและคุณสมบัติในการรับมรดก

          มาตรา 1604  "บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย"
          มาตรา 1654 วรรคสอง  "ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น"

          สรุปได้ว่า
          (1) ผู้ที่จะเป็นทายาทต้องมีสภาพบุคคล
          (2) ทายาทต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย



          (1) ผู้ที่จะเป็นทายาทต้องมีสภาพบุคคล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508  ในเรื่องมรดกนั้นเมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม) ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมมรดกของผู้นั้นจะตกทอดแก่แผ่นดิน พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล พินัยกรรมที่สั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 81 เช่น เพื่อบำเพ็ญทานการศาสนา ฯลฯ ผู้รับตามพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคลสามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของจะตกทอดแก่แผ่นดิน ในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษ (ชื่อตึ๊ง) เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล จึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินได้ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556  ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

          (2) ทายาทต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย แยกพิจารณาได้ดังนี้

          ก. กรณีทายาทเป็นบุคคลธรรดา ตามมาตรา 1604 บัญญัติใช้แก่บุคคลธรรมดาที่เป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น โดยวางหลักว่า บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ต่อเมื่อมีสภาพบุคคล คือคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และรวมถึงเวลาที่ทารกปฏิสนธิในครรภ์มารดาด้วย หากว่าภายหลังทารกนั้นเกิดมาและรอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2501  ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาขณะที่บิดาตายก็มีสิทธิเป็นทายาทได้ ถ้าหากภายหลังได้เกิดมารอดอยู่ และโดยมีพฤติการณ์ที่บิดารับรองทารกในครรภ์ว่าเป็นบุตรของตน อายุความฟ้องเรียกมรดกหนึ่งปีตามมาตรา 1755 นั้น จำแนกไว้สองประเภทคือ นับแต่เจ้ามรดกตายประการหนึ่ง หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกอีกประการหนึ่ง ฉะนั้น การที่เด็กผู้เป็นทายาทเกิดภายหลังที่บิดาตายแล้ว อายุความฟ้องร้องเรียกมรดกจึงเริ่มนับแต่เด็กนั้นคลอดเป็นต้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2526  ชายไปอยู่กินกับหญิง และแสดงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาในที่ต่าง ๆ อย่างเปิดเผยเป็นการยอมรับว่าหญิงเป็นภริยา มีการจัดเลี้ยงฉลองการตั้งครรภ์ เป็นการแสดงออกถึงการรับรองว่าโจทก์ซึ่งเป็นทารกในครรภ์มารดาเป็นบุตรของตน โจทก์จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกตามมาตรา 1629(1)

          ***การรับรองบุตรนอกกฎหมายที่อยู่ในครรภ์มารดา หากบิดาไม่แสดงอาการรับรองโดยพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วบิดาตายไปก่อนเด็กเกิด ไม่มีโอกาสที่บิดาจะรับรองว่าเป็นบุตรได้อีก จึงไม่มีทางเป็นทายาทตามมาตรา 1627 (บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2496  หญิงชายได้เสียอยู่กินด้วยกันแต่มิได้จดทะเบียนสมรสการสมรสย่อมไม่สมบูรณ์ จะเรียกว่าเป็นสามีภริยากันไม่ได้และบุตรที่เกิดจากหญิงนั้นก็มิใช่บุตรอันชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นและเมื่อชายนั้นตายเสียในระหว่างหญิงตั้งครรภ์ เมื่อบุตรนั้นคลอดออกมา ชายนั้นก็ไม่มีโอกาสจะรับรองเด็กนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 ได้เด็กนั้นจึงไม่ใช่บุตรที่บิดาได้รับรองแล้ว จึงย่อมไม่มีสิทธิจะได้รับมรดกจากชายนั้น ในฐานะผู้สืบสันดาน

          ***แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการแก้ไข ป.พ.พ.มาตรา 1557 เป็นว่า "การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิดแต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้" ดังนั้น ***หากมีการฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรแล้วศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ย่อมมีผลไปถึงเวลาที่เด็กนั้นเกิดว่า ขณะที่เกิดเด็กนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย*** 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556  คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม (ปัจจุบัน ตามมาตรา 1557 คำพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด) เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2554  แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แต่ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ซึ่งเป็นผู้ประกันตน และในขณะนั้นก่อนมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจึงยังคงมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด(ปัจจุบัน ตามมาตรา 1557 คำพิพากษาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด) อันเป็นเวลาก่อนการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ สิทธิของโจทก์ที่ขอจะรับบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายในฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงสมบูรณ์ก่อนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณี ส. ผู้ประกันตนจึงแก่ความตาย



          ***ทั้งนี้ การฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายจะต้องฟ้องภายในอายุความมรดกด้วยตามบทบัญญัติมาตรา 1558 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2532  โจทก์ฟ้องว่า มารดาโจทก์กับ ม. ซึ่งเป็นมารดาของเจ้ามรดกไม่มีอำนาจทำสัญญาแบ่งมรดก จึงขอเรียกทรัพย์มรดกส่วนที่ ม. รับไปคืนจากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้รับโอน เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกคืนจากทายาท ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ในขณะที่ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกนั้น โจทก์มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ถือได้ว่าโจทก์โดยมารดารู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยทั้งสี่เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกจาก ม. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ย่อมเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2538  ผู้คัดค้านเพิ่งคลอดหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของผู้คัดค้าน ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายประมาณ 8 เดือนว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งกรณีถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องภายในอายุความมรดก ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1558 วรรคแรก สิทธิดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดากับผู้ตายทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 อันเป็นลำดับถัดลงมาไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ มาตรา 1629, 1630
          คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 หมายถึงผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพย์มรดกโดยตรงมาตั้งแต่ต้น คือขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาใช่เกิดขึ้นในภายหลังตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีดังเช่นในคดีนี้ไม่
          
          ข. กรณีเป็นนิติบุคคลก็ต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาเจ้ามรดกตาย จึงจะมีสิทธิรับมรดก แต่มีข้อยกเว้นสำหรับนิติบุคคลที่ไม่มีสภาพบุคคลอาจรับมรดกได้ มี 2 กรณี
          (1) กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งมูลนิธิตามมาตรา 1676
          (2) กรณีมรดกตกทอดแก่แผ่นดิน ตามมาตรา 1753 เนื่องจากเจ้ามรดกไม่มีทายาท


          ทายาทโดยธรรม ที่มีสิทธิรับมรดกนั้นเป็นใครบ้าง ?


          ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับตามมาตรา 1629
          มาตรา 1629 "ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
          (1)  ผู้สืบสันดาน
          (2)  บิดามารดา
          (3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
          (4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
          (5)  ปู่ ย่า ตา ยาย
          (6)  ลุง ป้า น้า อา
          คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635"

          (1) ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) หมายถึง บุตรของเจ้ามรดกเท่านั้น

          นอกจากนี้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผลของมาตรา 1627 จึงมีสิทธิรับมรดกในลำดับเดียวกันกับผู้สืบสันดาน ทั้งนี้ ถ้าเป็นบุตรนอกกฎหมายจะไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ยกเว้นจะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามมาตรา 1627
          บุตรที่เกิดจากหญิง ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น แต่ที่เป็นปัญหาคือถ้าหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแล้วมีบุตรด้วยกัน บุตรที่เกิดมาย่อมเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย(บิดา) หรือเรียกกันว่าบุตรนอกกฎหมาย
          บุตรนอกกฎหมายของบิดา คือ บุตรที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา และบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร หรือศาลไม่ได้มีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2487  เด็กที่เกิดจากชายที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงนั้น แม้จะรู้กันทั่วไปว่าเป็นบุตรของชายก็ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย

          บุตรนอกกฎหมายซึ่งบิดามีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่ารับรองแล้ว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2537  การรับรองบุตรนอกกฎหมายจะต้องกระทำโดยบุคคลผู้เป็นบิดา เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาไม่ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้คัดค้านหรือมอบหมายให้ผู้ใดอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้คัดค้านแทน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของตนโดยพฤตินัย ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทที่มีสิทธิในมรดกของผู้ตาย            
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2534   พฤติการณ์ที่ พ. พาโจทก์ไปมอบตัวตามโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนบิดากับบุตรโดยทั่วไปได้ปฏิบัติกัน และปฏิบัติต่อโจทก์อย่างโจทก์เป็นบุตรของตนเช่นนี้ถือได้ว่า พ. ได้รับรองโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายว่าเป็นบุตรของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2534   การที่ ค. เจ้าบ้านแจ้งย้ายผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในบ้านต่อนายทะเบียนในฐานะบุตรของตน ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ ค. บิดารับรองแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของ ค. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2537   ผู้ตายพามารดาผู้คัดค้านที่ 3 ไปคลอดที่โรงพยาบาลกับแจ้งว่าเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ออกค่าใช้จ่ายการคลอด และรับกลับจากโรงพยาบาล ส่งเสียให้เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนตลอดมา ทั้งยังพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปสมัครงานโดยใบสมัครงานระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากนี้ผู้ตายยังเคยพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปเที่ยวเป็นประจำ พฤติการณ์ที่ผู้ตายปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของตนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

          อย่างไรก็ตาม แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะมีสิทธิรับมรดกของบิดาโดยให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1627 แต่บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นถึงจะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่ารับรองบุตรแล้ว ก็หามีสิทธิรับมรดกของบุตรที่ตนรับรองด้วยไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2510   แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เจ้ามรดก แต่โจทก์กับเจ้ามรดกก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดากับบุตรว่า เป็นทายาทซึ่งกันและกัน หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน
          บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกันอย่างใดเลย และไม่มีสิทธิได้รับมรดกซึ่งกันและกันด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 เป็นบทบัญญัติวางข้อข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่บิดารับรองแล้วให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่า ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย (อ้างฎีกาที่ 1271/2506)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2508   บุตรนอกสมรสที่บิดายังมิได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่มีพฤติการณ์เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเป็นบุตรนั้น มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเพียงรับมรดกบิดาได้ตามมาตรา 1629(1) เท่านั้น ส่วนบิดาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีสิทธิและหน้าที่ต่อบุตรนอกสมรสที่ยังมิได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรแต่ประการใด

          บุตรบุญธรรม
          การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมที่มีผลสมบูรณ์อยู่แล้วก่อนไม่ถูกกระทบกระเทือนเพราะการใช้ ป.พ.พ.บรรพ 5 อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ตามมาตรา 1598/27 บุตรบุญธรรมก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2519 (ประชุมใหญ่)  กฎหมายลักษณมรฎก บทที่ 12 บัญญัติให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในภาคญาติ แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณมรฎก ร.ศ.121 บัญญัติให้ญาติของผู้มรณภาพตามที่กำหนดไว้เป็นชั้น ๆ ได้รับมรดกในภาคญาติ แต่สำหรับบุตรบุญธรรมไม่ได้กำหนดไว้ บุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่านับแต่ ร.ศ. 121 เป็นต้นมา จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 แล้ว บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติมาตรา 1586 และ 1627 ก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนตามมาตรา 1585 เท่านั้น มิได้รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าซึ่งใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ด้วย เพราะพระราชบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ. 2477 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า "บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทงกระเทือนถึง(2) การรับบุตรบุญธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแต่การนั้น ๆ " ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมมีอยู่ตามกฎหมายเก่าอย่างไร เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับแล้วก็คงมีอยู่อย่างนั้น ดังนั้น บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่าและมิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว


          ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี โดยต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมไม่ต่ำกว่า 15 ปี ถ้าขณะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมผู้รับบุตรบุญธรรมอายุต่ำกว่า 25 ปี การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ แม้ต่อมาจะมีอายุครบ 25 ปีในภายหลังก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2497  บุคคลที่อายุไม่ครบ 30 ปี (อายุที่กฎหมายบังคับในขณะนั้น) จดทะเบียนรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ แม้บุคคลนั้นจะมีชีวิตมาจนถึงแก่กรรมนับอายุได้เกิน 30 ปีแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันเพราะไม่ใช่กรณีที่กฎหมายให้สัตยาบันได้
          บุตรบุญธรรมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย ดังนั้น หากบุตรบุญธรรมเสียชีวิตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรของบุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ ตามมาตรา 1639  แต่บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2528 (ประชุมใหญ่)  ผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643 หมายถึงผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่บุตรบุญธรรมหาใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม
          บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วย เพียงแต่คู่สมรสนั้นให้ความยินยอมให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ไม่ถือว่าคู่สมรสนั้นรับบุตรบุญธรรมนั้นด้วย ตามมาตรา 1598/24, 1598/26 ยกเว้นแต่ว่าคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมจะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นด้วย (มาตรา 1598/25, 1598/26 และ 1598/27)
          ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม (มาตรา 1598/29) อย่างไรก็ตาม ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนให้บุตรบุญธรรมคืน ถ้าบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายก่อนตน (มาตรา 1598/30)  

          ลำดับในการรับมรดกระหว่างทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกนั้นก็เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย เว้นแต่ กรณีมีบิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 1630
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556  คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555  ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2553  ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุว่า ผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้น แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับของผู้คัดค้านไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายโดยเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2551   ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งเป็นไปตามลำดับชั้นที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และบิดามารดาของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนผู้ตายแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าขณะผู้ตายถึงแก่กรรม ย. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 ซึ่งเป็นลำดับที่สูงกว่าผู้ร้องยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงย่อมตกได้แก่ ย. เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายตกได้แก่ ย. ดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องก็ไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกที่จะร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549   โจทก์เป็นบุตรของ ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของ ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก  จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          (2) บิดามารดา ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (2) ของเจ้ามรดก ในส่วนมารดาของเจ้ามรดกนั้นย่อมเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเสมอ
          ส่วนบิดาของเจ้ามรดกนั้น จะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อ (1) เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายโดยจดทะเบียนสมรสกับมารดา (2) บิดาที่ได้จดทะเบียนรับเจ้ามรดกเป็นบุตร หรือ (3) ศาลได้มีคำพิพากษาว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

          (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (3) คือ พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2529  การเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันต้องถือความเป็นพี่น้องกันตามความเป็นจริง ส่วนบิดามารดาจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่กรรมและผู้ตายก็ไม่มีผู้สืบสันดาน พี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 จึงเป็นผู้จัดการศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพเพราะเหตุที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายได้

          (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (4) คือ พี่น้องที่เกิดจากบิดาหรือมารดาเดียวกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545  การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง และตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

          (5) ปู่ ย่า ตา ยาย ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (5) หมายถึง ผู้บุพการีหรือญาติสืบสายโลหิตโดยตรงของเจ้ามรดกเท่านั้น โดยต้องเป็นปู่และย่าที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ในส่วนตาและยายก็จะต้องชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2494  ย่าของโจทก์เป็นป้าผู้ตายเมื่อผู้ตายไม่มีทายาทในอันดับ 1 ถึง 5 และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่แล้ว ย่าของโจทก์ผู้เป็นป้าผู้ตายก็ย่อมเป็นทายาท(อันดับ 6) มีสิทธิได้รับมรดกผู้ตาย และเมื่อย่าของโจทก์และบิดาของโจทก์ตายแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1639

          (6) ลุง ป้า น้า อา ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (6) หมายถึง พี่ชาย พี่สาว น้องชาย น้องสาว ของบิดาหรือมารดาเจ้ามรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2491  ข.เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ล. ซึ่งเป็นมารดาของเจ้ามฤดก ป.เป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากับ ล. ดังนี้ ช. และ ป. ย่อมเป็นน้าและอาของเจ้ามฤดก ทั้ง ช. และ ป. ย่อมเป็นญาติลำกัด 6 ในมาตรา 1629 เช่นเดียวกัน ซึ่งญาติลำดับ 6 ในมาตรา 1629 นี้ กฎหมายไม่ได้แยกญาติชิดและห่าง ดังในลำดับ 3 และ 4 ดังนั้น ญาติลำดับ 6 ในมาตรา 1629 ย่อมรับมฤดกแทนที่กันได้ตามมาตรา 1639

          (7) คู่สมรสก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกันตามมาตรา 1629 วรรคสอง ซึ่งมีสิทธิในกองมรดกของเจ้ามรดกตามส่วนภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งมาตรา 1635 ทั้งนี้ คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ได้แก่ สามีหรือภริยาของเจ้ามรดกนั้นนั้น ซึ่งการเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องจดทะเบียนสมรส และเมื่อเป็นคู่สมรสแล้วแม้จะแยกกันอยู่โดยยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ตามกฎหมายก็ยังถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกอยู่ ย่อมมีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2487   สามีภรรยาแยกกันอยู่ช้านานหรือเรียกว่าร้างกันนั้น ไม่ทำไห้ขาดจากสามีภรรยากัน และไม่สิ้นสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน.


          ทายาทย่อมมีสิทธิรับมรดกตามลำดับชั้น

       
          มาตรา 1630  "ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
          แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
          มาตรา 1631  "ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่"

          ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนั้นเป็นไปตามลำดับชั้น หากลำดับชั้นหนึ่งๆตามมาตรา 1629 ยังมีชีวิตหรือมีผู้รับมรดกแทนที่ ทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น 
          ยกเว้นกรณีมาตรา 1630 วรรคสอง ซึ่งผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ยังมีชีวิตหรือมีผู้รับมรดกแทนที่และบิดามารดาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (2) ยังมีชีวิตเช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ให้บิดามารดาเจ้ามรดกนั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร โดยผลของมาตรา 1630 วรรคสอง ในทำนองเดียวกันกับกรณีคู่สมรสของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร โดยผลของมาตรา 1635(1) เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556   คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม(ปัจจุบัน มีผลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่เด็กเกิด) เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2553   ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุว่า ผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้น แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับของผู้คัดค้านไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายโดยเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397-1399/2551   การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกันแม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของ จ. ซึ่งเป็นลุงของผู้ตาย โดย จ. เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่า จ. แล้ว จ. จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548   การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว 
          เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7474/2547   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ โดยระบุว่าผู้ร้องเป็นน้องต่างมารดากับโจทก์ ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนี้ผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 4 เมื่อผู้ร้องรับว่าผู้เป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของโจทก์ผู้มรณะที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง