26 มีนาคม 2560

การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 36  "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานแต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด"

          ประการที่หนึ่ง จะต้องร้องขอภายในหนึ่งปีนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ใช่นับแต่ศาลพิพากษา

          คดีถึงที่สุดหมายถึงคดีแรกที่ขอริบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2550  การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางซ้ำอีก รถยนต์กระบะของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36



          ประการที่สอง ทรัพย์สินนั้นจะต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ถ้าหากศาลใช้อำนาจตามมาตรา 35 คือให้ทำลายเสียย่อมขอคืนไม่ได้

          ประการที่สาม จำเลยในคดีนั้นมาขอคืนไม่ได้ คงใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือไม่ควรริบเท่่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2541  ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาล สั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอก ซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน ของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมิใช่ให้สิทธิ แก่จำเลยในคดีที่จะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วย เพราะหากจำเลย เป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้ รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จำเลยก็ย่อมมีสิทธิ นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้น เพื่อแสดงว่าจำเลย เป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดและมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลที่สั่งริบทรัพย์สินของกลางได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบอาวุธปืนของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนอาวุธปืนของกลางได้

          ประการที่สี่ เจ้าของที่แท้จริงมาร้องขอได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาให้ริบก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2514  ในคดีอาญาที่โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางนั้น เจ้าของทรัพย์สินของกลางจะมีคำเสนอหรือคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีนั้นก็ได้ ซึ่งศาลชั้นต้นจำต้องรับคำเสนอหรือคำร้องนั้นไว้เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 33 วรรคท้าย หรือมาตรา 34
          ในกรณีที่ศาลได้สั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วเจ้าของอันแท้จริงมีสิทธิที่จะทำคำเสนอต่อศาลตามมาตรา 36 ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ก็ตาม และถ้าปรากฏตามคำเสนอดังกล่าวว่าเจ้าของอันแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น ศาลก็ต้องสั่งให้คืนทรัพย์สินแก่เจ้าของอันแท้จริงถ้าทรัพย์นั้นยังคงมีอยู่แต่คำเสนอนี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น
          แต่ศาลชั้นต้นจะสั่งคืนของกลางได้ ต้องได้ความเสียก่อนว่าคดีหลักนั้นศาลใดศาลหนึ่งได้สั่งให้ริบของกลางแล้ว

          ประการที่ห้า การขอคืนของกลางตามมาตรา 36 ต้องเป็นกรณีที่คดีมีการฟ้องร้องกันที่ศาล ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานอื่นมีคำสั่งให้ริบโดยใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น จะมาร้องต่อศาลขอคืนตามมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2531  การที่เจ้าของแท้จริงจะร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 โดยอ้างว่าตนเองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้นเมื่อมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ร้องจึงจะมาร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องไม่ได้.

          ประการที่หก ในชั้นขอคืนของกลางมีปัญหาเฉพาะที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วยหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น ถ้าปัญหาว่าศาลชั้นต้นสั่งริบได้หรือไม่ ยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกปัญหาว่าตามกฎหมายริบไม่ได้ขึ้นมาในชั้นคำร้องขอคืนของกลางอีกไม่ได้ ศาลไม่รับวินิจฉัยให้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547 (ประชุมใหญ่)  ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2547)
          แต่ถ้าเนื้อหาในคดีหลักยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกายังพิพากษาลงในเนื้อหาคดีหลักเพื่อแก้คำพิพากษาของศาลล่างที่พิพากษาริบมาไม่ถูกต้องกับกฎหมายได้

          ประการที่เจ็ด ถ้ามีกฎหมายพิเศษบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าห้ามนำมาตรา 36 มาใช้แล้ว ศาลจะนำมาตรา 36 มาใช้บังคับไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2543  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้โดยเฉพาะ การดำเนินกระบวนพิจารณาจึงต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง และศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยที่ 1 โดยชอบ ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ผู้ร้องได้แถลงเพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องโดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องและได้ส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 1 โดยชอบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
          การดำเนินคดีขอริบทรัพย์สินในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อันเป็นกระบวนการพิเศษ พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแตกต่างไปจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กล่าวคือตามมาตรา 30 วรรคสอง จะมีบุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของทรัพย์สินก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 30 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลชั้นต้นสั่งริบทรัพย์สินได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามมาตรา 30 วรรคสองส่วนกรณีมีบุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านตามมาตรา 30 วรรคสอง บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีอาจจะเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือบุคคลอื่นที่อยู่นอกคดีดังกล่าวก็ได้ บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในกรณีนี้จึงไม่ได้เข้ามาในคดีในฐานะจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เข้ามาในฐานะอ้างว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การไต่สวนคำร้องของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
          การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีอัตราโทษที่ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหากกรณีมีบุคคลเข้ามาในกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง และบุคคลดังกล่าวไม่มีทนายความ ก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ที่ศาลจะต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา แม้จำเลยที่ 1 จะมาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรก และในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 30 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในกระบวนการที่กำหนดไว้ใน มาตรา 30 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องนัดแรกโดยไม่เลื่อนคดีไปนั้นชอบแล้ว

          ประการที่แปด ผู้ให้เช่าซื้อที่มาขอคืนของกลางที่มีผู้อื่นนำไปใช้ในการกระทำความผิด หากมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่ามาร้องคืนของกลางเพียงเพราะประสงค์จะได้ค่าเช่าซื้อที่เหลือคืน โดยไม่สนใจว่าผู้เช่าซื้อจะนำรถของกลางไปทำอะไรบ้างแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่สมควรคืนให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2543  ผู้ร้องในฐานะผู้ให้เช่าซื้อร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางที่ศาลสั่งริบเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนไปหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเองไม่ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง

          ประการที่เก้า ถ้าชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แม้ยังไม่โอนทางทะเบียน ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่ใช่เจ้าของแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2548  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องครบทุกงวดแล้ว แม้จะชำระค่างวดล่าช้าไม่ตรงกำหนด แต่ผู้ร้องก็รับค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ได้บอกเลิกสัญญา ถือว่ากำหนดเวลาชำระเงินไม่เป็นสาระสำคัญ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของกลางจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อน แม้ตามข้อ 9 ของสัญญาเช่าซื้อจะให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการไปเก็บเงินดังกล่าวได้ ผู้ร้องก็ต้องไปเรียกร้องเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นสิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้ผู้ร้องจะยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตามหนังสือแสดงการจดทะเบียน ผู้ร้องก็มิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง
          แต่ถ้าเป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการให้ชำระราคาไปให้ครบก่อน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน ผู้ซื้อมาร้องขอคืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2551  ขณะที่ผู้ร้องและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางกันจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องยังค้างชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในวันที่ได้รับชำระราคาส่วนที่เหลือ จึงเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ร้องจะได้ชำระราคาและโอนทะเบียนกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่แท้จริง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36



25 มีนาคม 2560

ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 138  "ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ....
          ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..."

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 138

          (1) ต่อสู้ หรือขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2514 (ประชุมใหญ่)  คืนเกิดเหตุ ตำรวจกับพวกตามหาเรือของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไปพบจำเลยทั้งสองอยู่ในเรือลำหนึ่ง ตำรวจซึ่งอยู่ในเครื่องแบบแสดงตัวและบอกให้จำเลยเข้ามาหา จำเลยทั้งสองรู้ว่าเป็นตำรวจแต่ขัดขืน และได้ยิงปืนมาที่เรือตำรวจ 1 นัดกระสุนปืนถูกผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ขาแล้วจำเลยทั้งสองโดดน้ำหนีพร้อมกัน ดังนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานกับผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2514)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2515  การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยจำเลยที่ 1 ชกพลตำรวจ อ. ที่หน้าอกและจำเลยทั้งสองชกต่อยพลตำรวจ อ. กับพวก นั้น. เมื่อไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง, 83 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2533  จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ล้มลงแล้วขับรถยนต์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขับรถยนต์ติดตามเพื่อจับกุม แต่จำเลยขัดขวางการจับกุมโดยขับรถยนต์ปาด ไปทางซ้ายและทางขวาจนถึงบริเวณที่เจ้าพนักงานตำรวจยืนอยู่ที่จุดสกัดจับ จำเลยก็ขับรถพุ่งเข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2537  เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้และเรียกทำเย็ดแม่ ดังนี้ ที่จำเลยกล่าวว่าเป็นนายจับอย่างไรก็ได้ เป็นเพียงคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวหาว่า ผู้เสียหายกลั่นแกล้งจึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า เรียกทำเย็ดแม่เป็นคำด่าอันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง จนฟันผู้เสียหายหักและมีโลหิตไหลออกจากปาก จำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสองและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 อีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2537  จำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ ระหว่างจำเลยหลบหนีถูกผู้เสียหายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าข้างทางและล้มลงจำเลยลงจากรถจักรยานยนต์แล้วชักอาวุธปืนสั้นเล็งมาทางผู้เสียหายกับพวกเพื่อข่มขู่มิให้ผู้เสียหายกับพวกทำการจับกุมจำเลยจำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีหรือใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก และวรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2536  เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยมีพฤติการณ์น่าสงสัยโดยตอนกลางวันจะปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ตอนกลางคืนจึงออกจากบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและไม่ปรากฏว่าประกอบอาชีพอะไร สงสัยว่าภายในบ้านจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุให้ออกหมายค้นได้ จำเลยใช้มือผลักหน้าอกของร้อยตำรวจโทป. ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยชี้นิ้วและพูดด่าร้อยตำรวจโท ป. กับพวกในขณะเข้าทำการตรวจค้นว่า "ไอ้พวกอันธพาลไอ้พวกฉิบหายไอ้มือปืน" และยังได้ร้องด่าอีกว่า "ตำรวจหัวควย" ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2536  เมื่อจำเลยชะลอความเร็วของรถเพราะติดรถยนต์คันอื่นซึ่งติดสัญญาณไฟแดงเพื่อจะเลี้ยวขวา เจ้าพนักงานตำรวจได้ลงจากรถยนต์ปิกอัพวิ่งไปกระโดดเกาะบันไดขึ้นหลังคารถตรงประตูรถด้านหน้าด้านคนขับ จำเลยได้ขับรถเบี่ยงลงถนนทางด้านซ้ายเฉียดเสาไฟฟ้า เมื่อเลยสี่แยกไป เจ้าพนักงานตำรวจปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ จำเลยได้ขับรถชิดซ้ายและขับรถส่ายไปมา ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อที่จะหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้จับกุมได้เท่านั้นแม้จะขับรถส่ายไปมาก็เป็นการกันมิให้รถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจแซงขึ้นหน้ารถตนเองได้ซึ่งหากจำเลยมีเจตนาฆ่าคงจะกระทำในโอกาสแรกโดยการขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนเจ้าพนักงานตำรวจในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นยืนโบกมือ ขวางทางอยู่กลางถนนที่ด่านตำรวจ การที่จำเลยไม่หยุดรถเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่งสัญญาณให้หยุดที่ด่านตรวจโดยเร่งความเร็วหลบแผงกั้นเป็นด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ และขับรถส่ายไปมาในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจอยู่บนหลังคารถด้วยนั้น ตามพฤติการณ์จำเลยมีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจเพียงอย่างเดียวอันเป็นความผิดฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น ส่วนที่จำเลยขับรถเบี่ยงลงถนนด้านซ้ายเฉียดเสาไฟฟ้าข้างถนน ก็ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยจะขับรถเบี่ยงไปเช่นนั้นมีรถยนต์หลายคันจอดขวางติดสัญญาณไฟแดงอยู่เมื่อได้สัญญาณไฟเขียว จำเลยก็รีบร้อนขับรถออกไปเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม แต่เมื่อไม่อาจขับรถออกไปทันทีได้จึงต้องเบี่ยงลงข้างทางที่มีที่ว่างพอให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับผ่านไปได้เผอิญตรงนั้นมีเสาไฟฟ้าอยู่ 1 ต้น จำเลยจึงต้องขับรถเบี่ยงเฉียดเสาไฟฟ้านั้นไป อีกทั้งรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับเป็นรถขนาดใหญ่และเป็นขณะเพิ่งออกรถ ย่อมไม่อาจใช้ความเร็วสูงได้จำเลยจึงมีเพียงเจตนาหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยเล็งเห็นผลการกระทำของตน

          แต่การขอร้องตำรวจให้ปล่อยตัวไม่ใช่การขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2515  ตำรวจจับเด็กเที่ยวเร่ร่อนตามหน้าที่ เด็กขอร้องให้จำเลยช่วยจำเลยถามว่าเป็นอะไรมาจับเด็กเมื่อตำรวจแสดงตัวว่าเป็นตำรวจแล้วจำเลยพูดว่า ขอได้ไหมอย่าจับเด็กนี้เลย ตำรวจจึงอธิบายให้ฟังว่าเป็นหน้าที่ จำเลยก็ยอมให้เอาตัวเด็กไป ดังนี้การกระทำของจำเลยหาเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่
          การที่จำเลยเพียงถือขวดโซดาไว้ในมือ ไม่ได้ใช้ขวดโซดาจะตีหรือหยิบมีดมาจะทำร้าย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด (ฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน)

          การนิ่งเฉยก็ไม่ถือว่าเป็นการขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2536  พยานโจทก์ไม่มีใครรู้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ช่วยจำเลยที่ 4 แบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดพลาสติกและพยานที่สืบสวนมาก็ไม่ได้ความว่าสืบมาอย่างไร จากใคร เมื่อรู้ก่อนนานแล้วทำไมไม่ดำเนินการจับกุม เหตุใดต้องรอมาจนถึงวันเกิดเหตุ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ถูกกล่าวหา จึงน่าเป็นเพราะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 4 ในบ้านเกิดเหตุ เฮโรอีนของกลางอาจบรรจุหลอดพลาสติกมาก่อนแล้วก็ได้และตามวิสัยการกระทำผิดอันร้ายแรงเช่นนี้ ชอบที่จำเลยที่ 4 กับพวกต้องปิดบังไว้ไม่น่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ล่วงรู้ไปได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จะได้กระทำผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ส่วนความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 กระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากจำเลยที่ 4 ไม่ยอมเปิดประตูและจำเลยที่ 1 พูดห้ามมิให้เปิดกับเรียกจำเลยที่ 4 เข้าไปในบ้าน หลังจากนั้นไฟฟ้าภายในบ้านก็ดับลงไม่ทราบว่าใครเป็นคนดับและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำการอันใดบ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน และการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ภายในบ้านเกิดเหตุด้วย จะถือว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ไม่ให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ได้

          ดิ้นหนีไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2536  จ่าสิบตำรวจ ส.กับพวกพบจำเลยกับพวกสะพาย อาวุธปืนยาวมาคนละกระบอก จ่าสิบตำรวจ ส. กับพวกจึงขอตรวจค้น จำเลยส่งอาวุธปืนยาวให้เจ้าพนักงานตำรวจแล้วได้กระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจ และจ่าสิบตำรวจ ส.จึงได้กระโดดเข้าจับจำเลยและกอดปล้ำกันตกลงไปตามทางลาดชัน การที่จำเลยกระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

          ปัดป้องไม่ยอมให้เข้าใกล้ตัวไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8198/2550  การที่สิบตำรวจตรี ส. เบิกความว่า เมื่อวิ่งไล่ตามจำเลยจนทันแล้วจำเลยหันกลับมาใช้มือปัดป้องไม่ยอมให้พยานเข้ามาใกล้ตัว เมื่อพยานเข้าไปกอดและพยานให้จำเลยคว่ำหน้าลง จำเลยล้มลงพร้อมกับพยาน จากนั้นพยานสั่งให้จำเลยนอนอยู่เฉยๆ แล้วพยานใส่กุญแจข้อมือและให้จำเลยลุกขึ้น โดยไม่ปรากฏว่าพยานเบิกความว่าจำเลยใช้เท้าถีบหรือใช้มือผลักอก อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใดการที่จำเลยปัดป้องไม่ยอมให้สิบตำรวจตรี ส. เข้าใกล้ตัว การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

          ขับรถผ่านเลยไปไม่ยอมหยุดตามที่เรียก ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2531  จำเลยขับรถยนต์สิบล้อไปถึงด่านตรวจ ได้รับสัญญาณให้หยุดรถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่ริมถนนบริเวณด่านตรวจนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตามโดยจำเลยขับรถผ่านเลยไป ดังนี้ เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำการอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่. 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2545  จำเลยขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านตรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจ จำเลยไม่ยอมหยุดและได้ขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับ การที่จำเลยขับรถเลยไปไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้นก็ดี การที่จำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

          แต่การกดมือตำรวจไว้ เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2539  ก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอก พ. พบเห็นจำเลยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าแม้สิบตำรวจเอก พ. ไม่มีหมายจับ แต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยทราบแล้ว สิบตำรวจเอก พ.จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1)(2), 93 การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอก พ.ดึงออกมาจากเอวจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง

          (2) เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2541   ต. เป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยจึงเป็นพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ 2.1 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต. ได้รับทราบทางวิทยุว่าจำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้า จึงสั่งให้ อ.กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมออกไปก็ให้ทำการจับกุม ต่อมาประมาณ 10 นาที ต. ได้รับแจ้งว่าอ. กำลังถูกรุมทำร้ายจึงรีบวิ่งไปที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพวกจำเลยกระจายกันวิ่งหลบหนี แสดงว่า ต.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ต.อนุญาตให้ อ. ณ. และ ย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลย กรณีจึงไม่อาจถือว่า ต.เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือกระทำตามหน้าที่ เพราะ ต.ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้วการที่ อ.ณ.และ ย.เข้าจับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นปฎิบัติ การหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 289(3), 296 แต่กลับกลายเป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7985/2540  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 138 จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้
          ตาม พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2497 มาตรา 16(2) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา 29 เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจึงจะมีอำนาจตามกฎหมายและให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วยดังนี้ การที่ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลย ผู้เสียหายจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2503  สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วยหรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติแล้ว เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้ายสารวัตรกำนันในการจับกุมจำเลยและควบคุมจำเลยส่งพนักงานสอบสวน ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา 289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296

          หากบุคคลนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเจ้าพนักงานอยู่ในตัว จะต้องมีเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่อยู่ในขณะนั้นด้วย จึงจะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2514 (ประชุมใหญ่)  คืนวันเกิดเหตุ สิบตำรวจเอก ส. กับสิบตำรวจโท ช. แต่งเครื่องแบบตำรวจ นั่งเรือหางยาวไปตามหาเรือมาดของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป โดยมีนาย ล. นาย อ. และนาย ข. ไปด้วย ต่อมาพบเรือนั้นจมน้ำอยู่ มีจำเลยทั้งสองนั่งเรือแจวมา สิบตำรวจเอกสุเทพว่า "นี่ตำรวจ นั่นเรืออะไร เข้ามานี่ก่อน" จำเลยรู้ว่าเป็นตำรวจแต่เบนหัวเรือหนี สิบตำรวจเอก ส. ไล่ตาม จำเลยยิงปืนมา1 นัด กระสุนปืนถูกนาย ล. ที่เข่าขวาและกลางขาขวา เมื่อเรือตำรวจวิ่งไล่ตามเรือจำเลยต่อไปจนห่าง 2 วา จำเลยทั้งสองกระโดดน้ำหนี จึงวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานใช้ปืนเป็นอาวุธ ต่อสู้ขัดขวางและฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจเอก ส. กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่และเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำตามหน้าที่

          (3) ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ 
          โดยต้องอยู่ในหน้าที่และต้องชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่มีหน้าที่ผู้ต่อสู้ขัดขวางก็ไม่ผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2538  ส.ต.ต. ส.กับพวกแต่งกายในเครื่องแบบร่วมกันไปจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไฮโลว์ ก่อนไปจับกุมได้ไปขอแบ่งรายได้ที่เก็บจากการเล่นการพนันดังกล่าวจาก ก. ก.ปฏิเสธ ส.ต.ต. ส.ก็พูดจาในทำนองข่มขู่ ต่อจากนั้นได้ไปยังบริเวณที่มีการเล่นการพนันกัน เมื่อไปถึง ส.ต.ต. ส.ได้ร้องตะโกนให้พวกเล่นการพนันวิ่งหนีโดยไม่ได้เข้าจับกุมบุคคลเหล่านั้น แต่ได้ยึดเครื่องมือที่ใช้เล่นการพนันและเงินสดโดยไม่ได้ทำบันทึกการยึดของกลางไว้ การกระทำของ ส.ต.ต. ส.กับพวกหาใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่ในการเข้าจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2540  ผู้เสียหายได้พบจำเลยในขณะที่จำเลยซึ่งมีอาการเมาสุรานั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดและผู้เสียหายมิได้เข้าทำการจับกุมจำเลยอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งการที่ ส. แจ้งต่อผู้เสียหายก็ระบุแต่เพียงว่าอาจมีเรื่องกันบริเวณปากซอยให้ไปช่วยคนหน่อย จึงฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุหรือกระทำความผิดแต่อย่างใด การที่ผู้เสียหายปฏิบัติภารกิจอื่นแล้วเข้าไปยังที่เกิดเหตุโดยยังมิได้มีเหตุการณ์วิวาทเกิดขึ้นแต่ผู้เสียหายกลับไปมีเรื่องกับจำเลยเป็นส่วนตัว โดยถูกจำเลยพูดว่ากล่าวและผลักอก จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติการตามหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาทหรือจับกุมผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550  บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ.อ. หรือเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)
          ต้องรู้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2513  เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยวโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตามหน้าที่ ทั้งนี้ต่างฝ่ายไม่รู้จักกันมาก่อนจำเลยไม่มีทางรู้ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะได้ทำการต่อสู้ชกต่อยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจค้นเอาเงินทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยไปก็ตาม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ดังฟ้องโจทก์ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2546  ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้

          มาตรา 138 วรรคสอง  "ถ้าการต่อสู้ขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..."

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2523  เจ้าพนักงานตำรวจไล่จับญาติของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในข้อหาฆ่าคนตายจำเลยที่ 1 กอดเอวเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ดึงเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งไว้ เพื่อมิให้เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาการที่จำเลยที่ 1 กอดเอวและจำเลยที่ 2 ดึงเสื้อนั้นเป็นการใช้แรงกายกระทำต่อกายของเจ้าพนักงานตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) เพื่อต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรค 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3850/2543  การที่จำเลยใช้มือผลักและใช้ตัวดันเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่จากมือเจ้าพนักงานตำรวจไปใส่ปากเคี้ยวเพื่อทำลายหลักฐานนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่และกำลังตรวจค้นเพื่อรวบรวมสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่มีการกล่าวหาหรือที่เจ้าพนักงานตำรวจได้สืบทราบมาหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ใช้มือผลักเจ้าพนักงานตำรวจกระเด็นไปติดประตูแล้วใช้ตัวดันเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตามีนบรรจุมาใส่ปากเพื่อเคี้ยวทำลายหลักฐานนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการผลักและดันของจำเลยว่าเป็นการทำอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของเจ้าพนักงานตำรวจได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลในการที่จะกระทำต่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง




ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนมีหน้าที่ (ผลประโยชน์ทับซ้อน) ตามมาตรา 152

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 152  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท"

          องค์ประกอบความผิดของมาตรา 152

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          ถ้าเป็นลูกจ้างไม่ว่าประจำหรือชั่วคราวก็ไม่ใช่เจ้าพนักงาน ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2503  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการทุจริตต่อหน้าที่และจดหลักฐานเท็จแต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมชลประทานให้เป็นช่างบังคับหมู่เขื่อนระบายน้ำโพธิ์เตี้ยมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ซ่อมแซมบำรุงรักษา ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน ควบคุมคนงานโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจากงบประมาณ ซึ่งมิใช่ประเภทเงินเดือน เมื่อจำเลยได้เบิกค่าแรงคนงานเกินความจริงและจดหลักฐานเท็จ ก็จะเอาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่และทำหลักฐานเท็จตามฟ้องไม่ได้เพราะถือว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและตามฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายถึงความผิดอย่างอื่นอันเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า โจทก์มีความประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยซึ่งไม่ใช่ในฐานเป็นเจ้าพนักงานด้วย เมื่อเป็นดังนี้ คดีก็ไม่มีทางจะลงโทษจำเลยได้

          (2) มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด หมายถึง บรรดาผู้จัดการ ผู้อำนวยการต่างๆที่เป็นเจ้าพนักงาน

          (3) เข้ามีส่วนได้เสียเนื่องด้วยกิจการนั้น โดยอาจจะเป็นผู้รับเหมาเสียเองหรือไปยืมชื่อผู้อื่นมาเป็นผู้รับเหมางานหรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับเหมาประมูลงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2540  จำเลยที่ 1 เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาลให้เป็นผู้ตรวจงานจ้างในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำโดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง 1,750 บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป 2,900 บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 152 ซึ่งเป็นบทหนัก

          (4) เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
          กฎหมายให้รวมไปถึงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ดังนั้น กิจการที่เข้ามารับงานตามที่ล็อคสเป็คไว้ ถ้าเป็นของภริยาหรือบุตร พี่เขย น้องเมีย พ่อตา แม่ยาย ญาติ เพื่อน หรือนายทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองก็ผิดมาตรา 152 นี้
          คดี อม. 1/2550  (คดีที่ดินรัชดา) ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดตามกฎหมายเฉพาะคือกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในลักษณะผลประโยชน์ส่วนบุคคลขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 152 เพราะไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น

          (5) เจตนาธรรมดา (องค์ประกอบภายใน) ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2535  ผู้ที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เมื่อปรากฏว่าในการจัดซื้อดินถมพร้อมบดอัดแน่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นั้น เทศบาลได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและราคาที่ตกลงซื้อก็ต่ำกว่าราคาที่เทศบาลตั้งงบประมาณไว้ แสดงว่าการจัดซื้อดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์ของเทศบาลเป็นสำคัญ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ก็ตามกรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน



ความผิดฐานเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ตามมาตรา 200

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 200  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 200

          (1) เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา แต่ไม่รวมถึงผู้พิพากษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549  จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง

          (2) กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบทหนัก

          (3) เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง
          แต่ถ้าเป็นการแกล้งเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 200 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติว่าให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงต้องนำบันทึกคำให้การซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาฉบับเดิมที่จำเลยที่ 1 เป็นคนร่วมสอบสวนและบันทึกรวมเข้าสำนวนไว้ จำเลยที่ 1จะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหา ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษา โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคแรก และทำให้ผู้กล่าวหาและกรมตำรวจเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

          (4) เจตนาธรรมดา (องค์ประกอบภายใน) ถ้าหากไม่มีเจตนาก็ไม่ผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2707/2530  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปล่อยตัวนาย ข. ที่เข้าไปคว้าเงินของผู้เสียหายภายในร้าน โดยไม่ส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพราะจำเลยเห็นว่า นาย ข. เป็นสายลับตำรวจเข้าไปยึดเงินดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานในการเล่นการพนันนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจและใช้ดุลพินิจว่านาย ข. ไม่ได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาจะช่วยเหลือนาย ข. มิให้ต้องรับโทษ ยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200.

          การกระทำเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง หมายความถึงบุคคลอื่น แต่ถ้าหากตัวเองเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย และกระทำเพื่อช่วยให้ตนเองพ้นผิด ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 200
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2511  ก่อนเกิดเหตุ จำเลยมีปากเสียงกับนาย ส. กับพวกในร้านอาหาร เมื่อออกจากร้าน ผู้ตายออกจากป้อมยามตำรวจตรงมาที่นาย ส. กับพวกขณะห่างจากจำเลยประมาณ 2 วา ผู้ตายทำของตกก้มลงเก็บ ขณะนั้นจำเลยซึ่งมีอาการเมาสุราด้วยน่าจะสำคัญผิดว่าผู้ตายจะทำร้ายตน จึงชักปืนยิงผู้ตายอันเป็นการเข้าใจเหตุการณ์เองโดยไม่มีเหตุสมควร และแม้จะถือว่าการสำคัญผิดเกิดขึ้นด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 68, 69
          แต่ในข้อหาขัดขวางนายสุทินกับพวกแจ้งความและไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ฟังว่าผิด แต่มิใช่กระทำเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับผิดจึงไม่ผิดตามมาตรา 200  เนื่องจากความผิดตามมาตรา 200 ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำหรือละเว้นกระทำในตำแหน่งอันมิชอบ จะต้องมีความมุ่งหมายเพื่อช่วยบุคคลอื่น จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้หากเพื่อช่วยเหลือตัวผู้กระทำผิดเอง และเกิดเสียหายแก่ผู้อื่น ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522  กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น
          การที่จะมีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจนั้น เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอัยการตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          จำเลยเป็นพนักงานอัยการตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการ แม้จะพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว แต่รู้อยู่แล้วว่าอธิบดีกรมอัยการคนก่อนได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง จ. กับพวก ตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจ ระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้มอบงานให้ ก. รองอธิบดีกรมอัยการซึ่งจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแทนจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก แล้วลอบแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน เพื่อจะช่วย จ. กับพวกมิให้ต้องโทษ จนอธิบดีกรมตำรวจได้แจ้งคำสั่งของจำเลยดังกล่าวให้ผู้ร้องทุกข์และผู้ต้องหาทราบทุกคนแล้วเช่นนี้จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 165, 200
          เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
          จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก


24 มีนาคม 2560

ความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตามมาตรา 151 (ใช้ประโยชน์จากของหลวง)

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 151  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          ความผิดของมาตรา 151

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2525  การแบ่งส่วนราชการภายในกรมนั้นต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อไม่เคยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมการปกครองให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการของกรมการปกครอง คงมีแต่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมอบอาคารโรงพิมพ์และอุปกรณ์ทั้งสิ้นแก่กรมการปกครอง โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงหาเป็นส่วนราชการของกรมการปกครองไม่
          ส่วนที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ บัญญัติความหมายของส่วนราชการให้รวมถึงสำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐด้วยนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการที่สำนักงบประมาณจะจัดทำและควบคุมงบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการ แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เคยเสนอประมาณการรายรับรายจ่ายต่อสำนักงบประมาณ ทั้งไม่เคยมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ดำเนินกิจการของโรงพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
          เมื่อความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นในเบื้องต้นผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าพนักงานเสียก่อนและเมื่อได้ความว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองแล้ว จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์โดยตำแหน่งตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงาน ไม่อาจกระทำผิดตามมาตรา 151 ตามฟ้องโจทก์ได้

          (2) มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ
          มีหน้าที่ซื้อ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558  จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2565  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำเลยที่ 1 ดำเนินการอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 6 ห้อง และให้ อ. ครูหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุญาตดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าวโดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษา 269,950 บาท โดยแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ อันเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขแล้ว ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีการสอบราคา แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของวิทยาลัยการอาชีพ ม. เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัสดุ และการที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นการเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานนี้
          มีหน้าที่ทำ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ผลิตทรัพย์ให้แก่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ โดยอาจใช้แรงงานโดยตรงหรือควบคุมดูแลก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2564  แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก 
          ส่วนจำเลยที่ 2 คงได้ความแต่ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)
          มีหน้าที่จัดการ หมายถึง มีทรัพย์ของทางราชการอยู่แล้ว มีหน้าที่จัดการทรัพย์เหล่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2533  จำเลยรับราชการเป็นนายช่างโยธา 5 ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจราจรสงเคราะห์ประจำเขตการทางสงขลา กรมทางหลวง ในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยมีอำนาจสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายน้ำมันและอนุญาตให้ใช้รถยนต์ในเขตการทางสงขลาด้วย การที่จำเลยได้สั่งให้ใช้รถของราชการและสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายน้ำมันของราชการสำหรับรถดังกล่าวขนเสาซีเมนต์ป้ายจราจรจากแขวงการทางสงขลาไปยังจุดติดตั้งในกิจการส่วนตัว จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่กรมทางหลวง ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
          มีหน้าที่รักษาทรัพย์ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ควบคุมของให้ผู้อื่นมาเบิกไปใช้

          (3) ใช้อำนาจในตำแหน่ง อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น
          ต้องเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตในลักษณะของการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของทางราชการที่ตนเองเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์นั้น แต่หากเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นไปก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่จะผิดตามมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2516  การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ก็ต่อเมื่อ ผู้กระทำผิดมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ แล้วใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้น โดยมิได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินงานควบคุมจัดการกิจการประปาของเทศบาล ได้ติดตั้งการใช้น้ำประปาให้ ส. กับพวก แล้วไม่ลงทะเบียนผู้ใช้น้ำประปา เรียกเก็บค่าใช้น้ำประปาทุกเดือน และออกหลักฐานจำนวนก๊อกน้ำประปาของผู้ติดตั้งน้อยกว่าความจริง แล้วเก็บเงินมากกว่าจำนวนค่าธรรมเนียมที่เทศบาลกำหนด และโจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินรายได้ 3,955 บาท จากกิจการประปาของเทศบาลที่จำเลยรับไว้จาก ส. กับพวก ไว้เป็นประโยชน์ส่วตัว โดยทุจริต ดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 151 ด้วย

          แต่ถ้าไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2502  ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ จำเลยใช้จ้างวานคนไปตัดฟันชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้กล่าวว่าจำเลยเอาอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการไปใช้จ้างวานคนให้กระทำผิดเช่นนั้นด้วยเลย เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ใช้จ้างวานให้คนไปกระทำผิดเป็นส่วนตัว ย่อมจำลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 132 หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไม่ได้

          (4) โดยทุจริต  ต้องมีเจตนาพิเศษ คือ มีเจตนาทุจริตด้วย

          (5) เจตนาธรรมดา