24 มี.ค. 2560

ความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตามมาตรา 151 (ใช้ประโยชน์จากของหลวง)

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 151  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          ความผิดของมาตรา 151

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2525  การแบ่งส่วนราชการภายในกรมนั้นต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อไม่เคยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมการปกครองให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการของกรมการปกครอง คงมีแต่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมอบอาคารโรงพิมพ์และอุปกรณ์ทั้งสิ้นแก่กรมการปกครอง โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงหาเป็นส่วนราชการของกรมการปกครองไม่
          ส่วนที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ บัญญัติความหมายของส่วนราชการให้รวมถึงสำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐด้วยนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการที่สำนักงบประมาณจะจัดทำและควบคุมงบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการ แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เคยเสนอประมาณการรายรับรายจ่ายต่อสำนักงบประมาณ ทั้งไม่เคยมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ดำเนินกิจการของโรงพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
          เมื่อความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นในเบื้องต้นผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าพนักงานเสียก่อนและเมื่อได้ความว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองแล้ว จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์โดยตำแหน่งตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงาน ไม่อาจกระทำผิดตามมาตรา 151 ตามฟ้องโจทก์ได้

          (2) มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ
          มีหน้าที่ซื้อ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558  จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2565  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำเลยที่ 1 ดำเนินการอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 6 ห้อง และให้ อ. ครูหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุญาตดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าวโดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษา 269,950 บาท โดยแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ อันเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขแล้ว ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีการสอบราคา แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของวิทยาลัยการอาชีพ ม. เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัสดุ และการที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นการเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานนี้
          มีหน้าที่ทำ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ผลิตทรัพย์ให้แก่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ โดยอาจใช้แรงงานโดยตรงหรือควบคุมดูแลก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2564  แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก 
          ส่วนจำเลยที่ 2 คงได้ความแต่ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)
          มีหน้าที่จัดการ หมายถึง มีทรัพย์ของทางราชการอยู่แล้ว มีหน้าที่จัดการทรัพย์เหล่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2533  จำเลยรับราชการเป็นนายช่างโยธา 5 ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจราจรสงเคราะห์ประจำเขตการทางสงขลา กรมทางหลวง ในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยมีอำนาจสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายน้ำมันและอนุญาตให้ใช้รถยนต์ในเขตการทางสงขลาด้วย การที่จำเลยได้สั่งให้ใช้รถของราชการและสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายน้ำมันของราชการสำหรับรถดังกล่าวขนเสาซีเมนต์ป้ายจราจรจากแขวงการทางสงขลาไปยังจุดติดตั้งในกิจการส่วนตัว จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่กรมทางหลวง ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
          มีหน้าที่รักษาทรัพย์ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ควบคุมของให้ผู้อื่นมาเบิกไปใช้

          (3) ใช้อำนาจในตำแหน่ง อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น
          ต้องเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตในลักษณะของการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของทางราชการที่ตนเองเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์นั้น แต่หากเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นไปก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่จะผิดตามมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2516  การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ก็ต่อเมื่อ ผู้กระทำผิดมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ แล้วใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้น โดยมิได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินงานควบคุมจัดการกิจการประปาของเทศบาล ได้ติดตั้งการใช้น้ำประปาให้ ส. กับพวก แล้วไม่ลงทะเบียนผู้ใช้น้ำประปา เรียกเก็บค่าใช้น้ำประปาทุกเดือน และออกหลักฐานจำนวนก๊อกน้ำประปาของผู้ติดตั้งน้อยกว่าความจริง แล้วเก็บเงินมากกว่าจำนวนค่าธรรมเนียมที่เทศบาลกำหนด และโจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินรายได้ 3,955 บาท จากกิจการประปาของเทศบาลที่จำเลยรับไว้จาก ส. กับพวก ไว้เป็นประโยชน์ส่วตัว โดยทุจริต ดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 151 ด้วย

          แต่ถ้าไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2502  ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ จำเลยใช้จ้างวานคนไปตัดฟันชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้กล่าวว่าจำเลยเอาอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการไปใช้จ้างวานคนให้กระทำผิดเช่นนั้นด้วยเลย เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ใช้จ้างวานให้คนไปกระทำผิดเป็นส่วนตัว ย่อมจำลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 132 หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไม่ได้

          (4) โดยทุจริต  ต้องมีเจตนาพิเศษ คือ มีเจตนาทุจริตด้วย

          (5) เจตนาธรรมดา